Kamalas

Applying The Principles of Buddhist Psychology to The Theoretical Concepts of Counseling Psychology.

 

ผศ.ดร. วิชชุดา  ฐิติโชติรัตนา

พระครูสิทธิสรกิจ2

 

1ผศ.ดร. ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

2 อาจารย์ประจำหลักสูตรประกาศนียบัตรจิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธ

 

บทนำ

 

           ทฤษฎีจิตวิทยาการปรึกษาเป็นแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับความรู้ความเข้าใจมนุษย์ทางด้านจิตใจ ความคิดและพฤติกรรมการแสดงออก ซึ่งมีหลากหลายแนวคิด อีกทั้งแต่ละแนวคิดมีรูปแบบกระบวนการและทักษะในการช่วยเอื้อให้ผู้ให้การปรึกษาเกิดความคิด มุมมอง ในการนำไปช่วยเหลือผู้รับการปรึกษาได้แก้ไขปัญหาทางด้านจิตใจหรือคลี่คลายความทุกข์ของตนได้ ซึ่งสอดคล้องกับแก่นพุทธจิตวิทยาที่มุ่งเน้นความพ้นทุกข์ทางด้านจิตใจ ด้วยเป็นแก่นของธรรมะที่เน้นไปสู่เป้าหมาย คือแก้ปัญหาได้ หลุดพ้นได้ การเลือกใช้หลักธรรมที่เป็นแก่นพุทธจิตวิทยาที่เหมาะกับโจทย์ปัญหาจะช่วยเอื้อให้ผู้ที่มีปัญหาทางด้านจิตใจ สามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาหรือบรรเทาทุกข์ได้ อีกทั้งมีแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง เหมาะสมและเป็นสุข ในบทความนี้ขอเสนอความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดทฤษฎีจิตวิทยากระแสหลักที่นำมาประยุกต์ใช้ในการรักษาเยียวยาจิตใจ ใน 5 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ 1) กลุ่มจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) 2) กลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism)/การปรับความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy) 3) กลุ่มมนุษยนิยม (Humanism) 4) กลุ่มอัตถิภาวะนิยม (Existential) และ 5) กลุ่มจิตวิทยาผ่านพ้นตัวตน (Transpersonal) นอกจากนี้ ผู้เขียนได้นำองค์ความรู้ในแก่นพุทธจิตวิทยามาบูรณาการกับกลุ่มแนวคิดทฤษฎีดังกล่าวเพื่อให้ผู้สนใจได้ประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเกื้อกูลผู้รับการปรึกษา ให้สามารถแก้ไขปัญหา/ทุกข์ภายในใจได้ด้วยตนเองเป็นสำคัญ เพราะพุทธศาสนามีหนทางที่ดำเนินไปสู่การดับความทุกข์ คือ การปฏิบัติตามทางสายกลางเพื่อที่จะเข้าถึงการดับความทุกข์ ที่เรียกว่าหลักอริยสัจ 4 ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ที่ปรากฏชัดในคัมภีร์พระไตรปิฎก (วิ.มหา.(ไทย) 4/13–16/13–15.)

 

ความสำคัญและความหมายของการปรึกษาเชิงจิตวิทยากับชีวิต

 

           ในวิถีชีวิตของผู้คนโดยธรรมชาติ มักต้องพบกับสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ ความไม่พึงพอใจ อยู่ในภาวะที่มีปัญหาและไม่สามารถแก้ไขปัญหาของตนเองได้ไม่ช่วงใดก็ช่วงหนึ่งของชีวิต ณ ขณะที่มีภาวะเช่นนี้เกิดขึ้น บุคคลจะมีความสับสน ความขัดแย้งภายในใจ เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม มีความวิตกกังวล คับข้องใจ หรือเก็บกดอารมณ์ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้จะไปปิดกั้นความสามารถในการมองเห็นความจริงและการใช้เหตุผลที่มีอยู่ในตัวของบุคคล กระบวนการที่จะสามารถเข้ามาช่วยผู้คนให้หลุดพ้นจากภาวะทุกข์ใจ มีความเข้าใจต่อความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนี้ คือ การปรึกษาเชิงจิตวิทยา ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้การปรึกษา กับผู้รับการปรึกษา โดยผู้ให้การปรึกษาจะประยุกต์ใช้หลักการ/แนวคิดทฤษฎีทางจิตวิทยามาเอื้ออำนวยให้ผู้รับการปรึกษาได้ตระหนักในประสบการณ์ของตน ผ่านการสนทนาระหว่างผู้ให้การปรึกษาและผู้รับการปรึกษา โดยให้ผู้รับการปรึกษาได้สำรวจตนเองในรอบด้านเพื่อให้รู้จัก เข้าใจ และเกิดการยอมรับตนเองในสิ่งที่เป็นปัญหาได้มากขึ้น และสามารถแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยตนเองได้  (วัชรี ทรัพย์มี, 2533; ดวงมณี จงรักษ์, 2549 )

           การให้การปรึกษาเชิงจิตวิทยามีความแตกต่างจากการให้คำปรึกษาแนะนำโดยทั่วไป ซึ่งมักไม่มีหลักการ ขั้นตอนและจุดมุ่งหมาย ที่จะช่วยให้ผู้รับคำปรึกษานำเอาความสามารถที่มีอยู่ในตัวเองมาใช้แก้ไขปัญหา ส่วนใหญ่เป็นการทำหน้าที่พูดปลอบใจเฉย ๆ ให้ข่าวสารข้อมูล ให้คำแนะนำหรือสั่งสอนในสิ่งที่ดีงาม หรือสิ่งที่ผู้แนะนำคิดว่าถูกต้องตามประสบการณ์ของตน แต่การปรึกษาเชิงจิตวิทยาเป็นกระบวนการที่มีหลักการแนวคิดทฤษฎีทางด้านจิตวิทยาที่หลากหลาย มีขั้นตอนและจุดมุ่งหมายในการสนทนา ซึ่งผู้ให้การปรึกษาจะต้องมีองค์ความรู้เกี่ยวกับแนวคิดทฤษฎีจิตวิทยาและฝึกฝนทักษะการสื่อสารเพื่อการปรึกษา การแสดงความเป็นมิตร มองเห็นคุณค่าและความสามารถของผู้อื่น จะช่วยให้ผู้รับการปรึกษาเกิดความไว้วางใจและร่วมมือกันแก้ไขปัญหาตามศักยภาพของตน การปรึกษาเชิงจิตวิทยาจึงเป็นศาสตร์ที่เอื้อเฟื้อให้ผู้คนได้มีความความงอกงามขึ้นภายในใจ มีความสำคัญที่ ช่วยให้บุคคลได้เกิดภาวะรู้จักและเข้าใจตนเอง สามารถเข้าใจผู้อื่น และเข้าใจปัญหาต่าง ๆ ได้ตามความเป็นจริง เรียนรู้และค้นหาเหตุแห่งปัญหาด้วยตนเอง และสามารถตัดสินใจหาทางเลือก ค้นหาแนวทางในการแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง อีกทั้งสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แก้ไขข้อผิดพลาดเกี่ยวกับตนเองและสิ่งแวดล้อม และสามารถวางพื้นฐานในการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่าและมีความหมาย (จีน แบรี่, 2549; โสรีช์ โพธิแก้ว, 2553)

 

แก่นพุทธจิตวิทยาที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิต 

 

           แนวคิดในเรื่องแก่นพุทธจิตวิทยาที่นำเสนอในบทความนี้เป็นการสรุปจากคำบรรยายของพระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (2566) ที่มีความเกี่ยวข้องกับแนวคิดทฤษฎีจิตวิทยาการปรึกษา ท่านได้นำเสนอเรื่องจิตวิทยาเชิงพุทธ (Buddhism-based psychology) ว่าหมายถึงจิตวิทยาที่มีฐานคำสอนทางพุทธศาสนา ทำให้เป็นที่สนใจในโลกตะวันตก โดยเฉพาะในเรื่องของสติ (mindfulness) ที่โลกตะวันตกนำเอาความคิดทางพุทธศาสนาไปประยุกต์กับแนวคิดทางจิตวิทยา เช่น แนวคิดการลดความเครียดโดยใช้สติเป็นฐาน MBSR (mindfulness-based stress reduction) แต่ในทางพุทธศาสนานั้น ความเครียดเป็นความทุกข์ซึ่งมีแนวคิดพื้นฐานทางพระพุทธศาสนาที่มีวิธีการรักษาเยียวยา โดยพระพุทธเจ้าจัดระบบโรคไว้ 2 อย่าง คือ โรคทางกาย (กายิกโรค) รักษาด้วยยาทางกาย และโรคทางใจ (เจตสิกโรค) รักษาด้วยธรรมะ คนที่ไม่มีโรคทางใจมีอยู่ประเภทเดียวคือ พระอรหันต์ เมื่อเป็นโรคต้องหาที่มา ทำไมจึงเกิดโรค เกิดเพราะอะไร ดังนั้น องค์ความรู้ในการทำจิตบำบัดหรือการปรึกษาตามแนวพุทธจิตวิทยา ต้องพิจารณาให้ครบถ้วนใน 3 องค์ประกอบคือ ด้านปริยัติเป็นเรื่องชีวิตของมนุษย์คือเบญจขันธ์ นามรูป ด้านปฎิบัติเป็นเรื่องสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน และในด้านปฏิเวธเป็นเรื่องการพัฒนาจิตเพื่อให้เกิดผล โดยให้พ้นปัญหาใน 3 ระดับคือ ระดับตทังควิมุตติ เป็นการพ้นปัญหาชั่วคราว เช่น เราเครียด เราโกรธ ทำอย่างไรให้หายเครียดหายโกรธ ระดับวิกขัมภนวิมุตติ คือข่มไว้ด้วยสมถะ และระดับสมุจเฉทวิมุตติคือตัดรากของปัญหาทั้งหลายด้วยวิปัสสนา ในที่นี้ขอยกตัวอย่างการบรรเทาทุกข์ทางจิตใจจนสามารถดับทุกข์ได้ตามแนวพุทธจิตวิทยา เช่น คนอยากฆ่าตัวตาย มีแนวทางการช่วยเหลือเยียวยา ดังนี้

