Self-development learning to Be a Buddhist Psychology Consultant
เมธาวี อุดมธรรมานุภาพ
รศ. ดร. ประจำหลักสูตรวิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
บทนำ
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแนวทางการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองสู่การเป็นผู้ให้การปรึกษาแนวพุทธจิตวิทยา โดยเน้นการเรียนรู้และการปฏิบัติเพื่อนำตนไปสู่ความพอดีหรือการมีดุลยภาพของชีวิต มีความสัมพันธ์อันกลมกลืนระหว่างการดำเนินชีวิตของบุคคลกับสภาพแวดล้อม (มัชฌิมาปฏิปทา) และมุ่งการกระทำตนให้มีความสุข โดยการฝึกจิตให้เป็นไปในทางบวก รู้เท่าทันตนเอง เข้าใจตนเอง มีความเมตตากรุณา รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น โดยมีหลักสำคัญทางพุทธศาสนาในการพัฒนาตน คือ ทมะ สิกขา และภาวนา
การนำหลักพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในการให้คำปรึกษา เพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีความทุกข์ใจหรืออยู่ในสภาวะวิกฤติ ให้มีสติ สมาธิ และสามารถควบคุมตนเองให้มีใจที่สงบนิ่ง ผ่อนคลาย พร้อมพิจารณาเรื่องราวที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงของชีวิต เข้าใจการเกิดขึ้นของความทุกข์ การรับฟังอย่างเข้าใจด้วยความเมตตาและกรุณา มีความเป็นกัลยาณมิตร เพื่อให้ผู้รับการปรึกษาเข้าใจทุกข์ที่เกิดขึ้นกับตนเอง มีการคิดแบบโยนิโสมนสิการ สามารถพัฒนาจิตและปัญญาคลี่คลายทุกข์ สามารถจัดการปัญหาได้ด้วยตนเอง และพัฒนาตนไปสู่หนทางที่ดีงามและเป็นประโยชน์ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของผู้ให้การปรึกษาแนวพุทธจิตวิทยา โดยบทความนี้นำเสนอขอบเขตเนื้อหาการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองสู่การเป็นผู้ให้การปรึกษาแนวพุทธจิตวิทยา 2 ด้าน ประกอบด้วย 1) แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับผู้ให้การปรึกษาแนวพุทธจิตวิทยา และ 2) แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตน
แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับผู้ให้การปรึกษาแนวพุทธจิตวิทยา
การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา โดยประมวลออกมาเป็นทักษะชีวิต คือ ทักษะที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตเพื่อให้เกิดความสุข ความสำเร็จเป็นประโยชน์ซึ่งได้แก่ ความตระหนักรู้ในตนเอง ความรับผิดชอบและเชื่อมั่นในตนเอง ความสามารถจัดการกับอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม รู้สาเหตุและวิธีการคลายความเครียด ความสามารถคิดวิเคราะห์และตัดสินใจจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นได้ การปรึกษาเป็นกระบวนการที่ช่วยให้ผู้รับการปรึกษามีทักษะชีวิต สามารถช่วยเหลือตนเองและนำตนเองได้ สามารถการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น
ความหมายของการปรึกษาเชิงงจิตวิทยา
สมาคมจิตวิทยาแห่งอเมริกา (The American Association, Division of Counseling Psychology, Committee on Definition, 1956, as cited in Thomson, Rudolph & Henderson, 2004) กำหนดความ หมายของการปรึกษาทางจิตวิทยาว่า เป็นกระบวนการช่วยเหลือบุคคลให้เอาชนะอุปสรรค เพื่อการเจริญเติบโตส่วนบุคคล ด้วยการเผชิญกับอุปสรรคและพัฒนาศักยภาพในตัวบุคคล
Burks and Stefflre (1979, as cited in George & Cristiani, 1995) ได้ให้ความหมายของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาว่า หมายถึง กระบวนการให้ความช่วยเหลือที่เกิดจากสัมพันธภาพทางวิชาชีพของบุคคลอย่างน้อย 2 คน คือ ผู้ให้การปรึกษาและผู้รับการปรึกษา โดยผู้ให้การปรึกษาควรมีลักษณะส่วนบุคคลที่เอื้อต่อการปรึกษาเชิงจิตวิทยา มีความรู้และทักษะในการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้รับการปรึกษา ซึ่งเป็นผู้ที่กำลังประสบความยุ่งยากใจหรือมีความทุกข์และต้องการความช่วยเหลือให้เข้าใจตนเอง เข้าใจสิ่งแวดล้อม มีทักษะในการตัดสินใจ และหาทางออกเพื่อลดหรือขจัดความทุกข์ ความยุ่งยากใจด้วยตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถพัฒนาตนเองไปสู่เป้าหมายที่ต้องการด้วยการสนทนา
สรุปได้ว่า การปรึกษาเชิงจิตวิทยาเป็นกระบวนการให้ความช่วยเหลือบุคคลด้วยการสนทนาหรือการพูดคุยกันอย่างมเป้าหมาย โดยผู้ให้การปรึกษาจะเป็นผู้ช่วยสร้างบรรยากาศของสัมพันธภาพที่ดี ตลอดจนใช้ทักษะ ขั้นตอน และทฤษฎีของการปรึกษาเชิงจิตวิทยา เพื่อให้ผู้มีปัญหาหรือผู้รับการปรึกษามีความรู้สึกอบอุ่นใจว่าได้รับการยอมรับ และเกิดความรู้สึกไว้วางใจ พร้อมที่จะเปิดเผยความรู้สึก หรือปัญหาของตน เกิดการเรียนรู้สาเหตุของปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่จนสามารถตัดสินใจและแก้ไขปัญหาในเรื่องต่าง ๆ ได้ด้วยตนเองอย่างเหมาะสม
ความหมายการให้การปรึกษา
มอริสและเมสโต (Morris & Maisto, 2005) ได้อธิบายความหมายของการให้การปรึกษาพร้อมกับเปรียบเทียบกับจิตวิทยาคลินิกไว้ดังนี้ จิตวิทยาการให้การปรึกษาเป็นบริการที่ดำเนินการโดยในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น นักเรียนระดับมัธยมศึกษาที่ต้องการศึกษาต่อ นักศึกษาที่มีปัญหาการปรับตัว หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการเลือกอาชีพ บางครั้งอาจเป็นปัญหาที่ด้านสัมพันธภาพ ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่าง
คู่สมรส ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างลูกกับพ่อแม่ เป็นต้น แต่ถ้าบุคคลมีปัญหาด้านจิตใจหรือสุขภาพจิตแล้ว มักได้รับการวินิจฉัยและเยียวยา บำบัดรักษาจากนักจิตบำบัดในฐานะผู้ป่วยในคลินิก หรือโรงพยาบาลนักจิตวิทยาการปรึกษา จัดขึ้นในสถานศึกษาสำหรับบุคคลปกติที่มีปัญหาการปรับตัวซึ่งเกิดขึ้น
แกรนท์ (Grant, 2005) ได้กล่าวถึงความหมายของการให้การปรึกษาและการบำบัดทางจิตในบทความต่อที่ประชุมผู้ศึกษาและฝึกฝนการให้การปรึกษาและจิตบำบัด ได้ให้ความหมายของการให้การปรึกษาและจิตบำบัดว่าต่างเป็นกิจกรรมทางวิชาชีพซึ่งใช้ประโยชน์จากสัมพันธภาพระหว่างบุคคลเพื่อพัฒนาความเข้าใจตนเองและสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาโดยนักจิตบำบัดหรือนักจิตวิทยาการปรึกษา บนพื้นฐานของสัมพันธภาพที่มีหลักเกณฑ์ซึ่งเอื้ออำนวยให้บุคคลแต่ละคนสามารถสำรวจธรรมชาติของบุคคลแก้ไขปัญหาทางจิตใจภายในตนเองและแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น ผู้ให้การปรึกษาต้องเป็นผู้ที่ได้รับการฝึกฝนอย่างลึกซึ้ง มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ มีจรรยาบรรณในวิชาชีพ ระมัดระวังอคติในฐานะนักจิตวิทยาการปรึกษาและจิตบำบัด มีความสามารถในการเยียวยาด้านจิตใจด้วยความเข้าใจในบริบทที่ผู้รับการปรึกษาดำรงอยู่ เช่น วัฒนธรรมและสังคม ศาสนา จริยธรรม สถานภาพทางสังคม อายุและเพศตลอดจนชาติพันธุ์ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อผู้รับการปรึกษา
