Buddhist Counseling
สาระ มุขดี1
วิศาล สายเพชร์2
สุธีราพร มณีวงศ์วานิช3
1ผศ.ดร. อาจารย์พิเศษภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
2ดร. ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
3นักวิชาการอิสระ
บทนำ
ในปัจจุบันกระบวนการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจบุคคลที่ประสบความทุกข์ทางใจด้วยการสนทนาสื่อสารผ่านปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบของการปรึกษาทางจิตวิทยามีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับ และขยายการช่วยเหลือไปในทุกบริบทของสังคมด้วยความจริงที่ปรากฏว่ามนุษย์ทุกคนจะต้องประสบกับความทุกข์ทางใจอย่างไม่มีบุคคลใดจะหลีกหนีได้พ้น การปรึกษาทางจิตวิทยาจึงเป็นกระบวนการช่วยเหลือระหว่างผู้ให้การปรึกษากับผู้รับการปรึกษาโดยที่ผู้ให้การปรึกษาจะเอื้ออำนวยให้ผู้รับการปรึกษาได้พิจารณาใคร่ครวญทำความเข้าใจในประเด็นปัญหาที่ประสบจนสามารถแสวงหาแนวทางในการคลี่คลายปัญหาได้ด้วยแนวทางของตนเอง การนำองค์ความรู้ในกระบวนการปรึกษาอย่างเป็นขั้นตอนจะช่วยให้ผู้รับการปรึกษาสามารถใช้ศักยภาพของตนในการดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธเป็นการนำความรู้ความเข้าใจตามแนวจิตวิทยาการปรึกษามาผสมผสานกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเพื่อให้ผู้รับการปรึกษาเกิดความเข้าใจในชีวิตที่แท้บนฐานของการคลี่คลายปัญหาอย่างเข้าใจความเป็นจริงชีวิตที่เป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติเป็นกระบวนการปรึกษาแนวพุทธที่มุ่งเน้นให้บุคคลมีความรู้ความเข้าใจองค์ธรรมและนำมาประพฤติปฏิบัติเพื่อลดความทุกข์ที่กำลังเผชิญอยู่จนสามารถนำมาใช้ในวิถีการดำเนินชีวิตและดำรงตนได้อย่างเป็นสุขสงบเย็นจนเป็นปกติวิสัย ในบทความนี้ผู้เขียนขอนำเสนอ ความหมายความสำคัญของจิตวิทยาการปรึกษาและกระบวนการ/ทักษะการสื่อสารเพื่อการปรึกษา และความสำคัญของการปรึกษาแนวพุทธจิตวิทยา หลักธรรมที่เกี่ยวข้อง คุณลักษณะของผู้ให้การปรึกษาแนวพุทธรวมถึงแนวทางในการให้การปรึกษาตามแนวพุทธจิตวิทยา โดยมีรายละเอียดดังนี้
จิตวิทยาการปรึกษา
จิตวิทยาการปรึกษาเป็นสาขาหนึ่งของจิตวิทยาที่มีผู้ให้ความหมายไว้ดังนี้
สมาคมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาอเมริกัน (American Counseling Association, 2020) ได้ให้คำจำกัดความของการให้การปรึกษาว่า เป็นการประยุกต์ใช้หลักการทางจิตวิทยา และการพัฒนามนุษย์ผ่านทางกระบวนการทางความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม โดยมุ่งเน้นให้บุคคลมีการเติบโตงอกงามสมบูรณ์ตามแบบของแต่ละบุคคล การให้การปรึกษาด้านจิตวิทยาจึงเป็นการช่วยให้ผู้มาปรึกษาได้ใช้ความสามารถและศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ในการทำความเข้าใจและแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง ผ่านการปรึกษาผู้ให้การปรึกษามีความรู้ความสามารถในด้านจิตวิทยาการปรึกษา
อาภา จันทรสกุล (2535) ให้ความหมายไว้ว่า การปรึกษาเป็นกระบวนการที่ผู้ให้การปรึกษาให้ ความช่วยเหลือผู้ที่มารับการปรึกษาภายใต้สัมพันธภาพทีดี ช่วยให้ผู้รับการปรึกษาเข้าใจเกี่ยวกับตนเอง สภาพแวดล้อม และปัญหาที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ได้ดีขึ้น ผู้ให้การปรึกษาใช้เทคนิคและวิธีการทางจิตวิทยาช่วยให้ผู้รับการปรึกษามีโอกาสสำรวจความรู้สึก ค่านิยม ตลอดจนข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับตนเอง เพื่อนำไปสู่ทักษะในการแก้ปัญหาและตัดสินใจเลือกวิธีการในการแก้ปัญหาและเป้าหมายในการดำเนินชีวิตของตนเองได้อย่างเหมาะสม
จีน แบรี่ (2549) ให้ความหมายว่า การปรึกษาเชิงจิตวิทยา หมายถึง กระบวนการที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้การปรึกษากับผู้รับการปรึกษา โดยผู้ให้การปรึกษาให้ความช่วยเหลือปัญหาทางด้านจิตใจของผู้รับการปรึกษา โดยประยุกต์ใช้หลักการ / แนวคิดทฤษฎีทางจิตวิทยามาเอื้ออำนวยให้ผู้รับการปรึกษาได้ตระหนักในประสบการณ์ของตน ผ่านการสนทนาระหว่างผู้ให้การปรึกษาและผู้รับการปรึกษา โดยให้ผู้รับการปรึกษาได้สำรวจตนเองในรอบด้านเพื่อให้รู้จัก เข้าใจและการยอมรับตนเองในสิ่งที่เป็นปัญหาตามความเป็นจริงได้มากขึ้น และสามารถแสวงหาแนวทางและตัดสินใจเลือกวิธีการ แก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง และผ่านพ้นอุปสรรคช่วงวิกฤตของชีวิตไปได้
