(Buddhist Psychology and Media literacy)
สุวัฒสัน รักขันโท1
ชิสา จิรกวินการ2
พิมพ์ลดา มาศวิศาลพงศ์3
สุธาทิพย์ เทียนเตี้ย4
1ผศ.ดร. ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
2นิสิต หลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
3-4นิสิต หลักสูตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
บทนำ
ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนในทุกด้านและยังคงมีความเจริญอย่างไม่หยุดยั้ง ข้อมูลข่าวสารมีการเผยแพร่ในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media หรือ Social Network) อย่างรวดเร็ว ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้ในทันที ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด เมื่อสถานการณ์ทั่วโลกตกอยู่ในภาวะวิกฤติด้านสุขภาพจากโรคระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า – 19 (COVID-19) เมื่อปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ 2563) ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบการศึกษา สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคมและการมือง ส่งผลให้ประชากรทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต้องปรับพฤติกรรมและมีวิถีชีวิตใหม่ โดยใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเป็นเวลายาวนานขึ้น มีกิจกรรมในชีวิตประจำวันผ่านบริการโทรคมนาคมและปรับตัวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ทั้งการประชุม การทำงาน การเรียน การจับจ่ายใช้สอยและการทำธุรกรรมในชีวิตประจำวันผ่านระบบออนไลน์ จนกลายเป็นวิถีปกติใหม่ (New Normal) ที่ทุกคนคุ้นชิน
จุดเด่นที่ทำให้สื่อสังคมออนไลน์แตกต่างจากสื่ออื่น คือ เข้าถึงง่าย สะดวก ฉับไว ไม่ลบเลือน ช่วยย่อโลกให้เล็กลง เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน และเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายเพียงแค่ปลายนิ้วกดปุ่มสัมผัส และจากความสะดวกสบายในการใช้งานและเข้าถึงได้ง่ายของเทคโนโลยีดิจิทัลนี้เอง จึงเป็นเหตุให้ผู้คนทั้งเด็กและผู้ใหญ่นิยมใช้เพื่อประโยชน์ด้านต่าง ๆ กันมากขึ้น เช่น เพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เพื่อความบันเทิง เพื่อธุรกิจการค้า เพื่อสืบค้นข้อมูลที่ต้องการทราบ เพื่อติดต่องาน เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ รวมถึงเพื่อรับมือกับความเครียด เป็นต้น ในแต่ละวันเกือบทุกคนใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฟน เช่น โทรศัพท์มือถือ (Mobile Phone) เป็นต้น เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารและติดต่อสื่อสารระหว่างกันผ่านแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ยูทูบ เป็นต้น และมีคนจำนวนมากจับโทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งแรกหลังตื่นนอนและวางเป็นสิ่งสุดท้ายก่อนเข้านอนจนกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของการใช้ชีวิตไปแล้ว
แม้ว่าสื่อสังคมออนไลน์มีข้อดีมากมาย แต่มีข้อเสียแฝงอยู่ด้วยเสมอ โดยเฉพาะการใช้สื่อสังคมออนไลน์ผ่านอุปกรณ์สมาร์ทโฟนมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะเสพติด (Social Addiction) ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจและเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคซึมเศร้า เครียด สมาธิสั้นและไบโพลาร์ได้ (ศิครินทร์, 2566) โดยผลเสียที่เห็นได้ชัดเจน คือการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมรอบข้างลดลง เกิดการเรียกร้องความสนใจผ่านสื่อออนไลน์ เช่น การโพสต์เรื่องราวเพื่อเรียกร้องความสนใจจากสังคม เป็นต้น การไขว้เขวจากเป้าหมาย เพราะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นสื่อออนไลน์ สัมพันธภาพระหว่างบุคคลล้มเหลว เกิดความทุกข์จากการเปรียบเทียบชีวิตความเป็นอยู่กับคนอื่นที่เจอบนโลกออนไลน์ มีภาวะนอนหลับยาก ไม่มีความเป็นส่วนตัว ข้อมูลที่โพสต์อาจถูกค้นหาและจะคงอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตตลอดไป เจอการคุกคามทางความรู้สึกจากคำหยาบคาย คำด่า คำตำหนิและการหลอกลวง จนนำไปสู่ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้
ข้อเสียอีกด้านหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ อาชญากรรม อาชญากรและเหยื่อของความรุนแรงจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์มีมากขึ้น เป็นพื้นที่ที่สร้างอาชญากรรายใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใช้อายุน้อยที่ยังไม่สามารถพิจารณาได้ว่า เรื่องใดดีหรือเสีย แทบทุกแพลตฟอร์มในสื่อออนไลน์ เป็นเรื่องง่ายที่จะค้นหาคลิปหรือข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรง การผลิตและการใช้อาวุธ รวมถึงการผลิตและการใช้ยาเสพติด คลิปและข้อมูลเหล่านั้น ได้สร้างอาชญากรอายุน้อยและกระตุ้นให้เกิดเหตุอาชญากรรมขึ้นจำนวนมาก เรียกว่า อาชญากรรมไซเบอร์ (Cyber Crime) ทุกวัน ขณะเดียวกันสังคมออนไลน์ก็เป็นช่องทางที่อาชญากรชื่นชอบมากด้วยเช่นกัน เพราะสามารถติดตามสถานะหรือพฤติกรรมของเหยื่อได้ง่ายกว่าช่องทางใด ๆ โดยปัจจุบัน อาชญากรรมทางไซเบอร์กลายเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของทุกประเทศ โดยสถิติล่าสุดเมื่อ ค.ศ. 2021 พบว่า ภัยคุกคามทางออนไลน์ดังกล่าวสร้างความเสียหายทั่วโลก รวมแล้วเป็นเงินมากกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับประเทศไทย สถิติจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อเดือนมีนาคม 2565 เผยว่า ชาวไทยกว่า 50% เคยมีประสบการณ์ถูกหลอกลวงทางออนไลน์ระหว่างช่วง 1 ปีที่ผ่านมา โดย 2 ใน 5 คน หลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมทางไซเบอร์ โดยเกิดความเสียหายเฉลี่ยประมาณ 2,400 บาทต่อคน (Bangkok Bank InnoHub, 2022) นอกจากนี้ อาชญากรรมไซเบอร์แบบอื่นที่เห็นได้ชัดเจน เช่น การกลั่นแกล้งทางออนไลน์ (Cyber Bullying) การหลอกลวงและมีสัมพันธ์กับผู้เยาว์ (Cyber Grooming) การปล่อยภาพหรือวิดีโอลับโดยที่อีกฝ่ายไม่ยินยอม (Revenge Porn) การฉ้อโกงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ การหลอกลวงเรื่องการซื้อขาย ธุรกิจและการลงทุน เป็นต้น โดยศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ไทยเซิร์ต) ได้บันทึกสถิติภัยคุกคามทางไซเบอร์ไว้ โดยแบ่งเป็น 10 ประเภท (จิราภพ ทวีสูงส่ง, 2566) ได้แก่
- Abusive Content (เนื้อหาที่เป็นภัยคุกคาม)
- Availability (การโจมตีสภาพความพร้อมใช้งานของระบบ)
- Fraud (การฉ้อฉล ฉ้อโกงหรือหลอกลวงเพื่อผลประโยชน์)
- Information Gathering (ความพยายามรวบรวมข้อมูลของระบบ)
- Information Security (การเข้าถึงหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลสำคัญโดยไม่ได้รับอนุญาต)
- Intrusion Attempts (ความพยายามจะบุกรุกเข้าระบบ)
- Intrusions (การบุกรุกหรือเจาะระบบได้สำเร็จ)
- Malicious Code (โปรแกรมไม่พึงประสงค์)
- Vulnerability (ช่องโหว่หรือข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ)
- Other (ภัยคุกคามอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ข้างต้น)
กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI ) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พยายามร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนหาแนวทางเร่งรัดและแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการหลอกลวงทางการเงินใน 5 ด้าน ได้แก่ 1) แก๊ง Call Center 2) แชร์ลูกโซ่–ระดมทุนออนไลน์ 3) การพนันออนไลน์ 4) บัญชีม้า และ 5) การหลอกลวงซื้อขายสินค้าบริการออนไลน์ โดยคนร้ายได้ปรับรูปแบบและวิธีการหลอกลวงประชาชนจนมีเหยื่อหลงเชื่อเป็นจำนวนมาก และพบว่าปัจจุบันยังคงมีการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าเรื่องการหลอกลงทุน การระดมทุนออนไลน์ การพนันออนไลน์ จากสถิติผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ปี พ.ศ. 2565 นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 จนถึง วันที่ 24 ตุลาคม 2565 ศาลมีคำสั่งลงโทษผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวม 184 คำสั่ง มี URLs ที่ผิดกฎหมายจำนวน 4,736 URLs (TODAY, 2565) ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่สิบสาม พ.ศ. 2566-2570 ที่ระบุว่า ดัชนีความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของโลกแสดงให้เห็นว่า ความมั่นคงทางไซเบอร์ของไทยมีอันดับลดลงจากอันดับที่ 22 ในปี 2560 เป็นอันดับที่ 44 ในปี 2563 (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2565) จากข้อจำกัดทางศักยภาพของทั้งระดับบุคคลและองค์กรภาครัฐที่พัฒนาทักษะความรู้ความเข้าใจและสมรรถนะทางดิจิทัลได้ไม่ทันต่อการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ซึ่งเป็นความท้าทายของรัฐ ในการลดข้อจำกัดเดิมและเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐต่อไป
จากข้อมูลที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีและสื่อสังออนไลน์มีทั้งข้อดีและข้อเสีย การรู้เท่าทันสื่อ จึงมีความสำคัญและเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เพราะจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่ทำให้สามารถตีความ วิเคราะห์ สังเคราะห์ แยกแยะเนื้อหาสาระของสื่อ สามารถโต้ตอบในสื่อได้อย่างมีสติรู้ตัว และสามารถเลือกรับสื่อที่เป็นประโยชน์กับตนเองและคนรอบข้างได้ เมื่อบุคคลรู้เท่าทัน โอกาสที่เราจะตกเป็นเหยื่อย่อมลดน้อยลง ดังนั้น บทความเรื่องนี้จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อนำเสนอความรู้เกี่ยวกับสื่อและการรู้เท่าทันสื่อว่ามีอะไรบ้าง รวมถึงเพื่อนำเสนอหลักวิธีปฏิบัติเพื่อสร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อโดยบูรณาการกับหลักพุทธจิตวิทยาเพื่อกระตุ้นให้รู้จักใช้สื่ออย่างมีสติ มีสัมปชัญญะ รู้จักพิจารณาใคร่ครวญอย่างรอบคอบก่อนเชื่อสื่อ และเพื่อให้รู้จักใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมให้มีความสุขอย่างยั่งยืน
สื่อสังคมออนไลน์คืออะไร ?
