Kamalas

Basic Buddhist Psychology

 

พระใบฎีกากิตติพงษ์ สีลสุทฺโธ1

พระครูภาวนาสังวรกิจ2

นางสาวฉัตรชนก โตวัฒนกูร3

 

1ผศ.ดร. ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

2ดร. ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

3นิสิตปริญญาดุษฎีบัณฑิต ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 

บทนำ

 

          มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีนโยบายที่มุ่งเน้นการศึกษา และการปฎิบัติเพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาที่จะบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ เพื่อพัฒนาจิตใจและสังคมพร้อมๆ ไปกับการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ โดยเฉพาะในศาสตร์ที่เป็นพุทธศาสตร์เชิงประยุกต์ ด้วยแนวคิดดังกล่าวแล้วจึงจําเป็นจะต้องมีหลักสูตรพุทธจิตวิทยา เพื่อพัฒนาบุคลากรที่เข้าถึงแก่นแท้ของพุทธศาสตร์ เพื่อทำหน้าที่ผลิตตำราทางวิชาการเชิงบูรณาการ เพื่อให้สอดคล้องกับความรู้ทางพระพุทธศาสนาผสมผสานกับศาสตร์ทางด้านจิตวิทยา และบูรณาการเข้ากับสังคมสมัยใหม่ บทความวิชาการ เรื่อง “พุทธจิตวิทยาพื้นฐาน” สอดคล้องตามพันธะกิจด้านการให้บริการวิชาการแก่สังคม โดยกองวิชาการสำนักงานอธิการบดีได้สนับสนุน และส่งเสริมให้ผลิตผลงานทางวิชาการของคณาจารย์ เพื่อให้นิสิตของมหาวิทยาลัยได้มีตำราเรียนอย่างเพียงพอ และตอบสนองการเรียนรู้ในจิตวิทยาแนวพุทธได้เป็นอย่างดี โดยมีเนื้อหาสารมุ่งให้ศึกษาความรู้เกี่ยวกับความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพุทธจิตวิทยา พุทธจิตวิทยาตามหลักอริยสัจ 4 พุทธจิตวิทยากับกระบวนทางจิตและเจตสิก พุทธจิตวิทยากับการรับรู้ พุทธจิตวิทยากับการเรียนรู้ พุทธจิตวิทยากับการสร้างแรงจูงใจ เพื่อเป็นองค์ความรู้เบื้องต้นในการศึกษาพุทธจิตวิทยาต่อไป

 

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพุทธจิตวิทยา

 

          ความหมายของพุทธจิตวิทยา

 

          พุทธจิตวิทยา มาจากคำว่า พุทธ+จิต+วิทยา พุทธ (Buddhist) แปลว่า รู้  คือ รู้ตามหลักแห่งพุทธธรรม ได้แก่ รู้ในแก่นแท้ของพุทธศาสนา คือ อริยสัจสี่ ซึ่งเน้นการใช้สติปัญญาในการ  แก้ทุกข์/ปัญหา ตั้งแต่ขั้นต่ำ กลาง และขั้นสูงสุด (มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2540, น. 8) พุทธจิตวิทยา คือ ความเข้าใจเบื้องต้นในหลักความเป็นจริงที่เป็นกลางตามธรรมชาติ ได้แก่ ชีวิตและความเป็นไปของชีวิต ระบบพัฒนามนุษย์ด้วยไตรสิกขา สาระสำคัญของพุทธจริยาในเรื่องจิตและกรรม ศึกษาหลักปฏิบัติธรรมเพื่อการดำรงชีวิตที่เป็นสุขและสงบเย็น ฝึกพัฒนาตนเองตาม แนว
พุทธธรรม เน้นการเรียนรู้ปริยัติและปฏิบัติควบคู่กัน เพื่อให้บรรลุผลแห่งการปฏิบัติสู่ปฏิเวธ ฉะนั้นการศึกษาวิเคราะห์จิตซึ่งมีความสัมพันธ์กับปัญหา คือทุกข์ เพื่อให้เข้าใจสภาพที่แท้จริงของชีวิต เข้าถึงสาเหตุของปัญหา เข้าใจถึงเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตรู้วิธีการและรู้วิธีปฏิบัติเพื่อเผชิญปัญหา ไม่ถูกบีบคั้นโดยปัญหา ไม่ทำให้เกิดความหดหู่ ท้อแท้ แต่กระตุ้นให้สู้และเผชิญกับปัญหาคือทุกข์ อย่างองอาจและทระนง (พระครูปลัดมารุต วรมงฺคโล, 2557) ดังนั้นพุทธจิตวิทยา (Buddhist Psychology) จึงเป็นการศึกษาวิเคราะห์จิตที่สัมพันธ์กันกับทุกข์ (ปัญหา) อันเป็นสภาพที่แท้จริงของชีวิต เข้าใจสาเหตุของทุกข์ (ปัญหา) เข้าใจถึงเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตคือนิโรธ (ความดับทุกข์ ดับปัญหา) รู้วิธีการปฏิบัติเพื่อเผชิญปัญหา โดยไม่ถูกบีบคั้นจากทุกข์ (ปัญหา) ไม่เกิดความท้อแท้สิ้นหวังให้สู้และเผชิญกับทุกข์ (ปัญหา) อย่างมั่นคงตามหลักพุทธธรรม (พระเทพวิสุทธิกวี, 2543)

 

          ความสำคัญของพุทธจิตวิทยา

 

          ความสำคัญของพุทธจิตวิทยาพิจารณาเป็นข้อๆ ได้ดังนี้ 1) เพื่อให้นักศึกษาได้เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ตลอดจนพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์ สังคม และเชาว์ปัญญา 2) เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจพฤติกรรมต่างๆ ของตนเองและผู้อื่น 3) เพื่อให้นักศึกษาสามารถนําความรู้ทางจิตวิทยาไปใช้ในการแก้ปัญหาของตนเอง 4) เพื่อให้นักศึกษาสามารถนําความรู้ทางจิตวิทยาไปใช้ในการปรับตัว สามารถเข้ากับสังคมได้ อย่างมีความสุขและไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน 5) เพื่อให้นักศึกษามีความตระหนักถึงความสำคัญของจิตวิทยา และการนําจิตวิทยาไปประยุกต์ใช้ ในการดำรงชีวิตการประกอบอาชีพและการทำงานต่างๆ ได้อย่างเป็นสุข วิชาจิตวิทยา ทำให้บุคคลสามารถเข้าใจตนเอง วิเคราะห์ตนเองออกทั้งในส่วนที่ดีและส่วนที่ด้อยของตัวเรา โดยที่บุคคลจะต้องเข้าใจ ตนเอง รักตนเอง ยอมรับความเป็นตนเองก่อน และบุคคลก็จะเข้าใจความเป็นบุคคลของคนอื่นเช่นกัน และพร้อมที่จะเข้าใจผู้อื่น รักผู้อื่น และยอมรับความเป็นบุคคลของผู้อื่นในความเป็นจริงหลายคนที่ยังรัก ตนเองให้อภัยตนเองได้ ไม่ว่าตนเองจะทำผิดสักแค่ไหน แต่ไม่สามารถ รับคนอื่นได้ มองคนอื่นด้อยกว่าตน หรือมองคนอื่นผิด มองตนเองถูก สังคมจึงเกิดปัญหาวุ่นวายเดือดร้อน (โสรีช์ โพธิแก้ว, 2544)

