Kamalas

Buddhist Psychology of Learning into Practice

 

สิริวัฒน์ ศรีเครือดง1

พรทิพย์ เกศตระกูล2

 

1รศ. ดร. ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

2ดร. อาจารย์พิเศษ ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 

What you hear, you forget

What you see, you remember

What you do, you understand.

-T. Harv Eker-

 

บทนำ

 

           “ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ” (ขุ. อ. (ไทย) 26/332/269) แปลว่า ธรรมที่ประพฤติดีแล้ว นำสุขมาให้ เป็นพุทธพจน์ที่บ่งบอกถึงแก่นของพุทธจิตวิทยา องค์ความรู้ทางพุทธจิตวิทยา คือการบูรณาการการศึกษาแบบธรรมประยุกต์ ซึ่งหมายถึงการปรับใช้ธรรมให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ โดยอาศัยศาสตร์สมัยใหม่เป็นสะพาน วิธีการนี้นอกจากจะช่วยทำให้ธรรมสามารถปรับเข้ากับวิถีชีวิตของทุกคนทุกยุคทุกสมัยแล้ว ยังเป็นการช่วยนำศีลธรรมกลับมาสู่โลกนี้อีกด้วย (พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต), 2553) การนำความรู้ทางพุทธศาสนาไปปฎิบัติจึงมิได้มีความสำคัญเพียงการให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติ ทั้งด้านการพัฒนาจิตใจ การเพิ่มพูนความสุข และความสงบในชีวิต แต่ยังเป็นการแสดงให้เห็นเป็นผลเชิงประจักษ์ว่าคำสอนของพระพุทธองค์ทรงเป็นอะกาลิโก คือให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติโดยไม่จำกัดกาลเวลา ให้ผลทุกเมื่อทุกโอกาส และให้ผลตามลำดับแห่งการปฏิบัติ ก่อให้เกิดความสมบูรณ์ของ ปริยัติ-ปฏิบัติ-ปฏิเวธ ซึ่งเป็นหลักสำคัญของพุทธจิตวิทยา

           กระบวนการเรียนรู้ในทางพุทธจิตวิทยา ได้แก่ 1) การรับรู้ 2) การคิด 3) การปฏิบัติ และแนวทางการเรียนรู้สู่การปฎิบัติทางพุทธจิตวิทยา ประกอบไปด้วย 1) การทบทวนตัวเอง 2) การฝึกสติและสััมปชััญญะ 3) การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน และ 4) การมีกัลยาณมิตร

 

แนวคิดทฤษฎีการเรียนรู้ทางจิตวิทยา

 

           ทฤษฎีการเรียนรู้เป็นแนวคิดที่ใช้ในการอธิบายหรือแสดงความเข้าใจ เกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ ซึ่งเน้นการศึกษาและการเปลี่ยนแปลงในการรับรู้ การคิด และพฤติกรรม นักจิตวิทยาทฤษฎีมีการวิจัยและการศึกษาที่หลากหลาย ทฤษฎีการเรียนรู้ที่ได้รับความนิยม ดังเช่น

  1. ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิคของพาฟลอฟ (Pavlov) ศึกษาการเรียนรู้ผ่านกระบวนการสัมพันธ์ระหว่าง สิ่งเร้า (stimulus) กับการตอบสนอง (response) โดยวิธีการวางเงื่อนไข จากการศึกษาพบว่าการตอบสนองเป็นไปโดยอัตโนมัติ เมื่อนำสิ่งเร้าใหม่มาควบคู่กับสิ่งเร้าเดิม บทสรุปของทฤษฎีการเรียนรู้ของพาฟลอฟ ได้แก่

  1) พฤติกรรมการตอบสนองของมนุษย์เกิดจากการวางเงื่อนไขที่ตอบสนองต่อความต้องการทางธรรมชาติ

  2) พฤติกรรมการตอบสนองของมนุษย์สามารถเกิดขึ้นได้จากสิ่งเร้าที่เชื่อมโยงกับสิ่งเร้าตามธรรมชาติ

  3) พฤติกรรมการตอบสนองของมนุษย์ที่เกิดจากสิ่งเร้าที่เชื่อมโยงกับสิ่งเร้าตามธรรมชาติจะลดลงเรื่อย ๆ และหยุดลงในที่สุด หากไม่ได้รับการตอบสนองตามธรรมชาติ

  4) พฤติกรรมการตอบสนองของมนุษย์สิ่งเร้าที่เชื่อมโยงกับสิ่งเร้าตามธรรมชาติจะลดลงและหยุดไปเมื่อไม่ได้รับการตอบสนองตามธรรมชาติ และจะกลับปรากฏขึ้นได้อีกโดยไม่ต้องใช้สิ่งเร้าตามธรรมชาติ

  5) มนุษย์มีแนวโน้มที่จะจำแนกลักษณะของสิ่งเร้าให้แตกต่างกันและเลือกตอบสนองได้ถูกต้อง

           การนำทฤษฎีการวางเงื่อนไขการประยุกต์ใช้โดยการเลือกวางเงื่อนไขที่เหมาะสม พิจารณาความแตกต่างระหว่างบุคคล และความแตกต่างทางด้านอารมณ์  (พาสนา จุลรัตน์, 2548)

  1. ทฤษฎีการวางเงื่อนไขด้วยการกระทำของ สกินเนอร์ (Operant conditioning theory) การเรียนรู้ตามแนวคิดของสกินเนอร์ เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองเช่นเดียวกัน แต่สกินเนอร์ให้ความสำคัญต่อการตอบสนองมากกว่าสิ่งเร้า เน้นการเรียนรู้ผ่านกระบวนการกระตุ้นด้วยการตอบสนอง โดยการให้รางวัลหรือลบล้างการกระตุ้นที่เกิดขึ้นกับพฤติกรรมที่ต้องการหรือไม่ต้องการ สกินเนอร์ให้ความสำคัญต่อการเสริมแรง (reinforcement) ว่ามีผลทำให้เกิดการเรียนรู้ที่คงทนถาวรยิ่งขึ้น (Sriworabhat, 2022)

           หลักสำคัญของทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำของสกินเนอร์ คือ การควบคุมการตอบสนองได้ด้วยวิธีการเสริมแรง การนำทฤษฎีไปใช้โดยให้การเสริมแรงเฉพาะเมื่อมีการตอบสนองที่ต้องการ เพื่อให้กลายเป็นนิสัยติดตัว หรือนำไปใช้เพื่อเป็นการปลูกฝังบุคลิกภาพของบุคคลให้มีพฤติกรรมตามแบบที่ต้องการ

