Psychology on Tripitaka
พระมหาถาวร ถาวโร (หนูอิน)
ดร. ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
บทนำ
พระไตรปิฎก คือ ตำราหรือคัมภีร์ที่บันทึกหรือจารึกคำสอนขององค์พระสัมมาพระพุทธเจ้าที่ถูกนำมาจัดไว้เป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ โดยประกอบด้วยเนื้อหาใจความหลักๆ อยู่ 3 หมวดใหญ่ ๆ ได้แก่ พระวินัยปิฎก, พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก โดยเป็นธรรมะที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้ตลอด 45 พรรษา ที่ทรงได้แสดงพระธรรมเทศนาให้แก่ทุกคน โดยไม่เกี่ยงว่าคนนั้นคือผู้ใดอยู่วรรณะไหน หรือยากดีมีจนเช่นไร และสืบทอดมายังพระสาวกตั้งแต่ครั้งพุทธกาลจวบจนกระทั่งปัจจุบัน ในคัมภีร์พระไตรปิฎกนอกจากรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว กล่าวถึงบริบทเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นสมัยก่อนหรือหลังพุทธกาล ทำให้เป็นหลักฐานสำคัญที่จะวิเคราะห์สภาพปรากฏการณ์ของวิถีชีวิตของคำสอนนักพรต รวมทั้งแนวคิดของผู้คนในยุคก่อนพุทธกาลและหลังพุทธกาลได้เป็นอย่างดี แม้คำสอนของพระพุทธเจ้าจะมีถึง 48,000 พระธรรมขันธ์ก็ตาม แต่เมื่อย่อลงแล้ว สอนเรื่องชีวิตของมนุษย์เพียงเรื่องเดียว พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องชีวิตในรูปแบบของคำสอนเรื่องขันธ์ 5 เมื่อเราวิเคราะห์คำสอนเรื่องขันธ์ 5 และแยกองค์ประกอบของขันธ์ 5 ให้เห็นเด่นชัดแล้ว ประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และเราก็นำองค์ประกอบมาสังเคราะห์ให้เป็นองค์ความรู้ใหม่ให้บูรณาการให้สอดคล้องกับศาสตร์สมัยใหม่เช่นวิชาจิตวิทยา เป็นต้น จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาค้นคว้าเพื่อนำข้อมูลความรู้มาเสนอ อธิบาย และเพื่อควบคุมและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์ จิตวิทยามุ่งศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการของร่างกายกับจิตใจ ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นระเบียบแบบแผน เพราะร่างกายและจิตใจมีการแสดงออกร่วมกัน อีกทั้งยังแสดงออกในแนวทางที่สามารถทำนายได้ เมื่อวิชาจิตวิทยาสนใจศึกษาเรื่องราวของชีวิตมนุษย์โดยเฉพาะเรื่องจิต ที่สามารถรู้สึกสัมผัสได้ เมื่อเกิดอารมณ์ความคิดต่าง ๆ เมื่อรู้ตัวว่าทำอะไร คิดอะไร รู้สึกอย่างไร เป็นเรื่องของจิตสำนึก คือสติสัมปชัญญะนั่นเอง และความคิดนี้ทำให้เชื่อว่า ชีวิตของมนุษย์ประกอบด้วยกายและจิตนั่นเอง ซึ่งแนวคิดนี้มาสอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก และเนื้อหาจิตวิทยาตามแนวพระไตรปิฎกจึงมุ่งศึกษาโดยสังเขปประกอบด้วยแต่ละบทเรียนดังนี้ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับจิตวิทยาตามแนวพระไตรปิฎก อายตนะกับการรับรู้ตามแนวพระไตรปิฎก หลักการวิทยาศาสตร์ตามแนวพุทธ จิตวิทยาจากพุทธประวัติ (พุทธสาวก พุทธสาวิกา) การพัฒนาจิตด้วยสมถกัมมัฏฐาน และวิปัสสนากัมมัฏฐาน และยังมีการเพิ่มเติมส่วนที่เป็นทฤษฎีสมัยใหม่ให้ผู้ศึกษาสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม
จิตวิทยาตามแนวพระไตรปิฎก ศึกษาค้นคว้าเรื่องชีวิตของมนุษย์ ที่ประกอบด้วยการกายและจิต แม้แต่เดิมนั้นจิตวิทยาให้ความสนใจเรื่องจิตของมนุษย์ แต่เมื่อยังไม่มีเครื่องมือวิทยาศาสตร์จะพิสูจน์ให้เห็นว่าจิตคืออะไร อยู่ที่ส่วนไหนของร่างกาย และมีลักษณะอย่างไร เหมือนคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ตาม แต่จุดหมายปลายทางของวิชาจิตวิทยาและพระไตรปิฎกก็นำชีวิตผู้คนหลุดพ้นจากความทุกข์ในชีวิตเช่นกัน โดยเฉพาะจิตวิทยามุ่งแก้ไขพฤติกรรมไม่ดี ซึ่งเป็นข้อบกพร่องของชีวิตผู้คนในสังคม อันเป็นความทุกข์ของชีวิต เช่นเดียวกับพระพุทธศาสนาที่จะช่วยเหลือผู้คนในสังคมปัจจุบัน ให้มีโอกาสที่ดี เป็นหลักในการดำเนินชีวิต ช่วยแก้ปัญหาทั้งส่วนตน สังคม และหลุดพ้นจากการ
เวียนว่ายในวัฏฏะสงสารดับทุกข์ ดับกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง จิตวิทยาตามแนวพระไตรปิฎกจึงมีความสำคัญควรแก่การศึกษาเรียนรู้อย่างยิ่ง
แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับจิตวิทยา
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับจิตวิทยา
จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาค้นคว้าเพื่อนำข้อมูลความรู้มาเสนอ อธิบาย และเพื่อควบคุมและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์ จิตวิทยามุ่งศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการของร่างกายกับจิตใจ ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นระเบียบแบบแผน เพราะร่างกายและจิตใจมักมีการแสดงออกร่วมกัน อีกทั้งยังแสดงออกในแนวทางที่สามารถทำนายได้
ความหมายของจิตวิทยา
จิตวิทยา (Psychology) คำว่า Psychology (จิตวิทยา)มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ ได้แก่ Psyche (Mind = จิตใจ) และ Logos (Knowledge = ศาสตร์ องค์ความรู้) ความหมายโดยรวมของ Psychology จึงหมายถึง ศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องพฤติกรรมของอินทรีย์ สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ โดยเฉพาะมนุษย์เป็นสำคัญ เพื่ออธิบาย ทำความเข้าใจทำนาย และควบคุมพฤติกรรมนั้น ๆ ได้ (กันยา สุวรรณแสง, 2536, น.11)
ความเป็นมาของจิตวิทยา