          ดังนั้นการที่เราศึกษาวิชาจิตวิทยาช่วยให้เราเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ว่า มนุษย์มีธรรมชาติ เป็นอย่างไร ในความเป็นมนุษย์เราคงต้องยอมรับสภาพทางกายภาพทั่วไป ความเป็นมนุษย์มีรูปแบบที่เหมือนๆกัน ถ้าเราบอกว่าไม่ชอบบุคคล เพราะสาเหตุตามที่เราคิด ตามที่เราตัดสิน เราก็คิดเข้าข้างตัวเรา เองโดยไม่มองภาพรวมของความเป็นมนุษย์ ความเป็นธรรมชาติของมนุษย์และไม่เข้าใจสัจธรรมความมีชีวิตอย่างแท้จริง โดยใช้มาตรฐานของตัวเองไปตัดสินใจแทนคนอื่น และกล่าวโทษว่า คนอื่นไม่ดี แต่ตัวเองดี การหาแนวคิดมาเพื่อ อธิบายธรรมชาติของมนุษย์ อารมณ์ ความรู้สึก ความปรารถนาและความต้องการของมนุษย์ แต่ไม่ได้ หมายความว่าวิชาจิตวิทยาเป็นวิชาที่ดีที่สุด ยังมีอีกหลายวิชาที่เข้ามาช่วยและส่งเสริมให้มีความเข้าใจ ธรรมชาติของความเป็นมนุษย์อีกเช่น วิชาวิทยาศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา สังคม ศิลปะ ดนตรี เป็นต้น ความสำคัญของวิชาจิตวิทยา ยังสามารถทําให้บุคคล ยอมรับตนเอง ยอมรับผู้อื่น รักตนเองและรักผู้อื่น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อเรื่องมนุษย์มีความแตกต่างกัน

 

          พุทธจิตวิทยากับอริยสัจ 4

 

          หลักพุทธธรรมมีอริยสัจ 4 เป็นหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรง ตรัสรู้และเป็นไปตามเหตุผลที่แท้จริง ซึ่งมีกล่าวไว้เป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในพระไตรปิฎก มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้กล่าวถึงอริยสัจ 4 (ม.มู. (ไทย) 12/304/349) ดังนี้ ทุกข์ คือ ชาติเป็นทุกข์ ชราเป็นทุกข์ มรณะเป็นทุกข์ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสเป็นทุกข์ การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจาก อารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์ การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์ นี้เรียกว่าทุกข์ ทุกขสมุทัย คือ ตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและ ความกำหนดมีปกติให้เพลิดเพลินในอารมณ์นั้น ๆ ได้แก่ กามตัณหา ความทะยานอยากในกาม ภวตัณหา ความทะยานอยากเป็นนั่นเป็นนี่ วิภาวตัณหา ความทะยานอยากไม่เป็นนั่นเป็นนี่ นี้เรียกว่าทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ คือ ความดับตัณหาไม่เหลือวิราคะ ความสละ ความสละคืน ความพ้น ความไม่อาลัยในตัณหา นี้เรียกว่าทุกขนิโรธ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา คือ อริยมรรคมีองค์ 8 ได้แก่ สัมมาทิฎฐิ สัมมา สังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (กระทรวงศึกษาธิการ, 2557,น. 28) “ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ” ซึ่งประกอบด้วย 1) ทุกข์ คือ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ เป็นธรรมที่ควรรู้ เช่น ขันธ์ 5 2) สมุทัย คือ ความจริงว่าด้วยเหตุแห่งทุกข์ เป็นธรรมที่ควรละ เช่น กรรม นิยม และกรรม 12 3)  นิโรธ คือ ความดับทุกข์ เป็นธรรมที่ควรบรรลุ เช่น ภาวนา 4 และ 4) มรรค คือ ความจริงว่าด้วยทางแห่งการดับทุกข์ เป็นธรรมที่ควรเจริญ เช่น อปริหารนิยธรรม 7 ปาปณิกธรรม 3 และโภคอาทิยะ 5 ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 อริยวัฑฒิ 5 มงคล 38 จิตไม่เศร้าโศก จิตไม่มัวหมอง และจิตเกษม ดังนั้นหัวใจคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ที่อริยสัจ 4 ประการ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในปฐมเทศนาแก่สหายเก่าของพระองค์ คือ เบญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนะ พระองค์ได้ทรงแสดงอริยสัจ 4 ประการไว้เพียงย่นย่อ แต่ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนารุ่นแรก ๆ มีหลายแห่งที่ได้อธิบายอริยสัจ 4 ประการนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก พร้อมด้วยรายละเอียดมากมาย และหลายแง่หลายทางศึกษาอริยสัจ 4 โดยอาศัยหลักฐานอ้างอิง และคำอธิบายจากคัมภีร์เหล่านี้เราก็จะได้เรื่องราวที่ดี และถูกต้องแห่งคำสอนอันเป็นแก่นของ  พระพุทธองค์ตรงตามคัมภีร์ดั้งเดิม และความปรารถนาอันสูงสุดของมนุษย์และสัตว์คือความสุขชั่วนิรันดร์ หรือพ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิง พระพุทธองค์ชี้ไปที่เหตุให้เกิดทุกข์ถ้าดับเหตุให้เกิดทุกข์เสียได้ ทุกข์ก็จะไม่เกิด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหาให้พบเหตุแห่งทุกข์ แล้วดับเหตุเสีย ก็จะพ้นทุกข์ จะเห็นได้ว่านี้เป็นวิธีแก้ทุกข์ที่ลัดตรงและได้ผลชะงัดที่สุด ปัญหาขั้นต่อไปคือเมื่อการดับทุกข์ต้องดับที่เหตุให้เกิดทุกข์ เมื่อพิจารณาไปถึงหลักของการปฏิบัติ การประพฤติธรรมในพระพุทธศาสนาจึงเน้นให้ผู้ปฏิบัติซึ่งเป็นคำพูดที่ฟังกันจนชินหูว่า “ทุกข์ต้องกำหนดรู้”และการกำหนดรู้ในทุกข์นี้เราเรียกว่ากิจในอริยสัจ 4 (อภิ.ก. (บาลี) 37/452/418)