วรางคณา โสมะนันทน์ (2561) อธิบายการปรึกษาทางจิตวิทยา คือ กระบวนการที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล โดยอาศัยการสื่อสารแบบสองทางระหว่างบุคคลหนึ่งในฐานะผู้ให้การปรึกษา มีหน้าที่เอื้ออำนวยให้อีกบุคคลหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้รับการปรึกษาได้สำรวจทำความเข้าใจถึงสิ่งที่เป็นปัญหา และสามารถทำให้ผู้รับการปรึกษาแสวงหาทางแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง รวมทั้งสามารถเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น และเข้าใจสิ่งแวดล้อม จนสามารถตัดสินใจหรือแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนปรับปรุงความสามารถในการพัฒนาตนเอง
Aldridge (2014) สรุปความหมายของการให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยาว่า เป็นคำที่ใช้อธิบายความสัมพันธ์ที่ช่วยเหลือคนคนหนึ่ง คือ ‘ผู้รับการปรึกษา’ ซึ่งมีปัญหาบางอย่างที่เขาหรือเธอไม่สามารถจัดการด้วยลำพังได้ ‘ผู้รับการปรึกษา’ เข้าพบ ‘ผู้ให้การปรึกษา’ เพื่อขอความช่วยเหลือในความสัมพันธ์ที่เป็นความลับอย่างเป็นทางการ วัตถุประสงค์ของความสัมพันธ์นี้คือเพื่อช่วยให้ ‘ผู้รับการปรึกษา’ จัดการหรือจัดการกับปัญหาของตนได้ดีขึ้น
กล่าวโดยสรุปจิตวิทยาการปรึกษาหมายถึง กระบวนการที่มีปฏิสัมพันธ์ภายใต้สัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้ให้การปรึกษากับผู้รับการปรึกษา โดยผู้ให้การปรึกษาให้ความช่วยเหลือปัญหาทางด้านจิตใจของผู้รับการปรึกษา โดยประยุกต์ใช้หลักการ / แนวคิดทฤษฎีทางจิตวิทยามาเอื้ออำนวยให้ผู้รับการปรึกษาได้สำรวจทำความเข้าใจถึงสิ่งที่เป็นปัญหา และสามารถแสวงหาทางแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง รวมทั้งสามารถเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น และเข้าใจสิ่งแวดล้อม นำไปสู่ทักษะในการแก้ปัญหาและตัดสินใจเลือกวิธีการในการแก้ปัญหาและมีเป้าหมายในการดำเนินชีวิตของตนเองได้อย่างเหมาะสม
กระบวนการและทักษะการปรึกษาเชิงจิตวิทยา
การปรึกษาเชิงจิตวิทยามีลักษณะเฉพาะที่มีเป้าหมายต่อการพัฒนาจิตใจเพื่อให้บุคคลสามารถนำศักยภาพของตนเองมาใช้ได้อย่างเต็มที่ โดยผู้ให้การปรึกษาทำหน้าที่เอื้ออำนวยให้ผู้รับการปรึกษาได้สำรวจทำความเข้าใจในสิ่งที่เป็นปัญหาของตนและตระหนักในความรับผิดชอบของตนเองและใช้ศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหา และที่สำคัญผู้ให้การปรึกษาต้องได้รับการฝึกฝนอบรมมาโดยเฉพาะ และการเรียนรู้ฝึกฝนทักษะด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอและต้องใช้เวลานานพอสมควรจึงจะผสมผสานสิ่งที่ได้เรียนรู้จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพของตนในการช่วยเหลือผู้รับการปรึกษาให้สามารถเปลี่ยนความรู้สึกของตนเองซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของตนได้ (จีน แบรี่, 2549; วัชรี ทรัพย์มี, 2550)
กระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยา
การปรึกษาเชิงจิตวิทยาเป็นสัมพันธภาพของการช่วยเหลือระหว่างผู้ให้การปรึกษากับผู้รับการปรึกษาซึ่งมีรูปแบบและขั้นตอนนำเสนอดังภาพที่ 1 (จีน แบรี, 2537)
ภาพที่ 1กระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยา
ที่มา: ปรับจาก“คู่มือการฝึกทักษะให้การปรึกษา” โดย จีน แบรี่ (2537), น.46, โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ในภาพข้างต้นแสดงถึงกระบวนการปรึกษาทั้งหมด 5 ขั้นตอนประกอบด้วย
- ขั้นสร้างสัมพันธภาพ เป็นกระบวนการเริ่มต้นการปรึกษา เป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจใน
กระบวนการปรึกษา มีวัตถุประสงค์ให้ผู้รับปรึกษามีความอุ่นใจวางใจในการสนทนาผู้ให้การปรึกษาให้การต้อนรับด้วยความอบอุ่นจริงใจ สื่อความตั้งใจในการช่วยเหลือด้วยความเป็นมิตรและสังเกตผู้มารับการปรึกษาทั้งภาษาท่าทางและภาษาพูด
2) ขั้นการสำรวจปัญหา ขั้นตอนนี้จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้รับปรึกษาได้เล่าถึงปัญหา ภูมิหลังความเป็นมาของปัญหา ผลกระทบของปัญหา ผู้รับการปรึกษาได้ใคร่ครวญพิจารณาปัญหาและเรื่องราวความรู้สึกที่เกิดขึ้น ผู้ให้การปรึกษาต้องไวต่อความรู้สึกและรับรู้ผู้มารับการปรึกษาด้วยการสังเกต การรับฟังและไม่ตัดสิน เน้นความรู้สึกและตั้งคำถามที่เหมาะสม มองสภาพความเป็นจริงของผู้รับการปรึกษา ความต่อเนื่องในการติดตามเรื่องราวจะช่วยให้กระบวนการปรึกษาดำเนินไปได้ดี
