Kamalas

Development of Human Potential Through the Core of Buddhist Psychology

 

ทิพย์ธิดา ณ นครญาณินี ภู่พัฒน์2

 

1,2ดร. หลักสูตรประกาศนียบัตรพุทธจิตวิทยาประยุกต์เพื่อพัฒนาศักยภาพมนุษย์

คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 

บทนำ  

 

          การทำความเข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริง แล้วปฏิบัติต่อความจริงนั้นอย่างถูกต้องดีงาม มีเป้าหมายที่การพ้นทุกข์ และเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อมนุษย์สังคม และธรรมชาติ มนุษย์เราควรมีการพัฒนาทั้งด้านพฤติกรรม จิตใจ และปัญญาไปพร้อม ๆ กัน เพราะทั้ง 3 ด้านนี้เป็นกระบวนการพัฒนาที่พึ่งพาอาศัยกัน และส่งผลต่อกัน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลจิตใจประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตน พัฒนางาน และพัฒนาชีวิต เพื่อพัฒนาความสามารถในการดำเนินวิถีชีวิตได้ตามศักยภาพมนุษย์ บทความนี้ผู้เขียนขอนำเสนอแนวทางการพัฒนาศักยภาพมนุษย์สู่ผ่านแก่นพุทธจิตวิทยา ทั้งในแง่ของจิตวิทยาตะวันตก: ความหมาย ความสำคัญ หลักการและทฤษฎี รวมถึงกรอบความคิดเติบโตซึ่งล้วนมีความสำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ และในแง่คิดตามหลักพุทธศาสนา: ความหมาย หลักสัทธรรม 3 ได้แก่ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ และการนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาศักยภาพมนุษย์

 

การพัฒนาศักยภาพมนุษย์ตามแนวคิดทางจิตวิทยา

 

ความหมายของการพัฒนาศักยภาพมนุษย์

 

          มาสโลว์ (Maslow, 1987) กล่าวว่า การพัฒนาตน หมายถึงการรู้จักตนเองอย่างถ่องแท้ และการใช้ความสามารถของตนอย่างมีประสิทธิภาพ มีความสุข คนที่มีการพัฒนาตนนั้นจะมีจิตใจที่สมบูรณ์มีจิตใจที่เปิดกว้างต่อประสบการณ์ใหม่ ๆ มีทัศนะที่สร้างสรรค์ มีการรับรู้ที่แท้จริงในศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ มีความใกล้ชิดต่อชีวิตที่เป็นจริงตามธรรมชาติ และมีความเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์

          การพัฒนาศักยภาพมนุษย์ (human potential development) หมายถึง กระบวนการดำเนินงานที่ส่งเสริมให้บุคลากรเพิ่มความรู้ พัฒนาคุณภาพและทักษะให้ไปสะท้อนรับอนาคต ชีวิต และงานอาชีพ มีพฤติกรรมการทำงานที่เหมาะสมกับงานที่รับผิดชอบ ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพของบุคลากรให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้สามารถสนองตอบวัตถุประสงค์ วิสัยทัศน์ ภารกิจขององค์กรที่ตนปฏิบัติงานอยู่ (Kanter, 1983;& สุกัญญา รัศมีธรรมโชติ, 2547)

 

ความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพมนุษย์

 

          จากงานวิจัยของ Blume et al., (2010) กล่าวว่าการพัฒนาตนให้มีทักษะที่มากขึ้นและสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน หรือโลกแห่งความเป็นจริงได้นั้นต้องอาศัยกระบวนทางปัญญา และกระบวนการจิต เช่น ความมั่นใจ แรงจูงใจ การได้รับการสนับสนุน

          1) สร้างโอกาสให้กับตนเอง โอกาสเป็นสิ่งที่หลายคนอยากได้ ไม่ว่าจะเป็นโอกาสทางด้านการศึกษา หรือโอกาสความก้าวหน้าชีวิตการทำงาน แต่โอกาสเป็นสิ่งที่ไม่ได้มากันทุกวัน และไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับโอกาส ฉะนั้นการมุ่งมั่นพัฒนาตนเองในด้านต่าง ๆ ทักษะใหม่ ๆ จึงเท่ากับเป็นการสร้างโอกาสให้กับตนเองเพื่อเพิ่มโอกาสในการก้าวไปสู่ความสำเร็จ

          2) สร้างเป้าหมายในการดำเนินชีวิต ตั้งเป้าหมายแล้วพัฒนาตนเอง เป้าหมายเปรียบเหมือนจุดหมายปลายทาง หากกำหนดเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน ทำให้สามารถกำหนดระยะเวลาในแต่ละขั้นตอน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ที่สำคัญการวางเป้าหมายทำให้เกิดความรู้สึกกระตือรือร้นที่จะทำเป้าหมายที่วางไว้ให้ประสบความสำเร็จ

 

แนวคิดและทฤษฎีของการพัฒนาศักยภาพมนุษย์

 

          ทฤษฎีทางจิตวิทยา (Psychological Theory) มีความสำคัญเกี่ยวกับแนวคิดการเรียนรู้ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการจูงใจ การบริหารจัดการ ทั้งนี้ทฤษฎีทางจิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการหรือสภาวะการเปลี่ยนแปลงในด้านจิตใจและพฤติกรรมการแสดงออก ซึ่งทฤษฎีทางจิตวิทยานั้นได้ถูกนำมาใช้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพคนดีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในการประยุกต์ใช้ทฤษฎีจิตวิทยาเพื่อพัฒนาศักยภาพมนุษย์มี 5 ทฤษฎี ดังนี้

          1. ทฤษฎีจิตวิทยาเกสตัลท์ (Gestalt Psychology) คำว่า “เกสตัลท์” เป็นคำที่มาจากภาษาเยอรมัน หมายถึง ส่วนรวมทั้งหมด หรือโครงการทั้งหมด (Totality/Configuration) โดยกล่าวถึงภาพรวมทั้งหมดที่ประกอบกันขึ้นมาเพื่อให้เห็นภาพรวมใหญ่ ไม่มองเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง ทฤษฎีนี้มีความเชื่อว่าการศึกษาคุณค่าและมูลค่าที่เกิดขึ้น จากพฤติกรรมมนุษย์นั้นจะต้องศึกษาเป็นภาพรวม จะแยกศึกษาและวิเคราะห์ออกเป็นทีละเรื่องไม่ได้ เนื่องจากพฤติกรรมของมนุษย์เป็นพฤติกรรมบูรณาการ (Integrated Behavior) ที่เกิดจากการผสมผสานกันระหว่างความรู้ ความคิด ความรู้สึก การรับรู้ประสบการณ์ที่แตกต่างกันไปของแต่ละคน ไม่ได้เกิดขึ้นจากเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้พฤติกรรมการแสดงออกของมนุษย์ เปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา ซึ่งขึ้นอยู่กับประสบการณ์ความรู้ที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลทำให้ความรู้ ความเข้าใจ ความรู้สึก ทักษะ และความสามารถเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ทฤษฎีนี้จะเน้นไปที่พฤติกรรมการรับรู้ของมนุษย์ที่เป็นพื้นฐานให้เกิดการเรียนรู้คนเรามีการรับรู้ที่แตกต่างกัน ทำให้การเรียนรู้และการแสดงออกแตกต่างกันไป (ทิศนา แขมมณี, 2560, น. 60 – 62)