 

          ความรู้เกี่ยวกับจิต

 

          คําว่า “จิต” (จิตฺตํ) หรือใจมีความหมายเหมือนกันโดยคําว่า “จิต” (อภิ.สํ. (ไทย) 34/21/10) เป็นภาษาบาลีส่วน คําว่า “ใจ”เป็นภาษาสันสกฤต ที่บุคคลทั่วไปรู้จักกันดี ภาษาอังกฤษใช้คําว่า “Mind” ทั้งสามคํามีความหมายเหมือนกัน ซึ่งเป็นสภาวะที่ไม่มีรูปร่างไม่มีตัวตน และมีส่วนสัมพันธ์อยู่กับการทำงานของ ร่างกาย คําว่า “จิต” เป็นสภาวะวิจิตร (อภิ.สงฺ.อ. (บาลี) 1/1 /110) ชื่อว่า มโน เพราะรับรู้อารมณ์ ชื่อว่า มานัสเพราะมีธรรมชาติที่สัมปยุตกับมโน หรือมานัสก็คือใจ ชื่อว่าหทัย เพราะอยู่ภายใน ชื่อว่า ปัณฑระ เพราะธรรมชาติที่ผ่องใส ชื่อว่า มนายตนะ (ขุ.ม.อ. 1/22-23, ขุ.ม. (ไทย) 29/1/3) เพราะเป็นที่อยู่อาศัย เป็นบ่อเกิด เป็นที่ประชุม เป็นแดนเกิดแห่งใจและชื่อว่า ของจิตทั้ง 10 ประการดังที่กล่าวมานี้จะมีลักษณะเป็นอย่างเดียวกัน เป็นไวพจน์ (ชื่อที่ใช้แทน) “จิต” ซึ่งมีความหมายเหมือนกันโดยอรรถ แตกต่างกันโดยพยัญชนะ แต่ที่เรียกชื่อไปต่างๆ กันนั้น ก็เพราะที่การทำงานไม่เหมือนกัน งานของจิตที่เป็นงานหลัก มีอยู่ 4 อย่าง คือ 1) รับ (เวทนา) 2) จำ (สัญญา) 3) คิด (สังขาร) 4) รู้ (วิญญาณ) โดยสรุป “จิต” สรุปโดยภาพรวมว่า คําว่า จิต มโน วิญญาณ นั้น ได้มีการเรียนรู้ ศึกษาค้นคว้ากันมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาลแล้ว จิต มโน วิญญาณ เป็นอย่างเดียวกันในด้านสภาวะ จิตนั้นมีชื่อเรียกต่างกันเพราะที่การทำงานไม่เหมือนกัน เรียกว่าจิตเพราะเป็นสภาวะวิจิตร เรียกว่ามโนเพราะรับรู้อารมณ์เรียกว่ามานัสเพราะมีธรรมชาติที่สัมปยุตกับมโน เรียกว่าหทัยเพราะอยู่ ภายใน เรียกว่าปัณฑระเพราะธรรมชาติที่ผ่องใส เรียกว่ามนายตนะเพราะเป็นที่อยู่อาศัย เป็นบ่อเกิด เป็นที่ประชุม เป็นแดนเกิด แห่งใจ เรียกว่ามนินทรีย์เพราะเป็นใหญ่ในการรับรู้อารมณ์เรียกว่า วิญญาณเพราะรับรู้อารมณ์ต่างๆ เรียกว่าวิญญาณขันธ์เพราะเป็นกองแห่งวิญญาณ เรียกว่ามโน วิญญาณธาตุเพราะเป็นสภาวะที่รับรู้และรับทราบอันสมควรแก่ธรรมทั้งหลาย มีผัสสะ เป็นต้น

 

พุทธจิตวิทยากับการรับรู้

 

          ความหมายของการรับรู้

 

          การรับรู้เป็นกระบวนการประมวล และตีความข้อมูลต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเราที่ได้จากการรู้สึก ซึ่งการรับรู้ของบุคคลจะเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางจิตวิทยาบางตัว ซึ่งมีผู้อธิบายความหมายการรับรู้ ดังนี้ การรับรู้ หมายถึง การรู้สึกสัมผัสที่ได้รับการตีความให้เกิดความหมายแล้ว  เช่นในขณะนี้ เราอยู่ในภาวการณ์รู้สึก (Conscious)  คือลืมตาตื่นอยู่ในทันใดนั้น  เรารู้สึกได้ยินเสียงดังปังมาแต่ไกล (การรู้สึกสัมผัส (Sensation)  แต่เราไม่รู้ความหมายคือไม่รู้ว่าเป็นเสียงอะไรเราจึงยังไม่เกิดการรับรู้ แต่ครู่ต่อมามีคนบอกว่าเป็นเสียงระเบิดของยางรถยนต์ เราจึงเกิดการรู้ความหมายของการรู้สึกสัมผัสนั้น  ดังนี้เรียกว่าเราเกิดการรับรู้ (กิ่งแก้ว ทรัพย์พระวงศ์, 2556) การรับรู้ หมายถึง บุคคลจะถูกรุมล้อมด้วยสิ่งเร้า ซึ่งมาจากสิ่งแวดล้อมผ่านเข้ามาในความรู้สึกสัมผัส (Senses) โดยการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รส และสัมผัส หรือประสารทสัมผัส ตา หู จมูกลิ้น และผิวกายและบุคคลจะเลือกรับรู้เฉพาะที่สนใจ (เติมศักดิ์ คทวณิช, 2556) การรับรู้ หมายถึง การแปลความหมายจากการสัมผัส โดยเริ่มตั้งแต่ การมีสิ่งเร้ามา กระทบกับอวัยวะรับสัมผัสทั้งห้า และส่งกระแสประสาท ไปยังสมอง เพื่อการแปลความ กระบวนการของการรับรู้ (Process) เป็นกระบวนการที่คาบเกี่ยวกันระหว่างเรื่องความเข้าใจ การคิด การรู้สึก (Sensing) ความจำ (Memory) การเรียนรู้ (Learning) การตัดสินใจ (Decision making) (สิริอร วิชชาวุธ, 2556)

