Buddhist Psychology, Perception and Life Development
พระมหาสุเทพ สุทฺธิญาโณ1 พระครูธรรมธรอานนท์ กนฺตวีโร2
1ผศ.ดร. ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
2ดร. ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
บทนำ
ในสังคมที่มีการสื่อสารอันหลากหลายและรวดเร็วส่งผลต่อการรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างมากมายซึ่งเป็นสิ่งเร้าภายนอกทั้งในแง่บวกและแง่ลบอันจะนํามาสู่ปัญหาต่างๆ มากมายส่งผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจ การรับรู้ข้อมูลดังกล่าวทำให้การตระหนักถึงผลที่จะตามมาอันเกิดจากการตัดสินใจการกระทำลงไป ในเชิงพุทธจิตวิทยาจึงจำเป็นต้องใช้ปัญญาเป็นองค์ประกอบเพื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุอย่างแท้จริง อันหมายถึงการรับรู้เข้ามาสู่อารมณ์ที่เรียกว่า พฤติกรรมจิตอารมณ์ หากอารมณ์รับรู้สิ่งที่สัมผัสเรียกว่าอายตนะ ประกอบด้วย ตามองเห็นสิ่งภายนอกกาย หูได้ยินเสียงสิ่งที่อยู่ภายนอกตน ลิ้นได้รับรสที่อยู่ภายนอกตน จมูกได้รับกลิ่นที่อยู่ภายนอกตน กายมีการสัมผัสวัตถุที่อยู่ภายนอกตน และมโนธรรมที่เกิดขึ้นในอารมณ์ เมื่อขาดการฝึกฝนการระงับในความเพลิดเพลินสนุกสนาน จะเกิดให้มีความหลงใหลขาดสติ ความระลึกได้ ขาดสัมปชัญญะ ความรู้ตัวทั่วพร้อมในการสัมผัส
การใช้หลักพุทธจิตวิทยาในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นการใช้หลักธรรมทางพระพุทธ ศาสนาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต เป็นแนวทางในการพัฒนาชีวิตทางจิตตปัญญา เห็นสภาพการณ์ต่างๆในโลกเป็นไปตามธรรมชาติ มีสติในการกำหนดรู้ต่อสภาพการคิด การใช้อารมณ์ตามที่ผัสสะที่เกิดขึ้น ส่งผลไปสู่พฤติกรรมที่พึงประสงค์ มีความสุขทางจิตใจมากยิ่งขึ้น จากการเรียนรู้ถึงจิตเพื่อปลดเปลื้องทุกข์อันเกิดจากจิตอารมณ์ที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ด้วยหลักธรรมเป็นการเรียนรู้ที่เกิดการรับรู้ของจิตซึ่งเกิดขึ้นโดยอาศัยหลักธรรมในการดับทุกข์และพัฒนาตนเองให้มีความสุข ในการพัฒนาตนเองนี้ มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาพฤติกรรมอารมณ์ การพัฒนาตัวตนเองให้มีการยึดมั่นในหลักศีลธรรมอันดีงามรวมถึงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมทางสังคม เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก
การพัฒนาพฤติกรรมจิตตามหลักพุทธจิตวิทยาถึงเป็นแนวทางการดำรงชีวิตอย่างผู้มีปัญญา ไม่ใช้อารมณ์เชิงลบในการตัดสินใจ ปรับพฤติกรรมมาใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นแนวทางในการคิดอย่างมีสติคิดในเชิงสร้างสรรค์อันจะก่อให้เกิดความสุขตามมา ดังพุทธพจน์ใน ยมกวรรคว่า ธรรมทั้งหลายมีใจ (จิต) เป็นหัวหน้า มีใจ (จิต) ประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วด้วยใจ (จิต) หากว่าบุคคลมีใจ (จิต) ผ่องใสแล้ว กล่าวอยู่หรือกระทำอยู่ความสุขย่อมไปตามเขาดุจเงาติดตามตัว เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้วไม่มีกิเลสเครื่องเยียวยา ปราศจากอุปกิเลส อ่อนโยน ควรแก่การงานตั้งมั่นถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้ (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539 12/53/42)
แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวการรับรู้
ความหมายของการรับรู้
สิทธิโชค วรานุสันติกูล (2546, น. 84) กล่าวว่า การรับรู้ คือกระบวนการที่อินทรีย์หรือสิ่งที่มีชีวิตพยายามทำความเข้าใจสิ่งแวดล้อมโดยผ่านทางประสาทสัมผัส กระบวนการนี้เริ่มต้นจากการใช้อวัยวะ สัมผัสจากสิ่งเร้าและจัดระบบสิ่งเร้าใหม่ภายในระบบการคิดในสมอง จากนั้นจะแปลสิ่งเร้าที่รับสัมผัสว่าสิ่งเร้านั้นคืออะไร ขั้นแปลความหมายนี้เป็นขั้นที่มีการใช้ประสบการณ์เก่าเป็นพื้นฐานของการแปลความหมาย
บรรยงค์ โตจินดา (2543, น. 287) ให้ความหมาย การรับรู้ว่า หมายถึง การที่บุคคลได้รับรู้ตีความและตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้น การรับรู้แบ่งได้เป็น 2 กิจกรรม คือ การรับข้อมูลและการแปลข้อมูลให้เป็นข้อความตามความเข้าใจ การรับรู้จะต้องคำนึงถึงความรู้ ความเข้าใจในข้อมูลข่าวสาร ความสนใจและประสบการณ์จึงสามารถทำให้แปลความถูกต้อง
จากความหมายข้างต้นสรุปได้ว่า การรับรู้ (Perception) หมายถึง กระบวนการที่บุคคลได้รับ ความรู้สึกและแปลความหมายหรือตีความจากสิ่งเร้าที่รับเข้ามาผ่านการวิเคราะห์โดยอาศัยความจำ ความรู้ ผสมผสานกับประสบการณ์เดิมที่มีอยู่ ออกมาเป็นความรู้ความเข้าใจ
แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับกระบวนการรับรู้
สร้อยตระกูล (ติวานนท์) อรรถมานะ (2541, น. 60) กล่าวว่า กระบวนการของการรับรู้ เป็นการแสดงถึงความสลับซับซ้อนและธรรมชาติของการกระทำตอบโต้ในการรับรู้อันเกิดจากสภาพแวดล้อมภายนอก (external environment) ได้แก่
การรับรู้ เกิดจากสิ่งเร้า (stimulus) เป็นการเร้าทางประสาทสัมผัส (sensual stimulation) จากสถานการณ์ต่างๆ จากสภาพแวดล้อมทางกายภาพ (Physical environment) อัน ได้แก่ การที่บุคคลเข้าไปทํางานในองค์กรหนึ่งและถูกแวดล้อมด้วยทั้งสภาพแวดล้อมทางกายและสภาพแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรมขององค์กร ทำให้เกิดสิ่งเร้าในการทำงานกับสถานการณ์ในองค์กร เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางสังคมในองค์กรส่วนสถานการณ์ด้านวัฒนธรรม (sociocultural environment) อาทิ ขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม สถานถานการณ์เป็นการเผชิญหน้าให้เกิดการรับรู้ การรับรู้ในสิ่งเร้าทางกายภาพของบุคคลนั้นจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับตัวกรองความรู้สึก (sensory filters) ของบุคคลนั้น ๆ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือความสามารถทางกายภาพของบุคคล อาทิ ความสามารถของสายตาซึ่งมีต่าง ๆ กัน เช่น บางคนสายตาสั้น บางคนสายตายาว บางคนสายตาเอียง หรือความสามารถในการได้ยิน เป็นต้น นอกจากนั้นตัวกรองหรือความสามารถนี้ยังเปลี่ยนแปลง แตกต่างไปในแต่ละบุคคลตามอายุ ความอดทนทางกายภาพ เป็นอาทิ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า กระบวนการรับรู้ของประสาทสัมผัสนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละบุคคลจริง ๆ แม้การรับรู้ในประสาทสัมผัสจะเกิดขึ้น และร่างกายมนุษย์รับข้อมูลดิบของสิ่งเร้าแล้วก็ตาม ความรู้สึกนึกคิดในจิตใจบุคคลนั้นจะยังไม่เกิด จนกว่าขั้นตอนของการคัดเลือกจะมีขึ้น
