Kamalas

The Effects of the Volunteer Power Program according to Buddhist Psychology to Enhancement Self-Esteem of Youth

 

สุธาทิพย์ เทียนเตี้ย1, กมลาศ ภูวชนาธิพงศ์2 และ พุทธชาติ  แผนสมบุญ3

Suthathip Thiantia1, Kamalas Phoowachanathipong2,

and Phutthachat Phaensomboon3

 

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 1

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 2

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย3

 

Mahachulalongkornrajavidyalaya University, Thailand1

Mahachulalongkornrajavidyalaya University, Thailand2

Mahachulalongkornrajavidyalaya University, Thailand3

 

E-mail: 1 thezom.thiantia@gmail.com, 2 kamalas2013@gmail.com, 3 saha70@gmail.com

 

บทคัดย่อ

 

          การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาแนวคิดพลังจิตอาสาร่วมกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาและการเห็นคุณค่าในตนเอง 2) เพื่อพัฒนาโปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน และ 3) เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน  การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองแบบวัดผลก่อนและหลังเข้าร่วมกิจกรรม  โดยใช้โปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองและแบบสอบถามการเห็นคุณค่าในตนเอง เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นเยาวชน อายุ 15-24 ปี ที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสากับองค์กรเยาวชนอาสาสมัครอนุรักษ์สิ่งดีงาม  จำนวน 60 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 30 คน วิธีวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติ t-test และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยวิธีวิเคราะห์เนื้อหา

ผลวิจัย มีดังนี้

1. การนำแนวคิดพลังจิตอาสาทั้ง 3 ด้าน คือ พลังด้านความคิด พลังด้านเจตคติ พลังด้านการปฏิบัติหรือการกระทำมาบูรณาการเข้ากับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา คือ หลักสังคหวัตถุ 4 และหลักโยนิโสมนสิการ ผ่านการจัดกิจกรรมที่ทำให้เกิดการรู้เรียนให้เกิดวิธีคิด เพื่อพิจารณาข้อมูล สามารถระบุปัญหา วิเคราะห์ สังเคราะห์ เชื่อมโยง ความสัมพันธ์ และประเมินค่า โดยใช้เหตุผลและปัญญาในการพิจารณาเหตุการณ์อย่างรอบคอบ ต่อเนื่องเป็นลำดับ ตามเหตุผล นำไปสู่การตัดสินใจที่เหมาะสม  และทำให้เกิดการรับรู้คุณค่าของตนตามความเป็นจริงของชีวิตและเป็นพื้นฐานการใช้ชีวิตให้ดํารงอยู่อย่างมีคุณค่า สามารถยอมรับพร้อมหาแนวทางการแก้ปัญหาให้ผ่านไปได้ด้วยดี

2.  การสร้างโปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน มีทั้งหมด 10 กิจกรรม คือ 1) ยินดีที่ได้รู้จัก 2) ภาพของฉัน 3) ต้นไม้ใหญ่ในตัวฉัน 4) It’s a feeling (มันคือความรู้สึก) 5) ใครที่รักเราเท่ากับครอบครัว 6) ชอบแบบนี้ ชอบเรียนแบบนี้ 7) I.Y Ecobricks (ขยะพลาสติกเป็นได้มากกว่าที่คิด) 8) คบเด็กสร้างบ้าน 9) เงียบลงจึงได้คิด นิ่งไว้จึงชัดเจน และ 10) แง้มใจ ซึ่งเป็นการเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเอง 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านตนเอง 2) ด้านครอบครัว 3) ด้านการเรียน และ 4) ด้านสังคม

3. ผลของโปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน  พบว่า เยาวชนมีการเปลี่ยนแปลงการเห็นคุณค่าในตนเองโดยรวมก่อนการทดลองและหลังทดลองของกลุ่มตัวอย่างอยู่ในระดับปานกลาง และมีระดับการเห็นคุณค่าในตนเองโดยรวมหลังการทดลองเพิ่มขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 05

 

คำสำคัญ : โปรแกรมพลังจิตอาสา, พุทธจิตวิทยา, การเห็นคุณค่าในตนเอง, เยาวชน

 

Abstract

 

          The objectives of the study were 1) to study the concepts of a volunteer mind power in conjunction with Buddhist principles and Self-Esteem; 2) to develop a volunteer mind power program based on Buddhist psychology to enhance the self-esteem of youths; and 3) to study the effects of a volunteer mind power program based on Buddhist psychology for enhancing the self-esteem of youths. The study was a quasi-experimental research with the measuring of the effects before and after participating in the activities, using the volunteer mind power program based on Buddhist psychology developed to enhance a self-esteem and a self-esteem questionnaire to collect data from 60 samples as the youths with 15-24 years of age applied to join volunteer activities with the Good Things Preserving Youth Volunteer Organizations divided into experimental and control groups with 30 samples each. For analyzing quantitative data, t-test statistics was used for quantitative data and a content analysis was employed for analyzing qualitative data.