2. ทฤษฎีจิตวิทยาด้านพฤติกรรม (Behavioral Psychology) ทฤษฎีนี้จะเน้นไปที่พฤติกรรมการแสดงออกของมนุษย์ที่สามารถสังเกตเห็นได้การเรียนรู้ของมนุษย์ เกิดขึ้นจากสิ่งเร้าหรือตัวกระตุ้นที่ถูกใส่เข้ามา และในทางกลับกันมนุษย์จะหลีกเลี่ยงการกระทำในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจากตัวกระตุ้นที่ถูกใส่เข้ามาด้วยเช่นกัน ทฤษฎีนี้จึงมีความเชื่อว่าพฤติกรรมของมนุษย์จะเกิดขึ้นจากการเสริมแรง โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) การเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcement) และ 2) การเสริมแรงทางลบ (Negative Reinforcement) เมื่อเข้าใจดังนี้แล้วจึงใช้จิตวิทยาด้านพฤติกรรมกับเยาวชนให้เหมาะสมได้โดยพิจารณาว่าควรจะใช้การเสริมแรงทางบวกหรือทางลบเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เยาวชนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีและเหมาะสม มีการสร้างแรงจูงใจและให้รางวัลเมื่อทำดีและมีการตักเตือนลงโทษหากกระทำผิด (สุรางค์ โค้วตระกูล, 2548, น. 140-143)

3. ทฤษฎีจิตวิทยาการรับรู้ (Cognitive Psychology) มาจากภาษาลาติน แปลว่าการรู้จัก (Knowing) ทฤษฎีนี้จะมุ่งเน้น ไปที่ความเข้าใจหรือการคาดคะเนเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยอาศัยการกำหนดรู้ (Perception) มาก่อน การรับรู้ที่ถูกต้องจะนำไปสู่พฤติกรรมการแสดงออกที่ถูกต้องเช่นเดียวกัน ทฤษฎีนี้เป็นการผสมผสานระหว่างทฤษฎีจิตวิทยาเกสตัลท์และจิตวิทยาเชิงพฤติกรรมเข้าด้วยกัน ทฤษฎีในกลุ่มนี้อธิบายว่า การเรียนรู้เป็นผลของกระบวนการคิด ความเข้าใจการรับรู้สิ่งเร้าที่มากระตุ้น ผสมผสานกับประสบการณ์ ในอดีตที่ผ่านมาของบุคคลที่เป็นพ่อแม่ทำให้เกิดการเรียนรู้ขึ้น ซึ่งการผสมผสานระหว่างประสบการณ์ที่ได้รับในปัจจุบันกับประสบการณ์ในอดีต จำเป็นต้องอาศัยกระบวนการทางปัญญาเข้ามามีอิทธิพลในการเรียนรู้ด้วย ทฤษฎีกลุ่มนี้จึงเน้นกระบวนการทางปัญญา (Cognitive Process) ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้และนำความรู้นั้นไปใช้กับการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์จากกิจกรรมในการดำเนินชีวิตในสังคมในด้านต่าง ๆ (ณัฏฐพันธ์ เขจรนันทน์, 2545)

4. ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มมนุษย์นิยม (Humanism) เน้นความเป็นมนุษย์ มีทัศนะว่า ธรรมชาติของมนุษย์มีความดีงาม เชื่อกันว่ามนุษย์มีคุณค่า ความกรุณา ความสามารถ ความต้องการ และแรงจูงใจภายในที่จะพัฒนา ถ้าบุคคลได้รับอิสรภาพและเสรีภาพ มนุษย์จะพยายามพัฒนาตนเองและกลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทฤษฎีที่สำคัญตามแนวคิดนี้คือทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow, 1954) ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ระดับต่อไปนี้

1) ความต้องการทางร่างกาย (Physiological-Needs) เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์เพื่อความอยู่รอดเช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค อากาศ น้ำดื่ม การพักผ่อน

2) ความต้องการความปลอดภัยและความมั่นคง (safety or safety needs) เมื่อมนุษย์สามารถตอบสนองความต้องการทางวัตถุได้ ความต้องการของมนุษย์จะยังคงได้รับการยกระดับที่สูงขึ้น เช่น ความต้องการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความจำเป็นในการดำรงชีวิตและการงานที่มั่นคง

3) ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ (belongingness-and-love-needs) ความต้องการนี้จะเกิดขึ้นเมื่อความต้องการทางด้านร่างกาย และความต้องการความปลอดภัยได้รับการตอบสนองแล้ว บุคคลต้องการได้รับความรักและความเป็นเจ้าของโดยการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นเช่น ความต้องการได้รับการยอมรับ ความต้องการได้รับความชื่นชมจากผู้อื่นเป็นต้น

4) ความต้องการยกย่อง (respect need) หรือความนับถือตนเองที่ต้องได้รับความเคารพ และสถานะทางสังคม เช่น ต้องการความเคารพ ต้องการความรู้ ความสามารถ เป็นต้น

5) ความจำเป็นในการพัฒนาศักยภาพส่วนบุคคล การตระหนักรู้ในตนเองเป็นความต้องการสูงสุดของมนุษย์ แต่เป็นการยากที่จะระบุว่าคืออะไร กล่าวได้ว่าความต้องการพัฒนาศักยภาพของตนเองเป็นความต้องการที่มนุษย์ต้องการจะเป็น ต้องการบรรลุเป้าหมาย

 

 

ภาพที่ 1 ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์

ที่มา: ดัดแปลงจาก Maslow, A. (1954). Motivation and Personality. Harper and Row

 

          จากภาพที่ 1 แสดงให้เห็นว่าความต้องการพัฒนาตนเองไปถึงจุดสมบูรณ์สูงสุดของชีวิต เป็นความต้องการที่จะตระหนักในตนเองตามสภาพความเป็นจริง และต้องการที่พัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นคนที่สมบูรณ์สูงสุด คือ เป็นคนที่มีบุคลิกภาพ ใช้ความสามารถที่ตนเองมีอยู่อย่างเต็มที่ เป็นคนที่มองเห็นศักดิ์ศรีและคุณค่าในตนเอง มีความกระตือรือร้นพร้อมที่จะใช้ความสามารถที่มีอยู่เพื่อทำประโยชน์ให้สังคม มาสโลว์มีความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนโดยพื้นฐานแล้วมีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองได้ แต่ที่อาจไปไม่ถึงเพราะอุปสรรคที่มาจากสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย หรือความขาดแคลน

          5.จิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) เป็นแขนงวิชาหนึ่งในศาสตร์ทางจิตวิทยา (Psychology) ที่พยายามแสวงหาองค์ความรู้เพื่อเสริมสร้างอัจฉริยภาพด้วยการยึดเอาจุดแข็งของบุคคลมาเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา (Seligman, 1998; Seligman & Csikszentmihalyi, 2000) จิตวิทยาเชิงบวกได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจากแนวคิดจิตวิทยามนุษย์นิยม (Humanistic Psychology) ที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาจิตวิทยาเพื่อสร้างแรงจูงใจในการดำเนินชีวิตของบุคคลปกติ (Maslow, 1954) ในหนังสือ Learned Optimism (การมองโลกในแง่ดี) ของเซลิกแมน (Seligman, 2006) เป็นหนังสือการพัฒนาตนเองที่สำคัญ เนื้อหาตอนหนึ่งกล่าวว่า คนที่มีคุณสมบัติประจำตัวในการคิดในทางบวก หรือมองโลกในแง่ดี คือรู้จักมองว่าความล้มเหลวที่เกิดขึ้น เป็นเพียงเรื่องหนึ่งในชีวิตที่ไม่ถาวร การมองโลกในแง่ดีไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด แต่เป็นทักษะที่เราสามารถเรียนรู้ได้ หนังสือเล่มต่อมา คือ ความสุขที่แท้จริง (Authentic Happiness) (Seligman, 2013) เซลิกแมนกล่าวว่า มนุษย์เราสามารถเรียนรู้ที่จะหาความหมายและจุดมุ่งหมายในชีวิตได้ และในกระบวนการดังกล่าวก็สามารถแสวงหาความสุขที่แท้จริงได้