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการรับรู้
สิทธิโชค วรานุสันติกุล (2544, น. 80) กล่าวว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ มีปัจจัย ดังต่อไปนี้
- 1. ความต้องการของมนุษย์ (Need) ของผู้รับรู้ ทําให้ผู้รับรู้ตีความสิ่งเร้าที่ส่งมาเป็นสิ่งที่สนองความต้องการของตนเอง ความต้องการเป็นเหตุจูงใจให้เรารับรู้สิ่งที่ต้องการได้รวดเร็ว
- 2. ประสบการณ์ (Experiences) บุคคลทั่วไปมักจะตีความสิ่งที่ตนสัมผัสตามประสบการณ์ และภูมิหลังของแต่ละบุคคล
- 3. การเตรียมตัวไว้ก่อน (Preparatory Set) การที่คนเรามีประสบการณ์และเรียนรู้สิ่งใดมาก่อน ทำให้เราเตรียมที่จะตอบสนองต่อสิ่งนั้นเหมือนกับที่เราได้เรียนรู้มา
- 4. บุคลิกภาพ (Personality) บุคลิกภาพมีความสัมพันธ์กับการรับรู้ เช่น คนที่มี บุคลิกภาพ ยึดมั่น ถือมั่น จะรับรู้การเปลี่ยนแปลงของสิ่งเร้าได้ช้ากว่าผู้ที่มีบุคลิกยืดหยุ่น
- 5. ทัศนคติ (Attitude) ทัศนคติมีอิทธิพลต่อการรับรู้ ถ้าคนเรามีทัศนคติที่ดีต่อใคร การกระทำของบุคคลนั้นจะถูกรับรู้ในทางที่ดีอยู่เสมอ
- 6. ตำแหน่งทางสังคม (Social Position) และบทบาททำให้เรารับรู้สิ่งต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน
- วัฒนธรรม (Culture) เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้คนเรารับรู้สิ่งต่าง ๆ แตกต่างกันออกไป
- สภาพทางอารมณ์ (Emotion) สภาพทางอารมณ์ของผู้รับมีผลต่อการรับรู้
การรับรู้เป็นขั้นตอนแรกของการมีพฤติกรรมแต่อย่างไรก็ตามการรับรู้เป็นเพียงตัวแปรหนึ่งเท่านั้นในการเกิด ยังมีตัวแปรอื่น ๆ อีกมากที่มีส่วนให้เกิดพฤติกรรม เช่น ทัศนคติ บทบาท และความคาดหวัง ฯลฯ อย่างไรก็ตาม การรับรู้มีความสำคัญต่อพฤติกรรมถ้าบุคคลรับรู้ถูกต้อง การแสดงพฤติกรรมก็จะเป็นอย่างหนึ่ง แต่ถ้าบุคคลรับรู้ไม่ถูกต้องจะทำให้แสดงพฤติกรรมออกมาแตกต่างกัน การเชื่อมโยงกระบวนการรับรู้ แสดงได้ดังภาพ 1
ภาพที่ 1 การเชื่อมโยงกระบวนการรับรู้
การรับรู้เชิงพุทธจิตวิทยา
การรับรู้เชิงพุทธจิตวิทยา เป็นการรับรู้ตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนาในลักษณะการรับรู้อย่างมีสติเพื่อพัฒนาพฤติกรรมภายในให้มีความสงบระงับอาสาวักกิเลส และปรับทิศทางแห่งความคิด เป็นการกำหนดรู้จากสัมผัสในสฬายตนะ อันได้แก่ จักษุ (ตา) โสต (หู) ฆานะ (จมูก) ชิวหา (ลิ้น) กาย มนะ (ใจ) เหตุเกิดแห่งอายตนะ 6 ย่อมมี เพราะนามรูปเป็นเหตุให้เกิด ความดับอายตนะ 6 ย่อมมี เพราะนามรูปดับ และเมื่อใดบุคคลรู้ชัดซึ่งอายตนะ 6 เหตุเกิดแห่งอายตนะ 6 ความดับแห่งอายตนะ 6 และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับอายตนะ 6 แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคลชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ การสิ้นไปแห่งการรับรู้ คือการไม่ปรุงแต่งในสภาวะอันนำไปสู่ความโลภ ความโกรธ ความหลงที่เกิดจากมิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) ทำให้กิเลสความเศร้าหมองสิ้นไป ชื่อ ดับอายตนะ 6 ในหลักธรรมที่ว่า “จักษุดับ ณ ที่ใด รูปสัญญาก็สิ้นไป ณ ที่นั้น หูดับ ณ ที่ใด สัททสัญญาก็สิ้นไป ณ ที่นั้น จมูกดับ ณ ที่ใด คันธสัญญาก็สิ้นไป ณ ที่นั้น ลิ้นดับ ณ ที่ใด รสสัญญาก็สิ้นไป ณ ที่นั้น กายดับ ณ
