Kamalas

Buddhist Psychology and the Research

 

กมลาศ ภูวชนาธิพงศ์1,

อำนาจ บัวศิริ

เมธาพันธ์ โพธิธีรโรจน์3

 

1รศ. ดร. ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

2รศ. ดร. อาจารย์พิเศษ ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

3ผศ. ดร. ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 

บทนำ

 

         สรรพสิ่งทุกอย่างที่อุบัติขึ้น ดำรงอยู่ และดับสิ้นไปบนโลกนี้หรือแม้แต่ในจักรวาลมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และเป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด  มนุษย์ได้นิยามเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ว่าเป็นไปตาม “ธรรมชาติ” และมนุษย์ได้เพียรพยายามศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ อย่างไม่รู้จักจบสิ้นมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ในประเทศอินเดียเมื่อกว่า 2,600 ปีล่วงมาแล้ว ได้ทรงศึกษาค้นคว้าความเป็นจริงของชีวิต จนเกิดความเข้าใจ ตระหนักรู้อย่างถ่องแท้ถึงธรรมชาติของทุกสรรพสิ่งในโลกรวมถึงจักรวาล บรรลุสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและทรงนำความจริงแห่งธรรมชาติมาบัญญัติเป็นคำสอน ที่มีความสอดคล้องและสามารถนำไปใช้เป็นพื้นฐานความรู้ในศาสตร์สาขาต่าง ๆ เผยแผ่ไปสู่ประชาคมโลกต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยที่หลักการสอนของพระองค์ทรงเน้นเรื่องการศึกษาค้นคว้าธรรมชาติของตนเอง เป็นเบื้องต้น

         โดยเฉพาะเรื่องของ “จิต” ของบุคคล ซึ่งประกอบไปด้วย นิยามของจิต บริบทธรรมชาติของจิต การเปลี่ยนแปลง การกำหนดจิต การกำกับจิต และการพัฒนาจิตให้มีพลัง คำสอนเหล่านี้มีการบันทึกเป็นหลักฐานที่สืบค้นได้ มีการตรวจสอบ สังคยานา ถ่ายทอดต่อเนื่องกันมาในคัมภีร์พระไตรปิฎกว่าด้วยหมวดพระอภิธรรม จึงเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า พระพุทธศาสนาสอนเรื่อง “จิต” มาก่อนที่จะเกิดสาขาวิชาจิตวิทยาของนักวิชาการในซีกโลกตะวันตก จากหลักฐานดังกล่าวนี้เอง ที่นักวิชาการพระพุทธศาสนาหลายท่าน ใช้อ้างอิงสรุปกันว่า หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นจิตวิทยาอยู่แล้ว ซึ่งเป็นตรรกะจริงแท้ที่สามารถสรุปเช่นนั้นได้ แต่ถ้าใช้ข้อสรุปดังที่กล่าวมา จะทำให้เราไม่สามารถหานิยามศัพท์ของคำว่า “พุทธจิตวิทยา” ให้เกิดความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะทางที่ชัดเจนได้

         ผู้เขียนจึงมุ่งนำเสนอ ภาพรวมการวิจัยทางพุทธจิตวิทยา และมุมมองมิติต่าง ๆ ของศาสตร์สาขาวิชาพุทธจิตวิทยากับการวิจัย ได้แก่ ธรรมชาติของพุทธจิตวิทยา คุณสมบัติพื้นฐานของพุทธจิตวิทยา พัฒนาการพุทธจิตวิทยา พุทธจิตวิทยาการวิจัย และวิธีการศึกษาแบบบูรณาการศาสตร์ กระบวนการวิจัยในพุทธจิตวิทยา ข้อควรระวังของนักวิจัย เป้าหมายของการวิจัย และการนำองค์ความรู้ทางจิตวิทยาไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งสะท้อนให้เห็นทิศทางแนวโน้มในอนาคต ของการทำวิจัยทางพุทธจิตวิทยา ตามลำดับดังนี้

 

ธรรมชาติของพุทธจิตวิทยา

 

         ความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของศาสตร์สาขาวิชาพุทธจิตวิทยานั้น มีนักวิชาการทางพระพุทธศาสนาได้ให้เหตุผลสนับสนุนไว้หลายแง่มุม ในประเด็นที่ เกี่ยวกับจิตและพฤติกรรมของมนุษย์ ดังนี้

         พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตโต), (2566) ได้กล่าวถึง องค์ความรู้ด้านพุทธจิตวิทยาว่า ต้องมีงานวิจัยเป็นกิจลักษณะจากวรรณกรรมพระพุทธศาสนา โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ได้เปิดช่องทางการวิจัยค้นคว้าเพื่อนำเอาพุทธศาสตร์มาใช้ให้เป็นประโยชน์ในสาขาพุทธจิตวิทยา เป็น open-ended ซึ่งยังไม่จบในตัวมันเอง ยังไม่มีความสมบูรณ์ โดยกล่าวว่า แก่นพุทธจิตวิทยา มีความต่างจากแก่นพุทธธรรม นักวิชาการหลายฝ่ายในโลก ได้อ้างว่า ตัวเองทำการศึกษา วิจัยพุทธจิตวิทยา แต่เกิดคำถามว่าเป็นพุทธจิตวิทยาจริงหรือไม่ เนื่องจากจิตวิทยาตะวันตกในทวีปยุโรปมีทั้งจิตวิเคราะห์ (psychoanalysis) และโครงสร้างนิยม (structuralism) และในอเมริกามีพฤติกรรมนิยม (behaviorism) และหน้าที่นิยม (functionalism) ดังนั้น แก่นของจิตวิทยาตะวันตกคืออะไร ทำไมสำนักจิตวิทยาเหล่านั้นและพุทธจิตวิทยาถึงเป็นจิตวิทยา

         สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) เมื่อครั้งทรงสมณศักดิ์เป็น พระพรหม
คุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต), (2561) ได้กล่าวว่า เมื่อพูดถึงปัญหาชีวิตจิตใจของมนุษย์นั้น พระพุทธศาสนาแทบไม่ได้พูดถึงหรือไม่ได้เน้นที่ความเจ็บป่วย ทางจิตใจของคนโรคจิต หรือที่เรียกว่า ป่วยทางจิต แต่พูดถึงปัญหาจิตใจของทุกคนที่ยังไม่ไร้ทุกข์คือ คนธรรมดาสามัญนี้เอง ปัญหาของคนในเรื่องทางจิตใจ ตลอดจนปัญหาชีวิตทั้งหมด มีในระดับต่าง ๆ กัน เบาบ้าง หนักบ้าง ตราบที่ยังไม่เป็นคนสมบูรณ์ ยังละกิเลสไม่ได้หมดสิ้น ก็ยังอยู่ในขอบข่ายความหมายของพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น

         เป้าหมายของพระพุทธศาสนา คือ การพ้นทุกข์ พบสุขแท้จริง พระสัมมาพุทธเจ้าเป็นนักวิจัยคนแรกของโลก ที่ค้นพบหลักความจริงของธรรมชาติทั้งโลกและชีวิต ด้วยกระบวนการสืบค้นหาสาเหตุแห่งความทุกข์และวิธีการแก้ปัญหาด้วยการดับแห่งความทุกข์นั้น มากว่า 2,600 ปี คำสอนของพระพุทธองค์เป็นระบบ ระเบียบ ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ที่พิสูจน์ได้ เป็นสันทิฏฐิโก ยิ่งโลกเจริญก้าวหน้ามากเท่าไร คำสอนของพระพุทธองค์ที่ได้เรียบเรียงเป็นระบบระเบียบเป็นหมวดหมู่นั้น ก็ยิ่งปรากฏชัดด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ตัวอย่างหลักพุทธธรรม เช่น ขันธ์ 5 อริยสัจ 4 ปฏิจจสมุปบาท ไตรลักษณ์ ไตรสิกขา เป็นต้น