          อย่างไรก็ตาม เมื่อคนเรามีแรงจูงใจเพื่อความเจริญเติบโต (Growth Motives) กระตุ้นให้เคลื่อนไปข้างหน้า พัฒนาตนเอง เพื่อรู้จักตนเองอย่างถ่องแท้ มีเอกลักษณ์ มีทักษะความสามารถ เพิ่มศักยภาพในตนเอง และใช้ศักยภาพเหล่านั้นอย่างเต็มที่ ก็จะเป็นแรงจูงใจในด้านบวกที่สร้างความสำเร็จได้ วิธีการที่เราจะไปถึงเป้าหมายแห่งความสำเร็จนั้นได้ เราจะต้องมี กรอบแนวคิดของมนุษย์ (Mindset) และเราจะเป็นคนที่มีกรอบแนวคิดแบบไหนเพื่อจะไปถึงตรงนั้นได้

 

วิธีการสร้างทัศนคติแบบ Growth Mindset

 

          Mindset เป็นกรอบแนวคิด ความเชื่อ มุมมอง และทัศนคติที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู การศึกษา ประสบการณ์ที่ผ่านมา และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาก่อน ถือว่าเป็นส่วนที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg Model) ที่มองเห็นและประเมินได้ยากว่าแต่ละคนจะมี Mindset กันแบบใด และต้องใช้เวลาในการพัฒนา Mindset นั้น โดยมีความเชื่อว่า Mindset จะส่งผลต่อไปยังพฤติกรรมที่เป็นการแสดงออกของแต่ละบุคคล (Behavior)

Dweck (2017) นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา แบ่งกรอบความคิดของมนุษย์นั้นมี 2 ด้าน ได้แก่

  1. ความคิดแบบยึดติด (Fixed Mindset) ความคิดหรือทัศนคติแบบเดิม ๆ ยอมรับแต่สิ่งเดิม ๆ ไม่กล้าเปิดใจที่จะรับสิ่งใหม่ ๆ กลัวการท้าทาย กลัวการเปลี่ยนแปลง และคิดว่าสิ่งที่ตนเองมีนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อีกทั้งยังไม่สนใจคำวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่นด้วย ลักษณะของผู้ที่มีความคิดแบบยึดติด ได้แก่

1) เป็นความคิดที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ยึดติดกับความภาคภูมิใจที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

2) ไม่มีความพยายามที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้มีความสามารถที่ดีขึ้น

3) กลัวที่จะเจอปัญหา และไม่ยอมคิดหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น กลัวความล้มเหลว

4) ไม่ชอบทำในสิ่งที่ยากและท้าทายตนเอง

  1. ความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) หรือกรอบความคิดแบบยืดหยุ่น คือไม่หยุดนิ่ง ชอบการเรียนรู้ ชอบความท้าทาย มีความคิดที่ต้องการที่จะเติบโตและพัฒนาตนเองอยู่ตลอด ยินดีที่จะรับฟังการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่นและนำคำวิพากษ์วิจารณ์นั้น ๆ มาพัฒนาตนเอง ลักษณะของผู้ที่มีความคิดแบบเติบโต ได้แก่

1) ความคิดที่มีความเชื่อว่าคนเราเรียนรู้และพัฒนาได้

2) มองว่าทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นและเป็นไปได้ด้วยความพยายาม ความมุ่งมั่น ความกระตือรือร้น และการไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น

3) เป็นความคิดที่พยายามทำในสิ่งที่ท้าทายให้สำเร็จ

4) ไม่กลัวความผิดพลาดและความล้มเหลว

          คนที่มีความคิดแบบเติบโต เป็นคนที่มีความคิดว่าเขาสามารถเก่งขึ้นได้ เปลี่ยนแปลงได้ เติบโตได้ และเรียนรู้ผ่านความพยายาม กล้าที่จะเดินออกนอกกรอบและลองทำสิ่งใหม่ ๆ หาหนทางให้บรรลุผลสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ และมองว่าปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นเป็นเพียงแค่ทางผ่านของชีวิตที่ทุกคนต้องเจอ ต่างตรงที่จะรับมือกับปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นอย่างไร กรอบแนวคิดแบบเติบโตจะทำให้ข้ามเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบคิดใหญ่ไม่คิดเล็ก ทำให้มีพลังที่จะเป็นแรงขับเคลื่อน ไม่หยุดนิ่ง หรือรอคอยให้คนอื่นมาช่วย แต่จะทำให้มีความพยายามในทุกทางเพื่อฟันฝ่าปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น ถ้ามีความคิดแบบเติบโตจะมีความพร้อมที่จะดึงพลังงานภายในหรือศักยภาพที่มีอยู่ในตัวและนำออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่

 

 

ภาพที่ 2 แสดงคุณลักษณะที่แตกต่างของผู้ที่มีความคิดแบบเติบโต และความคิดแบบยึดติด

ที่มา: Carol Dweck. A Summary of Growth and Fixed Mindsets. https://fs.blog/carol-dweck-mindset/

 

          จากที่กล่าวมาข้างต้น สรุปได้ว่า ตามแนวคิดทางจิตวิทยา การพัฒนาศักยภาพมนุษย์เกิดจากการผสมผสานกันระหว่างความรู้ ความคิด ความรู้สึก การรับรู้ประสบการณ์ที่แตกต่างกันไปของแต่ละคน ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง นอกจากนี้พฤติกรรมการแสดงออกของมนุษย์ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา ซึ่งขึ้นอยู่กับประสบการณ์ความรู้ที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการเรียนรู้ การพัฒนาตามช่วงวัย ทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ความรู้สึก ทักษะ และความสามารถในการดำเนินชีวิต การทำงาน และการอยู่ในสังคม

 

หลักพัฒนาศักยภาพมนุษย์ตามหลักพุทธศาสนา

 

          แนวทางการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ เป็นการนำเอาความสามารถที่ซ่อนเร้นภายในร่างกายนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมีกระบวนการ การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์จึงมีความหมายครอบคลุมไปถึงการพัฒนารายบุคคล (Individual-Development) การพัฒนาอาชีพ (Career-Development) การพัฒนาองค์กร (Organization- Development) และการพัฒนาคุณภาพชีวิตในการทำงาน (Work–Life-Balance)

          ความหมายของการพัฒนาศักยภาพตน หมายถึง การเปลี่ยนแปลงตนเองให้เหมาะสม เพื่อสนองความต้องการ และเป้าหมายของตนเอง หรือเพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่สังคมคาดหวัง การพัฒนาศักยภาพตนเอง เป็นเรื่องที่มีคุณค่า และความจำเป็น ความจริงแห่งธรรมชาติของมนุษย์ในข้อที่ว่า “ธรรมชาติของคนเป็นสัตว์ที่ฝึกฝนพัฒนาได้แก้ไขปรับปรุงได้ เมื่อพัฒนาคนขึ้นไปก็เปลี่ยนจากกิเลสไปเป็นคุณธรรมและปัญญาได้ จริยธรรมจึงไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่จำจิตฝืนใจ แต่จริยธรรมที่แท้ต้องเป็นจริยธรรมแห่งความพอใจและความสุข” (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต), 2561, น. 101) มีพุทธพจน์มากมาย ที่เน้นย้ำหลักการฝึกฝนพัฒนาตนของมนุษย์ และเร้าเตือน พร้อมทั้งส่งเสริมกำลังใจ ให้ทุกคนมุ่งมั่นในการฝึกศึกษาพัฒนาตนจนถึงที่สุด เช่น

 

วรมสฺสตรา ทนฺตา อาชานียา จ สินฺธวา
กุญฺชรา จ มหานาคา อตฺตทนฺโต ตโต วรํ

“อัสดร สินธพ อาชาไนย กุญชร และช้างหลวง ฝึกแล้วล้วนดีเลิศ

แต่คนที่ฝึกตนแล้วประเสริฐกว่า(ทั้งหมด)นั้น”

                                                                                              [ขุ.ธ. 25/322/133]

ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ.