ที่ใด โผฏฐัพพสัญญาก็สิ้นไป ณ ที่นั้น ใจดับ ณ ที่ใด ธรรมสัญญาก็สิ้นไป ณ ที่นั้น ทางความคิดเห็นของบุคคลที่มีการรับรู้ด้วยสัมผัสในอายตนะจึงเป็นพฤติกรรมที่มีความพร้อมไปสู่การปฏิบัติตนไปสู่เป็นกุศลกรรม มีความเห็นชอบตรงตามความเป็นจริง สามารถประยุกต์ใช้กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตทางใจ สามารถปรับทัศนคติให้น้อมตนเข้าสู่การพัฒนาตนตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี
แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาชีวิตการรับรู้เชิงพุทธจิตวิทยา
คุณภาพชีวิตตามแนวพุทธจิตวิทยา เป็นสภาวะความพร้อมของบุคคลทั้งในด้านร่างกายจิตใจ ปัญญาและสังคม เป็นการดำรงชีวิตของมนุษย์ในภาวะที่มีระดับเหมาะสมตามความจำเป็น บุคคลสามารถแสวงหาปัจจัยและบริการต่างๆ และยังครอบคลุมไปถึงนามธรรมอันมีคุณค่าต่าง ๆ
ที่จะช่วยให้ชีวิตนั้นน่าอยู่ยิ่งขึ้น สามารถปรับตนเองให้เข้ากับธรรมชาติและปรับธรรมชาติให้เข้ากับตนเองโดยไม่เบียดเบียนธรรมชาติและสังคม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น บุคคล สังคมและประเทศ สามารถกำหนดมาตรฐานคุณภาพชีวิตแตกต่างกันไปตามสภาวการณ์ตามยุคสมัยแต่ในที่สุดก็คือ มีชีวิตที่ดีมีคุณภาพ เมื่อจิตใจของมนุษย์ถูกพัฒนาก็จะสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ต่างๆ อย่างมากมายเพราะมนุษย์ประกอบด้วย 2 สิ่ง คือ กายกับใจ (จิต) ใจเป็นใหญ่เป็นประธาน กายจะเป็นอย่างไร
การพัฒนากายให้สำเร็จด้วยการพัฒนาบุคคล พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติมาเป็นผลสำเร็จแล้ว
คนในสมัยก่อนมีความคิดอยู่ 2 อย่าง คือ ย่อหย่อน มัวเมาพัวพันในเรื่องกามารมณ์ที่เรียกว่า
กามสุขัลลิกานุโยค และเคร่งเครียดทรมานร่างกายให้ลำบากที่เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค โดยถือว่าทั้งสองอย่างนี้ เป็นทางแห่งความดับทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงชี้แจงว่าทั้งสองอย่างนี้ เป็นทางทุกข์ไม่ใช่ทางประเสริฐไม่มีประโยชน์ ต้องไม่ย่อหย่อน ไม่เคร่งเครียด ปฏิบัติเป็นสายกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา จึงจะเป็นทางสงบเป็นทางดับทุกข์ได้ ซึ่งถ้าผู้ใดปฏิบัติตามพระองค์ได้ก็ได้รับความสงบใจพ้นทุกข์ การพัฒนาจิตใจของพระพุทธเจ้าโดยใช้หลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ถ้าใจโลภก็พัฒนาด้วยทาน ถ้าใจโกรธก็พัฒนาด้วยศีล ถ้าใจหลงก็พัฒนาด้วยภาวนา และเปรียบมนุษย์เสมือนดอกบัว 4 เหล่า องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมองว่าสิ่งแวดล้อมสามารถเปลี่ยนแปลงจิตใจได้ ผู้อยู่ในดงโจรก็จะกลายเป็นโจรได้ อยู่ในหมู่บัณฑิตก็จะกลายเป็นบัณฑิตได้เช่นนั้น
คุณภาพชีวิตทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านร่างกาย ด้านสังคม ด้านจิตใจ และด้านปัญญา ต่างมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกัน มีผลต่อกัน มีการบูรณาการเป็นองค์รวมอย่างมีดุลยภาพ ทำงานประสานโยงส่งผลต่อกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความเกื้อหนุนเอื้ออำนวยต่อองค์รวมทุกส่วน หากเอื้ออำนวยเกื้อหนุนต่อชีวิต ก็ต้องเอื้ออำนวยเกื้อหนุนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย หรือถ้าเอื้ออำนวยเกื้อหนุนต่อสิ่งแวดล้อม ก็ต้องเอื้ออำนวยเกื้อหนุนต่อสังคม เอื้ออำนวยเกื้อหนุนต่อชีวิตด้วย จึงจะเป็นคุณภาพชีวิตที่มีดุลยภาพนำความสุขและความเจริญมาให้อย่างดียิ่ง การพัฒนาคุณภาพชีวิตสิ่งสำคัญที่สุด คือ ปัญญา กระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยหลักภาวนา 4 (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) 2557, น.5 ) ได้แก่
- การพัฒนาทางด้านกาย (Physical Development) คือ ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า กายภาวนา คือการพัฒนากาย ให้มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพในทางที่เกื้อกูลและเกิดผลดี โดยดำรงชีวิตอย่างมีความสุข เกื้อกูลกันกับธรรมชาติและปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างมีสติ รู้จักควบคุมตนไม่ให้เกิดความต้องการที่ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น ใช้อินทรีย์ เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย
อันเป็นสิ่งที่ใช้สำหรับสัมพันธ์หรือเป็นทางเชื่อมต่อกับโลกภายนอก ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อย่างมีสติ รู้จักดู รู้จักพูด รู้จักฟัง ให้ได้ปัญญาและการบริโภคปัจจัย 4 ดัวยปัญญา มิใช่เฉพาะการพัฒนาร่างกายให้แข็งแรง ไร้โรค มีสุขภาพดีเท่านั้น แต่เป็นการพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพด้วย - การพัฒนาศีล เป็นการพัฒนาทางด้านสังคม (Social Development or Moral Development) คือ การมีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกับสิ่งแวดล้อมทางสังคม มีพฤติกรรมที่ดีงามในความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ ไม่เบียดเบียน ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น แก่สังคม โดยตั้งอยู่ในวินัย อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยดี และประกอบอาชีพสุจริตด้วยความขยันหมั่นเพียร ไม่ใช้กาย วาจา และอาชีพในทางที่เบียดเบียนหรือก่อความเดือดร้อนเสียหาย ฝึกฝนอบรม กาย วาจา ของตนให้ประณีต ปราศจากโทษ สร้างแต่คุณประโยชน์ และเป็นเครื่องสนับสนุนพัฒนาชีวิตตน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สร้างสรรค์สังคม ส่งเสริมสันติสุข และเป็นเครื่องสนับสนุนการฝึกอบรมจิตใจยิ่ง ๆ ขึ้นไป
- การพัฒนาจิต เป็นการพัฒนาทางด้านจิตใจ (Emotional Development or Psychological Development) คือ การฝึกจิตใจให้เจริญงอกงามขึ้นด้วยคุณธรรม ความดีงาม ความเข้มแข็งมั่นคง และสมบูรณ์ด้วยสุขภาพ ความเบิกบานผ่องใส สงบสุข แบ่งออกได้เป็น 3 ด้าน คือ ก. คุณภาพจิต ข.สมรรถภาพจิต และ ค.สุขภาพจิต