  1. ทฤษฎีสัมพันธ์เชื่อมโยงของธอร์นไดด์ เป็นการเรียนรู้แบบเชื่อมโยง ธอร์นไดค์มองการเรียนรู้ว่าเกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้า (stimuli) และการตอบสนอง (responses) การลองผิดลองถูกจะนำไปสู่การเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนอง ธอร์นไดค์ สรุปเป็นกฎการเรียนรู้ที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ คือ กฎแห่งความพร้อม (low of readiness) กฎแห่งการฝึกหัด (low of exercise) และกฎแห่งพอใจ (low of effect) (ทัศนวรรณ รามณรงค์, 2013)

          การนำความรู้ของของธอร์นไดค์ไปใช้ คือการกำหนดจุดมุ่งหมายให้ชัดเจน การสร้างแรงจูงใจ เพื่อให้เกิดความพึงพอใจ

  1. ทฤษฎีการเรียนรู้ของอัลเบิร์ต แบนดูรา (Bandura, 1997) เชื่อว่าการเรียนรู้ของมนุษย์ส่วนมากเป็นการเรียนรู้โดยการสังเกตหรือการเลียนแบบ เนื่องจากมนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบ ๆ ตัวอยู่เสมอ ผู้เรียนต้องสามารถที่จะประเมินได้ว่าตนเลียนแบบได้ดีหรือไม่ดีอย่างไร และจะต้องควบคุมพฤติกรรมของตนเองได้ แบนดูราสรุปว่า การเรียนรู้โดยการสังเกต เป็นกระบวนการทางการรู้คิดหรือพุทธิปัญญา ปัจจัยที่สำคัญในการเรียนรู้โดยการสังเกต ประกอบด้วย

  1) กระบวนการความเอาใจใส่ (attention) ความใส่ใจของผู้เรียนเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าผู้เรียนไม่มีความใส่ใจการเรียนรู้ก็จะไม่เกิดขึ้น

  2) กระบวนการจดจำ (retention) ผู้เรียนสามารถจดจำสิ่งที่ตนเองสังเกตและไปเลียนแบบได้ถึงแม้เวลาจะผ่านไปก็ตาม

  3) กระบวนการแสดงพฤติกรรมเหมือนตัวอย่าง (reproduction) เป็นกระบวนการที่ผู้เรียนสามารถแสดงออกมาเป็นการกระทำหรือแสดงพฤติกรรมเหมือนกับตัวแบบ

  4) กระบวนการการจูงใจ (motivation) แรงจูงใจของผู้เรียนที่จะแสดงพฤติกรรมเหมือนตัวแบบที่ตนสังเกต เนื่องจากความคาดหวังว่า การเลียนแบบจะนำประโยชน์มาให้

           ความสำคัญของการเรียนรู้แบบการสังเกตหรือเลียนแบบจากตัวแบบ ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งตัวบุคคลจริง ๆ เช่น ครู เพื่อน หรือจากสื่อต่าง ๆ การเรียนรู้โดยการสังเกตประกอบด้วย 2 ขั้น คือ ขั้นการรับมาซึ่งการเรียนรู้เป็นกระบวนการทางพุทธิปัญญา และขั้นการกระทำ ตัวแบบที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของบุคคลมีทั้งตัวแบบในชีวิตจริงและตัวแบบที่เป็นสัญลักษณ์ การนำทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ โดยแสดงตัวอย่างของการกระทำหลาย ๆ อย่าง พร้อมทั้งให้คำอธิบายควบคู่กันไป มีการเสริมแรงเมื่อสามารถเลียนแบบได้อย่างถูกต้อง (Atom, 2022)

           จะเห็นได้ว่าทฤษฎีการเรียนรู้เหล่านี้ ล้วนเกี่ยวข้องกับการได้รับสิ่งเร้า และวิธีการตอบสนอง ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล การเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ จะทำให้สามารถนำมาปรับใช้ในการออกแบบการเรียนรู้ ที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละบุคคลหรือสถานการณ์

 

กระบวนการเรียนรู้ตามแนวพุทธจิตวิทยา

 

           กระบวนการเรียนรู้ตามแนวพุทธจิตวิทยา เป็นกระบวนการที่เป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญา ช่วยให้เกิดการรับรู้ตรงตามความเป็นจริง สาระสำคัญแห่งกระบวนการเรียนรู้ตามหลักพุทธศาสนา มีกล่าวไว้ในพุทธพจน์ที่ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธรรม 4 ประการเหล่านี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญา กล่าวคือ การเสวนาสัตบุรุษ การฟังสัทธรรม โยนิโสมนสิการ ธรรมานุธรรมปฏิบัติ” (พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต), 2546, น.7)

           จากพุทธพจน์ดังกล่าว สามารถมองกระบวนการเรียนรู้ตามแนวพุทธจิตวิทยา ออกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่

1) การรับรู้ ได้แก่ การเสวนาสัตบุรุษ และการฟังสัทธรรม 2) การคิด ได้แก่ โยนิโสมนสิการ และ 3) การปฏิบัติ ได้แก่ ธรรมานุธรรมปฏิบัติ สาระโดยละเอียด มีดังนี้

  1. การรับรู้

           การรับรู้เป็นกระบวนการจัดการหรือตีความหมายของสิ่งที่ได้สัมผัส จากประสาทสัมผัสของตนเอง โดยการตีความจะอาศัยประสบการณ์ การเรียนรู้ ทัศนคติ และค่านิยม และเมื่อรับรู้เรื่องนั้นในลักษณะใด ก็จะมีพฤติกรรมที่แสดงออกไปในลักษณะนั้น กระบวนการรับรู้จะเกิดได้ต้องมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้

1) มีสิ่งเร้า (stimulus) ที่จะทำให้เกิด การรับรู้ เช่น เหตุการณ์ สิ่งแวดล้อม รอบกาย ที่เป็น คน สัตว์ และสิ่งของ

2) ประสาทสัมผัส (sense organs) ที่ทำให้เกิดความรู้สึกสัมผัส เช่น ตาดู หูฟัง จมูกได้กลิ่น

3) ประสบการณ์ หรือความรู้เดิมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเร้าที่เราสัมผัส

4) การแปลความหมายของสิ่งที่เราสัมผัส สิ่งที่เคยพบเห็นมาแล้วย่อมจะอยู่ในความทรงจำของสมอง เมื่อบุคคลได้รับสิ่งเร้า สมองก็จะทำหน้าที่ทบทวนกับความรู้ที่มีอยู่เดิมว่าสิ่งเร้านั้นคืออะไร (NovaBizz, 2022).