The results of the study were as follows:

  1. The concepts of a volunteer mind power in conjunction with Buddhist principles and self-esteem included 3 aspects of the concept consisting of a cognitive power, an attitude power, and a behavior power integrated with Sangahavatthu 4 and Yonisomanasikara through activities caused learning how to think, to consider the information, to be able to identify problems, to analyze, to synthesize, to link, to correlate, and to evaluate, using a reason and intelligence to consider events carefully and sequentially according to reasons leading to the right decision and awareness of one’s worth according to the reality of life and as the basis for worth living, and being able to accept to find out an effective solution to the problem.
  2. The development of the Volunteer Power Program based on Buddhist Psychology for enhancing the self-esteem of youths comprised 10 activities including 1) Nice to Meet You, 2) My Picture, 3) A Big Tree in Myself, 4) It’s a Feeling, 5) Who Loves Us as Much as Our Own Families, 6) I Like This, 7) D.I.Y Ecobricks (Plastic Waste as More Than You Think), 8) Youth Building a House, 9) Silence Thought, So It’s Clear, and 10) Open-mind, resulting in 4 aspects of self-esteem consisting of 1) Oneself, 2) Family, 3) Studying, and 4) Society.
  3. For the Effects of the Volunteer Power Program based on Buddhist Psychology for enhancing the self-esteem of youths, it revealed that the youth had a moderate change in their overall self-esteem before the experiment and after the experiment and a level of an overall self-esteem after the experiment was higher with the statistical significance was at the 0.05 level.

 

Keywords : Volunteer Power Program, Buddhist Psychology, Self-Esteem, Youth

 

บทนำ

 

          ปัจจุบันพบว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศไทยมีสัดส่วนจำนวนประชากรเยาวชนที่ลดจำนวนลงเรื่อยๆ ในทุกๆ ปี ซึ่งสวนทางกับประชากรวัยสูงอายุที่มีสัดส่วนสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาเยาวชนให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติต่อไป จากข้อมูลประชากรเด็กและเยาวชนของสำนักสถิติทางการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยพบว่าในปี พ.ศ. 2561 มีจำนวนประชากรเยาวชนทั้งสิ้น 7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 11.39 จากประชากรทั่วประเทศที่มีอยู่ ซึ่งเยาวชนคือบุคคลที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี ถือเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าและมีความสำคัญมาก เนื่องจากจะเจริญเติบโตเป็นกำลังสำคัญของชาติในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป [1]

          เยาวชนเป็นช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของชีวิตเพราะเป็นวัยเชื่อมต่อระหว่างความเป็นเด็กกับความเป็นผู้ใหญ่ซึ่งเป็นวัยที่ย่างเข้าสู่วัยหนุ่มสาว มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ ซึ่งส่งผลไปสู่การปฏิบัติตัวในรูปแบบต่างๆ ทั้งการแสดงออกและพฤติกรรม เยาวชนเป็นวัยที่มีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตัวเอง สนใจสิ่งแปลกใหม่ กล้าแสดงออก ต้องการความเป็นอิสระจากพ่อแม่และให้ความสำคัญกับเพื่อนมาก ต้องการให้สังคมยอมรับ ชอบการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และชอบทำตามเพื่อน จึงมีโอกาสถูกชักชวนให้มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมได้ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การใช้สารเสพติด เป็นต้น     ปัญหาพฤติกรรมบางอย่างมักเกิดขึ้นมานานจนทำให้การแก้ไขปัญหามักทำได้ยาก การป้องกันปัญหาจึงมีความจำเป็นและสำคัญมากกว่าการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว โดยการป้องกันดังกล่าว พ่อแม่ ครูอาจารย์และผู้ที่เกี่ยวข้องควรเริ่มตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพจิตตั้งแต่เด็กจนถึงเยาวชนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเรื่องการเห็นคุณค่าในตนเอง [2]

          การเห็นคุณค่าในตนเองมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิตของเยาวชนซึ่งสามารถทำให้เยาวชนดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข เนื่องจากเป็นการรับรู้คุณค่าของตนเองตามสภาพความเป็นจริงของชีวิต และเป็นพื้นฐานของการมองชีวิตให้ดำรงอยู่อย่างมีคุณค่า เสริมให้เห็นว่าบุคคลแสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่มีประสิทธิภาพ บุคคลที่เห็นคุณค่าในตนเองจะสามารถเผชิญอุปสรรคที่เกิดขึ้นได้อย่างมั่นใจ หาแนวทางในการแก้ปัญหาให้ผ่านไปได้ด้วยดี สามารถเผชิญความเครียดได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญในการปรับตัวทางอารมณ์ สังคมและการเรียนรู้ การเห็นค่าคุณค่าในตนเองและการยอมรับตนเองเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ และจะช่วยให้ชีวิตของเรามีความทุกข์น้อยลงและสุขง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นผลดีที่ส่งถึงคนรอบข้างอีกด้วย เนื่องจากเราทุกคนเป็นสิ่งแวดล้อมของกันและกัน คนที่มีความสุขก็จะส่งผลให้คนที่อยู่รอบข้างมีความสุข อารมณ์ดีไปด้วย การเห็นคุณค่าในตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยพัฒนาเยาวชนไปสู่การเป็นบุคคลที่สมบูรณ์ได้ในที่สุด [3]

          ด้วยเหตุนี้ ผู้วิจัยจึงเกิดความสนใจจะพัฒนาโปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน ซึ่งได้พัฒนามาจากหลักจิตวิทยาและหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยที่ไม่มีคนทำมาก่อน โดยผู้วิจัยใช้เยาวชนที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรมอาสาสร้างกุฏิดินจากขยะถวายวัด ณ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นกลุ่มตัวอย่างในการนำเสนอโปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน เพื่อใหเยาวชนสามารถแสดงออกทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ สังคม และวาจาให้เข้ากับสภาวการณ์ที่ตนเผชิญอยู่ได้อย่างเหมาะสม

 

1. วัตถุประสงค์ของงานวิจัย

 