จิตวิทยาได้เริ่มขึ้นโดยนักปราชญ์ชาวกรีก ชื่อ เพลโต และอริสโตเติล เพลโตเชื่อว่าการคิดและการใช้เหตุผลเท่านั้น ที่ทำให้คนเกิดความเข้าใจในสิ่งที่เขาสามารถจะเข้าใจได้ โดยไม่สนใจวิธีการสังเกตหรือการทดลองใด ๆ แต่อริสโตเติลกลับเป็นนักสังเกตสิ่งรอบตัว เขาสนใจสิ่งภายนอกที่มองเห็นได้ การเข้าใจปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับคนต้องเริ่มด้วยการสังเกตอย่างมีระบบ
ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ศาสนาเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยแนวคิดทางศาสนาเน้นว่าจิตเป็นส่วนที่แยกออกจากร่างกาย ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 การฟื้นฟูการสืบสวนโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นการละทิ้งความเชื่อแบบเดิม ๆ มีการค้นหาความรู้ใหม่ ๆ วิธีการก็เริ่มมีลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์ ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 เบคอน (Bacon) กล่าวว่า “ทฤษฎีให้แนวทาง การวิจัยให้คำตอบ” โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญระหว่างทฤษฎีและการวิจัย กลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีกลุ่มแนวคิดที่สำคัญเกิดขึ้น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มประจักษ์นิยมชาวบริเตน (British Empiricism) ที่เชื่อว่าความรู้ผ่านเข้ามาทางสื่อกลางของความรู้สึก จิตเป็นที่รวมของความคิดเห็น นักจิตวิทยากลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญต่อการเกิดจิตวิทยากลุ่มสัมพันธ์นิยม (Associationism Psychology) นักจิตวิทยาอีกกลุ่มหนึ่งกลับสนใจทางชีวภาพ เช่น ความแตกต่างระหว่างประสาทส่วนรับความรู้สึกกับประสาทส่วนการเคลื่อนไหว และลักษณะทางกายที่แสดงปฏิกิริยาสะท้อน (reflex) นักจิตวิทยากลุ่มนี้พยายามอธิบายการกระทำของมนุษย์ด้วยหลักการทางฟิสิกส์ คือ จิตฟิสิกส์ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้วัดความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางกายภาพของสิ่งเร้ากับประสบการณ์รู้สึกที่ผู้ที่ถูกเร้ารายงานออกมา
จุดมุ่งหมายของจิตวิทยา
จิตวิทยาเป็นวิชาที่จัดอยู่ในกลุ่มพฤติกรรมศาสตร์ โดยมีจุดมุ่งหมายดังต่อไปนี้ (สุรางค์โค้วตระกูล, 2553)
-
- เพื่อให้ผู้ศึกษาเข้าใจพฤติกรรม (Understanding Behavior) ของบุคคลไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมภายนอก กระบวนการทางจิต (Mental Process) ที่เกิดขึ้นภายใน อันจะทำให้สามารถเข้าใจตนเองและผู้อื่นได้อย่างถ่องแท้ยิ่งขึ้น
- เพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถอธิบายพฤติกรรม (Explanation Behavior) ทั้งหลายที่เกิดขึ้นได้ พฤติกรรมทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นนั้นต่างมีเหตุจูงใจในการแสดงพฤติกรรมทั้งสิ้น ดังนั้นนักจิตวิทยาจะใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการค้นหาคำตอบ เพื่ออธิบายถึงปัจจัยที่เป็นสาเหตุสำคัญแห่งพฤติกรรมที่แสดงออกนั้น ๆ
- เพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถทำนายพฤติกรรม (Prediction Behavior) ซึ่งการทำนายนั้น หมายถึง การคาดคะเนผลที่ควรจะเกิดขึ้นจากสาเหตุต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
- เพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถควบคุมพฤติกรรม (Control Behavior) ที่ไม่พึงประสงค์ให้ลดลงหรือหมดไป โดยในขณะเดียวกันนั้นก็จะต้องสามารถเสริมสร้างพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นใหม่ด้วย
- เพื่อให้ผู้ศึกษานำความรู้ไปประยุกต์ใช้ (Application) ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนเอง และ/หรือสังคมได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
แนวความคิดทางจิตวิทยา
แนวความคิดแรกเริ่มของผู้ศึกษาจิตวิทยานั้น เริ่มมาจากแนวความคิดทางปรัชญาเป็นแกน แต่ต่อมาเมื่อระยะผ่านไปจนถึงช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จิตวิทยาได้มีการเปลี่ยนแนวทางการศึกษามาเป็นการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น จึงทำให้วิชาจิตวิทยานั้นมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดแนวความคิดทางจิตวิทยาที่หลากหลายต่างๆ กันออกไป ซึ่งในแต่ละกลุ่มนั้นมีแนวความคิดที่มีแตกต่างกันในประเด็นหลัก 3 ประเด็น คือ 1) สิ่งที่สนใจศึกษาหรือจุดมุ่งหมายในการศึกษาค้นคว้าแตกต่างกัน เนื่องจากความเชื่อและความเข้าใจของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน
2) วิธีการในการศึกษาค้นคว้าแตกต่างกัน 3) ยึดทฤษฎีหรือหลักเกณฑ์ในการอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์แตกต่างกัน ด้วยเหตุแห่งความต่างทั้ง 3 ประเด็นหลักนี้เองจึงทำให้สามารถแบ่งกลุ่มแนวความคิดทางจิตวิทยาได้ ดังนี้
-
- กลุ่มโครงสร้างของจิต (Structuralism) หรือกลุ่มโครงสร้างนิยม จิตวิทยาในกลุ่มนี้นับว่าเป็นกลุ่มบุกเบิกวงการจิตวิทยาให้เป็นที่ยอมรับว่าเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของวิทยาศาสตร์ ผู้ก่อตั้ง คือ วิลเฮล์ม แมกซ์ วุนต์ (Wilhelm Max Wundt) ผู้ก่อตั้งกลุ่มโครงสร้างนิยม โดยการศึกษาส่วนใหญ่จะเน้นไปทางด้านจักษุสัมผัส (Vision) ปฏิกิริยาตอบสนอง (Reaction time) ต่อสิ่งเร้าความสนใจและความจำ เป็นต้น (คัดนางค์ มณีศรี, 2556, น. 2-3)