ในทางพุทธศาสนา การรับรู้เกิดขึ้นจากองค์ประกอบ 3 อย่าง ได้แก่

 1) อายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ

 2) อายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่ถูกต้องกาย) ธรรมารณ์ (อารมณ์ที่เกิดกับใจ)

 3) วิญญาณ คือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้น เมื่ออายตนะภายในกับอายตนะภายนอกเกิดการกระทบกัน

           การรับรู้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีองค์ประกอบเกิดขึ้นครบทั้ง 3 อย่าง ได้แก่ อายตนะ อารมณ์ และวิญญาณ เรียกว่าผัสสะหรือสัมผัส แปลว่า การกระทบ หรือหมายความว่า การบรรจบพร้อมกันแห่งอายตนะ อารมณ์ และวิญญาณ เรียกว่า ผัสสะ 6 คือความประจวบกันแห่ง อายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ ได้แก่ (Buddhadhamma, 2017)

  1) จักขุสัมผัส (ความกระทบทางตา) คือ ตา+รูป+จักขุวิญญาณ – เห็น

  2) โสตสัมผัส (ความกระทบทางหู) คือ หู+เสียง+โสตวิญญาณ – ได้ยิน

  3) ฆานสัมผัส (ความกระทบทางจมูก) คือ จมูก+กลิ่น+ฆานวิญญาณ – ได้กลิ่น

  4) ชิวหาสัมผัส (ความกระทบทางลิ้น) คือ ลิ้น+รส+ชิวหาวิญญาณ – รู้รส

  5) กายสัมผัส (ความกระทบทางกาย) คือ กาย+โผฏฐัพพะ+กายวิญญาณ – รู้สิ่งต้องกาย

  6) มโนสัมผัส (ความกระทบทางใจ) คือ ใจ+ธรรมารมณ์+มโนวิญญาณ – รู้สิ่งต้องใจ

            เมื่อผัสสะเกิดขึ้น กระบวนการรับรู้ก็ดำเนินต่อไป เริ่มตั้งแต่ ความรู้สึกต่ออารมณ์ที่รับรู้เข้ามา การจำได้ การคิดปรุงแต่ง ความรู้สึกต่ออารมณ์ที่รับรู้นี้เรียกว่า เวทนา แปลว่า การเสวยอารมณ์  คือ ความรู้สึกต่ออารมณ์ที่รับรู้ สบาย ไม่สบาย หรือเฉย ๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง เวทนามีการเกิดตามช่องทางของอายตนะที่เกิดขึ้น เช่น เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางตา เวทนาที่เกิดจากการสัมผัสทางหู เป็นต้น ซึ่งสามารถจัดระดับเวทนาออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ สุข ทุกข์ อทุกขมสุข หรือถ้าจัดให้ละเอียดลงไปอีกก็จะได้ 5 ระดับ ได้แก่ สุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส และ อุเบกขา (ชนนกานต์ กองเขียว, 2018)

           การรับรู้ เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการเรียนรู้ และเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ที่สำคัญของบุคคล เพราะการตอบสนองพฤติกรรมใด ๆ จะขึ้นอยู่กับการรับรู้จากสภาพแวดล้อมของตน และความสามารถในการแปลความหมายของสภาพนั้นๆ ดังนั้น การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพจึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับรู้ (พระไพศาล วิสาโล, 2552)

พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับการรับรู้ที่ถูกต้อง คือ

1. การเสวนากับสัตบุรุษ สัตบุรุษ หมายถึง คนดี มีคุณธรรม ประพฤติตนอยู่ในศีลในธรรม การเสวนากับสัตบุรุษ จึงหมายถึงการคบหากับคนดี สัตบุรุษหรือคนดีนั้น เป็นผู้ได้ชื่อว่ากัลยาณมิตร เป็นผู้ช่วยแนะนำ เป็นต้นแบบที่ดีในการดำเนินชีวิต เป็นแรงจูงใจในการพัฒนาจิตใจให้แข็งแกร่ง และเป็นแรงบันดาลใจของการดำเนินชีวิตที่งดงาม เราจึงมักพบว่าบุคคลส่วนใหญ่ที่สามารถยกระดับจิตใจของตนเองให้เหนือทุกข์ได้ ล้วนแวดล้อมไปด้วยผู้คนที่มีส่วนส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจชีวิตและเข้าใจโลกตามความเป็นจริง ช่วยเหลือส่งเสริมเพิ่มเติมพลังใจให้เรียนรู้พัฒนาไปในทางที่ถูกต้องเหมาะสมต่อชีวิตได้

2. การฟังสัทธรรม สัทธรรม หมายถึง ธรรมของสัตบุรุษ พระพุทธพจน์หรือคำสอนของพระพุทธเจ้า เรียกโดยเคารพว่า พระสัทธรรม แบ่งเป็น 3 อย่าง ได้แก่

  2.1 ปริยัติสัทธรรม คือ คำสอนที่แสดงถึงหลักสำหรับศึกษาเล่าเรียน จำ แนะนำสั่งสอนกัน ได้แก่ พระสูตร คาถา ชาดก เป็นต้น

 2.2 ปฏิปัตติสัทธรรม คือ คำสอนที่แสดงถึงหลักปฏิบัติตามที่ศึกษามา แสดงวิธีปฏิบัติสูงขึ้นไปตามลำดับ คือ ระดับศีล ระดับสมาธิ และระดับปัญญา

 2.3 ปฏิเวธสัทธรรม คือ คำสอนที่แสดงถึงผลที่เกิดจากการปฏิบัติ ได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ซึ่งเรียกว่า โลกุตรธรรม

           การฟังสัทธรรม ย่อมก่อให้เกิดการรับรู้ในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงอานิสงส์แห่งการฟังธรรมไว้ 5 ประการ คือ  1) ผู้ฟังย่อมได้ฟังสิ่งอันยังไม่เคยฟัง 2) สิ่งใดเคยฟังแล้ว ยังไม่ค่อยเข้าใจ ย่อมได้ความเข้าใจชัดขึ้น 3) บรรเทาความสงสัยได้ 4) ทำความเห็นให้ถูกต้องได้ 5) จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส

ปัญญาที่เกิดจากการฟังธรรมนี้ ทำให้ได้ทักษะชีวิต ดังพระบาลีว่า “สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ” (สํ.ส. 17/15/316) ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา” (พระพรหมบัณฑิต (ประยููร ธมฺมจิตฺโต), 2564)