          สรุป การรับรู้เป็นกระบวนการที่บุคคลได้รับความรู้สึกและแปลความหมาย หรือตีความจากสิ่งเร้าที่รับเข้ามาผ่านกระบวนการวิเคราะห์ โดยอาศัยความจำ เข้าใจ การคิด การรู้สึก ความรู้ การตัดสินใจ ผสมผสานกับประสบการณ์เดิมที่มีอยู่ออกมาเป็นความรู้ความเข้าใจ

 

          การรับรู้ตามแนวพุทธจิตวิทยา

 

          การรับรู้เป็นพื้นฐานการเรียนรู้ที่สำคัญของบุคคล เพราะการตอบสนองพฤติกรรมใดๆ ขึ้นอยู่กับการรับรู้จากสภาพแวดล้อมของตน และความสามารถในการแปลความหมายของสภาพการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพจึงขึ้นอยู่กับปัจจัยการรับรู้ และสิ่งเร้าที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งแนวคิดเรื่องพุทธจิตวิทยานั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจิตและกระบวนการทำงานของจิตที่พระพุทธศาสนาถือว่าจิตนั้นมีพลังในการควบคุมกาย ซึ่งปัจจัยการรับรู้ประกอบด้วยประสาทสัมผัส และปัจจัยทางจิต คือความรู้เดิม ความต้องการและเจตคติในการรับรู้จะประกอบด้วยกระบวนการสามด้าน คือ การรับสัมผัส การแปลความหมายอารมณ์ โดยมีอายตนะที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา (สายหยุด มีฤกษ์, 2562)

          อายตนะ แปลว่า ที่เชื่อมต่อ เครื่องติดต่อ หมายถึงสิ่งที่เป็นสื่อสำหรับติดต่อกัน ทำให้เกิดความรู้สึกขึ้น แบ่งเป็น 2 อย่างคือ 1.อายตนะภายใน หมายถึงสื่อเชื่อมต่อที่อยู่ในตัวคน บ้างเรียกว่า อินทรีย์ 6 มี 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งหมดนี้เป็นที่เชื่อมต่อกับอายตนะภายนอก 2.อายตนะภายนอก หมายถึงสื่อเชื่อมต่อที่อยู่นอกตัวคน บ้างเรียกว่า อารมณ์ 6 มี 6 คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ทั้งหมดนี้เป็นคู่กับอายตนะภายใน เช่น รูปคู่กับตา หูคู่กับเสียง เป็นต้น อายตนะภายนอกนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อารมณ์ เมื่อตาเห็นรูป เรียกว่า สัมผัส รู้ว่ามีการเห็น เรียกว่าวิญญาณ เกิดความรู้สึกขึ้นเมื่อตาเห็นรูป เรียกว่า เวทนา สรุปได้ว่า อายตนะ 6 อารมณ์ 6 และวิญญาณ 6 มีความเกี่ยวเนื่องกัน คือ

1) จักขุ ตา เป็นแดนรับรู้รูป เกิดความรู้คือ จักขุวิญญาณ-เห็น

2) โสตะ หู เป็นแดนรับรู้เสียง เกิดความรู้คือ โสตวิญญาณ-ได้ยิน

3) ฆานะ จมูก เป็นแดนรับรู้กลิ่น เกิดความรู้คือ ฆานวิญญาณ-ได้กลิ่น

4) ชิวหา ลิ้น เป็นแดนรับรู้รส เกิดความรู้คือ ชิวหาวิญญาณ-รู้รส

5) กาย กาย เป็นแดนรับรู้โผฏฐัพพะ เกิดความรู้คือ กายวิญญาณ-รู้สิ่งต้องกาย

6) มโน ใจ เป็นแดนรับรู้ธรรมารมณ์ เกิดความรู้คือ มโนวิญญาณ-รู้เรื่องในใจการทำหน้าที่ของอายตนะ (ที.ปา. (ไทย) 11/304/255)

          สรุปความว่า อายตนะ ทำให้เกิดความรู้ซึ่งเกิดจากการเชื่อมต่อระหว่างอายตนะภายนอกกับอายตนะภายใน เมื่ออายตนะภายในซึ่งเป็นแดนรับรู้กระทบกับอารมณ์ คืออายตนะภายนอก ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ก็จะเกิดความรู้จำเพาะด้านของอายตนะแต่ละอย่างๆ ขึ้น เช่น ตากระทบรูป เกิดความรู้ เรียกว่า เห็น หูกระทบเสียง เกิดความรู้ เรียกว่า ได้ยิน เป็นต้น ความรู้จำเพาะแต่ละด้านนี้เรียกว่า วิญญาณ แปลว่า ความรู้แจ้ง คือรู้อารมณ์ ดังนั้นจึงมีวิญญาณ 6 อย่างเท่ากับอายตนะ และอารมณ์ 6 คู่ คือ วิญญาณทางตา ได้แก่ เห็น วิญญาณทางหู ได้แก่ ได้ยิน วิญญาณทางจมูก ได้แก่ ได้กลิ่น วิญญาณทางลิ้น ได้แก่ รู้รส วิญญาณทางกาย ได้แก่ รู้สิ่งต้องกาย วิญญาณทางใจ ได้แก่ รู้อารมณ์ทางใจ หรือรู้เรื่องในใจ

          ไตรลักษณ์ ลักษณะที่เป็นสามัญทั่วไป 3 ประการ คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ความมิใช่ตัวตน สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เรียกตามคำบาลีว่า เป็น อนิจจะ แต่ในภาษาไทยนิยมใช้คำว่าอนิจจัง หมายถึง สิ่งที่ไม่เที่ยง ภาวะที่เป็นอนิจจัง นั้น เรียกเป็นคำศัพท์ตามบาลีว่า อนิจจตา หมายถึงลักษณะทีแสดงถึงความไม่เที่ยง เรียกเป็นศัพท์ว่า อนิจจลักษณะ สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ในภาษาไทย บางที่ใช้อย่างภาษาพูดว่า ทุกขัง เป็นทุกข์ เป็นของคงทนอยู่มิได้ มีสภาวะแห่งความบีบคั้นขัดแย้ง หรือภาวะที่เป็นทุกข์นั้น เรียกเป็นคำศัพท์ตามบาลีว่า ทุกขตา หมายถึงลักษณะที่แสดงถึงความเป็นทุกข์เรียกเป็นศัพท์ว่า ทุกขลักษณะ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ความเป็นของมิใช่ตัวตนภาวะที่เป็นอนัตตานั้นเรียกเป็นคำศัพท์ตามบาลีว่า อนัตตตา หมายถึงลักษณะที่แสดงถึงความเป็นอนัตตา มิใช่ตัว มิใช่ตน เรียกเป็นคำศัพท์ว่า อนัตตลักษณะ (ราชบัณฑิตยสถาน, 2542)