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ

1) เพื่อศึกษาแนวคิดทฤษฎีพลังจิตอาสาและการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน

2) เพื่อพัฒนาโปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน

3) เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน

 

2. สมมุติฐานการวิจัย

 

1) เยาวชนผู้เข้าร่วมโปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเอง มีระดับคะแนนการเห็นคุณค่าในตนเองเพิ่มมากขึ้นกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยา

2) เยาวชนผู้เข้าร่วมโปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเอง มีระดับคะแนนการเห็นคุณค่าในตนเองหลังการเข้าร่วมโปรแกรมสูงกว่าเมื่อเข้าร่วมโปรแกรมผ่านไปแล้ว 30 วัน

 

3. วิธีการดำเนินการวิจัย/รูปแบบการวิจัย

 

          งานวิจัยเรื่อง ผลของโปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน เป็นการศึกษาวิจัยแบบกึ่งทดลอง (Quasi – Experimental Research) ซึ่งในส่วนงานวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผู้วิจัยได้ศึกษาค้นคว้าเอกสาร (Documentary Research) เพื่อศึกษาหลักธรรมในพระพุทธศาสนาและนำมาบูรณาการต่อการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน ศึกษาผลก่อนและหลังเข้าร่วมกิจกรรมโปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน

 

การวิจัยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ

ระยะที่ 1 ผู้วิจัยใช้กิจกรรมกลุ่มในการสร้างโปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองตามของเยาวชน โดยผ่านการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านพุทธจิตวิทยา ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยา ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกิจกรรมกลุ่ม จำนวนทั้งสิ้น 5 คน แล้วนำคะแนนผลการพิจารณามาหาค่า IOC

ระยะที่ 2 งานวิจัยเชิงทดลอง โดยผู้วิจัยนำโปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชนไปทดลองใช้ในการอบรมเยาวชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อศึกษาผลก่อนและหลังเข้าร่วมกิจกรรม

ระยะที่ 3 ระยะติดตามผลการทดลอง 30 วัน ผู้วิจัยศึกษาผลหลังเข้าร่วมโปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชนไปแล้ว 30 วัน

 

3.1 ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

1) ประชากรที่ใช้ในการวิจัยนี้ ได้แก่ เยาวชนที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสากับองค์กรเยาวชนกลุ่มอาสาสมัครอนุรักษ์สิ่งดีงาม ตั้งแต่เดือน ต.ค. – ธ.ค. 2564 จำนวน 300 คน

2) กลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยนี้ มีเกณฑ์การคัดเลือกโดยสมัครใจเข้าร่วมและสามารถร่วมกิจกรรมได้จนสิ้นสุดโครงการ ซึ่งเป็นเยาวชนที่มีช่วงอายุระหว่าง 15-24 ปี ที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสาภายใต้กิจกรรมสร้างกุฏิดินจากขยะถวายวัด จำนวน 60 คน โดยยึดลำดับการตอบกลับทางอีเมล์เร็วที่สุด ลำดับที่ 1-60 หลังจากนั้นทำการสุ่มอย่างง่ายเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม อย่างละ 30 คน โดยสุ่มให้ลำดับที่ 1 เป็นกลุ่มทดลอง ลำดับที่ 2 เป็นกลุ่มควบคุม และสลับกันไปเรื่อยๆ จนแต่ละกลุ่มมีจำนวนคนครบ 30 คน

 

3.2 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

การทำวิจัยในครั้งนี้แบ่งเครื่องมือที่ใช้ในการทำวิจัยออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง 2. เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล โดยเครื่องมือที่ใช้ในการทดลองสำหรับงานวิจัยนี้ คือ โปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน และเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลสำหรับงานวิจัยนี้ คือ แบบสอบถามวัดการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน 4 ด้าน คือ ด้านตนเอง ด้านครอบครัว ด้านการเรียน และด้านสังคม

1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองสำหรับงานวิจัยนี้ คือ โปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน โดยผู้วิจัยได้พัฒนาโปรแกรมมีทั้งหมด 10 กิจกรรม คือ 1) ยินดีที่ได้รู้จัก 2) ภาพของฉัน 3) ต้นไม้ใหญ่ในตัวฉัน 4) It’s a feeling (มันคือความรู้สึก) 5) ใครที่รักเราเท่ากับครอบครัว 6) ชอบแบบนี้ชอบเรียนแบบนี้ 7) D.I.Y Ecobricks (ขยะพลาสติกเป็นได้มากกว่าที่คิด) 8) คบเด็กสร้างบ้าน 9) เงียบลงจึงได้คิด นิ่งไว้จึงชัดเจน และ 10) แง้มใจ  ซึ่งเป็นการเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเอง 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านตนเอง 2) ด้านครอบครัว 3) ด้านการเรียน และ  4) ด้านสังคม และ มีผู้เชียวชาญ 5 ท่านตรวจสอบความเหมาะสมของโปรแกรม

2) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลสำหรับงานวิจัยนี้ คือ แบบสอบถามวัดการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน     4 ด้าน คือ ด้านตนเอง ด้านครอบครัว ด้านการเรียน และด้านสังคม โดยผู้วิจัยได้พัฒนาแบบวัดมาจากพระทวีศักดิ์ ธมฺมิโก ลักษณะแบบวัดชุดนี้เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับของ ลิเคอร์ท (Likert five rating Scale) ผู้วิจัยได้นำแบบวัดการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชนให้ผู้เชี่ยวชาญ 5 ท่าน ตรวจสอบดัชนีความสอดคล้อง (IOC) ได้เท่ากับ 0.86