3) ขั้นการเข้าใจปัญหา สาเหตุและความต้องการ ผู้รับการปรึกษาเข้าใจปัญหาและความรู้สึกของตน ได้ทบทวนข้อมูลจากการสำรวจปัญหาค่อย ๆ เรียงลำดับปัญหา เชื่อมโยงประเด็นปัญหาความสำคัญ เขาจะเริ่มมองเห็นตนเอง มองเห็นพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุของปัญหาจากการระบาย บอกเล่าเรื่องราวของตนความเข้าใจนี้ต้องอาศัยเวลา การสรุปสิ่งที่ผู้รับการปรึกษาเล่าจะช่วยให้เขาเข้าใจสิ่งที่เป็นปัญหาและการแก้ปัญหาขึ้นอยู่กับเขา การให้กำลังใจจะช่วยให้ผู้รับปรึกษาตั้งเป้าหมายที่เหมาะสม เกิดแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วยตัวเอง
4) ขั้นการวางแผนแก้ไขปัญหา ผู้รับการปรึกษาต้องกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ต้องการ เรียนรู้กำหนดทางเลือกและตัดสินใจ ผู้ให้การปรึกษาจะให้เวลาและโอกาสผู้รับปรึกษาพิจารณาข้อดีข้อเสียของแต่ละวิธีการที่เลือก การมีทางเลือกที่หลากหลายจะช่วยให้ผู้รับปรึกษาสามารถเลือกแนวทางที่เหมาะสมและเป็นไปได้ ผู้ให้การปรึกษาอาจเสนอทางเลือกที่ผู้รับการปรึกษาไม่ได้นึกถึง ในการพิจารณาข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือกอาจต้องใช้เวลาและยุ่งยาก การพิจารณาและใคร่ครวญประเด็นที่เป็นไปได้และเหมาะสมในสถานการณ์นั้น ๆ
5) ขั้นยุติการปรึกษา ผู้ให้การปรึกษาจะเป็นผู้ตัดสินใจยุติการปรึกษา เมื่อปัญหาคลี่คลาย ผู้รับปรึกษาจะมองเห็นคุณค่าในตนเองมากขึ้น เกิดแรงจูงใจมีความตั้งใจนำไปปฏิบัติ การสรุปสาระสำคัญเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการนำไปปฏิบัติด้วยการให้กำลังใจ ซึ่งในบางครั้งการพบกันครั้งเดียวก็สามารถคลี่คลายปัญหาได้ บางครั้งอาจต้องนัดหมายครั้งต่อไปหรือการส่งต่อไปรับการช่วยเหลืออื่น ๆ กรณีนี้จำเป็นต้องมีความชัดเจนเรื่องวัน เวลา สถานที่ในการพบ ทั้งนี้ผู้ให้การปรึกษาควรปฏิบัติให้เขารับรู้ว่ายินดีในการให้ความช่วยเหลือเขาเสมอหากต้องมารับการปรึกษา
การทำความเข้าใจกระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยาทั้ง 5 ขั้นตอนเป็นลำดับจะเป็นแนวทางในการช่วยให้ผู้รับการปรึกษาค่อย ๆ เรียบเรียงเรื่องราวที่เป็นปัญหา จัดลำดับประเด็นปัญหาที่สำคัญ ในบางครั้งจะพบปัญหาที่ประสบมาจากเรื่องราวในสาเหตุของปัญหาที่เป็นเรื่องเดียวกัน ดังนั้นผู้ให้การปรึกษาจะต้องทำความเข้าใจกระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยาทั้ง 5 ขั้นตอนและฝึกฝนทักษะการเป็นผู้ให้การปรึกษา
ทักษะการปรึกษาเชิงจิตวิทยา
นอกจากผู้ให้การปรึกษาจะต้องเข้าใจกระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยาทั้ง 5 ขั้นตอนเป็นลำดับแล้ว ในการฝึกฝนการเป็นผู้ให้การปรึกษามีความสำคัญและจำเป็นในการฝึกทักษะการสื่อสารเพื่อการปรึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งประกอบด้วย
1) ทักษะการสร้างสัมพันธภาพ เป็นการใส่ใจผู้มารับปรึกษา การใส่ใจด้วยการแสดงออกด้วยภาษาพูด (verbal expression) ด้วยความต่อเนื่องและเป็นเรื่องเดียวกันกับผู้มารับปรึกษาพูดในขณะนั้น และการใส่ใจด้วยการแสดงออกด้วยภาษาท่าทาง (nonverbal expression) สื่อพฤติกรรมที่ไม่ใช่คำพูดแต่มีความหมายที่สื่อถึงความคิด ความรู้สึกที่ผู้ให้การปรึกษามีต่อผู้มารับปรึกษา
2) ทักษะการถาม (question) เป็นทักษะที่เอื้อให้ผู้มารับปรึกษาได้บอกความรู้สึก เรื่องราวที่ต้องการปรึกษา การถามมี 2 ลักษณะ ได้แก่ คำถามเปิด (opened question) เป็นคำถามที่ไม่กำหนดขอบเขตของการตอบ ช่วยให้ผู้รับการปรึกษามีโอกาสในการพูด บอกเล่าถึงความคิดความรู้สึกและสิ่งที่เป็นปัญหาของตน
3) ทักษะการรับฟัง (listening) เป็นทักษะที่สำคัญในการปรึกษา ผู้ให้การปรึกษาพึงรับฟังด้วยตา ด้วยหู ด้วยการสัมผัสและด้วยหัวใจที่ใสสะอาดกระจ่างละเอียดอ่อน จะช่วยให้คุณภาพการฟังมีประสิทธิภาพ การรับฟังที่ชัดเจนผู้ให้การปรึกษาจะฟังคำพูด น้ำเสียง ท่าทาง อากัปกิริยาของผู้พูดอย่างละเอียดถี่ถ้วน เป็นการฟังที่ได้สัมผัสกับเนื้อหาเรื่องราว การฟังความรู้สึกจะช่วยให้ผู้ให้การปรึกษาสัมผัสกับสภาวะภายในของผู้พูดที่มีความสำคัญต่อการรับรู้อารมณ์ ความรู้สึกของผู้มาปรึกษา
ด้วยการฟังมีความสำคัญ ผู้ให้การปรึกษาควรรับฟังโดยไม่ตัดสิน ฟังเพื่อสรุปประเด็นการสนทนาให้ได้ ฟังเพื่อกระตุ้นให้เขาได้ระบาย ฟังอย่างตั้งใจ ฟังเพื่อหาทางเลือกในการแก้ไขปัญหา และฟังเพื่อให้กำลังใจ
การฟังที่ชัดเจนและอ่อนโยนเป็นการฟังที่เอาใจผู้ให้การปรึกษาเชื่อมใจผู้รับการปรึกษา ไม่มีการคาดเดา มีความสงบนิ่งไร้อคติส่วนตน