“ในหมู่มนุษย์ ผู้ประเสริฐสุด คือคนที่ฝึกแล้ว”

                                                                                               [ขุ.ธ. 25/321/133]

 

          ความหมายโดยรวมของพุทธพจน์ ก็คือ การมองมนุษย์ว่าเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และมีความสามารถในการฝึกตัวเองได้จนถึงที่สุด แต่ต้องฝึกจึงจะเป็นอย่างนั้นได้ และกระตุ้นเตือนให้เกิดจิตสำนึกตระหนักในการที่จะต้องปฏิบัติตามหลักแห่งการศึกษาฝึกฝนพัฒนาตน ซึ่งก็คือ “มนุษย์มีศักยภาพสูง มีความสามารถที่จะศึกษาฝึกตนได้” โดยธรรมชาติชีวิตมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ตามหลักวิทยาศาสตร์ของชีวิต มนุษย์มีกลไกของการรับรู้ การพัฒนาได้มากกว่าที่ตนเองคิด การปรับปรุงตนเองให้สอดคล้องกับคนอื่น สังคม และความก้าวหน้าของการพัฒนาของสังคมทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปจึงเป็นเรื่องสำคัญ

          การฝึกฝนและการพัฒนามนุษย์ มีเป้าหมาย 3 ประการ ผ่านกระบวนการศึกษา ได้แก่ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ (สัทธรรม 3) เริ่มต้นที่สัมมาทิฐิแล้วพัฒนาที่การใช้อินทรีย์ มีปรโตโฆสะกับโยนิโสมนสิการเป็นตัวหนุนผ่านกัลยาณมิตร ส่วนวิธีการศึกษานั้นใช้หลักไตรสิกขา ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา สู่วิธีปฏิบัติ คืออริยมรรคมีองค์ 8 อันได้แก่ 1) สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบ 2) สัมมาสังกัปปะ คือ ความดำริชอบ 3) สัมมาวาจา คือ การเจรจาชอบ 4) สัมมากัมมันตะ คือ การกระทำชอบ 5) สัมมาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพชอบ 6) สัมมาวายามะ คือ ความ พยายามชอบ 7) สัมมาสติ คือ การระลึกชอบ 8) สัมมาสมาธิ คือ ความตั้งจิตมั่นชอบ (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต), 2564 น. 215) เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์คือความเป็นอริยบุคคล สามารถเป็นกัลยาณมิตรให้กับสังคมได้ และใช้หลักภาวนา 4 เป็นตัวชี้วัด ในการประเมินผล

 

แนวคิดการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ตามหลักพุทธศาสนา

 

          ในทัศนะพระพุทธศาสนาจะเน้นเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ในจุดที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ฝึกได้ เช่นในพุทธคุณว่า “อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ” แปลว่า เป็นสารถีฝึกคนที่ควรฝึก ผู้ยอดเยี่ยม (พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต), 2536, น. 34) กระตุ้นเตือนให้เกิดจิตสำนึกตระหนักในการที่จะต้องปฏิบัติตามหลักแห่งการฝึกฝนพัฒนาตน โดยระลึกอยู่เสมอว่า มนุษย์นั้นถ้าไม่ฝึกก็จะไม่ประเสริฐ แต่ถ้าฝึกแล้วจะมีขีดความสามารถสูงสุด มีศักยภาพ มีความสามารถที่จะฝึกตนได้จนถึงขั้นเป็นพุทธะ ศักยภาพนี้เรียกว่าโพธิ ซึ่งแสดงว่าจุดเน้นอยู่ที่ปัญญา

          การศึกษาตามหลักพระพุทธศาสนานั้นจะต้องมี คือโพธิศรัทธา ซึ่งถือเป็นความเชื่อพื้นฐานของมนุษย์ที่เชื่อในปัญญาที่ทำให้รู้แจ้ง มนุษยชาติจะพร้อมที่จะฝึกฝนและพัฒนาตัวเอง ส่วนคนจะรู้จักรูปกายของพระโพธิหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของความแตกต่างของแต่ละคน ดังอุปมาอุปไมยของดอกบัวทั้ง 4 เหล่า ที่อาศัยการพัฒนาศักยภาพที่สั่งสมมาตามหลักกรรม จะเห็นได้ว่า คำว่า โพธิ นั้นมุ่งหมายถึงศักยภาพที่มนุษย์สามารถใช้จนหมดสิ้น และในด้านปัญญานั้นแสดงให้เห็นว่าเสาหลักของการศึกษาคือปัญญา และศักยภาพสูงสุดนั้นรวมอยู่ในปัญญา เพราะตัวแทนหรือศูนย์กลางของการศึกษาคือปัญญา การบรรลุโพธินี้ดูเหมือนจะทำให้ผู้คนกลายเป็นพุทธะ ดังนั้นจึงต้องมีกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งเรียกว่า ลัทธิสามอย่าง เพื่อให้ชีวิตนี้เป็นคนดี ชีวิตที่ดี คือชีวิตที่เดินบนทางโพธิที่เรียกว่าอริยมรรคมีองค์แปด ส่วนวิธีการหรือกระบวนการฝึกมนุษย์ให้มีชีวิตที่ดี เรียกว่า การฝึกหรือการศึกษา ดังนั้น มรรคและสิกขาจึงมีความหมายเกือบเหมือนกัน แสดงให้เห็นว่าชีวิตมนุษย์สามารถศึกษาได้จนถึงเป้าหมายของการศึกษาที่เรียกว่า Ending celibacy ซึ่งเป็นแนวคิดที่เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ ฐานแนวคิดที่เชื่อมั่นศรัทธาในศักยภาพของมนุษย์นี้เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งที่จะสร้างสภาพเอื้อต่อการศึกษา

 

กระบวนการศึกษาของพระพุทธศาสนา

 

          พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการศึกษาที่นำเอาการศึกษาเข้ามาเป็นสาระสำคัญ เป็นเนื้อแท้ของการดำเนินชีวิต และทำให้การดำเนินชีวิตของมนุษย์เป็นการศึกษา โดยวางหลักการหรือระบบการศึกษาไว้เรียกว่า สัทธรรม 3 คือปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่เป็นแก่นของพุทธจิตวิทยา ตามทัศนะของพระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (2566, น. 11 ) ให้ทัศนะไว้ว่า “ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ส่วน คือ คือ ปริยัติ (Theory) ปฏิบัติ (Practice) และ ปฏิเวธ (Outcome) ต้องโยงหรืออ้างอิงหากันได้ ถึงจะถือว่าเป็น Family Resemblance เป็นพุทธจิตวิทยาแท้ กล่าวคือ ปริยัติ ได้แก่ คัมภีร์คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก ถ้าไม่มีพระไตรปิฎก คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็มาถึงเราไม่ได้ สุภาษิตที่รวบรวมไว้เหล่านี้เป็นคำสอนที่เราต้องเรียนรู้ ในความหมายดั้งเดิม มันเป็นทฤษฎีที่เกิดจากการปฏิเวธ และเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นผลมาจากการปฏิเสธ หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงปฏิเวธ คือผลของการปฏิบัติที่สำเร็จแล้ว จึงทรงนำประสบการณ์จากการฝึกฝนของพระองค์นั้นมาเรียบเรียงร้อยกร้องสั่งสอนพวกเรา คือทรงสั่งสอนพระธรรมวินัยไว้ คำสั่งสอนของพระองค์นั้น ก็มาเป็นปริยัติของเรา คือเป็นสิ่งที่เราต้องเล่าเรียน (พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต), 2543, น. 10) แล้วนำมาเข้าสู่ขั้นปฏิบัติการตามกระบวนการเฉพาะในพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า ปฏิบัติ เสร็จแล้ว สามารถประเมินผลได้จากปฏิเวธ ปริยัติกับปฏิบัติสองประการนี้ เป็นกระบวนการที่ต้องดำเนินไปพร้อมกัน ส่วนปฎิเวธนั้น เป็นผลสัมฤทธิ์ของการศึกษา ด้วยสามารถที่จะมองกระบวนการได้ 3 ประการคือ