 

3.3 การเก็บรวบรวมข้อมูล

1) ก่อนการทดลองทำการวัดการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชนจิตอาสา กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 60 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 30 คน และกลุ่มควบคุม 30 คน ทำการวัดในวันเดียวกัน ได้ผลข้อมูลในระยะ Pre-test

2) หลังการทดลองโปรแกรม ทำการวัดการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชนจิตอาสา ซ้ำอีกครั้ง แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 30 คน และกลุ่มควบคุม 30 คน ทำการวัดในวันเดียวกัน ได้ผลข้อมูลในระยะ Post-test

3) หลังการทดลองโปรแกรมผ่านไปแล้ว 30 วัน ทำการวัดการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชนจิตอาสา ซ้ำอีกครั้ง แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 30 คน และกลุ่มควบคุม 30 คน ทำการวัดในวันเดียวกัน ได้ผลข้อมูลในระยะ Follow-up

 

3.4 การวิเคราะห์ข้อมูล

1) การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพจากการศึกษาแนวคิดทางพุทธจิตวิทยา แนวคิดทางตะวันตก และใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหา โดยจัดกลุ่ม เรียบเรียงข้อมูล จัดลำดับ และสังเคราะห์ข้อมูลตามเนื้อหาที่ต้องการศึกษา

2) การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป ประกอบด้วย 1) การวิเคราะห์ข้อมูลแบบสอบถาม ใช้สถิติค่าความถี่ และค่าร้อยละ 2) การวิเคราะห์ข้อมูลแบบทดสอบก่อน-หลังการเข้าโปรแกรม ใช้สถิติค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (t-test) เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยของระดับการเห็นคุณค่าในตนเองก่อนและหลังการเข้าโปรแกรมพลังจิตอาสาของกลุ่มทดลอง โดยใช้ Paired Sample T-Test

 

4. ผลการวิจัย

 

ผลการวิจัยนี้ได้ค้นพบประเด็นที่ตอบวัตถุประสงค์ดังนี้

4.1 ผลการศึกษาแนวคิดพลังจิตอาสาร่วมกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาและการเห็นคุณค่าในตนเอง

          ผู้วิจัยได้การศึกษาแนวคิดพลังจิตอาสาร่วมกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาและการเห็นคุณค่าในตนเอง พบว่าการใช้พลังจิตอาสาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชนเกิดจากการประยุกต์ใช้และบูรณาการหลักโยนิโสมนสิการผ่านการจัดกิจกรรม หมายถึง การจัดกิจกรรมที่ทำให้เกิดการรู้เรียนให้เกิดวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ เพื่อพิจารณาข้อมูล สามารถระบุปัญหา วิเคราะห์ สังเคราะห์ เชื่อมโยง ความสัมพันธ์ และประเมินค่า โดยใช้เหตุผลและปัญญาในการพิจารณาเหตุการณ์อย่างรอบคอบ ต่อเนื่องเป็นลำดับ ตามเหตุผล นำไปสู่การตัดสินใจที่เหมาะสม และทำให้เกิดการรับรู้คุณค่าของตนตามความเป็นจริงของชีวิตและเป็นพื้นฐานการใช้ชีวิตให้ดํารงอยู่อย่างมีคุณค่า สามารถยอมรับพร้อมหาแนวทางการแก้ปัญหาให้ผ่านไปได้ด้วยดี ตลอดจนเป็นสิ่งผลักดันให้เกิดความรู้สึกเชื่อมั่นในตนเอง สามารถเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้ และมีความพร้อมในการดำเนินชีวิตให้เจริญก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ซึ่งเป็นแนวทางให้เกิดจิตสำนึกสาธารณะ

4.2 ผลการพัฒนาโปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน

          ผู้วิจัยได้บูรณาการหลักพุทธจิตวิทยากับแนวคิดจิตวิทยาตะวันตก จากการศึกษาตำรา เอกสาร งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ได้โปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน ประกอบด้วยกิจกรรม 10 กิจกรรม ดังนี้ 1) ยินดีที่ได้รู้จัก  2) ภาพของฉัน  3) ต้นไม้ใหญ่ในตัวฉัน  4) It’s a feeling (มันคือความรู้สึก) 5) ใครที่รักเราเท่ากับครอบครัว  6) ชอบแบบนี้  ชอบเรียนแบบนี้  7) D.I.Y. Ecobricks (ขยะพลาสติกเป็นได้มากกว่าที่คิด)  8) คบเด็กสร้างบ้าน 9) เงียบลงจึงได้คิด นิ่งไว้จึงชัดเจน 10) แง้มใจ เพื่อให้ผู้เข้ารับการทดลองเกิดการคิดอย่างมีเหตุผลและฟังอย่างมีเหตุผลสอดคล้องกับหลักธรรมของโยนิโสมนสิการ มีเหตุผลและเกิดผลได้การเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองเกิดจากการประยุกต์ใช้และบูรณาการหลักโยนิโสมนสิการผ่านการจัดกิจกรรม หมายถึง การจัดกิจกรรมที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ ทำให้เกิดวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ เพื่อพิจารณาข้อมูล สามารถระบุปัญหา วิเคราะห์ สังเคราะห์ เชื่อมโยง ความสัมพันธ์ และประเมินค่า โดยใช้เหตุผลและปัญญาในการพิจารณาเหตุการณ์อย่างรอบคอบ ต่อเนื่องเป็นลำดับ ตามเหตุผล นำไปสู่การตัดสินใจที่เหมาะสม  และทำให้เกิดการรับรู้คุณค่าของตนตามความเป็นจริงของชีวิตและเป็นพื้นฐานการใช้ชีวิตให้ดํารงอยู่อย่างมีคุณค่า สามารถยอมรับพร้อมหาแนวทางการแก้ปัญหาให้ผ่านไปได้ด้วยดี ตลอดจนเป็นสิ่งผลักดันให้เกิดความรู้สึกเชื่อมั่นในตนเอง สามารถเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้ และมีความพร้อมในการดำเนินชีวิตให้เจริญก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ

4.3 ผลของโปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน

1) การเปรียบเทียบผลการใช้โปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน มีระดับคะแนนการเห็นคุณค่าในตนเองเพิ่มมากขึ้นกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมพลังจิตอาสาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองตามแนวพุทธจิตวิทยา (N = 30) (ตารางที่ 1)

 

การเห็นคุณค่าในตนเองโดยรวม   S.D. t Sig.
กลุ่มทดลอง ก่อนทดลอง 3.37 0.29 -5.037 .000**
หลังทดลอง 3.46 0.21

** มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

 

จากตารางที่ 1 แสดงผลการใช้โปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน พบว่า เยาวชนระดับคะแนนการเห็นคุณค่าในตนเองเพิ่มมากขึ้นกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมพลังจิตอาสาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองตามแนวพุทธจิตวิทยา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

2) การเปรียบเทียบผลการใช้โปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน หลังการทดลอง มีระดับคะแนนการเห็นคุณค่าในตนเองเพิ่มมากขึ้นกว่าก่อนระยะติดตามผล 30 วัน      (N = 30) (ตารางที่ 2)

 

การเห็นคุณค่าในตนเองโดยรวม   S.D. t Sig.
กลุ่มทดลอง หลังทดลอง 3.46 0.21 3.587 .001**
ระยะติดตามผล 30 วัน 3.43 0.19

** มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

 

จากตารางที่ 2 แสดงผลการใช้โปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน พบว่า หลังการทดลองเยาวชนระดับคะแนนการเห็นคุณค่าในตนเองเพิ่มมากขึ้นกว่าระยะติดตามผล  30 วัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

 

5. อภิปรายผลการวิจัย

 

การสรุปผลการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้สรุปเป็น 3 ตอน ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย ผลการวิจัยสรุปได้ดังต่อไปนี้

5.1 ศึกษาแนวคิดทฤษฎีพลังจิตอาสา หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาและแนวคิด ทฤษฎีการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน

          ผู้วิจัยได้นำแนวคิด และทฤษฎีเกี่ยวกับพลังจิตอาสา 3 ด้าน คือ พลังความคิด  พลังเจตคติ และพลังการปฎิบัติ นำมาบูรณาการและประยุกต์ใช้กับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาในการสร้างโปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน ได้แก่ โยนิโสมนสิการ (วิธีคิดแบบคุณค่าแท้คุณค่าเทียม, วิธีคิดแบบคุณโทษและทางออก, วิธีคิดแบบอุบายเร้าคุณธรรม, วิธีคิดแบบอริสัจ 4 และหลักสังคหวัตถุ 4 (ทาน, ปิยวาจา, อัตถจริยา, สมานัตต-ตา)  โดยใช้แนวคิด และทฤษฎีเกี่ยวกับการเห็นคุณค่าในตนเองตามแนวจิตวิทยา 4 ด้าน คือ ด้านตนเอง ด้านครอบครัว ด้านการเรียน และด้านสังคม ได้แก่ ทฤษฎีการเห็นคุณค่าในตนเองของ คูเปอร์สมิธ (Coopersmith) ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ซึ่งเป็นแนวทางให้เกิดจิตสำนึกสาธารณะ ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของ พระสุระ ญาณธโร [4] ได้ทำการวิจัยเรื่อง       การพัฒนาจิตสาธารณะตามแนวทางพุทธศาสนา บว่า การพัฒนาการเห็นคุณค่าในตนเองสำหรับเยาวชนจิตอาสาโดย  บูรณาการผ่านกิจกรรมกลุ่มและการทำกิจกรรมอาสาร่วมกันจะต้องผูกสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีการยึดเหนี่ยวจิตใจกันและกัน การผูกไมตรี เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล เป็นหลักสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน ตามหลักสังคหวัตถุธรรม นอกจากความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันแล้วการมีจิตอาสายังจะต้องมีความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลตามหลักโยนิโสมนสิการ โดยใช้เหตุผลและปัญญาในการพิจารณาเหตุการณ์อย่างรอบคอบเพื่อก่อให้เกิดการเห็นคุณค่าในตนเอง สอดคล้องกับผลการศึกษาของ คูเปอร์สมิธ เรื่อง การเห็นคุณค่าในตนเอง พบว่าเทคนิคในการพัฒนาความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองตามหลักของคูเปอร์สมิธ [5] มีดังนี้ 1) ให้การยอมรับความรู้สึกของบุคคลตามความเป็นจริง 2) การยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคลในการเผชิญปัญหา ควรเปิดโอกาสให้บุคคลได้แก้ปัญหาของเขาอย่างเต็มที่ 3) หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและกะทันหันที่จะเกิดขึ้น อันจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับบุคคล 4) การมีตัวแบบที่ดีมีประสิทธิภาพในการเผชิญกับปัญหาให้บุคคลได้ถือเป็นตัวอย่าง 5) ช่วยให้บุคคลได้พัฒนาการแก้ปัญหาความยุ่งยากด้วยการะบายความขุ่นมัว