           ด้านปริยัติ เป็นความรู้ความเข้าใจโลก มุมมองต่อชีวิต ท่าทีต่อความทุกข์ผ่านทิฏฐิ (แนวคิด ความเห็น) ซึ่งประกอบไปด้วยสัมมาทิฏฐิ (แนวคิดที่ถูกต้อง ความเห็นชอบตามธรรม) และมิจฉาทิฏฐิ (แนวคิดที่บิดเบือน มีทิฏฐิวิปัลลาสจากความจริง) จึงต้องให้เข้าใจธรรมชาติของเบญจขันธ์ คือเข้าใจรูปนามที่ล้วนเกิดจากการปรุงแต่งยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ แปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัย เห็นสัมพันธภาพของตนกับตนเอง เห็นสัมพันธภาพของตนต่อทุกสิ่ง สภาวะที่มีความโกรธ ความกลัวต้องการทำร้ายทำลาย ล้วนมีลักษณะของจิตที่ประกอบด้วยอกุศลเจตสิก (โลภ โกรธ หลง) พอมาปรุงแต่งจิตเกิดความยึดมั่น (อุปาทาน) ทำให้เกิดความเครียด ความกลัว ความวิตกกังวล จนเกิดวิกฤตในชีวิต

           ด้านปฏิบัติ  ให้เข้าใจจิตที่ประกอบด้วยเจตสิกฝ่ายดี เป็นโสภณเจตสิก (ศรัทธา ปัญญา เมตตา กรุณา) ซึ่งมีอยู่ในตัวทุกคน ทั้งผู้ให้การปรึกษาและผู้รับการปรึกษาจึงต้องมีกระบวนการปฏิบัติในระดับศีลและสมาธิ พัฒนาเจตสิกภายในและพฤติกรรมภายนอก จะทำให้ผู้ให้การปรึกษาแสดงความเป็นกัลยาณมิตร ปราศจากอคติ ด้วยท่าทีที่สงบมั่นคง สื่อสารด้วยภาษาและรูปแบบที่เหมาะสม และมีทัศนะที่ถูกตรงเป็นสัมมาทิฏฐิ ที่จะเอื้อกระบวนการในระหว่างการปรึกษาให้ผู้รับการปรึกษาเกิดการปฏิบัติ ได้พัฒนาเพิ่มขึ้น ทำให้จิตมีความผ่องใสมากขึ้น เข็มแข็งมากขึ้น ยิ่งมีเมตตามากก็จะควบคุมความโกรธได้มาก แนวทางการปฏิบัติในการช่วยเหลือ ชวนให้ฝึกสติคือการระลึกรู้ในปัจจุบันขณะทั้งภายในภายนอกตัวเรา มีสมาธิคิดเรื่องเดียวไม่วอกแวก จนเกิดสัมปชัญญะ (การรู้ชัด) ด้วยการตรวจสอบตนเอง (ธัมมวิจยะ) ด้วยการสังเกตตน (วิปัสสนา) พิจารณาเรื่องราวตามเหตุปัจจัย มองเห็นความเหมาะสมไม่เหมาะสม เป็นความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นรอบด้านด้วยปัญญา มองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง (เห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) จะช่วยให้ลดอคติลง ชำระจิตให้ผ่องใสจากอกุศลเจตสิกได้

           ด้านปฏิเวธ ให้เข้าใจผลของการปฏิบัติและเกิดผลด้านปัญญา ทำให้จิตเกิดการพัฒนาใน 3 ระดับขึ้นอยู่กับสภาวะของแต่ละบุคคลในขณะนั้น ๆ คือ

ระดับที่ 1  ตทังควิมุตติ คือ พ้นปัญหาชั่วคราว เหมือนหญ้าขึ้นตรงไหนก็ตัดหญ้าตรงนั้น รากของหญ้ายังอยู่และกลับมางอกใหม่ เช่น เมื่อมีความโกรธ มีความเข้าใจเหตุปัจจัยที่ทำให้โกรธ (ปริยัติ) มีการปฏิบัติโดยการแผ่เมตตา (ปฏิบัติ) แต่ความโกรธยังไม่หมดไป เพียงแต่เบาบางลง แล้วอาจจะกลับมาโกรธอีก (ปฏิเวธ-ตทังควิมุตติ)

ระดับที่ 2  วิกขัมภนวิมุตติ คือการหลุดพ้นจากปัญหา เหมือนเอาหินไปทับหญ้า ทำให้หญ้าไม่สามารถงอกขึ้นเพราะถูกหินทับไว้ ด้วยการใช้สมาธิกดข่มความโกรธเอาไว้ ไม่ให้ความทุกข์ความโกรธผุดขึ้นมาลืม ๆ ไปเสีย  ถ้ามีการฝึกสมาธิอย่างต่อเนื่อง กิเลสก็จะไม่ฟุ้ง แต่ถ้าเลิกทำสมาธิ กิเลสหรือความโกรธก็สามารถฟุ้งขึ้นมาได้อีก การหลุดพ้นก็เสื่อมคลายลงได้

ระดับที่ 3  สมุจเฉทวิมุตติ คือตัดรากของปัญหา ความหลุดพ้นโดยเด็ดขาด เป็นความหลุดพ้นโดยการละอกุศลธรรมทั้งหลายที่ฝังแน่นอยู่ในขันธสันดาน ซึ่งวิธีการปฏิบัติเพื่อให้ได้บรรลุถึงสมุจเฉทวิมุตตินี้ ต้องเป็นผู้เกิดมาพบพระพุทธศาสนาแล้วมีใจที่กอปรด้วยความเลื่อมใสศรัทธา เจริญวิปัสสนากรรมฐานอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้งจนบรรลุถึงอรหัตมัคคญาณ อันเป็นสมุจเฉทวิมุตติขั้นสูงสุด ย่อมเป็นผู้มีจิตผ่องแผ้วปราศจากกิเลสธุลี สามารถที่จักตัด

           สังโยชน์อกุศลธรรมชั่วร้ายทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด สิ้นทุกข์ในสังสารวัฏไม่ต้องเที่ยววนเวียนให้ได้รับความทุกข์อีก (พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร), 2555, น. 199-200)

           จากข้อความข้างต้นการปรึกษาเยียวยาจิตใจตามแนวพุทธจิตวิทยามีแนวทางในการเยียวยาที่ต้องมีให้ครบใน 3 องค์ประกอบคือปริยัติ ปฏิบัติและปฏิเวธ อีกทั้งมีขั้นตอนที่ชัดเจนขึ้นอยู่กับผู้ให้การปรึกษาและผู้รับการปรึกษาว่าจะมีความสามารถเดินทางร่วมกันให้มีการพัฒนาจิตในระดับใด ซึ่งในแต่ระดับก็มีประโยชน์ในการพัฒนาจิตใจในทุก ๆ ระดับ แต่โดยจุดมุ่งหมายของกระบวนการปรึกษา ยังอยู่ในระดับโลกียะเท่านั้น คือ มุ่งเพียงระดับตทังควิมุตติ และอาจเสริมปฏิบัติในระหว่างกระบวนการปรึกษาได้ถึงระดับวิกขัมภนวิมุตติ ขณะเดียวกันก็มีความเชื่อในศักยภาพระดับปัจเจกของมนุษย์ที่เป็นไปได้ว่าจะพัฒนาตนถึงระดับสมุจเฉทวิมุตติได้ด้วยเมื่อเหตุปัจจัยพร้อม

           ดังนั้น ผู้ให้การปรึกษาต้องมีทั้งด้านปริยัติความเข้าใจตามแนวคิดทฤษฎีหรือทิฏฐิของตน ซึ่งเป็นท่าทีความสัมพันธ์ระหว่างตนเองต่อพฤติกรรมตนเอง และตนเองกับสิ่งแวดล้อม (ศีล) เพื่อปฏิบัติพัฒนาตนเองตามแนวคิดหรือทิฏฐินั้น ๆ เช่น พุทธรรมต้องฝึกสติ ฝึกเมตตา ทำใจให้สงบว่าง แนวคิดจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ต้องสามารถระลึกเห็นกลไกป้องกันตนเองของตน และเข้าใจการใช้กลไกของตนได้ เพื่อจะไม่เป็นผู้ป่วย หรือแนวคิดมนุษย์นิยม (Humanistic) ต้องฝึกฝนการเห็นอกเห็นใจ มีความเข้าใจผู้อื่นได้อย่างลึกซึ้ง อย่างแนบแน่นมั่นคง (สมาธิ) และผู้ให้การปรึกษาต้องมีประสบการณ์เปลี่ยนแปลงตนเองอย่างได้ผลเชิงประจักษ์แก่ตนเองก่อน จึงจะเห็นความถูกต้อง (ปัญญา) ตามแนวคิดทฤษฎีนั้น ๆ ได้ (พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต), 2566); โสรีช์ โพธิแก้ว, 2553; Silva, 2014)