  1. การคิด

           เมื่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารหรือคำแนะนำเป็นไปอย่างถูกต้อง และครบถ้วนแล้ว กระบวนการเรียนรู้ขั้นต่อมาก็คือ การคิด เป็นการนำเอาสิ่งที่รับรู้มาทบทวน จัดระเบียบ วิเคราะห์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ เกิดปัญญาเพิ่มพูน การคิดอย่างถูกวิธี ในทางพุทธศาสนา คือ โยนิโสมนสิการ หมายถึง การใช้ความคิดถูกวิธี ความรู้จักคิด         คิดเป็น คือกระทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณา รู้จักสืบสาวหาเหตุผล แยกแยะสิ่งนั้น ๆ หรือปัญหานั้น ๆ ออก ให้เห็นตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย คือการคิดเพื่อให้เกิดความรู้แจ้งตามสภาวะหรือตามความเป็นจริง

           ในคัมภีรชั้นอรรถกถาและฎีกาได้อธิบายแนวทางโยนิโสมนสิการที่ถูกต้องไว้ 4 ประการ ได้แก่

1. อุบายมนสิการ แปลว่า คิดหรือพิจารณาโดยอุบาย คือคิดอย่างมีวิธี หมายถึง คิดถูกวิธีที่จะให้เข้าถึงความจริงสอดคล้องเข้าแนวกับสัจจะ ทำให้หยั่งรู้สภาวะ ลักษณะและสามัญลักษณะของสิ่งทั้งหลาย

2. ปถมนสิการ แปลว่า คิดเป็นทางหรือคิดถูกทาง คือคิดได้ต่อเนื่องเป็นลำดับหรือมีลำดับ มีขั้นตอน หมายถึง ความคิดเป็นระเบียบ

3. การณมนสิการ แปลว่า คิดตามเหตุ คิดค้นเหตุ คิดตามเหตุผล หรือคิดอย่างมีเหตุผล หมายถึงการคิดสืบค้นตามแนวความสัมพันธ์สืบทอดกันแห่งเหตุปัจจัย เข้าใจถึงต้นเค้าหรือแหล่งที่มา ซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาตามลำดับ

4. อุปปาทกมนสิการ แปลว่า คิดให้เกิดผล คือใช้ความคิดให้เกิดผลที่พึงประสงค์ เล็งถึง การคิดอย่างมีเป้าหมาย การพิจารณาที่ทำให้เกิดกุศลธรรม เช่น ปลุกเร้าให้เกิดความเพียร คิดในทางที่ทำให้หายหวาดกลัว หายโกรธ การพิจารณาที่ทำให้มีสติ หรือทำให้จิตใจ เข้มแข็งมั่นคง

           วิธีคิดตามหลักโยนิโสมนสิการ เป็นการคิดที่สามารถสกัดกั้นกิเลส ที่เข้ามาครอบงำในชีวิตประจำวัน เป็นวิธีคิดที่มีความหลากหลายในการแก้ปัญหาหลายแง่หลายมุม เพื่อพัฒนาบุคคลให้เกิดปัญญา และสามารดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องดีงามในสังคม การส่งเสริมจิตให้คิดดีเป็นกุศล หรือให้เกิดความคิดเชิงบวกตามแนวพุทธธรรม เป็นกระบวนการพัฒนาความคิดเพื่อให้เกิดปัญญาที่เป็น “สัมมาทิฏฐิ” หรือความเห็นที่ถูกต้อง และ “สัมมาสังกัปปะ”หรือความคิดที่ถูกต้อง เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง การคิดถูกวิธีจึงเป็นแนวทางที่ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้องอย่างแท้จริง

           องค์ธรรมที่ช่วยในการฝึกความคิด ก็คือ การมีสติ สติช่วยให้ไม่เผลอไผล สัมปชัญญะ เป็นความรู้ตัวว่ากําลังคิด วิริยะ มีความเพียรพยายามละความคิดฝ่ายชั่ว เจริญความคิดฝ่ายดี สมาธิ คือความตั้งใจมั่นที่ช่วยไม่ให้ความคิดฟุ้งซ่าน และปัญญาใช้พิจารณาให้เห็นคุณ และโทษของความคิด

  1. การปฏิบัติ

           ในทางพุทธจิตวิทยา การปฏิบัติเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ การเรียนรู้ที่ขาดการปฏิบัติ ย่อมมิใช่การเรียนรู้ที่ครบถ้วนสมบูรณ์หรือถูกต้อง ในการปฏิบัติทางพุทธจิตวิทยา จะต้องเข้าใจความหมาย ความมุ่งหมาย ขอบเขต และตำแหน่งเชื่อมโยงของหลักธรรมกับหลักธรรมอื่น ของธรรมหรือหลักการนั้นๆ ความเข้าใจถูกต้องนี้ นำไปสู่การปฏิบัติถูกต้องที่เรียกว่า ธรรมานุธรรมปฏิบัติ

           ธรรมานุธรรมปฏิบัติ หรือ การประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม หมายถึง การปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลัก เช่น หลักย่อยสอดคล้องกับหลักใหญ่ และเข้าแนวกับธรรมที่เป็นจุดมุ่งหมาย ปฏิบัติถูกต้องตามกระบวนธรรม (พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต), 2546) พระธรรมปิฎกได้อธิบายเพิ่มเติมว่า หมายถึง ปฏิบัติธรรมถูกหลัก คือทำให้ข้อปฏิบัติย่อยเข้ากันได้ สอดคล้องกันและส่งผลแก่หลักการใหญ่ เป็นไปเพื่อจุดหมายที่ต้องการ (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต), 2563) การปฏิบัติอย่างถูกต้อง จึงเป็นการปฏิบัติที่ตรงตามจุดมุ่งหมายด้วย

           ธรรมานุธรรมปฏิบัติ เป็นหลักการสำคัญของการศึกษาและปฏิบัติตามหลักพุทธจิตวิทยา อาจเรียกได้ว่า เป็นตัวตัดสินว่า การปฏิบัติหรือการกระทำนั้น ๆ จะสำเร็จผลบรรลุจุดมุ่งหมายได้หรือไม่ ถ้าไม่มีธรรมานุธรรมปฏิบัติ ก็อาจคลาดเคลื่อน ผิดพลาด เลื่อนลอย งมงาย ไม่เป็นผล หรืออาจเกิดโทษขึ้นได้

