Kamalas

Emotional Intelligence Development Based on the Principles of Buddhist Psychology

 

พระครูสังฆรักษ์เอกภัทร อภิฉนฺโท

 

รศ. ดร. ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 

บทนำ

 

             การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ตามหลักพุทธจิตวิทยา เป็นการรวบรวมความรู้ตามแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์ผลการพัฒนาตามหลักพุทธจิตวิทยา ที่ส่งผลต่อความฉลาดทางอารมณ์ พบว่า การพัฒนาตนตามหลักพุทธจิตวิทยา เป็นการใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างความเหมาะสม โดยการพัฒนาทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม ให้มีความรู้ ความเช้าใจและนำไปสู่การปฏิบัติ นำไปยกระดับจิตใจตามสภาวธรรม มีความพร้อมในการเข้าสู่สังคมอย่างมีความสุข มีการเรียนรู้จากประสบการณ์ มีความเข้าใจตามหลักทมะธรรม คือ การข่มจิต หักห้ามอารมณ์  สามารถบังคับตัวเองเพื่อลดละกิเลส อันเป็นหตุให้มีความเศร้าหมอง พัฒนาตนให้อยู่ในกรอบของไตรสิกขาธรรม 3 ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มีกายเป็นปกติตามหลักศีล 5 มีสมาธิมั่นคงไม่หวั่นไหว รู้จักประโยชน์ มีจิตมุ่งมั่นต่อการดำรงชีวิตที่ประกอบปัญญา นำไปสู่ทักษะการบริหารอารมณ์ได้อย่างชาญฉลาด

             พฤติกรรมของมนุษย์ไม่ว่าพฤติกรรมที่เป็นปัญหาหรือพฤติกรรมที่ต้องการพัฒนา ล้วนแต่เกิดจากการเรียนรู้นำไปสู่อารมณ์  มีผลมาจากมนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม พฤติกรรมที่ไม่ปกติของบุคคล จากพันธุกรรม ความผิดปกติทางชีวเคมีและจากความบกพร่องของระบบประสาทเป็นพฤติกรรมซึ่งเกิดจากการเรียนรู้ที่ไม่ถูกต้อง ถ้าจะปรับปรุงหรือแก้ไขก็ทำได้โดยให้การเรียนรู้เสียใหม่การพัฒนาตนเอง จึงจำเป็นต้องเข้าใจหลักการสำคัญของการเรียนรู้ การพัฒนาตนจึงมีความสำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาชีวิตมนุษย์ เพราะเป็นการพัฒนาทางปัญญา ให้รู้เท่าทันต่ออำนาจของกิเลสทั้งหลาย แต่การที่จะพัฒนาปัญญาให้เกิดมีขึ้นโดยอาศัยความเพียร หากมีความเพียรน้อยก็สามารถพ้นจากความทุกข์ได้น้อย หากมีความเพียรมากก็สามารถพ้นจากความทุกข์ได้มาก และยิ่งถ้าหากมีความเพียรสูงสุดก็จะสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขระดับปรมัตถะประโยชน์

 

ความเป็นมาของความฉลาดทางอารมณ์

 

             ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ถือเป็นเรื่องใหม่ในแวดวงการศึกษาและจิตวิทยา เพราะเพิ่งได้รับความสนใจและยอมรับในความสำคัญตามภายหลัง เดิมเคยเชื่อกันว่าความสามารถทางเชาวน์ปัญญาหรือไอคิว คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์ประสบความสำเร็จ มีชีวิตที่ดีและมีความสุข ต่อมา นักจิตวิทยาเริ่มตั้งข้อสงสัยต่อความเชื่อความเข้าใจดังกล่าว เพราะไม่เชื่อว่าความสำเร็จและความสุขในชีวิตของบุคคลแต่ละคนจะขึ้นอยู่กับความสามารถทางเชาวน์ปัญญา ตามลักษณะการเกิดต้องเป็นความฉลาดทางอารมณ์ เพราะเป็นรูปแบบของความฉลาดทางสังคมที่ประกอบด้วยความสามารถในการรู้อารมณ์และความรู้สึกของตนเองและผู้อื่นสามารถแยกความแตกต่างของอารมณ์ที่เกิดขึ้นและใช้ข้อมูลนี้เป็นเครื่องชี้นำในการคิดและกระทำสิ่งต่าง ๆ ต่อมาความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) ได้เป็นความสามารถหลายด้านการเร่งเร้าตัวเองให้ไปสู่เป้าหมายมีความสามารถควบคุมความขัดแย้งของตนเอง รอคอยเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น สามารถจัดการกับอารมณ์ไม่สบายต่าง ๆ มีชีวิตอยู่ด้วยความหวัง (กรมสุขภาพจิต, 2543, น. 64)

 

ความฉลาดทางอารมณ์คือการพัฒนาตน

 

             ตามแนวคิดจิตวิทยาการพัฒนาตน (Self-Development) ได้แก่ การเปลี่ยนแปลง ตัวเองให้เหมาะสมเพื่อสนองความต้องการตามเป้าหมายของตนเอง หรือเพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่สังคมคาดหวัง หมายถึง การที่บุคคลพยายามที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนด้วยตนเองให้ ดีขึ้นกว่าเดิม เหมาะสมกว่าเดิม ทำให้สามารถดำเนินกิจกรรม แสดงพฤติกรรมเพื่อสนอง ความต้องการ แรงจูงใจ หรือเป้าหมายที่ตนตั้งไว้ และรวมถึงการพัฒนาศักยภาพของตน ด้วยตนเองให้ดีขึ้นทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม เพื่อให้ตนเป็นสมาชิกที่มี ประสิทธิภาพของสังคม เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ตลอดจนเพื่อการดำรงชีวิตอย่างสันติสุข