4) การติดตามเรื่องราว (tracking) เป็นทักษะที่เอื้อให้ผู้รับการปรึกษาได้เล่าเรื่องราวที่ตรงกับประเด็นปัญหา โดยผู้ให้การปรึกษาสามารถเชื่อมโยงประเด็นที่เป็นปัญหาสำคัญไม่ออกนอกรอยของปัญหา เนื่องจากผู้รับการปรึกษามีความสับสนกับหลายเรื่องราวที่ประสบ ทักษะการติดตามเรื่องราวจะช่วยผู้มาปรึกษาอยู่ในเรื่องที่เป็นประเด็นปัญหา
5) การสะท้อนความรู้สึก (reflection) เป็นทักษะที่ผู้ให้การปรึกษาแสดงถึงความเข้าใจที่มีต่อผู้รับการปรึกษา ช่วยให้ผู้รับการปรึกษาตระหนักรู้ถึงความรู้สึกของตนเอง มีความไว้วางใจในผู้ให้การปรึกษา ทักษะการสะท้อนสามารถสะท้อนเนื้อหา (content) เป็นการพูดซ้ำความคิดที่สำคัญที่ผู้รับการปรึกษาพูดไปและในรูปประโยคที่กระชับความมากกว่า ลักษณะคล้ายกับการทวนความ (paraphrasing) เพื่อทำให้ความคิดของผู้รับการปรึกษาที่ยังคลุมเครือชัดเจน
6) การสรุปเรื่องราว/สรุปความ เป็นการรวบรวมเรื่องราวในการสนทนาให้เห็นทิศทางในการสนทนาสามารถจับประเด็นสำคัญ ได้สำรวจความเข้าใจให้ตรงกัน
7) การให้ข้อมูลและคำแนะนำ เป็นทักษะการสื่อสารทางวาจาเพื่อให้ได้รายละเอียดที่จำเป็นเป็นแก่ผู้มาปรึกษา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ที่จะใช้ในการประกอบการตัดสินใจ การให้คำแนะนำจะเป็นการชี้แนวทางปฏิบัติให้แก่ผู้รับการปรึกษาซึ่งควรมีข้อเสนอแนะที่หลากหลายทางเพื่อให้ผู้รับการปรึกษาเป็นผู้ตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง
8) การชี้ผลที่ตามมา เป็นการชี้ให้ผู้รับการปรึกษาได้เห็นผลจากการวางแผนการเลือกปฏิบัติ
ของเขาเอง ผลทั้งทางลบและทางบวกที่เกิดขึ้นจากการเลือกซึ่งจะช่วยให้ผู้รับการปรึกษาเห็นผลลัพธ์จากแนวทางที่เลือก
9) การให้กำลังใจ เป็นการแสดงความเข้าใจ สนใจในสิ่งที่ผู้รับการปรึกษาพูดมา และเป็นการสนับสนุนให้เขาสามารถพูดต่อไปซึ่งจะช่วยให้การปรึกษามีความราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
10) การส่งต่อ ในกรณีที่จำเป็นต้องส่งผู้รับการปรึกษาไปยังหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้มาระบการปรึกษา ต้องให้ข้อมูลหน่วยงาน มีการติดต่อนัดหมายชัดเจน ให้แรงจูงใจและให้กำลังใจ
ทักษะเบื้องต้นดังกล่าวเป็นพื้นฐานเพื่อให้ผู้ให้การปรึกษาหมั่นฝึกฝนทำความเข้าใจจนตนเองมีความชำนาญเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้มาปรึกษาซึ่งนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการช่วยเหลือทางด้านจิตใจ ในการฝึกฝนอาจจะประสบกับความท้อแท้อึดอัดและเบื่อหน่าย หากแต่เมื่อมีการฝึกฝนจนชำนาญจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพของตนและย่อมยังประโยชน์แก่การเป็นผู้ช่วยเหลือทางด้านจิตใจ
พุทธจิตวิทยาการปรึกษา
ความหมายพุทธจิตวิทยาการปรึกษา
พุทธจิตวิทยาการปรึกษานี้ ได้มีสนใจผู้ศึกษาและนำไปประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง เพราะจิตวิทยาในพุทธศาสนาเป็นการแก้ปัญหา และปัญหาหรือทุกข์ในพุทธศาสนานั้น คือความไม่สบายกาย เรียกว่า กายิกทุกข์ และความไม่สบายใจ เรียกว่าเจตสิกทุกข์ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน และในแต่ละวันคนเราก็จะมีทุกข์ทั้งสองอย่างมาเยี่ยมเยียนอยู่เป็นประจำ คำสอนในพุทธศาสนาเป็นศิลปะในการลดทุกข์ได้จริง (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) (2535) ในบทความนี้ผู้ศึกษาจึงนำเสนอความหมายพุทธจิตวิทยาการปรึกษาที่กล่าวไว้หลากหลาย ดังนี้
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) (2534) ได้ให้ทัศนะไว้ว่า การให้การปรึกษาเป็นการแนะแนวที่จะให้บุคคลสามารถช่วยเหลือตนเองได้ โดยทั่วไปคนทั้งหลายยังพึ่งตนเองได้ไม่เต็มที่หรือมีระดับการพึ่งตนเองที่ยังไม่สมบูรณ์ จึงต้องการผู้มาชี้แนะให้การปรึกษา เมื่อช่วยตัวเองไม่ได้ก็ต้องมีผู้ช่วยให้พึ่งตนเองได้โดยใช้ภาษา และกิจกรรมเข้ามาช่วยเป็นต้น การช่วยคนให้ช่วยตนเองได้เป็นหน้าที่ของการแนะแนวการปรึกษา
โสรีช์ โพธิแก้ว (2553ก) ให้ความหมายการปรึกษาเชิงพุทธจิตวิทยาว่า เป็นการผสมผสานและสังเคราะห์ระหว่างองค์ความรู้ทางทฤษฎีจิตวิทยาตะวันตกเข้ากับหลักธรรมทางพุทธศาสนาของโลกตะวันออก โดยที่การผสมผสานจะมาจากการศึกษาทำความเข้าใจในองค์ธรรมและผู้ให้การปรึกษาลงมือปฏิบัติตามจนตกผลึกความเข้าใจที่ชัดเจนจึงสามารถนำไปช่วยเหลือบุคคลที่ประสบทุกข์ทางใจได้ตามความเป็นจริง