จุดมุ่งหมายของการให้การปรึกษา
การให้การปรึกษามีประโยชน์ทั้งในด้านการป้องกันและพัฒนาบุคคล เป็นบทบาทโดยทั่วไปของนักจิตวิทยาการให้การปรึกษาที่มีวัตถุประสงค์จะช่วยเหลือบุคคลได้ค้นพบและพัฒนาศักยภาพของตน เช่น ทักษะการสื่อสาร ทักษะการแสดงออกอย่างเหมาะสม การพัฒนาสัมพันธภาพระหว่างบุคคล เป็นต้น ผู้เรียบเรียงได้รวบรวมจุดมุ่งหมายของการให้คำปรึกษาที่นักจิตวิทยาการให้การปรึกษาหลายท่านได้เสนอไว้ ดังนี้
เกลโซและเฟรทซ (Gelso & Fretz, 2001) มีความเห็นว่า การให้การปรึกษามีจุดมุ่งหมายทั้งป้องกันและปรับปรุงแก้ไข ดังนี้
ด้านการป้องกัน เป็นสิ่งที่การให้การปรึกษาควรทำก่อน เพราะเป็นการสกัดกั้นไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะเกิดความยุ่งยากขึ้นในอนาคต การป้องกันนี้จะมุ่งเน้นไปที่การจัดเป็นโครงการทั้งวงการการศึกษา วงการธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมทั้งบริษัท โดยการแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่ให้การปรึกษา อาจตั้งทีมงานคณะที่ปรึกษา จัดกิจกรรมเพื่อการป้องกันจะกระทำในรูปแบบที่แตกต่างกัน ลักษณะการจัดจะเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยเหลือผู้รับการปรึกษา โดยการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม สัมพันธภาพระหว่างบุคคลและส่วนบุคคล เพื่อให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด และควรเริ่มจากป้องกันก่อนปรับปรุงแก้ไข
ด้านการปรับปรุงแก้ไข เป็นการช่วยเหลือเพื่อปรับปรุงแก้ไข เช่น การให้การปรึกษาเกี่ยวกับชีวิตแต่งงาน ชีวิตคู่สมรส อาจการให้บริการเป็นรายบุคคล หรือให้บริการเป็นคู่หรือเป็นกลุ่ม อาจเป็นการให้การปรึกษาหรือบางกรณีอาจเป็นการบำบัดรักษาทางจิตเมื่อเผชิญปัญหาขั้นวิกฤต เป็นบริการซึ่งจัดให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบางอย่าง ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เฉพาะเจาะจงหรือปัญหาทั่วไป เป็นปัญหาบุคลิกภาพทั่วไปหรือปัญหาที่ลึกซึ้ง ซึ่งอาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวหรือมีอยู่เป็นเวลานาน
จากที่กล่าวมาทั้งหมดทำให้ทราบถึงจุดมุ่งหมายของการให้การปรึกษา อย่างชัดเจน ดังนี้
- ช่วยให้บุคคลพัฒนาตนเองไปสู่การประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นกระบวนการที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ สร้างเสริมคุณสมบัติที่เอื้อต่อการพัฒนาตนเองพร้อมกับช่วยป้องกันปัญหา ช่วยให้รู้จักตนเองและเข้าใจตนเองได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ค้นพบทักษะและความสามารถของตน สามารถพัฒนาศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่ในแต่ละด้าน เพื่อให้นำไปใช้ได้อย่างเหมาะสมในการดำรงชีวิต และสิ่งแวดล้อมของตนเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งแก่ตนเองและสังคม รู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบของตนสามารถปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสมกับงานตามขั้นพัฒนาการ เปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ไปเป็นพฤติกรรมที่พึงประสงค์ทั้งในด้านส่วนตัว การศึกษา อาชีพ เช่น การปรับตัวในวัยรุ่น การเรียนที่มีประสิทธิภาพ การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพ การวางแผนชีวิต การปรับตัวกับคู่สมรส การปรับตัวเมื่อเป็นพ่อแม่ การปรับตัวในวัยทอง การปรับตัวเมื่อเกษียณ เป็นต้น
- ช่วยให้บุคคลสามารถเผชิญปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีความรู้ ความกระจ่างขึ้นในใจ ทำให้มองเห็นลู่ทางในการแก้ปัญหาต่าง ๆ เช่น การตั้งครรภ์ของวัยรุ่น การถูกละเมิดทางเพศ การป่วยเป็นเอดส์ การติดยาเสพติด การสูญเสียบุคคลในครอบครัว การตกงานหรือถูกเลิกจ้าง การเปลี่ยนงาน การเผชิญวิกฤติการณ์ทางสังคมหรือเศรษฐกิจ เป็นต้น การให้การปรึกษาช่วยให้ผู้รับการปรึกษายอมรับความเป็นจริงจากการเปลี่ยนแปลงหรือการสูญเสีย ปรับเปลี่ยนความคิด ความรู้สึกที่มีต่อโลก ต่อตนเองและผู้อื่น ปรับตัว และดำรงชีวิตอย่างมีความสุข รู้จักอดทน ยอมรับต่อสถานการณ์ตามความเป็นจริง และเต็มใจเผชิญกับปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ท้อแท้สิ้นหวัง เมื่อเกิดอุปสรรคในการดำเนินชีวิต เกิดความเจริญงอกงามและพัฒนาไปจนถึงขีดสุด ในแต่ละด้านตามศักยภาพของตน
ดังนั้น การให้การปรึกษาจึงเป็นกระบวนการช่วยเหลือให้ผู้รับการปรึกษา ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเมื่อประสบปัญหา เพราะทราบว่ามีผู้ยินดีและเต็มใจช่วยเหลือสามารถรู้จักและเข้าใจตนเองตามความเป็นจริง สามารถนำปัญญาที่ตนมีอยู่ทั้งหมดมาใช้แก้ปัญหาแทนที่จะใช้แต่อารมณ์ เกิดความกระจ่าง เห็นลู่ทางในการแก้ปัญหา เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เหมาะสมโดยความสมัครใจ สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีขึ้น และดำรงชีวิตอย่างมีความสุข
การพัฒนาตนเป็นผู้ให้การปรึกษาที่มีประสิทธิภาพ
ผู้ที่ต้องการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ให้การปรึกษาที่มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฎีการให้คำปรึกษา มีเจตคติที่ดีต่อการให้คำปรึกษา พร้อม ๆ กับมีความชำนาญในการให้คำปรึกษา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาตนเองให้มีความสมบูรณ์ ครอบคลุมการเรียนรู้ทั้ง 3 ด้าน ทั้งทางพุทธิพิสัย (พฤติกรรมด้านสมอง ความคิด ความเข้าใจ) จิตพิสัย (พฤติกรรมด้านจิตใจ) และทักษะพิสัย (พฤติกรรมด้านการปฏิบัติ)
ตารางที่ 1 แสดงพุทธิพิสัย จิตพิสัย ทักษะพิสัย
พุทธพิสัย | จิตพิสัย | ทักษะพิสัย |
1.มีความรู้ความเข้าใจ
2.ประยุกต์ 3.วิเคราะห์ 4.สังเคราะห์ 5.ประเมินผล |
1.ให้ความสนใจ
2.ตอบสนอง 3.เห็นคุณค่า 4.แสดงออกตามค่านิยม |
1.รับรู้
2.ทำได้ 3.ทำอย่างคล่องแคล่ว |
จากรูปแบบความสัมพันธ์ของพฤติกรรมการเรียนรู้ทั้ง 3 ด้านนี้สอดคล้องกับทฤษฎี KAP ของ ชาร์ท (Schwartz, 1975, pp. 28–31) ซึ่งได้อธิบายให้เห็นรูปแบบของความสัมพันธ์ของพฤติกรรม ดังภาพที่ 1