- การพัฒนาทางด้านปัญญา (Cognitive Development) คือ การฝึกอบรมพัฒนาปัญญาเสริมสร้างความรู้ ความคิด ความเข้าใจให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง รู้จักพิจารณา รู้จักวินิจฉัย รู้จักแก้ปัญหาและรู้จักจัดการดำเนินการต่าง ๆ ด้วยปัญญาบริสุทธิ์ ซึ่งมองดูรู้เข้าใจเหตุปัจจัย มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงหรือตามที่มันเป็น ปราศจากอคติและแรงจูงใจที่เป็นตัณหา
แอบแฝง เป็นผู้อยู่เหนือกิเลส ให้ปัญญาพัฒนาจนรู้เข้าใจหยั่งเห็นความจริง เป็นอยู่ด้วยปัญญารู้เท่าทัน เห็นแจ้งโลกและชีวิตตามสภาวะ รู้เท่าทันธรรมดาของสังขารจนถึงขั้นที่ทำให้มีจิตใจเป็นอิสระ
หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์โดยสิ้นเชิง คุณภาพชีวิตของบุคคลจะต้องพัฒนาโดยเริ่มต้นจากปัญญาที่ศึกษา เข้าใจและเปิดใจยอมรับกับการพัฒนาตนเอง ให้เกิดความพร้อมเพื่อการเรียนรู้ตลอดถึงการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเกิดขึ้นทางด้านจิตใจ ที่จะส่งผลต่อร่างกาย ไปจนถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ แล้วจึงทำให้สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข
ส่วนการพัฒนาชีวิตในเชิงการรับรู้เป็นการรับข้อมูลและการแปลข้อมูลให้เป็นตามความเข้าใจ การรับรู้จะต้องคำนึงถึงความรู้ ความเข้าใจในข้อมูลข่าวสาร ความสนใจและประสบการณ์จึงสามารถทำให้การแปลความถูกต้อง มองสถานการณ์เชิงบวก มีใจเป็นกลาง ยอมรับธรรมชาติของพฤติกรรมที่มีความแตกต่างกัน ชีวิตที่มีความสุขใจต้องมองเห็นคุณค่าของสรรพสิ่งอย่างเป็นความจริง เพราะชีวิตต้องอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมทางสังคมอย่างกลมกลืน ปราศจากอคติต่อสิ่งที่รับรู้ ส่งผลต่อพฤติกรรมที่สังคมต้องการ นำไปสู่การยอมรับและให้กำลังเสริมในการดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ ในเชิงพุทธเป็นการดำรงชีวิตที่เห็นสัจธรรม คือธรรมอันเป็นความจริงว่า ในโลกนี้ย่อมมีสิ่งที่เป็น กุสลาธัมมา (ธรรมทั้งหลายเป็นกุศล) อกุสลาธัมมา (ธรรมทั้งหลายเป็นอกุศล) และ อพยากตาธัมมา (ธรรมทั้งหลายไมอาจจะพยากรณ์ได้ว่า เป็นกุศลหรืออกุศล) เมื่อการรับรู้ที่นำไปสู่การเห็นความจริง
เข้าใจความจริง จึงเป็นหลักการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขจากการยอมรับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคมทั่วไป
บทสรุป
การรับรู้เป็นการศึกษาเรื่อง การสัมผัสจากสิ่งเร้าและจัดระบบสิ่งเร้าใหม่ภายในระบบการคิดในสมอง ที่นำไปสู่ การแปลผลจากสิ่งเร้าที่เกิดจากการสัมผัส โดยอาศัยประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นพื้นฐานของการแปลความหมาย นำไปสู่พฤติกรรมต่างๆ ลักษณะดังกล่าว เรียกว่ากระบวนการรับรู้ คือการแสดงถึงความสลับซับซ้อนและธรรมชาติของการกระทําตอบโต้ในการรับรู้ที่เกิดจากสภาพแวดล้อมภายนอก อาทิสภาพแวดล้อมทางสังคม สภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม สภาพแวดล้อมทางการทำงานในองค์กร
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ ได้แก่ ความต้องการของมนุษย์ เพื่อสนองตอบต่อความต้องการซึ่งเกิดจากประสบการณ์ ในการรับรู้ที่ได้สัมผัสของบุคคลมีความพร้อมที่จะตอบสนองต่อ