พระเมธีธรรมประนาท (2561) ให้ความหมายพุทธจิตวิทยาการปรึกษาว่า เป็นการให้การปรึกษาตามแนวพุทธจิตวิทยา โดยนำหลักธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาเถรวาทมาใช้โดยผ่านการฟังพระธรรมเทศนา การสนทนาธรรม การแนะนำสั่งสอน การกระตุ้นเตือนให้เกิดสติสัมปชัญญะในการดำเนินชีวิตที่ดีงามโดยอาศัยเครื่องมือ คือ หลักธรรม ได้แก่ กัลยาณมิตตธรรม หลักภาวนา หลักจริต หลักสมถะและวิปัสสนา ซึ่งมีกระบวนการและขั้นตอน การให้การปรึกษาตามแนวพุทธจิตวิทยาจนทำให้ผู้มารับการปรึกษาสามารถบรรเทาทุกข์ เกิดความสุข มีสุขภาวะทางจิตที่ดีขึ้นสามารถค้นพบหนทางออกจากทุกข์ได้ด้วยตนเอง
วิชชุดา ฐิติโชติรัตนา (2559) ให้ความหมาย การปรึกษาแนวพุทธจิตวิทยาว่าเป็นกระบวนการที่ผู้ให้การปรึกษาเป็นผู้มีการเจริญปัญญาและมีภาวะแห่งความเป็นกัลยาณมิตร นำหลักธรรมและองค์ธรรมอริยสัจ 4 มาช่วยเหลือแก้ไขปัญหาของบุคคลที่มีทุกข์ภายในใจให้สามารถให้คลี่คลายทุกข์ได้ด้วยตนเอง โดยตระหนักรู้ถึงความจริงของธรรมชาติของชีวิตตามแนวพุทธธรรม ด้วยการสนทนาสื่อสารปฏิสัมพันธ์ด้วยความเป็นกัลยาณมิตร เพื่อเอื้อให้ผู้มาปรึกษาเข้าใจในทุกข์ที่เกิดขึ้น สามารถไตร่ตรองด้วยปัญญาจนเข้าใจสาเหตุของทุกข์ และพัฒนาตนให้ถึงพร้อมในไตรสิกขาทั้งในด้านความคิด พฤติกรรมและอารมณ์ความรู้สึก สามารถคุ้มครองชีวิตให้ไปสู่หนทางที่ดีงามและเป็นประโยชน์
กล่าวโดยสรุป พุทธจิตวิทยาการปรึกษา เป็นกระบวนการสื่อสารปฏิสัมพันธ์ด้วยความเป็นกัลยาณมิตร เพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ประสบทุกข์ทางใจให้สามารถคลี่คลายทุกข์ด้วยการตระหนักรู้ถึงความจริงของธรรมชาติชีวิตตามแนวพุทธธรรมที่ผู้ให้การปรึกษาจักต้องเป็นผู้ที่ศึกษาให้ตนเองมีองค์ความรู้พื้นฐานตามหลักจิตวิทยาการปรึกษาและมีความเข้าใจในหลักธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา ตระหนักและฝึกฝนตนเองด้วยการเจริญปัญญาอย่างสม่ำเสมอ มีสติสัมปชัญญะในการดำเนินชีวิตที่ดีงาม สามารถนำหลักธรรมที่ประจักษ์จากการประพฤติปฏิบัติด้วยตนเองมาเป็นแนวทางในการเอื้อให้ผู้มาปรึกษาเข้าใจในทุกข์ที่เกิดขึ้นและสามารถไตร่ตรองด้วยปัญญาเพื่อนำพาวิถีชีวิตให้ประสบความสุขสงบร่มเย็น
หลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับพุทธจิตวิทยาการปรึกษา
การปรึกษาเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตโดยตรง ดังนั้นความเข้าใจในมิติของมนุษย์ในมุมมองของพุทธศาสนาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ ปยุตฺโต) (2550) กล่าวว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้และต้องฝึก จะเห็นได้ว่าในแนวทางพุทธศาสนาเชื่อถือว่ามนุษย์เป็นผู้มีจิตใจสูง สามารถฝึกฝนตนได้ และมีศักยภาพพอที่จะนำพาตนเองให้พ้นทุกข์ด้วยจิตใจที่ปราศจากกิเลส ดังนั้น การทำความความเข้าใจธรรมชาติมนุษย์ในมุมมองตามหลักพุทธศาสนาจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ในที่นี้ขอเสนอสรุปหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการปรึกษา ดังนี้ (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) (2557); โสรีช์ โพธิแก้ว, 2553ข; ประทีป พืชทองหลาง, 2553; วิชชุดา ฐิติโชติรัตนา, 2559)
- ขันธ์ 5 ที่เป็นองค์ประกอบของชีวิตข้างต้น ยังจำแนกออกได้เป็น 2 อย่างคือ รูปขันธ์ รูปธรรม และ
นามธรรม ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณเพราะว่า รูป คือ สิ่งที่ไม่สามารถ รับรู้อะไรได้ หรือคือ สภาพธรรมที่มีลักษณะไม่รู้ ประกอบด้วยธาตุ 4 ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ เป็นต้นส่วน นาม คือ สิ่งที่สามารถรับรู้สภาพธรรมได้ หรือคือ สภาพธรรมที่มีลักษณะรู้ ได้แก่ สภาพรู้ อาการรู้ ธาตุรู้ จิตใจ ปัญญา ความสุข ความทุกข์ ความพอใจ ความดีใจ ความเสียใจ ความหดหู่ ผู้ที่มีทุกข์หรือมีปัญหาคือผู้ที่ไม่เข้าใจชีวิตตามความเป็นจริง และมักจะฝืนความเป็นจริงตามธรรมชาติโดยการเข้าไปหลงยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 รูป (เวทนา สัญญา สัญญา สังขาร วิญญาณ) จึงก่อให้เกิดทุกข์ใจ ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ น้อยเนื้อต่ำใจ วิตกกังวลฯ ผู้ให้การปรึกษาจะช่วยเอื้อให้ผู้มาปรึกษาเข้าใจความจริงของชีวิตตามขันธ์ 5 อีกทั้งให้ผู้รับการปรึกษาได้พัฒนาตนจนสามารถให้คลายจากความยึดมั่น ทำให้บรรเทาทุกข์ หรืออาจหลุดพ้นเป็นอิสระได้
- หลักกรรม เป็นหลักธรรมที่สำคัญกับความเป็นมนุษย์ที่บอกถึงความเป็นมาเป็นไปของมนุษย์ เพราะ