- กลุ่มหน้าที่ของจิต (Functionalism) ผู้นำของกลุ่มนี้คือ จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) และวิลเลียม เจมส์ (William James) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1900 ซึ่งนักจิตวิทยากลุ่มนี้ให้ความสนใจที่จะศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมภายในเช่นเดียวกับกลุ่มโครงสร้างของจิต แต่ต่างกันตรงที่นักจิตวิทยากลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับหน้าที่ของจิตและกระบวนการที่ส่งผลต่อการแสดงออกของบุคคล
- กลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism) กลุ่มของแนวความคิดนี้ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางและมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อวงการจิตวิทยาในสหรัฐอเมริกา ผู้นำในกลุ่มแนวคิดนี้คือ จอห์น บี วัตสัน (John B. Watson) ซึ่งเป็นศิษย์ของวิลเลียม เจมส์ มาก่อน แต่มีแนวคิดที่แตกต่างจากเจมส์ในเรื่องของวิธีการศึกษาพฤติกรรมซึ่งใช้การตรวจสอบจิตตนเอง เนื่องจากมีความเโน้มเอียงที่จะแทรกความรู้สึกส่วนตัวและมีอคติเอนเอียงไปทางหนึ่งทางใดได้ง่านตามความรู้สึกของผู้ถูกศึกษา (Subjective)
- กลุ่มจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) เป็นอีกกลุ่มจิตวิทยาที่มีบทบาทและความสำคัญต่อวงการจิตวิทยา ผู้ก่อตั้งกลุ่มนี้ คือ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) โดยทั้งนี้ทฤษฎีที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะได้มาจากประสบการณ์ในการรักษาคนไข้โรคจิตในคลีนิคของเขานั่นเอง ความคิดหลักของฟรอยด์นั้นเชื่อว่า จิตมีลักษณะเป็นพลังงานที่เรียกว่า พลังงานจิต (Psychic Energy) ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดและคงที่ ไม่มีทางทำลายหรือสร้างขึ้นมาได้ใหม่ แต่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ทั้งนี้
ฟรอยด์ (Freud, 1923, p.196) ได้วิเคราะห์จิตของมนุษย์ออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
1) จิตสำนึก (Conscious) เป็นจิตที่มีสติตลอดเวลา แสดงออกไปอย่างรู้ตัวตามเหตุผลและเป็นที่ยอมรับในสังคม
2) จิตกึ่งสำนึก (Pre-conscious or Subconscious) เป็นจิตที่ยังอยู่ในระดับที่รู้ตัวเช่นกัน เพียงแต่ถูกควบคุมไม่ให้แสดงพฤติกรรมออกมา แต่ก็สามารถแสดงออกได้ เพียงแต่บางพฤติกรรมสังคมอาจไม่ยอมรับ
3) จิตใต้สำนึก (Unconscious) จิตระดับเป็นที่สะสมสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเป็นความต้องการที่แท้จริงของมนุษย์ไว้มากมาย แต่ถูกกระบวนการทางจิตเก็บกดไว้ในจิตส่วนลึก ซึ่งถ้ามองเผิน ๆ อาจเหมือนกับสิ่งที่ถูกลืมไปแล้ว แต่แท้จริงยังคงอยู่ในรูปของตะกอนจิตใจ ซึ่งสามารถจะฟุ้งขึ้นมาเมื่อขาดการควบคุม โดยอาจเผยในรูปของความฝัน การละเมอ หรือเผลอพูดออกมาโดยไม่ตั้งใจ ตามทฤษฎีของฟรอยด์ เชื่อว่าพฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ที่แสดงออกมานั้นสืบเนื่องมาจากการทำงานของพลังงานทางจิต 3 ส่วน ได้แก่ (Freud, 1961)
(1) อิด (Id) คือ ส่วนของความอยาก ความต้องการ จัดว่าเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ที่ติดตัวมาแต่เกิด เป็นพลังงานที่ผลักดันให้เกิดการตอบสนองความต้องการโดยไม่คำนึงถึงเหตุผลใด ๆ ทั้งสิ้น จัดอยู่ในส่วนของจิตใต้สำนึก
(2) อีโก้ (Ego) เป็นพลังงานส่วนประนีประนอมระหว่างอิด (Id) กับซูเปอร์อีโก้ (Super Ego) เพื่อให้มีการแสดงพฤติกรรมที่ต้องการให้ตอบสนองออกมาตามสภาพที่สังคมยอมรับได้ หรือเหมาะสมกับสภาพสังคมนั้น ๆ ตามหลักแห่งความเป็นจริง (Reality Principle) เท่ากับว่า อีโก้เป็นตัวบริหารจิตให้เกิดความสมดุล คล้ายกับกรรมการห้ามทัพระหว่างอิดกับซูเปอร์อีโก้ ซึ่งอีโก้นั้นจะอยู่ในส่วนของจิตสำนึกที่รู้ตัวตลอดเวลา
(3) ซูเปอร์อีโก้ (Super Ego) เป็นพลังงานทางจิตซึ่งก่อตัวขึ้นมาจากการเรียนรู้ระเบียบ กติกา กฎเกณฑ์ ศีลธรรมของสังคม เป็นส่วนของคุณธรรมในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดูและการขัดเกลาจากสังคมในระดับต่าง ๆ ที่บุคคลนั้นเติบโตมา เปรียบเสมือนเป็นสิ่งที่ทำตามหลักอุดมคติ (Ideal Principle) ที่พึงปรารถนาของสังคม โดยทั่วไปแล้วในแต่ละสถานการณ์ พลังงานทั้งสามจะเกิดความขัดแย้งกันอยู่เสมอ (Wurmser, 2009)
- กลุ่มจิตวิทยาเกสตัลท์ (Gestalt Psychology) เป็นกลุ่มจิตวิทยาที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในเรื่องของวงการจิตวิทยาการศึกษา กลุ่มเกสตัลท์ได้ก่อตั้งขึ้นที่ประเทศเยอรมนีราวปี ค.ศ. 1912 ซึ่งใกล้เคียงกับการกำเนิดของกลุ่มพฤติกรรมนิยม นักจิตวิทยากลุ่มนี้ประกอบไปด้วยคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน โดยการนำของ แมกซ์ เวอร์ไธเมอร์ (Max Wertheimer) ทฤษฎีของกลุ่มเกสตัลท์ให้ความสำคัญกับปัจจัย 2 ประการ ได้แก่ การรับรู้และการหยั่งเห็น (NovaBizz)
1) การรับรู้ (Perception) เป็นการแปลผลโดยอาศัยประสบการณ์เดิมที่แต่ละบุคคลได้ประสบมาช่วยในการแปลความหมายที่เกิดจากการรับสัมผัสนั้น ๆ เหตุนี้เองจึงเป็นผลให้สิ่งเร้าหนึ่งสิ่งสามารถทำให้เกิดการรับรู้ที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลผู้นั้นมีประสบการณ์อย่างไร