          ดังนั้นสรุปได้ว่า ไตรลักษณ์เป็นกฎธรรมชาติของสิ่งทั้งปวง แต่พระพุทธองค์ทรงเน้นสอนไตรลักษณ์ในลักษณะที่เป็นสัจจธรรมของชีวิตของมนุษย์ สอนให้มนุษย์รู้ชีวิตตามความเป็นจริง ดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับความจริง เพื่อนำชีวิตไปสู่ความพ้นทุกข์ อายตนะภายนอกทั้ง 6 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ล้วนเป็นอนัตตาไม่มีตัวตนแท้จริง ไม่มีใครเป็นเจ้าของได้อย่างแท้จริง ตัวตนที่เห็นหรือสิ่งที่เกิดจากการผัสสะทางอายตนะนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่ประกอบกันขึ้น จึงไม่สามารถควบคุมบังคับบัญชาได้ตามปรารถนาของตน ทั้งมีความเสื่อมหรือแปรปรวนเป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อเกิดปัญญาเข้าใจตามความเป็นจริง ย่อมคลายความยึดมั่นถือมั่นในธรรมต่างๆ เพราะรู้จักสรรพสิ่งตามความเป็นจริงอยู่กับทุกข์ด้วยความเข้าใจไม่ใช่การดิ้นรนเพื่อหนีทุกข์ด้วยความไม่เข้าใจ

          หลักอริยสัจ 4 เป็นระบบคำสอนที่สำคัญของพระพุทธศาสนา มีความมุ่งหมายเพื่อสร้างปัญญาให้กับชีวิต แสดงให้เห็นการเชื่อมโยงความจริงของธรรมชาติไว้อย่างเป็นเหตุเป็นผลโดยลำดับ ครอบคลุมทั้งด้านปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ เป็นศาสตร์แห่งความจริงของชีวิตที่กล่าวถึงการเกิดและการดับของความทุกข์ไว้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน อริยสัจ 4 ได้แก่ 1) ทุกขอริยสัจ (อริยสัจคือทุกข์) 2) ทุกขสมุทัยอริยสัจ (อริยสัจ คือเหตุเกิดแห่งทุกข์) 3) ทุกขนิโรธอริยสัจ (อริยสัจคือความดับแห่งทุกข์) 4) ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ (อริยสัจ คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์) นี้คือธรรม 4 ประการที่ควรรู้ยิ่งในคัมภีร์วิสุทธิมรรค (พระพุทธโฆสเถระ, 2556 ,น. 826) ได้กล่าวถึงลักษณะแห่งอริยสัจ 4 ความว่า 1) ทุกข์ คือ ความบีบคั้น ความเป็นสังขตะ ความเร่าร้อน ความแปรเปลี่ยน 2) สมุทัย คือ ความประมวลเอาไว้ ก่อเหตุเข้าไว้ ผูกไว้ความพัวพัน 3) นิโรธ คือ ความออกไป ความว่าง ความเป็นอสังขตะ ความเป็นอมตะ 4) มรรค คือ ความนำออกไป ความเป็นเหตุ ความเห็น (ตามเป็นจริง) และความเป็นอธิบดี

          สรุปความว่า อริยสัจเป็นความจริงอันประเสริฐที่พระพุทธองค์ทรงมุ่งสอนอย่างเป็นระบบเพื่อความเข้าใจเรื่องความทุกข์และการปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ เป็นศาสตร์แห่งการสร้างปัญญาให้กับชีวิตมีจุดมุ่งหมาย เพื่อนำชีวิตออกจากวัฏฏะแห่งความทุกข์ จึงเป็นระบบการศึกษาที่ควรรู้อย่างยิ่งที่สำคัญคือพระพุทธองค์ตรัสยืนยันว่า ทรงสอนในสิ่งที่ประจักษ์แจ้งด้วยพระองค์เองแล้วว่าเป็นระบบความรู้ที่ดับความทุกข์ได้จริง และมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การศึกษาขั้นสูงสุดกับมนุษย์ นั่นคือการพัฒนาความรู้ในระดับปัญญา เพื่อนำชีวิตออกจากสังสารวัฏไปสู่พระนิพพานอันเป็นจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของชีวิต

 

พุทธจิตวิทยากับการเรียนรู้

 

          ความหมายการเรียนรู้

 

          มนุษย์เรานั้น มีการเรียนรู้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากการดำเนินชีวิตในวันหนึ่ง ๆ เราทุกคนอาจต้องเผชิญสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงกับที่เคยประสบการณ์มาแต่ไม่ได้เป็นสถานการณ์ที่ตรงกันเลยทีเดียว มนุษย์จึงได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวด้วยการแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ กับสถานการณ์ที่ตนประสบอยู่  เป็นไปได้ยากยิ่งที่ที่เมื่อถามถึงคำจำกัดความของการเรียนรู้ แล้วจะสามารถบอกได้ทันทีว่าการเรียนรู้ คือ อะไร ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน จึงขอเสนอคำจำกัดความของการเรียนรู้จากนักจิตวิทยาและนักการศึกษาหลาย ๆ ท่าน นักจิตวิทยาหลายท่านให้ความหมายของการเรียนรู้ไว้ว่าการเรียนรู้ คือ กระบวนการเพิ่มพูนและปรุงแต่งระบบความรู้ ทักษะ นิสัย หรือการแสดงออกต่าง ๆ อันมีผลมาจากสิ่งกระตุ้นอินทรีย์โดยผ่านประสบการณ์ การปฏิบัติ หรือการฝึกฝน”