ทุกชีวิตที่เกิดมานั้นล้วนมาจากเหตุปัจจัยทั้งสิ้น และมีความเป็นมาเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ กฎแห่งกรรม หรือ กรรมนิยาม ผู้ให้การปรึกษามีความเข้าใจในเรื่องกรรม จะช่วยให้ผู้มา ปรึกษาเข้าใจว่ากรรมคือ การกระทำของเราที่เกิดขึ้นโดยเจตนาจะดีจะชั่ว หรือจะสุขจะทุกข์ล้วนเป็น สิ่งที่มนุษย์ต้องรับผิดชอบต่อตนเอง รับผิดชอบการกระทำของตน ด้วยการสำรวจตนเองเป็น เบื้องแรก ความเข้าใจกรรมทำให้บุคคลเข้าใจความจริงของชีวิตผลที่ตนกระทำทุกอย่างนั้น เกิดขึ้น ตามเหตุปัจจัย กรรมจึงเป็นเรื่องของมนุษย์โดยตรง มนุษย์เป็นผู้ทำกรรมและรับกรรมตามกฎของ ธรรมชาติ
- หลักไตรลักษณ์ เป็นกฎของธรรมชาติ 3 ประการคือ (พระพรหมคุณาภรณ์, 2557)
อนิจจตา ความไม่เที่ยง ความไม่คงที่ ความไม่ยั่งยืน ภาวะที่ เกิดขึ้นแล้วเสื่อมและสลายไป
ทุกขตา ความเป็นทุกข์ ภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้น และสลายตัว ภาวะที่กดดัน ฝืนและ
ขัดแย้งอยู่ในตัว เพราะปัจจัยปรุงแต่งให้มีสภาพเป็นอย่างนั้น เปลี่ยนแปลงไป จะทำให้คงอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้ ภาวะที่ไม่สมบูรณ์มีความบกพร่องอยู่ในตัว ไม่ให้ ความสมอยากแท้จริง หรือความพึงพอใจเต็มที่แก่ผู้ที่อยากด้วยตัณหา และก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้เข้าไป อยากเข้าไปยึด ด้วยตัณหาอุปาทาน
อนัตตา ความเป็นอนัตตาคือไม่เป็นตัวตนหรือไม่ มีตัวตนที่แท้จริง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสภาวะที่ที่มีอยู่ เป็นอยู่หรือเป็นไปของมัน เป็นธรรมดาอย่าง นั้นเอง ไม่เป็น ไม่มีตัวตนที่จะครอบครองสั่งบังคับอะไรให้เป็น หรือให้ไม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ตามที่ ปรารถนา
ผู้ให้การปรึกษามีความเข้าใจและการเห็นความไม่เที่ยง ของชีวิตที่อยู่ในรูปไตรลักษณ์ ซึ่งเป็นกฎ
ของธรรมชาติ (ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา) ดังกล่าวข้างต้น เอื้อให้ผู้รับการปรึกษาที่กำลังทุกข์ ไม่สบายใจ คลายความยึดมั่นถือมั่น ไม่หลงคิดปรุงแต่ง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราว มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมสลายไปในที่สุด ทำให้สามารถยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตนเองในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น สามารถดำรงชีวิตได้อย่างสงบสุขมากขึ้น และสามารถขยายปัญญาตนเองให้สูงขึ้นไปได
- หลักอริยสัจ 4 เป็นความจริงอันประเสริฐที่องค์พระสัมมาสัมมาพุทธเจ้าได้ทรงรู้ ทรงปฏิบัติ และทรง
เสวยผลมาแล้วด้วยพระองค์เอง ประกอบด้วยความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ (ทุกข์) เหตุของ ทุกข์ (สมุทัย) ความดับทุกข์ (นิโรธ) และทางดับทุกข์ (มรรค) และอริยสัจเป็นเรื่องของหลักการใน การควบคุมทุกข์ และพัฒนาจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส เป็นเรื่องที่คนปกติทั่วไปสามารถศึกษาและทำ ความเข้าใจได้ อาจกล่าวได้ว่าในอริยสัจ 4 ทุกข์เกิดจากความยึดมั่นถือมั่น (ว่าเป็นเรา ว่าเป็นของเรา ว่าเป็น ตัวตนของเรา) จัดเป็นทุกข์ทางใจ และทุกข์ที่บุคคลสามารถดับได้อย่างเด็ดขาด คือ ทุกข์ทางใจเท่านั้น ไม่สามารถดับทุกข์ทางกายลงให้เด็ดขาด ในการปรึกษาแนวพุทธจิตวิทยาในการศึกษาครั้งนี้ มุ่งเน้นให้เกิดโลกิยมรรค ในขั้นวิธีการคิด คือการวางวิธีการ แผนการ และรายการสิ่งต่างๆที่ต้องทำ ซึ่งจะช่วยให้แก้ไขสาเหตุของปัญหาได้สำเร็จ หรือผู้รับการปรึกษาจะเดินทางต่อถึงโลกุตระมรรคซึ่งเป็นความเข้าใจส่วนที่ลึกซึ้งขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับการศึกษาฝึกฝนของแต่ละบุคคลต่อไป
คุณลักษณะของผู้ให้การปรึกษาแนวพุทธ
ผู้ให้การปรึกษาแนวพุทธเป็นผู้ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเอื้อให้ผู้คนออกจากปัญหาหรือทุกข์ ผู้ให้การปรึกษาต้องเป็นผู้มีสัมมาทิฐิ คือมีความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์และจุดมุ่งหมายของมนุษย์ตามแนวพุทธศาสนาอย่างถ่องแท้ พร้อมทั้งฝึกประสบการณ์ตรง ลงมือปฏิบัติบ่มเพาะตนเองตามวิถีแห่งมรรคเพื่อให้รู้จริง รู้แจ้งในองค์ธรรมดังกล่าวข้างต้นตามคำสอนของพระพุทธองค์ จนสามารถหล่อหลอมและพัฒนาตนเองไปสู่การมีจิตที่เป็นอิสระ มีสติเท่านทันตนเอง เอื้อเฟื้อผู้มาปรึกษาด้วยการสงเคราะห์ด้วยสังคหวัตถุ 4 มีความว่างในระดับปัญญาเสมอๆ มีความพร้อมในดำรงตนเป็นกัลยาณมิตรทั้งกับตนเองและผู้อื่น มีภาวะจิตที่เป็นพรหมวิหารธรรม และเป็นปรโตโฆสะที่ดีให้กับผู้รับการปรึกษา (วิชชุดา ฐิติโชติรัตนา, 2559)