5.2 พัฒนาโปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน

          ผู้วิจัยได้ทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องได้แก่ งานวิจัย ตำรา บทความวิชาการ เกี่ยวกับพลังจิตอาสาและการเห็นคุณค่าในตนเอง จากนั้นได้สร้างโปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นนำ ขั้นกิจกรรม ขั้นวิเคราะห์ และขั้นสรุป จำแนกเป็นกิจกรรมย่อย 10 กิจกรรม ได้แก่ 1) ยินดีที่ได้รู้จัก 2) ภาพของฉัน 3) ต้นไม้ใหญ่ในตัวฉัน 4) It’s a feeling (มันคือความรู้สึก) 5) ใครที่รักเราเท่ากับครอบครัว  6) ชอบแบบนี้  ชอบเรียนแบบนี้  7) D.I.Y. Ecobricks (ขยะพลาสติกเป็นได้มากกว่าที่คิด) 8) คบเด็กสร้างบ้าน  9) เงียบลงจึงได้คิด นิ่งไว้จึงชัดเจน  10) แง้มใจ เพื่อให้ผู้เข้ารับการทดลองเกิดการคิดอย่างมีเหตุผลและฟังอย่างมีเหตุผลสอดคล้องกับหลักธรรมของโยนิโสมนสิการ มีเหตุผลและเกิดผลได้การเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองเกิดจากการประยุกต์ใช้และบูรณาการหลักโยนิโสมนสิการผ่านการจัดกิจกรรม หมายถึง การจัดกิจกรรมที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ ทำให้เกิดวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ เพื่อพิจารณาข้อมูล สามารถระบุปัญหา วิเคราะห์ สังเคราะห์ เชื่อมโยง ความสัมพันธ์ และประเมินค่า โดยใช้เหตุผลและปัญญาในการพิจารณาเหตุการณ์อย่างรอบคอบ ต่อเนื่องเป็นลำดับ ตามเหตุผล นำไปสู่การตัดสินใจที่เหมาะสม  และทำให้เกิดการรับรู้คุณค่าของตนตามความเป็นจริงของชีวิต สามารถยอมรับพร้อมหาแนวทางการแก้ปัญหาให้ผ่านไปได้ด้วยดี ตลอดจนเป็นสิ่งผลักดันให้เกิดความรู้สึกเชื่อมั่นในตนเอง สามารถเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้ และมีความพร้อมในการดำเนินชีวิตให้เจริญก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ  ผู้วิจัยได้นำหลักพุทธธรรมมาจัดประยุกต์ใช้ในการทำกิจกรรมสอดคล้องกับผลการศึกษาของพระทวีศักดิ์ ธมฺมิโก [6] ได้ศึกษาการวิจัยเรื่องการวิจัยเรื่อง โปรแกรมการเห็นคุณค่าในตนเองตามแนวพุทธจิตวิทยาของนักเรียนโรงเรียนวัดเปรม พบว่ามีการจัดกิจกรรมการเห็นคุณค่าในตนเองตามแนวพุทธจิตวิทยาตามแนวพุทธจิตวิทยา  ใช้ระยะเวลารวม 3 วัน รวมทั้งหมดมี 12 กิจกรรม พบว่าการเปลี่ยนแปลงการเห็นคุณค่าในตนเองของนักเรียน ในช่วงเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา โดยรวมและรายด้านก่อนการทดลองและหลังทดลองของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า นักเรียนมีการเห็นคุณค่าในตนเองอยู่ในระดับปานกลาง และมีระดับการเห็นคุณค่าในตนเองทั้งโดยรวมและรายด้านเพิ่มขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

5.3 นำเสนอผลของโปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน

          ผลการศึกษาโปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน พบว่า ภายหลังจากการเข้าร่วมโปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเอง  เยาวชนมีระดับการเห็นคุณค่าในตนเองมากกว่าก่อนการเข้าร่วมโปรแกรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

          การเปลี่ยนแปลงการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน โดยรวมก่อนการทดลองและหลังทดลองของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า เยาวชนมีการเห็นคุณค่าในตนเองอยู่ในระดับปานกลาง ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะว่า กลุ่มตัวอย่างที่ผู้วิจัยได้ศึกษานั้นเป็นเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี ซึ่งความรู้สึกการเห็นคุณค่าในตนเองเป็นภาวะทางจิตในที่ได้รับมาจากการพัฒนาตั้งแต่วัยเด็กเป็นผลมาจากความรักจากผู้เลี้ยงดูที่เป็นพื้นฐานของการรับรู้คุณค่าในตนเอง เยาวชนที่อยู่ในครอบครัวที่มีความรักและได้รับการยอมรับในคุณค่าของตนจะสะสมความรู้สึกการมีคุณค่าของตนไว้ในจิตใจ ส่วนเยาวชนที่ถูกปฏิเสธหรือถูกดูหมิ่นจะมีความรู้สึกต่ำต้อยและกระทบกระเทือนจิตใจ Lilian  กล่าวว่า พ่อแม่สามารถช่วยพัฒนาและรักษาการเห็นคุณค่าในตนเองของลูกได้โดยการช่วยให้ลูกรับมือกับความพ่ายแพ้และความล้มเหลว แทนที่จะเน้นย้ำเฉพาะความสำเร็จและชัยชนะ ในช่วงเวลาที่ผิดหวังการเห็นคุณค่าในตนเองของลูกจะอ่อนลง แต่จะสามารถทำให้เข้มแข็งได้ถ้าคุณให้ลูกรู้ว่าเรายังรักและสนับสนุนอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