         นอกจากนี้ ยังอธิบายว่า พุทธจิตวิทยา เป็นการนำแก่นคำสอนของพุทธศาสนาที่ว่าด้วยเรื่องทุกข์และวิถีทางในการดับทุกข์มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการทางจิตวิทยา สืบเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพชีวิตและสังคมพร้อมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นในยุคพัฒนา ที่เป็นสังคมบริโภคนิยมหรือวัตถุนิยม ที่คนพรั่งพร้อมด้วยวัตถุ แต่สร้างผลกระทบต่อจิตใจ ได้แก่ ความเครียด ความวิตกกังวล ความว้าเหว่ ไร้ความหมาย มีความกดดันและบีบคั้น ซึ่งพระพุทธศาสนาเรียกว่า “ทุกข์” อันกระตุ้นให้วงการจิตวิทยาขยายความสนใจ ต่อความเจ็บป่วยทางจิตของคนไข้ในคลินิก ออกไปสู่ปัญหาของคนทั่วไป หรือเรียกว่า ขยายความสนใจจากบุคคลที่ป่วย (sick person) มาสู่คนที่เป็นคนปกติ (so-called normal person) เพราะพระพุทธศาสนาไม่ได้มองปัญหาที่เกิดขึ้นแบบแยกส่วน แต่มองเรื่องจิตใจและปัญหาในจิตใจของมนุษย์ว่า สัมพันธ์กับวิถีชีวิตทั้งหมด พระพุทธศาสนาจึงมีบทบาททางจิตวิทยาในแง่ของการแก้ไขปัญหาและการพัฒนามนุษย์

         ประพัฒน์ ศรีกูลกิจ (2559, น. 9) กล่าวว่า แม้ว่าพระพุทธศาสนาจะไม่มีการบัญญัติคำว่า จิตวิทยา ใช้แบบชาวตะวันตก แต่เมื่อพิจารณาถึงสารัตถะของพุทธธรรมทั้งหมดจะพบว่า พระพุทธองค์ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่ทรงเป็นนักจิตวิทยาและสอนเรื่องจิตวิทยา เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอันเนื่องมาจากการประสบปัญหาทางจิต เพราะถูกเหล่ากิเลสเข้าครอบงำ ทำให้เกิดโรคที่เรียกว่า “โรคทางจิต (เจตสิกโรค)” พระพุทธองค์ทรงสอนธรรมะเพื่อรักษาโรคที่เกิดจากจิต ให้จิตหลุดพ้นจากกองทุกข์ที่หมักหมมตกตะกอนอยู่ในจิต ด้วยการปฏิบัติให้ เข้าสู่แนวทางแห่งพระนิพพาน ทรงเน้นย้ำความสำคัญของจิต

         คัมภีร์ขุททกนิกาย ได้กล่าวถึงความสำคัญของจิตไว้ว่า “ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จได้ด้วยใจ ถ้าคนมีใจชั่ว ก็จะพูดชั่ว หรือทำชั่วก็ตาม ทุกข์ก็จะติดตามไป เหมือนล้อที่หมุนไปตามรอยโคที่ลากเกวียน ฉะนั้น” (ขุ.ธ. (ไทย) 25/1/23)  “ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จด้วยใจ ถ้าคนมีจิตใจดี ก็จะพูดดี หรือทำดี สิ่งนั้นก็จะติดตามเขาไปด้วย เพราะความดีนั้น สุขย่อมติดตามเขาไป เหมือนเงาติดตามไป ฉะนั้น” (ขุ.ธ. (ไทย) 25/2/24)

 

คุณสมบัติพื้นฐานของพุทธจิตวิทยา

 

           การศึกษาพุทธจิตวิทยา จะเกี่ยวข้องกับปรัชญาพื้นฐานในการสอนของพระพุทธเจ้า ที่มีภารกิจสำคัญคือ การฝึกอบรมบุคคลให้พัฒนาปัญญา ให้เกิดความรู้ความเข้าใจในข้อเท็จจริงและสภาวะทั้งหลาย มีทัศนคติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง ปฏิบัติและจัดการกับสิ่งทั้งหลายตามที่ควรจะเป็น เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง คือมีชีวิตอยู่อย่างสำเร็จผลที่ดีที่สุด มีจิตใจเป็นอิสระ มีสุขภาพจิตสมบูรณ์ และประโยชน์ต่อผู้อื่น คือ สามารถช่วยสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ชนทั้งหลายที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคมได้ (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต), 2556, น. 5-6)  หลักพระพุทธศาสนา สอนเรื่องการดำรงชีวิตของมนุษย์ ความขัดข้องปรวนแปร ความเดือดร้อนลำบาก ความเจ็บปวด ความสูญเสีย ความพลัดพราก และปัญหาชีวิตต่าง ๆ เป็นความทุกข์ เป็นสิ่งที่มีอยู่ มนุษย์ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องและได้ประสบแน่นอน ไม่ว่าจะต้องการหรือไม่ต้องการ จะยอมรับว่ามันมีอยู่หรือไม่ยอมรับ หรืออยากเบือนหน้าหนี อย่างไรก็ตาม หากมนุษย์ต้องการมีชีวิตอยู่อย่างดีที่สุด มนุษย์จะต้องยอมรับความจริง รับรู้สู้หน้า และพร้อมที่จะจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ดีที่สุด ด้วยเหตุนี้พระพุทธศาสนาจึงสอนเรื่องความทุกข์เป็นเรื่องแรก อันเป็นปัญหาที่มนุษย์พึงรับรู้และจัดการแก้ไขโดยถูกต้อง และถือว่าภารกิจของพระพุทธศาสนา คือ การช่วยมนุษย์ให้แก้ปัญหาของตนได้ (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต), 2556, น. 3-4)

         การศึกษาพุทธจิตวิทยา ต้องศึกษาปริยัติ คือ ความรู้ความเข้าใจใน เบญจขันธ์ นามรูป ประกอบด้วย 1) รูป คือ ร่างกาย 2) เวทนา คือ ความรู้สึก 3) สัญญา คือ ความจำ 4) สังขาร คือ สิ่งที่ปรุงแต่งจิตทั้งหลาย 5) วิญญาณ คือ ตัวจิต ต้องปฏิบัติ คือ กรรมฐานสมถวิปัสสนาให้เกิดวิมุตฺติ ภาคปฏิบัติไม่มีรากเหง้า (no thought) ไม่มีทฤษฎี ไม่มีคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นรากฐานเลย เป็นได้เพียงจิตวิทยาเชิงพุทธ (Buddhism – Based Psychology) เป็นจิตวิทยาที่มีฐานพระพุทธศาสนา แต่ไม่ใช่พุทธจิตวิทยา เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องหารากเหง้าในพระไตรปิฎก แต่หากหารากเหง้าในพระไตรปิฎก โดยไม่มีภาคปฏิบัติมาประกอบ ก็อาจถูกวิจารณ์ได้ว่า งานวิจัยนั้นเป็นวรรณกรรม ไม่ใช่พุทธจิตวิทยา”  (พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตโต), 2566, น. 11) สุดท้ายต้องเข้าถึง ปฏิเวธ คือ 1) ตทังควิมุตติ พ้นจากกิเลสด้วยอาศัยธรรมตรงกันข้ามที่เป็นคู่ปรับกัน เช่น เกิดเมตตา หายโกรธ เกิดสังเวช หายกำหนัด เป็นต้น 2) วิกขัมภนวิมุตติ ได้แก่ ความพ้นจากกิเลสและอกุศลธรรมได้ด้วยกำลังฌาน อาจสะกดไว้ได้นานกว่า ตทังควิมุตติ แต่เมื่อฌานเสื่อมแล้ว กิเลสอาจเกิดขึ้นอีก จัดเป็นโลกิยวิมุตติ 3) สมุจเฉทวิมุตติ หมายถึง หลุดพ้นด้วยตัดขาด ได้แก่ พ้นจากกิเลสด้วยอริมรรค กิเลสเหล่านั้น ไม่กลับเกิดขึ้นอีก เป็นโลกุตตรวิมุตติ