 

การประยุกต์แก่นพุทธจิตวิทยากับแนวคิดทฤษฎีจิตวิทยาการปรึกษา

 

           แนวคิดทฤษฎีจิตวิทยาตะวันตกเป็นแนวคิดที่มีความชัดเจนในการเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ และการเกิดพฤติกรรมต่าง ๆ ในเชิงประจักษ์ ซึ่งในแต่ละกลุ่มแนวคิดนั้นได้พยายามอธิบายเรื่องพฤติกรรมของจิตและพฤติกรรมของกายผ่านกรอบแนวคิดและมุมมองของนักจิตวิทยาซึ่งเป็นผู้นำแนวคิดทฤษฎีแต่ละคน อีกทั้งแต่ละแนวคิดนั้นได้พยายามศึกษาและอธิบายความคิดเรื่องจิตอย่างต่อเนื่องแต่ยังไม่มีกลุ่มใดสามารถอธิบายครอบคลุมเป็นภาพรวมการทำงานของกายและจิตที่มีความสัมพันธ์ได้ทั้งหมด เพียงแต่ศึกษาจิตในแต่ละด้าน ดังนั้น นักคิดทางจิตวิทยาตะวันตกจึงมีการศึกษาเกี่ยวกับจิตใจในหลายแนวคิด มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน พร้อมทั้งขยายและพัฒนาแนวคิดเหล่านั้นไปตามช่วงเวลาและบริบทของสังคม แนวคิดทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นกระแสหลักของแนวคิดทางจิตวิทยา ที่ต่างพยายามอธิบายปัญหาที่เกิดทางด้านจิตใจในลักษณะที่เป็นสากล ให้ครอบคลุมกับมนุษย์โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนาหรือความเชื่อ และแต่ละแนวคิดได้มีความพยายามที่จะพัฒนา หาคำอธิบายใหม่ ๆ ทัศนะใหม่ ของกระบวนทางด้านจิตใจให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของชีวิตให้มากที่สุดตามทัศนะของตน ในที่นี้ขอกล่าวถึงพลังแนวคิดทฤษฎีทางจิตวิทยาใน 5 กลุ่มแนวคิด ที่มีอิทธิพลต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาเยียวยาทางด้านจิตใจในสังคมโลกทั้งในอดีตถึงปัจจุบัน

 

           กลุ่มที่ 1 แนวคิดจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis)

 

           เริ่มต้นจากแนวคิดของซิกมัน ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เป็นการศึกษาเกี่ยวกับอารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์ในระดับจิตไร้สำนึก (อิด อีโก้ และ ซูเปอร์อีโก้) โดยเชื่อว่ามนุษย์กำเนิดมาพร้อมสัญชาตญาณของการมีชีวิตและความตาย (life & death instinct) การพัฒนาจิตที่สมบูรณ์ต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอน หากข้ามขั้นหรือในแต่ละขั้นพัฒนาอย่างไม่สมบูรณ์ ความขัดแย้งภายในจิตใจก็จะเกิดขึ้นแล้วเก็บไว้อยู่ในระดับจิตไร้สำนึก และอาจแสดงพฤติกรรมออกมาในรูปของกลไกลป้องกันตนเอง (defense mechanism) รูปแบบต่าง ๆ เช่น ก้าวร้าว เก็บกด อ้างเหตุผล โยนความผิด ฝันกลางวัน ฯ แนวคิดนี้จึงให้ความสำคัญกับประสบการณ์ในวัยเด็ก จิตวิเคราะห์เป็นทฤษฎีที่มีการศึกษาพัฒนาต่อเนื่องตามช่วงเวลา นักจิตวิทยาที่โดดเด่นในกลุ่มนี้ เช่น ฟรอยด์ (Sigmund Freud – Psychoanalytic Therapy) คารล์ จี จุง (Carl G. Jung – Analytic Therapy) ซึ่งต่อมามีนักจิตวิทยาหลายท่านที่ได้พัฒนาแนวคิดขึ้นมาใหม่ แต่ยังมีฐานมาจากแนวคิดของฟรอยด์เรียกว่า Neo-Freudians โดยกลุ่มนี้เน้นในเรื่องความสัมพันธ์ของบุคคลกับสิ่งแวดล้อมที่ผลต่อการรับรู้ การคิด และการแสดงพฤติกรรมของบุคคล เช่น อัลเฟรด  แอดเลอร์ (Alfred Adler – Individual Psychology) คาเรน ฮอร์นีย์ (Karen Horney – Feminine psychology) แฮรี่ สแตค ซัลลิแวน (Harry Stack Sullivan – The Interpersonal Theory) อีริค อีริคสัน (Erick Erikson – Erikson’s theory of psychosocial development) เป็นต้น (กิติกร มีทรัพย์, 2559 ; Apuzzi & Gross, 1995 ; Corey, 1996)

           จิตวิเคราะห์เป็นกลุ่มแนวคิดแรก ๆ ที่ได้นำเสนอในเรื่องพฤติกรรมของมนุษย์ว่าเกิดจากแรงผลักดันของจิตไร้สำนึก แนวคิดเกี่ยวกับประสบการณ์วัยเด็กจะทำให้เราเข้าใจผู้รับการปรึกษามากยิ่งขึ้น อีกทั้งทำให้สังคมหันมาสนใจการดูแลเด็กมากยิ่งขึ้น จิตวิเคราะห์อธิบายสาเหตุของความวิตกกังวลอย่างละเอียด ทำให้เราสามารถช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาได้ง่ายขึ้น กลวิธีทางจิตวิเคราะห์เหมาะสำหรับบุคคลที่มีปัญหาทางอารมณ์อย่างลึกซึ้ง การให้บริการปรึกษาแบบจิตวิเคราะห์เป็นทฤษฎีที่อธิบายกระบวนการทางจิตอย่างละเอียดละออ

 

           การประยุกต์แก่นพุทธจิตวิทยาสู่แนวคิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์

 

           จิตวิเคราะห์ในทางพุทธศาสนา มีมโนทัศน์ว่าปรากฏการณ์ทางจิตทั้งหลายรวมทั้งความทุกข์และพฤติกรรมต่าง ๆ ล้วนแต่มีสาเหตุที่เป็นลักษณะเฉพาะอยู่ก่อนแล้ว และมักปฏิบัติการอยู่ในระดับจิตไร้สำนึกที่เป็นจุดเริ่มแห่งการให้ผลของกรรมที่แสดงว่าสิ่งที่เราทำไว้ทั้งหมด สิ่งที่เราคิด สิ่งที่เรานึก ทุกอย่างไม่ได้หายไปไหนเลย ยังคงอยู่ในจิตใจของเราทั้งหมด เพียงแต่เราไม่รู้ตัวและระลึกออกมาโดยจิตสำนึกไม่ได้เท่านั้น จิตไร้สำนึกเป็นจิตสะสมประสบการณ์ทุกอย่างและปรุงแต่งชีวิตเรา จิตสำนึกได้แต่คิดปรุงแต่งเบื้องต้นเท่านั้น ส่วนตัวปรุงแต่งสร้างสรรค์แท้จริงที่สร้างผลออกมาแก่ชีวิตส่วนใหญ่ เป็นนิสัย เป็นบุคลิกภาพ ตลอดจนเป็นชะตากรรมของชีวิตนั้น อยู่ที่จิตไร้สำนึกที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งทำงานของมันอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งจิตไร้สำนึก เป็นที่เก็บสั่งสมของกุศลกรรมและอกุศลกรรม อาสวะและบารมี รวมทั้งตัณหา 3 อย่าง ซึ่งเป็นสาเหตุของความทุกข์ ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต), 2563)