คำว่า “สื่อสังคมออนไลน์” ในบทความนี้แยกเป็น 2 ส่วน คือ สื่อออนไลน์ และเครือข่ายออนไลน์ โดยอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ดังนี้
สื่อออนไลน์ หมายถึง สิ่งที่ผู้ใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นผู้สื่อสาร โดยการเล่าเรื่องราวหรือเนื้อหา ประสบการณ์ผ่านรูปภาพและวีดิโอที่สร้างขึ้นเอง รวมถึงการเขียนข้อความต่าง ๆ โดยตัวผู้สื่อสารเองหรือพบเจอจากสื่ออื่น ๆ แล้วนำมาแบ่งปันให้กับผู้อื่นที่อยู่ในเครือข่ายของตนผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่ให้บริการบนโลกออนไลน์ ปัจจุบันการสื่อสารแบบนี้จะทำผ่านการใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ต และนิยมใช้งานบนสมาร์ทโฟน เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นต้น เป็นหลัก
เครือข่ายออนไลน์ หมายถึง เครือข่ายออนไลน์หรือระบบออนไลน์ ที่ให้บริการเชื่อมโยงคนหลายคนเข้าด้วยกันโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทุกคนสามารถติดต่อสื่อสาร โต้ตอบและรับทราบข้อมูลข่าวสารเชิงประจักษ์ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
เมื่อรวมกันแล้วจึงเป็นเป็นคำว่า “สื่อสังคมออนไลน์” ที่มีความหมายโดยรวม คือ สื่อที่เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติการทางสังคม (Social Tool) เพื่อใช้ในการสื่อสารระหว่างกันในเครือข่ายทางสังคม (Social Network) ผ่านทางเว็บไซต์และโปรแกรมประยุกต์บนสื่อต่าง ๆ ที่มีการเชื่อมต่อกับสัญญาณอินเทอร์เน็ต โดยเน้นให้ผู้ใช้ทั้งที่เป็นผู้ส่งสารและผู้รับสารมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ในการผลิตเนื้อหาขึ้นเอง (User Generate Content: UGC) ในรูปของข้อมูลภาพและเสียง เพื่อประโยชน์ของการแสดงออกและเพื่อให้เข้าใจความหมายที่ต้องการจะสื่อตรงกัน
สื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบันที่นิยมใช้และเป็นที่รู้จักและมีบทบาทสำคัญต่อระบบการสื่อสารอย่างกว้างขวาง เช่น Facebook, WhatsApp, Line, Twitter, Google+, Instagram, YouTube เป็นต้น ทำให้ผู้คนสามารถเชื่อมต่อความสัมพันธ์กันได้อย่างสะวด รวดเร็วและกว้างขวาง โดยไม่จำกัดเวลา สถานที่และอุปกรณ์ ทำให้ครอบครัว พี่น้อง เพื่อน ญาติมาพบปะกันได้อย่างใกล้ชิด จนอาจเรียกได้ว่าสื่อสังคมออนไลน์ได้ก้าวเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ด้วยการสื่อสารก็ได้
จำนวนผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกวัน
จากข้อมูลของ Global social media statistics research summary 2023 (Smart Insights, 2023) ที่เผยแพร่ข้อมูลเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้คนในโลกนี้ Smart Insights มากกว่าครึ่งใช้สื่อสังคมออนไลน์แสดงถึงความเป็นตัวตน (60%) ประมาณ 4.80 พันล้านคน และเป็นผู้ใช้รายใหม่ที่เพิ่งหันมาใช้ในระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมีมากถึง 150 ล้านคน โดยใช้เวลาเฉลี่ยในการใช้โดยรวม 2.24 ชั่วโมงต่อวัน และสื่อสังคมออนไลน์ที่นิยมใช้มากที่สุด คือ Facebook รองลงมา คือ YouTube, WhatsApp, Instagram ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ส่งผลให้มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น สามารถรวบรวมได้ ดังนี้
- ปัจจัยทางด้านเทคโนโลยีทั้งการเพิ่มขีดความสามารถของเครือข่าย การปรับปรุง พัฒนาโปรแกรม รวมทั้ง การพัฒนาขีดความสามารถของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน เป็นต้นให้มีประสิทธิภาพและการใช้งานได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น
- ปัจจัยทางสังคม ที่เกิดจากผู้คนใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ในวิถีชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น
- ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การซื้ออุปกรณ์สมาร์ทโฟนและซอฟแวร์เพิ่มขึ้น เนื่องจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่ส่งผลให้อุปกรณ์ต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะที่ราคาถูกลง รวมถึง การทำให้ความสนใจต่อการนำสื่อสังคมออนไลน์ไปใช้ในเชิงธุรกิจมากขึ้น
- การสร้างและประกาศตัวตน (Identity Network) ผู้เข้าใช้งานได้มีพื้นที่ในการสร้างตัวตนขึ้นมาบนเว็บไซต์ และสามารถเผยแพร่เรื่องราวของตนในรูปแบบของภาพ วิดีโอ การเขียนข้อความ อีกทั้งยังเน้นการหาเพื่อนใหม่ หรือการค้นหาเพื่อนเก่าที่ขาดการติดต่อกันได้
- การสร้างและประกาศผลงาน (Creative Network) ผู้ใช้ที่ต้องการแสดงออกและนำเสนอผลงานของตัวเอง สามารถแสดงผลงานได้จากทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอ รูปภาพ เพลง อีกทั้งยังมีจุดประสงค์หลักเพื่อแชร์เนื้อหาระหว่างผู้ใช้เว็บที่ใช้ฝากหรือแบ่งปันระหว่างกัน
- ความชอบในสิ่งเดียวกัน (Passion Network) เครือข่ายสังคมออนไลน์ทำหน้าที่เก็บสิ่งที่ชื่นชอบไว้บนเครือข่าย เป็นการสร้างที่คั่นหนังสือออนไลน์ (Online Bookmarking) มีแนวคิดเพื่อให้ผู้ใช้สามารถเก็บหน้าเว็บเพจที่คั่นไว้ในเครื่องนำมาเก็บไว้บนเว็บไซต์ได้ เพื่อจะได้แบ่งปันให้กับคนที่มีความชอบในเรื่องเดียวกันได้ และสามารถใช้เป็นแหล่งอ้างอิงในการเข้าไปหาข้อมูลได้
- เวทีการทำงานร่วมกัน (Collaboration Network) เป็นที่แชร์ความคิด ความรู้และการต่อยอดจากผู้ใช้ที่มีความรู้ เพื่อให้ความรู้ที่ได้แชร์ออกมามีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ทำงานร่วมกันและเกิดการพัฒนาในที่สุด
- เครือข่ายเพื่อการประกอบอาชีพ (Professional Network) เป็นการนำประโยชน์จากเครือข่ายสังคมออนไลน์มาใช้ในการเผยแพร่ประวัติผลงานของตนเองและสร้างเครือข่ายเข้ากับผู้อื่น นอกจากนี้บริษัทหรือองค์กรที่ต้องการคนมาร่วมงาน สามารถเข้ามาหาจากประวัติของผู้ใช้ที่อยู่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์นี้ได้
- เครือข่ายที่เชื่อมต่อกันระหว่างผู้ใช้ (Peer to Peer : P2P) เป็นการเชื่อมต่อกันระหว่างเครื่องผู้ใช้ด้วยกันเองโดยตรง จึงทำให้เกิดการสื่อสารหรือแบ่งปันข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และตรงถึงผู้ใช้ทันที
- เครือข่ายสังคม (Social Networking site) บุคคลหรือหน่วยงานสามารถสร้างข้อมูลและเปลี่ยนข้อมูล (สถานะของตน) เผยแพร่รูปภาพภาพเคลื่อนไหว โดยที่บุคคลอื่นสามารถเข้ามาแสดงความชอบหรือส่งต่อ หรือเผยแพร่ หรือแสดงความเห็น โต้ตอบการสนทนา หรือแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมได้
- โปรแกรมสังคม (Social Network Application) การรับส่งข้อความสั้น ๆ จากมือถือ – SMS (text messaging) การแสดงตนว่าอยู่ ณ สถานที่ใด (Geo-spatial tagging) เป็นการแสดงตำแหน่งที่อยู่ พร้อมความเห็นและรูปภาพในสื่อสังคมออนไลน์การคุยโต้ตอบ การส่งรูปภาพ อารมณ์ และการแชร์
ปัจจัยทั้งหมดนี้ เป็นส่วนช่วยเสริมให้การใช้เสื่อสังคมออนไลน์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกวัน จนกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันทั้งในเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน และมีอิทธิพลมากจนอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของผู้ใช้และสังคมโดยรวม
สื่อสังคมออนไลน์มีอิทธิพลและส่งผลกระทบของต่อคุณภาพชีวิตและสังคมอย่างไร ?