             การพัฒนาตน ควรเริ่มต้นที่การพัฒนาจิต เพราะการพัฒนาจิตนั้นถือได้ว่าเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการแสดง พฤติกรรม เมื่อจิตดีงาม พฤติกรรมที่แสดงออกมาก็ดีงามตามไปด้วย การพัฒนาตน นอกจากจะเป็นการพัฒนาเพื่อประโยชน์ต่อตนเองให้เป็นทั้งคนดี คนเก่ง และมีความสุข แล้ว ยังเป็นไปเพื่อประโยชน์ให้ผู้อื่น และสังคมด้วย ซึ่งการพัฒนาตนนั้นควรมีการพัฒนา อยู่เป็นประจำตลอดช่วงชีวิต (ตฎิลา จำปาวัลย์, 2562, น. 114)

           บุคคลล้วนต้องการความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ จึงต้องการพัฒนาตัวเองให้ก้าว ข้ามผ่านจุดด้อยที่มีอยู่ เป็นการเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ในอนาคต การ เลือกที่จะไม่พัฒนาตัวเองเท่ากับเป็นการวิ่งหนีปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรืออย่างน้อย ก็ต้องการมีชีวิตที่เป็นสุขในสังคม ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายและความต้องการของ ตนเอง รวมถึงทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมโลก  ดังนั้นการพัฒนาตนจึงมี ความสำคัญ ดังนี้

  1. ความสำคัญต่อตนเอง ถือเป็นการเตรียมตัวเองให้พร้อมในด้านต่าง ๆ ให้ มากที่สุด เพื่อรับกับสถานการณ์ทั้งหลายได้ด้วยความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง เป็นการปรับปรุง สิ่งที่บกพร่อง และพัฒนาพฤติกรรมให้เหมาะสม ขจัดคุณลักษณะที่ไม่ต้องการออกจาก ตัวเอง และเสริมสร้างคุณลักษณะที่ดีงามที่สังคมต้องการขึ้น เป็นการวางแนวทางให้ตนเอง สามารถพัฒนาไปสู่เป้าหมายในชีวิตได้อย่างมั่นใจ มั่งคง และเป็นการส่งเสริมความรู้สึกใน คุณค่าแห่งตนให้สูงขึ้น มีความเข้าใจตนเองจนสามารถทำหน้าที่ตามบทบาทของตนได้ อย่างเต็มศักยภาพ
  2. ความสำคัญต่อบุคคลอื่นและสังคมโดยรวม การพัฒนาตนเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากบุคคลย่อมต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน การพัฒนาในบุคคลหนึ่งย่อมส่งผลต่อบุคคล อื่นอีกหลายคนด้วย การปรับปรุงและพัฒนาตนเองจึงเป็นการเตรียมตนให้เป็นสิ่งแวดล้อม ที่ดีของผู้อื่น ทั้งบุคคลในครอบครัว เพื่อนบ้าน เพื่อนในที่ทำงาน เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็น ประโยชน์ร่วมกันทั้งชีวิตส่วนตัว ชีวิตการทำงาน และการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขในชุมชน ซึ่งจะส่งผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และพัฒนาอย่างต่อเนื่องสืบไป

 

ความหมายและความสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์

 

             ความฉลาดทางอารมณ์หรือ EQ เป็นรูปแบบทางสังคม ที่ประกอบไปด้วยความสามารถในการรู้อารมณ์และความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น สามารถแยกความแตกต่างของอารมณ์ที่เกิดขึ้น และใช้ข้อมูลนี้เป็นเครื่องชี้นำในการคิดและแสดงออกมาในรูปแบบต่างๆ  การเสนอว่า สามารถจัดการกับอารมณ์นั้นเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อความฉลาดทางอารมณ์ที่สามารถควบคุมและจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ดี และมีแนวโน้มประสบความสำเร็จได้มากกว่าคนระดับอัจฉริยะและแนวคิดของเขาได้รับการยอมรับทั่วโลก โดยในประเทศไทยเริ่มมีการตื่นตัวมากขึ้น และมีการยอมรับในการมีความสำคัญต่อความสำเร็จและความสุขในชีวิตมนุษย์มากขึ้น (กรนิกา พวงแก้ว, 2543, น. 121)

             ความฉลาดเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต่างมุ่งแสวงหาโดยให้ความสำคัญกับความฉลาดทางด้านสติปัญญามากกว่าความฉลาดด้านอื่นๆโดยแท้ที่จริงแล้วความฉลาดของมนุษย์นั้นไม่ใช่แค่มีความสำคัญเฉพาะด้านสติปัญญาเท่านั้นหากแต่ความฉลาดยังมีอยู่หลายประเภทอันได้แก่ความฉลาดทางด้านอารมณ์ (Emotional Intelligence : EI) ความฉลาดทางด้านสังคม (Social Intelligence : SI) ความฉลาดทางด้านคุณธรรมหรือจริยธรรม (Moral Intelligence : MI) เป็นต้นซึ่งความฉลาดตามที่กล่าวมาล้วนเป็นส่วนประกอบที่จะทำให้มนุษย์มีความฉลาดอย่างสมบูรณ์และเป็นปัจจัยที่ทำให้มนุษย์และองค์การประสบความสำเร็จได้สำหรับแนวคิดทางด้านตะวันตกที่มีต่อความฉลาดทางอารมณ์ได้มี และได้ให้ความสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์ว่า เป็นความฉลาดที่สำคัญที่สุดที่เป็นปัจจัยผลักดันให้มนุษย์สามารถจัดการกับตนเองและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างชาญฉลาดและส่งผลทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ ในอีกด้านหนึ่งกล่าวคือแนวคิดทางด้านตะวันออกโดยเฉพาะทางด้านพุทธศาสนามีผู้ที่ได้กล่าวถึงความสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์ ดังนี้

             ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient) มีประโยชน์และความสำคัญเกี่ยวกับความสามารถทางสติปัญญา (Intelligent Quotient : I.Q.) ความสามารถในการจำ (Memory) และความสามารถใน การเผชิญปัญหา (Problem Solving) โดยจากการศึกษา การมีความสามารถทางสติปัญญาเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะทำให้บุคคลประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงาน และไม่สามารถ ดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข (Daniel, 1995, p. 34)

             ความฉลาดทางอารมณ์เป็นความสามารถด้านหนึ่งของบุคคลที่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต  มีส่วนช่วยให้บุคคลประสบความสำเร็จในการเรียน หน้าที่การงาน สามารถสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ทำให้ เป็นที่ทราบกันว่า ความฉลาดทางอารมณ์เปรียบเสมือนหัวใจที่สนับสนุนให้บุคคลไปสู่ความสำเร็จและ ความสุขในชีวิต (ภัคสกุล นาคจู, 2557, น. 85)

             เป็นความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดและพัฒนาการของ ความฉลาดทางอารมณ์ ทำให้ทราบว่าความฉลาดทางอารมณ์มีส่วนสำคัญในเบื้องหลังของความสุข ความสามารถในการปรับตัวและความสำเร็จต่างๆ ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา หน้าที่การงาน ชีวิต และการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้อื่น ความฉลาดทางอารมณ์ที่ดี จะเป็นผู้ที่ใช้ความคิดให้เกิดประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี ความฉลาดทางอารมณ์เป็นการเรียนรู้และรู้จักอารมณ์ความรู้สึกของตน การมีสติ รู้เท่าทันสาเหตุและ ความผันแปรด้านอารมณ์ของตน เป็นการเรียนรู้พูดคุยภายในตน (Intraindividual Talk) การบริหารจัดการอารมณ์ ภาวะอารมณ์ อุปนิสัยของตนไปในทิศทางที่สร้างประโยชน์แก่ทุกฝ่าย การสร้างแรงจูงใจที่ดีแก่ตนเองในทิศทางที่สร้างสรรค์ (วีระวัฒน์ ปันนิตามัย, 2551, น. 43)

             จะเห็นได้ว่า ความเป็นผู้มีเชาวน์อารมณ์ ผสมกับ เชาวน์ปัญญาของบุคคลนั้น นอกจากทำให้บุคคลตระหนักและรู้จักตนเองแล้ว ยังส่งผลให้เข้าใจความคิดความรู้สึก และความต้องการของผู้อื่นได้อีกด้วย ความฉลาดทางอารมณ์ก่อให้เกิด ความร่วมมือที่สร้างสรรค์ สนองเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล ทำให้ การสื่อสารระหว่าง บุคคลเป็นไปอย่างราบรื่น ก่อให้เกิดการบริหารจัดการที่ให้เกียรติ ยอมรับ เกื้อหนุนซึ่งกันและกันกล้าคิดริเริ่ม ลดการนินทา การโจมตี และความไม่ยืดหยุ่นต่อกัน

             การประยุกต์ใช้หลักการของความฉลาดทางอารมณ์ ในชีวิตประจำวันและหน้าที่การงาน
มีลักษณะและประโยชน์ ดังนี้

  1. ความฉลาดทางอารมณ์มีบทบาทใน การกำหนดบุคลิกภาพที่พึงประสงค์ สร้างวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่เจริญสมวัย สร้างความสามารถใน การปรับตัว การแก้ไขปัญหาความตึงเครียด มีความรู้สึกของผู้อื่นในเชิงบวก สามารถยิ้มได้แม้ในใจจะรู้สึกเศร้า รับฟังปัญหาของผู้อื่นได้อย่างตั้งใจ
  2. 2. การปฏิบัติงาน ความฉลาดทางอารมณ์ก่อให้เกิดความคิดริเริ่ม ก่อให้เกิดการสร้าง ผลิตผลที่สนองเป้าหมาย ปราศจากความขัดแย้งระหว่าง บุคคล ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี สามารถสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลได้ทุกสถานการณ์
  3. 3. การบริหารจัดการความฉลาดทางอารมณ์ช่วยส่งเสริมความเป็นผู้นำที่มีศิลปะ ในการรู้จักใช้คนและครองใจคน เปิดโอกาสให้ผู้อื่นมีโอกาสเรียนรู้ ถึงประสบการณ์ และมีความเข้าใจตน (Insight)
    การมองตนก่อนทำความเข้าใจผู้อื่น เมื่อเข้าใจตน เข้าใจผู้อื่น (วีระวัฒน์ ปันนิตามัย, 2551, น. 38-41)