2) การหยั่งเห็น (Insight) โดยทั่วไปเมื่อบุคคลเกิดปัญหาและสามารถแก้ไขได้โดยลุล่วงแล้ว ก็จะมีแนวโน้มที่บุคคลนั้นจะใช้วิธีการแก้ปัญหาเดิมมาใช้แก้ปัญหาที่คล้ายคลึงกันอีก แต่ในกรณีที่เป็นปัญหาใหม่ แล้วสามารถค้นพบวิธีแก้ไขปัญหาอย่างฉับพลัน ลักษณะเช่นนี้เราเรียกว่า การหยั่งเห็น ซึ่งจะต้องใช้ประสบการณ์สั่งสมไว้มากพอสมควร จนสามารถประยุกต์ใช้วิธีการแก้ปัญหาที่ผ่าน ๆ มาเพื่อแก้ปัญหาใหม่ได้
- กลุ่มมนุษย์นิยม (Humanism) เป็นกลุ่มที่ได้รับการยิมรับอีกกลุ่มหนึ่งในวงการศึกษาและการให้คำปรึกษา นักจิตวิทยาในกลุ่มนี้ที่สำคัญ ได้แก่ อัมบราฮัม เอช มาสโลว์ (Abraham H. Maslow) คาร์ล อาร์ โรเจอร์ (Carl R. Rogers) และอาร์เธอร์ โคมบ์ (Arther Combs) ซึ่งแนวคิดพื้นฐานเน้นในเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ดังนี้
1) มนุษย์เป็นสิ่งที่มีชีวิตจิตใจ มีความต้องการ และความสามารถที่แตกต่างกัน ไม่สามารถที่จะกำหนดให้เป็นอะไรก็ได้ตามใจของบุคคลอื่นปรารถนา ซึ่งมีความแตกต่างจากความคิดเห็นของกลุ่มพฤติกรรมนิยม
2) มนุษย์ต่างพยายามที่จะค้นหาตนเอง และทำความเข้าใจตนเอง (Self-Actualization) รวมทั้งยอมรับในศักยภาพของตนเอง
3) มนุษย์จะเกิดการพัฒนาถึงขั้นสูงสุดของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ต่อเมื่อสามารถเข้าใจตนเองและยอมรับผู้อื่นได้
4) มนุษย์แต่ละคนควรมีโอกาสในการเลือกกระทำสิ่งที่ตนต้องการ และมีสิทธิแสวงหาประสบการณ์ตามความต้องการของตนเอง เพราะมนุษย์มีความต้องการพัฒนาตนเองอยู่แล้ว และสามารถตัดสินใจที่ตะเลือกทางสำหรับการแก้ปัญหาให้กับตนเองได้ รวมถึงพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตนเองด้วย
5) ความสำคัญของวิธีการแสวงหาความรู้ ข้อเท็จจริง และประสบการณ์ต่าง ๆ มีน้ำหนักมากกว่าตัวความรู้และข้อเท็จจริง เนื่องจากสิ่งเหล่านั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
พระไตรปิฎก
พระไตรปิฎก คือ ตำราหรือคัมภีร์ที่บันทึกหรือจารึกคำสอนขององค์พระสัมมาพระพุทธเจ้าที่ถูกนำมาจัดไว้เป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ โดยประกอบด้วยเนื้อหาใจความหลัก ๆ อยู่ 3 หมวดใหญ่ ๆ ได้แก่ พระวินัยปิฎก, พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ได้แก่ (Sanook, 2556)
- พระวินัยปิฎก เป็นพระวินัยสิกขาบทต่าง ๆ ของทั้งพระภิกษุและภิกษุณี แบ่งออกเป็น 5 ส่วน คือ
1) ส่วนที่ว่าด้วยศีลของภิกษุ
2) ส่วนที่ว่าด้วยศีลของภิกษุณี
3) ส่วนที่ว่าด้วยเรื่องสำคัญ
4) ส่วนที่ว่าด้วยเรื่องที่สำคัญรองลงมา
5) ส่วนที่ว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ด
ชื่อในภาษาบาลีของ 5 ส่วนนั้น คือ
1) ภิกขุวิภังค์หรือมหาวิภังค์
2) ภิกขุนีวิภังค์
3) มหาวรรค
4) จุลวรรค และ
5) บริวาร
กล่าวโดยลำดับ เล่มที่พิมพ์ในประเทศไทย วินัยปิฎกมี 8 เล่ม คือ ส่วนที่ 1 ได้แก่ เล่ม
1-2 ส่วนที่ 2 ได้แก่ เล่ม 3 ส่วนที่ 3 ได้แก่ เล่ม 4-5 ส่วนที่ 4 ได้แก่ เล่ม 6-7 ส่วนที่ 5 ได้แก่ เล่ม 8
- พระสุตตันตปิฎก เป็นพระสูตรซึ่งเป็นพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก ที่ประมวลออกมาเป็นเรื่อง ๆ โดยมีเรื่องราวประกอบ ตลอดจนภาษิต และชาดก ที่ทรงได้แสดงธรรมแก่บุคคลต่าง ๆ ทุกชนชั้น โดยไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะใด ๆ ซึ่งมีทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง แบ่งออกเป็น 5 ส่วน คือ
1) ส่วนที่ว่าด้วยพระสูตรขนาดยาว เรียกว่า ทีฆทิกาย มี 34 สูตร ได้แก่ เล่ม9-10-11
2) ส่วนที่ว่าด้วยพระสูตรขนาดกลาง เรียกว่า มัชฌิมนิกาย มี 152 สูตร ได้แก่ เล่ม 12-13 และ 14
3) ส่วนที่ว่าด้วยพระสูตรซึ่งประมวล หรือรวมคำสอนประเภทเดียวกันไว้เป็นหมวดหมู่ เรียกว่า สังยุตตนิกาย มี 7,762 สูตร ได้แก่ เล่ม 15-19
4) ส่วนที่ว่าด้วยธรรมะเป็นข้อ ๆ ตั้งแต่ 1 ข้อถึง 11 ข้อ และมากกว่านั้น เรียกว่าอังคุตตรนิกาย มี 9,557 สูตร ได้แก่ เล่ม 20-24
5) ส่วนว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ด หรือเล็ก ๆ น้อย ๆ 15 หัวข้อ เรียกว่า ขุททกนิกาย จำนวนสูตรมีมาก จนไม่มีการนับจำนวนไว้ ได้แก่ เล่ม 25-33 รวมเป็นพระสุตตันตปิฎก 25 เล่ม
- พระอภิธรรมปิฎก เป็นพระธรรมขั้นสูงที่ประกอบด้วยหลักวิชาธรรมะล้วน ๆ โดยไม่มีการอ้างอิงถึงเหตุการณ์และบุคคลใด ๆ โดยแบ่งออกเป็นหมวด ๆ ข้อ ๆ แบ่งออกเป็น 7 ส่วน คือ
1) ส่วนที่ว่าด้วยการรวมกลุ่มธรรมะ เรียกว่า ธัมมสังคณี ได้แก่ เล่ม 34
2) ส่วนที่ว่าด้วยการแยกกลุ่มธรรมะ เรียกว่า วิภังค์ ได้แก่ เล่ม 35
3) ส่วนที่ว่าด้วยธาตุ เรียกว่า ธาตุกถา ได้แก่ ส่วนแรกของเล่ม 36
4) ส่วนที่ว่าด้วยบัญญัติคือ การนัดหมายรู้ทั่วไป เช่น การบัญญัติบุคคล เรียกว่า บุคลคลบัญญัติ ได้แก่ ส่วนหลังของเล่ม 36
5) ส่วนที่ว่าด้วยคำถามคำตอบทางพระพุทธศาสนา เพื่อชี้ให้เป็นความเข้าใจผิดพลาดต่าง ๆ เรียกว่า กถาวัตถุ ได้แก่ เล่ม 37
6) ส่วนที่ว่าด้วยธรรมะเข้าคู่กันเป็นคู่ ๆ เรียกว่า ยมก ได้แก่ เล่ม 38–39
7) ส่วนที่ว่าด้วยปัจจัย คือ สิ่งเกื้อกูลให้เกิดผลต่าง ๆ รวม 24 ปัจจัย เรียกว่า ปัฏฐาน ได้แก่ เล่ม 40 ถึงเล่ม 45 รวม 6 เล่ม และรวมพระอภิธรรมปิฎกแล้วเป็นหนังสือ 12 เล่ม
กล่าวโดยจำนวนเล่ม เล่ม 1-8 เป็น พระวินัยปิฎก เล่ม 9-33 รวม 25 เล่มเป็นพระสุตตันตปิฎก เล่ม 34-45 รวม 12 เล่ม เป็นพระอภิธรรมปิฎก รวมเป็นพระไตรปิฎก 45 เล่ม ซึ่งประเทศไทยจัดพิมพ์ขึ้น (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน)
2.2 พระสาวก 4 รูป ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก คือ (พระครูกัลยาณสิทธิวัฒน์, 2547).