           จิตไร้สำนึก ในพุทธศาสนามีขอบเขตกว้างขวางและลึกซึ้งกว่าในจิตวิเคราะห์มาก สามารถเปรียบเทียบได้กับมโนทัศน์ของสัญชาตญาณทางเพศ สัญชาตญาณแห่งอัตตา และสัญชาตญาณแห่งความตาย ในจิตวิเคราะห์ตามลำดับ ยิ่งกว่านั้นสิ่งที่เกี่ยวกับอกุศลมูลในจิตไร้สำนึกซึ่ง ได้แก่ ความโลภ (โลภะ) ความโกรธ (โทสะ) ความหลง (โมหะ) นั้น มโนทัศน์ของความโลภและความโกรธมีมุมมองที่คล้ายคลึงกันหลายอย่างกับแรงขับทางเพศและแรงขับทางก้าวร้าว แต่ฟรอยด์ดูเหมือนจะไม่ทราบเกี่ยวกับเรื่องของความหลง (โมหะ) ไม่ทราบเกี่ยวกับกุศลมูลในจิตไร้สำนึก ซึ่งได้แก่ ความไม่โลภ (อโลภะ) หรือความคิดเผื่อแผ่ ความไม่โกรธ (อโทสะ) หรือความเมตตา และความไม่หลง (อโมหะ) หรือปัญญา ในการช่วยเหลือเยียวยาผู้รับการปรึกษาที่มีความผิดปกติทางจิตใจให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ ให้พร้อมทั้งการปรับตัวทางสังคมและพัฒนาการทางบุคลิกภาพที่ดีขึ้น ดังนั้น เป้าประสงค์ในพุทธศาสนาจึงสูงกว่าในจิตเวชศาสตร์มาก ในแง่ที่ว่าคำสอนทางพุทธศาสนาที่ให้กับคนปกติที่สามารถนำมาปฏิบัติจนมีพัฒนาการทางจิตวิญญาณสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากระดับโลกียะเข้าสู่ระดับโลกุตตระ และบรรลุนิพพานในที่สุด (จำลอง ดิษยวณิช, 2541 น. 266-291)  ในจิตวิเคราะห์ยังไม่มีวิธีที่มีประสิทธิผลในการทำลายล้างแรงขับทางสัญชาตญาณและตัณหาของมนุษย์ให้หมดสิ้นได้ แต่ในพุทธศาสนากล่าวถึงกิเลสอย่างละเอียดในจิตไร้สำนึกหรืออนุสัยกิเลสว่าสามารถขจัดได้โดยสิ้นเชิงด้วยการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ฟรอยด์เชื่อว่าภาวะของสุขภาพจิตสัมบูรณ์เป็นอุดมคติที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าความวิตกกังวลซึ่งเป็นอาการอย่างหนึ่งของโรคประสาทยังคงมีอยู่ในมนุษย์ทุกคน ฟรอยด์จึงมองว่ามนุษย์ไม่ต้องดีงาม ราคะและโทสะ (ความปรารถนาทางเพศและความก้าวร้าว) เป็นสิ่งติดตัวตลอดชีวิตตั้งแต่เกิด เพียงแต่ใช้ชีวิตให้ อีโก้ ประสานระหว่างอิดกับซูเปอร์อีโก้ เพื่อลดความขัดแย้งภายในตนกับพฤติกรรมได้ และกลไกป้องกันตนเองที่เกิดจากจิตไร้สำนึก ก็เป็นกลไกที่ช่วยลดความวิตกกังวลให้มนุษย์ด้วยเช่นกัน ในทางตรงกันข้าม พุทธศาสนากลับมีแนวคิดว่า สุขภาพจิตสมบูรณ์เป็นสิ่งที่บรรลุได้ในชีวิตนี้ ถ้าบุคคลใดก็ตามสามารถขจัดกิเลสและอาสวะทั้งหลายภายในจิตได้โดยสิ้นเชิง บุคคลดังกล่าวเรียกว่า “พระอรหันต์” ผู้เป็นอริยบุคคลขั้นสูงสุดและสามารถทำลายสังโยชน์ซึ่งเป็นกิเลสที่ผูกพันสัตว์ ให้เวียนว่ายตายเกิด ในวัฏสงสารได้หมดสิ้น เป้าหมายตามพุทธศาสนาจึงมุ่งในทางกำจัดและระงับแรงขับทางจิตฝ่ายอกุศล เสริมสร้างและรักษาแรงขับทางจิตฝ่ายกุศล ผ่านการเฝ้าสังเกตด้วยตนเองได้ ขณะที่จิตวิเคราะห์มุ่งเพียงบรรเทาแรงขับทางจิตฝ่ายอกุศล ด้วยการสังเกตจากผู้ให้การปรึกษาหรือผู้อื่นเท่านั้น  (พระบุญญฤทธิ์ รตินฺธโร (นุชเทียน), 2550 ; Silva, 1973)

 

           กลุ่มที่ 2 แนวคิดพฤติกรรมนิยม (Behaviorism)/การปรับความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy)

 

           ในช่วงปี 1920 –1950 เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับแนวคิดกลุ่มที่ 1 นักจิตวิทยากลุ่มนี้มีแนวความคิดเห็นต่างจากฟรอยด์ พวกเขาเฝ้าสังเกตผู้คนและพบว่าพฤติกรรมของมนุษย์มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้า (stimulus) และการตอบสนอง (response) มิใช่สิ่งที่มีติดตัวมาแต่กำเนิด กลุ่มนี้เชื่อว่าพฤติกรรมของมนุษย์สามารถควบคุมได้และเปลี่ยนแปลงได้ ปรับเปลี่ยนให้เป็นตามต้องการได้โดยการจัดการควบคุมสภาพแวดล้อมที่อยู่ภายนอก ที่จะสามารถกำหนดการกระทำได้โดยการวางเงื่อนไขหรือจัดสภาพการเรียนรู้ใหม่ ซึ่งต่างจากกลุ่มที่ 1 ที่มุ่งเน้นประสบการณ์ในอดีตและจิตไร้สำนึก และได้มีการศึกษาพัฒนาแนวคิดนี้ตามช่วงเวลาเช่นกัน นักจิตวิทยาในกลุ่มมีดังนี้ จอห์น บี วัตสัน (John B. Watson – Behavioral Therapy) อีวาน พาฟลอฟ (Ivan Pavlov – Conditioning Theory) บี เอฟ สกินเนอร์ (B. F. Skinner – Learning Theory) โจเซฟ โวลเป (Josep Wolpe – Systematic Desensitization) เป็นต้น

           ในกลุ่มพฤติกรรมนิยมนั้นมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เห็นได้เชิงประจักษ์ นักจิตวิทยาหรือผู้ให้การปรึกษามีวิธีการ ขั้นตอนที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม สะดวกต่อการนำไปปฏิบัติและเกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ส่วนในข้อจำกัด เนื่องจากทฤษฎีนี้มีความเชื่อในเรื่องสิ่งแวดล้อมภายนอกเป็นตัวควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ วิธีการแก้ไขปัญหาล้วนเป็นการวางเงื่อนไขจากการจัดสภาพแวดล้อมภายนอก โดยใช้การให้รางวัลเมื่อกระทำพฤติกรรมที่ดีที่เหมาะสมและให้การลงโทษเมื่อมีพฤติกรรมที่จะเป็นโทษกับตนเองและผู้อื่น ที่เป็นการกำหนดจากสภาพการณ์ภายนอกทั้งสิ้น เป็นการไม่เปิดโอกาสและไม่เชื่อศักยภาพภายในจิตใจของมนุษย์ ซึ่งอาจจะไม่สามารถนำมาใช้กับผู้ที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์และความรู้สึกได้ผลดีนัก (วัชรี ทรัพย์มี, 2533) ในเวลาต่อมามีนักจิตวิทยาที่ได้ศึกษาเรื่องการแก้ไขปัญหาโดยการปรับพฤติกรรมพบว่า ตัวแปรที่สำคัญที่จะให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้น ไม่ได้เกิดจากสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีตัวแปรอีกชนิดหนึ่งคือสิ่งที่อยู่ภายในซึ่งเป็นพฤติกรรมทางปัญญา (สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต, 2543) จึงมีนักจิตวิทยาที่ให้ความสนใจศึกษาถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงความคิดที่อยู่ภายใน เป็นการเริ่มต้นในการศึกษาในเรื่องการบำบัดทางปัญญาหรือการรู้คิดขึ้น โดยมีข้อค้นพบว่ากระบวนการคิดที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมก่อให้เกิดปัญหาทางด้านจิตใจและส่งผลต่อพฤติกรรม วิธีการแก้ปัญหาคือการปรับกระบวนการคิดเหล่านั้นให้ถูกต้องเหมาะสม จึงจะสามารแก้ไขปัญหาได้ ในที่นี้ขอเสนอ 2 แนวคิดคือ

           อัลเบิร์ต อิลลิส (Albert Ellis) เจ้าของทฤษฎีการปรึกษาแบบพิจารณาเหตุผล อารมณ์และพฤติกรรม (Rational Emotive Behavior Therapy) ที่มีมุมมองเกี่ยวกับมนุษย์ว่าเป็นผู้ที่มีทั้งเหตุผลและไร้เหตุผล เมื่อมนุษย์ใช้ความคิดอย่างมีเหตุผลจะนำไปสู่การกระทำอย่างมีประสิทธิภาพ อารมณ์อันขุ่นมัวของมนุษย์มีรากฐานมาจากการที่มนุษย์มีความคิดอันไร้เหตุผลซึ่งได้มาจากการรับรู้และทัศนคติของเขาที่มีต่อเหตุการณ์นั้น ๆ ซึ่งลำพังแต่ตัวเหตุการณ์เองไม่ได้ก่อให้เกิดอารมณ์อันขุ่นมัวและการพ่ายแพ้ตนเองหรือท้อถอย (self-defeating) แต่เนื่องจากความคิด อารมณ์ และการกระทำมีความสัมพันธ์กัน โดยเน้นอิทธิพลของความคิดมาก ดังนั้นการปรึกษาแบบพิจารณาเหตุผล อารมณ์และพฤติกรรม จะช่วยทำให้ผู้รับการปรึกษาได้ปรับปรุงปรัชญาของตน ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ และการกระทำของเขาไปสู่แนวทางที่พึงปรารถนา โดยผู้ให้การปรึกษาต้องมีความเชื่อหรือหลักการเหมือนนักอัตถิภาวะนิยมและนักมนุษยนิยมว่า คนเรามีกรอบแห่งความคิดหรือการรับรู้ตนเอง ดังนั้นผู้ให้การปรึกษาพึงทำความเข้าใจกรอบแห่งความคิดของผู้รับการปรึกษาเป็นสำคัญ (วัชรี ทรัพย์มี, 2533, น.148-149)