         การตีความพุทธจิตวิทยาในทัศนะนักวิชาการ จากวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องพบว่า มีการเปรียบเทียบคุณสมบัติพื้นฐานของพุทธจิตวิทยา (Buddhist Psychology) และความแตกต่างระหว่างพระพุทธศาสนาและจิตวิทยา ในเชิงวัฒนธรรมตะวันตกและคำสอนทางศาสนา ดังเช่น

         Padmasiri De Silva (2005, p. 2) นักวิชาการชาวศรีลังกา กล่าวไว้ในหนังสือ “An introduction to Buddhist Psychology” ตอนหนึ่งว่า แม้ว่าระเบียบวิธีของจิตวิทยาจะเป็นวิทยาศาสตร์เชิงประจักษ์ที่พัฒนาขึ้นอย่างดีในปัจจุบัน แต่นักจิตวิทยาเพียงไม่กี่คนที่เจาะลึกลงไปในวรรณกรรมทางศาสนาและปรัชญาของตะวันออก อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญเกี่ยวกับธรรมชาติของสติและจิตวิทยาของพฤติกรรมมนุษย์

         Robert H. Thouless นักจิตวิทยาแห่งเคมบริดจ์ได้ให้ความเห็นอย่างชัดเจนเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องร่วมสมัยทางจิตวิทยาของพระพุทธเจ้าว่า 2,600 ปี ที่คำสอนของพระพุทธองค์แสดงออกถึงแนวคิดพื้นฐานจิตใจสมัยใหม่ ” แม้ว่าหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าจะอุดมไปด้วยการใช้คำศัพท์ทางจิตวิทยาและการวิเคราะห์ทางจิตวิทยา แง่มุมของหลักคำสอนนี้กลับถูกเพิกเฉย

         งานบุกเบิกที่ทำโดย Caroline Augusta Foley Rhys Davids นักจิตวิทยาชาวอังกฤษที่ศึกษา พระอภิธรรม กล่าวว่า ใครก็ตามที่มีความรู้ด้านจิตวิทยาและประวัติศาสตร์เป็นอย่างดี จะต้องประทับใจกับความจริงที่ว่า คำศัพท์ทางจิตวิทยามีความสมบูรณ์มากกว่าวรรณกรรมโบราณอื่น ๆ และมีพื้นที่มากขึ้นสำหรับการวิเคราะห์และคำอธิบายทางจิตวิทยาในเรื่องนี้มากกว่าในวรรณกรรมทางศาสนาอื่น

 

พัฒนาการพุทธจิตวิทยา

 

         พุทธจิตวิทยา เป็นศาสตร์สาขาวิชาหนึ่งในสังกัดภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่พิจารณาเห็นว่าสาขาจิตวิทยาของนักวิชาการตะวันตกมีจุดกำเนิดและมีความเจริญก้าวหน้าเชิงวิชาการมากว่าสองศตวรรษแล้ว มีรากฐานที่มั่นคงเป็นที่รู้จักและนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแพร่หลายไปทั่วโลกแล้ว โดยเน้นการศึกษาทดลองเชิงวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับความเป็นไปของจิตใจมนุษย์ การแก้ปัญหาจิตที่เกิดขึ้น และหาทางเยียวยาจิตใจ รักษา ฟื้นฟู สภาพจิตใจของมนุษย์ ให้ปลอดภัยมีความสุขจนมาถึงในยุคปัจจุบัน ที่เน้นการส่งเสริม การสร้างสุขภาวะของมนุษย์ 4 ด้าน ได้แก่ สุภาวะทางกาย สุภาวะทางจิต สุภาวะทางสังคม และสุภาวะทางปัญญา จากมุมมองนี้เองที่เป็นข้อพิจารณาว่าหลักพุทธธรรมของพระพุทธองค์มีคุณูประการต่อการแก้ไขต้นเหตุแห่งปัญหาของมนุษย์ ได้อย่างไร้ขอบเขต สามารถนำมาใช้เสริมสร้าง ฟื้นฟู และพัฒนาจิตใจของมนุษย์ ได้อย่างเป็นอย่างดี

         ดังนั้นหากนำจุดแข็งของหลักจิตวิทยาในฐานะศาสตร์ทางตะวันตก มาประยุกต์ร่วมกับจุดเด่นของพุทธธรรม จะเป็นการเพิ่มพูนองค์ความรู้ใหม่ด้านการพัฒนาจิตใจของมนุษย์ได้หลากหลายมิติ เป็นโอกาสที่ดีในการต่อยอดและสร้างสรรค์นวัตกรรมเชิงพุทธจิตวิทยา อันเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตทั้งนี้ในทัศนะของพระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (2566) ได้อธิบายไว้ว่า พุทธจิตวิทยาถือเป็นศาสตร์หนึ่งที่แยกออกมาจากจิตวิทยาทั่วไป เป็นช่องทางของการเรียนรู้การวิจัยและค้นคว้าหาความรู้ เป็นการนำพุทธศาสตร์มาใช้ประโยชน์ในการศึกษาควบคู่ไปกับจิตวิทยา ดังข้อความที่กล่าวเน้นว่า แท้จริงแล้วแก่นพุทธจิตวิทยานั้นต่างจากแก่นพุทธธรรม

         จิตวิทยาทั่วไปที่มีมานานนั้น เป็นศาสตร์ของชาวตะวันตก ซึ่งก็มีหลายสำนักและแตกแขนงออกไปตามลักษณะที่นักจิตวิทยาแต่ละคนศึกษา โดยเราไม่สามารถหาแก่นแท้ที่เป็นพุทธจิตวิทยาในตะวันตกได้อย่างแท้จริง หากพิจารณาดูแล้วจะเห็นได้ว่า พุทธจิตวิทยากับจิตวิทยาแตกต่างกัน แต่มีลักษณะร่วมที่เรียกว่า Family Resemblance คือ ลักษณะที่มีความคล้ายคลึงกัน ลักษณะที่มองออกว่าเป็นครอบครัวเดียวกัน และเราจะทำอย่างไร ให้เกิดการยอมรับว่าพุทธจิตวิทยากับจิตวิทยาเป็นครอบครัวเดียวกัน

         คุณลักษณะที่เป็นแก่นของพุทธจิตวิทยา ตามทัศนะของพระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ให้ทัศนะไว้ว่า“ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ส่วน คือ คือ ปริยัติ (theory) ปฏิบัติ (practice) และ ปฏิเวธ (outcome) ต้องโยงหรืออ้างอิงหากันได้ ถึงจะถือว่าเป็น family resemblance เป็นพุทธจิตวิทยาแท้ ดังนั้น งานวิจัยจะต้องมีครบทุกอย่าง แต่เปอร์เซ็นต์ของแต่ละส่วนอาจแตกต่างกันไป”

 

พุทธจิตวิทยาการวิจัยและวิธีการศึกษาแบบบูรณาการศาสตร์

 

         การวิจัยเป็นแนวทางหนึ่งในการแสวงหาความรู้และสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่อย่างเป็นระบบ ความหมายและวิธีวิทยาการวิจัย ในทัศนะนักวิชาการร่วมสมัย ให้นิยามไว้ดังนี้