-
- พระอานนท์ เป็นโอรสของเจ้าชายสุกโกทนศากยะ ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธท-นะพระพุทธบิดา ท่านออกบวชแล้วได้เป็นผู้ที่สงฆ์เลือกให้ทำหน้าที่เป็นพุทธอุปฐากคือ ผู้รับใช้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า พระอานนท์ทรงจำพระพุทธวจนะได้มาก ท่านจึงมีส่วนสำคัญในการรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วจัดเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ สืบมาจนทุกวันนี้
- พระอุบาลี เคยเป็นพนักงานรักษาภูษามาลาอยู่ในราชสำนักแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ท่านออกบวช พร้อมกับพระอานนท์และราชกุมารอื่น ๆ โดยได้รับเลือกจากเจ้าชายเหล่านั้นให้อุบาลีบวชก่อน พวกตนจะได้กราบไหว้อุบาลีตามพรรษาอายุเป็นการแก้ทิฐิมานะตั้งแต่เริ่มแรกในการออกบวช ท่านมีความสนใจกำหนดจดจำทางพระวินัยเป็นพิเศษ จนแม้พระพุทธเจ้าก็ทรงสรรเสริญท่านด้วย ท่านจึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตอบคำถามเกี่ยวกับวินัยปิฎก จึงนับว่าท่านเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยตรงในการช่วยรวบรวมข้อพระวินัยต่างๆ ให้เป็นหมวดหมู่เป็นหลักฐานมาจนทุกวันนี้
- พระโสณกุฏิกัณณะ ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระไตรปิฎก แต่ประวัติของท่านมีส่วนเป็นหลักฐานในการท่องจำพระไตรปิฎก เรื่องของท่านมีปรากฎในพระสุตตันตปิฎกความว่า เดิมท่านเป็น อุบาสกคอยรับใช้พระมหากัจจายนเถระ แล้วบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ 3 ปี จึงได้อุปสมบทเป็นภิกษุ ต่อมาท่านได้เดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ เชตุวนาราม พระพุทธเจ้าตรัสเชิญให้พระโสณะกล่าวธรรม ซึ่งท่านได้กล่าวสูตรถึง 16 สูตร อันปรากฏในอัฏฐกวัคค์จนจบ เมื่อจบแล้วพระพุทธเจ้าทรงอนุโมทนาสรรเสริญความทรงจำและท่วงทำนอง ในการกล่าวเรื่องนี้เป็นตัวอย่างอันดีในเรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก ว่าได้มีการท่องจำกันตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนม์อยู่
- พระมหากัสสปะ เป็นผู้บวชเมื่ออายุสูง แม้ท่านไม่ใคร่สั่งสอนใคร แต่ก็สั่งสอนคนในทางปฏิบัติ คือทำตัวเป็นแบบอย่าง เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว ท่านได้เป็นหัวหน้าชักชวนพระสงฆ์ให้ทำสังคายนาคือ ร้อยกรอง หรือจัดระเบียบพระวินัย นับว่าท่านเป็นผู้มีส่วนสำคัญยิ่งในการทำให้เกิด พระไตรปิฎก
นอกจากพระไตรปิฎกจะเกิดขึ้นจากความปรารถนาของพระเถระ 4 รูปนี้แล้ว พระพุทธเจ้ายังได้เคยแนะให้รวบรวมธรรมภาษิตของพระองค์และทำสังคายนา เพื่อไม่ให้เกิดความแตกกัน เหมือนอย่างสาวกของนิครนถนาฏบุตร ที่แตกกันหลังจากผู้เป็นอาจารย์เจ้าลัทธิสำคัญคนหนึ่งสิ้นชีพ พระพุทธสุภาษิตที่แนะนำรวบรวมพุทธวจนะร้อยกรองจัดระเบียบหมวดหมู่นี้ ถือได้ว่าเป็นเริ่ม ต้นแห่งการแนะนำ เพื่อให้เกิดพระไตรปิฎกดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
เมื่อกล่าวถึงความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก และกล่าวถึงการที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ ทำสังคายนาก็ดี ก็ต้องกล่าวถึงความปรารถนาดีของพระจุนทเถระ ครั้งแรกก็คือท่านได้เข้าพบพระอานนท์ เมื่อรู้เห็นเหตุการณ์ที่สาวกของนิครนถนาฏบุตรแตกกัน ซึ่งพระ-อานนท์ชวนให้เข้าเฝ้า พระพุทธเจ้า และพระผู้มีพระภาคทรงตรัสแนะให้ทำสังคายนาดังกล่าวแล้วข้างต้น ครั้งหลังคือ เมื่อสาวกนิครนถนาฏบุตรแตกกันยิ่งขึ้น ท่านก็เข้าหาพระอานนท์อีกขอให้กราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดง “โพธิปักขิยธรรม” อันเป็นหลักของพระพุทธศาสนา แล้วทรงแสดงมูลเหตุ แห่งการทะเลาะวิวาท 6 ประการ อธิกรณ์ 4 ประการ วิธีระงับอธิกรณ์ 7 ประการ กับประการ สุดท้ายทรงแสดงหลักธรรมสำหรับอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก 6 ประการ ที่เรียกว่า “สาราณียธรรม” ซึ่งการเข้าหาพระอานนท์ทั้ง 2 ครั้งของพระจุนทเถระนี้ คือ ความปรารถนาดีของท่าน ที่ห่วงใยใน ความตั้งมั่นยั่งยืนแห่งพระพุทธศาสนา (Sanook, 2556)
ในคัมภีร์พระไตรปิฎกนอกจากรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว กล่าวถึงบริบทเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นสมัยก่อนหรือหลังพุทธกาล ทำให้เป็นหลักฐานสำคัญที่จะวิเคราะห์สภาพปรากฏการณ์ของวิถีชีวิตของคำสอนนักพรต รวมทั้งแนวคิดของผู้คนในยุคก่อนพุทธกาลและหลังพุทธกาลได้เป็นอย่างดี แม้คำสอนของพระพุทธเจ้าจะมีถึง 48,000 พระธรรมขันธ์ก็ตาม แต่เมื่อย่อลงแล้ว สอนเรื่องชีวิตของมนุษย์เพียงเรื่องเดียว พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องชีวิตในรูปแบบของคำสอนเรื่องขันธ์ 5 เมื่อเราวิเคราะห์คำสอนเรื่องขันธ์ 5 และแยกองค์ประกอบของขันธ์ 5 ให้เห็นเด่นชัดแล้ว ประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และเราก็นำองค์ประกอบมาสังเคราะห์ให้เป็นองค์ความรู้ใหม่ให้บูรณาการให้สอดคล้องกับศาสตร์สมัยใหม่เช่นวิชาจิตวิทยา เป็นต้น
-
- รูปหมายถึงส่วนที่เป็นกายของชีวิต
- ส่วนเวทนา เป็นความรู้สึกสุขหรือทุกข์ของจิตมนุษย์
- สัญญาหมายว่า จิตอาศัยกายของมนุษย์ในส่วนที่เรียกว่า อินทรีย์ 6 น้อมออกไปรับรู้โลก ในส่วนที่เป็นของภาพของธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏในโลกใบนี้ แล้วจิตเก็บอารมณ์เรื่องราวของสิ่งเหล่านี้เป็นสภาวธรรมให้นอนเนื่องเป็นอนุสัยในจิตของตน
- สังขาร เป็นอาการของจิตคิดปรุงแต่งอารมณ์ที่มาผัสสะอินทรีย์ 6 ให้เป็นความจริงต่าง ๆ
- วิญญาณ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตมีความหมายของ 2 อย่าง คือ
5.1 หมายถึง สิ่งที่เชื่อว่ามีอยู่ในกายเมื่อมีชีวิต เมื่อจะตายออกจากกายล่องลอยไปหาที่เกิดใหม่
5.2 ความรับรู้ เช่น จักษุวิญญาณ คือ ความรับรู้ทางตา โสตวิญญาณ คือ ความรับรู้ทางหู เป็นขันธ์ 1 ในขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เมื่อสังเคราะห์เข้ารวมกันเข้าเป็นองค์ความรู้ใหม่เหลือเพียงแค่ “จิต” เพียงอย่างเดียว คำว่า “ชีวิต” มนุษย์ประกอบด้วยกายและจิต (รูป-นาม)