          บุพภาคของการศึกษาหรือจุดเริ่มต้นของการศึกษา ดังนั้น ภารกิจสำคัญของการศึกษานี้คือช่วยให้คนมีทัศนคติที่ถูกต้อง คือ รู้จักมองสิ่งต่าง ๆ ตามที่เป็นอยู่และจัดการกับสิ่งเหล่านั้นตามควรแก่ประโยชน์ตนและสังคม ไม่ใช่ตามอำนาจ ความหลงใหลในการมองเห็นและจัดการสิ่งต่างๆ แต่การที่ปัญญาจะพัฒนาจนเข้าสู่ภาวะแห่งความสงบที่ตัณหา ญาณ และทิฏฐิจะสลายได้นั้นต้องพัฒนาตนเองเสียก่อน โดยพัฒนามาจาก

1) มนุษย์ใช้ตา หู ฯลฯ เพื่อสนองความต้องการในด้านความรู้สึกคือเอาสิ่งทั้งหลายมาบำเรอตา หู จมูก ลิ้นของตน ให้มีความสุขความเพลิดเพลินชื่นชอบใจ เรียกว่า เสพ

2) มนุษย์ใช้ตา หู ฯลฯ เพื่อสนองความต้องการในด้านความรู้คือใช้เรียนรู้ เรียกว่า ศึกษา

          ตรงนี้เป็นจุดแยกที่สำคัญ มนุษย์เริ่มพัฒนาก็ต้องรู้จักใช้ตา หู เพื่อการศึกษา ดังนั้น ย้ายจากความเป็นนักเสพคนก็จะพัฒนาความเป็นนักศึกษาขึ้นมา เพราะการศึกษาในพระพุทธศาสนามิได้มุ่งไปที่ผู้สอนแต่มุ่งที่ผู้ศึกษา คือความปรารถนาที่จะเป็นผู้สามารถรู้เอง เห็นเอง และทำได้เอง โดยมีการสร้างสัมมาทิฐิ คือความเห็นที่ถูกต้องเป็นเบื้องต้นก่อน สัมมาทิฐิ เป็นองค์ประกอบสำคัญของมรรค ในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้นของปฏิบัติธรรมหรือเป็นขั้นเริ่มแรกในระบบการศึกษาตามหลักการของพระพุทธศาสนาและเป็นธรรมที่ต้องพัฒนาให้บริสุทธิ์ชัดเจนนี้เป็นอิสระมากขึ้นตามลำดับ จนกลายเป็นการตรัสรู้ในที่สุด

หลักการสร้างสัมมาทิฐิ 2 ประการ ได้แก่

  1. ปรโตโฆสะ เสียงจากผู้อื่น การกระตุ้น หรือชักจูงจากภายนอก เช่น การสั่งสอน แนะนำการถ่ายทอด การโฆษณา คำบอกเล่า ข่าวสาร ข้อเขียน คำชี้แจง อธิบาย การเรียนรู้จากผู้อื่น เป็นองค์ประกอบภายนอก ได้แก่ปัจจัยทางสังคม
  2. โยนิโสมนสิการ การทำในใจโดยแยบคาย การใช้ความคิดถูกวิธี ความรู้จักคิด คิดเป็น หรือคิดอย่างมีระเบียบ เป็นองค์ประกอบฝ่ายภายใน ได้แก่ ปัจจัยภายในตัวบุคคล

          ปัจจัยทั้งสองอย่างนี้ย่อมสนับสนุนซึ่งกันและกัน สำหรับคนทั่วไปซึ่งมีปัญญาไม่แก่กล้าย่อมต้องอาศัยการแนะนำชักจูงจากผู้อื่น และคล้อยไปตามคำแนะนำชักจูงที่ฉลาดได้ง่าย แต่ก็จะต้องฝึกหัดให้สามารถใช้ความคิดอย่างถูกวิธีด้วยตนเองได้ด้วย จึงจะก้าวหน้าไปถึงที่สุดได้ ส่วนคนที่มีปัญญาแก่กล้าย่อมรู้จักใช้โยนิโสมนสิการได้ดีกว่า แต่กระนั้นก็อาจต้องอาศัยคำแนะนำที่ถูกต้องเป็นเครื่องนำทางในเบื้องต้น และเป็นเครื่องช่วยส่งเสริมให้ก้าวหน้าไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ในการศึกษาอบรมจึงจำกัดให้ได้ปรโตโฆสะที่มุ่งหมาย ด้วยหลักที่เรียกว่า กัลยาณมิตตตา หรือการมีกัลยาณมิตร ส่วนปัจจัยที่ 2 (โยนิโสมนสิการ) เป็นตัวหลักการใช้ปัญญา ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าควรใช้ความคิดให้ถูกต้องอูย่างไร เมื่อนำปัจจัยทั้งสองมาประกอบกัน นับว่ากัลยาณมิตร เป็นองค์ประกอบภายนอก และโยนิโสมนสิการเป็นองค์ประกอบภายใน ถ้าตรงข้ามจากนี้ คือได้ผู้ไม่เป็นกัลยาณมิตร ทำให้ได้ปรโตโฆสะที่ผิดพลาดและใช้ความคิดผิด ก็จะได้รับผลตรงข้าม คือเปืนมิจฉาทิฐิไปได้

หมวดธรรมอีกหมวดหนึ่งที่เรียกว่า รุ่งอรุณของการศึกษา เป็นต้นทุนที่ประกันว่า จะทำให้ก้าวหน้าไปในการศึกษา และชีวิตจะพัฒนาสู่ความดีงามและความสำเร็จที่สูงประเสริฐอย่างแน่นอน 7 ประการ ดังต่อไปนี้

  1. กัลยาณมิตตตา แสวงแหล่งปัญญาและแบบอย่างที่ดี
  2. สีลสัมปทา มีวินัยเป็นฐานของการพัฒนาชีวิต
  3. ฉันทสัมปทา มีจิตใจใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์
  4. อัตตสัมปทา มุ่งมั่นฝึกตนจนเต็มสุดภาวะที่ความเป็นคนจะให้ถึงได้
  5. ทิฏฐิสัมปทายึดถือหลักเหตุปัจจัยมองอะไร ๆ ตามเหตุและผล
  6. อัปปมาทสัมปทา ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท
  7. โยนิโสมนสิการสัมปทา ฉลาดคิดแยบคายให้ได้ประโยชน์และความจริง

          หลักการนี้ เป็นจุดเริ่มหรือขั้นนำสู่สิกขาเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าขั้นก่อนมรรค หมายความว่า สิกขา คือการศึกษาหรือการฝึกฝนพัฒนา มรรค คือวิถีชีวิต หรือการดำเนินชีวิตที่ดี การศึกษาขั้นนี้ ก็คือการเตรียมความพร้อมของ บุคคลที่จะเข้ารับการศึกษา ที่จะต้องสร้างขึ้นให้เป็นคุณสมบัติภายในบุคคล เมื่อบ่มเพาะหลักการพื้นฐานเช่นนี้แล้ว ก็สามารถที่จะเข้าสู่วิธีการศึกษาที่เป็นหลักการพัฒนาตนในลำดับต่อไป