           แอรอน ที เบ็ค (Aron T. Beck) เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา เป็นบุคคลแรกที่นำแนวความคิดและพฤติกรรมบำบัด (Cognitive Behavioral Therapy – CBT) มารักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า แนวคิดนี้มีมุมมองเกี่ยวกับมนุษย์ว่า ความคิดและความเชื่อที่เรียกว่า “core belief” เป็นความเชื่อที่ฝังรากจนมาเป็นตัวตนของคน ๆ หนึ่ง ซึ่งเกิดจากการได้รับประสบการณ์เลี้ยงดูและการเรียนรู้ตั้งแต่วัยเด็ก จนกระทั่งก่อตัวมาเป็นทัศนะที่มีต่อตนเองและบุคคลอื่น ส่วนใหญ่เป็นความคิดความเชื่อที่ไม่รู้ตัวในทันที ส่วนความเชื่อที่พอจะเข้าใจได้บ้างมักจะเป็นความเชื่อที่แฝงอยู่ในอีกระดับหนึ่ง ที่เรียกว่า “intermediate belief” ซึ่งประกอบไปด้วยความเชื่อที่แฝงในรูปของกฎเกณฑ์ (rules) ทัศนคติ (attitude) และการตั้งข้อสันนิษฐาน (assumption) ขึ้นมานั่นเอง ความเชื่อที่แฝงอยู่นี้จะปรากฏให้เห็นเมื่อมีสิ่งมากระตุ้นเร้า เช่น เมื่อมีสถานการณ์เกิดขึ้น ความเชื่อจะออกมาในรูปของความคิดอัตโนมัติ (automatic thought) ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งด้านอารมณ์ พฤติกรรม รวมถึงความแปรปรวนในร่างกาย หรืออาจอธิบายง่าย ๆ ว่า เมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้นให้บุคคลเกิดความคิด ลักษณะความคิดจะส่งผลต่ออารมณ์ พฤติกรรม และสรีระที่แตกต่างกัน (กรมสุขภาพจิต, 2552)

 

          การประยุกต์แก่นพุทธจิตวิทยาสู่แนวคิดทฤษฎีแนวคิดทฤษฎีพฤติกรรมนิยมและทฤษฎีการปรับความคิดและพฤติกรรม

 

           ด้วยพระพุทธศาสนามีหลักคำสอนเกี่ยวกับปัจจัยก่อให้เกิดของพฤติกรรม 2 อย่างเรียกว่า ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายในที่เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมมนุษย์ได้แก่ จิต และเจตสิก หรือสังขาร เจตสิกทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลปรุงแต่งจิตหรือผลักดันจิต ให้แสดงพฤติกรรมออกมาทางกาย ทางวาจา และทางใจหรือความคิด ส่วนปัจจัยภายนอกได้แก่ อายตนะภายนอกหรืออารมณ์ภายนอก ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ มากระทบกับอายตนะภายในหรือตัวรับรู้ภายใน ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ทำให้มนุษย์แสดงพฤติกรรมออกมา ส่วนจะเป็นพฤติกรรมที่พึงประสงค์หรือไม่พึงประสงค์ขึ้นอยู่กับการปรุงแต่งของสังขารฝ่ายกุศลหรืออกุศล ถ้าสังขารฝ่ายกุศลปรุงแต่ง จะแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ถ้าสังขารฝ่ายอกุศลปรุงแต่งจะแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ออกมาในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามหลักพุทธศาสนา คือการปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน เพื่อให้กายและจิตทำงานประสานสอดคล้องกันในการแสดงออกทางพฤติกรรมที่เหมาะสม เพราะสังขารร่างกายและจิตใจของมนุษย์ก็เปรียบเหมือนต้นไม้จะดัดหรือตกแต่งให้เป็นต่าง ๆ ได้ทันทีไม่ได้ ต้องอาศัยเวลา ต้องค่อยเป็นค่อยไปและขึ้นอยู่กับเป้าหมายที่ตั้งไว้ด้วย ถ้ามีเป้าหมายใหญ่ก็ยิ่งใช้เวลานาน ( พระมหาโสภณ วิจิตฺตธมฺโม และ พนัทเทพ ณ นคร, 2560 )

           ส่วนการปรับความคิดและพฤติกรรมในแนวคิดพุทธศาสนานั้นมองว่า อุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่น เป็นความคิดที่บิดเบือนไปจากสภาพความเป็นจริง ความคิดทำนองนี้ก็คือความคิดอัตโนมัติ (automatic thoughts) หรือความคิดที่ผิดปกติ (dysfunctional thoughts) ในแนวคิดทฤษฎีการปรับความคิดและพฤติกรรม เพียงแต่ว่าแนวคิดทางพุทธศาสนาในเรื่องนี้มีขอบเขตกว้างขวางและครอบคลุมมากกว่าสิ่งที่เรียกว่าความคิดอัตโนมัติ ซึ่งทางปฏิบัติมีการเจริญวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน 4 โดยมีจุดมุ่งหมายอย่างหนึ่ง คือการขจัดวิปัลลาส หรือความคิดที่ผิดไปจากสภาวะที่เป็นจริงให้ลดน้อยลง โดยมีหลักว่า 1) กายานุปัสสนา ช่วยขจัดสุภวิปัลลาส 2) เวทนานุปัสสนา ช่วยขจัดสุขวิปัลลาส 3) จิตตานุปัสสนา ช่วยขจัดนิจจวิปัลลาส และ 4) ธรรมานุปัสสนา ช่วยขจัดอัตตวิปัลลาส

           ขณะที่การปรับพฤติกรรมด้วยการสร้างสิ่งแวดล้อมที่จะมากำหนดพฤติกรรมแบบกลุ่มพฤติกรรมนิยมก็ดี การปรับความคิดอย่างกลุ่มความคิดนิยมก็ดี เป็นการสร้างเงื่อนไขและความเชื่ออัตโนมัติใหม่สำหรับการยึดถือเท่านั้น ดังนั้นกระบวนการอย่างหนึ่งของวิปัสสนากรรมฐาน คือ การขจัดการวางเงื่อนไข (de-conditioning) ซึ่งเป็นการแก้ไขความคิดเติมที่บิดเบือนว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีลักษณะของความงาม ความสุข ความเที่ยง และความมีตัวตน การเจริญวิปัสสนากรรมฐานยังช่วยพัฒนาให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ (new learning) ซึ่งผู้ปฏิบัติต้องมีกำหนดรูปนามเป็นอารมณ์อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเกิดปัญญา (wisdom) ที่เป็นความรู้แจ้งแทงตลอด (penetrative insight) ในสรรพสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ปัญญาเช่นนี้จะทำให้เกิดการเรียนรู้ และความคิดใหม่ที่มีเหตุผลว่า รูปนามและสิ่งทั้งหลายมีลักษณะของความน่าเกลียด (ugliness) ความเป็นทุกข์ (suffering) ความไม่เที่ยง (impermanence) และความไม่มีตัวตน (non-self or egolessness) ดังนั้น การเรียนรู้ใหม่ คือการเกิดปัญญาที่จะนำไปสู่ความปล่อยวาง ความไม่ยึดมั่น และความพ้นทุกข์ในระดับที่แตกต่างกัน  ( จำลอง ดิษยวณิช และ พริ้มเพรา ดิษยวณิช, 2004)

 

           กลุ่มที่ 3 แนวคิดมนุษย์นิยม (Humanistic)

 

           ในปี 1960 แนวคิดนี้ได้รับความสนใจมากและยังคงได้การยอมรับเป็นอย่างมากแม้ปัจจุบัน แนวคิดนี้เน้นการมองมนุษย์ว่ามีความดี ความงาม และมีคุณค่าในตนเอง ทุกผู้คนพร้อมที่จะพัฒนาตนเองให้เติบโตและงอกงามได้ตามศักยภาพขั้นสูงสุดของตนถ้ามีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย อีกทั้งสามารถที่จะเลือกวิถีชีวิตตามความสนใจของตน มีเสรีภาพในการตัดสินใจเลือกแนวทางการแก้ปัญหาให้กับตนเองได้ รวมถึงความพร้อมรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเองในทุกแง่มุม เป็นแนวคิดที่ต่างจากพฤติกรรมนิยมโดยสิ้นเชิง และไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของจิตวิเคราะห์ที่เน้นสัญชาตญาณทางเพศ ความก้าวร้าว และการช่วยเหลือเน้นที่การวินิจฉัย ตีความ หรือการสอบซัก ซึ่งกลุ่มมนุษยนิยมเชื่อว่ามนุษย์โดยพื้นฐานแล้วเป็นคนดี มีความสามารถ มีคุณค่า มีศักดิ์ศรีในตนเอง และพร้อมที่จะพัฒนาได้ด้วยตนเองได้ในสภาพการณ์ที่เหมาะสม ความรู้สึกนึกคิดเป็นเรื่องสำคัญเพราะมนุษยนิยมเชื่อว่า คนทุกคนต้องการความรักและการยอมรับ อีกทั้งคนจะพัฒนาและแก้ไขปัญหาของตนเองได้นั้น ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และการมองโลกของเขาเอง นักจิตวิทยาที่โดดเด่นในกลุ่มนี้มี คาร์ล อาร์ โรเจอร์ (Carl R. Rogers – Client Center therapy) อับราฮัม เอช มาสโลว์ (Abraham H. Maslow – Maslow’s Hierarchical Theory of Motivation) เป็นต้น (วัชรี ทรัพย์มี, 2533)

           ในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาโดยใช้แนวคิดทฤษฎีนี้ มีข้อดีคือผู้ให้การปรึกษาเปิดโอกาสให้ผู้รับการปรึกษาได้สำรวจตนเองและสภาพการณ์ที่เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งอันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง อีกทั้งให้ความสำคัญเกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิดของผู้รับการปรึกษา และเอื้อให้ผู้รับการปรึกษาเข้าใจสาเหตุที่ทำให้ตนไม่มีความสุข จนมีความสามารถในพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงตนเองได้ แต่แนวคิดนี้ก็มีข้อจำกัดอยู่บ้าง คือไม่ค่อยจะกล่าวถึงสภาพการณ์หรือสาเหตุภายนอกที่มีผลต่อพฤติกรรม อีกทั้งเน้นที่การพัฒนาศักยภาพของตนซึ่งมีความหมายที่กว้างมาก ไม่ได้มีขอบเขตหรือเจาะจงที่พฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่ง แต่ที่สำคัญนักจิตวิทยาหรือผู้ให้การปรึกษาในแนวคิดนี้ต้องมีทัศนคติที่ดีต่อผู้รับการปรึกษาเป็นสำคัญ และต้องฝึกฝนทักษะการปรึกษาให้ชำนาญเพียงพอที่จะเอื้อให้ผู้รับการปรึกษาได้ค้นพบตัวตน มองเห็นปัญหาที่แท้จริง และแก้ไขปัญหาของเขาได้ด้วยตนเอง

 

           การประยุกต์แก่นพุทธจิตวิทยาสู่แนวคิดทฤษฎีมนุษยนิยม

 

           ในพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่ความเป็นมนุษย์ที่มีความสามารถ มีความพยายามด้วยตัวเขาเองจนประสบผลสำเร็จได้ โดยไม่ต้องรอคอยหรืออ้อนวอนร้องขอต่อสิ่งใดให้ช่วยหรือดลบันดาล พุทธศาสนามีความเชื่อแบบมนุษยนิยมว่ามนุษย์สามารพัฒนาตนเองได้โดยการพัฒนาทางด้านจิตใจ แต่ในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ตามแนวคิดของมาสโลว์ ต้องกระทำผ่านการตอบสนองตามลำดับขั้นหรือการยอมรับจากผู้อื่น ซึ่งแตกต่างจากพุทธศาสนาว่าการพัฒนาศักยภาพของแต่บุคคลล้วนเป็นสิ่งเฉพาะตน ไม่จำเป็นต้องได้รับการยอมรับจากผู้อื่น โดยใช้วิธีการฝึกสติปัฏฐาน 4 ในด้านกาย ศีล จิต ปัญญา ให้ประจักษ์ตามความเป็นจริง ส่วนแนวคิดของโรเจอร์ มีความเชื่อถือในศักยภาพและความดีงามของมนุษย์ รูปแบบการช่วยเหลือของแนวคิดนี้เน้นอารมณ์และความรู้สึก ซึ่งอาจเป็นการอิงอาศัยจิตใจโดยไม่รู้ตัว และอาจนำมาซึ่งความรู้สึกผูกพันและยึดติดทางด้านจิตใจ (attachment) ของผู้ให้การปรึกษาและผู้รับการปรึกษา ความผูกพันรูปแบบนี้สมเด็จพุทธโฆษาจารย์ได้เปรียบกับเมตตา  ได้ให้ความหมายถึงความรักความความปราถนาดีที่มีมากเกินไป เป็นเมตตาที่ขาดปัญญา จนกลายเป็นที่มาของสิเน่หาซึ่งเป็นตัณหารูปแบบหนึ่ง เพราะเป็นการกระทำเพื่อตอบสนองความต้องการของตน (พระเทพเวที (ป.อ.ปยุตโต), (2531)

           เป้าหมายของพุทธศาสนาคือต้องการให้มนุษย์แก้ไขปัญหาความทุกข์ด้วยตัวเอง ความทุกข์เป็นปัญหาใหญ่ของมนุษย์ ความจริงคืออริยสัจ 4 มีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน เป็นความจริงที่มีกระบวนการของการแก้ไขปัญหา สำหรับมนุษย์แต่ละคนต้องลงมือกระทำด้วยตนเองจึงจะเกิดผล เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลที่จะเป็นผู้รู้ ปัญหาและสาเหตุของมันแล้ว ดำเนินวิธีการแก้ไขปัญหานั้นด้วยตัวเอง มนุษยนิยมในแบบของพุทธศาสนา คือเน้นความสำคัญในความเป็นมนุษย์ โดยเน้นให้มนุษย์เข้าใจตนเอง และพึ่งตนเอง แก้ไขปัญหาด้วยตนเอง แทนการรอคอยโชคชะตาหรือพึ่งพาสิ่งภายนอก สลายความยึดมั่นด้วยอุปาทานขันธ์ มีความเข้าใจในกระบวนการของเหตุปัจจัยได้อย่างชัดแจ้ง จึงรู้ว่าไม่มีอะไรยึดและถูกยึดได้อีก ความมีหรือไม่มีจึงไม่มีอีกต่อไป เป็นเป้าหมายสูงสุดระดับโลกุตระในพุทธศาสนา

 

           กลุ่มที่ 4 แนวคิดอัตถิภาวะนิยม (Existential)  

 

           กลุ่มแนวคิดนี้เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะบุคคลในยุคนั้น ตระหนักถึงความเลวร้ายในช่วงสงคราม ความรู้สึกของผู้พ่ายแพ้ ครอบครัวแตกแยกกระจัดกระจาย นำไปสู่ความรู้สึกสูญเสีย และหมดหวัง (Apuzzi & Gross, 1995, p. 209)  ดังนั้นบุคคลที่มาขอความช่วยเหลือจากนักจิตวิทยาการปรึกษา มักมาด้วยปัญหาว่าตนเองรู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยว (isolation) แปลกแยก (alienation) ว้าเหว่ (loneliness) และมีความรู้สึกไร้ความหมายในการดำเนินชีวิตของตน ซึ่งนักจิตวิทยากลุ่มจิตวิเคราะห์ และกลุ่มพฤติกรรมนิยม ไม่สามารถทำความเข้าใจกับประสบการณ์และความรู้สึกที่นำมาสู่ปัญหาของผู้รับการปรึกษาได้ นักจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยมจึงได้ต่อยอดพัฒนาแนวคิดจากปรัชญาภวนิยม ที่มีมุมมองต่อธรรมชาติของมนุษย์ว่า 1) มนุษย์มีเสรีภาพในการตัดสินใจโดยไม่ตกอยู่ในเงื่อนไขของสิ่งใด ๆ แต่จะเลือกให้ ความสำคัญกับสิ่งที่มีอยู่ และผูกโยงสิ่งเหล่านั้นเข้ามาสร้าง“ความเป็นตัวตน” ของตนขึ้นเอง จากจุดนี้เองที่มนุษย์สร้างคุณค่าและความหมายให้กับตนเองได้ 2) มนุษย์มีลักษณะเป็นปัจเจกบุคคล เป็นตัวของตัวเอง สามารถกำหนดคุณค่าของ ตนเองได้ มีเสรีภาพในการเลือก และมีความรับผิดชอบต่อการเลือกของตน และ 3) ความสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อสิ่งต่าง ๆ ความสัมพันธ์ที่เกิดจาก “การให้คุณค่า”ที่มนุษย์เป็นคนเลือกเอง มนุษย์แต่ละคนจึงให้ค่าสิ่งต่าง ๆ ที่แตกต่างกันทำให้การแสดงออกและบุคลิกภาพ ต่างกันด้วย ดังนั้นการช่วยเหลือบุคคลที่ประสบปัญหาในการดำรงชีวิตที่มีความรู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยว ชีวิตไร้ความหมาย โดยเน้นการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในประสบการณ์ของแต่ละคนมากกว่าที่จะพัฒนาแนวทางหรือวิธีการในการปรึกษา ( ลัดดาวรรณ ณ ระนอง และคณะ, 2555)

 

           การประยุกต์แก่นพุทธจิตวิทยาสู่แนวคิดทฤษฎีอัตถิภาวะนิยม

 

           หลักอัตถิภาวะนิยมในพระพุทธศาสนาพบว่า สภาวะของจิตที่มีเสรีภาพเป็นจิตปภัสสรที่มีความบริสุทธิ์เพราะปราศจากกิเลสเศร้าหมองมารบกวน และจิตประภัสสรนี้เกิดความเศร้าหมองขึ้นเพราะถูกกิเลสต่าง ๆ ครอบงำจนไร้เสรีภาพ และเสรีภาพนี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดจนจิตหลุดพ้นจากอวิชชา ตัณหา อุปาทาน จนบรรลุพระนิพพาน จึงได้ชื่อว่า จิตมีเสรีภาพอย่างแท้จริง การนําแนวคิดอัตถิภาวนิยมที่มีอยู่ในหลักคําสอนของพระพุทธศาสนามาเป็นกระบวนการพัฒนามนุษย์ให้เข้าถึงเป้าหมายที่แท้จริง ในระดับโลกิยะคือการกระทำของตนให้ตั้งอยู่ในกุศลธรรม และระดับโลกุตตระด้วยการละสังโยชน์ได้ซึ่งมีขั้นตอนการเข้าถึงเสรีภาพคือ การรักษาศีล เจริญสมาธิจนได้ฌาน แล้วยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาด้วย การพิจารณาเห็นไตรลักษณ์และละสังโยชน์เครื่องผูกสัตว์ไว้ในสังสารวัฏ และการจะมีเสรีภาพมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการละสังโยชน์ได้ถ้าละได้ทั้ง 10 ข้อ ก็จะบรรลุนิพพานที่ถือเป็นเสรีภาพขั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา (บุญญาวรรณ พลอยพรรณณา, 2563 ; Silva, 2014)