จากความจริงว่า สังคมในโลกออนไลน์ไม่ต่างจากสังคมของโลกความจริงที่มีทั้งสิ่งดีและไม่ดี ผู้ใช้ก็มีปะปนทั้งคนดีและคนไม่ดี ข้อมูลข่าวสารก็มีทั้งข่าวจริง ข่าวลับ ข่าวลวง มีทั้งส่งเสริมคุณงามความดีงามและมีทั้งสิ่งยั่วยุ มอมเมา ที่อาจส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและรวมถึงศีลธรรมอันดีงามของสังคมได้
จากข้อมูลทางวิชาการหลาย ๆ ชิ้นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตผู้ใช้ในทุกช่วงวัยและสังคมรอบข้างไว้สอดคล้องกัน ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า ผลกระทบของการใช้สื่อสังคมออนไลน์มีทั้งบวกและลบ มีดังนี้ (อดิสรณ์ อันสงคราม, 2558; ดวงรัตน์ โกยกิจเจริญ และ สมชาย ไชยโคต, 2558; ภัททิรา กลิ่นเลขา, 2561; ปัทมาภรณ์ สุขสมโลด และ ปฐมพงษ์ พุ่มพฤกษ์,2564 ; ภัทรพรรณ ทำดี, 2564; สิริกาญจน์ ชัยหาร, ลัดดาวัลย์ แก้วกิติพงษ์ และ สุรัตน์ โคอินทรางกูร, 2564; ศักดิกร สุวรรณเจริญ, พีระพันธ์ ประทุมพร, กฤตปภัช ตันติอมรกุล, สุวัฒนา เกิดม่วง และ ธัชพล เมธารัชกุล, 2564)
ผลกระทบเชิงบวก ได้แก่ ช่วยสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน ช่วยสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ที่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่ม เป็นตัวกลางในการนำเสนอผลงานของตัวเอง เป็นช่องทางในการแบ่งปันข้อมูล รูปภาพ ความคิดสร้างสรรค์และความรู้ระหว่างกัน ช่วยให้เกิดค่านิยมที่ดี เช่น การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การรักสุขภาพ การพึ่งพาตนเอง ก่อให้เกิดค่านิยมเรื่องการแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ และเกิดพฤติกรรมใฝ่รู้เฉพาะด้านในเรื่องที่สนใจ เป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เป็นเครื่องมือช่วยในการพัฒนาชุมชนและสังคม เป็นสื่อในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์หรือบริการลูกค้า ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการติดต่อสื่อสาร ได้เรียนรู้ทักษะอาชีพต่าง ๆ เช่น การทำอาหาร การแต่งหน้า ทำผมจากคลิปวีดีโอ เป็นต้น ช่วยให้รู้เท่าทันภัยต่าง ๆ จากสื่อออนไลน์ สามารถเอาตัวรอดได้ในยามฉุกเฉิน และช่วยให้อารมณ์ผ่อนคลาย ลดความเครียด
ผลกระทบเชิงลบ ได้แก่ ส่งผลเสียด้านอารมณ์ ทำให้มีอารมณ์หงุดหงิดง่าย ส่งผลเสียด้านสังคม ไม่สนใจสังคมรอบข้าง หมกหมุ่นอยู่กับสื่อสังคมออนไลน์และตัวเอง เปิดช่องทางให้ถูกละเมิดลิขสิทธิ์หรือขโมยผลงานหรือถูกแอบอ้างผลงาน ส่งผลเสียต่อสุขภาพหากผู้ใช้หมกมุ่นกับสื่อสังคมออนไลน์มากเกินไป โดยเฉพาะสุขภาพสายตา ปวดหลัง ปวดมือ ปวดคอ ปวดไหล่ เป็นต้น เป็นช่องทางที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์กระแสสังคมในเรื่องเชิงลบ มีภัยหรือถูกคุกคามจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ และทำให้เกิดค่านิยมผิด ๆ เช่น การบริโภคนิยม การใช้ภาษาผิดเพี้ยน รักอิสระ ไม่อยู่ในกฎเกณฑ์ ชอบเสี่ยงโชค การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เป็นต้น
ผลกระทบเชิงบวกอาจส่งเสริมให้ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้เรียนรู้และใช้ประโยชน์ในการพัฒนาตนเองให้ประสบความสำเร็จในการเรียน อาชีพและหรือในหน้าที่การงานได้ ส่วนผลกระทบเชิงลบ อาจส่งผลให้เกิดปัญหาในชีวิต ส่งผลเสียจนทำให้ชีวิตต้องลำบาก เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ในบางรายอาจเกิดผลเสียจนเสียอนาคต และส่งผลให้คนรอบข้างและครอบครัวจะได้รับผลกระทบไปด้วย ดังนั้น การรู้เท่าทันสื่อจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันผลกระทบดังกล่าว
การรู้เท่าทันสื่อคืออะไร ?
การรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) คือ ความสามารถในการวิเคราะห์ วิจารณ์ และประเมินค่าสื่อได้ สามารถอ่านสื่อออก ไม่ตกเป็นเหยื่อของสิ่งที่สื่อนำเสนอง่ายเกินไป มีภูมิคุ้มกันทางปัญญาที่สามารถแยกแยะและสังเคราะห์โลกความเป็นจริงและโลกที่สื่อสร้างขึ้นมาได้ ยิ่งกว่านั้น คือ ความสามารถในการใช้สื่อเพื่อการสื่อสารได้หลากหลายรูปแบบเพื่อจุดประสงค์ของตนเองได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ความสามารถในการป้องกันตนเองจากการถูกจูงใจจากเนื้อหาของสื่อ โดยสามารถวิเคราะห์เนื้อหาของสื่ออย่างมีวิจารณญาณ เพื่อให้สามารถควบคุมการตีความเนื้อหาของสื่อที่มีปฏิสัมพันธ์ด้วยได้ นั่นคือ การไม่หลงเชื่อเนื้อหาที่ได้อ่าน ได้ยิน ได้ฟัง แต่สามารถคิด วิเคราะห์ แยกแยะและรู้จักตั้งคำถามเพื่อให้เกิดปัญญาและรู้เท่าทันสื่อที่ได้รับนั้น
แนวคิดการรู้เท่าทันสื่อ
จากการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องสามารถสรุปได้ว่า แนวคิดการรู้เท่าทันสื่อให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะและความเข้าใจในการตีความและวิเคราะห์สื่อที่เกิดขึ้นในสังคม 3 ประการ ได้แก่
- แนวคิดเพื่อการเรียนรู้ แนวคิดนี้เน้นการใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างความรู้ โดยมีหลักการว่าการเรียนรู้สื่อ จะเป็นประโยชน์และมีคุณค่าสำหรับการพัฒนาทักษะทางสังคมและความคิด
- แนวคิดการรับรู้สื่อ เน้นการพัฒนาทักษะในการรับรู้และเข้าใจสื่อในสังคม เช่น การวิเคราะห์เนื้อหา การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลและการเสริมสร้างความคิดในการจัดการสื่อ เป็นต้น
- แนวคิดการตีความและวิเคราะห์สื่อ แนวคิดนี้เน้นการพัฒนาทักษะในการตีความและวิเคราะห์สื่อที่มีอิทธิพลต่อความคิดเห็นและพฤติกรรมของคน โดยมีหลักการว่า การตีความสื่อให้ถูกต้องและอยู่ในหลักความสมเหตุสมผลเป็นสิ่งสำคัญ
นอกจากนี้ แพรวพรรณ อัคคะประสา (2557) ได้สรุปแนวคิดการรู้เท่าทันสื่อเพื่อเป็นเครื่องป้องกันตนจากการตกเป็น “เหยื่อ” ในกระบวนการสื่อสาร จากทัศนะของ Potter (2004) ไว้น่าสนใจ ดังนี้
- การรู้เท่าทันสื่อเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องเพิ่มพูนความรู้ของตน (Responsibility Axiom)
- การรู้เท่าทันสื่อเกี่ยวข้องกับการให้ความสนใจถึงผลกระทบที่สื่อมีต่อผู้รับสาร (Effect Axiom)
- การรู้เท่าทันสื่อเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลของผู้รับสารในการตีความและสร้างความหมายสารในแบบฉบับของตน (Interpretation Axiom)
- การรู้เท่าทันสื่อให้ความสำคัญต่อการสร้างความหมายร่วม (Share Meaning) ของสังคม ภายใต้ความแตกต่างของแต่ละบุคคล
- การรู้เท่าทันสื่อเชื่อว่า ความรู้ (Knowledge) ของผู้รับสาร ทั้งความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ตรงและความรู้จากสื่อ มีส่วนในการเสริมสร้างอำนาจ (Power) ของผู้รับสารในฐานะผู้บริโภคข่าวสารเพิ่มขึ้น
จะเห็นได้ว่า แนวคิดในการรู้เท่าทันสื่อจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะการรับสื่อ การตีความ การวิเคราะห์และการจัดการสื่อ โดยผู้รับสารต้องเรียนรู้ผลกระทบของสื่อแล้วสร้างความหมายของสารนั้นในแบบฉบับของตน รวมถึง รู้จักใช้สารเพื่อสร้างความหมายร่วมกับผู้อื่นในสังคมและเลือกใช้สื่อเสริมสร้างอำนาจแห่งตนเพื่อประโยชน์เชิงบวกและสร้างสรรค์ในชีวิตประจำวันได้
องค์ประกอบในการรู้เท่าทันสื่อ
การรู้เท่าทันสื่อมีองค์ประกอบสำคัญดังนี้