ภาพที่ 1 บูรณาการของพุทธพิสัย ทักษะพิสัย และจิตพิสัย
ที่มา: พัฒนาจากแนวคิด Bloom, B. (2021). Bloom’s Taxonomy of Educational Objectives. https://educarepk.com/blooms-taxonomy-of-educational-objectives.html
คุณสมบัติของผู้ให้การปรึกษา
ผู้ให้การปรึกษา คือผู้ที่ทำหน้าที่ อำนวยความสะดวก เอื้ออาทร ช่วยเหลือ และแนะแนวทางให้เกิดกระบวนการช่วยเหลือ คือ การช่วยให้ผู้รับการปรึกษาสามารถ สำรวจตนเอง เข้าใจตนเอง ปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม จัดการกับความคับข้องใจ ไม่สบายใจได้ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ปรับตัวได้ ดำเนินชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข
ผู้ให้การปรึกษาต้องผ่านการฝึกเทคนิคการให้การปรึกษา เพื่อสามารถนำกระบวนการและเทคนิคต่าง ๆ มาใช้ในการให้การปรึกษา ซึ่งหากผู้รับการปรึกษามีปัญหาไม่ซับซ้อน ผู้ให้การปรึกษาก็สามารถใช้เทคนิคพื้นฐานในการให้การปรึกษาช่วยเหลือได้ แต่หากเป็นปัญหาที่ซับซ้อน ผู้ให้การปรึกษาจะเป็นผู้เลือกแนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ ซึ่งมีหลากหลายทฤษฎีมาใช้ตามลักษณะปัญหาที่เกิดขึ้นและความเชี่ยวชาญของตนเอง
คุณสมบัติของผู้ให้การปรึกษา เรียกว่า กัลยาณมิตร หมายถึง บุคคลที่มีความพรั่งพร้อมแห่งคุณธรรม ความดีงาม เป็นผู้ห่างไกลจากสิ่งอันเป็นข้าศึกในการพัฒนาศักยภาพชีวิต และตั้งตนอยู่อย่างเหมาะสมแห่งการเคารพ รวมทั้งยังเป็นผู้สร้างสรรค์ประโยชน์สุข และคุณธรรมความดีงามต่าง ๆ ให้แก่บุคคลรอบข้างด้วยความเข้าใจจนเป็นแรงเหนี่ยวนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาไปสู่ประโยชน์ และความสุขในระดับต่าง ๆ โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน ตลอดจนถึงสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลส่งเสริมการพัฒนาชีวิตก็เป็นดั่งกัลยาณมิตรด้วยเช่นกัน
ฉะนั้น คุณสมบัติของผู้ให้การปรึกษา พึงมีคุณธรรมของกัลยาณมิตร 7 ประการคือ น่ารัก (ปิโย) น่าเคารพนับถือ (ครุ) น่ายกย่อง (ภาวนีโย) มีทักษะในการสื่อสาร (วตฺตา จ) อดทนต่อการรับฟัง (วจนกฺขโม) มีทักษะในการให้คำปรึกษาที่ลึกซึ้งถูกต้อง (คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา) ไม่แนะนำในสิ่งที่ไม่ใช่ฐานะ (โน จฏฺฐาเน นิโยชเย) ทั้งนี้ซึ่งสอดคล้องกับพุทธศาสนา (สมเด็จพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต), 2555)
ขั้นตอนการนำหลักกัลยาณมิตตธรรมมาใช้ คือ ขั้นที่ 1) การเป็นกัลยาณมิตร โดยให้สมาชิกพูดถึงความทุกข์ใจ ขั้นที่ 2) การค้นหาเหตุแห่งปัญหา และสอนเรื่องสาเหตุของความทุกข์ใจและการดับทุกข์ตามแนวพุทธศาสนา และใช้รูปภาพที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอาการทางกายที่แสดงออกความทุกข์ใจ ขั้นที่ 3) การวางแผน แก้ไขปัญหา และฝึกปฏิบัติการเจริญสติเน้นการเข้าใจกฎธรรมชาติ คือ ทุกสิ่งอย่างในโลกนี้มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย ไม่เที่ยง ความทุกข์เกิดจากการที่บุคคลไม่สามารถยอมรับการเปลี่ยนแปลง ยึดติดอยู่กับความคิดความคาดหวังของตน ขั้นที่ 4) การสรุป และเน้นให้ผู้ป่วยฝึกการเจริญสติอย่างต่อเนื่องที่บ้าน อย่างน้อยวันละ30 นาที (สมพร รุ่งเรืองกลกิจ, 2557)
อาภา จันทรสกุล (2545, น. 120-122) กล่าวว่า ผู้ให้การปรึกษาตามแนวพุทธศาสตร์ต้องเป็นผู้มีลักษณะดังนี้
-
- เป็นกัลยาณมิตรกับผู้รับคำปรึกษา สอดคล้องกับงานวิจัยของ ประทีป พืชทองหลาง (2561, น. 89-94) ที่กล่าวว่า มีลักษณะ 1) เพียบพร้อมด้วยปัญญา 2) ปฏิปทาน่าเลื่อมใส 3) ผู้นำจิตใจแห่งการภาวนา 4) จิตอาสาเกื้อกูล 5) เกื้อหนุนความคิด 6) ร่วมจิตแก้ปัญหา 7) มุ่งมั่นพัฒนาตน 8) ปฏิบัติตามทางสายกลาง 9) มีสติเป็นที่ตั้ง 10) แนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา ประโยชน์ และหนทางที่จะเป็นไปได้มากที่สุดในทางถูกต้องและดีงาม 11) มีกระบวนการคิดอย่างแยบคายด้วยโยนิโสมนสิการ 12) ไม่ดื้อรั้นที่จะเอาความคิดเห็นของตนว่าเป็นความจริง
- เป็นผู้มีพรหมวิหารธรรมภายในจิตใจ คือ เปืนผู้มีลักษณะผู้มีพรหมวิหาร 4 เป็นพื้นฐานจิตใจ ตามที่พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) 2543, น. 25-55)
- เป็นผู้แสดงออกภายนอกด้วยลักษณะของสังคหวัตถุธรรม 4 ประการ พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) 2543, น. 25-55)
พระครูภาวนาวีรานุสิฐ วิ. (2560) ได้ทำการวิจัยเรื่องกระบวนการให้การปรึกษาเชิงพุทธจิตวิทยา พบว่า กระบวนการให้การปรึกษาเชิงพุทธจิตวิทยามีเป้าหมายหลัก คือ ช่วยเหลือผู้ที่มาขอรับการปรึกษาให้สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง เข้าใจ และยอมรับตนเองในด้านต่าง ๆ ตลอดจนตระหนักถึงความต้องการของตนเอง จึงมีความสอดคล้องกับพุทธวิธีที่พระพุทธองค์ทรงมุ่งหวัง คือ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ของผู้เข้ารับคำปรึกษา เช่น ด้านสุขภาพจิต ด้านอารมณ์ ด้านพฤติกรรม เป็นต้น พระมหาสุเทพ สุทฺธิญาโณ (ธนิกกุล) (2561) ศึกษาวิจัยเรื่อง โปรแกรมพัฒนาสมรรถนะการปรึกษาแนวพุทธจิตวิทยาของพระสงฆ์ด้านการเยียวยาจิตใจผู้ป่วย พบว่า คุณลักษณะของพระสงฆ์ในการให้การปรึกษาแนวพุทธ โปรแกรมการพัฒนาสมรรถนะการปรึกษาแนวพุทธจิตวิทยาของพระสงฆ์ จะชวนให้พระสงฆ์ผู้ให้การปรึกษากลับมาสังเกตกาย ใจตนเองอยู่เสมอ ไม่ว่าจะคิด จะทำ จะพูด การกระทำนั้นๆ ทำได้ด้วยความตั้งใจ การมีสติอยู่กับบุคคลตรงหน้า เปิดพื้นที่รับฟังบุคคลตรงหน้า ซึ่งช่วยให้พระสงฆ์ผู้ให้การปรึกษาได้ย้อนกลับมามองตนเอง และมิได้คาดหวังผลลัพธ์จากการสนทนา การฟังที่ลึกซึ้งและมีประสิทธิภาพเพื่อจะชวนกันมาสู่ความเป็นสัมมาทิฏฐิและย่อมส่งผลถึงพฤติกรรมด้านภายในที่ถูกบ่มเพาะและดำรงอยู่ด้วยความรัก เมตตาชำระใจให้เห็นและเข้าใจผู้อื่น สอดคล้องกับพระเมธีธรรมประนาท (ปรีชา ปฏิภาณเมธี, 2562) ได้ทำการวิจัยเรื่องการศึกษาพุทธจิตวิทยาการให้การปรึกษาเชิงบูรณาการ พบว่า พุทธจิตวิทยาการให้การปรึกษาเชิงบูรณาการ คือ การบูรณาการศาสตร์สมัยใหม่ระหว่างจิตวิทยาการให้การปรึกษากับคำสอนในพระพุทธศาสนาด้วยวิธีการแบบผสมผสานสิ่งที่ดีที่สุด องค์ความรู้สำคัญที่ได้จากการวิจัย พบว่า พุทธจิตวิทยาการให้คำปรึกษาเชิงบูรณาการ มี 7 ขั้นตอนได้แก่ 1) ขั้นการสร้างสัมพันธภาพกับญาติมิตร 2) ขั้นการสร้างปฏิสันถารด้วยจิตเมตตา 3) ขั้นการสนทนาอย่างเป็นกัลยาณมิตร 4) ขั้นพินิจรู้ปัญหา 5) ขั้นให้คำปรึกษาแนะนำ 6) ขั้นนำพาให้คลายทุกข์ เกิดสุขทั้งภายในและภายนอก 7) ขั้นพยากรณ์และยุติการให้คำปรึกษา ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ กรรณิการ์ มีสวัสดิ์ (2564) ได้ทำการวิจัยเรื่องรูปแบบการปรึกษาแนวพุทธจิตวิทยารายบุคคลต่อสตรีที่มีภาวะซึมเศร้าผ่านสื่อสังคม พบว่าหลักธรรมที่นำมาประยุกต์ใช้ในการให้การปรึกษาสตรีที่มีภาวะซึมเศร้า ได้แก่ พรหมวิหารธรรม 4 กัลยาณมิตรธรรม 7 และอริยสัจ 4 โดยกระบวนการปรึกษาแนวพุทธจิตวิทยารายบุคคลตามแนวคิดทางจิตวิทยาและพุทธศาสนา ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ขั้นสร้างสัมพันธภาพด้วยความเป็นกัลยาณมิตร 2) ขั้นสำรวจหาปัญหาที่แท้จริงด้วยสติ 3) ขั้นการหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยโยนิโสมนสิการ 4) ขั้นสรุปปัญหา สรุปแนวทางแก้ไขที่จะนำไปปฏิบัติและให้กำลังใจด้วยพลธรรม 5) ขั้นลงมือปฏิบัติด้วยมรรค 8
แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตน
ความหมายของการพัฒนาตน
แนวคิดจิตวิทยาการพัฒนาตน (self-development) คือ การทำให้ตนเองมีทักษะหรือแนวคิดในการใช้ชีวิตที่ดีขึ้น เปลี่ยนแปลงตนเองให้เหมาะสมเพื่อสนองความต้องการตามเป้าหมายของตนเอง หรือเพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่สังคมคาดหวัง ในความเชื่อด้านจิตวิทยามองว่าการพัฒนาตนเป็นเส้นทางที่คนเรามุ่งไปสู่ทิศทางที่เหมาะสมที่สุดของแต่ละบุคคล ทำให้สามารถรู้จักตนเองดีขึ้น หมายถึงการที่บุคคลพยายามที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนด้วยตนเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม เหมาะสมกว่าเดิม สามารถดำเนินกิจกรรม แสดงพฤติกรรม เพื่อสนองความต้องการ แรงจูงใจ หรือเป้าหมายที่ตนตั้งไว้ และรวมถึงการพัฒนาศักยภาพของตนด้วยตนเองให้ดีขึ้นทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม เพื่อให้ตนเป็นสมาชิกที่มีประสิทธิภาพของสังคม เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ตลอดจนเพื่อการดำรงชีวิตอย่างสันติสุข
โรเจอร์ (Roger, 1951) ผู้ที่สำเร็จในการสร้างแผนการพัฒนาส่วนบุคคลทางด้านจิตวิทยาที่ได้ผล ด้วยการเน้นให้ผู้เรียนตระหนักรู้ให้มากที่สุด ทำให้เข้าถึงแก่นแท้ของธรรมชาติ ความเป็นจริงของจักรวาล และสุดท้ายก็คือการรู้กลไกลการทำงานของจิตใจมนุษย์ สิ่งนี้ก็จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเราให้ดีขึ้น ได้กล่าวว่า บุคคลแต่ละคนเกิดมาพร้อมกับธรรมชาติด้านบวก คุณความดี การมีความสามารถ และการมีแรงจูงใจภายในที่จะพัฒนาตนเองไปข้างหน้าสู่การเป็นผู้ที่ทำสิ่งต่าง ๆ ได้เต็มศักยภาพด้วยตนเอง
มาสโลว์ (Maslow, 1987) กล่าวว่า การพัฒนาตน หมายถึง การรู้จักตนเองอย่างถ่องแท้ และการใช้ความสามารถของตนอย่างมีประสิทธิภาพ มีความสุข คนที่มีการพัฒนาตนนั้นจะมีจิตใจที่สมบูรณ์มีจิตใจที่เปิดกว้างต่อประสบการณ์ใหม่ ๆ มีทัศนะที่สร้างสรรค์ มีการรับรู้ที่แท้จริงในศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ มีความใกล้ชิดต่อชีวิตที่เป็นจริงตามธรรมชาติ และมีความเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์
สรุป การพัฒนาตน หมายถึงการตระหนักรู้ในศักยภาพของตนเองอย่างถ่องแท้ การมีแรงจูงใจด้านบวกในการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล และใช้ความสามารถของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ มีการปรับตัว และมีการเปลี่ยนแปลงตนเองให้เหมาะสมตามสถานการณ์ เพื่อสนองความต้องการและเป้าหมายของตนเอง
การพัฒนาตนเองสำคัญอย่างไร
เราทุกคนล้วนต้องพัฒนาให้ตนเองดีขึ้นกว่าเดิมไม่ว่าจะในด้านกายภาพ หรือจิตใจ ทั้งด้านอาชีพการงาน ครอบครัว สภาพแวดล้อม สังคม ล้วนเป็นแรงผลักดันที่เกี่ยวเนื่องกัน และไม่ว่าจะพัฒนาไปมากน้อยแค่ไหนคนที่ได้ประโยชน์คือตัวเราเอง อย่างที่ มาสโลว์ที่ได้กล่าวเอาไว้ว่า ทุกคนนั้นย่อมมีจุดหมายปลายทางในชีวิต เพื่อที่จะไปให้ถึงเป้าหมายจำเป็นจะต้องเป็นผู้ที่มีการพัฒนาซึ่งเขาเรียกว่า “self-actualization” คือ การตระหนักรู้ในตนเองเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคนเรารับรู้จุดมุ่งหมายของตนเอง รู้ว่าตนเองมีข้อดีข้อเสีย รู้ว่าตนเองสามารถทำอะไรได้ และไม่สามารถทำอะไรได้ ผู้ที่มีแนวคิดแบบนี้มักจะเป็นคนที่มีแนวคิดเปิดกว้างรับสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาอยู่เสมอ ทำให้มีแนวโน้มว่าจะมีโอกาสเรียนรู้ได้ดีกว่าปกติ เพราะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนในการพัฒนาตนเอง
การพัฒนาตนเองด้วยหลัก ‘4 Self’ ทางจิตวิทยา (Ebookserenity, 2020)
- ความตระหนักรู้ภายในตนเอง (self-awareness)
ความสามารถในการมองเห็นตนเองและตระหนักถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองได้อย่างชัดเจน ผ่านการรับรู้และเข้าใจสภาวะต่าง ๆ เช่น อารมณ์ ความรู้สึก ประสบการณ์ ความสามารถ และความคิด ทฤษฎีการรับรู้ตนเอง ของ ดูวัลและวิคลุนด์ (Duval & Wicklund, 1972) ได้เสนอแนวคิดว่า ณ ช่วงเวลาหนึ่ง คนจะสามารถมุ่งความสนใจไปที่ตนเองหรือสิ่งแวดล้อมภายนอกได้ การมุ่งเน้นไปที่ตนเองทำให้สามารถประเมินตนเองได้ เมื่อมองที่ตนเอง ผู้คนจะเปรียบเทียบตนเองกับมาตรฐานความถูกต้องที่ระบุตัวตนว่าควรคิด รู้สึก และประพฤติตนอย่างไร กระบวนการวิเคราะห์ตนเองอย่างมีมาตรฐานทำให้บุคคลเปลี่ยนพฤติกรรมและสัมผัสได้ถึงความภาคภูมิใจและความไม่พอใจในตนเอง การตระหนักรู้ในตนเองจึงเป็นกลไกสำคัญในการควบคุมตนเอง
ประโยชน์ของการตระหนักรู้ภายในตนเอง
1.1 ได้พัฒนาตนเอง โดยความตระหนักรู้ภายในตนเองสามารถทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น สร้างการยอมรับในตนเอง และนำไปสู่การพัฒนาตนเองที่มีประสิทธิภาพ (Sutton, 2016)
1.2 ช่วยเพิ่มทักษะความเข้าอกเข้าใจ เพราะความตระหนักรู้ในตนเองช่วยทำให้มองเห็นความคิดของตนเอง ทำให้สามารถแยกแยะได้มากขึ้นว่าอะไรเป็นความคิดของตนเอง เพื่อที่จะเข้าใจคนอื่น และมีความเข้าอกเข้าใจกับคนอื่นได้มากขึ้น (Silvia & O’Brien, 2004)
1.3 นำไปสู่การตัดสินใจที่ดีขึ้น จากการเท่าทันอารมณ์ของตนเองขณะที่ตัดสินใจ และการเท่าทันความคิดของตนเอง ที่จะรบกวนการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ (Ridley et al., 1992)
1.4 การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ช่วยทำให้มีการสื่อสารที่ดีขึ้นในที่ทำงาน เพิ่มความมั่นใจในตนเอง และการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น (Sutton, Williams, & Allinson, 2015)