         ความหมายตามแนวพุทธศาสนา คำว่า “วิจัย” มาจากคำว่า “วิจโย” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายใช้แทนคำว่า “ปัญญา” ได้หมายถึง “การใช้ปัญญาและการทำให้เกิดปัญญา” ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี และศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ประชุมสุข อาชวอำรุง ได้สอนนิสิตทุกรุ่นว่า นักวิจัยคนแรกของโลกคือ พระพุทธเจ้า และหลักการวิจัยเทียบได้กับหลักอริยสัจสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค มนุษย์จะต้องเข้าใจกระบวนการของเหตุปัจจัยทั้งหลาย แล้วแก้ไขที่เหตุปัจจัย จุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา คือ ความใฝ่ปรารถนาจะพ้นทุกข์สู่ภาวะไร้ทุกข์ พระพุทธศาสนาให้ดูต้นกำเนิดของทุกข์ คือสาเหตุของทุกข์ การเกิดขึ้นของทุกข์เป็นกระบวนการของเหตุปัจจัย เป็นกฎธรรมชาติ คือ ตัวความไม่รู้ ไม่เข้าใจในกระบวนการธรรมชาติหรือความเป็นไปตามเหตุผลนั้น เป็นต้นตอให้เกิดทุกข์ (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต), 2556, น.65-66) กระบวนการศึกษา ตั้งแต่สืบค้นต้นกำเนิดของปัญหาจากเหตุปัจจัย ผ่านการเก็บรวบรวมข้อมูล ความเป็นเหตุเป็นผล รวมทั้งการลงมือปฏิบัติ พิสูจน์ทดลองด้วยตนเอง จนเข้าใจแจ่มแจ้งถึงความเป็นจริงแท้ของธรรมชาติ คือ การวิจัยทางพระพุทธศาสนา

         ความหมายตามแนวคิดของนักวิชาการ คำว่า “Research” มาจากภาษาฝรั่งเศสว่าRecherché หมายถึง การตั้งคำถาม การค้นหา การสืบค้นให้ได้ความจริง (Truth)

         ฮิล และ เคอร์เบอร์ (Hill & Kerber, 1967) ให้ความหมายการวิจัย คือ การแสวงหาความรู้ การประดิษฐ์ ให้ศาสตร์แต่ละสาขาวิชาด้วยวิธีการที่มีระบบ ซึ่งแตกต่างกันในศาสตร์แต่ละสาขาวิชา ตามธรรมชาติของปัญหาและกระบวนการตอบคำถามและการแสวงหาวิธีการแก้ปัญหา

         เคอร์ลิงเจอร์ (Kerlinger, 1986) ให้ความหมายว่า หมายถึง การศึกษาปรากฏการณ์ต่าง ๆ ใช้กระบวนวิทยาศาสตร์และใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ในทุกขั้นตอนของกระบวนการวิจัย มีการทดสอบสมมุติฐานและมีแนวคิดหรือทฤษฎีสนับสนุนสมมุติฐานที่ทดสอบ

         สุนทร โคตรบรรเทา (2560, น. 24) สรุปว่า การวิจัย ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Research” แยกคำศัพท์ได้ว่า Re + Search ซึ่ง Re แปลว่า อีก ใหม่ อีกครั้ง คำว่า Search แปลว่า ค้น ค้นคว้า การวิจัยจึงหมายถึง การค้นอีก การค้นใหม่ และการค้นคว้าอีกครั้ง เป็นการค้นหาคำตอบจากสิ่งที่ไม่รู้ สิ่งที่อยากรู้ และสิ่งที่ต้องการคำตอบ

         วรรณี แกมเกตุ (2558, น. 25) ได้ให้ความหมายคำว่า “การวิจัย” หมายถึงกระบวนการค้นคว้าหาข้อเท็จจริงหรือปรากฏการณ์ตามธรรมชาติอย่างมีระบบระเบียบและมีจุดมุ่งหมายที่แน่นอน เพื่อให้ได้ความรู้ที่เชื่อถือได้

          สุภางค์ จันทวนิช (2557, น. 12) ให้ความหมาย“การวิจัย” หมายถึง กระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริง หรือการพยายามค้นหาคำตอบ หรือหาความรู้ความเข้าใจในปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมโดยใช้วิธีการศึกษาอย่างมีระเบียบและมีหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ (scientific methods)

         ศิริชัย กาญจนวาสี (2556, น.2) ให้ความหมายของคำว่า “การวิจัย” คือ กระบวนการแสวงหาหรือพัฒนาองค์ความรู้ที่มีลักษณะเป็นนัยทั่วไปอย่างมีระบบแบบแผน มีวิธีการเป็นที่เชื่อถือได้

         สุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธุ์ (2555, น.1) ให้ความหมายว่า “การวิจัย” หมายถึง กระบวนการแสวงหาความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในสิ่งที่ต้องการศึกษา มีการเก็บรวบรวมข้อมูล การจัดระเบียบ ข้อมูล การวิเคราะห์และการตีความหมายผลที่ได้จากการวิเคราะห์ ทั้งนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบ

         เมื่อพิจารณาจากความหมายของการวิจัยดังกล่าว สรุปได้ว่า การวิจัย หมายถึง การศึกษาค้นคว้าเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ ความจริง โดยใช้กระบวนการที่เป็นระบบ มีแบบแผนอย่างถูกต้องเหมาะสม ความรู้ที่ได้จากผลการวิจัยอาจเป็นความรู้ใหม่หรือความรู้ที่สามารถนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งเป็นความรู้ที่น่าเชื่อถือและมีคุณค่าต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต การอยู่ร่วมกันในสังคม รวมทั้งสามารถนำมาต่อยอดในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมต่อไป

 

วิธีการศึกษาแบบบูรณาการศาสตร์

 

         พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต), (2553) ได้ให้ความหมายของ ศาสตร์ หมายถึง ระบบการแสวงหาความรู้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และระบบวิชาความรู้ที่ได้จากวิธีการเช่นนั้น (a system of acquiring knowledge based on scientific method) นั่นคือ ศาสตร์จะต้องมีวิธีการแสวงหาความรู้ ซึ่งใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ และได้องค์ความรู้มาจากวิธีการนั้น และได้อธิบายว่า คําว่า “บูรณาการ” (integration) หมายถึง การนําสิ่งที่แยกกันมารวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจนเกิดองค์รวม (the whole) ถ้าศรัทธาในพระพุทธศาสนากับปัญหาทางวิทยาศาสตร์เป็นไปในทางเดียวกันคือส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกันก็จะก่อให้เกิดองค์รวมที่สมบูรณ์ องค์รวมนี่แหละคือบูรณาการเนื่องจากคําว่า “วิทยาศาสตร์” ครอบคลุมไปถึงศาสตร์สมัยใหม่ ที่อาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์สร้างระบบความรู้ขึ้นมา เช่น ครุศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ เราจึงสามารถบูรณาการพระพุทธศาสนาเข้ากับศาสตร์สมัยใหม่ด้วย

         วิธีที่ 1 การปรับศาสตร์เข้าหาศาสนา วิชาพุทธศาสตร์ (Buddhist Studies) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พุทธวิทยาหรือพุทโธโลยี (Buddhology) นิยมใช้วิธีแรกในการบูรณาการพระพุทธศาสนากับศาสตร์สาขาต่าง ๆ คือ ใช้องค์ความรู้ในศาสตร์ทั้งหลายมาช่วยอธิบายขยายความพระพุทธศาสนาซึ่งจะช่วยทำให้พระพุทธศาสนาเป็นที่ยอมรับของคนรุ่นใหม่ได้ง่ายมากขึ้น