- การเปิดรับสื่อ คือ การรู้เท่าทันการเปิดรับสื่อของประสาทสัมผัส เมื่อเปิดรับแล้ว สมองจะสั่งการให้คิดและปรุงแต่งให้เกิดอารมณ์ต่าง ๆ ตามมา การรู้เท่าทันสื่อในขั้นของการรับรู้อารมณ์ตนเอง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องแยกความคิดและอารมณ์ออกจากกัน เพื่อให้รับรู้ความจริงได้ว่า “อะไรคือสิ่งที่สื่อสร้างขึ้น”
- การวิเคราะห์สื่อ คือ การแยกแยะองค์ประกอบในการนำเสนอของสื่อ ว่าสื่อนั้นมาจากแหล่งใด มีเนื้อหาหรือสาระสำคัญอะไรบ้าง และมีวัตถุประสงค์อะไรบ้าง เป็นต้น
- การเข้าใจสื่อ คือ การตีความสื่อหลังจากเปิดรับสื่อไปแล้ว เพื่อทำความเข้าใจในสิ่งที่สื่อนำเสนอ ซึ่งผู้รับสารแต่ละคนจะมีความเข้าใจในสื่อไม่เหมือนกัน อาจตีความไปคนละแบบ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ พื้นฐานการศึกษา คุณสมบัติในการเรียนรู้ ตลอดจนการรับรู้ข้อมูลของแต่ละบุคคลที่ไม่เท่ากัน
- การประเมินค่า หลังการวิเคราะห์และทำความเข้าใจสื่อชัดเจนแล้ว ควรประเมินค่าสิ่งที่สื่อนำเสนอ ว่ามีคุณภาพและคุณค่ามากน้อยเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นด้านแหล่งที่มา เนื้อหา วิธีนำเสนอหรือเทคนิคที่ใช้ เป็นต้น
- การใช้สื่อให้เกิดประโยชน์ แม้ว่าจะเปิดรับสื่ออย่างรู้เท่าทัน วิเคราะห์สื่อเป็น เข้าใจสื่อถูกต้อง และประเมินค่าสื่อได้ แต่หากจะให้เกิดคุณค่าจริง ๆ ต้องนำสื่อที่วิเคราะห์ไปใช้ประโยชน์ได้ เลือกรับสื่อเป็น สามารถส่งสารต่ออย่างถูกต้อง และมีปฏิกิริยาตอบกลับสื่ออย่างมีวิจารณญาณ
การรู้เท่าทันสื่อตามองค์ประกอบสำคัญที่กล่าวมานี้ ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของผู้รับสื่อเองและสังคมทั่วไปหลายด้านด้วยกัน คือ
- ด้านข้อมูลและความรู้ การมีข้อมูลที่ถูกต้องและความรู้จากสื่อที่มีคุณภาพ สามารถส่งเสริมการตัดสินใจที่ถูกต้องและช่วยแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันได้
- ด้านการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ การรู้เท่าทันสื่ออย่างมีคุณภาพ สามารถส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมในสังคม ช่วยสร้างโอกาสในการคิดนวัตกรรมและพัฒนาทักษะทางวิชาการและอาชีพที่เป็นประโยชน์ในชีวิตได้อย่างยั่งยืน
- ด้านพัฒนาทักษะส่วนตัวและสังคม การรู้เท่าทันสื่ออย่างถูกต้อง ช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางสังคม เช่น การเสริมสร้างทักษะด้านการสื่อสาร การวิเคราะห์และการแก้ไขปัญหา เป็นต้น ทำให้เกิดทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความความสุข
- ด้านการสร้างสัมพันธภาพและความเข้าใจ การรู้เท่าทันสื่อมีบทบาทสำคัญในการช่วยเสริมสร้างสัมพันธภาพและความเข้าใจอันดีระหว่างบุคคลและกลุ่มที่มีความหลากหลายในสังคม
- ด้านการกระจายข้อมูลและอิทธิพลทางสังคม ผู้ที่รู้เท่าทันสื่อมีบทบาทที่สำคัญในการกระจายข้อมูลและมีอิทธิพลในสังคมได้ เช่น ช่วยส่งเสริมแนวคิดที่ดี เผยแพร่ความเชื่อที่ถูกต้องและมีพฤติกรรมที่ดีในสังคม เป็นต้น
ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ
- การเข้าถึง (Access) คือ การรับสื่อต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่และรวดเร็ว รับรู้และเข้าใจเนื้อหาของสื่อประเภทต่าง ๆ ได้อย่างเต็มความสามารถ แสวงหาข่าวสารจากสื่ออย่างหลากหลาย ไม่จำกัดอยู่กับสื่อประเภทใดประเภทหนึ่งมากเกินไป เลือกเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์ พร้อมทั้งทำความเข้าใจความหมายในสื่อนั้นให้ถ่องแท้
- การวิเคราะห์ (Analyze) คือ การตีความเนื้อหาของสื่อตามองค์ประกอบและรูปแบบที่สื่อแต่ละประเภทนำเสนอ ว่าสิ่งที่สื่อนำเสนอนั้นส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจและการเมืองอย่างไรบ้าง โดยใช้พื้นความรู้เดิมและประสบการณ์ในการคาดการณ์ถึงผลที่จะเกิดขึ้น ซึ่งอาจได้มาจากการวิเคราะห์วัตถุประสงค์ของการสื่อสาร การวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายของสื่อ จุดยืนของสื่อ บริบทต่าง ๆ ของสื่อ ผลกระทบจากการนำเสนอของสื่อ โดยอาจใช้วิธีการวิเคราะห์เปรียบเทียบ การแตกองค์ประกอบย่อย หรือการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเหตุและผล โดยการตรวจสอบรูปแบบการใช้สื่อ โครงสร้างและลำดับการเรียงเนื้อหาสื่อ เป็นต้น
- การประเมินค่าสื่อ (Evaluate) คือ การประเมินคุณภาพของสื่อที่ได้จากการวิเคราะห์แล้วว่า มีคุณค่าต่อผู้รับมากน้อยเพียงใด สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้รับในด้านใดได้บ้าง คุณค่าที่เกิดขึ้นเป็นคุณค่าที่เกิดขึ้นทางใจ อารมณ์ ความรู้สึก รวมถึง มีคุณค่าทางศีลธรรม จรรยาบรรณ สังคม วัฒนธรรม หรือประเพณีอย่างไรบ้าง สิ่งที่สื่อนำเสนอมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ในศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งหรือไม่ อย่างไร ขณะเดียวกัน การประเมินค่าที่เกิดขึ้น อาจเป็นการประเมินคุณภาพของสื่อว่า สื่อนั้น มีกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพหรือไม่เมื่อเปรียบกับสื่อประเภทเดียวกัน นำเสนอความเห็นในแง่มุมที่หลากหลายเพิยงใด เป็นต้น
- การสร้างสรรค์ (Create) คือ การพัฒนาทักษะการสร้างสื่อในแบบฉบับของตนเองขึ้นมาหลังจากได้เข้าถึง วิเคราะห์และการประเมินคุณค่าของสื่อแล้ว จนสามารถเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับสื่อเป็นผู้ผลิตสื่ออย่างสร้างสรรค์ได้ โดยผ่านการวางแผน เขียนบท ค้นคว้าข้อมูลเนื้อหามาประกอบตามสาระสำคัญของสื่อ เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจวัตถุประสงค์การสื่อสารที่ตนได้วางไว้ สามารถแสดงความคิด ใช้คำศัพท์ เสียง และหรือสร้างภาพให้มีประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย และต้องสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่หลากหลายของการสื่อสารเพื่อสร้างสรรค์งาน ตัดต่อภาพและเสียง และเผยแพร่เนื้อหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การมีส่วนร่วม (Participate Skill) คือ ความสามารถในการแก้ปัญหาและปฏิสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ภายใต้เงื่อนไขและกรอบการทำงานที่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน ผ่านการวางแผน ปฏิบัติงาน ตรวจสอบและปรับปรุงงานร่วมกันตามหลัก PDCA (Plan-Do-Check-Act) เพื่อไปยังเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทำให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่หลากหลาย
ทักษะทั้ง 5 ประการนี้ เป็นหลักสำคัญที่ช่วยพัฒนาบุคคลให้รู้เท่าทันสื่อ จนสามารถเข้าใจสื่อดี ควบคุมการใช้สื่อได้และใช้ประโยชน์จากสื่อเป็น รู้จักเลือกบริโภคสื่อและนำประโยชน์มาใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึง รู้วิธีการจัดการกับสื่อและสารต่าง ๆ ที่หลั่งไหลเข้ามาหาด้วยมุมมองที่ชัดเจน ถูกต้อง จนสามารถต่อรองกับด้านลบของสื่อและนำเอาด้านบวกของสื่อมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพแก่ตนเองและสังคมได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่ตัวเองในการควบคุมความเชื่อและพฤติกรรมส่วนของบุคคล ช่วยให้มีวิจารณญาน มีสติสัมปชัญญะและมีปัญญาในการบริโภคสื่อมากขึ้น
พุทธจิตวิทยาคืออะไร มีความสำคัญต่อการรู้เท่าทันสื่ออย่างไร ?