          การเรียนรู้ หมายถึง การเปลี่ยนพฤติกรรมซึ่งเป็นผลมาจากประสบการณ์ที่คนเรามีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม หรือจากการฝึกหัด รวมทั้งการเปลี่ยนปริมาณความรู้ของผู้เรียน (สุรางค์ โค้วตระกูล, 2553) การเรียนรู้มีองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ 1) มนุษย์ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจาก “ไม่รู้”เป็น“รู้”“ทำไม่ได้”เป็น“ทำได้”“ไม่เคยทำ” เป็น “ทำ” 2) การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมนั้นต้องเป็นไปอย่างถาวร (Permanent not Temporary) และ 3) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้น เกิดจากประสบการณ์การฝึกฝนและการฝึกหัดไม่ใช่จากเหตุอื่นๆ นอกจากนั้น (สิริอร วิชชาวุธ, 2554) การเรียนรู้ (Learning) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ค่อนข้างถาวรซึ่งเป็นผลมาจากประสบการณ์และการฝึกหัด พฤติกรรมที่เป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงชั่วคราวไม่จัดว่าเกิดจากการเรียนรู้ เช่น ความเหน็ดเหนื่อย ผลจากการกินยา การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันเนื่องมาจากวุฒิภาวะ เป็นต้น (จิราภา เต็งไตรรัตน์, 2554)

          สรุปได้ว่า การเรียนรู้  หมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันเป็นผลจากการที่บุคคลทำกิจกรรมทำให้เกิดประสบการณ์และเกิดทักษะต่าง ๆ ขึ้นยังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมค่อนข้างถาวรของบุคคลอันเป็นผลมาจากประสบการณ์ในอดีต ทั้งจากการฝึกฝนและการที่มนุษย์ได้มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัว และมีปริมาณของความรู้ที่เพิ่มขึ้น โดยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมดังกล่าวนั้นไม่ได้ เกิดขึ้นจากการกินยา ความเหน็ดเหนื่อย หรือเป็นผลเนื่องมาจากวุฒิภาวะ โดยการเรียนรู้เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากเดิมไปสู่พฤติกรรมใหม่ที่ค่อนข้างถาวร และพฤติกรรมใหม่นี้เป็นผลมาจากประสบการณ์หรือการฝึกฝน มิใช่เป็นผลจากการตอบสนองตามธรรมชาติหรือสัญชาตญาณ หรือวุฒิภาวะ หรือพิษยาต่างๆ หรืออุบัติเหตุ หรือความบังเอิญ พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจะต้องเปลี่ยนไปอย่างค่อนข้างถาวร จึงจะถือว่าเกิดการเรียนรู้ขึ้น หากเป็นการ เปลี่ยนแปลงชั่วคราวก็ยังไม่ถือว่าเป็นการเรียนรู้

 

          องค์ประกอบการเรียนรู้

 

          การเรียนรู้ คือ กระบวนการที่ทำให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ความคิด คนสามารถเรียนได้จากการได้ยินการสัมผัส การอ่าน การใช้เทคโนโลยี การเรียนรู้ของเด็กและผู้ใหญ่จะต่างกัน เด็กจะเรียนรู้ด้วยการเรียนในห้อง การซักถาม ผู้ใหญ่มักเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ที่มีอยู่ แต่การเรียนรู้จะเกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่ผู้สอนนำเสนอ โดยการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียน ผู้สอนจะเป็นผู้ที่สร้างบรรยากาศทางจิตวิทยาที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ ที่จะให้เกิดขึ้นเป็นรูปแบบใดก็ได้เช่น ความเป็นกันเอง ความเข้มงวดกวดขัน หรือความไม่มีระเบียบวินัย สิ่งเหล่านี้ผู้สอนจะเป็นผู้สร้างเงื่อนไข และสถานการณ์เรียนรู้ให้กับผู้เรียน ดังนั้น ผู้สอนจะต้องพิจารณาเลือกรูปแบบการสอน รวมทั้งการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน

องค์ประกอบการเรียนรู้ 4 ประการ คือ

1) แรงขับ (Drive) เป็นความต้องการที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคล เป็นความพร้อมที่จะเรียนรู้ของบุคคลทั้งสมอง ระบบประสาทสัมผัสและกล้ามเนื้อ แรงขับและความพร้อมเหล่านี้จะก่อให้เกิดปฏิกิริยา หรือพฤติกรรมที่จะชักนำไปสู่การเรียนรู้ต่อไป

2) สิ่งเร้า (Stimulus) เป็นสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้บุคคลมีปฏิกิริยา หรือพฤติกรรมตอบสนองออกมา ในสภาพการเรียนการสอน สิ่งเร้าจะหมายถึงครู กิจกรรมการสอน และอุปกรณ์การสอนต่าง ๆ ที่ครูนำมาใช้

3) การตอบสนอง (Response) เป็นปฏิกิริยา หรือพฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงออกมาเมื่อบุคคลได้รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้า ทั้งส่วนที่สังเกตเห็นได้และส่วนที่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ เช่น การเคลื่อนไหว ท่าทาง คำพูด การคิด การรับรู้ ความสนใจ และความรู้สึก เป็นต้น

4) การเสริมแรง (Reinforcement) เป็นการให้สิ่งที่มีอิทธิพลต่อบุคคลอันมีผลในการเพิ่มพลังให้เกิดการเชื่อมโยง ระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองเพิ่มขึ้น การเสริมแรงมีทั้งทางบวกและทางลบ ซึ่งมีผลต่อการเรียนรู้ของบุคคลเป็นอันมาก (อารี พันธ์มณี, 2546)

          ดังนั้น องค์ประกอบของการเรียนรู้ คือ การที่ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้ได้มากน้อยเพียงใด หรือมีประสิทธิภาพเพียงใด ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่างๆ ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ผู้สอน กิจกรรมการเรียนการสอน ผู้เรียน ซึ่งทั้งสามองค์ประกอบนี้ย่อมมีความสำคัญในด้านผู้สอนจะต้องมีบุคลิกภาพที่ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส มีความพร้อมในเนื้อหาที่จะสอน และจะต้องใช้จิตวิทยามาใช้ในการสอน เช่นการใช้แรงจูงใจ ตัวเสริมแรง หรือสิ่งเร้า เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการตอบสนองและเกิดการเรียนรู้ได้ดี ด้านกิจกรรมการเรียนการสอนจะต้องมีสื่อการเรียนรู้ที่น่าสนใจ มีกิจกรรมที่เสริม เพื่อทำให้เด็กไม่เกิดการตึงเครียดมากเกินไป และในด้านผู้เรียนครูควรจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับวุฒิภาวะของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้สอนควรคำนึงถึงองค์ประกอบเหล่านี้เป็นสำคัญ