           กระบวนการพัฒนามนุษย์สู่ความเป็นอัตถิภาวะนิยมในพระพุทธศาสนาสรุปได้ว่าการมีเสรีภาพในพระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่ว่าอยู่เฉย ๆ ก็จะมีเสรีภาพได้ผู้จะมีเสรีภาพได้จะต้องมีการปฏิบัติขัดเกลาตนเอง ตามขั้นตอนจากพื้นฐานพัฒนาไปสู่การปฏิบัติขั้นสูงขึ้นจนกว่าจะขัดเกลาจิตใจ ตัวเองให้สมบูรณ์ตามขั้นตอนของการปฏิบัตินั้น ๆ เมื่อทําการปฏิบัติได้สมบูรณ์แล้วในแต่ละขั้น เสรีภาพก็จะเกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอนที่สอดรับกับข้อปฏิบัติกระบวนการพัฒนามนุษย์สู่ความเป็นอัตถิภาวนิยมหรือการเข้าถึงเสรีภาพนั้นจะต้องมีขั้นตอนการเตรียมความพร้อมซึ่งเป็นกระบวนการแรกที่ จะนําไปสู่เสรีภาพ และเมื่อบุคคลผู้ชําระล้างเหตุแห่งเครื่องเศร้าหมองทั้งหมดได้ผู้มีจิตเกษมอยู่เป็นนิตย์ผู้ถอนเชื้อแห่งภพออกได้ทั้งหมด ผู้มีจิตไม่ยินดีไม่ยินร้ายในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ทั้งหลายบุคคล ผู้มีภาวะเช่นนี้พระพุทธศาสนาเรียกว่า “พระอรหันต์” เพราะฆ่ากิเลสทั้งหลาย คือ อวิชชาตัณหา อุปาทานอันความเชื่อให้เกิดภพใหม่ทั้งหมดได้สภาพจิตของท่านผู้ได้บรรลุอรหันต์จะเบิกบานจะแจ่มใส จะรอบรู้ลายตามความเป็นจริงของมัน จะไม่สุข จะไม่ทุกข์เมื่อสังขารเปลี่ยนแปลง จิตจะอยู่นอกเหนือ สุขความและทุกข์ทั้งปวง จิตจะผ่องใส เบิกบาน เอิบอิ่มอยู่อย่างนั้น (บุญญาวรรณ พลอยพรรณณา, 2563)

 

           กลุ่มที่ 5 แนวคิดจิตวิทยาข้ามพ้นตัวตน (Transpersonal Psychology)

 

           นักจิตวิทยากลุ่มนี้ให้ความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องศักยภาพและคุณค่าสูงสุดของมนุษย์ซึ่งไม่เคยถูกกล่าวถึงมาก่อนในทฤษฎีพฤติกรรมนิยม จิตวิเคราะห์ และมนุษยนิยม ธรรมชาติทุกสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกับโลกและจักรวาล  การดำเนินชีวิตของผู้คนครอบคลุมในด้านกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ การที่มนุษย์ยกระดับจิตให้เลยตัวตน (self-transcending) จะพบภาวะปิติ เบิกบานล้ำลึกจากภายใน เมื่อเลยตัวตนก็ประสบอิสรภาพ มีความรักเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง มีความสุขยิ่ง และมีความสมบูรณ์ในตัวเอง เป็นการพัฒนาจิตวิญญาณที่มีแนวคิดใกล้เคียงกันกับของความเชื่อและศาสตร์ทางด้านตะวันออกด้วย โดยให้ความสำคัญกับการศึกษาประสบการณ์ด้านจิต (Spiritual Psychology) แนวคิดนี้มีความเชื่อว่าจะศึกษาเรื่องของตัวตนได้นั้นจะต้องลืมเรื่องตัวตนและเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง (เสริมศิริ อัครพุฒิพันธ์, 2555) นักจิตวิทยาในกลุ่มนี้ได้แก่

           อับราฮัม เอช มาสโลว์ (Abraham H. Maslow) – Transcendentally motivated stage เป็นการพัฒนาในขั้นสูงสุดที่มาสโลว์พบก่อนที่เขาจะเสียชีวิต พบว่าการจะบรรลุความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ต้องข้ามขอบเขตของความต้องการพื้นฐานและได้สัมผัสความรู้สึกความรู้สึกปิติที่เต็มเปี่ยมภายในตน (Maslow, 1973, p. 423)

           คารล์ จี จุง (Carl G. Jung) – จุงเป็นนักจิตวิทยาที่ศึกษาถึงการข้ามพ้นตัวตนเข้าพบว่าการพัฒนาทางจิตวิญญาณของคนเรานั้นคือการเดินทางกลับไปสู่ภาวะที่มีมาแล้วในอดีต การค้นพบจิตสำนึกร่วม (collective Unconscious) ที่มีอยู่ในตัวผู้คนนั้นถูกถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษล้วนมีผลต่อการสร้างสรรค์พัฒนาความสุขในตัวเราหรือทำร้ายทำลายอันจะก่อให้เกิดความทุกข์ตัวเราได้แทบทั้งสิ้น

           เคน วิลเบอร์ (Ken Wilber) -Transpersonal Psychology/Integrated Theory เชื่อว่าทุกสิ่งในจักรวาลล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยงกันหมด แต่มนุษย์ล้วนสร้างเขตแดนและข้อจำกัดมาล้อมกรอบตนเองก่อให้เกิดการคร่ำครวญหวนไห้กับวันเวลาที่ผ่านไป หรือใฝ่ฝันโหยหาถึงวันพรุ่งนี้ ซึ่งให้เกิดปัญหามากขึ้นเป็นลำดับ การมองโลกแห่งความเป็นจริงในมุมใหม่คือการก้าวข้ามเขตแดนของอัตตาจะเป็นการพัฒนาจิตให้สูงขึ้น และการวิวัฒนาการทางจิตจะมีมากหรือน้อยล้วนต้องสั่งสมด้วยตนเอง (Wilber, 2558)

 

           การประยุกต์แก่นพุทธจิตวิทยาสู่แนวคิดทฤษฎีจิตวิทยาข้ามพ้นตัวตน

 

           ในแนวคิดนี้กล่าวถึงตัวตน ซึ่งตามแนวคิดพุทธศาสนาจะกล่าวถึงคำว่าอัตตา เป็นสภาวะที่มนุษย์ทั้งหลายต่างหลงยึดมั่นว่าเป็นของตน เมื่อหลงยึดมั่นก็จะนำไปสู่การพอกพูนกิเลสอย่างอื่นตามมาอีกมากมาย เช่น การยึดมั่นในรูปร่าง ทรัพย์สินเงินทอง เกิดเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง และมีความต้องการอย่างไม่มีที่สิ้นสุด มนุษย์จะสร้างแนวคิดสำหรับดำเนินชีวิตเพื่อความเติมเต็มความของต้องการเหล่านั้นอย่างไม่ถูกต้อง เช่น การฆ่าสัตว์บูชายัญ การทรมานร่างกายโดยประการต่าง ๆ เป็นต้น การก้าวพ้นตัวตนหรืออัตตานี้จึงเป็นการสลัดความทุกข์อันเกิดจากการยึดมั่นเหล่านั้น การก้าวพ้นตัวตนเป็นการหลุดพ้นจากกิเลสคือเครื่องหมักดองที่ทำให้คนยึดติดและเป็นทุกข์ คนที่สามารถก้าวพ้นความเป็นตัวตนได้ จึงเป็นคนที่ตื่นจากความหลับ พบทางออกได้ ไม่เป็นผู้หลง แนวคิดเหล่านี้จึงเป็นรากฐานของการเข้าสู่ภาวะตื่นรู้นั้นเอง (เสริมศิริ อัครพุฒิพันธ์, 2555; Wilber, 2558 ) แต่ปัญหาในการปรึกษาหรือการทำจิตบำบัดผู้รับการปรึกษาไม่รู้ตั้งแต่เริ่มต้นว่าควรปฏิบัติตนเองอย่างไรโดยเฉพาะการเรียนรู้จากภายในตนเอง ผลการเยียวยาจะไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ไม่ว่าผู้ให้การปรึกษาและผู้รับการปรึกษา จะพยายามอย่างไรก็ตาม (Gendlin, 1978) แต่ถ้าผู้มาปรึกษาที่มีความมั่นใจในตนเอง สามารถยืนยันความต้องการของตนก็จะสามารถพบความสุขได้ แต่ยังไม่สามารถยกระดับจิตของตน (self transcendence) เพราะภายใต้การดำเนินชีวิตล้วนมีความขัดแย้ง ความไม่แน่นอน และความสูญเสียที่เกิดขึ้นเสมอๆ วิธีการเยียวยารักษาตามแนวจิตวิทยาข้ามพ้นตัวตนมีหลายวิธีการที่เหมือนทางพุทธศาสนาเช่น การฝึกสมาธิ การสังเกตตนเอง (self-observation) การฝึกใส่ใจ การไม่ผูกโยงความคิดกับภาพลวงตา   ซึ่งคล้ายการฝึกที่เพ่งกสิณ ทำให้สภาพจิตใจผ่อนคลายและมีสมาธิเพิ่มขึ้น (ภารณี วนภูติ, 2551)