- ความมีวินัยในตนเอง (self-discipline)
หนทางที่นำไปสู่ความสำเร็จนั้น อาจไม่ใช่ถนนเรียบ แต่อาจเป็นหนทางของถนนที่มีความขรุขระ ฉะนั้นจะต้องมีวินัยในตนเอง ผลักดันเพื่อก้าวข้ามอุปสรรค นำพาตนเองไปสู่ชัยชนะที่วาดฝันไว้ ไม่ว่าจะเจอกับปัญหาหรืออุปสรรคใด ๆ พลังผลักดันให้ไปสู่ความฝันที่ต้องการ โดยหัวใจสำคัญ คือ จะต้องไม่ท้อแท้หรือหวั่นไหวไปกับสิ่งเร้าทั้งหลาย และไม่เปลี่ยนเป้าหมายอย่างเด็ดขาด
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) (2566) ได้กล่าวถึง วิธีสร้างวินัยในตนเองว่าการจะให้เกิดพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้ยั่งยืนเคยชิน ย่อมมาจากจิตใจที่มีความพึงพอใจ มีความสุขในการทำพฤติกรรมนั้น เมื่อเกิดปัญญาเรียนรู้ เกิดความรู้ความเข้าใจมองเห็นคุณค่าและประโยชน์ของการกระทำนั้น จะเป็นวิธีสร้างวินัยความรับผิดชอบในตนเอง เป็นการจัดสรรโอกาส ทำให้ชีวิตและสังคมมีระเบียบเป็นโอกาสแก่การพัฒนามนุษย์
ประโยชน์ของการมีวินัย
1) ทำให้เกิดความมั่นใจ สามารถควบคุมตนเอง ควบคุมอารมณ์ และการกระทำ นำไปสู่ความมั่นใจในตนเองและความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง
2) ทำให้เข้าใจตนเอง มองภาพตนเองดีขึ้นเมื่อประสบผลสำเร็จและเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง
3) ทำให้ทำงานได้ประสบผลสำเร็จ
4) ทำให้เป็นคนที่ทำอะไรอย่างมีจุดมุ่งหมาย
5) ทำให้สามารถควบคุมตนเองและการกระทำให้เหมาะสมตามสถานการณ์
6) ทำให้เห็นคุณค่าของเวลา เงิน สิ่งที่อยู่รอบข้างและรู้สึกว่าตนเองเป็นที่ยอมรับของสังคม
- การผลักดันตนเองด้วยใจอันมุ่งมั่น (self-improvement)
ตัวจุดประกายซึ่งทำให้คุณสร้างความรู้ และความสามารถ ในการสานฝันให้เป็นจริงได้ โดยในขั้นตอนนี้จะทำให้คุณกลับมาเริ่มถามตนเองว่าคุณจะต้องพัฒนาตนเองในเรื่องใดบ้าง เพื่อยกระดับให้คุณมีศักยภาพและความสามารถเพียงพอ ที่จะทำให้เป้าหมายของคุณบรรลุผลสำเร็จ เปลี่ยนพลังด้านลบเป็นพลังด้านบวก โดยตัวคุณเองจะต้องพยายามบอกตนเองเสมอว่าคุณจะต้องกระเตื้องพร้อมพัฒนาความรู้ที่ขาดหายไปให้มีมากขึ้นให้จงได้ พลังงานด้านบวกนี้ จะกลายมาเป็นพลังผลักดันให้คุณพยายาม ค้นหาหนทางวิธีการต่าง ๆ ซึ่งจะปรับปรุงตนเองให้มีความรู้ยิ่งขึ้นต่อไป
- ประเมินตนเองเพื่อหาทางยกระดับ (self-evaluation)
สำหรับขั้นตอนนี้ จะทำให้เกิดการประเมินผลการปฏิบัติของตนเองว่า จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด โดยจะต้องประเมินผลตนเองอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ เพื่อให้สามารถสร้างเป้าหมายที่กำหนดขึ้นให้เป็นจริงได้ เช่น ณ ช่วงเวลานี้ มีความรู้และมีความสามารถมากพอหรือยัง แล้วถ้ายังไม่พอก็จะต้องทำอย่างไรบ้าง ในการทำให้มีความรู้และความสามารถเพิ่มมากขึ้น ซึ่งควรกำหนดเป็นตามขั้น เช่น ทุกไตรมาส, ทุกครึ่งปี หรือทุกปี เป็นต้น
ชัค (Chugh, 2022) นักสังคมวิทยาผู้สนใจจิตวิทยาการพัฒนาตนเอง ได้เสนอวิธีเลิกเป็นคนดี เพื่อพัฒนาสู่การเป็น “คนที่ดีกว่า” เพราะมีแนวคิดว่า เราจะเป็นคนดีไปทำไม ในเมื่อเราสามารถเป็น “คนที่ดีกว่า” ได้ การเป็นคนดีใคร ๆ ก็สามารถสร้างภาพว่าตนเองเป็นได้ และมุ่งแสดงออกว่าเป็นคนดีเพื่อให้คนอื่นเห็น แต่การเป็น “คนที่ดีกว่า” เป็นการท้าทายตัวผู้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเอง โดยคนที่รู้ดีที่สุดว่าเราเป็น “คนที่ดีกว่า” หรือไม่ คือตัวเราเอง รายละเอียดดังนี้
1) ปิดระบบพฤติกรรมอัตโนมัติของเรา จะทำให้เราใส่ใจกับสิ่งรอบข้างมากขึ้น มีความใฝ่หาความสดใส สิ่งแปลกใหม่ให้กับชีวิตมากขึ้น และสามารถทำให้เราเกิดความคิดสร้างสรรค์ และใช้เหตุผลในการทำสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น
2) ลดอคติ และเพิ่มความยุติธรรมในความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ในการมีความสัมพันธ์ในสถานะใดกับใครก็ตาม ขอให้เราลดความชอบ ลดความชัง แล้วเพิ่มความเป็นกลางในการแสดงออกมากขึ้น
3) เรียนรู้จากคนดีที่ทำผิดพลาด การเป็นคนดี เป็นอะไรที่ไม่ยืนยาว เพราะคนดีแปรผันไปตามสถานการณ์และการยอมรับของสังคม จะทำให้เรายอมรับตนเอง ทำให้เราเห็นคุณค่าของตนเอง มีความเคารพ ให้เกียรติ ให้อภัยในความผิดพลาดของตนเอง และให้โอกาสในการพัฒนาตนเอง เมื่อเราเรียนรู้ที่จะรักตนเอง และมีมุมมองต่อผู้อื่นในฐานะเพื่อนมนุษย์
ทำไมต้องฝึกพัฒนาตนเอง
การพัฒนาตนเองเป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลให้ดีขึ้น ทั้งด้านร่างกาย และด้านจิตใจ ให้กลายเป็นบุคคลที่สมบูรณ์จะนํามาซึ่งความสุข ความเจริญสู่ตนเอง สังคม และประเทศชาติ (ราตรี พัฒนรังสรรค, 2544, น. 96) การพัฒนาตนเองไม่ใช่เพียงแต่การทำให้พฤติกรรมที่มีปัญหาหมดไปเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ในการจัดการกับปญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตใหมีประสิทธิภาพมากกว่าในอดีตเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อที่จะมีอิสระในการที่จะเลือกทำพฤติกรรมเพื่อสิ่งที่ดีของตน ความสำคัญของการพัฒนาตนมี 3 ข้อดังนี้
-
- เพื่อที่จะได้รู้จักตนเองตามความเป็นจริง ทั้งส่วนที่เป็นจุดอ่อนและจุดแข็ง อันจะนําไปสู่การขจัดความรู้สึกที่ขัดแย้งภายในตัวบุคคลออกไป ก้าวมาสู่การยอมรับตนตามสภาพความเป็นจริง
- เพื่อเตรียมพร้อมที่จะปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้น โดยการสร้างคุณลักษณะที่มีประโยชน์ลดหรือขจัดคุณลักษณะที่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคต่อชีวิตและสังคม ทั้งนี้เป็นการกระทำด้วยความสมัครใจ
- เพื่อวางแนวทางในการที่จะพัฒนาชีวิตไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้อย่างเป็นระบบและมีคุณภาพ
วินัย เพชรช่วย (2557) กล่าวว่าบุคคลล้วนต้องการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ หรืออย่างน้อยก็ต้องการมีชีวิตที่เป็นสุขในสังคม ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายและความต้องการของตนเอง พัฒนาตนเองได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมโลก การพัฒนาตนจึงมีความสำคัญดังนี้
ก. ความสำคัญต่อตนเอง จำแนกได้ดังนี้
1) เป็นการเตรียมตนให้พร้อมในด้านต่าง ๆ เพื่อรับกับสถานการณ์ทั้งหลายได้ด้วยความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง
2) เป็นการปรับปรุงสิ่งที่บกพร่อง และพัฒนาพฤติกรรมให้เหมาะสม ขจัดคุณลักษณะที่ไม่ต้องการออกจากตนเอง และเสริมสร้างคุณลักษณะที่สังคมต้องการ