 

          พุทธวิธีในการสอนของพระพุทธเจ้า

 

          วิธีการที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพุทธบริษัททั้ง 4 คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบสก อุบาสิกา หรือบุคคลทั่วไปทั้งเทวดาหรือมนุษย์ พุทธวิธีในการสอนหมายถึง วิธีการที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพุทธบริษัททั้ง 4 คือ ภิกษุภิกษุณี อุบสก อุบาสิกา หรือบุคคลทั่วไป ทั้งเทวดาหรือมนุษย์ตามพระนามที่ได้รับยกย่องว่า สตฺถา เทวมนุสฺสานํ หมายถึงทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จุดมุ่งหมายในการที่ทรงสอนของพระพุทธองค์นั้นประกอบไปด้วยลักษณะ  3 อย่าง ดังต่อไปนี้

          1) อภิญญายธรรมเทศนา ทรงสอนเพื่อให้ผู้ฟังรู้จริงเห็นแจ้งในสิ่งที่ควรรู้ควรเห็นหมายความว่าสิ่งที่ทรงรู้แล้วเห็นแล้ว แต่เมื่อทรงว่าไม่จำเป็นสำหรับสาวกนั้นๆเหมือนครูที่มีความรู้สูงมาก แต่ถึงกระนั้นก็ย่อมนำเอาเฉพาะความรู้เท่าที่จำเป็นแก่ศิษย์ในขั้นนั้นๆ มาสอนเท่าที่ศิษย์จะรับได้เพื่อประโยชน์แก่ศิษย์อนึ่งเหมือนบิดามารดา แม้มีทรัพย์มากปานใดก็ย่อมให้ทรัพย์แก่บุตรตามควรแก่วัย และความจำเป็นของบุตรนั้น

          2) สนิธรรมเทศนา จุดมุ่งหมายในการสอน คือ เพื่อให้ผู้ฟังตรองตามแล้วเห็นจริงได้ทรงแสดงธรรมอย่างมีเหตุผลที่ผู้ฟังพอตรองตามให้เห็นด้วยตนเอง  เพราะพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์ไม่ยากเกินไปจนถึงกับตรองตามแล้วก็ไม่เห็นและไม่ง่ายเกินไปจนไม่ต้องตรองขบคิดก็เห็นได้ พุทธวิธีในการสอนจึงอยู่ท่ามกลางระหว่างความยากเกินไปกับความง่ายเกินไป  ส่วนใหญ่ทรงสอนให้ใช้ปัญญาพิจารณาด้วยตนเอง เป็นต้น

          3) ปาฏิหาริยธรรมเทศนา เพื่อให้ผู้ฟังได้รับผลแห่งการปฏิบัติตามสมควร ทรงแสดงธรรมมีคุณเป็นอัศจรรย์ สามารถยังผู้ปฏิบัติตามให้ได้รับผลตามสมควรแก่กำลังแห่งการปฏิบัติของตนๆ  ในบรรดาปาฏิหาริย์ทั้ง ๓ นั้นพระพุทธองค์ทรงสรรเสริญอนุศาสนียปาฏิหาริย์ว่าดีที่สุดประณีตที่สุดและเป็นประโยชน์ที่สุด ข้อนี้เป็นความจริงอย่างยิ่ง พระพุทธศาสนาที่ดำรงเป็นประโยชน์แก่มหาชนมาจนกระทั้งบัดนี้ก็ด้วยอานุภาพของอนุศาสนีปาฏิหาริย์ ทรงเน้นการปฏิบัติตาม คำสั่งสอนของพระพุทธองค์เพื่อประโยชน์ของผู้ปฏิบัติว่าเป็นการบูชาพระองค์อย่างยิ่ง มีเรื่องราวที่เป็นหลักฐานในสมัยพุทธกาลนั้น (วศิน อินทสระ, 2545 ,น. 8)

          วิธีการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน 5 วิธีคือ 1)  ทรงสอนโดยวิธีเอกังสลักษณะ คือ ทรงสอนยืนยันไปข้างเดียว เช่น ความดีมีผลเป็นสุขความชั่วมีผลเป็นทุกข์ หรือกุศลเป็นสิ่งที่ควรบำเพ็ญอกุศลเป็นสิ่งที่ควรละ 2) ทรงสอนโดยวิธีภัชชลักษณะ คือ ทรงแยกประเด็นให้เห็นชัดเจนเป็นปัญหาที่ไม่สามารถตอบโดยประเด็นเดียว  แต่ต้องแยกตอบให้เห็นอย่างชัดเจน 3) ทรงสอนด้วยปฏิปุจฉาลักษณะ คือ ปัญหาที่ควรตอบโดยย้อนถามเสียก่อน  เช่น จักษุฉันใด โสตะฉันนั้น  โสตะฉันใด จักษุก็ฉันนั้น  ใช้ไหม..?  พึงย้อนถามว่า มุ่งความหมายในแง่ใด  ถ้าถามโดยหมายถึงแง่ให้ดูหรือเห็น ก็ไม่ใช่ แต่ถ้ามุ่งหมายแง่ว่าไม่เที่ยงก็ใช่ 4)  ทรงสอนด้วยฐปนลักษณะ คือ พักปัญหาไว้ไม่พึงพยากรณ์  คือปัญหาที่พึงยับยั้ง หรือพับเสียไม่ควรตอบเรื่องนั้น เช่น ถามว่า ชีวะกับสรีระ คือสิ่งเดียวกันใช่ไหม 5)  ทรงสอนด้วยอุปมาลักษณะ  คือ ทรงสอนแบบเปรียบเทียบ เช่นทรงเปรียบเทียบภิกษุด้วยผ้าเปลือกไม่และผ้ากาสี ทรงเปรียบเทียบมักขลิโคศาลว่าเหมือนผ้าที่ทำด้วยผมคน ซึ่งเป็นวิธีการที่ทรงใช้บ่อยมากที่สุด  เพราะทำให้ผู้ฟังมองเห็นภาพและเข้าใจง่าย โดยไม่ต้องใช้เวลามากและยาวนาน  คำอุปมาช่วยให้เรื่องที่ลึกซึ้งเข้าใจยาก ปรากฏหมายความเด่นชัดเจนออกมา