          

บทสรุป

 

           จากการศึกษาแนวคิดทั้ง 5 กลุ่มของจิตวิทยาตะวันตกข้างต้น ทำให้เข้าใจมุมมองของนักจิตวิทยาในแต่ละกลุ่มที่พยายามศึกษา ค้นคว้าวิจัยอย่างต่อเนื่องยาวนานเพื่อนำองค์ความรู้มาพัฒนา และช่วยเหลือเยียวยาผู้คนที่มีปัญหาในหลากหลายรูปแบบของปัญหาเช่น ปัญหาเรื่องการปรับตัว  ปัญหาครอบครัว ปัญหาสังคม  ปัญหาเฉพาะ เช่น การเรียน  เพศ  ยาเสพติด ปัญหาที่เผชิญในภาวะวิกฤติ ฯลฯ แต่กระนั้นก็ตามทฤษฎีที่กล่าวมาข้างต้นก็เป็นเพียงแนวทางที่จะทำให้เราเข้าใจมนุษย์และมีหนทางในการแก้ไขปัญหาได้ จากการบูรณาการจะพบว่าแนวคิดทฤษฎีตะวันตกมีมุมมองเกี่ยวกับชีวิตไม่ครบในทุกมิติต่างใช้ทัศนะความเชื่อของตนมาแก้ไขบำบัดผู้คน แต่ในทางพระพุทธศาสนามองปัญหา/ความทุกข์ในใจของมนุษย์เกิดความขัดแย้งภายในใจของบุคคลผู้นั้นโดยตรง ซึ่งเกิดจากแรงขับ แรงปราถนา ความอยากความต้องการที่ไม่อาจไปถึงเป้าหมาย  แนวทางพุทธจิตวิทยาการปรึกษาต้องเน้นการให้การปรึกษาที่ครบองค์ประกอบด้านปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ โดยมีกำลังของสติเป็นหลัก สติต้องมาก่อนเป็นการควบคุมกิเลสในทุกระดับเพราะสติเป็นเครื่องกั้นกิเลสทั้งหลาย เมื่อมีสติเกิดขึ้นต่อเนื่องไม่ขาดสายทำให้จิตเป็นสมาธิ เมื่อมีสมาธิ มองก็จะเห็น ฟังก็จะได้ยิน และเกิดการเห็นที่ถูกต้อง การคิดที่ถูกต้อง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดจิตวิทยาแบบการบำบัดความคิดและพฤติกรรม ที่เน้นกระบวนการคิดที่มีเหตุผล การคิดที่ถูกต้อง

           นอกจากนี้ ในเป้าหมายการปรึกษาตามแนวพุทธจิตวิทยา มุ่งให้ผู้มาปรึกษาได้พัฒนาตนเองตามแนวทางไตรสิกขามากน้อยตามแต่ละบุคคล ซึ่งตรงกับแนวคิดมนุษยนิยมและอัตถิภาวะนิยมที่กล่าวถึงมนุษย์ว่าทุกคนมีศักดิ์และพร้อมที่จะพัฒนาตนเองตามศักยภาพของตน อีกทั้งมีอิสรภาพในการที่จะเลือกหรือกำหนดวิถีชีวิตของตนเองได้ สามารถเลือกการฝึกฝนตนอย่างต่อเนื่อง เข้มข้นจนก้าวข้ามพ้นตัวตนจนบรรลุมรรคผลนิพานได้ และที่สำคัญผู้ที่จะเป็นผู้ให้การปรึกษาแนวพุทธพึงแสวงหาแนวทางในการพัฒนาตนตามแนวพุทธจิตวิทยา โดยมีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมทางพุทธศาสนาอย่าถ่องแท้ (ปริยัติ) มีการระบวนการฝึกและพัฒนาตนเองให้รู้แจ้งเห็นจริงรู้เท่าทันธรรมชาติของชีวิตอย่างต่อเนื่อง (ปฏิบัติ) จนสัมผัสได้ถึงความสงบของจิต และในความสงบก็มีความสุข ความเบิกบาน ความผ่องใส ความสดชื่นต่าง ๆ (ปฏิเวธ)  ผู้ให้การปรึกษาจะได้มีความพร้อมในการเอื้อเฟื้อช่วยเหลือผู้คนที่มีความทุกข์ทางด้านจิตใจให้เขาสามารถสัมผัสถึงการจางคลายทุกข์ของตนเองได้

 

รายการอ้างอิง  

 

กรมสุขภาพจิต. (2552). คู่มือการบำบัดความคิดและพฤติกรรม. สำนักพัฒนาสุขภาพจิต.

 

กิติกร มีทรัพย์. (2559). พื้นฐานทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (พิมพ์ครั้งที่ 6). พิมพ์ลักษณ์.

 

จำลอง ดิษยวณิช. (2541). พุทธศาสนากับจิตเวชศาสตร์. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย, 43(3), 266-291.

 

จำลอง ดิษยวณิช และ พริ้มเพรา ดิษยวณิช. (2004). ร่างกาย สมอง และจิตใจ: ประชาน-พฤติกรรมบำบัดและแนวคิดเชิงพุทธ. The Thai Journal of Pharmaceutical Sciences, 28(0), 121-131.

 

จีน แบรี่. (2549). การให้การปรึกษา Counseling (พิมพ์ครั้งที่ 5). เจริญวิทย์การพิมพ์.

 

ดวงมณี จงรักษ์. (2549). ทฤษฎีการให้การปรึกษาและจิตบาบัดเบื้องต้น (พิมพ์ครั้งที่ 1).สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น).

 

บุญญาวรรณ พลอยพรรณณา. (2563). การวิเคราะห์หลักอัตถิภาวนิยมในพระพุทธศาสนา. [ปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา ไม่ได้ตีพิมพ์]. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

 

พระเทพเวที (ป.อ.ปยุตโต). (2531). พัฒนาตน. มูลนิธิโกมลคีมทอง.

 

พระบุญญฤทธิ์ รตินฺธโร (นุชเทียน). (2550). ศึกษาเปรียบเทียบภวังคจิตของพุทธปรัชญาเถรวาทกับจิตใต้สํานึก ของซิกมันด์ ฟรอยด์. [ปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา ไม่ได้ตีพิมพ์]. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

 

พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตโต). (2566). แก่นพุทธจิตวิทยา. โรงพิมพ์เชนปริ้นติ้ง.

 

พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร). (2555). วิมุตติรัตนมาลีเล่ม ๒ (พิมพ์ครั้งที่ 2). สำนักดอกหญ้า.

 

พระมหาโสภณ วิจิตฺตธมฺโม และ พนัทเทพ ณนคร. (2560). พุทธจิตวิทยากับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ตามหลักสติปัฏฐาน 4. วารสารพุทธจิตวิทยา, 2(2), 59-72.

 

ภารณี วนภูติ. (2551). มโนทัศน์พื้นฐานของแนวคิดเชิงจิตวิทยาในพระพุทธศาสนาเถรวาท. [วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต ไม่ได้ตีพิมพ์]. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย.

 

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

 

ลัดดาวรรณ ณ ระนอง และคณะ. ( 2555) การสังเคราะห์งานวิจัยที่ใช้ทฤษฏีการปรึกษาในขอบข่ายงานแนะแนวและการปรึกษาด้วยเทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหา. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

 

วัชรี ทรัพย์มี. (2533). ทฤษฎีและกระบวนการให้บริการปรึกษา. โรงพิมพ์ภาพพิมพ์.

 

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต). (2563). หลักกรรมสำหรับคนสมัยใหม่ (พิมพ์ครั้งที่ 10) https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/466.

 

สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต. (2543). ทฤษฎีและเทคนิคการปรับพฤติกรรม (พิมพ์ครั้งที่ ๓). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

เสริมศิริ อัครพุฒิพันธ์. (2555). การพัฒนาเพื่อก้าวข้ามพ้นตัวตนตามแนวพระพุทธศาสนาเถรวาท. [วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต ไม่ได้ตีพิมพ์]. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย.

 

โสรีช์ โพธิแก้ว. (2553). การประยุกต์อริยสัจ 4 ของพระพุทธศาสนากับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตรักษา. รายงานการวิจัยเอกสาร. คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

Apuzzi, D. & Gross. D. R. (1995). Counseling and psychotherapy: Theories and interventions (5thed). American Counseling Association.

 

Corey, G. F. (1996). Theory and practice of counseling and psychotherapy. Wadsworth.

 

Gendlin, E. T. (1978). Focusing. Everest House.

 

Maslow, A. H. (1973) The father reaches of human nature. Penguin Books.

 

Silva, P. D. (1973). Buddhist and freudian psychology. Lake House investment.

 

________. (2014). An introduction to Buddhist psychology and counselling: Pathways of mindfulness-based therapies (5thed). Palgrave Macmillan.

 

Wilber. K. (2558).  No boundary (ไร้พรมแดน). เดียร์ เดียร์.