หลักพุทธจิตวิทยาในบทความนี้ หมายถึง ความฉลาดในการเลือกบริโภคสื่อ จนสามารถเข้าใจสื่อได้เป็นอย่างดี ควบคุมการใช้สื่อได้และใช้ประโยชน์จากสื่อเป็น โดยการนำหลักคำสอนของพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมหรือพัฒนาคนให้มีวิจารณญาน มีสติสัมปชัญญะและมีปัญญาในการบริโภคสื่อ โดยผู้เขียนขอนำเสนอหลักพุทธจิตวิทยาบูรณาการ ดังนี้
กาลามสูตร : หลักพิจารณาสื่อก่อนตัดสินใจเชื่อ
หลักกาลามสูตร เป็นหลักการที่จะช่วยดึงสติของบุคคลก่อนตัดสินใจเชื่อสื่งต่าง ๆ และเมื่อเชื่อแล้ว ก็ไม่เชื่ออย่างหลงงมงายโดยไม่ใช้ปัญญา จะสามารถกำหนดได้ว่าเรื่องใดควรเชื่อ เรื่องใดไม่ควรเชื่อ และมีเงื่อนไขในการที่จะเชื่อหรือปฏิเสธอย่างชัดเจน โดยนำเรื่องที่ได้ยินได้ฟังจากสื่อมาสอบสวนด้วยตนเอง โดยอาศัยหลักแห่งอริยสัจจ์ 4 คือ การมองเห็นผลแล้วย้อนไปหาเหตุโดยอาศัยแนวทางแห่งมรรคมีองค์ 8 อันมีสัมมาทิฐิ (ความเห็นถูกต้อง) เป็นเบื้องต้นและมีสัมมาสมาธิ (จิตตั้งมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง) เป็นที่สุด
หลักกาลามสูตร มีแนวทางพิจารณาง่าย ๆ คือ เมื่อใดที่เห็นผล ให้พิจารณาย้อนกลับไปหาเหตุ เพื่อค้นหาว่าสิ่งใดเป็นเหตุ แล้วพิจารณาความลงตัว หากพบความลงตัวเชื่อมต่อกันได้อย่างสมบูรณ์ระหว่างเหตุและผล เมื่อนั้นจึงถือว่า มีความสมเหตุสมผลเชื่อถือได้ แต่หากไม่พบเหตุหรือพบเหตุแต่หาความเชื่อมต่อที่ลงตัวไม่ได้ ก็ไม่ควรเชื่อถือในสิ่งนั้น โดยมีหลัก 10 ประการเพื่อใช้พิจารณาก่อนตัดสินใจเชื่อสื่อ ได้แก่
- ไม่ควรเชื่อเพราะฟังตามกันมาแล้วเล่าต่อกันไป (มา อนุสฺสวเนน)
- ไม่ควรเชื่อเพราะเป็นเรื่องเก่าและเล่าสืบทอดกันมา (มา ปรมฺปราย)
- ไม่ควรเชื่อเพราะเป็นเรื่องเล่าลือที่คนนำมาพูดกัน (มา อิติกิราย)
- ไม่ควรเชื่อเพราะอ้างแนวคิด ทฤษฎีหรือตำรา (มา ปิฎกสมฺปทาเนน)
- ไม่ควรเชื่อเพราะตรรกะ คือ เหตุแห่งการตรึกหรือการคิดเอง (มา ตกฺกเหตุ)
- ไม่ควรเชื่อเพราะการอนุมาน หรือข้อสรุปจากการแสดงเหตุผล (มา นยเหตุ)
- ไม่ควรเชื่อเพราะการคิดตรองตามเหตุผล (มา อาการปริวิตกฺเกน)
- ไม่ควรเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่ได้พินิจไว้แล้ว (มา ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา)
- ไม่ควรเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะที่น่าจะเป็นไปได้ (มา ภพฺพรูปตาย)
- ไม่ควรเชื่อเพราะถือว่าเป็นครูอาจารย์ของเรา (มา สมโณ โน ครูติ)
จากหลักกาลามสูตร สรุปได้ว่า เมื่อได้รับข่าวสารจากสื่อใด ๆ อย่างเพิ่งเชื่อ ให้พิจารณาไตร่ตรองด้วยความรอบคอบก่อนว่า มีเหตุมีผลเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด มีโทษหรือประโยชน์มากกว่ากัน หากพิจารณาเห็นว่า เชื่อแล้วมีโทษมากกว่าประโยชน์ให้ตัดทิ้ง หากเห็นว่ามีเหตุมีผลพอเชื่อถือได้ มีประโยชน์ ให้ทดลองเชื่อหรือปฏิบัติตามดูก่อน หากแก้ปัญหาหรือใช้ได้จริงเป็นคุณแก่ชีวิตตนเองและสังคมค่อยเชื่อและยึดถือปฏิบัติต่อไป
โยนิโสมนสิการ : หลักการพิจารณาสื่ออย่างรอบคอบเพื่อให้รู้เท่าทัน
โยนิโสมนสิการ เป็นหลักธรรมภาคปฏิบัติที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการดํเนินชีวิตประจําวันเพื่อประโยชน์สุขแก่ตนเองและสังคม มุ่งการใช้ความคิดถูกวิธี คือ การกระทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณาสืบค้นถึงต้นเค้า สาวหาเหตุผลจนตลอดสาย แยกแยะออกพิเคราะห์ดูด้วยปัญญาที่คิดเป็นระเบียบและโดยอุบายวิธีให้เห็นสิ่งนั้น ๆ หรือปัญหานั้น ๆ ตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย (พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), 2546)
การคิดตามหลักโยนิโสมนสิการนี้ พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) (2551) ได้อธิบายและแนะวิธีคิดไว้อย่างชัดเจน ซึ่งสามารถสรุปให้เข้ากับหลักการพิจารณาสื่อย่างรอบคอบเพื่อให้รูเท่าทันได้ว่า โยนิโสมนสิการ เป็นหลักส่งเสริมคุณลักษณะที่ดีในการฝึกอบรมตนอย่างมีสติ รู้จักคิดอย่างถูกวิธี คิดอย่างมีระบบ คิดวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ อย่างละเอียด ไม่มองอย่างผิวเผิน คิดตามเหตุและผลและคิดแบบกุศล เพื่อให้รู้จักเลือกรับสื่อที่เข้ามาอย่างรู้เท่าทัน ซึ่งโยนิโสมนสิการไม่ใช่ตัวปัญญา แต่เป็นปัจจัยที่ทําให้เกิดปัญญา คือ เกิดสัมมาทิฏฐิที่สามารถกําจัดอวิชชาโดยตรงและสกัดหรือบรรเทาตัณหาได้ โดยมีหลักในการพิจารณาสื่ออย่างรอบคอบเพื่อให้รู้เท่าทันตามแนวทางโยนิโสมนสิการ 10 วิธี ได้แก่
- วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย หรือวิธีคิดแบบอิทัปปัจจยตา คือ การคิดวิเคราะห์ว่า สิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี สิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี วิธีคิดแบบนี้ช่วยให้สามารถพิจารณาสื่อได้ว่า ข้อมูลที่ปรากฏอาจเป็นเรื่องจริงก็ได้ เพราะหากไม่มีมูลก็ไม่เป็นข่าว ต้องพิจารณาสืบสาวไปหาเหตุจนค้นพบความจริงว่าเป็นอย่างไร
- วิธีคิดแบบแยกส่วน หรือวิธีคิดแบบธาตุววัตถาน คือ การคิดแบบสังเคราะห์เพื่อแยกแยะองค์ประกอบ เช่น การพิจารณาว่า ร่างกายนี้ประกอบด้วยธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นต้น วิธีคิดแบบนี้ช่วยให้สามารถพิจารณาสื่อได้ว่า สื่อหรือข้อมูลนั้นมีองค์ประกอบใดบ้าง สาระของสื่อมีอะไรบ้าง ประกอบด้วยเนื้อหาสำคัญอะไร ข้อมูลแต่ละสื่อแตกต่างกันอย่างไร วัตถุประสงค์ในการสื่อสารเพื่ออะไร เป็นต้น
- วิธีคิดแบบสามัญญลักษณะ หรือคิดแบบศึกษาปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ คือ การพิจารณาว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และแปรเปลี่ยนไป วิธีคิดแบบนี้ช่วยให้สามารถพิจารณาสื่อได้ว่า ไม่มีข้อมูลใดที่คงทนถาวร มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ข่าวสารที่เกิดขึ้นไม่นานก็เลือนหายไป ไม่ยั่งยีน
- วิธีคิดแบบอริยสัจ คือ วิธีการคิดแบบแก้ปัญหา หาสาเหตุแห่งปัญหา หาวิธีแก้ที่ต้นเหตุ แล้วดำเนินการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุตามวิธีการแห่งมรรคมีองค์ 8 เพื่อเข้าถึงการแก้ปัญหาอย่างถาวร วิธีคิดแบบนี้ช่วยให้สามารถพิจารณาสื่อได้ว่า หากถูกคุกคามหรือได้รับผลกระทบจากการบริโภคสื่อ ต้องพิจารณาให้เห็นเนื้อหาแท้จริงของผลกระทบนั้น แล้วพิจารณาถึงเหตุเกิดของข่าวสาร หาวิธีแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และดำเนินแก้ปัญหาตามแนวทางอริยมรรค 8 ประการ
- วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ คือ การศึกษาเป้าหมายและวิธีการ ว่าวิธีการถูกต้องต่อการที่จะทำให้เป้าหมายบรรลุผลหรือไม่ วิธีคิดแบบนี้ช่วยให้สามารถพิจารณาสื่อได้ว่า เป้าหมายของสื่อที่นำเสนอนั้นคืออะไร มีวิธีการนำเสนอด้วยวิธีการอะไร เป้าหมายและวิธีการสมเหตุสมผลซึ่งกันและกันหรือไม่ หากไม่สมเหตุสมผลซึ่งกันและกันสื่อนั้น ก็ไม่น่าเชื่อถือ