วิธีการศึกษาตามกระบวนการพระพุทธศาสนา วิธีการศึกษา ก็คือการฝึกฝนให้มีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง แบ่งเป็น 3 ขั้นตอนใหญ่ ๆ เรียกว่า ไตรสิกขา คือ

  1. การฝึกฝนอบรม ในด้านความประพฤติ (Training in Higher Morality) เป็นช่องทางให้จิตใจได้พัฒนาและช่วยให้ปัญญางอกงาม เช่น เมื่อไม่เบียดเบียน พฤติกรรมที่สร้างสรรค์ก็คือเกื้อกูล ตัวอย่างเช่น พฤติกรรมในการประกอบอาชีพ ให้หาเลี้ยงชีพโดยสุจริต ไม่เบียดเบียน การพัฒนาความรู้ ความสามารถ มุ่งให้เกิดผลต่อวิชาชีพมีระเบียบวินัย ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีวะ เรียกว่า ศีล
  2. การฝึกอบรมทางจิตใจ (Training in Higher Mentality) การปลูกฝังคุณธรรมสร้างเสริมคุณภาพ สมรรถภาพและสุขภาพของจิต การมีความมั่นคงทางปัญญาจะทำงานได้ผลและพัฒนาไปได้ ตัวอย่างเช่น การมีอุดมคติในการทำงาน มีความคิดสร้างสรรค์ ทำสิ่งที่ดีงาม ไปให้ถึงจุดมุ่งหมายของชีวิต มีความพยายาม อดทน มีความรับผิดชอบ มีสติ เรียกว่า สมาธิ
  3. การฝึกฝนอบรมทางปัญญา (Training in Higher Wisdom) ปัญญาเป็นตัวแก้ปัญหา จัดปรับทั้งพฤติกรรมและจิตใจ การพัฒนาปัญญาที่รู้เข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริงเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ที่ทำให้แก้ปัญหาไปตามแนวทางเหตุผลรู้เท่าทันโลกและชีวิต จนสามารถทำจิตใจให้บริสุทธิ์หลุดพ้นจากความึดติดถือมั่นในสิ่งต่าง ๆ ดับกิเลสดับทุกข์ได้ เป็นอยู่ด้วยจิตใจอิสระผ่องใสเบิกบาน เป็นผู้ที่บรรลุจุดมุ่งหมายของการพัฒนาตน เรียกว่า ปัญญา

          หลักการศึกษา 3 ประการนี้ จัดวางขึ้นไว้ โดยอาศัยหลักปฏิบัติที่เรียกว่าวิธีแก้ปัญหาของอารยชนนี้เรียกตามคาบาลีว่า อริยมรรค แปลว่าทางดำเนินสู่ความดับทุกข์ที่ทำให้เป็นอริยชน อริยมรรคนี้มีองค์ประกอบที่เป็นเนื้อหาหรือรายละเอียดของการปฏิบัติ 8 ประการคือ

  1. ทัศนะ ความคิดเห็น แนวความคิด ความเชื่อถือ ทัศนคติ ค่านิยมต่าง ๆ ที่ดีงามถูกต้อง สอดคล้องกับความเป็นจริง เรียกว่า สัมมาทิฐิ (เห็นชอบ)
  2. ความคิด ความดำริตริตรองหรือคิดการต่าง ๆ ที่ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ไม่เศร้าหมองขุ่นมัว เป็นไปในทางสร้างสรรค์ประโยชน์สุข เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
  3. การพูดหรือการแสดงออกทางวาจา ที่สุจริตไม่ทำร้ายผู้อื่น ตรงตามความจริง มีเหตุผลเป็นไปในทางสร้างสรรค์ก่อประโยชน์ เรียกว่า สัมมาวาจา (วาจาชอบ)
  4. การประกอบอาชีพที่สุจริต เรียกว่า สัมมาอาชีวะ (อาชีพชอบ)
  5. การกระทำที่ดีงาม สุจริต เป็นไปในทางสร้างสรรค์ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันไม่ทำร้ายผู้อื่น ซึ่งสร้างความสัมพันธ์ที่ดีงาม ทำให้อยู่ร่วมกันด้วยดี ทำให้สังคมสงบสุข เรียกว่า สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
  6. การพากเพียรพยายามในทางที่ดีงามชอบธรรม เรียกว่า สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
  7. การมีสติกำกับตัว ควบคุมใจไว้ ให้อยู่กับสิ่งที่เกี่ยวข้องต้องทำในเวลานั้น ๆ มีสติที่กำกับทันต่อพฤติกรรมของร่างกาย ความรู้สึก สภาพจิตใจและความนึกคิดของตน ไม่ปล่อยให้อารมณ์ที่เย้ายวน หรือยั่วยุมาฉุดกระชากให้หลุดหลงเลื่อนลอยไปเสีย เรียกว่าสัมมาสติ (ระลึกชอบ)
  8. ความมีจิตตั้งมั่น จิตใจดำเนินอยู่ในกิจในงาน หรือในสิ่งที่กำหนด (อารมณ์ ) ได้สม่ำเสมอ แน่วแน่ เป็นอันหนึ่งอันเดียว บริสุทธิ์ผ่องใส พร้อมที่จะใช้งานทางปัญญาอย่างได้ผลดี เรียกว่า สัมมาสมาธิ (จิตตั้งมั่นชอบ)

          ฉะนั้น การดำเนินชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนาจึงต้องดำเนินให้ถูกต้อง โดยปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา อันเป็นตัวเสริมคุมให้เนื้อหาของการศึกษาให้ดำเนินไปสู่เป้าหมายของการศึกษาได้อย่างถูกต้องดีงาม การศึกษาจึงเป็นเรื่องของการดำเนินชีวิตทั้งหมด

          การศึกษาหรือการฝึกหัดอบรมทั้ง 3 ขั้นนี้ เป็นสิ่งที่จะต้องพัฒนาให้มีควบคู่กันไป จะมุ่งเน้นด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ เพราะมีองค์ประกอบที่เป็นปัจจัยส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อให้มนุษย์ได้รับการฝึกหัดอบรมตามวิธีการของหลักไตรสิกขา คือศีล สมาธิและปัญญา จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ได้รับการศึกษาที่สมบูรณ์แท้จริง (พระมหาสมเดช ศรีลางัด, 2544, น. 127) เป็นขั้นซึ่งเป็นกระบวนการพัฒนามนุษย์อย่างเต็มระบบวัตถุประสงค์ของการศึกษาในพระพุทธศาสนา จากกระบวนการศึกษาข้างต้น ทำให้กระบวนการพัฒนาชีวิตก้าวหน้าต่อไปอีก กล่าวคือเมื่อได้เรียนรู้ ก็จะทำให้แยกได้ระหว่างสิ่งที่ดีกับสิ่งที่ยังไม่ดี ระหว่างสิ่งที่สมบูรณ์กับสิ่งที่ยังไม่สมบูรณ์ ระหว่างสิ่งที่อยู่ในภาวะที่ควรจะเป็นกับสิ่งที่ยังไม่เข้าถึงภาวะที่ควรจะเป็น พอแยกได้อย่างนั้นแล้ว บุคลิกอยากให้สิ่งนั้นอยู่ในภาวะที่ดี ที่สมบูรณ์  ที่ควรจะเป็น ถึงตอนนี้ก็จะเกิดความอยาก (ฉันทะ) หรือความต้องการชนิดใหม่ คือต้องการให้มันดีให้มันสมบูรณ์ เรียกง่าย ๆ ว่าไฝ่ดี ใฝ่สร้างสรรค์  เมื่ออยากทำให้มันดี ก็พยายามที่จะทำ เมื่อทำด้วยความต้องการที่จะทำ ก็จะมีความสุขจากการกระทำและเมื่อทำให้ดีได้ก็จะยิ่งมีความสุข เรียกว่า ความสุขจาการสร้างสรรค์ตรงนี้แหละเป็นเป้าหมายของการศึกษา คือความใฝ่สร้างสรรค์ และการมีความสุขจากการทำการสร้างสรรค์ซึ่งหมายถึงการพัฒนาคนให้เกิดความต้องการทำให้ดี และการมีความสุขจากการกระทำที่สนองความต้องการนั้น (พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), 2541, น. 50)