สิ่งนั้นเมื่อได้มีการสัมผัสและแปลความหมาย
ปัจจัยที่เกิดจากบุคลิกภาพของบุคคล มีความสัมพันธ์กับการรับรู้ ถูกแปลผลจากบุคลิกของบุคคลว่ามีความชื่นชอบหรือไม่ชื่นชอบได้กลายเป็นทัศนคติ อันเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ของบุคคลด้านการปฏิบัติตนตามเงื่อนไขที่บุคคลยอมรับในเงื่อนไขทางสังคม จึงก่อให้เกิดตำแหน่ง
ทางสังคมขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจจึงกลายเป็นวัฒนธรรมการปฏิบัติตนตามความคิด ความเชื่อของบุคคล อันเป็นแนวทางในการยอมรับนับถือเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ เป็นความสุขทางสภาพ ทางอารมณ์ของบุคคลที่ได้รับรู้แล้วปฏิบัติตนตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดในกลุ่ม
การรับรู้เชิงพุทธจิตวิทยา เป็นการรับรู้ตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนาในลักษณะการรับรู้อย่างมีสติเพื่อพัฒนาพฤติกรรมภายในให้มีความสงบระงับอาสาวักกิเลส และปรับทิศทางแห่งความคิด เป็นการกำหนดรู้จากสัมผัสในสฬายตนะภายในได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อเกิดการทำงานร่วมกับอายตนะภายนอกได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมมารมณ์ ทำให้สร้างกระบวนการรับรู้ต่อกันกลายเป็นการปรุงแต่งหรือแปลความหมายออกมาเป็นทัศนคติหรือการตีความว่า ชอบหรือไม่ชอบ เรียกว่า การรับรู้เชิงบวกและเชิงลบ
การพัฒนาชีวิตในการรับรู้เชิงพุทธจิตวิทยาเป็นสภาวะความพร้อมของบุคคลทั้งในด้านร่างกายจิตใจ ปัญญาและสังคม เป็นการดำรงชีวิตของมนุษย์ในภาวะที่มีระดับเหมาะสมตามความ
จำเป็น บุคคลสามารถแสวงหาปัจจัยและบริการต่าง ๆ และยังครอบคลุมไปถึงนามธรรมอันมีคุณค่า
ต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ชีวิตนั้นน่าอยู่ยิ่งขึ้น สามารถปรับตนเองให้เข้ากับธรรมชาติและปรับธรรมชาติให้เข้ากับตนเองโดยไม่เบียดเบียนธรรมชาติและสังคมไม่เบียดเบียนผู้อื่น บุคคล สังคมและประเทศ สามารถกำหนดมาตรฐานคุณภาพชีวิตโดยอาศัยการพัฒนาทางด้านกายหรือกายภาวนา เพื่อเกื้อกูลต่อการพัฒนาศีล คือ การพัฒนาทางด้านสังคม มีพฤติกรรมที่ดีงามในความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ไม่เบียดเบียนผู้อื่น มีจิตเมตตาหรือการพัฒนาจิต คือ การฝึกจิตใจให้เจริญงอกงามขึ้นด้วยคุณธรรม ความดีงาม ความเข้มแข็งมั่นคงใช้ชีวิตอย่างผู้มีปัญญา คือ การฝึกอบรมพัฒนาปัญญาเสริมสร้างความรู้ ความคิด ความเข้าใจให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง
รายการอ้างอิง
บรรยงค์ โตจินดา. (2543). องค์การและการจัดการ. รวมสาส์น.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต). (2557). สุขภาวะองค์รวมแนวพุทธ. วัดญาณเวศกวัน.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
สิทธิโชค วรานุสันติกุล. (2544). จิตวิทยาการศึกษา. รวมสาสน์.
________. (2546). จิตวิทยาสังคม: ทฤษฎีและการประยุกต์. ซีเอ็ดยูเคชั่น.
สร้อยตระกูล (ติวยานนท์) อรรถมานะ. (2541). พฤติกรรมองค์การ ทฤษฎีและการประยุกต์. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.