         วิธีที่ 2 ปรับพระพุทธศาสนาเข้าหาศาสตร์ วิธีบูรณาการแบบที่ 2 เป็นการปรับพระพุทธศาสนาเข้าหาศาสตร์สมัยใหม่ คือ ใช้ศาสตร์สมัยใหม่เป็นตัวตั้งแล้วนําหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาเป็นส่วนเสริมเพื่อช่วยให้เกิดความสมบูรณ์ด้วยมิติทางศีลธรรมของศาสนา วิธีการนี้ใช้กับการศึกษาแบบธรรมประยุกต์หรือ ที่เรียกว่า ธรรมวิทยา หรือธรรมโมโลยี (Dhammology) คําว่า “ประยุกต์” หมายถึง “ปรับใช้ประโยชน์” ดังนั้น วิธีบูรณาการแบบที่ 2 ก็คือ การศึกษาแบบธรรมประยุกต์ ซึ่งหมายถึงการปรับใช้ธรรมให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ โดยอาศัยศาสตร์สมัยใหม่เป็นสะพาน วิธีการนี้นอกจากจะช่วยทำให้ธรรมเป็นอกาลิโกคือไม่ล้าสมัย เพราะ สามารถปรับเข้ากับวิถีชีวิตของทุกคนทุกยุคทุกสมัย แล้วยังจะเป็นการช่วยนําศีลธรรมกลับมาสู่โลกนี้อีกด้วย

         ในทำนองเดียวกัน พระเทพวัชรบัณฑิต (สมจินต์ สมฺมาปญฺโญ) (2558, น.13-14) ได้เสนอทัศนะพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่ แนวคิดทฤษฎีและแนวปฏิบัติเชิงบูรณาการ “พระพุทธเจ้ากับนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลก ศึกษาและค้นพบสิ่งเดียวกันหรือไม่ พิจารณาดูได้จาก 1) สิ่งที่ศึกษา 2) วิธีการศึกษา และ 3) ผลของการศึกษา ซึ่งเชื่อได้ว่า ศึกษาและค้นพบสิ่งเดียวกัน จะต่างกันก็แต่เพียงความลึกซึ้งเท่านั้น ได้เสนอวิธีการศึกษาไว้ 3 ประเด็น

วิธีที่ 1 วิธีการหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาและหลักการทางวิทยาศาสตร์อธิบายเสริมกันและกันให้เป็นที่เข้าใจง่ายขึ้น

วิธีที่ 2 การนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปเติมเต็มวิทยาการใหม่ ๆ ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

วิธีที่ 3 การนำหลักธรรมมาเป็นฐานในการทำให้วิทยาการใหม่ ๆ ทั้งหลายมีโอกาสได้แสดงฐานะและบทบาทยิ่งขึ้น นั่นคือผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาการยุคใหม่ได้หันมาศึกษาปฏิบัติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา พัฒนาตนเองให้มีความเข้มแข็งสามารถยืนหยัดอยู่ได้ในท่ามกลางโลกธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีและไม่ดีตลอดเวลา

         พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส (2557) ได้เสนอรูปแบบการศึกษาแบบพุทธบูรณาการ เรียกว่า รูปแบบเชิงมโนทัศน์ของการเรียนรู้แบบสหวิทยาการระหว่างพระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่ เป็นทางเลือกใหม่ของการศึกษา ประกอบด้วย 3 ศาสตร์หลัก คือ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์มาประยุกต์เข้าด้วยกัน เพื่อมุ่งศึกษาเกี่ยวกับเรื่องราว ประเด็น ปัญหา หัวข้อ หรือประสบการณ์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยมีกระบวนการและขั้นตอนในการศึกษา ดังนี้

  1. การเลือกหัวข้อที่เป็นศูนย์กลางของการศึกษา
  2. การกำหนดกรอบทำงานร่วมกันระหว่างพระพุทธศาสนาและวิทยาการหรือศาสตร์สมัยใหม่สาขาต่าง ๆ แบบเป็นเอกภาพ
  3. การจัดกลุ่มชุดข้อมูลของแต่ละชุดชั้นจำเป็นต้องใช้กระบวนการวิเคราะห์ฉากทัศน์ (Scenario Analysis) ให้สอดรับกับการใช้งานจริงในแต่ละบริบท

     ดังนั้น วิธีการบูรณาการหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาร่วมกับศาสตร์สาขาอื่น ๆ สรุปได้ดังนี้

  1. จุดเด่นของหลักพุทธธรรม คือการพัฒนามนุษย์ให้มีปัญญา และมีศีลธรรม ความมีปัญญาคือสามารถคิดแก้ปัญหา ปรับปรุง สร้างสรรค์พัฒนางานต่างๆ ได้ เมื่อมีปัญญาก็สามารถเรียนรู้ในศาสตร์สาขาต่าง ๆ ได้ อย่างดีและมีศีลธรรมกำกับ ดังนั้นการนำหลักพุทธธรรมไปบูรณาการกับศาสตร์สาขาอื่น ๆ จึงทำได้กับทุกศาสตร์ และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ศาสตร์สาขานั้น ๆ มีความสมบูรณ์มายิ่งขึ้นทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ
  2. นอกจากการพัฒนามนุษย์แล้ว หลักพุทธธรรมบางหมวดยังใช้เป็นหลักในการทำงานได้อีกด้วย เช่น หลักอริยสัจ 4 เป็นกระบวนการแก้ปัญหา หลักพรหมวิหาร 4 ยังมีนัยยะในการนำไปใช้ปฏิบัติต่อบุคคลอื่นได้อีกด้วย หรือหลักกัลยาณมิตร ที่นำไปใช้ปฏิบัติต่อบุคคลอื่น เป็นต้น
  3. การบูรณาการหลักพุทธธรรมกับศาสตร์ สาขาอื่น ๆ อาจทำได้ 4 วิธี ดังนี้

                      1) การใช้พุทธธรรมเป็นฐานหลักและนำความรู้ในศาสตร์อื่นๆ มาเสริม

                      2) การใช้ศาสตร์สาขาอื่นๆ เป็นฐาน แล้วนำหลักพุทธธรรมไปเสริม

                      3) การนำจุดเด่นของความรู้จากศาสตร์ทั้งสอง มาหลอมรวมให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

                      4) การนำความรู้จากศาสตร์ทั้งสองมาสลับใช้ในกระบวนการในแต่ละขั้นตอน

            วิธีการทั้งสี่ประการนี้ พิจารณาการนำมาใช้ตามความเหมาะสมของแต่ละสถานการณ์

         จากแนวทางการบูรณาการศาสตร์ข้างต้น จะเห็นทิศทางการบูรณาศาสตร์ระหว่างพระพุทธศาสนากับศาสตร์วิทยาการสมัยใหม่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนามนุษย์แบบองค์รวม ส่วนในการปฏิบัติในบูรณาการได้ในระดับใดนั้น เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาให้ถึงขอบเขตของการบูรณาการครอบคลุมทั้งหมดหรือไม่ ดังคำกล่าวของพระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) (2540, น. 55) ได้ให้แนวทางไว้ว่า ระบบแห่งการบูรณาการ ต้องครอบคลุมในทุกระดับของพัฒนาการ และบูรณาการจะต้องทำให้แต่ละส่วนหรือทุกส่วนทุกขนาดภายในองค์รวม หรือภายในองค์ประกอบย่อย ๆ ไปพร้อม ๆ กันด้วย

 

กระบวนการวิจัยในพุทธจิตวิทยา

 