           การเข้าใจจุดมุ่งหมายของธรรมแต่ละข้อ จึงมีความสำคัญแก่การปฏิบัติในฐานะที่เป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ด้วยเหตุนี้กัลยาณมิตรหรือครูบาอาจารย์ จึงไม่เพียงแต่จะต้องเป็นผู้ที่สามารถชี้แนะสิ่งดีงาม ยังจะต้องเข้าใจกระจ่างชัดในจุดมุ่งหมายของสิ่งเหล่านั้นด้วย เมื่อเข้าใจจุดมุ่งหมายแล้ว ก็สามารถประยุกต์สิ่งที่ได้เรียนรู้มาให้เกิดผลได้ในทุกสถานการณ์ หรือสามารถบูรณาการสิ่งเหล่านั้นมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้

           การรับรู้ การคิด และการปฏิบัตินี้ มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นวัฏจักร เพราะเมื่อปฏิบัติอย่างถูกต้อง จะช่วยให้การคิดมีคุณภาพมากขึ้น เกิดความรู้ใหม่ ทัศนคติใหม่ รับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ละเอียดถูกต้องตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น การรับรู้เช่นนี้ย่อมส่งผลให้เกิดการคิดที่ถูกวิธี ส่งผลให้การปฏิบัติเป็นไปทางกุศลมากขึ้น เป็นหนทางก่อเกิดความเจริญแห่งปัญญา นำไปสู่ความงอกงามทางจิตใจ และคุณภาพชีวิตที่ดี

 

ความสำคัญของการเรียนรู้สู่การปฎิบัติ

 

           การเรียนรู้ เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเมื่อมีการรับรู้ข้อมูลหรือประสบการณ์ใหม่ และมีการประมวลผลและจดจำเพื่อเก็บรักษาความรู้ในระยะยาว การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากการศึกษา และจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน การเรียนรู้มีลักษณะเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่สามารถเพิ่มความรู้ ทักษะ ความเข้าใจ และมีผลต่อพฤติกรรมของบุคคล

           การปฎิบัติ เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเมื่อมีการทดลอง การนำไปใช้หรือการปฏิบัติจริง ตามความรู้ที่ได้เรียนรู้มา การปฎิบัติช่วยให้บุคคลได้เรียนรู้จากประสบการณ์ ฝึกฝนทักษะ นำความรู้ที่ได้มาใช้ในการพัฒนาหรือปรับปรุงพฤติกรรมให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งใจ

           การเรียนรู้และการปฎิบัติมีความสัมพันธ์กันอย่างแท้จริง การเรียนรู้จะไม่เกิดผลใด ๆ หากไม่มีการนำความรู้ที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ การเตรียมความรู้และทักษะให้กับบุคคล ในขณะทำการปฎิบัติ ช่วยให้บุคคลได้ฝึกฝนและปรับปรุงทักษะที่ได้เรียนรู้ การเรียนรู้และการปฎิบัติต้องเกิดขึ้นพร้อมกันเพื่อให้เกิดการพัฒนาและความเปลี่ยนแปลงที่ดียิ่งขึ้น พีระมิดแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning Pyramid ซึ่งพัฒนาโดย National Training Laboratories ตั้งแต่ช่วงปี 1960s แสดงให้เห็นว่า การลงมือปฎิบัติทำให้เราจะได้เจอปัญหาจริง ได้ลองทำจริง ได้แก้ไขสถานการณ์ผ่านของจริง และจะทำให้ข้อมูลและความรู้เหล่านั้นถูกย้ายไปไว้ในส่วนของความจำในระยะยาว ซึ่งช่วยให้เราได้เรียนรู้เชิงลึกและจดจำได้ดีขึ้น (Moody, 2020) ดังแสดงในภาพ

 

 

ภาพที่ 1 พีระมิดแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning Pyramid

ที่มา: จาก “พีระมิดแห่งการเรียนรู้” โดย Lemon8., 2020 (https://www.lemon8-  app.com /summrypaper1/ 7246178055910343170)

 

           พุทธจิตวิทยา เป็นหนทางแห่งปัญญา การเรียนได้เพียงความรู้ ความรู้ไม่ใช่ปัญญา เมื่อนำไปปฎิบัติจึงจะเกิดปัญญา เป็นทักษะ เป็นความรอบรู้ ความรู้เพียงอย่างเดียวไม่สามารถเอาตัวรอดได้ แต่ปัญญาคือความสามารถเอาตัวรอดได้ (พระพรหมบัณฑิต (ประยููร ธมฺมจิตฺโต), 2564) ความสำคัญของการเรียนรู้สู่การปฏิบัติทางพุทธจิตวิทยา มีหลายด้านที่สำคัญและมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ดังเช่น

  1. พัฒนาจิตใจและสติปัญญา การศึกษาและปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนา ช่วยให้เรามีการพัฒนาจิตใจและสติปัญญาที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้เกี่ยวกับตนเองและการเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต
  2. สร้างความสงบและความสุข การปฏิบัติแนวพุทธ ช่วยให้เราเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นอยู่ และการมีเป้าหมายในชีวิตที่ถูกต้อง เหมาะสมกับศักยภาพของตนเอง ไม่เปรียบเทียบหรือมุ่งหวังในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่สอดคล้อง ช่วยให้เรามีความสงบและความสุขในชีวิต
  3. พัฒนาคุณธรรมและจริยธรรม การเรียนรู้และเข้าใจหลักธรรมและจริยธรรม และนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ช่วยพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมที่ดีในการปฏิบัติต่อตนเองและการปฏิบัติต่อผู้อื่น
  4. เสริมสร้างความเข้าใจและเห็นภาวะทางสังคม ความรู้ทางพุทธจิตวิทยา ช่วยให้เรามีความเข้าใจและเห็นภาวะทางสังคมที่แตกต่างได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการสร้างสัมพันธภาพและความเข้าใจผู้อื่นในสังคม

           การนำความรู้ทางพุทธจิตวิทยาไปปฎิบัติอย่างถูกต้องด้วยความเข้าใจ ย่อมส่งผลให้เกิดการพัฒนาและเติบโตของบุคคล ทั้งด้านจิตใจ และด้านประสิทธิภาพการดำเนินชีวิต เป็นแนวทางที่ก่อให้เกิดปัญญาครบ 3 ประการ ได้แก่