             ประโยชน์ของความฉลาดทางอารมณ์ที่มีต่อตนเอง คือทำให้บุคคลตระหนักรู้ เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกและความต้องการของตนเองและผู้อื่น ทำให้บุคคลมีบุคลิกภาพที่ดี สามารถแสดงพฤติกรรมทางอารมณ์  ตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมช่วยสร้างสัมพันธภาพที่ดีและ สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข มีความเข้าใจและเห็นใจซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังเป็น พัฒนาบุคคลให้มีภาวะความเป็นผู้นำที่ดี สามารถจูงใจให้ผู้อื่นมีความร่วมใจกันปฏิบัติหน้าที่จน ประสบความสำเร็จและทำให้บุคคลประสบความสำเร็จ ทั้งในการศึกษาเล่าเรียน หน้าที่การงาน ชีวิตส่วนตัวและครอบครัวตลอดจนช่วยให้บุคคลมีสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพทางกายที่ดี (ภัคสกุล นาคจู, 2557, น. 97-98)

              ประโยชน์ต่อสังคมรอบข้าง คือการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สร้างบรรยากาศให้เกิดความรักความเข้าใจและการยอมรับในข้อบกพร่องของผู้อื่น ความฉลาดทางอารมณ์จึงมีผลต่อความสงบสุขจิต ทำให้การความไว้วางใจ อบอุ่น มีความพยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน สามารถยอมรับในข้อบกพร่องของอีกฝ่ายหนึ่งได้ ความฉลาดทางอารมณ์ไม่ใช้ปัจจัยที่ทำให้คนสองคนไปกันรอด ในทางตรงกันข้าม ถ้าบุคคลอยู่ด้วยกันแล้ว ไม่มีใครยอมใคร พยายามเอาชนะซึ่งกันและกัน ในอนาคตคงไม่พ้นปัญหาของการหย่าร้างหรือแยก ทางกันเพราะฉะนั้นความฉลาดทางอารมณ์จึงเป็นศิลปะที่จะนำพาชีวิตให้สามารถดำเนินไปได้อย่าง สร้างสรรค์

             ประโยชน์ต่อการศึกษา การที่เด็กจะเรียนดี และมีอนาคตที่ดีนั้น นอกจากความสามารถทางด้านสติปัญญาแล้ว ยังต้องอาศัยปัจจัยอื่นอีกมากมาย สังคมในปัจจุบันเต็มไปด้วยสิ่งยั่วยุมากมาย
เด็กจำนวนไม่น้อยที่ ต้องเผชิญกับปัญหายาเสพติด ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียน ทำให้เสียโอกาสทางการศึกษา การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ให้แก่คนอื่น (วีระวัฒน์ ปันนิตามัย, 2551, น. 76)

             สรุปได้ว่า ความฉลาดทางอารมณ์มีความสำคัญและประโยชน์ในทุกด้านของมนุษย์ ทั้งใน ส่วนของ บุคคล องค์กร สังคมหรือประเทศชาติ  ทำให้บุคคลที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกัน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง จึงถือว่าเป็นการใช้ความฉลาดทางอารมณ์ในระดับสูง ดังนั้นการพัฒนาตนเพื่อเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิตและสภาพแวดล้อมทางสังคม

 

คุณลักษณะของบุคคลที่มีความฉลาดทางอารมณ์

 

             ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นความสามารถของบุคคลในการมีความเข้าใจ สามารถแสดงอารมณ์ออกมาได้อย่างมีปัญญา และไหวพริบ ตลอดทั้งควบคุมอารมณ์ตนเองได้ ทุกสถานการณ์และอารมณ์ (Emotions) อารมณ์เป็น เรื่องที่ไม่สามารถแยกออกจากการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ มีการกล่าวถึงเรื่องนี้ ในวิชาพฤติกรรมองค์การค่อนข้างน้อยมากเนื่องจากเชื่อกันว่าอารมณ์เป็นเรื่องที่ไร้เหตุผลหรือไม่ก็ มองอารมณ์ว่าเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดความยุ่งยากเสียหายที่ควรหลีกเลี่ยง เป็นการเสียเวลาโดยใช้เหตุอารมณ์เป็นเพียงบางส่วนของกระบวนการทางสมองขั้นพื้นฐาน 4 กลุ่มคือแรงจูงใจ (Motivation) อารมณ์ (Emotion) การคิด (Cognition) และจิตสำนึก (Consciousness) มีสิ่งที่พิจารณาพฤติกรรม ทางด้านอารมณ์ 5 ด้าน คือด้านการทำลาย ด้านการเข้าใกล้ ด้านการหนี ด้านการหยุดพฤติกรรม และด้านน้ำเสียง (Salovey & Mayer, 1997, p. 11)