         การวิจัยในสาขาวิชา “พุทธจิตวิทยา” ระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต เน้นที่การสร้างสรรค์ องค์ความรู้ใหม่ โดยอาศัยความรู้หลักด้านจิตวิทยาบูรณาการร่วมกับความรู้ด้านหลักพุทธธรรม จากศึกษาทฤษฎีสู่การปฏิบัติมาข้างต้นมาแล้วนั้น ในส่วนท้ายนี้ขอนำเสนอกระบวนการวิจัยเป็นขั้นตอนใหญ่ ๆ ได้ 3 ขั้นตอน แนวทางดำเนินการในแต่ละขั้นตอน โดยสรุปดังนี้

         ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาสภาพทั่วไป บริบท ปัญหา และสาเหตุที่เกิดขึ้นของงานวิจัยที่ทำ ให้มีความชัดเจน เป็นการศึกษาสภาพปัญหาการวิจัย ที่เกิดขึ้นให้ชัดเจน ผู้วิจัยต้องศึกษาให้ได้ว่าสภาพปัญหาที่ปรากฏให้เห็นนั้น เป็นปัญหาแท้จริงใช่หรือไม่ เพื่อนำไปสู่การค้นหาสาเหตุของปัญหาที่ถูกต้องได้ ทำให้เห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่สาเหตุได้ถูกทางมากขึ้น การศึกษาสภาพปัญหาและสาเหตุ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การสอบถาม การสัมภาษณ์ การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกของสถานการณ์ที่เป็นปัญหา การสนทนากลุ่ม การสังเกต การเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มภาคสนาม หรือการประชุมกลุ่มย่อย โดยทำกับกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับสภาพปัญหา จุดนี้เองทำให้ผู้วิจัยมองเห็นประเด็นที่ต้องทำการแก้ไข ปรับปรุง หรือ พัฒนา รวมทั้งข้อเสนอแนะอื่น ๆ ส่งผลให้ผู้วิจัยเริ่มเห็นแนวทางในการแก้ปัญหาได้บ้างแล้ว แนวทางดังกล่าวจะชัดเจนมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของการดำเนินการศึกษาที่ผู้วิจัยนำมาใช้ อาจเป็นวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือใช้หลายวิธีร่วมกันก็ได้

         ขั้นตอนที่ 2 พัฒนาองค์ความรู้ที่เป็น “แนวทางแห่งพุทธจิตวิทยา” เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาดังกล่าว เป็นการผลสรุปที่ได้จากขั้นตอนที่ 1  ผู้วิจัยจำเป็นต้องค้นคว้าหาความรู้ในวิทยาการที่จะนำมาใช้กำหนดเป็นวิธีการแก้ไขปัญหา โดยอาศัยหนังสือ ตำรา เอกสารต่าง ๆ และหรือเก็บข้อมูลจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีทักษะความชำนาญ หรือใช้หลาย ๆ วิธีผสมผสานกันก็ได้ โดยเลือกใช้วิทยาการวิจัยให้เหมาะสมกับงาน

         ในสาขาของพุทธจิตวิทยานั้นมีความจำเป็นอยู่ที่ต้องนำองค์ความรู้จากทฤษฎี หลักการแนวคิดของจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่วิจัย ในฐานะศาสตร์ร่วมสมัยมาใช้ในการแก้ปัญหา โดยศึกษาหลักพุทธธรรมที่เอื้ออำนวยสอดคล้อง สนับสนุนการแก้ปัญหา เป็นการบูรณาการความรู้ร่วมกัน 2 สาขา จะร่วมกันในลักษณะแบบใด ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมต่อปัญหาที่ต้องแก้ไข ซึ่งผลที่ได้ไม่ใช่แค่แนวคิด หรือแนวทาง แต่ต้องสร้างเป็นกระบวนการที่นำไปใช้แก้ปัญหาได้จริงด้วย

         ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้กระบวนการทางพุทธจิตวิทยา ที่สร้างขึ้น จากขั้นตอนที่ 2 ไปทดลองใช้ในสถานการณ์จำลองที่เป็นเสมือนจริง และสามารถควบคุมตัวแปรที่ไม่พึงประสงค์ ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ ในขั้นตอนนี้จะเป็นขั้นของการพิสูจน์ ว่ากระบวนการพุทธจิตวิทยาที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้แก้ปัญหา สามารถนำไปใช้ในสภาพการณ์ที่เป็นจริงได้แล้ว

การดำเนินการตามขั้นตอนวิจัยหลัก 3 ขั้นตอน ดังที่กล่าวสรุปมานี้  เป็นการพัฒนานวัตกรรมด้านพุทธจิตวิทยา ที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อวิถีการดำเนินชีวิต ทั้งในส่วนระดับบุคล และในระดับสังคมได้เป็นอย่างดี

 

ข้อควรระวังที่นักวิจัยพึงต้องพิจารณาเป็นพิเศษในการบูรณาการพุทธจิตวิทยา

 

  1. ผู้วิจัยต้องทำความเข้าใจและเข้าถึงหลักพุทธธรรม ที่จะนำมาใช้ให้ลึกซึ้งเพียงพอ เพราะความลุ่มลึกของหลักพุทธธรรมแต่ละหมวด มีนัยยะอยู่หลายหลายมิติ ในการนำไปใช้งานจริง ตัวอย่างเช่น หลักธรรมหมวดอิทธิบาท 4 ซึ่งประกอบด้วยธรรม 4 ประการ (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา) จะมีความหมายที่จะพิจารณา ได้อย่างน้อย 3 มิติ คือ

มิติที่ 1 อิทธิบาท 4 เป็นวิธีการปฏิบัติงาน บุคคลใดจะทำหน้าที่การงาน ที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีได้ ต้องปฏิบัติข้อธรรมทั้งสี่ให้ครบถ้วน จะเลือกปฏิบัติ ข้อใดข้อหนึ่ง โดยไม่ปฏิบัติให้ครบทั้งหมด ก็ไม่สามารถทำงานให้สำเร็จและเรียบร้อยอย่างสมบูรณ์ ได้เรียกว่าปฏิบัติไม่ครบองค์ธรรมแห่งอิทธิบาท

มิติที่ 2 อิทธิบาท 4 เป็นเครื่องชี้วัดคุณสมบัติบุคคล โดยกล่าวได้ว่า ผู้ที่ปฏิบัติงานได้ดีควรมีคุณลักษณะแห่งอิทธิบาท 4  สามารถใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกบุคคลทั่วไปเข้าทำงานได้อีกด้วย

มิติที่ 3 เป็นจุดมุ่งหมายในการฝึกบุคคล จะฝึกอย่างไรให้เกิดความมีฉันทะ ฝึกอย่างไรให้เกิดวิริยะ มนุษย์จะต้องหาทางฝึกฝนตัวเองอย่างไร จึงจะทำให้มีคุณลักษณะทั้ง 4 ประการเกิดขึ้นในตน

  1. ผู้วิจัยพึงทำความเข้าใจและเข้าถึงหลักการ แนวคิด ทฤษฎีจิตวิทยาที่จะนำมาใช้ ให้ลึกซึ้ง ชัดเจน โดยเฉพาะนำไปใช้กับมนุษย์ เช่นเดียวกัน เนื่องจากทฤษฎีจิตวิทยาส่วนใหญ่ที่นำมาอ้างอิง เป็นผลงานของนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญจากซีกโลกตะวันตก อันมีพื้นฐานวัฒนธรรม การหล่อหลอมวิถีดำเนินชีวิตแตกต่างไปจากโลกทางตะวันออก ดังนั้น การนำมาประยุกต์ใช้ จึงต้องพิจารณาตามเป้าหมายของการศึกษา
  2. วิธีการหลอมรวมหรือบูรณการองค์ความรู้จากศาสตร์ ต่างสาขาเข้าด้วยกันทำได้ 4 รูปแบบ คือ