 

การประเมินโดยภาวนา 4 เป็นเครื่องมือในการชี้วัด

 

          หลักการของ “ภาวนา 4” ซึ่งเป็นคำสอนในทางพระพุทธศาสนาไปปฏิบัติตามแล้วจะมีผลดี คือ 1) กายภาวนา คือ การเจริญกาย พัฒนาทางกาย 2) ศีลภาวนา คือ การเจริญศีล พัฒนาความประพฤติ 3) จิตตภาวนา คือ การเจริญจิต พัฒนาจิตใจ และ 4) ปัญญาภาวนา คือ การเจริญปัญญา พัฒนาปัญญา เพื่อฝึกอบรมให้บุคลากรภายในองค์กรเกิดความรู้ ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยปัญญา ผสานร่วมกับแนวคิดทางตะวันตกในการพัฒนาบุคลากร โดยการส่งเสริมให้เกิดความรู้ ความคิด ความสามารถ และทักษะเพิ่มขึ้น ให้มีความเป็นเลิศด้านพฤติกรรม ด้วยหลักการฝึกอบรมการศึกษา และการพัฒนาโดยมุ่งเน้นให้บุคลากรมีความรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร ใช้หลักธรรมพัฒนาจิตใจ และปัญญา ส่งผลให้การทำงานเกิดความสามัคคี เพราะบรรยายกาศ ในการทำงานที่มีความสดชื่น เป็นกัลยาณมิตร ทำให้เกิดสมาธิจดจ่อ มุ่งมั่น อดทนในการทำงานเห็นคุณค่าของงานมากกว่าประโยชน์ส่วนตน

          ภาวนา 4 คือ การเจริญ, การทำให้เป็นให้มีขึ้น, การฝึกอบรม, การพัฒนา เป็นหลักธรรมที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้พัฒนาตนให้เป็นคนเก่ง คิดเก่ง ทำจนเกิดความสำเร็จนั้น ประกอบด้วยสาระสำคัญ ดังนี้ (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), 2559)

1) กายภาวนา คือการเจริญกาย, พัฒนากาย, การฝึกอบรมกาย การปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นในทางที่เป็นคุณ มิให้เกิดโทษ ให้กุศลธรรมงอกงาม ให้อกุศลธรรมเสื่อมสูญ)

2) สีลภาวนา คือ การเจริญศีล, พัฒนาความประพฤติ, การฝึกอบรมศีล ให้ตั้งอยู่ในระเบียบวินัย ไม่เบียดเบียนหรือก่อความเดือดร้อนเสียหาย อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยดี เกื้อกูลแก่กัน

3) จิตภาวนา (การเจริญจิต, พัฒนาจิต, การฝึกอบรมจิตใจ ให้เข้มแข็งมั่นคงเจริญงอกงามด้วยคุณธรรมทั้งหลาย เช่น มีเมตตากรุณา ขยันหมั่นเพียร อดทนมีสมาธิ และสดชื่น เบิกบาน เป็นสุขผ่องใส เป็นต้น

4) ปัญญาภาวนา (การเจริญปัญญา, พัฒนาปัญญา, การฝึกอบรมปัญญา ให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง รู้เท่าทันเห็นโลกและชีวิตตามสภาวะ สามารถทำจิตใจให้เป็นอิสระ ทำตนให้บริสุทธิ์จากกิเลสและปลอดพ้นจากความทุกข์ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยปัญญา

          โดยนัยนี้ คนที่บรรลุวัตถุประสงค์ตามระบบการศึกษาในพระพุทธศาสนาแล้วก็จะพ้นจากอำนาจครอบงำของความรู้สึกฝ่ายตัณหา ขึ้นมาสู่ความปลอดโปร่งชื่นบานแห่งความรู้ความเข้าใจฝ่ายปัญญา และสามารถดำรงตนในฐานะกัลยาณมิตรให้กับสังคมแห่งการศึกษานั้นต่อไปได้ ทั้งหมดนี้ คือกระบวนการแห่งการศึกษาในพระพุทธศาสนาที่มีระบบรู้จัก (ปริยัติ) รู้จริง (ปฏิบัติ) รู้แจ้งจบ (ปฏิเวธ) อันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เราเรียกว่าพระสัทธรรม

 

ความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ตามหลักพุทธศาสนา

 

          การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์สำหรับผู้มุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงพัฒนาตนเอง โดยมีความเชื่อหรือแนวคิดพื้นฐานในการพัฒนาตนที่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมให้การพัฒนาตนเองประสบความสำเร็จ มีแนวคิดที่สำคัญดังนี้ (นิตย์ สัมมาพันธ์, 2545)

1) มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพมีคุณค่าอยู่ในตัวเองทำให้สามารถฝึกหัดและพัฒนาตนได้ในเกือบ    ทุกเรื่อง

2) ไม่มีบุคคลใดที่มีความสมบูรณ์พร้อมทุกด้าน จนไม่จำเป็นต้องพัฒนาในเรื่องใด ๆ อีก

3) แม้บุคคลจะเป็นผู้ที่รู้จักตนเองได้ดีที่สุด แต่ก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนตนเองได้ในบางเรื่อง ยังต้องมีความพยายาม และอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่นในการพัฒนาตน การควบคุมความคิด ความรู้สึก และการกระทำของตนเอง มีความสำคัญเท่ากับการควบคุมสิ่งแวดล้อมภายนอก

4) อุปสรรคสำคัญของการปรับปรุงและพัฒนาตนเองคือ การที่บุคคลมีความคิดติดยึด ไม่ยอมปรับเปลี่ยนวิธีคิดและการกระทำ จึงไม่ยอมสร้างนิสัยใหม่ หรือฝึกทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็นต่อตนเอง

5) การปรับปรุงและการพัฒนาตนเองสามารถดำเนินการได้ทุกเวลาและอย่างต่อเนื่อง เมื่อพบปัญหาหรือข้อบกพร่องเกี่ยวกับตนเอง

 

แนวทางการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ผ่านแก่นพุทธจิตวิทยา

 