พระไตรปิฎกในประเทศไทย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นศาสนูปถัมภก คือเป็นผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา โดยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง เช่น การจัดพิมพ์พระไตรปิฎก ฉบับภาษาไทยเป็นครั้งแรก การสร้างวัดที่สำคัญ ๆ การให้วัดเป็นศูนย์กลางการศึกษา และการส่งเสริมการศึกษาพระสงฆ์ โดยการสร้างมหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และทรงตราพระราชบัญญัติเพื่อเป็นแนวบริหารคณะสงฆ์ ทรงดำรงตนอยู่ในพุทธธรรม โดยนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เช่น หลักทศพิธราชธรรม จักรวรรคิวัตร สังคหวัตถุ เป็นต้น เป็นแนวทางในการปกครองอาณาประชาราชจนได้รับขนานพระนามว่า “พระปิยมหาราช”
พระไตรปิฎก ในประเทศไทย มีหลายฉบับ จัดทำในเวลาและสถานที่แตกต่างกัน กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงอาราธนาพระสงฆ์ 218 รูป ราชบัณฑิต 32 คน ให้ชำระพระไตรปิฎก ซึ่งกระจัดกระจายสูญหาย ภายหลังกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าเผาทำลาย การสังคายนาครั้งนี้จัดทำขึ้น ณ วัดศรีสรรเพชญ เมื่อ พ.ศ. 2331 (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหารในปัจจุบัน) อักษรที่ใช้จารึกพระไตรปิฎกในครั้งนั้นเป็นอักษรขอม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้า ฯ ทรงให้คัดลอกพระไตรปิฎกอักษรขอมในใบลานเป็นอักษรไทยแล้วชำระแก้ไขและพิมพ์ขึ้นเป็นเล่ม หนังสือได้ 39 เล่ม นับเป็นครั้งแรกในประเทศสยาม ที่ได้มีการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นรูปเล่มหนังสือด้วยอักษรไทย ฉบับนี้ เรียกว่า “ไตรปิฎก ฉบับตราแผ่นดิน” ระหว่าง พ.ศ. 2431-2436
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงให้ชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มหนังสือได้ 45 เล่ม เรียกว่า พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ และพิมพ์ที่มหามกุฏราชวิทยาลัย ในระหว่าง พ.ศ. 2468-2473 เป็นลิขสิทธิ์ของมหามกุฏวิทยาลัยอีกด้วย
เมื่อยี่สิบห้าพุทธศตวรรษที่ผ่านมา ในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 คณะสงฆ์ได้ แปลพระไตรปิฎก ภาษาบาลีเป็นภาษาไทย และให้จัดพิมพ์เป็นการฉลองยี่สิบห้าพุทธศตวรรษ พ.ศ. 2500 เป็นเล่มหนังสือภาษาไทย 80 เล่ม ในการพิมพ์ครั้งต่อมาได้รวมเล่มลดจำนวนเหลือ 45 เล่มเท่ากับฉบับภาษาบาลี ฉบับนี้ เรียกว่า “พระไตรปิฎก ฉบับหลวง”
ต่อมา คณะสงฆ์และรัฐบาลไทย ได้จัดงานสังคายนาพระธรรมวินัยตรวจชำระพระไตรปิฎก ทั้งฉบับภาษาบาลีและฉบับภาษาไทย แล้วจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ เรียกว่า พระไตรปิฎก ฉบับสังคีติ หรือฉบับสังคายนา ใน พ.ศ. 2530 เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ
ก่อนหน้านั้น (ในการฉลอง 2500 ปีแห่งพระพุทธศาสนา) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทราบว่า มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดให้มีการตรวจชำระสอบทานและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกภาษามคธฉบับมหาจุฬาเตปิฎก ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยให้ยกพระสูตร ตั้งข้อ ย่อหน้า ให้ชัดเจน ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้เป็นคัมภีร์สำหรับศึกษาเล่าเรียนสืบไป ดังนี้แล้ว ก็ทรงมีมหากุศลจิต มีพระราชศรัทธาบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างพระไตรปิฎกภาษามคธ ฉบับมหาจุฬาเตปิฎก จำนวนหนึ่งนับเป็นทุนเริ่มแรกในการพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับนี้ด้วย ในเรื่องนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ทั้ง 2 พระองค์ได้ทรงเจริญพระศรัทธา มีพระราชประสงค์บริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างพระไตรปิฎกภาษามคธ ฉบับนี้ด้วย นอกจากนี้ พุทธบริษัทที่มีจิตศรัทธาตามรอยพระยุคลบาท ได้ดำเนินการจัดพิมพ์ร่วมด้วยจนครบเสร็จ 45 เล่มในปี พ.ศ. 2532 ฉบับนี้ เรียกว่า “พระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับ มหาจุฬาเตปิฏกํ”
และเมื่อมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ดำเนินการการแปลพระไตรปิฎกภาษาบาลี เป็นภาษาไทย โคยตั้งคณะกรรมการหลายชุดรับิดชอบด้วยกัน โดยใช้เวลาดำเนินการแปลจัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือเป็นระยะเวลา 5 ปี 2 เดือน 10 วัน จนสำเร็จเป็นเล่มหนังสือพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และฉบับนี้เรียกว่า พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลง กรณราชวิทยาลัย นับว่าเป็นฉบับล่าสุด และทันสมัย เป็นฉบับที่คนสมัยเก่าก็อ่านได้ คนสมัยใหม่ก็อ่านดี และเป็นฉบับที่นักปราชญ์ราชบัณฑิตยอมรับมากเล่มหนึ่ง ในจำนวนนั้น พระกิตติวุฑโฒภิกขุ ได้กล่าวกับอาจารย์แสวงไว้ตอนหนึ่งอย่างน่าฟังว่า พระไตรปิฎกฉบับนี้ ดีมาก เยี่ยมมาก คงจะไม่มีหน่วยงานใดทำได้อย่างนี้ ที่จะแปลและทำได้ดีขนาดนี้ ถึงจะทำได้ก็คงต้องใช้เวลานาน ถึงจะดีได้เท่านี้
จิตวิทยาตามแนวพระไตรปิฎก
เดิมพระไตรปิฎกถ่ายทอดด้วยการท่องจำ และได้รับการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในพุทธศตวรรษที่ 5 สมัยพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย แห่งลังกาพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระปิยมหาราช หรือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาจิตวิทยาสนใจศึกษาเรื่องราวของชีวิตมนุษย์ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับจิตวิทยาตามแนวพระไตรปิฎก จิตกับการรับรู้ตามแนวพระไตรปิฎก หลักการวิทยาศาสตร์ตามแนวพุทธซึ่งเชื่อว่า ชีวิตของมนุษย์ประกอบด้วยกายและจิตนั่นเอง ซึ่งแนวคิดนี้มาสอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก ทรงสอนเรื่องชีวิตในรูปแบบของขันธ์ 5 ประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ และเมื่อนำเรื่องขันธ์ 5 มาสังเคราะห์ให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ให้รูปหมายถึงกาย ส่วน เวทนา หมายถึง ความรู้สึกทุกข์สุข สัญญา หมายถึง การจดจำสิ่งต่าง ๆ ของจิต ส่วนสังขาร หมายถึง การคิดของจิต ส่วนวิญญาณหมายถึง การรับรู้ของของจิต รวมแล้ว หมายถึง “จิต” นั้นเอง ขันธ์ 5 หมายถึง ชีวิตที่ประกอบด้วยกายและจิต คำสอนเรื่องขันธ์ 5 มีการกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกหลายแห่งด้วยกันนั้น จิตวิทยาในพระไตรปิฎก จึงเป็นการศึกษาพระพุทธศาสนาบูรณการกับจิตวิทยาซึ่งเป็นศาสตร์สมัยใหม่