หลักธรรมที่ใช้ในการให้การปรึกษา ได้แก่ กัลยาณมิตร เป็นองค์ธรรมที่หมายถึงบุคคลที่มีความพรั่งพร้อมแห่งคุณธรรม ความดีงามทั้งในด้านกายกรรม วจีกรรมแลมโนกรรม มีกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เป็นผู้มีคุณสมบัติพร้อมแห่งการแนะนำประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น และหลักพรหมวิหารธรรม คือ เมตตา การมีความรัก ความปรารถนาดี มุ่งหวังให้ผู้รับการปรึกษามีความสุข มีความกรุณา มีความสงสาร ต้องการช่วยเหลือให้พ้นจากความทุกข์ ความยากลำบากที่เกิดขึ้น มีมุทิตา การมีความยินดีกับผู้อื่น เมื่อเห็นผู้อื่นมีความสุขสมหวัง หรือประสบ ความสำเร็จในด้านต่างๆ มีความยินดีให้อย่างจริงใจ รู้สึกเบิกบาน พลอยมีความสุขกับเขาไปด้วย และ อุเบกขา การวางตัวเป็นกลาง มีความหนักแน่นมั่นคง ไม่หวั่นไหวในการทำหน้าที่ผู้ให้การปรึกษา (ประทีป พืชทองหลาง,2553; พระครูปลัดมารุต วรมงฺคโล (2553); พระเมธีธรรมประนาท (ปรีชา ปฏิภาณเมธี) และพระมหาอดิเดช สติวโร (สุขวัฒนวดี),2562)
แนวทางในการให้การปรึกษาตามแนวพุทธจิตวิทยา
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (2566) ได้นำเสนอองค์ความรู้ในเรื่องพุทธจิตวิทยา ในการทำจิตบำบัดหรือการปรึกษาตามแนวพุทธจิตวิทยา ต้องมีแนวทางที่มีองค์ประกอบใน 3 ด้าน คือ ด้านปริยัติเป็นเรื่องชีวิตที่เกี่ยวกับขันธ์ (นามรูป) ด้านปฎิบัติเป็นเรื่องการฝึกสติ สมาธิ และในด้านปฏิเวธเป็นเรื่องการพัฒนาจิตใจให้เกิดความโปร่ โล่ง เป็นอิสระ ในที่นี้ ขอนำเสนอการนำองค์ความรู้การปรึกษาเชิงจิตวิทยาและแนวคิดเรื่องพุทธจิตวิทยามาเป็นแนวทางในการให้การปรึกษตามแนวพุทธจิตวิทยาดังนี้
ขั้นเริ่มต้น ผู้ให้การปรึกษาต้องมีองค์ความรู้ในกระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยา และมีการการศึกษาอย่างจริงจังในหลักธรรมที่กล่าวมาข้างต้นคือ ขันธ์ 5 หลักกรรม หลักไตรลักษณ์ และอริยสัจ 4 (ปริยัติ) จนเกิดความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจน พร้อมทั้งนำหลักธรรมที่ศึกษา มาปฎิบัติกับทุกข์หรือความสบายใจของตนตามแนวทางของหลักธรรมในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง จนสามารถสัมผัสสภาวะของจิตใจที่โล่ง โปร่งเบาสบายได้ ผู้ให้การปรึกษานำคุณภาพของจิตไปเริ่มต้นอยู่กับผู้มาปรึกษา ซึ่งโสรีช์ โพธิแก้ว (2553ข) ได้กล่าวถึง การเชื่อมสมาน (tuning in) เป็นภาวะที่ผู้ให้การปรึกษาละทิ้งตนเองอย่างแท้จริงเพื่อรับรู้ปรากฏการณ์ที่อยู่ในจิตใจของผู้มาปรึกษาเป็นสภาวะจิตใจที่เปิดกว้าง โล่ง สงบ พร้อมนำตนเองไปเข้าเชื่อมสมานกับผู้คนที่อยู่ตรงหน้าได้อย่างแนบสนิท ส่งผลให้ผู้มารับการปรึกษารู้สึกอบอุ่นใจ วางใจ พร้อมที่จะบอกเล่าเรื่องราว ก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีในกระบวนเริ่มต้นการปรึกษา
ขั้นลงมือปฎิบัติ ผู้ให้การปรึกษาและผู้รับการปรึกษาร่วมกันค้นหารากเหง้าของความทุกข์ที่อยู่ในใจของผู้มาปรึกษา รากเหง้าของความทุกข์คือ “ความคาดหวัง” เป็นรอยแยกของความปรารถนาของผู้รับการและความเป็นจริงในชีวิต ผู้ให้การปรึกษาต้องฟังอย่างลึกซึ้งเพื่อรับรู้ถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างความคาดหวังและเป็นความเป็นจริงของผู้รับการปรึกษา (โสรีช์ โพธิแก้ว, 2553ก) ในขั้นนี้ทั้งผู้ให้การปรึกษาและะผู้รับการปรึกษาจะสื่อสารสนทนาโดยใช้ทักษะต่าง ๆ เช่น ทักษะการถาม การรับฟัง การสะท้อนความรู้สึก การสรุปความ ฯ เพื่อให้ได้มองเห็นเรื่องราวที่ก่อให้เกิดทุกข์ที่ชัดเจน และเห็นแนวทางในการคลี่คลายและบรรเทาความทุกข์ได้ ซึ่งโสรีช์ โพธิแก้ว (2553) ได้กล่าวถึงการประจักษ์แจ้ง (realization) ซึ่งผู้ให้การปรึกษาต้องอาศัยความเข้าใจที่ถูกต้องต่อโลกและชีวิตสื่อให้ผู้มารับการปรึกษาได้เข้าใจในความจริงของธรรมชาติ คลี่คลายปัญหาที่อยู่ในใจ ให้ผู้รับการปรึกษาได้คอยสังเกตและพิจารณาความเข้าใจนั้นอย่างมีสติและสมาธิ จนเกิดปัญญาเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต
ขั้นยุติการปรึกษา เป็นขั้นประเมินผลของการปรึกษาโดยผู้รับการปรึกษารู้ได้ด้วยตนเอง โดยรู้ว่าอะไรเป็นอกุศลธรรมที่ทำให้เกิดปัญหา และอะไรเป็นกุศลธรรม ที่ทำให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง มีกุศลธรรมเพิ่มมากขึ้น มีจิตใจโปร่งเบาสบาย และสามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เกิดความแช่มชื่น ร่าเริง เบิกบาน มีความอิ่มใจ ความปลาบปลื้มใจ ความรู้สึกผ่อนคลายใจ ใจระงับลง เย็นสบาย โปร่งใจ ไม่มีความติดขัด บีบคั้น ความมีใจตั้งมั่น สงบ ไม่วอกแวก ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นปฎิเวธ ที่รับรู้ได้ด้วยตนเอง