          การวิจัยครั้งนี้เยาวชนได้ร่วมทำกิจกรรมพลังจิตอาสาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเอง ซึ่งผลปรากฎว่าหลังจากการเข้าร่วมโปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยา เยาวชนมีการเห็นคุณค่าในตนเองสูงขึ้น ดังนั้นจึงสามารถอธิบายได้ว่าเยาวชนจะตัดสินการเห็นคุณค่าในตนเอง ด้านตนเอง ด้านครอบครัว ด้านการเรียน และด้านสังคม นั้นจะเปลี่ยนแปลงไปตามพัฒนาการในแต่ละวัย ตามแนวคิดของคูเปอร์สมิธ ที่กล่าวถึง สาเหตุของการเห็นคุณค่าในตนเองว่ามาจากแหล่งสำคัญ ซึ่งบุคคลใช้เป็นสิ่งตัดสินความสำเร็จของตนเอง 4 แหล่ง คือ 1) การมีอำนาจ (Power) เป็นการที่บุคคลสามารถมีอิทธิพลและควบคุมบุคคลอื่นได้ 2) การมีความสำคัญ (Significance) เป็นการได้การยอมรับ ได้รับการเอาใจใส่รวมทั้งได้รับความรักใคร่จากบุคคลอื่น 3) การมีคุณความดี (Virtue) เป็นการยึดมั่นตามมาตรฐานทางจริยธรรมและศีลธรรมของสังคม 4) การมีความสามารถ (Competence) การประสบความสำเร็จในการกระทำสิ่งต่างๆ กล่าวได้ว่า ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่มีประสิทธิภาพ

          จากผลการวิจัยครั้งนี้ผลของกิจกรรมกลุ่มทำให้เยาวชนเกิดความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเอง แสดงให้เห็นว่าการจัดกิจกรรมกลุ่มเป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองตามที่ คูเปอร์สมิธ  (Coopersmith) ได้เสนอไว้ว่า องค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ องค์ประกอบภายในตนเองและองค์ประกอบภายนอกตนเอง องค์ประกอบภายในตนเอง ด้านสมรรถภาพ ความสามารถ ผลงาน เป็นลักษณะของแต่ละบุคคลที่มีผลทำให้การเห็นคุณค่าในตนเองของบุคคลแต่ละคนมีความแตกต่างกัน  เกิดจากการมีโอกาสแสดงความสามารถของตนในกิจกรรมต่างๆ ที่จัดไว้ในกิจกรรมกลุ่ม  ทำให้เยาวชนมีความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองเพิ่มขึ้น ได้ก่อให้เกิดกําลังใจและความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองไปสู่ความสำเร็จ มีการเห็นคุณค่าในตนเอง มีการพัฒนาบุคลิกภาพในด้านต่างๆ และดำเนินชีวิตไปสู่การพัฒนาเป็นบุคคลที่สมบูรณ์ต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ กมลาศ ภูวชนาธิพงศ์ [7]  กล่าวว่า การพัฒนาเยาวชนผ่านรูปแบบการฝึกอบรม แบ่งเป็น 2 ระยะ โดย ระยะที่ 1 คือ การฝึกอบรมในรูปแบบค่ายคุณธรรมเป็นเวลา 2 คืน 3 วัน และ การอบรมระยะที่ 2 เป็นระยะการทำโครงงาน 1 เดือน เพื่อให้เยาวชนผู้เข้ารับการอบรมเกิดการพัฒนา โดยรูปแบบการฝึกอบรมมีการตั้งคำถาม ฝึกวิธีคิด ให้เยาวชนเลือกการตัดสินใจ ด้วยการแสดงความคิดเห็นร่วมกัน การฝึกให้คิดและการออกแบบกิจกรรมเพื่อจะเปลี่ยนแปลงค่านิยมของตนเอง ร่วมกับเพื่อนสมาชิกในกลุ่ม และการฝึกนำค่านิยมไปปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน ทำให้เยาวชนเกิดกระบวนความคิดเกี่ยวกับความตั้งใจเปลี่ยนแปลงค่านิยมและพฤติกรรมของตนเองที่ชัดเจนมากขึ้น แสดงให้เห็นว่า ค่านิยมเกิดจากการเรียนรู้ โดยเริ่มที่สถาบันครอบครัว สถาบันศึกษา และสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่สนับสนุนร่วมกันส่งเสริมปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมที่ดี มีอิทธิพลต่อการหล่อหลอมค่านิยมที่ดีให้กับเยาวชนได้

 

6. องค์ความรู้ใหม่จากการวิจัย

 

          โปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการนำหลักพุทธธรรมและแนวคิดพลังจิตอาสา ซึ่งการออกแบบพัฒนาโปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชนมีรูปแบบซึ่งได้ประยุกต์หลักคำสอนทางพุทธศาสนา ร่วมกับทฤษฎีและแนวคิดทางจิตวิทยาและแนวคิดพลังจิตอาสา มีการใช้กิจกรรมเป็นสื่อ นำกระบวนการคิด เพื่อให้เกิดการเห็นคุณค่าในตนเอง โดยผ่านการทำกิจกรรมพลังจิตอาสา ซึ่งเป็นการใช้พลังทางความคิด พลังเจตคติ และพลังของการลงมือปฏิบัติ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เพิ่มการเห็นคุณค่าในตนเอง ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ด้าน ดังนี้