ในวิชาจิตวิทยา มีนักจิตวิทยาสนใจศึกษาปัญหาของความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้ากับตอบสนองของจิต ซึ่งสอดคล้องในคำสอนทางพระพุทธศาสนาพระพุทธองค์ทรงสอนเรื่อง อายตนะภายในและภายนอก กล่าวคือ อายตนะภายในคืออินทรีย์ 6 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายมนุษย์ สัมพันธ์อายตนะภายนอก ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เรียกว่า “สิ่งเร้ากระตุ้น” ก็ได้ โดยอินทรีย์ 6 เป็นทวารเชื่อมให้จิตของมนุษย์รับรู้เรื่องราวของสิ่งเร้าภายนอก ที่เรียกว่าอายตนะภายนอก เมื่อรับรู้แล้วก็จดจำสิ่งนั้นไว้ในจิต ทำให้เกิดการแสดงออกทางกายที่พอใจบ้างไม่พอใจบ้าง เป็นต้น
จิตวิทยาเป็นวิทยาศาสตร์ จิตวิทยาตามแนวพระไตรปิฎกนั้น เป็นการนำทฤษฎีจิตวิทยาตะวันตก มาประยุกต์ใช้กับหลักคำสอนในพระไตรปิฎก เพื่อให้เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ที่ประกอบด้วยกายและจิต ที่ประกอบด้วยการกายและจิต รู้วิธีการควบคุมดูแลจิตตามแนวพระไตรปิฎก ไม่ให้จิตจมอยู่กับความเศร้าหมองหรือทุกข์นาน รู้วิธีที่จะพัฒนาจิตให้มีสติ สัมปชัญญะ เข้าใจตนเองและผู้อื่น เข้าใจความแตกต่างของมนุษย์ เกิดความเมตตา และให้อภัยผู้อื่นมากขึ้น การนำธรรมะมาอธิบายบ่งบอกถึงลักษณะปัญหา ด้วยกระบวนการและวิธีการ ในการให้ความช่วยเหลือกัลยาณมิตรผู้มีทุกข์ การชี้แจงแสดงความ การอธิบาย เพื่อให้ผู้มีทุกข์และมีปัญหาสามารถดับทุกข์ของตนเองได้ด้วยการปฏิบัติตามหนทางที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำไว้ การแสดงธรรม การชี้แจงแสดงความ การแนะนำสั่งสอน การชี้ให้เห็น และการเสนอแนะแนวทาง ในการแสดงธรรมของ
พระพุทธองค์นั้นไม่มีพิธีรีตองแต่อย่างไร เพราะแท้จริงแล้ว การแสดงธรรม คือ การสนทนากับ คน ๆ หนึ่ง หรือหมู่หนึ่ง โดยพระพุทธองค์ทรงอธิบายความ ย้อนถามเมื่อควรย้อน ยอมให้ค้านเมื่อสงสัย ทรงชี้แจงพร้อมด้วยตัวอย่างเปรียบเทียบ และพูดสะกิดใจให้เขาได้ใคร่ครวญ ทำให้บุคคลมีสติเห็นแนวทางดับทุกข์ และปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง การแสดงธรรมของพระพุทธองค์ไพเราะในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด การแสดงธรรมจึงมีองค์ประกอบตรงกับการปรึกษาดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เพราะการแสดงธรรม หรือเทศนา เป็นกระบวนการชี้ทางเพื่อช่วยเหลือมนุษยชาติทั้งหลาย ให้มีดวงตาเห็นธรรม เห็นทุกข์ และแนวทางในการดับทุกข์ แก้ปัญหา บรรลุสู่ความสงบ สะอาด สว่างแห่งชีวิต และการนำหลักปฏิบัติสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐานมาบูรณาการในการพัฒนาจิตได้แก่
- สมถกัมมัฏฐาน คือ การอบรมกุศลธรรมประการต่าง ๆ ให้เกิดติดต่อกันไป ทำให้กิเลส มีนิวรณ์ ความฟุ้งซ่าน เป็นต้น ไม่เกิดขึ้น ในขณะที่เจริญสมถภาวนา เช่น ขณะที่ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย นาน ๆ เป็นต้น ระลึกถึงคุณของศีล ระลึกถึงคุณเทวดา ขณะนั้น เป็นการเจริญความสงบจากกิเลส ที่เรียกว่า สมถภาวนา แต่อย่างไรก็ดี การเจริญสมถภาวนา ก็ต้องเป็นเรื่องของปัญญา ที่จะรู้ว่าจะระลึกให้เกิดกุศลต่อเนื่องอย่างไรครับ จึงขาดปัญญาไม่ได้ อย่างไรก็ดี สมถภาวนา ไม่สามารถละกิเลสต่าง ๆ ได้ เพียงแต่ทำให้กิเลสไม่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเท่านั้น
ประโยชน์ของสมถกัมมัฏฐาน
อานิสงส์ของการปฏิบัติสมถกัมมัฏฐาน หรือ สมาธิ มี 7 ประการ คือ
1) ทำให้ได้ขณิกสมาธิ (ชั่วขณะ) อุปจารสมาธิ (จวนจะแนบแน่น) และอัปปนาสมาธิ (แนบแน่น)
2) ทำให้ใจสงบจากนิวรณ์ทั้ง 5 (กามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ อุจธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา)
3) ทำให้ได้ฌานทั้ง 2 คือ รูปฌานและอรูปฌาน เพื่อไปเกิดเป็นพรหม
4) ทำให้เข้าสมาบัติได้ เพื่อเป็นสุขในภพปัจจุบัน
5) ทำให้ได้อภิญญา 5 คือ
ก) อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้
ข) ทิพพโสตะ หูทิพย์
ค) ปรจิตตวิชานนะ รู้วาระจิตของบุคคลอื่น
ง) บุพเพนิวาสานุสสติ ระลึกชาติได้
จ) ทิพพจักขุ มีตาทิพย์
6) ทำให้เข้านิโรธสมาบัติได้(พระอรหันต์และพระอนาคามีผู้ได้สมาบัติ 8
7) ทำให้เกิดวิปัสสนา โดยเป็นบาทของวิปัสสนาเพื่อให้ได้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน เรียกว่า สมถยานิก แปลว่าเอาสมถะมาเป็นยานพาหนะ ขี่ไปหาวิปัสสนา เพื่อให้เกิด ปัญญาทำลายกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานต่อไป
- วิปัสสนากัมมัฏฐาน คือ การรู้แจ้ง สภาพธรรมที่รู้แจ้ง คือ ปัญญา แต่เมื่อเป็นวิปัสสนาภาวนา คือ การเจริญอบรมปัญญาให้มีมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญญาที่เป็นหนทางสามารถละกิเลสได้จริงแต่ค่อย ๆ ละไปเป็นลำดับ วิปัสสนาภาวนา เป็นหนทางที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดงกับเหล่าสาวก ให้ดำเนินตาม ซึ่งเรียกหลายชื่อ เช่น สติปัฏฐาน 4 อริยมรรค เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการเจริญวิปัสสนาภาวนา ที่เป็นการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ซึ่งจะต้องอาศัยปัญญาขั้นพื้นฐาน คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นสำคัญ ปัญญาขั้นวิปัสสนาก็สามารถเกิดขึ้นได้
ประโยชน์ของวิปัสสนากัมมัฎฐาน
1) บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ทำให้เกิดปัญญาสามารถแก้ทุกข์ที่เกิดกับตนได้ ช่วยขจัดปัดป้องทุกข์ภัยอุปสรรค ทางกายใจ พร้อมทั้งนำความผาสุก ในชีวิตหน้าที่การงาน สังคม และ ครอบครัว
มาให้ทั้งทางตรงและทางอ้อม
2) บำบัดความเขลา บำรุงปัญญา สามารถเพิ่มสมรรถนะในการเรียนรู้และความคิดอ่านทางโลก ช่วยให้เกิดความหยั่งรู้ และ สามารถนำสมรรถภาพที่ซ่อนเร้นในตัวออกมา ใช้ให้เป็นประโยชน์ได้เป็นอย่างดี