พุทธจิตวิทยาการปรึกษาเป็นการประมวลกระบวนการที่ผู้ให้การปรึกษานำความรู้ความเข้าใจในพุทธธรรม องค์ธรรมในพระพุทธศาสนามาสู่การปฏิบัติหมั่นฝึกฝนด้วยตนเอง เฝ้าสังเกตตนเองในทุก ๆ ขณะจนสามารถรับรู้สภาวะของใจ การที่ผู้ให้การปรึกษาเพียรสังเกตตนเองเช่นนี้จะเอื้อต่อผู้ให้การปรึกษาที่จะมีสภาวะความว่างของใจจากสมาธิที่เกิดขึ้นจากการฝึกฝนให้นับเป็นเบื้องต้นที่ผู้ให้การปรึกษาพึงควรทำความเข้าใจพร้อมปฏิบัติเป็นสมถวิปัสสนาเพื่อการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลตนเอง สภาวะและความเข้าใจในตนเองนี้ร่วมกับการบ่มเพาะทักษะการปรึกษาเชิงจิตวิทยาพื้นฐานที่ผู้ให้การปรึกษาได้ฝึกฝนจนเป็นบุคลิกภาพเป็นธรรมชาติของตน ผู้ให้การปรึกษาจึงจะนำพาผู้คนที่ทุกข์ให้ออกจากทุกข์ได้ด้วยการนำพาให้เขาเดินในเส้นทางที่ผู้ให้การปรึกษาได้สัมผัสและเดินมาแล้ว ความเข้าใจที่เกิดจากการปฏิบัติด้วยตนเองจึงเป็นปัญญานำให้ผู้คนเข้าใจทุกข์ รู้ทุกข์ เห็นเหตุของการเกิดทุกข์ มีพลังจากสภาวะภายในใจในการเลือกหนทางเดินที่เหมาะที่ควรด้วยหนทางแห่งมรรค การนำพาให้ผู้คนเกิดความเข้าใจที่เป็นปัญญาจึงเป็นเส้นทางแห่งพุทธจิตวิทยาการปรึกษา
รายการอ้างอิง
จีน แบรี่. (2537). คู่มือการฝึกทักษะการให้คำปรึกษา. โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
จีน แบรี่. (2549). การให้คำปรึกษา (พิมพ์ครั้งที่ 5). เจริญวิทย์การพิมพ์.
ณัฐสุดา เต้พันธ์. (2566). บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สืบค้นเมื่อ สิงหาคม.
ประทีป พืชทองหลาง. (2553). รูปแบบการปรึกษาเชิงพุทธตามหลักกัลยาณมิตร. [พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต ไม่ได้ตีพิมพ์] มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2550). ธรรมนูญชีวิต. สำนักพิมพ์จันทร์เพ็ญ.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2557) พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย (พิมพ์ครั้งที่ 39). มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2534). พุทธศาสตร์กับการแนะแนว. กองทุนวุฒิธรรมเพื่อการศึกษา และปฏิบัติธรรม.
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต). (2566). แก่นพุทธจิตวิทยา. เชนปริ้นติ้ง.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต). (2535). จากจิตวิทยาสู่จิตภาวนา. สหธรรมิก.
พระครูปลัดมารุต วรมงฺคโล. (2553). การศึกษาวิเคราะห์พุทธจิตวิทยาในพระไตรปิฎก. (รายงานการวิจัย). คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย.
พระเมธีธรรมประนาท (ปรีชา ปฏิภาณเมธี) และ พระมหาอดิเดช สติวโร (สุขวัฒนวดี). (2562). การศึกษาพุทธจิตวิทยาการให้คำปรึกษาเชิงบูรณาการ. วารสารมหาจุฬานาครทรรศน์,6(8), 4041-4055.
พระเมธีธรรมประนาท (ปรีชา มวลชู). (2561). การศึกษาพุทธจิตวิทยาการให้คำปรึกษาเชิงบูรณาการ. [ดุษฎีนิพนธ์พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต ไม่ได้ตีพิมพ์]. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
วรางคณา โสมะนันทน์. (2561). ทักษะการปรึกษาเชิงจิตวิทยาเบื้องต้นสำหรับครูประจำชั้น. วารสารวไลยอลงกรณ์ปริทัศน์ (มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์), 8(2), 173-185.
วิชชุดา ฐิติโชติรัตนา.(2559). การพัฒนารูปแบบการปรึกษาแนวพุทธจิตวิทยาบูรณาการของพระสงฆ์ที่มีบทบาทให้การปรึกษา. [พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิตสาขาพุทธจิตวิทยา ไม่ได้ตีพิมพ์]. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
วัชรี ทรัพย์มี. (2550). กระบวนการปรึกษา ขั้นตอน สัมพันธภาพ ทักษะ (พิมพ์ครั้งที่ 2). โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
โสรีช์ โพธิแก้ว.(2553ก). จากจิตวิทยาสู่พุทธธรรม. วี.พริ้นท์.
โสรีช์ โพธิแก้ว.(2553ข). การประยุกต์อริยสัจ 4 ของพระพุทธศาสนากับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตรักษา (รายงานการวิจัยเอกสาร). คณะจิตวิทยา.
อาภา จันทรสกุล.(2535). ทฤษฎีและวิธีการให้คำปรึกษา (พิมพ์ครั้งที่ 4). ภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
Aldridge, S. (2014). A short introduction to counselling. https://uk.sagepub.com/sites/default/files/upm-binaries/60092_Aldridge_A_short_introduction_to_Counselling.pdf.
American Counseling Association. (2020). Thesaurus of psychology index item (6th ed). Washington, DC Author.
Corey, G. (2013). Theory and practice of counseling and psychotherapy (9th ed.). Brook/Cole.