             ความฉลาดทางอารมณ์เป็นตัวเร่งให้เกิดพฤติกรรมทางอารมณ์ของมนุษย์ซับซ้อนมากกว่าสัตว์อื่น ๆ มนุษย์เป็นสัตว์ที่หัวเราะได้เมื่อมีความสุขและร้องให้ได้เมื่อเศร้า เหตุใดจึงมีอารมณ์ อารมณ์จะกระตุ้นช่วยให้รวบรวมประสบการณ์นำไปสู่การกระทำและสื่อสารถึง การกระทำพบได้ดังนี้ มีตัวเร้าให้เกิดพฤติกรรม (Arousal) ก่อเกิดการรวบรวมอารมณ์ มีตัวนำและตัวสนับสนุนให้มีการกระทำต่อไป ส่งการสื่อสารที่เกี่ยวข้องเป็นรูปแบบสัญญาณต่างๆ ได้ (Frijda, 1986, p. 47)

             บุคคลผู้มีความฉลาดทางอารมณ์ จะมีคุณลักษณะ ดังนี้

  1. มีความเชื่อมั่นในตนเอง และประเมินความสามารถของตนเองตามความเป็นจริง
  2. สามารถควบคุมอารมณ์ตนเอง คือสามารถจัดการกับอารมณ์ที่ยุ่งยาก และหุนหันพลันแล่นได้เป็นอย่างดี
  3. เป็นผู้ได้รับความไว้วางใจ รักษาคำพูดและคำสัญญา มีความรับผิดชอบ และมีความรอบครอบในการทำงาน
  4. มีความสามารถในการปรับตัว ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่หลากหลาย และการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
  5. มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงตนเอง คือความสามารถในการเปิดรับความคิดและข้อมูล ใหม่ ๆ และการสร้างแนวคิดใหม่ที่เป็นประโยชน์ได้
  6. เป็นผู้มองโลกในแง่ดี มีความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค
  7. เป็นผู้มีความสุข และพึงพอใจกับชีวิต

             สรุปได้ว่า ผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์ จะมีความสามารถในการตระหนักถึงความรู้สึก อารมณ์และความต้องการของตนเองและผู้อื่น สามารถควบคุมตนเอง ตลอดจนเรียนรู้ที่จะใช้อารมณ์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการคิด การตัดสินใจ และการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม (อำนาจ แช่มชื่น, 2017).

 

แนวทางการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ตามหลักพุทธจิตวิทยา

 

           การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์เพื่อสร้างความงอกงาม และเพิ่มความสมบูรณ์ในชีวิตของตนมี หลายแนวทางและหลายแนวคิด ในบทความนี้ขอนำเสนอหลักการพัฒนาตน 2 แนวทาง คือ การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ตามหลักจิตวิทยาและตามหลักพุทธธรรม

             พุทธจิตวิทยา (Buddhist Psychology) คือ พุทธกับจิตวิทยา เป็นการบูรณาเข้ากันโดยอาศัยแนวทางของทฤษฎีและองค์ความรู้ทางจิตวิทยาซึ่งเป็นศาสตร์ตะวันตก กับหลักกับพระพุทธศาสนามาผสมผสานกันเพื่อปรับใช้ในการดำเนินชีวิตและเป็นแนวทางในการพัฒนาชีวิตให้เกิดความดีงาม มีความสุขทางจิตใจมากยิ่งขึ้น ผู้เขียน ได้ให้ความหมายของพุทธจิตวิทยาไว้ว่า พุทธจิตวิทยา คือ การเรียนรู้ถึงจิตเพื่อปลดเปลื้อง ทุกข์ด้วยหลักธรรม คือการเรียนหรือศึกษาพฤติกรรมความเป็นมาเป็นไปของจิตให้รู้แน่และปลดเปลื้องเหตุแห่งทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นด้วยการอาศัยหลักธรรมในการดับทุกข์และพัฒนาตนเองให้มีความสุข ในการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์นี้ มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาองค์ประกอบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาตัวตนของเราเองให้มีการยึดมั่นในศีลธรรม ความดีรวมถึงการ พัฒนาสิ่งแวดล้อมรอบตัว สังคม เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและเกิดความผาสุก

             พุทธจิตวิทยาเป็นการศึกษาเรื่องของจิตโดยตรง โดยมีจุดเน้นให้ผู้ศึกษาเฝ้ามอง พิจารณาและวิเคราะห์การปฎิบัติ จนรู้เท่าทันสภาวะจิตด้วยตนเอง เพื่อจะได้ขจัดทุกข์ทางใจได้อย่างสิ้นเชิง มีสภาวะจิตที่เป็นอิสระถึงความสุขที่สมบูรณ์  ฝึกกระแสจิตเพื่อดับทุกข์ โดยคำสอนแม่บท คือ พระธรรมและพระวินัยซึ่งถือว่าเป็นเนื้อหาหลักในการศึกษาทางพุทธศาสนา สรุปรายละเอียดได้ดังนี้

             พระธรรม เป็นคำรวมเรียกสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปตามกฎ ธรรมชาติ รวมถึงระบบของธรรมชาติและพฤติกรรมต่าง ๆ ของธรรมชาติทั้งที่อยู่ภายนอก และภายในตัวมนุษย์ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตซึ่งมนุษย์ได้นำมาเป็นกฎเกณฑ์ ทฤษฎี หลักการ ความรู้ (ปริยัติ) ความประพฤติ ปฏิบัติ และหลักแห่งความรู้แจ้ง ซึ่งเป็นผลที่เกิด จากการปฏิบัติที่เรียกว่า ญาณ เป็นต้น