  1. สุตมยปัญญา คือ ปัญญาหรือความรู้อันเกิดจากการศึกษาเล่าเรียน เป็นการเข้าถึงซึ่งปัญญาในระดับเบื้องต้น ด้วยการศึกษาเล่าเรียนด้วยตนเองในด้านต่างๆ ทั้งการอ่านตำราด้วยตนเอง และการสดับรับฟังจากคณาจารย์ ผู้รู้
  2. จินตามยปัญญา คือ ปัญญาหรือความรู้อันเกิดจากการคิดวิเคราะห์ เป็นการได้มาซึ่งปัญญาขั้นกลางโดยใช้พื้นฐานปัญญาที่ได้รับจากการศึกษาเล่าเรียนในขั้นสุตมยปัญญา คือการนำองค์ความรู้ที่ได้ มาคิดวิเคราะห์ หาเหตุผล หาข้อเท็จจริงอันที่จะเป็นไปได้ โดยไร้ซึ่งอคติโน้มเอียง โดยให้ยึดหลักธรรมที่เรียกว่า กาลามสูตร 10 ประการ คือ อย่าเชื่อเพราะฟังตามกันมา อย่าเชื่อเพราะถือปฏิบัติสืบต่อกันมา อย่าเชื่อเพราะการเล่าลือ อย่าเชื่อเพราะอ่านในตำรา อย่าเชื่อเพราะคิดด้วยตนเอง อย่าเชื่อเพราะการคาดเดา อย่าเชื่อเพราะมีเหตุผลประกอบ อย่าเชื่อเพราะมีทฤษฎีที่คนอื่นกล่าวไว้ อย่าเชื่อเพราะรูปลักษณ์ อย่าเชื่อเพราะเขาเป็นครูเรา หรือใช้หลักธรรมอื่นที่เป็นพื้นฐานสำคัญของปัญญา เช่น โยนิโสมนัสสิการ
  3. ภาวนามยปัญญา คือ ปัญญาหรือความรู้อันเกิดจากฝึกฝน หรือ ลงมือปฏิบัติ เป็นการได้มาซึ่งปัญญาระดับสุดท้าย โดยใช้องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาเล่าเรียน และคิดวิเคราะห์จนได้ข้อเท็จจริง แล้วนำแนวทางเหล่านั้นมาใช้ในการปฏิบัติจริง ทั้งในชีวิตประจำวัน และการปฏิบัติธรรม (Siamroommate, 2022)

 

พุทธจิตวิทยาแนวทางการเรียนรู้สู่การปฎิบัติ

 

           ในทางพุทธจิตวิทยา การเรียนรู้และการปฎิบัติเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เพื่อให้เกิดความเข้าใจในแนวทางการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง การเรียนรู้โดยการศึกษาคำสอนและการสืบค้นข้อมูลเพื่อความเข้าใจและการเตรียมตัวให้พร้อมในการปฎิบัติ การปฎิบัติจะเป็นการเลือกดำเนินชีวิตตามแนวทางของพุทธศาสนา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาและสร้างความสุขสำหรับตัวเองและผู้อื่น แนวทางปฎิบัติสามารถทำได้ดังนี้

  1. การทบทวนตัวเอง คือ การมีเวลาได้อยู่กับตัวเอง เพื่อทำความเข้าใจและตระหนักรู้ในตัวเองและความคิดของตัวเอง โดยการสำรวจ และวิเคราะห์ความคิด และอารมณ์ที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา งานวิจัยของ George Vallant ( Seligman, 2011) พบว่า ความเป็นอยู่ที่ดีเป็นแรงผลักดันที่เกิดจากการกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ได้มาจากความคิดของเรา การคิดทบทวนตัวเอง โดยใช้หลักโยนิโสมนสิการ คือ การคิดโดยแยบคาย คิดเร้ากุศล คิดอย่างมีเหตุผล เป็นการฝึกให้เกิดการคิดที่มีคุณภาพ ช่วยให้เราเกิดการตระหนักรู้ในตนเอง รับรู้จุดมุ่งหมายของตนเอง มีความเข้าใจตนเอง เข้าใจความหมายของชีวิตมากขึ้น การรับรู้ถึงความหมายของชีวิต หรือสิ่งที่ทำ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือเป็นแรงจูงใจให้กับการดำเนินชีวิตเพื่อไปให้ถึงจุดมุ่งหมาย
  2. การฝึกสติและสััมปชััญญะ เป็นการฝึกฝนจิตใจให้มีความสงบ มีสติ และรู้ตัวทั่วพร้อม สติ คือสิ่งที่จะช่วยให้เกิดการรับรู้ตรงตามความเป็นจริง ช่วยให้บุคคลรู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้นในใจ สามารถยกจิตจากอารมณ์ และรับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่กำลังประสบอย่างตรงไปตรงมาตามความเป็นจริงได้

           เมื่อบุคคลพัฒนาจิตให้มีสติเพิ่มมากขึ้น จิตจะจดจ่ออยู่กับเรื่องราวในปัจจุบันขณะ ลดการนึกคิดปรุงแต่งเรื่องราวในอดีตและอนาคต เมื่อมีสิ่งมากระทบจิต จะเห็นการเกิดดับของอารมณ์เป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ ไม่เกิดการปรุงแต่ง มีความว่างจากอารมณ์ (อุเบกขา) เกิดขึ้นแทน (สนอง วรอุไร, 2550)

           การฝึกสติสามารถทำได้ โดยการใช้เทคนิคการทำสมาธิที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มความสามารถในการตระหนักรู้ตัวเองและความสามารถในการรับรู้ตามความเป็นจริง การฝึกสมาธิโดยใช้สติเป็นตัวนำเรียกกันโดยทั่วไปว่า สติปัฏฐาน 4 เป็นวิธีการปฏิบัติทางสายกลางในดำเนินชีวิตให้บรรลุถึงซึ่งความดับทุกข์ หลักสติปัฏฐาน 4 คือ การระลึกรู้อย่างตั้งมั่นเข้าไปตั้งไว้ในกองรูป เวทนา จิต และสภาวธรรม โดยการตั้งสติสัมปชัญญะ มีความเพียรในการพิจารณากาย เวทนา จิตและธรรมเพื่อกําจัดความทุกข์ทั้งปวง

           สัมปชัญญะ แปลว่า ความรู้ตัวทั่วพร้อม ความรู้ชัดเข้าใจชัด ความรู้ตระหนัก (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต), 2564, น. 479)  สัมปชัญญะ เป็นธรรมที่มีอุปการะ คู่กับสติ มีอยู่ 4 ประการ ได้แก่

  2.1 สาตถกสัมปชัญญะ แปลว่า รู้ชัดว่ามีประโยชน์ หรือตระหนักในจุดหมาย คือ รู้ตัวตระหนักชัดว่าสิ่งที่กระทำนั้น มีประโยชน์ตามความมุ่งหมายอย่างไร อะไรควรเป็นจุดมุ่งหมายของการกระทำนั้น ความรู้ตระหนักที่จะเลือกทำสิ่งที่ตรงกับวัตถุประสงค์ หรืออำนวยประโยชน์ที่มุ่งหมาย