- วิธีคิดแบบพิจารณาคุณโทษและทางออก หรือการพิจารณาข้อดี (อายโกศล) ข้อเสีย (อปายโกศล) และอุบายการใช้ประโยชน์จากข้อดี ข้อเสียนั้น (อุปายโกศล) วิธีคิดแบบนี้ช่วยให้สามารถพิจารณาสื่อได้คือ การพิจารณาว่าข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมาจากสื่อมีข้อดี ข้อเสียอะไรบ้างหรือไม่ และจะใสช้ประโยชน์จากข้อดีข้อเสียของสื่อนั้นอย่างไร เป็นต้น
- วิธีคิดแบบคุณค่าแท้คุณค่าเทียม หรือวิธีคิดแบบปัจจเวกขณวิธี คือ การพิจารณาว่าอะไรคือแก่น อะไรคือเปลือก เป็นต้น วิธีคิดแบบนี้ช่วยให้สามารถพิจารณาสื่อได้ คือ การแยกแยะให้ได้ว่า สื่อที่ได้รับมาสิ่งใดเป็นสิ่งแท้ เป็นของจริง สิ่งใดเป็นของปลอม ไม่จริง เพื่อการเลือกเชื่อถือสื่อนั้นได้อย่างเหมาะสมไม่ตกเป็นเหยื่อ
- วิธีคิดแบบเร้าคุณธรรม หรือวิธีคิดแบบอุปปาทกมนสิการ คือ การคิดอย่างสร้างสรรค์ คิดสร้างประโยชน์ คิดบวก คิดประยุกต์ รวมถึง การคิดหาข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นและหาวิธีแก้ไข เพื่อพัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น วิธีคิดแบบนี้ช่วยให้สามารถพิจารณาสื่อได้คือ สื่อนั้น ๆ มีคุณค่าอะไรบ้าง และจะใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือใช้ให้เกิดประโยชน์มากกว่าที่กำหนดมาได้อย่างไรบ้าง
- วิธีคิดแบบปัจจุบัน คือ กระบวนการคิดที่จะค้นหาความจริงจากประสบการณ์ตรงผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ผ่านการมีสติในปัจจุบันจนเกิดความรู้จริงขึ้น วิธีคิดแบบนี้ช่วยให้สามารถพิจารณาสื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการใช้องค์ประกอบทางประสาทสัมผัสทั้งหมดพิจารณาอย่างแยบคาย จะทำให้รู้เท่าทันสื่อมากยิ่งขึ้น
- วิธีคิดแบบวิภัชชวาที หรือการคิดแบบแยกแยะเทียบเคียงประเด็น คือ การคิดแบบองค์รวมโดยไม่เหมารวม เป็นการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ เป็นกรณี ๆ ไป หรือการคิดแบบเทียบเคียงความจริงเฉพาะหน้า เพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ รวมถึง การพิจารณาความเข้ากันได้หรือเข้ากันไม่ได้ของข้อมูล วิธีคิดแบบนี้ยกตัวอย่างประกอบเหมือนกับการเกิดเหตุฆาตกรรมขึ้น ฝ่ายสืบสวนและฝ่ายนิติวิทยาศาสตร์ ค้นพบหลักฐานที่มีความจริง ถ้ามีข้อสันนิษฐานอะไรที่ไม่ตรงกับหลักฐานที่มีย่อมใช้ไม่ได้ เมื่อเจอความจริงสองอย่างที่ขัดแย้งกันก็ต้องพิจารณาว่าอันไหนที่จริงหรือจริงทั้งคู่แต่มีอะไรถึงขัดแย้งกัน หรือควรสืบสวนใหม่หมดเพื่อได้คำตอบที่ถูกต้องชัดเจน ไม่มีความจริงใดขัดแย้งกัน เปรียบได้กับความจริงของโลก ที่เราแบ่งการเข้าใจความจริงของโลกเป็นกลุ่มย่อย ๆ และเมื่อนำความจริงทั้งหมดมารวมกันก็จะได้ความจริงของสรรพสิ่งที่สมบูรณ์ในที่สุด เมื่อข้อความรู้ในความจริงขัดแย้ง ก็เข้าไปศึกษาว่าควรแก้ไขหรือตัดออก ซึ่งอาจเกิดความรู้ความเข้าใจในความจริงใหม่ ๆ ได้ เป็นการเข้าใจอดีต เข้าใจปัจจุบัน เข้าใจอนาคต เป็นการเข้าใจความจริงทุกสรรพสิ่งในภาพรวมทั้งหมด
หลักโยนิโสมนสิการช่วยให้บุคคลสามารถวิเคราะห์และตัดสินใจในการเชื่อสื่อที่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจเรื่องอื่น ๆ ต่อไป โดยเป็นการพิจารณาเหตุและผลอย่างรอบครอบถี่ถ้วน เพื่อนำไปสู่ความไม่ประมาทและเป็นหลักการที่สำคัญในการวิเคราะห์และตีความสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวกับความเชื่อและความคิดของผู้คน หลักโยนิโสมนสิการเน้นการตรวจสอบแหล่งกำเนิดและต้นกำเนิดของความคิดและความเชื่อต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจเหตุผลและความหมายของสิ่งนั้น ๆ ในทางที่ถูกต้องและเหมาะสม โดยสรุปแล้ว การวิเคราะห์สื่อตามหลักโยนิโสมนสิการมีขั้นตอนดังนี้
- ตรวจสอบความถูกต้องและความสมเหตุสมผล ว่าสื่อนั้นมีความถูกต้องและสมเหตุสมผลตาม
แหล่งที่มาของข้อมูลและหรือเหตุการณ์นั้นหรือไม่อย่างไร
- ตรวจสอบความคิดของตนเอง เพื่อให้มั่นใจว่าความเข้าใจนั้นถูกต้องและเหมาะสม
- ตรวจสอบการแสดงความเห็นและความคิดเห็นของผู้อื่น ที่อาจมีผลต่อการตัดสินใจเชื่อสื่อนั้น
- ตรวจสอบหลักฐานและข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้องกับสื่อนั้น เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่เชื่อนั้นมีหลักฐานและข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้
- ตรวจสอบภาพลักษณ์และเนื้อหาที่สื่อสร้างสรรค์ให้ เพื่อให้มั่นใจว่าสื่อได้นำเสนอความคิดที่สอดคล้องกับสิ่งที่เชื่อหรือไม่ อย่างไร เป็นต้นคิดแบบสามัญลักษณ์หรือฝึกให้มองเห็นความสัมพันธ์อิงอาศัยของสรรพสิ่ง ฝึกให้รู้จักคิดอย่างถูกต้อง มีวิธีคิดที่เป็นระบบและเป็นกุศลหรือไม่ ซึ่งกล่าวได้ว่า การประยุกต์ใช้วิธีคิดแบบโยนิโสมสิการ เป็นการพัฒนาศักยภาพตนเองเพื่อการรู้เท่าทันสื่อจนเกิดความฉลาดในการเลือกบริโภคสื่อ จนสามารถเข้าใจสื่อได้ดี ควบคุมการใช้สื่อได้และใช้ประโยชน์จากสื่อเป็นในที่สุด
พุทธจิตวิทยาการรู้เท่าทันสื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมได้อย่างไร
เมื่อชีวิตยุคปัจจุบันต้องเกี่ยวข้องกับสื่อสังคมออนไลน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และกลายเป็นวิถีปกติในกิจกรรมประจำวันไปแล้ว จึงเป็นสิ่งสำคัญที่บุคคลต้องเรียนรู้และอยู่กับสื่ออย่างรู้เท่าทัน ซึ่งสื่อสังคมออนไลน์มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่หากฉลาดในการเลือกบริโภคสื่อตามหลักพุทธจิตวิทยาที่นำเสนอมาข้างต้น จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาตนให้มีวิจารณญาน มีสติสัมปชัญญะ มีปัญญาในการบริโภคสื่อ จนเข้าใจสื่อได้ดี ควบคุมการใช้สื่อได้และใช้ประโยชน์จากสื่อเป็น ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเองให้ดียิ่งขึ้นได้
เทคนิคการรู้เท่าทันสื่อตามหลักพุทธจิตวิทยาเพื่อชีวิตที่มีคุณภาพ
เทคนิคการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy Techniques) ช่วยในการพัฒนาทักษะในการรับรู้และวิเคราะห์สื่ออย่างมีวิจารณญานด้วยหลักโยนิโนมนสิการ ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ จนตนเองต้องตกเป็นเหยื่อให้ได้รับความเดือดร้อน ตามหลักกาลามสูตร มีสติสัมปชัญญะ มีความคิดสร้างสรรค์ในการตีความและการตัดสินใจเชื่อสื่อที่ถูกต้องชัดเจนโดย ดังนี้
- การตั้งคำถามกับสื่อที่ได้รับ เช่น ข้อมูลนี้มีหลักฐานน่าเชื่อถือเพียงใด สอดคล้องกับประสบการณ์ ความรู้เดิมและข้อมูลจากแหล่งอื่นหรือไม่ อย่างไร เป็นต้น เพื่อให้สามารถเลือกรับสื่อที่เชื่อถือได้และไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตนเองในภายหลัง
- ตรวจสอบแหล่งข้อมูล โดยการตรวจสอบและตระหนักถึงแหล่งข้อมูลของสื่อ ว่าเป็นแหล่งที่น่าเชื่อถือหรือไม่ เป็นหน่วยงานรัฐหรือเอกชนหรือส่วนบุคคล แหล่งข้อมูลนี้มีวาระซ่อนเร้นใดแอบแฝงหรือไม่ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเชื่อหรือไม่เชื่อต่อไป
- สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม คือ การสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลอื่น ๆ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของสื่อที่ได้รับและเพิ่มความรู้ใหม่ให้มากยิ่งขึ้น
- เปรียบเทียบและวิเคราะห์สื่อ เป็นการวิเคราะห์และเปรียบเทียบสื่อที่เจอ เพื่อเข้าใจข้อแตกต่างและความเหมาะสมของสื่อนั้น ๆ
- ผลกระทบต่อสังคม เป็นการตระหนักถึงสื่อในด้านการสืบทอดทางสังคม ว่ามีอิทธิพลต่อความเชื่อและความคิดของคนในสังคมมากน้อยเพียงใดหรือไม่ อย่างไร
- ตระหนักถึงอารมณ์และความคิด โดยเฉพาะอารมณ์และความคิดที่เกิดขึ้นกับตนเองเมื่อต้องเสพสื่อสังคมออนไลน์ ว่าขัดแย้งหรือสอดคล้องกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในใจหรือไม่ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของความเชื่อและนำไปถ่ายทอดต่อแบบผิด ๆ
- ตัดสินใจเชื่อสื่อ เป็นการตัดสินใจเชื่อหลังจากการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน จนเห็นความสมเหตุสมผล
- เลือกใช้สื่อให้เหมาะสม เป็นการเลือกใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ไปใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตตนเองและสังคมให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามความต้องการและความสนใจ เหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป
การใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม
การใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม หมายถถึง การนำสื่อที่มีหลากหลายในสังคมออนไลน์มาใช้ในทางที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในตัวบุคคลและสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น โดยแนวทางในการดำเนินการ ดังนี้
- การเรียนรู้และการพัฒนาทักษะ การใช้สื่อเพื่อเรียนรู้และพัฒนาทักษะที่ต้องการ เช่น การเรียนรู้ผ่านวิดีโอหรือการเรียนรู้ผ่านแอปพลิเคชันสอนภาษา การใช้สื่อในการฝึกฝนทักษะอาชีพและการพัฒนาทักษะด้านส่วนตัว เช่น การพัฒนาทักษะการสื่อสาร การเสริมสร้างทักษะการแก้ปัญหา เป็นต้น
- การแสดงความคิด เป็นการใช้สื่อที่สร้างสรรค์เพื่อแสดงความคิดโดยการสร้างสื่อในรูปแบบต่าง ๆ เช่น วรรณกรรม ภาพวาด หรือภาพถ่ายที่แสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึกเพื่อเสริมสร้างสัมพันธภาพและการแลกเปลี่ยนความคิดในสังคม
- การสร้างสรรค์เนื้อหา เป็นการใช้สื่อเพื่อสร้างสรรค์เนื้อหาที่สร้างความหลงใหลและความรู้สึกที่ดีให้กับผู้รับชม เช่น การสร้างวีดีโอและบล็อกที่มีเนื้อหาที่สร้างสรรค์และมีคุณค่าสำหรับผู้ชม หรือการใช้สื่อในการสร้างสรรค์เนื้อหาที่สอดคล้องกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย เป็นต้น
- การส่งเสริมความรับผิดชอบในสังคม เป็นการใช้สื่อเพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบในสังคม โดยการสร้างสรรค์เนื้อหาที่เป็นประโยชน์และเสริมสร้างสัมพันธภาพในสังคม เช่น การใช้สื่อเพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบในการปฏิบัติตามกฎหมายหรือการสร้างสรรค์เนื้อหาที่สอดคล้องกับความเรียบร้อยและความรับผิดชอบในสังคม เป็นต้น
ประโยชน์ของการรู้เท่าทันสื่อตามแนวพุทธจิตวิทยา
การรู้เท่าทันสื่อตามแนวพุทธจิตวิทยาเป็นทักษะสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และความรู้สึกที่ดีในตัวบุคคลและสังคมที่มีความเหมาะสมประโยชน์ที่สำคัญของการรู้เท่าทันสื่อตามแนวพุทธจิตวิทยา เช่น
- การรับรู้และเกิดความเข้าใจ การใช้สื่อตามแนวพุทธจิตวิทยาช่วยให้เกิดการรับรู้และการเข้าใจข้อมูลและต่อสิ่งต่าง ๆ ในสังคมด้วยมุมมองที่มีสติ
- การวิเคราะห์และเลือกที่จะเชื่อสื่อ การรู้เท่าทันสื่อช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์และตัดสินใจในการเชื่อสื่อโดยเหตุผล
- ความรับผิดชอบในการเชื่อสื่อ การรู้เท่าทันสื่อช่วยส่งเสริมความรับผิดชอบในการเชื่อสื่อและการกระทำต่อสื่อให้เป็นประโยชน์และไม่เป็นภัยต่อตนเองและสังคม
- การส่งเสริมสังคมที่มีความเหมาะสม การใช้สื่อตามหลักแนวพุทธจิตวิทยาช่วยส่งเสริมสังคมที่มีความเหมาะสมและเกิดประโยชน์ต่อสังคมในทางที่ดี
- ความสงบและความสุขในชีวิต การรู้เท่าทันสื่อช่วยให้คุณมีความสงบและความสุขในชีวิตโดยไม่ได้รับอิทธิพลจากสื่อที่ไม่เกี่ยวข้องหรือสื่อทางลบที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน
การรู้เท่าทันสื่อตามหลักพุทธจิตวิทยา คือ การมุ่งเน้นให้บุคคลฉลาดในการเลือกบริโภคสื่อและ ใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและสังคมในมิติต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์ โดยก่อนการเลือกเชื่อสื่อใดให้ใช้เทคนิควิธีต่าง ๆ ในการพิจารณาสื่อนั้นอย่างแยบคาย โดยการตั้งคำถามกับสื่อที่ได้รับเพื่อหาข้อสังเกต จากนั้น ตรวจสอบแหล่งข้อมูล สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม เปรียบเทียบสาระและวิเคราะห์สื่อ พิจารณาผลกระทบต่อสังคม ตระหนักถึงอารมณ์และความคิด แล้วจึงค่อยตัดสินใจเชื่อ และสามารถใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมอย่างสร้างสรรค์ได้ ด้วยการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะโดยอาศัยสื่อสังคมออนไลน์ การแสดงความคิดเชิงบวกผ่านสื่อสังคมออนไลน์ประเภทต่าง ๆ รวมถึงการสร้างสรรค์เนื้อหาและส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้รับข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์และเข้าใจสิ่งต่าง ๆ อย่างมีสติด้วยมุมมองของปัญญา
สรุป
สื่อสังคมออนไลน์ เป็นเครื่องมือปฏิบัติการทางสังคมที่ใช้สื่อสารระหว่างกันในเครือข่ายทางสังคม ผ่านทางเว็บไซต์และโปรแกรมประยุกต์บนสื่อต่าง ๆ ที่มีการเชื่อมต่อกับสัญญาณอินเทอร์เน็ต โดยเน้นให้ผู้ใช้ทั้งที่เป็นผู้ส่งสารและผู้รับสารมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ในการผลิตเนื้อหาขึ้นเอง ในรูปของข้อมูลภาพและเสียง เพื่อประโยชน์ในการแสดงออกและเพื่อให้เข้าใจความหมายที่ต้องการจะสื่อตรงกัน แต่ทั้งนี้ ต้องเข้าใจความจริง คือ สื่อสังคมออนไลน์มีทั้งคุณและโทษ ดังนั้น การรู้เท่าทันสื่อ หรือ การมีความสามารถในการวิเคราะห์ วิจารณ์และประเมินค่าสื่อได้ สามารถอ่านสื่อออก ไม่ตกเป็นเหยื่อของสิ่งที่สื่อนำเสนอง่ายเกินไป รวมถึง มีภูมิคุ้มกันทางปัญญาที่สามารถแยกแยะและสังเคราะห์โลกความเป็นจริงและโลกที่สื่อสร้างขึ้นมาได้จึงเป็นสิ่งสำคัญ