1) ใช้องค์ความรู้ด้านจิตวิทยาเป็นหลัก แล้วนำหลักพุทธธรรมเข้ามาส่งเสริมหรือสนับสนุน

2) ใช้องค์ความรู้ด้านพุทธธรรมเป็นหลัก แล้วนำความรู้ด้านจิตวิทยามาส่งเสริมหรือสนับสนุน

3) การนำจุดเด่นความรู้จากศาสตร์ต่างสาขา มาผสมผสานหลอมรวมเข้าด้วยกัน

4). นำความรู้ต่างสาขา มาสลับกันใช้ในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการปฏิบัติการ

 

เป้าหมายของการวิจัยและการนำองค์ความรู้ทางจิตวิทยาไปใช้ประโยชน์

 

         เป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายของการวิจัยทางพุทธจิตวิทยาแบ่งเป็น 3 แนวทาง ได้แก่ 1) ระดับประโยชน์ 2) เป้าหมายของการพัฒนาความสุข 3) ประโยชน์จากการนำผลวิจัยไปใช้ สรุปดั้งนี้

 

         1.ระดับของประโยชน์

         หลักคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงเผยแผ่ คือ ความจริงที่เป็นประโยชน์ ใช้แก้ทุกข์ได้ ลักษณะทั่วไปของหลักพุทธธรรม คือเป็นเรื่องของการดำเนินชีวิต เป็นหลักการและวิธีปฏิบัติเพื่อเข้าสู่จุดหมาย 3 ประการ เรียกว่า อัตถะ 3 ถ้าแบ่งตามระดับ เป็น 3 ระดับ คือ (พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต), 2540, น. 26-30)

1) ทิฏฐธัมมิกัตถะ เป็น ประโยชน์ปัจจุบัน หรือประโยชน์อย่างที่เห็น ๆ กันอยู่ มองเห็นได้ในแง่กาละ ก็คือ ปัจจุบัน สภาพภายนอก เช่น การมีปัจจัย 4 มีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย มีฐานะ มีลาภ มีเกียรติ มียศ มีสรรเสริญ เรื่องชีวิตคู่ครอง ความมีมิตรไมตรี ชีวิตปัจจุบันนี้ ที่มองเห็น ๆ นี้เป็นจุดหมายประการหนึ่งในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ หรือการปฏิบัติตามธรรมในพระพุทธศาสนา

2) สัมปรายิกัตถะ เป็นประโยชน์เบื้องหน้า ประโยชน์ในภายหน้าหรือประโยชน์ในภพหน้า

3) ปรมัตถ์ หรือ ปรมัตถะ คือ ประโยชน์อย่างสูงสุด ความมีใจเป็นอิสระ ความมีจิตหลุดพ้น มีจิตใจปลอดโปร่งผ่องใสเบิกบานอยู่ได้ตลอดเวลา เพราะปราศจากกิเลส เป็นเรื่องนิพพาน

    นัยยะของอัตถะ 3 อย่าง อีกแบบหนึ่ง คือ

1) อัตตัตถะ ประโยชน์ตน

2) ปรัตถะ ประโยชน์ผู้อื่น

3) อุภยัตถะ ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย หรือ ประโยชน์ร่วมกัน

 

         2. เป้าหมายของการพัฒนาความสุข

         การพัฒนาความสุข ในทางพุทธจิตวิทยา มุ่งการพัฒนามนุษย์ให้สมบูรณ์แบบองค์รวม เติบโตทุกมิติ 4 ด้าน คือ ร่างกาย ศีล จิต ปัญญา คำว่า พัฒนา แปลว่า เจริญ ตรงกับคำบาลีว่า ภาวนา คำว่า ภาวนา 4 หมายถึง การเจริญ การทำให้เป็น ให้มีขึ้น การฝึกอบรม พัฒนา ตามหลักภาวนา 4 มีความหมายและลักษณะดังนี้ คือ (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) , 2556, น. 348-349)

1) กายภาวนา (physical development) หมายถึง การเจริญกาย   พัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุหรือทางกายภาพ (เทคโนโลยี) รับรู้สิ่งทั้งหลายทางอินทรีย์ 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ด้วยดี โดยปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นในทางที่เป็นคุณ มิให้เกิดโทษ ให้กุศลธรรมงอกงาม ให้อกุศลธรรมเสื่อมสูญ

2) สีลภาวนา (moral development) หมายถึง การเจริญศีล พัฒนาศีล พัฒนาความประพฤติ พัฒนาความสัมพันธ์ทางสังคม ตั้งอยู่ในระเบียบวินัย ไม่เบียดเบียนก่อความเดือดร้อนเสียหาย อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยดีและเกื้อกูลกัน

3) จิตตภาวนา (emotional development) หมายถึง การเจริญจิต พัฒนาจิต คือ ฝึกอบรมพัฒนาจิตใจ ให้เข้มแข็งมั่นคง เจริญงอกงามด้วยคุณธรรม เช่น มีเมตตากรุณา มีฉันทะ ขยันหมั่นเพียร อดทน มีสมาธิ และสดชื่น เบิกบาน เป็นสุข ผ่องใส เป็นต้น

4) ปัญญาภาวนา (wisdom development) หมายถึง การเจริญปัญญา ฝึกอบรมพัฒนาปัญญา ให้เจริญงอกงาม จนเกิดความรู้แจ้งชัดความเป็นจริง เข้าใจสิ่งทั้งหลายรู้เท่าทัน เห็นแจ้งทางโลกและชีวิตตามสภาวะ ทำจิตใจให้เป็นอิสระ บริสุทธิ์จากกิเลส ปลอดพ้นจากทุกข์ แก้ไขปัญหาโดยใช้ปัญญา

 

         3. ประโยชน์จากการนำผลวิจัยไปใช้

         องค์ความรู้ด้านพุทธจิตวิทยาที่สร้างหรือพัฒนาขึ้น นำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น

1) ประโยชน์ต่อตนเอง ประโยชน์ที่ผู้ศึกษาพึงได้รับขึ้นอยู่กับ ความรู้ความสามารถ ทักษะ การให้ความรู้ ความชำนาญ ของผู้สอน วิธีการเรียน การฝึกฝน การนำความรู้ไปใช้ของผู้ศึกษา ความสามารถในการวิจัยขึ้นอยู่กับประสบการณ์ทำงานวิจัย ยิ่งศึกษาวิจัยมากเท่าไร ความสามารถในการวิจัยจะมีมากขึ้นเท่านั้น (สุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธ์, 2555, น. 19-20 ; วรรณี เกมเกตุ, 2555, น. 20-21)

2) ประโยชน์ในระดับบุคคลและสังคม ได้แก่ การแก้ปัญหา ปรับปรุงวิถีการดำเนินชีวิต การปฏิบัติงานประจำ การอยู่กับบุคคลในสังคม การพัฒนาบุคคลตามช่วงวัยตั้งแต่เด็กเล็กไปถึงผู้สูงวัยหรือแม้แต่การเตรียมตัวเผชิญกับความตาย นอกจากนี้ในระดับองค์กร สามารถเอาผลวิจัยไปประยุกต์ใช้พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและบุคลกรอย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข

3) ประโยชน์ในระดับนโยบาย สำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จนถึงระดับรัฐบาล นำวิถีปฏิบัติจากนวัตกรรมเชิงพุทธจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับนโยบายด้านต่าง ๆ ไปวางแผน เตรียมการปฏิบัติ อย่างต่อเนื่องทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