  2.2 สัปปายสัมปชัญญะ แปลว่า รู้ชัดในความเหมาะสม เกื้อกูล คือรู้ตัวตระหนักชัดว่าสิ่งของนั้น การกระทำนั้น เหมาะกันกับตน เกื้อกูลแก่สุขภาพ จึงใช้ จึงทำ หรือเลือกให้เหมาะ เช่น การเลือกแต่งตัวให้เรียบร้อย ในการที่จะไปวัดไปฟังธรรม เป็นความรู้ตระหนักที่จะเลือกทำ สิ่งที่เหมาะสม เอื้อต่อกาย จิต ชีวิต และภาวะของตน

  2.3 โคจรสัมปชัญญะ แปลว่า รู้ชัดว่าเป็นโคจร คือ ตระหนักถึงสิ่งที่เป็นกิจ หน้าที่ เป็นงานที่ตนต้องกระทำ มีความรู้ตระหนักที่จะคุมกาย และจิตไว้ให้อยู่ในกิจ ในประเด็น หรืองานของตน ไม่ให้ไขว้เขว เตลิด เลื่อนลอย หรือหลงลืมไปเสีย

  2.4 อสัมโมหสัมปชัญญะ แปลว่า รู้ชัดว่าไม่หลง คือเมื่อไปไหน ทำอะไร ก็รู้ตัวตระหนักชัดในการเคลื่อนไหวหรือการกระทำนั้น และในสิ่งที่กระทำนั้น ไม่หลง ไม่สับสน ไม่ฟั่นเฟือน เข้าใจล่วงตลอดไปถึงตัวสภาวะในการกระทำที่เป็นไปอยู่นั้น รู้ทันสมมติ ไม่หลงสภาวะ เช่น ยึดเห็นเป็นตัวตน เป็นความตระหนักรู้ในเรื่องราว เนื้อหา สาระ และสภาวะของสิ่งที่ตนเกี่ยวข้องหรือกระทำอยู่นั้น ตัดสินใจบนฐานของปัญญาคือความรู้้รอบด้าน ไม่่ใช่่ตัดสินไปตามอารมณ์ หรือมองด้านเดียวด้วยอคติ

  1. การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน (ethical conduct in daily life) เนื่องจากธรรมเกี่ยวข้องกับทุกกิจกรรมของชีวิต ธรรมจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่อย่างใด ผู้ที่นำธรรมไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันสม่ำเสมอ ย่อมจะเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา ว่าธรรมมีประโยชน์ต่อชีวิตอย่างไร (พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตโต), 2553) การนำหลักธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยการปฏิบัติตามหลักธรรมในเรื่องต่าง ๆ เช่น การให้ความเมตตากรุณาแก่ผู้อื่น การไม่พูดส่อเสียดให้ร้ายผู้อื่น การปฏิบัติตามหลักธรรมในการทำงาน เช่นการมีศีลธรรมในการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น ฯลฯ พรหมวิหาร 4 หรือ พรหมวิหารธรรม เป็นหนึ่งในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นคำสอนที่เรียบง่าย สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขได้
  2. การมีกัลยาณมิตร เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับพุทธศาสนา กัลยาณมิตร เป็นปัจจัยภายนอกที่จะช่วยเกื้อกูล กระตุ้นส่งเสริม ช่วยสร้างสรรค์ ชักนำให้บุคคลมีการพัฒนาจนเกิดความรู้ เพื่อให้เราเข้าใจและปฏิบัติตามหลักการทางพุทธศาสนาได้ดีขึ้น การศึกษาและฝึกปฏิบัติต้องใช้เวลา และความสม่ำเสมอ การมีครูบาอาจารย์ หรือผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ ช่วยสอนและแนะนำ ช่วยให้การเรียนรู้และปฏิบัติตามหลักการเหล่านี้เป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ กัลยาณมิตรนั้นนอกจากช่วยทางด้านจิตใจแล้ว ก็จะช่วยทางด้านปัญญาด้วย คือการช่วยให้คนนั้นได้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตจิตใจของตนเองและรู้เท่าทันโลกหรือสังคม จนกระทั่งเป็นอิสระ มีอิสรภาพ เพราะช่วยตนเองได้ (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต), 2563, น. 600)

          แนวทางเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเรียนรู้สู่การปฎิบัติทางพุทธจิตวิทยา ยังมีความรู้เพิ่มเติมที่อาจไม่ได้กล่าวถึงทั้งหมด การศึกษาและปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาเป็นเส้นทางที่จะช่วยให้เราพัฒนาจิตใจและความสุขในชีวิตประจำวันได้ เชาว์ดูรี (Chowdhury, 2019) ได้กล่าวถึงพุทธจิตวิทยา ไว้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นจิตวิทยาทั้งด้านคุณธรรมและการประยุกต์ รากฐานของพุทธจิตวิทยามีพื้นฐานมาจากกระบวนการทางจิต 3 ประการ คือ กระบวนการคิด จิต และสติ  ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นจิตวิทยาที่มีเหตุผลและหลักธรรมอันล้ำเลิศ สอนให้เข้าใจธรรมชาติของบุคลิกภาพมนุษย์ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์และค้นพบเส้นทางสู่อิสรภาพจากความทุกข์ คำสอนทางพุทธศาสนาเป็นวิธีการเพื่อการพัฒนาจิตใจที่มีการนำมาผสานเข้ากับการบำบัดสมัยใหม่ในปัจจุบัน บอกเป็นนัยชัดเจนว่าศาสนาพุทธมีความล้ำหน้าด้านการพัฒนาจิตวิทยาอย่างชัดเจน การบำบัดในยุคปัจจุบัน เช่น การลดความเครียดโดยอาศัยสติ (MBSR- พัฒนาโดย Jon Kabat-Zinn) และ Cognitive Behavioral Therapy (การบำบัดด้วยความรู้ความเข้าใจ) ล้วนมีรากฐานมาจากคำสอนของพระพุทธเจ้า