3) บำบัดความรู้สึกฝ่ายต่ำ บำรุงความดีงาม สามารถขจัดสิ่งเลวร้ายภายในตนเองออกไปและเสริมสร้างความดีให้เกิดขึ้นในตนเองได้ มีปัญญา สามารถตีค่าความดีชั่วได้อย่างตรงไป ตรงมา พร้อมกับการเกิดการกลับใจได้โดยฉับพลันโดยไม่ยากไม่ลำบาก ตามความเข้าถึงของแต่ละบุคคล ชีวิตของผู้เป็นเช่นนี้ย่อมประเสริฐกว่าความมีฤทธิ์เดช เพราะอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ ไม่สามารถขจัดสิ่งเลวร้ายภายใน ตนออกไปได้ ยิ่งไปกว่านั้นอาจทำให้กิเลสตัณหาที่มีอยู่ในตัวกลับเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
ประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวิปัสสนา คือ เป็นทางเดียวเท่านั้น ที่สามารถพัฒนาบุคคลให้เกิดปัญญาจน สามารถหลุดพ้นจากวงจรการเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือ ที่เรียกว่าวัฏสงสารได้อย่างถาวร คือ นิพพาน
ความแตกต่างระหว่างสมถะกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน
การเจริญวิปัสสนาและสมถภาวนา จะต้องเจริญควบคู่กันไปหรือไม่ ในความเป็นจริง หนทางการดับกิเลสได้ คือ การเจริญวิปัสสนา ไม่ใช่สมถภาวนา และวิปัสสนาจะมีได้ ไม่ได้มีเพราะจะต้องเจริญสมถภาวนาก่อน แต่อาศัยการฟังศึกษาพระธรรม ดังเช่น อริยสาวกในอดีต เช่น นางวิสาขา ก็ไม่ได้เจริญสมถภาวนา ได้ฟังพระธรรมก็บรรลุธรรม
1) โดยสภาวธรรม
สมถะ : มีสมาธิเกิดขึ้น คือ จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว
วิปัสสนา : ทำให้เกิดปัญญา รู้รูปนามว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
2) โดยอารมณ์
สมถะ : มีนิมิตบัญญัติเป็น อารมณ์กรรมฐาน เช่น ปฐวีกสิณ เป็นต้น
วิปัสสนา : มีรูปนามเป็นอารมณ์ เพราะรูปนามมีความเกิดดับซึ่งเป็นความจริง
ตามธรรมชาติ
3) โดยหน้าที่
สมถะ : มีหน้าที่ในการกำจัดนิวรณ์ 5 ทำให้จิตมีความสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน เป็น ต้น
วิปัสสนา : มีหน้าที่ในการกำจัด อวิชชา ทำให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งสภาวธรรมตาม
ความเป็นจริง
4) โดยอาการที่ละกิเลส
สมถะ : ละกิเลสโดยอาการที่ข่มไว้ เป็น วิขัมภนปหาน
วิปัสสนา : ละกิเลสโดยอาการขัดเกลาเป็นขณะ ๆ เป็น ตทังคปหาน
5) ชนิดของกิเลสที่ถูกละ
สมถะ : ละกิเลสชนิดกลาง คือ ปริยุฏฐานกิเลส
วิปัสสนา : ละกิเลสอย่างละเอียด คือ อนุสัยกิเลส
6) โดยอานิสงค์
สมถะ : ทำให้อยู่สุขด้วยการข่มกิเลสไว้ และให้ไปเกิดในพรหมโลก
วิปัสสนา : ทำให้เข้าถึงความพ้นทุกข์ คือ พระนิพาน และเข้าถึงความไม่เกิดเป็นที่สุด
สรุป
พุทธศาสนาไม่ได้เห็นจิตเป็นเพียงสมอง หรือกล้ามเนื้อหัวใจ แต่จิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ เป็นนามธรรมที่ไม่สามารถจับต้องได้ แต่สามารถควบคุมได้ จิตเป็นการแสดงออกของมนุษย์ ด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ซึ่งมโนกรรมหรือใจนั้นสำคัญที่สุด สามารถให้ผลรุนแรงและกว้างไกล มโนกรรมครอบคลุมทั้งความเห็น ทัศนะ ความเชื่อ หากมีทัศนะหรือความเห็นที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง ก็สามารถนำชีวิตเข้าการกระทำหรือการตัดสินใจที่ผิดพลาด ขณะเดียวกัน หากมีทัศนะที่ถูกต้อง ก็สามารถนำชีวิตไปในทางที่ถูก ทั้งทางโลกและทางธรรม และไม่ได้มีผลต่อเพียงตนเองเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเราอีกด้วย เพราะความเห็น ทัศนะ และความเชื่อ เป็นสิ่งที่กำหนดพฤติกรรมในอนาคตของบุคคล จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดูแล พัฒนาจิตไม่ให้เข้าสู่ความเห็นผิด หรือเกิดความเศร้าหมอง ในขณะเดียวกันวิทยาศาสตร์ยอมรับโลกแห่งสสารซึ่งเทียบได้กับ “รูปธรรม” ในความหมายของพระพุทธศาสนา อันหมายถึงสิ่งที่มีอยู่จริงทางภาววิสัย ที่อวัยวะสัมผัสของมนุษย์สัมผัสได้ วิทยาศาสตร์มุ่งศึกษาด้านสสารและพลังงาน ยอมรับโลกแห่งสสาร ที่รับรู้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ว่ามีจริง โลกที่อยู่พ้นจากนั้น วิทยาศาสตร์ไม่ยอมรับ ส่วนแนวคิดทางพระพุทธศาสนานี้ ชี้ว่าสัจธรรมสูงสุด (นิพพาน) ซึ่งเป็นสภาวะที่ประสาทสัมผัสของมนุษย์ปุถุชนที่เต็มไปด้วยกิเลส ตัณหา ไม่สามารถรับรู้ได้ พระพุทธศาสนาแบ่งสิ่งที่มีอยู่จริงของสองพวกใหญ่ ๆ คือ “สังขตธรรม” (สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง) ได้แก่ สสารและ “อสังขตธรรม” (สิ่งที่ปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง) คือ นิพพาน วิทยาศาสตร์ยอมรับว่าสังขตธรรมมีจริง แต่อสังขตธรรมอยู่เหนือการรับรู้ของวิทยาศาสตร์ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าวิทยาศาสตร์กับพุทธศาสนามีความเกี่ยวข้องกัน แม้ว่าจิตวิทยาและพุทธศาสนาจะอยู่คนละศาสตร์ แต่ทั้งสองศาสตร์ก็สามารถอธิบายถึงความเป็นมนุษย์ในแง่ของจิตได้เช่นกัน สามารถเข้าใจถึงสภาวะทางจิตใจและพฤติกรรมของมนุษย์ที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น
รายการอ้างอิง
กันยา สุวรรณแสง. (2536). บุคลิกภาพและการปรับตัว (พิมพ์ครั้งที่ 2). อักษรพิทยา.
คัคนางค์ มณีศรี. (2556). จิตวิทยาทั่วไป (พิมพ์ครั้งที่ 3). ช่อระกาการพิมพ์.
พระครูกัลยาณสิทธิวัฒน์. (2547). เอตทัคคะในพุทธศาสนา. โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. พระไตรปิฎกและส่วนต่าง ๆ ของพระไตรปิฎก. https://saranukromthai .or.th/11.html.
สุรางค์ โค้วตระกูล. (2553). จิตวิทยาการศึกษา (พิมพ์ครั้งที่ 9). สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Freud, S. (1961). The ego and the id. In J. Strachey (Ed.), The Standard Edition of the Complete Psychological Works of Sigmund Freud 19(12-66).
_______. (1964). New introductory lectures on psycho-analysis. In J. Strachey (Ed.). The standard edition of the complete psychological works of Sigmund Freud, 22(1-182).
NovaBizz. (2565) ทฤษฎีการเรียนรู้ด้วยการหยั่งรู้. https://www.novabizz.com/ NovaAce/ Learning /insight-learning.htm.
Sanook. (2556). พระไตรปิฎก. https://guru.sanook.com/4216/.
Wurmser, L. (2009). The Superego as herald of resentment. Psychoanalytic inquiry, 29(5), 386-410.