             พระวินัย คือ กฎระเบียบ ข้อบัญญัติสำหรับฝึกหัดกาย วาจา ใจ ได้แก่ สิกขาบท หรือศีลของพระภิกษุ สามเณร ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา และชีในพระพุทธศาสนา เป็นต้น (เริงชัย หมื่นชนะ, 2558, น. 71)

             พุทธจิตวิทยาเป็นพฤติกรรมการปฏิบัติตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาและประยุกต์ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมนิยม (Behaviorism) นั้นมีแนวคิดว่าพฤติกรรมของมนุษย์ เป็นปัญหาจึงมีความจำเป็นต้องมีการการพัฒนาเพิ่ม  เพราะเป็นผลของการที่มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนาตนเองให้เข้าใจหลักธรรมของพระพุทธศาสนามา ในการใช้เป็นแนวทางในการปรับพฤติกรรมภายในคือจิตใจ  ที่สำคัญของการเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกของตนเองนั้น เป็นการสร้างความสมดุลในการปรับพฤติกรรมโดยการควบคุมตนเอง ต่อสิ่งเร้าหรือสิ่งแวดล้อม

             หลักพุทธจิตวิทยาที่นำมาใช้ในการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาตน โดยการเรียนรู้และการปฏิบัติให้ถึงความดีงาม หรือการมีดุลยภาพของชีวิต มีความสัมพันธ์อันกลมกลืนระหว่างการดำเนินชีวิต ของบุคคลกับสภาพแวดล้อมและมุ่งการกระทำตนให้มีความสุขด้วยตนเอง รู้เท่าทันตนเอง เข้าใจตนเองมากกว่าการพึ่งพาอาศัยวัตถุ จึงเป็นแนวทางการพัฒนาชีวิตที่ยั่งยืน ซึ่งการพัฒนาตนตามหลักพุทธธรรมประกอบด้วย 3 หลัก สำคัญ คือ ทมะ สิกขา และภาวนา (NovaBizz, 2560) มีรายละเอียดดังนี้

             ทมะ คือ การฝึกหรือการพัฒนาตน การข่มจิต การรักษาใจ บังคับตัวเองเพื่อลดละกิเลส และรักษาสัจจะซึ่งเป็นองค์ธรรมของฆราวาสธรรม (ธรรมของผู้ดำเนินชีวิต ทางโลก) นั่นเอง หากปลูกฝังนิสัยและพฤติกรรมตามหลักทมะแล้วจะทำให้เป็นคนมี ความสามารถในการทำงาน ไม่มีเวรกับใคร ยับยั้งตนเองไม่ให้หลงไปทำผิดได้ สามารถตั้ง ตัวได้ มีสติ และมีปัญญาเป็นเลิศ การฝึก หรือการพัฒนานิสัยดั้งเดิมที่ยังไม่ได้ขัดเกลาให้ เหมาะสม มี 2 ขั้นตอนสำคัญ คือ การรู้จักข่มใจ ได้แก่ การข่มระงับความเคยชินที่ไม่ดี ทั้งหลายได้ ไม่ยอมให้กิเลสรบเร้า หลอกล่อ ชักนำไปสู่ความเลวร้าย และการฝึกปรับปรุง ตนเอง ได้แก่ การทำคุณความดีพร้อมที่จะพัฒนาคนเองให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

             สิกขาคือ ข้อที่จะต้องศึกษา ข้อที่ต้องปฏิบัติ ในทางศาสนา หมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นการศึกษาเพื่อให้รู้แจ้ง รู้จักประโยชน์ มองทุกอย่างเป็นการเรียนรู้เพื่อปรับปรุง และพัฒนาตน เป็นกระบวนการฝึกฝนตนเองในการดำเนินชีวิต เรียกว่า ไตรสิกขา มี 3 ประการ คือ