           การปฎิบัติตามหลักการเหล่านี้ จะช่วยให้บุคคลมีความเข้มแข็งทางจิตใจ มีความเข้าใจชีวิตตามความเป็นจริง สามารถควบคุมอารมณ์ มีจิตใจที่เปิดกว้างและเห็นคุณค่าของผู้อื่น ช่วยสร้างสัมพันธภาพที่ดีและเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่มีความสุขและสมดุล ช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างถูกต้อง สอดคล้องกับศักยภาพของตนเอง ดังเช่น ผลจากงานวิจัยของ Marlatt and Gorden (1985) ที่ได้ศึกษาผลของการบำบัดพฤติกรรมเสพติด ด้วยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา อันได้แก่ การทำสมาธิเพื่อฝึกสติ ทางสายกลาง หลักไตรลักษณ์ และมรรคมีองค์ 8 เพื่อให้ผู้รับการบำบัดได้ตรวจสอบการทำงานของจิตใจให้รู้เท่าทันความคิดและความรู้สึกของตนเองตระหนักถึงความไม่แน่นอนของชีวิต และพัฒนาทัศนคติที่ถูกต้องต่อประสบการณ์ทั้งหมดในชีวิต เพื่อให้ผู้รับการบำบัดสามารถควบคุมตนเองไม่ให้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าหรือความอยากเหมือนที่ผ่านมา ผลจากประสบการณ์ในการบำบัดพฤติกรรมเสพติดพบว่า ต้นเหตุของพฤติกรรมเสพติดเกิดจากจิตใจ ซึ่งการปฏิบัติตามหลักการทางพุทธจิตวิทยา สามารถช่วยลดพฤติกรรมการเสพติดได้

 

บทสรุป

 

           กระบวนการเรียนรู้ตามหลักพุทธจิตวิทยา เป็นแนวทางการพัฒนาตนด้วยหนทางแห่งปัญญา 3 อย่าง เริ่มต้นตั้งแต่ 1) การรับรู้ เป็นปัญญาขั้นเริ่มต้นจากการศึกษา 2) การคิด เมื่อได้วิเคราะห์ความรู้ด้วยความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้วก็เป็นปริยัติ และ 3) การปฏิบัติ เมื่อเกิดความเข้าใจและเห็นคุณประโยชน์ในความรู้ จึงตั้งใจปฏิบัติตามจนเกิดผล เกิดเป็นปฏิเวธในธรรมปริยัติข้อนั้น ๆ เป็นความสมบูรณ์ของความเป็นพุทธจิตวิทยาด้วยครบทั้ง ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ แนวทางการเรียนรู้สู่การปฎิบัติทางพุทธจิตวิทยา ประกอบไปด้วย 1) การทบทวนตัวเอง 2) การฝึกสติและสััมปชััญญะ 3) การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน และ 4) การมีกัลยาณมิตร

          การปฏิบัติในทางพุทธจิตวิทยา เป็นกระบวนการพัฒนาจิตใจที่ต้องใช้เวลาและความพยายาม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ บุคคลจะต้องมีวิริยะ หมั่นฝึกฝนและปฏิบัติตามหลักการด้วยความเชื่อมั่น อย่างไรก็ตาม “ปฏิเวธ” หรือผลของการปฏิบัติ เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาเองภายในใจของผู้ปฏิบัติเป็นของเฉพาะ ซึ่งแต่ละบุคคลจะรู้ได้ด้วยตนเอง และผลที่ได้รับจะเป็นที่ประจักษ์แก่ตัวผู้ปฏิบัติเอง ผู้ปฏิบัติจะได้สัมผัสความสุข อันมาจากการมีจิตใจที่สงบ เยือกเย็น เป็นความสุขที่แท้จริง เป็นความสุขที่อยู่เหนือความสุขทางโลก ดังพุทธพจน์ที่ว่า “จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ” จิตที่ฝึกดีแล้ว นำสุขมาให้ (ขุ.ธ.อ. (ไทย) 25/13/35)

 

รายการอ้างอิง 

 

ชนนกานต์ กองเขียว. (2018). อายตนะ12 (อายตนะภายใน6 อายตนะภายนอก6)https://www.gotoknow.org/posts/649002

 

ทัศนวรรณ รามณรงค์. (2013). ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม (ทฤษฎีของธอร์นไดค์). https:// www.gotoknow.org/posts/555423

 

พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต). (2546). สู่การศึกษาแนวพุทธ (พิมพ์ครั้งที่ 2). กระทรวงศึกษาธิการ.

 

พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมมจิตฺโตฺ) (2553). วิธีบูธณาการพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่. สารนิพนธ์พุทธศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. โรงพิมพ์นวสาส์นการพิมพ์.

 

พระพรหมบัณฑิต (ประยููร ธมฺมจิตฺโต). (2564). โควิทกถา. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

 

พระไพศาล วิสาโล. (2552). กระบวนการเรียนรู้แบบพุทธ. https://www.visalo.org/article/ budKrabuankarn.htm

 

พาสนา จุลรัตน์. (2548). จิตวิทยาการปรึกษา. เอกสารประกอบการสอน ภาควิชาการแนะแนวและจิตวิทยาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

 

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

 

สนอง วรอุไร. (2550). ทำชีวิตให้ได้ดีและมีสุข (พิมพ์ครั้งที่ 10). อัมรินทร์.

 

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต). (2563). พุทธธรรม (ฉบับปรับขยาย) (พิมพ์ครั้งที่ 54). ผลิธัมม์.

 

________. (2564). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ (พิมพ์ครั้งที่ 35). สหธรรมิก.

 

Atom (2022, 16 December). ทฤษฎีของนักจิตวิทยา. http://nukjit.blogspot.com/p/blog-page_90.html

 

Bandura, A. (1997). Social learning theory. Englewood Cliffs.

 

Buddhadhamma. (2017) บันทึกจากการศึกษาพุทธธรรม. https://shorturl.at/qtN02

 

Chowdhury, S. B. (2019). The role of psychology in Buddhism. The Journal of The International Buddhist Studies College. (Academic Articles), 2(1), 1-19.

 

Lemon8. (2020). พีระมิดแห่งการเรียนรู้. https://www.lemon8-app.com/summrypaper1/ 7246178055910343170

 

Marlatt, G. A. & Gordon, J. R. (1985). Relapse Prevention: Maintenance strategies in the treatment of addictive behaviors. Guilford Press.

 

NovaBizz. (2022). การรับรู้ Perception. https://www.novabizz.com NovaAce/Behavior /Perception.htm

 

Seligman, M. (2011). Flourish: A visionary new understanding of happiness and well-being. Random House Australia Pty.

 

Siamroommate. (2022). ปัญญา 3 ประการ ความหมาย และแนวทางปฏิบัติ. https://siamroommate.com/%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B23/

 

Sriworabhat. A. (2022). ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำของสกินเนอร์. https://www. jahnnoom.com/skinner-theory/

 

Zeynep, K. (2011). Self-esteem and hopelessness, and resiliency: An exploratory study of adolescents in Turkey. International Education Studies, 4(4), 83-91.