4) ประโยชน์ทางวิชาการและการวิจัยสร้างสรรค์สหสาขาวิชาการ การวิจัยช่วยให้เกิดวิทยาการ
ใหม่ ๆ นำผลการวิจัยไปแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงประเด็น เข้าใจปรากฏการณ์และพฤติกรรมของมนุษย์ ที่จะต่อยอดการพัฒนาองค์ความรู้ ไปได้อย่างไร้พรมแดน นำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์ในมุมกว้าง การศึกษาสหวิทยาการใหม่ ๆ นำแก่นพุทธจิตวิทยาไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างประโยชน์ต่อมนุษยชาติได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

 

บทสรุป

 

         พุทธจิตวิทยากับการวิจัย มีระเบียบวิธีการศึกษาวิจัยที่มีลักษณะเฉพาะ ผู้วิจัยจำเป็นต้องเข้าถึงศาสตร์แห่งพุทธจิตวิทยา ต้องศึกษาหลักพุทธธรรม ทฤษฎีจิตวิทยา และวิธีวิทยาการวิจัยอย่างลึกซึ้ง มีจุดมุ่งหมายการวิจัยเพื่อพัฒนามนุษย์แบบองค์รวม คำนึงถึงความต้องการจำเป็นที่ต้องนำองค์ความรู้จากทฤษฎี หลักการ แนวคิดของจิตวิทยาในฐานะศาสตร์ร่วมสมัยมาบูรณาการกับหลักพุทธธรรมเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาให้แก่มนุษย์และสังคม

         แก่นหลักของพุทธจิตวิทยาต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ คือ เนื้อหาปริยัติ (theory) วิธีการปฏิบัติ (practice) และ การเข้าถึงปฏิเวธ (outcome) เกิดนวัตกรรมที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ถึงจะถือว่าเป็น family resemblance ของศาสตร์ทางจิตวิทยา

         กระบวนการวิจัยทางพุทธจิตวิทยาที่สำคัญ มี 3 ขั้นตอนได้แก่ 1) การศึกษาสภาพปัญหาการวิจัย 2)  การพัฒนาองค์ความรู้แบบบูรณาการตาม “แนวทางแห่งพุทธจิตวิทยา” และ 3) การทดลองใช้กระบวนการทางพุทธจิตวิทยาที่พัฒนาขึ้น โดยมีวิธีบูรณาการองค์ความรู้ 3 แนว คือ (1) ใช้องค์ความรู้ด้านจิตวิทยาเป็นหลักแล้วนำหลักพุทธธรรมเข้ามาส่งเสริมหรือสนับสนุน (2) ใช้องค์ความรู้ด้านพุทธธรรมเป็นหลัก แล้วนำองค์ความรู้ด้านจิตวิทยามาส่งเสริมหรือสนับสนุน (3) การนำจุดเด่นขององค์ความรู้จากศาสตร์ต่างสาขามาหลอมรวมกัน

         จุดมุ่งหมายของการวิจัยทางพุทธจิตวิทยา มุ่งให้เกิดประโยชน์ตามหลักอรรถประโยชน์ 3 ประการ คือ  1) เกิดประโยชน์ในการแก้ไข ปรับปรุง พัฒนาสุขภาวะองค์รวมของตัวบุคคล 2) ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง และ 3) ประโยชน์ที่เกิดขึ้นแก่ส่วนรวมและสังคม ประโยชน์ที่ได้ในภาพรวมคือการแก้ปัญหา ปรับปรุงวิถีการดำเนินชีวิต การปฏิบัติงานประจำ หรือการอยูร่วมกับบุคคลในสังคมทุกช่วงวัยของอายุตั้งแต่ระดับเด็กเล็กไปถึงระดับผู้สูงวัย เป็นประโยชน์ในระดับนโยบาย สำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จนถึงระดับรัฐบาล ต้องคิดนำวิถีปฏิบัติจากนวัตกรรมเชิงพุทธจิตวิทยา ไปวางแผน เตรียมการปฏิบัติ อย่างต่อเนื่องทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งประโยชน์ต่อการพัฒนาวิชาการและการวิจัยในเชิงสร้างสรรค์ของสหสาขาวิชาการ ที่จะต่อยอดการพัฒนาองค์ความรู้ไปได้อย่างไร้พรมแดน เพื่อสร้างประโยชน์ต่อมนุษยชาติได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

         แนวโน้มการศึกษาทางพุทธจิตวิทยาที่นักวิชาการสาขาจิตวิทยาและสาขาพระพุทธศาสนา ควรช่วยกันคิดว่า จะทำวิจัยในทิศทางใดจะช่วยเยียวยาจิตใจคนในสังคมได้อย่างยั่งยืน การประยุกต์ใช้หลักธรรมเพื่อบำบัดจิตใจของบุคคลที่มีความทุกข์ การพัฒนาจิตและปัญญาของคนในสังคมโดยการนำหลักธรรมไปส่งเสริมประยุกต์ใช้แนวทางปฏิบัติในชีวิตและการทำงานให้มีความสุขอย่างมั่นคง ซึ่งสามารถใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มาพิสูจน์ให้เห็นผลได้เชิงประจักษ์ เพื่อพัฒนาสร้างสรรค์องค์ความรู้และข้อค้นพบใหม่ ๆ ให้เกิด ขึ้นในวงการศึกษาและสร้างศาสตร์ทางพุทธจิตวิทยาให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้างต่อไป

 

รายการอ้างอิง

 

ประพัฒน์ ศรีกูลกิจ. (2559). พุทธจิตวิทยาและสังคมและวัฒนธรรมไทย. โครงการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต กองวิชาการ สำนักงานอธิการบดี: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

 

พระเทพวัชรบัณฑิต (สมจินต์ สมฺมาปญฺโญ). (2558). พระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่: แนวคิดทฤษฎีและแนวปฏิบัติเชิงบูรณาการ. https://www.mcu.ac.th/article/detail/35387.

 

พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต). (2553). วิธีบูรณาการพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่. [สารนิพนธ์พุทธศาสตรบัณฑิต ไม่ได้ตีพิมพ์]. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

 

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส. (2557). พระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่. โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

 

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). (2540). การศึกษา: พัฒนาการหรือบูรณาการ. สหธรรมิก.

 

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2556). พุทธวิธีการสอน (พิมพ์ครั้งที่ 18). พิมพ์สวย.

 

_________. (2556). พระพุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์ (พิมพ์ครั้งที่ 11). สำนักพิมพ์ผลิธัมม์.

 

_________. (2561). จากจิตวิทยาสู่จิตภาวนา. (พิมพ์ครั้งที่ 18). ผลิธัมม์.

 

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). (2554). พุทธธรรม (พิมพ์ครั้งที่ 9). โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

 

พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตโต). (2566). แก่นพุทธจิตวิทยา. โรงพิมพ์เชนปริ้นติ้ง.

 

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.(2539). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

 

วรรณี แกมเกตุ. (2555). วิธีวิทยาการวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

ศิริชัย กาญจนวาสี. (2556). การเลือกใช้สถิติที่เหมาะสมสำหรับการวิจัย (พิมพ์ครั้งที่ 4). บุญศิริการพิมพ์.

 

สุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธ์. (2555). ระเบียบวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์ (พิมพ์ครั้งที่ 15). สามลดา.

 

สุนทร โคตรบรรเทา. (2560). หลักการทำและการเขียนวิทยานิพนธ์และการวิจัย. สำนักพิมพ์ปัญญาชน.

 

สุภางค์ จันทวานิช. (2552). วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (พิมพ์ครั้งที่ 17). สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

Hill, J.E. & Kerber A. (1967). Models and analytical procedures in educational research. Wayne State University Press.

 

Kerlinger, F.N. (1986). Foundation of behavioral research (3rded.). Holt Rinehart and Winston.

 

Padmasiri De Silva, P.D. (2005).  An introduction to Buddhist psychology (4th ed.). Palgrave Macmillan.