3) เป็นการวางแนวทางให้ตนเองสามารถพัฒนาไปสู่เป้าหมายในชีวิตได้อย่างมั่นใจ
4) ส่งเสริมความรู้สึกในคุณค่าแห่งตนสูงให้ขึ้น มีความเข้าใจตนเอง สามารถทำหน้าที่ตามบทบาทของตนได้เต็มศักยภาพ
ข. ความสำคัญต่อบุคคลอื่น เนื่องจากบุคคลย่อมต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน การพัฒนาในบุคคลหนึ่งย่อมส่งผลต่อบุคคลอื่นด้วย การปรับปรุงและพัฒนาตนเองจึงเป็นการเตรียมตนให้เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีของผู้อื่น ทั้งบุคคลในครอบครัวและเพื่อนในที่ทำงาน สามารถเป็นตัวอย่างหรือเป็นที่อ้างอิงให้เกิดการพัฒนาในคนอื่นๆ ต่อไป เป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งชีวิตส่วนตัวและการทำงานและการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขในชุมชน ที่จะส่งผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ค. ความสำคัญต่อสังคมโดยรวม ภารกิจที่แต่ละหน่วยงานในสังคมต้องรับผิดชอบ ล้วนต้องอาศัยทรัพยากรบุคคลเป็นผู้ปฏิบัติงาน การที่ผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนได้พัฒนาและปรับปรุงตนเองให้ทันต่อพัฒนาการของรูปแบบการทำงานหรือเทคโนโลยี การพัฒนาเทคนิควิธี หรือวิธีคิดและทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็นต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและคุณภาพของผลผลิต ทำให้หน่วยงานนั้นสามารถแข่งขันในเชิงคุณภาพและประสิทธิภาพกับสังคมอื่นได้สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมได้
การพัฒนาตนตามหลักพุทธศาสนา
การพัฒนาตนเองตามหลักพระพุทธศาสนาเป็นกระบวนการที่เราเรียนรู้และปฏิบัติตามแนวคิดทางพุทธศาสนาเพื่อเจริญเติบโตและพัฒนาตนเอง เน้นการเรียนรู้และปฏิบัติตามคำสอน เพื่อการพัฒนาจิตใจ ทำใจให้สงบ บริสุทธิ์ โดยการทำสมาธิ หรือวิปัสสนา หลักพุทธศาสนาให้มนุษย์มีความเชื่อในปัญญา เมื่อมีความมั่นใจในศักยภาพนี้ มีความสำนึกที่จะพัฒนาตน ก็ลงมือทำ ลงมือพัฒนาโดยมีแรงจูงใจที่เอื้อต่อการพัฒนาตนเอง ได้แก่ความใฝ่รู้ความจริง
การพัฒนาตนเป็นการเรียนรู้และการปฏิบัติเพื่อไปสู่ความพอดี การมีดุลยภาพของชีวิต มีความสัมพันธ์อันกลมกลืนระหว่างการดำเนินชีวิตของบุคคล กับสภาพแวดล้อม และมุ่งการกระทำตนให้มีความสุขด้วยตนเอง รู้เท่าทันตนเอง เข้าใจตนเองมากกว่าการพึ่งพาอาศัยวัตถุ จึงเป็นแนวทางการพัฒนาชีวิตที่ยั่งยืน หลักการพัฒนาตนตามแนวพุทธศาสตร์ประกอบด้วยสาระสำคัญ 3 ประการ คือ ทมะ สิกขา และภาวนา
ทมะ คือการฝึกนิสัยดั้งเดิมที่ยังไม่ได้ขัดเกลาให้เหมาะสม มีขั้นตอนสำคัญ ได้แก่ 1) การรู้จักข่มใจ ข่มระงับความเคยชินที่ไม่ดีทั้งหลายได้ ไม่ยอมให้กิเลสรบเร้า หลอกล่อ ชักนำไปสู่ความเลวร้ายได้ และ 2) การฝึกปรับปรุงตนเอง โดยทำคุณความดี ให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
สิกขา คือการศึกษา เพื่อให้รู้แจ้ง รู้จักประโยชน์ มองทุกอย่างเป็นการเรียนรู้เพื่อปรับปรุงและพัฒนาตนเอง เป็นกระบวนการฝึกฝนตนเองในการดำเนินชีวิต เรียกว่า ไตรสิกขา มี 3 ประการ คือ
1) ศีลสิกขา หมายถึง การฝึกความประพฤติสุจริตทางกาย ทางวาจาและการประกอบอาชีพ ดำรงตนในสังคมแบบสาธุชน เป็นคนดีของสังคม เป็นคนมีระเบียบ มีวินัย ปฏิบัติหน้าที่ตามปทัสถานของสังคมสามารถดำเนินชิวิตได้อย่างดีงามโดยมีความรับผิดชอบเกื้อกูลต่อสังคม
2) จิตสิกขา หมายถึง การฝึกจิต สร้างคุณภาพและสมรรถภาพทางจิตให้เข้มแข็งมั่นคง
แน่วแน่ ควบคุมตนเองได้ดี มีสมาธิ มีจิตที่สงบ บริสุทธิ์ ปราศจากสิ่งที่ทำให้เศร้าหมอง อยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ปัญญาอย่างลึกซึ้งและตรงตามสัจจธรรม
3) ปัญญาสิกขา หมายถึง การฝึกปัญญาให้เกิดความรู้ความเข้าใจสรรพสิ่ง รู้แจ้งตามความเป็นจริง มีจิตใจเป็นอิสระและมีปัญญาบริสุทธิ์
ภาวนา คำนี้ตรงกับคำว่าพัฒนา ซึ่งประกอบด้วย กายภาวนา ศีลภาวนา และปัญญาภาวนา เทียบได้กับการพัฒนาทางกาย พัฒนาทางสังคม พัฒนาอารมณ์ และพัฒนาสติปัญญา
กายภาวนา หมายถึง การพัฒนาทางกายเพื่อให้เกิดการเจริญงอกงามในอินทรีย์ 5 หรือ ทวาร 5 ได้แก่ ช่องทางการติดต่อสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ คือ ตา หู จมูก ลิ้น และผิวกาย การพัฒนากายเป็นการส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ทั้ง 5 ทางเป็นไปอย่างปกติ ไม่เป็นโทษ ไม่มีพิษภัยอันตราย เช่น รู้จักสัมพันธ์ทางตา เลือกรับเอาสิ่งดีมีประโยชน์จากการเห็นทางตามาใช้ รู้จักสัมพันธ์ทางหู เลือกรับฟังสิ่งดีมีประโยชน์ ไม่รับฟังสิ่งเลวร้ายเข้ามา เป็นต้น
ศีลภาวนา หมายถึง การพัฒนาการกระทำ ได้แก่ การสร้างความสัมพันธ์ทางกายและวาจากับบุคคลอื่นโดยไม่เบียดเบียนกัน ไม่กล่าวร้ายทำลายผู้อื่น ไม่กระทำการใด ๆ ที่จะก่อความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น แต่จะใช้วาจาและการกระทำที่ดี ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลและเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
จิตตภาวนา หมายถึง พัฒนาจิตใจ เพื่อให้จิตมีคุณภาพดี สมรรถภาพทางจิตดี และสุขภาพจิตดี คุณภาพจิตดี คือจิตใจที่มีคุณธรรม ได้แก่ มีเมตตา กรุณา มุทิตา มีศรัทธา และมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นต้น สมรรถภาพทางจิตดี คือการมีความพร้อมในการทำงาน ได้แก่ ขันติคือมีความอดทน สมาธิคือความมีใจตั้งมั่น อธิษฐานคือมีความเด็ดเดี่ยว วิริยะคือมีความเพียร สติคือมีความระลึกเท่าทัน เป็นต้น ส่วนสุขภาพจิตดีเป็นสภาพจิตที่มีความสบายใจ อิ่มเอิบใจ แช่มชื่น เบิกบาน เกิดความสบายใจได้เสมอเมื่อดำรงชีวิตหรือทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น
ปัญญาภาวนา หมายถึง การพัฒนาปัญญา ได้แก่ การรู้เข้าใจสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง รู้เท่าทันสภาวะของโลกและชีวิต ทำให้จิตใจเป็นอิสระได้จนถึงขั้นสูงสุด ส่งผลให้อยู่ในโลกได้โดยไม่ติดโลก มีอิสระที่จะเจริญเติบโตงอกงามต่อไป
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) (2546, น.110) ได้เสนอวิธีการที่จะพัฒนาตนไปสู่วิถีชีวิตที่ดีงามในหนังสือเรื่องรุ่งอรุณของการศึกษา เบิกฟ้าแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนว่า “รุ่งอรุณแห่งการพัฒนาตน” ประกอบด้วย 7 ประการ ดังนี้
-
- รู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดี ได้แก่ การรู้จักใช้สติปัญญาในการวิเคราะห์ พิจารณาในการเลือก เริ่มจากการเลือกคบคนดี เลือกตัวแบบที่ดี เลือกบริโภคสื่อและข่าวสารข้อมูลที่มีคุณค่า เรียกว่า ความมีกัลยานมิตร (กัลยาณมิตตา)