  1. ศีลสิกขา หมายถึงการฝึกความประพฤติสุจริตทางกาย ทางวาจา และการ ประกอบอาชีพ ดำรงตนในสังคมแบบสาธุชนเป็นคนดีของสังคม เป็นคนมีระเบียบ มีวินัย ปฏิบัติหน้าที่ตามปทัสถานของสังคมสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างดีงามโดยมีความ รับผิดชอบเกื้อกูลต่อสังคม
  2. จิตสิกขา หมายถึงการฝึกจิต สร้างคุณภาพและสมรรถภาพทางจิตให้เข้มแข็ง มั่นคง
    แน่วแน่ ควบคุมตนเองได้ดี มีสมาธิ มีจิตที่สงบ บริสุทธิ์ ปราศจากสิ่งที่ทำให้เศร้า หมอง อยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ปัญญาอย่างลึกซึ้งและตรงตามสัจธรรม
  3. ปัญญาสิกขา หมายถึงการฝึกปัญญาให้เกิดความรู้ความเข้าใจสรรพสิ่ง รู้แจ้ง ตามความเป็นจริง มีจิตใจเป็นอิสระ และมีปัญญาบริสุทธิ์ ภาวนา คือ การเจริญ การอบรม การพัฒนา การทำจิตใจให้สงบ เพื่อให้เกิด ปัญญา ด้วยการฝึกฝนพัฒนาจิตตามหลักพุทธธรรมที่กำหนดไว้มี 4 ประการ คือ
  4. กายภาวนา คือ การพัฒนากายให้รู้จักติดต่อเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลาย ภายนอกทางอินทรีย์ทั้งห้า (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) ด้วยดี และปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้น ในทางที่เป็นคุณ มิให้เกิดโทษ ให้กุศลธรรมงอกงาม ให้อกุศลธรรมเสื่อมสูญ เป็นการพัฒนา ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (Physical Development) ทำให้มีร่างกาย สมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ และมีสิ่งแวดล้อมภายนอกที่ดี ผู้ที่มีความสุขด้านนี้ เรียกว่า “ภาวิตกายบุคคล” หรือบุคคลผู้มีกายเจริญแล้ว
  5. สีลภาวนา คือ การพัฒนาความประพฤติการฝึกอบรมศีลให้ตั้งอยู่ใน ระเบียบวินัย
    ไม่เบียดเบียน หรือก่อความเดือดร้อนเสียหายให้กับตนเอง และผู้อื่น มี ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม
    มีการจัดการเพื่อความสุขความเจริญของบุคคลในสังคม ปราศจากการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน อยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้ด้วยดีทำให้เกิดความสุขทาง สังคม ผู้ที่มีความสุขด้านนี้เรียกว่า “ภาวิตสีลบุคคล” บุคคลผู้มีศีลเจริญแล้ว
  6. จิตภาวนา คือ การพัฒนาจิตให้สมบูรณ์พร้อม เข้มแข็งมั่นคง เจริญงอกงาม ด้วยคุณธรรมทั้งหลาย เช่น มีเมตตา กรุณา ขยันหมั่นเพียร อดทน มีสมาธิ และสดชื่น เบิกบาน เป็นสุขผ่องใส เป็นต้น ผู้ที่มีความสุขด้านนี้เรียกว่า “ภาวิตจิตบุคคล” บุคคลผู้มีจิตใจ เจริญแล้ว
  7. ปัญญาภาวนา คือ การพัฒนาปัญญาให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็น จริง รู้เท่าทันเห็นโลก และชีวิตตามสภาวะ สามารถทำจิตใจให้เป็นอิสระ ทำตนให้บริสุทธิ์ จากกิเลส และปลอดพ้นจากความทุกข์ เป็นการใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น มีความ เข้าใจชีวิตและโลกอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง สามารถอยู่กับความเป็นจริงของโลกและ ชีวิตได้อย่างปกติสุขและอย่างเข้าใจ ผู้ที่มีความสุขด้านนี้เรียกว่า “ภาวิตปัญญาบุคคล” บุคคลผู้มีปัญญาเจริญแล้ว

             ภาวนาทั้ง 4 ประการนี้ย่อมอำนวยผลให้ผู้ปฏิบัติตามได้รับความสุข ทั้งโลกียะ สุขที่เป็นความสุขที่เกิดจากกิเลสกามความสุขของสัตว์และมนุษย์ผู้เสพย์กามคุณ 5 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส รู้ว่ามิใช่ความสุขที่แท้จริง แต่เป็นความสุขเพียงชั่วคราว และ จะต้องแสวงหาสิ่งแปลกใหม่อยู่ร่ำไป ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติเข้าถึงโลกุตตระสุข คือความสุขที่เกิด จากความสิ้นไปแห่งกิเลสตัณหาเป็นความสุขที่สัมพันธ์กับความรู้สึกทางจิตใจและปัญญาที่ รู้จริง มีลักษณะสงบ และดำรงอยู่ที่ยาวนานเป็นความรู้สึกบรมสุข หรือภาวะแห่งการ ปล่อยวางไม่ยึดติดในตัวตน เรียกว่าเป็นความสุขของผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม หรือพระ อริยบุคคล อันเป็นความสุขที่ยั่งยืน

             ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ เป็นการพัฒนาตนตามหลักพุทธธรรม คือ การฝึกฝนอบรมทางกาย ให้สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพอย่างลงตัว การฝึกฝนอบรมทางศีล เพื่อความประพฤติที่เป็นระเบียบเรียบร้อยดีงาม การฝึกฝนอบรมทางจิต เพื่อความเจริญงอกงามด้วยคุณธรรม และการฝึกฝนทางปัญญา เป็นการพัฒนาตนให้เข้าใจในทุกสรรพสิ่ง เพื่อการมีดุลยภาพของชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุข

 

บทสรุป

 

             ความฉลาดทางอารมณ์ เกิดจากการเรียนรู้ของมนุษย์ ทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจจากประสบการณ์ ก่อให้สิ่งที่ตามมาคืออารมณ์และพฤติกรรมอันอาจมีพฤติกรรมเชิงบวก และเชิงลบ การใช้ปัญหาในการพัฒนาอารมณ์ให้มีการแสดงออกทางอารมณ์อย่างมีศิลปะมีผลเชิงบาก เรียกว่า ความฉลาดทางอารมณ์ซึ่งเป็นความสามารถของบุคคลในการมีความเข้าใจ สามารถแสดงอารมณ์ออกมาได้อย่างมีปัญญา และไหวพริบ ควบคุมอารมณ์ตนเองได้ ทุกสถานการณ์ แก้ปัญหาได้ ไม่ก่อให้เกิดความยุ่งยากเสียหาย