องค์ประกอบที่ 1 ด้านการเข้าใจตนเองและการยอมรับตนเองตามความเป็นจริง

องค์ประกอบที่ 2 ด้านความสามารถในการปรับตัวและการแก้ไขปัญหา

องค์ประกอบที่ 3 ด้านการเรียนรู้และรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่ของตนเอง

องค์ประกอบที่ 4 ด้านการช่วยเหลือบุคคล สังคม และสิ่งแวดล้อมผ่านการเป็นผู้ให้และผู้รับ

 

 

 

แผนภาพที่ 1 องค์ความรู้ใหม่จากการวิจัย

 

7. ข้อเสนอแนะ

 

7.1 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

จากผลการวิจัยพบว่า การจัดโปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน ส่งผลต่อการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชนในทิศทางที่ดีขึ้น ดังนั้นองค์กรเยาวชนและหน่วยงานจิตอาสาทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถนำประยุกต์ไปใช้ในการจัดกิจกรรมจิตอาสาเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมต่อไป

7.2 ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติการ

1) จากการวิจัยครั้งนี้ ได้พัฒนาเครื่องมือโปรแกรมกิจกรรมกลุ่ม เพื่อพัฒนาการเห็นคุณค่าในตนเอง ซึ่งผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการใช้โปรแกรมในรูปแบบกิจกรรมกลุ่มแบบออนไลน์มีการพัฒนาพฤติกรรมได้น้อยฉะนั้นควรทำกิจกรรมในรูปแบบลงพื้นที่เพื่อปรับพฤติกรรมได้อย่างชัดเจนกว่าการทำรูปแบบออนไลน์ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีกว่า

2) ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม เพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน เป็นการต่อยอดองค์ความรู้จากกิจกรรมและเป็นงานวิจัยที่เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการความรู้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพเยาวชนต่อไป

7.3 ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัยครั้งต่อไป

1) ควรมีการศึกษาถึงผลของโปรแกรมพลังจิตอาสาตามแนวพุทธจิตวิทยาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเอง กับกลุ่มเป้าหมายกลุ่มอื่นในสังคม เช่น กลุ่มคนวัยทำงาน และผู้สูงอายุ เป็นต้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบุคคลและสังคมโดยรวมต่อไป

2) ควรศึกษาวิจัยถึงตัวแปรที่เกี่ยวข้องต่อการเสริมสร้างเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชน เช่น พฤติกรรมการแสดงออก สภาพสังคม หรือสภาพแวดล้อมในครอบครัว เป็นต้น

 

เอกสารอ้างอิง

 

กมลาศ ภูวชนาธิพงศ์. “กระบวนการปลูกฝังค่านิยมการบริโภคด้วยพุทธิปัญญาสำหรับวัยรุ่น”. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2557.

 

กรมกิจการเด็กและเยาวชน. “สถานการณ์เด็กและเยาวชน”. รายงานการพัฒนาเด็กและเยาวชน ปี 2561. กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, 2561. พนม เกตุมาน. สุขใจกับลูกวัยรุ่น. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ ร.ส.พ., 2550.

 

พระทวีศักดิ์ ธมฺมิโก (ธรรมวันนา). “โปรแกรมการเห็นคุณค่าในตนเองตามแนวพุทธจิตวิทยาของนักเรียนโรงเรียนวัดเปรมปรีชา”. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา, บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยมหา-จุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2563.

 

พระสุระ ญาณธโร (จันทึก). “การพัฒนาจิตสาธารณะตามแนวทางพุทธศาสนา”. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬา-ลงกรณราชวิทยาลัย, 2557.

 

มาลิณี จุโฑปะมา. “ลักษณะทางจิตวิทยา”. วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์. ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม – ธันวาคม ): 16.

 

Coopersmith, S. The Antecedent of Seif-Esteem. California: Consulting Psychologists, 1981.

 

 

 

[1] กรมกิจการเด็กและเยาวชน, “สถานการณ์เด็กและเยาวชน”, รายงานการพัฒนาเด็กและเยาวชน ปี 2561, (กรมกิจการเด็ก-และเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, 2561). หน้า 14.

 

[2] พนม เกตุมาน, สุขใจกับลูกวัยรุ่น, (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ ร.ส.พ., 2550), หน้า 121.

 

[3] มาลิณี จุโฑปะมา, “ลักษณะทางจิตวิทยา” วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์, ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม – ธันวาคม 2553): 16.

 

[4] พระสุระ ญาณธโร (จันทึก), “การพัฒนาจิตสาธารณะตามแนวทางพุทธศาสนา”, วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา, (บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2557), หน้า 99.

 

[5] Coopersmith, The Antecedent of Seif-Esteem, (California: Consulting Psychologists Press, 1981, pp. 134-138.

 

[6] พระทวีศักดิ์ ธมฺมิโก (ธรรมวันนา), “โปรแกรมการเห็นคุณค่าในตนเองตามแนวพุทธจิตวิทยาของนักเรียนโรงเรียนวัดเปรมปรีชา”, วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา, (บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2563), หน้า บทคัดย่อ.

 

[7] กมลาศ ภูวชนาธิพงศ์, “กระบวนการปลูกฝังค่านิยมการบริโภคด้วยพุทธิปัญญาสำหรับวัยรุ่น”, วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา, (บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2557), หน้า 79.