หลักพุทธจิตวิทยา เป็นหลักความฉลาดในการเลือกบริโภคสื่อ จนสามารถเข้าใจสื่อได้ดี ควบคุมการใช้สื่อได้ และใช้ประโยชน์จากสื่อเป็น โดยการนำหลักกาลามสูตรหรือหลักพิจารณาก่อนตัดสินใจมาช่วยให้บุคคลตัดสินใจเชื่อสื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่เชื่ออย่างหลงงมงายที่เป็นอกุศลจิตโดยไม่ใช้ปัญญาในการพิจารณาถึงคุณโทษ ว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร พร้อมทั้งสามารถระบุได้ว่าเหตุใดที่ไม่ควรเชื่อและมีเงื่อนไขในการที่จะเชื่อหรือปฏิเสธ คือ จะต้องนำเรื่องที่ได้ยินได้ฟังจากสื่อมาสอบสวนด้วยตนเอง โดยอาศัยหลักแห่งอริยสัจ 4 คือ การมองเห็นผลแล้วย้อนไปหาเหตุและอาศัยแนวทางแห่งมรรคมีองค์ 8 อันมีสัมมาทิฐิ (ความเห็นถูกต้อง) เป็นเบื้องต้นและมีสัมมาสมาธิ (จิตตั้งมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง) เป็นที่สุด รวมถึงหลักโยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นหลักธรรมภาคปฏิบัติที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคม เป็นหลักส่งเสริมคุณลักษณะที่ดีในการฝึกอบรมให้มีสติ รู้จักคิดอย่างถูกวิธี คิดอย่างมีระบบ คิดวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ อย่างละเอียด ไม่มองอย่างผิวเผิน คิดตามเหตุและผลและคิดแบบกุศล เพื่อให้รู้จักเลือกรับสื่อที่เข้ามาอย่างรู้เท่าทัน
รายการอ้างอิง
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร. (2563). Smart social media รู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์อย่างสร้างสรรค์. http://www.ops.go.th/main/index.php/knowledge-base/ictc-book/.
จิราภพ ทวีสูงส่ง. (2566). เรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด! “อาชญากรรมทางไซเบอร์” รู้จักไว้..ป้องกันภัยไม่ตกเป็นเหยื่อ. https://www.thaipbs.or.th/now/content/68.
จุลนี เทียนไทย. (2562). สื่อออนไลน์ในสังคมไทยปัจจุบัน. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ชนาภา เลิศวุฒิวงศา. (2559). กลยุทธ์การสื่อสารการตลาดและการรับรู้ภาพลักษณ์ของสำนักพิมพ์บนเครือข่ายสังคมออนไลน์. สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
ณัฏฐกาญจน์ ศุกลรัตนเมธี และนุชประภา โมกข์ศาสตร์. (2563). การรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ของเยาวชนเพื่อการเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย (พิมพ์ครั้งที่ 2). สำนักวิจัยและพัฒนาสถาบันพระปกเกล้า.
ดวงรัตน์ โกยกิจเจริญ และสมชาย ไชยโคต. (2558). ผลกระทบจากการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ของนักเรียนนักศึกษาในจังหวัดภูเก็ต. วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต, 11(1), 157-186.
ปัทมาภรณ์ สุขสมโลด และ ปฐมพงษ์ พุ่มพฤกษ์. (2564). ผลกระทบของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ต่อการเปลี่ยนแปลงค่านิยมวัยรุ่นในพระนครศรีอยุธยา. วารสารวิชาการอยุธยาศึกษา, 13(1), 119-137.
พระจักรพงศ์ วิสุทฺธสีโล. (2542). การใช้เทคโนโลยีกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา. ธีระฟิลม์และไซเท็กซ์.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). (2546). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. http://www.edu.ru.ac.th/images/edu_files/KM09yonisonasasikarn_2555.pdf.
________. (2551). วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม. เคล็ดไทย.
ภัทธีรา กลิ่นเลขา. (2561, 20 กรกฎาคม). ผลกระทบจากการใช้สื่อโซเชียลมีเดียของนักศึกษามหาวิทยาลัยหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา. การประชุมหาดใหญ่วิชาการระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 9 (The 9th Hatyai National and International Conference) เรื่อง พลวัตการศึกษายุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล, หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา, ประเทศไทย.
ภัทรพรรณ ทำดี. (2564). ผลกระทบของสื่อสังคมออนไลน์ที่มีต่อประชากรต่างรุ่นในครอบครัวจากมุมมองของประชากรชาวดิจิทัลไทย. Journal of Demography, 37(2), 1-20.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
อัจฉรา ฉัตรเฉลิมพล. (2563). ผลกระทบของสื่อสังคมออนไลน์ต่อการรับรู้ของลูกค้า: กรณีศึกษาบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน). วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์, 29(1), 1-14.
ศิครินทร์. (2566). Social Addiction ผลกระทบชีวิตติดโซเชียล. https://shorturl.asia/jxtNr.
ศักดิกร สุวรรณเจริญ พีระพันธ์ ประทุมพร กฤตปภัช ตันติอมรกุล สุวัฒนา เกิดม่วง และธัชพล เมธารัชกุล. (2564). พฤติกรรมและผลกระทบจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จังหวัดสุพรรณบุรี. วารสารการพัฒนาสุขภาพชุมชน มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 9(2), 111-124.
สิริกาญจน์ ชัยหาร, ลัดดาวัลย์ แก้วกิติพงษ์ และสุรัตน์ โคอินทรางกูร. (2564). ผลกระทบของอัตลักษณ์ทางสื่อสังคมออนไลน์ต่ออัตลักษณ์ทางวิชาชีพในยุคดิจิทัล กรณีศึกษาแพทย์และพยาบาลกลุ่มเจเนอเรชั่นวายในจังหวัดกรุงเทพมหานคร. วารสารระบบสารสนเทศด้านธุรกิจ (JISB), 8(1), 35-55.
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2560, 15 พฤศจิกายน). 5 องค์ประกอบของการรู้เท่าทันสื่อ. https://shorturl.asia/gyEXM.
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2565). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่สิบสาม (พ.ศ. 2566-2570). https://www.nesdc.go.th/download/Plan13/Doc/Plan13_Final.pdf
อดิสรณ์ อันสงคราม. (2558). ผลกระทบจากการใช้สื่อโซเชียลมีเดียของคนวัยทำงานในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล [งานวิจัย]. มหาวิทยาลัยศรีปทุม. Bangkok Bank InnoHub. (2022). อาชญากรรมทางไซเบอร์ (Cyber Crime) ภัยคุกคามตัวร้ายในโลกยุคดิจิทัล. https://www.bangkokbankinnohub.com/th/what-is-cyber-crime/.
Phakpon Jeranathep. (2022, 29 August). การสร้างสรรค์สื่อดิจิทับบนเครือข่ายสังคมออนไลน์. https://shorturl.asia/L9aVQ.
Potter, W. J. (2004). Theory of media literacy: A cognitive approach. Sage.
Smart Insights. (2023). Global social media statistics research summary 2023. https://www.smartinsights.com/social-media-marketing/social-media-strategy/new-global-social-media-research/.
TODAY. (2565). เผยสถิติทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปี 65 ศาลสั่งลงโทษแล้ว 184 คำสั่ง.https://workpointtoday.com/politics-dsi26012565/.