- รู้จักจัดระเบียบชีวิต มีการวางแผนและจัดการกิจการงานต่าง ๆ อย่างมีระบบระเบียบ เรียกว่า ถึงพร้อมด้วยศีล (ศีลสัมปทา)
- ถึงพร้อมด้วยแรงจูงใจให้สร้างสรรค์ มีความสนใจ มีความพึงพอใจ มีความต้องการจะสร้างสรรค์กิจการงานใหม่ ๆ ที่เป็นความดีงามและมีประโยชน์ เรียกว่า ถึงพร้อมด้วยฉันทะ (ฉันทสัมปทา)
- มีความมุ่งมั่นพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ ผู้มีความเชื่อในตนว่าสามารถจะพัฒนาได้ จะมีความงอกงามถึงที่สุดแห่งความสามารถของตน เรียกว่า ทำให้ตนให้ถึงพร้อม (อัตตสัมปทา)
- ปรับเจตคติและค่านิยมให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตที่ดีงาม เอื้อต่อการเรียนรู้ ทำให้สติปัญญางอกงามขึ้น เรียกว่า กระทำความเห็นความเข้าใจให้ถึงพร้อม (ทิฎฐิสัมปทา)
- การมีสติ กระตือรือร้น ตื่นตัวทุกเวลา หมายถึง การมีจิตสำนึกแห่งความไม่ประมาท เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของชีวิตและสภาพแวดล้อม เห็นคุณค่าของเวลาและใช้เวลาอย่างคุ้มค่า เรียกว่า ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท (อัปปมาทสัมปทา)
- รู้จักแก้ปัญหาและพึ่งตนเอง จัดการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ มีความคิดวิจารณญาณตามเหตุปัจจัยด้วยตนเอง เรียกการคิดแบบนี้ว่า โยนิสโสมนสิการ (โยนิโสมนสิการสัมปทา)
การพัฒนาตนให้มีความสุข คือการรู้จักนำหลักธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิต รู้จักรักตนเอง และพัฒนาความมั่นใจในตนเองให้มากขึ้น รู้จักเห็นคุณค่าในตนเอง ใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมาย ดูแลจิตใจให้สดชื่นแข็งแรงอยู่เสมอ การพัฒนาตนให้มีความสุขตามแนวพุทธศาสตร์นั้นเน้นที่การพัฒนาจิตใจ ทำใจให้สงบ บริสุทธิ์ โดยการทำสมาธิ หรือวิปัสสนา เป็นต้น
องค์ประกอบในการพัฒนาตนของผู้ให้การปรึกษา
องค์ประกอบในการพัฒนาตนของผู้ให้การปรึกษา คือ ควรพิจารณาว่าเราขาดตรงจุดไหน เมื่อขาดอันไหนก็พยายามที่จะพัฒนาสร้างขึ้นมา พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) (2543, น.33-35) ได้แสดงไว้ในหนังสือพุทธศาสน์กับการแนะแนว ว่ามี 6 องค์ประกอบในการศึกษาหรือพัฒนาศักยภาพตนเอง ดังนี้
-
- ท่าทีที่ถูกต้องต่อประสบการณ์ทั้งหลาย ได้แก่ การมองสิ่งทั้งหลายเป็นการเรียนรู้ มองตามที่มันเป็น ไม่ใช่มองตามที่เราอยากให้มันเป็น หรือตามที่คิดให้มันเป็น คนเราจะมีปัญหามากก็ที่จุดเริ่มต้นนี้ เมื่อพบกับประสบการณ์ต่าง ๆ คนจะมองในแง่ชอบชังแล้วก็มองให้มันเป็นตามที่เราคิดให้มันเป็น ไม่ใช่มองตามที่มันเป็นของมัน เราจะต้องเปลี่ยนให้มองตามที่มันเป็น ก็นำไปสู่ความรู้ตามที่มันเป็น ไม่ใช่รู้ตามที่เราคิดอยากให้มันเป็น แต่มนุษย์ส่วนมาก ซึ่งมองตามที่คิดให้มันเป็น หรือตามที่อยากให้มันเป็นก็จะรู้ตามที่คิดให้มันเป็นและรู้ตามที่อยากให้มันเป็น ก็จึงแก้ปัญหาไม่ได้ และยิ่งทำให้เกิดปัญหามากขึ้น ดังนั้น ในการพัฒนาการศึกษาและพัฒนาปัญญาจึงต้องเปลี่ยน “ให้รู้ตามที่มันเป็น” ซึ่งจะเป็นการรู้ความเป็นไปตามกระบวนการของเหตุปัจจัยต่าง ๆ คือการมีท่าทีหรือมีเจตคติที่ถูกต้อง
- ความมั่นใจในศักยภาพของมนุษย์ที่มีอยู่ในตน ดูว่ามีความมั่นใจในตนเอง เห็นว่าพัฒนาตนได้และจะต้องพัฒนาตนหรือไม่
- จิตสำนึกในการพัฒนาปรับปรุงตนเอง ถ้ามีจิตสำนึกจะทำให้เอาใจใส่ในการที่จะพัฒนาตน เริ่มตั้งแต่เอาใจใส่ในการที่จะเรียนรู้ แต่ถ้าไม่มีจิตสำนึกในการที่จะพัฒนาตน หรือไม่มีจิตสำนึกในการศึกษาแล้ว ก็จะไม่เอาใจใส่ในการที่จะพัฒนาตนเองขึ้นไป จึงต้องสำรวจดูด้วย
- แรงจูงใจที่เอื้อต่อการพัฒนาตน ต้องตรวจสอบดูว่า มีความใฝ่ความจริงใฝ่ความดีงามหรือ
ใฝ่จริงไฝ่ดี คือมีความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์หรือพูดง่าย ๆ ว่า ใฝ่ปัญญาหรือไม่ - จิตสำนึกต่อกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้เกิดความกระตือรือร้นเร่งรัดตนเองในการทำหน้าที่การงานไม่นิ่งเฉยเฉื่อยชา รู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์และเอาจริงเอาจงในการที่จะเรียนรู้และพัฒนาตน อย่างที่เรียกสั้น ๆ ว่า ไม่ประมาท
- ความรู้จักคิด รู้จักพิจารณา ที่เรียกง่าย ๆ ว่า คิดเป็น เช่น คิดตามแนวทางความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย หรือตามแนวทางของความเป็นเหตุเป็นผล ดูว่าเมื่อมีประสบการณ์หรือตกอยู่ในสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง มองและคิดอย่างไร คิดก่อนว่าอันนี้คืออะไร อันนั้นมีคุณมีโทษอย่างไร คิดสืบสาวค้นไปหาเหตุของมันว่า เหตุปัจจัยเป็นอย่างไรหรือว่าคิดไม่เป็นกระบวน หรือไม่คิดเลย ปล่อยตัวถูกประสบการณ์ที่เข้ามานั้นนำพาไปเลย ที่ว่าคิดเป็นนั้นมีหลายอย่างคิดสืบสาวตามเหตุปัจจัยก็มี คิดในแง่รู้จักคุณรู้จักโทษของมันตามเป็นจริงก็มี มองและคิดในแง่ที่จะให้สิ่งนั้นเป็นคุณ เป็นประโยชน์ชีวิตของตนก็ได้ ทั้งนี้ตัวกำหนดอันสำคัญที่จะหักเหได้ ก็คือการคิดหรือกระบวนการคิด
ความสำคัญของการพัฒนาตนเองตามหลักพุทธศาสนา
-
- เพื่อเติบโตและพัฒนาตน ช่วยให้เติบโตและพัฒนาทั้งกาย ใจ และจิตให้เป็นคนที่ดีขึ้น การฝึกฝนตนเองช่วยเราให้มีความรู้ ความเข้าใจ และการตัดสินใจที่ดีขึ้น
- เพื่อความสุขในชีวิต ช่วยให้เรามีความสุขและความพอใจในชีวิต การปฏิบัติตามหลักธรรมช่วยลดความทุกข์ทรมานและเสริมสร้างความสุขในใจ
- เพื่อความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น ช่วยเราเสริมสร้างคุณธรรมและความเมตตาให้กับผู้อื่น การปฏิบัติตามสามัญธรรมในทางพุทธศาสนาช่วยเราให้มีความเข้าใจและเห็นใจผู้อื่น
- เพื่อสร้างสรรค์และบุคคลิกภาพที่ดี การพัฒนาตนเองตามหลักพุทธศาสนา ช่วยสร้างสรรค์และบุคคลิกภาพที่ดีในสังคม การฝึกฝนตนเองในทางพุทธศาสนาช่วยเราให้มีคุณค่าและความสำคัญในการกระทำและการใช้ชีวิต
สรุปได้ว่า การพัฒนาตนตามหลักพุทธศาสนา คือ การฝึกฝนอบรมทางกายให้สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพอย่างลงตัว การฝึกฝนอบรมทางศีลเพื่อความประพฤติที่เป็นระเบียบเรียบร้อยดีงาม การฝึกฝนอบรมทางจิตเพื่อความเจริญงอกงามด้วยคุณธรรม และการฝึกฝนทางปัญญาเป็นการพัฒนาตนให้เข้าใจในทุกสรรพสิ่งเพื่อการมีดุลยภาพของชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุข มีความสำคัญต่อการเติบโต และมีความสุขในชีวิต สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น สร้างสรรค์ และบุคคลิกภาพที่ดีในสังคม
บทสรุป