             ประโยชน์ความฉลาดทางอารมณ์ คือ สามารถสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม เป็นความสำคัญเบื้องหลังของความสุข ความรู้ ความสามารถในการปรับตัว นอกจากทำให้บุคคลตระหนักและรู้จักตนเองแล้วยังส่งผลให้เข้าใจ ความคิดความรู้สึก และความต้องการของผู้อื่นได้อีกด้วย ความฉลาดทางอารมณ์ก่อให้เกิดความร่วมมือที่สร้างสรรค์ สนองเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล

             การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาตน เป็นการเปลี่ยนแปลง ตัวเองให้เหมาะสมเพื่อสนองความต้องการตามเป้าหมายของตนเอง เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสิ่งที่สังคมคาดหวัง การพัฒนาตน ควรเริ่มต้นที่การพัฒนาจิต เพราะการพัฒนาจิตนั้นถือได้ว่าเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการแสดง พฤติกรรม เมื่อจิตดีงาม พฤติกรรมที่แสดงออกมาก็ดีงามตามไปด้วย การพัฒนาตน นอกจากจะเป็นการพัฒนาเพื่อประโยชน์ต่อตนเองให้เป็นทั้งคนดี คนเก่ง และมีความสุข แล้ว ยังเป็นไปเพื่อประโยชน์ให้ผู้อื่น และสังคมด้วย การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ จึงมีความสำคัญทั้งต่อตนเองและสังคม

             ความสำคัญต่อตนเอง ถือเป็นการเตรียมตัวเองให้พร้อมในด้านต่าง ๆ ให้ มากที่สุด เพื่อรับกับสถานการณ์ทั้งหลายได้ด้วยความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง เป็นการปรับปรุง สิ่งที่บกพร่อง และพัฒนาพฤติกรรมให้เหมาะสม การพัฒนาตนเป็นสิ่งสำคัญและเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน การพัฒนาในบุคคลหนึ่งย่อมส่งผลต่อบุคคล อื่นอีกหลายคนด้วย การปรับปรุงและพัฒนาตนเองจึงเป็นการเตรียมตนให้เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีของผู้อื่นทุกระดับ

              พุทธจิตวิทยา เป็นการบูรณาการณ์ระหว่างหลักธรรมของพระพุทธนากับจิตวิทยาตะวันตก เพื่อให้มีความหมายเกี่ยวกับจิตวิทยาเชิงพุทธ  เป้าหมายการเรียนรู้ถึงจิตเพื่อปลดเปลื้องความทุกข์ด้วยหลักธรรม มีการศึกษาให้เข้าใจแล้วนำไปสู่การปฏิบัติให้เห็นความเป็นจริงตามหลักธรรม ส่งผลต่อความปลดปล่อยแห่งความทุกข์ที่ถูกครอบงำในจิตใจ

             การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ เป็นการพัฒนาตนตามหลักพุทธธรรม คือ การฝึกฝนอบรมทางกาย ให้สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพอย่างลงตัว การฝึกฝนอบรมทางศีลเพื่อความประพฤติที่เป็นระเบียบเรียบร้อยดีงาม การฝึกฝนอบรมทางจิตเพื่อความเจริญงอกงามด้วยคุณธรรม และการฝึกฝนทางปัญญาเป็นการพัฒนาตนให้เข้าใจในทุกสรรพสิ่งเพื่อการมีดุลยภาพของชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุข

 

รายการอ้างอิง

 

กรนิกา พวงแก้ว. (2543). รังสิตสารสนเทศ. วารสารวิชาการสำนักงานหอสมุด, 6(2), 121-125.

 

กรมสุขภาพจิต. (2543). คู่มือความฉลาดทางอารมณ์. กระทรวงสาธารณสุข.

 

ภัคสกุล นาคจู. (2557). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอารมณ์  Introduction to emotion (พิมพ์ครั้งที่ 2). ภัคสุภรณ์การพิมพ์.

 

วีระวัฒน์ ปันนิตามัย. (2551). เชาวน์อารมณ์ (E.Q): ดัชนีวัดความสุขและความสำเร็จของชีวิต (พิมพ์ครั้งที่ 7). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

ตฎิลา จำปาวัลย์. (2562). กระบวนการของพุทธจิตวิทยากับความสงบสุข. วารสารจิตวิทยาเชิงพุทธ, 4(2), 114-125.

 

เริงชัย หมื่นชนะ. (2558). ระบบและทฤษฎีพุทธจิตวิทยา. วารสารมหาจุฬาวิชาการ, 2(1), 63-78.

 

อำนาจ แช่มชื่น. (2017). ความฉลาดทางอารมณ์ ( EQ ) : เบื้องหลังแห่งความสำเร็จ. https:// www.gotoknow .org/posts/139070.

 

Daniel, G. (1995). Emotional intelligence: Why it can matter more than IQ. Random House Publishing Group.

 

Frijda, H. N. (1986). The emotions. Cambridge University Press.

 

NovaBizz. (2560). เทคนิคทางจิตวิทยาที่ใช้ในการพัฒนาตน. https://www.novabizz.com/NovaAce /Learning/Technique_ Develop-Psycho-1.htm.

 

Salovey, P. & Mayer, J.D. (1997). Emotional intelligence imagination cognition and personality. McGraw-Hill.