          มนุษย์ที่มีความคิดแบบเติบโต คือรู้จุดบกพร่องของตน หรืออยากพัฒนาตนไปในทิศทางที่ดีขึ้น   มีจุดมุ่งหมายในชีวิต มีแรงกระตุ้นทั้งปัจจัยภายในและภายนอก เช่น ต้องการความก้าวหน้าในชีวิต ต้องการประสบความสำเร็จในการเรียนหรือการทำงาน ต้องการความมั่นคง อยากให้ครอบครัวมีความสุข ย่อมหมายถึงการคิดดี และมีวิธีการที่ถูกต้อง คือ (1) สัมมาทิฏฐิ (2) ปรโตโฆสะ คือ การกระตุ้น หรือชักจูงจากภายนอก เช่น การสั่งสอน แนะนำการถ่ายทอด การโฆษณา คำบอกเล่า ข่าวสาร ข้อเขียน คำชี้แจง อธิบาย การเรียนรู้จากผู้อื่น เป็นองค์ประกอบภายนอก ได้แก่ ปัจจัยทางสังคม (3) โยนิโสมนสิการ การใช้ความคิดถูกวิธี ความรู้จักคิด คิดเป็น หรือคิดอย่างมีระเบียบ และ (4) กัลยาณมิตร เพื่อนที่คอยช่วยเหลือ สนับสนุน โดยผ่านกระบวนการศึกษา คือ ปริยัติ การศึกษาเล่าเรียน หาความรู้เพิ่มเติม พัฒนาความรู้ เพื่อขยายความรู้ในการทำงาน หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่อาจเป็นอาชีพใหม่ในอนาคต ปฏิบัติ เมื่อเรียนรู้แล้วควรฝึก ควรหมั่นเพียรที่จะลองทำ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ปฏิเวท คือการเรียนรู้และฝึกฝนจนสามารถประสบความสำเร็จได้ ซึ่งทั้ง 3 นี้คือแก่นพุทธจิตวิทยา เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ส่วน คือ คือ ปริยัติ (Theory) ปฏิบัติ (Practice) และปฏิเวธ (Outcome) เมื่อนำมาประยุกต์ใช้จะสร้างประโยชน์ต่อตนเองและสังคม โดยใช้วิธีการศึกษา คือไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา พัฒนาไปพร้อม ๆ กัน โดยใช้แนวทางคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นแสงนำทางในการดำเนินชีวิต (มรรคมีองค์ 8) เช่น สัมมาอาชีวะ คือ มีอาชีพสุจริต สัมมาวายามะ มีความพยายาม โดยประเมินผ่านตัวชี้วัด คือ กายภาวนา สีลภาวนา จิตภาวนา และปัญญาภาวนา (ภาวนา 4) จึงถือได้ว่าเป็นการพัฒนากาย ศีล จิต ปัญญา ได้อย่างสมบูรณ์ โดยผู้เขียนได้สร้างรูปแบบการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ผ่านแก่นพุทธจิตวิทยา ไว้ดังนี้

 

 

ภาพที่ 3 กระบวนการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ผ่านแก่นพุทธจิตวิทยา

 

บทสรุป

 

          แนวคิดที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพ มีคุณค่าในตนเอง สามารถฝึกหัดได้ซึ่งสอดคล้องตามแนวคิดและทฤษฎีทางจิตวิทยาของมาสโลว์ที่มีความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนโดยพื้นฐานแล้วมีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองได้ และหลักทางพุทธศาสนาที่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐได้ด้วยการฝึกฝน ดั่งพุทธพจน์ที่ว่า ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ และการฝึกฝนคน พัฒนาคนให้มีทั้งปัญญา และความประพฤติที่ถูกต้องดีงาม การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพมนุษย์ต้องอาศัยกระบวนการทางปัญญา (Cognitive Process) เข้ามามีอิทธิพลในการเรียนรู้ มนุษย์ที่มีหลักความคิดแบบเติบโต คือ ผู้ที่รู้จักตนเองแต่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองได้ในบางเรื่อง (สัมมาทิฏฐิ) ยังต้องมีความพยายามและอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่นซึ่งก็คือ (ปรโตโฆษะ, กัลยาณมิตร) เมื่อพบปัญหาข้อบกพร่องของตนเองจะต้องพยามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จะมีความพร้อมที่จะดึงพลังงานภายในหรือศักยภาพที่มีอยู่ในตัวและนำออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ (โยนิโสมนสิการ) ซึ่งสามารถนำกระบวนการแห่งการศึกษาในพระพุทธศาสนาที่มีระบบรู้จัก คือการเรียนรู้ศึกษา มีความขยันหมั่นเพียร (ปริยัติ) จึงเปรียบเหมือนแผนที่ลายแทงแสวงหาขุมทรัพย์ รู้จริง คือการนำหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา มาบูรณาการปฏิบัติอย่างเป็นระบบ (ปฏิบัติ) จึงเปรียบเหมือนการเดินทางแสวงหาขุมทรัพย์ตามแผนที่ลายแทง รู้แจ้งจบ คือเมื่อเรียนรู้และนำมาประยุกต์กับการเรียน การทำงาน ก็จะส่งผลให้เราสำเร็จตามเป้าหมายของชีวิต (ปฏิเวธ) จึงเปรียบเหมือนการพบขุมทรัพย์ การพัฒนาศักยภาพตนเองทั้งด้านกาย จิตใจ และปัญญา (ไรสิกขา) ไปพร้อม ๆ กัน โดยใช้แนวทางคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นแสงนำทางในการดำเนินชีวิต (มรรคมีองค์ 8) จึงถือได้ว่าเป็นการพัฒนากาย ศีล จิต ปัญญา (ภาวนา 4) ได้อย่างสมบูรณ์

 

รายการอ้างอิง

 

ณัฏฐพันธ์ เขจรนันทน์. (2545). การจัดการทรัพยากรมนุษย์. ซีเอ็ดยูเคชั่น.

 

ทิศนา แขมมณี. (2560). ศาสตร์การสอน: องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ (พิมพ์ครั้งที่ 8). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

นิตย์ สัมมาพันธ์. (2545). ภาวะผู้นำ : พลังขับเคลื่อนองค์กรสู่ความเป็นเลิศ, อินโนกราฟฟิกส์.

 

พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต). (2536). จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร (พิมพ์ครั้งที่ 2). มูลนิธิพุทธธรรม.

 

_________. (2541). การศึกษาทางเลือก : สู่วิวัฒน์หรือวิบัติ ในยุคโลกไร้พรมแดน (พิมพ์ครั้งที่ 2). โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

 

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต). (2549). สุขภาวะองค์รวมแนวพุทธ, วัดญาณเวศกวัน.

 

พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตโต). (2566). แก่นพุทธจิตวิทยา. โรงพิมพ์เชนปริ้น.

 

พระมหาสมเดช ศรีลางัด. (2544) การศึกษาเปรียบเทียบแนวความคิดทางการปกครองของพระพุทธศาสนาและของอริสโตเติล. [วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ไม่ได้ตีพิมพ์]. มหาวิทยาลัยมหิดล.

 

พระราชวิทธิโมลี (ทองดี สุรเตโช). (2525). หลักธรรมสำหรับการพัฒนาสังคม. โรงพิมพ์การศาสนา.

 

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

 

รัตนะ ปัญญาภา. (2553). เอกสารประกอบการสอนรายวิชาพุทธธรรม. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี.

 

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต). (2561). การพัฒนาที่ยั่งยืน (พิมพ์ครั้งที่ 21). ผลิธัมม์.

 

________. (2564). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม (พิมพ์ครั้งที่ 43). สหธรรมมิก.

 

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2554). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. https:// dictionary.orst.go.th/.

 

สุกัญญา รัศมีธรรมโชติ. (2547). Competency: เครื่องมือการบริหารที่ปฏิเสธไม่ได้. วารสาร Productivity, 9(53), 48.

 

สุรางค์ โค้วตระกูล. (2548). จิตวิทยาการศึกษา. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

Blume, B. D., Ford, J. K., Baldwin, T. T., & Huang, J. L. (2010). Transfer of training: A meta-analytic review. Journal of management, 36(4), 1065-1105.

 

Dweck C. (2017). Mindset – Updated Edition: Changing the way you think to fulfil your potential. Little, Brown Book Group.

 

Cherry K. (2022). Maslow’s Hierarchy of Needs. https://www.verywellmind.com/what-is-maslows-hierarchy-of-needs-4136760.

 

Maslow, A. (1954). Motivation and Personality. Harper and Row.

 

Seligman, M. (2006). Learned optimism: How to change your mind and your life. Vintage.

 

._________ (2013). Authentic Happiness: Using the New Positive Psychology to Realize Your Potential for Lasting Fulfillment. Atria Paperback.