พฤติกรรมของมนุษย์เป็นสิ่งที่เรียนรู้ และเปลี่ยนแปลงได้ ผู้ให้การปรึกษาใช้หลักการเรียนรู้เป็นวิธีการช่วยให้ผู้รับการปรึกษาเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยจะเลือกใช้กลวิธีที่เหมาะสมกับผู้รับการปรึกษาเป็นการเน้นย้ำพฤติกรรมที่ดีหรือไม่ดีนั้นว่าเกิดจากการกระทำหรือสิ่งเร้าที่ทำให้พฤติกรรมนั้นเกิดมาแล้วได้รับผลอย่างไร ซึ่งใช้การทดลองจนทำให้เห็นแนวทางการแก้ปัญหาได้อย่างชัดเจน มีระบบแบบแผนที่เหมาะสมในการจะนำไปใช้ในการปรึกษา เช่น การเสริมแรง การเรียนรู้จากตัวแบบ การฝึกพฤติกรรมกล้าแสดงออก การขจัดความรู้สึกหวาดวิตกกังวล มาเป็นแนวทางในการกำหนดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาของผู้รับการปรึกษา
คุณลักษณะของผู้ให้การปรึกษาแนวพุทธจิตวิทยา หมายถึง ผู้มีการเจริญปัญญาและมีความเป็นกัลยาณมิตร นำหลักธรรมอริยสัจ 4 หลักพรหมวิหาร 4 และ กัลยาณมิตร 7 มาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยเหลือผู้มาปรึกษาที่มีความทุกข์ ให้มีสติ สมาธิ และสามารถควบคุมตนเองให้มีใจที่สงบนิ่ง ผ่อนคลาย พร้อมพิจารณาเรื่องราวที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงของชีวิต เข้าใจการเกิดขึ้นของความทุกข์ ผู้ให้การปรึกษาแนวพุทธจิตวิทยารับฟังอย่างเข้าใจ ด้วยความเมตตาและกรุณา มีความเป็นกัลยาณมิตร เพื่อให้ผู้มาปรึกษาไตร่ตรองด้วยปัญญาจนเข้าใจทุกข์ที่เกิดขึ้นกับตนเองสามารถพัฒนาจิตและปัญญาคลี่คลายทุกข์ สามารถจัดการปัญหาได้ด้วยตนเอง และพัฒนาตนไปสู่หนทางที่ดีงามและเป็นประโยชน์
รายการอ้างอิง
กรรณิการ์ มีสวัสดิ์. (2564). รูปแบบการปรึกษาแนวพุทธจิตวิทยารายบุคคลต่อสตรีที่มีภาวะซึมเศร้าผ่านสื่อสังคม. [วิทยานิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา ไม่ได้ตีพิมพ์]. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
จิราภรณ์ ตั้งกิตติภาภรณ์. (2556). จิตวิทยาทั่วไป. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ประทีป พืชทองหลาง. (2561). รูปแบบการปรึกษาเชิงพุทธตามหลักกัลยาณมิตร. วารสารปรัชญาและศาสนา, 3 (2), 89-94.
พระครูภาวนาวีรานุสิฐ วิ. (2560). กระบวนการให้คำปรึกษาเชิงพุทธจิตวิทยา. วารสารบัณฑิตศึกษาปริทรรศน์, 13(3), 144-154.
พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต). (2543). พุทธศาสน์กับการแนะแนว (พิมพ์ครั้งที่ 6). มูลนิธิพุทธธรรม.
พระมหาสุเทพ สุทฺธิญาโณ (ธนิกกุล) (2561). โปรแกรมพัฒนาสมรรถนะการปรึกษาแนวพุทธจิตวิทยาของพระสงฆ์ด้านการเยียวยาจิตใจผู้ป่วย. [วิทยานิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา ไม่ได้ตีพิมพ์]. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พระเมธีธรรมประนาท (ปรีชา ปฏิภาณเมธี). (2562). การศึกษาพุทธจิตวิทยาการให้คำปรึกษาเชิงบูรณาการวารสารมหาจุฬานาครทรรศน์, 6(8), 4041-4055.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต). (2546). รุ่งอรุณของการศึกษา เบิกฟ้าแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน (พิมพ์ครั้งที่ 2). พิมพ์สวย.
ราตรี พัฒนรังสรรค. (2544). พฤติกรรมมนุษยกับการพัฒนาตน. สถาบันราชภัฏจันทรเกษม.
สมเด็จพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต). (2555). พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย (พิมพ์ครั้งที่ 55). ท่าทรายนก (2000).
_______________. (2566). วินัย: เรื่องใหญ่กว่าที่คิด (พิมพ์ครั้งที่ 28). ผลิธัมม์.
สมพร รุ่งเรืองกลกิจ. (2557). ประสิทธิผลของการให้การปรึกษาแนวพุทธธรรมต่อการลดอาการซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย, 59(4), 381-393.
วินัย เพชรช่วย. (2557). การพัฒนาตน Self-Development. https://www.oocities.org/vinaip/articles/process.htm
อาภา จันทรสกุล. (2545). ทฤษฎีและแนวปฏิบัติในการให้การปรึกษา. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
Bloom, B. (2021). Bloom’s Taxonomy of educational objectives. https://educarepk.com/blooms-taxonomy-of-educational-objectives.html.
Chugh, D. (2022). How to let go of being a “good” person — and become a better person. https://singjupost.com/how-to-let-go-of-being-a-good-person-and-become-a-better-person-dolly-chugh-transcript/.
Duval S., & Wicklund, R. (1972). A theory of objective self-awareness. Oxford Press.
Ebookserenity. (2020). วิธีพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตนเอง. https://ebookserenity.com/%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81-4-self
Gelso, C., & Fretz, B. (2001). Counseling psychology. Harcourt College.
George, R. L. & Cristiani, T. S. (1995). Counseling: Theory and practice (4thed). Allyn and Bacon.
Grant, J. (2005). Psychotherapy and counselling federation of Australia. http://www.org.au/scripts/content.asp?pageid=Definition.
Maslow, A. H. (1987). Motivation and personality. Harper & Row.
Morris, G. & Maisto A. A. (2005). Psychology (12thed). Pearson Prentice Hall.
Rogers, C. R. (1951). Client-centered therapy: Its current practice, implications, and theory. Houghton Mifflin.
Ridley, D. S., Schutz, P. A., Glanz, R. S., & Weinstein, C. E. (1992). Self-regulated learning: The interactive influence of metacognitive awareness and goal-setting. Journal of Experimental Education, 60(4), 293–306.
Schwartz, N. E. (1975). Nutritional knowledge, attitude and practice of high school graduated. Journal of the American Dietetic Association, 66(1), 28-31.
Silvia, P. J., & O’Brien, M. E. (2004). Self-awareness and constructive functioning: Revisiting “the human dilemma”. Journal of Social and Clinical Psychology, 23(4), 475–489.
Sutton, A. (2016). Measuring the effects of self-awareness: Construction of the self-awareness outcomes questionnaire. Europe’s Journal of Psychology, 12(4), 645-658
.
Sutton A., Williams, H. M., & Allinson C. W. (2015). A longitudinal, mixed method evaluation of self-awareness training in the workplace. European Journal of Training and Development, 39(7), 610 – 627.
Thomson, C. L., Rudolph, L. B., & Henderson, D. (2004). Counseling children (6thed). Brooks/Cole.