          สรุปความว่า พุทธวิธีในการสอนมีเป็นเอนกปริยาย นำมากล่าวไว้ในที่นี้เพียงเล็กน้อยพอเป็นตัวอย่าง เนื่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นบรมครูของโลก ผู้ที่ศึกษาพระพุทธศาสนาและพระพุทธจริยาอย่างสุขุมรอบคอบ สังเกตพิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการ ย่อมได้แบบอย่างอันดีในการสอน แม้มิได้เรียนวิชาครูในสมัยปัจจุบันมาเลย ก็อาจสอนให้เป็นที่ประทับใจของผู้เรียนได้เหมือนกันโดยอาศัยหลักของพระพุทธองค์นั่นเองเป็นแนวทาง

 

พุทธจิตวิทยากับการสร้างแรงจูงใจ

 

          ความหมายของแรงจูงใจ

 

          จากการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับความหมายของแรงจูงใจได้มีนักวิชาการหลายท่าน ได้แสดงทัศนะไว้ดังนี้ แรงจูงใจ หมายถึง ความพยายามที่จะให้ผู้อื่น ได้มีการแสดงออกหรือปฏิบัติตามสิ่งจูงใจ ซึ่งสิ่งจูงใจนั้นอาจมีได้ ทั้งภายใน และภายนอกของตัว บุคคลนั้นเอง แต่มีมูลเหตุจูงใจที่สำคัญ สำหรับบุคคล คือ ความต้องการ (จันทรานี สงวนนาม, 2551) แรงจูงใจ หมายถึง สภาวะภายในของบุคคลที่ถูกปลุกเร้าซึ่งเป็นเครื่องกำหนดทิศทางของพฤติกรรม ตลอดจนทา ให้บุคคลมุ่งมนั่ในการทำพฤติกรรมใด พฤติกรรมหนึ่ง (นุชลี อุปชัย, 2544) แรงจูงใจ หมายถึง แรงผลักดันให้คนใช้ความสามารถมากขึ้น ซึ่งกระบวนการเบื้องต้นของการเกิดแรงจูงใจ จะก่อให้เกิดความต้องการ Needs ส่งผลทำให้เกิดแรงขับ Drives เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย Goals (ภารดี อนันต์นาวี, 2553)

          กล่าวโดยสรุป แรงจูงใจเป็นเครื่องกระตุ้นให้มนุษย์ได้แสดงพฤติกรรมการทำงาน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย หรือหลีกหนีจากสภาวการณที่ไม่พึงปรารถนาจัดว่าเป็นกระบวนการทางจิตวิทยาที่มีการเริ่มต้น ชักนำและค้ำจุนพฤติกรรม ให้เกิดความพึงพอใจทางด้านรางกายหรือจิตใจ ซึ่งการจะเกิดการตอบสนองที่เรียกว่าการจูงใจได้นั้นก็ตองอาศัยแรงจูงใจที่อาจเป็นแรงจูงใจภายนอก หรือแรงจูงใจที่เกิดภายในตนเอง มากระตุ้นให้แสดงพฤติกรรมให้บุคคลกระทำหรือดิ้นรน เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์บางอย่าง โดยที่พฤติกรรมอันเกิดจากการได้รับแรงจูงใจเป็นพฤติกรรมที่มุ่งไปสู่จุดหมายอย่างมุ่งมั่น และพึงพอใจ

 

          ความสำคัญของแรงจูงใจ

 

          ความสำคัญของแรงจูงใจเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้บุคคลเกิดพลังแสดงพฤติกรรมต่างๆ อันที่จะทำให้เกิดการกระทำหรือไม่กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และทำให้เกิดความพร้อมในการเรียนได้  เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังทำให้บุคคลหรือผู้เรียนไปสู่จุดหมายปลายทางที่เค้าคาดหวัง กล่าวได้ว่าแรงจูงใจเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการเรียน และการทำงานของบุคคลอย่างมาก หากผู้เรียน หรือผู้ทำงานได้รับแรงจูงใจในระดับสูงย่อมทำให้พวกเขาตั้งใจเรียน หรือตั้งใจทำงานอย่างเต็ม ความสามารถโดยไม่ย่อท้อทำให้ประสบความสำเร็จทั้งในการเรียนและการงาน (สุชา จันทน์เอม, 2553)

          ความสำคัญของแรงจูงใจมีลักษณะสำคัญ 2 ประการคือ 1) ส่งเสริมให้ทำงานสำเร็จ เป็นแรงผลักดันให้แสดงพฤติกรรม แรงผลักดันนั้นๆ อาจเกิด จากภายในหรือภายนอกก็ได้ ให้พลังแก่อินทรีย์แสดงพฤติกรรม 2) การกำหนดแนวทางของพฤติกรรมชี้ว่าควรเป็นไปในรูปใดนำพฤติกรรมให้ตรง ทิศทางเพื่อที่จะบรรลุเป้าประสงค์ คือสำเร็จความต้องการ มีความสำคัญของแรงจูงใจว่าทำให้เกิดพฤติกรรมตอบสนองขึ้นมาตามที่เราต้องการ พฤติกรรมที่เกิดขึ้นจะเข้มข้นและมีประสิทธิภาพหรือมีศักยภาพเพียงใดก็ย่อมขึ้นอยู่กับความเข็มแข็งหรือความ น่าสนใจของแรงจูงใจ หรือการสร้างแรงจูงใจนั้นเอง พฤติกรรมอาจไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ ซึ่งสอดคล้องกับ (ภารวี อนันต์นาวี, 2539)

          จากที่กล่าวมาพอสรุปได้ว่า แรงจูงใจมีความสำคัญ คือ ส่งเสริมให้บุคคลเกิดความสำเร็จในการปฏิบัติงานและทำให้บุคคลากรปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมีอิทธิผลต่อผลผลิตของงานจะมีคุณภาพดีมีปริมาณมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการจูงใจในการทำงานของผู้บังคับบัญชาหรือหัวงานจึงจำเป็นต้องเข้าใจว่าอะไร คือแรงจูงใจที่จะทำให้พนักงานทำงานอย่างเต็มที่ และไม่ใช่เรื่องง่ายในการจูงใจพนักงาน เพราะพนักงานตอบสนองต่องานและวิธีทำงานขององค์กรแตกต่างกัน

 

          แรงจูงใจตามแนวพุทธจิตวิทยา

 

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นนักการสอนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ทรงพระปรีชา สามารถยอดเยี่ยมในการอบรมสั่งสอน และประสบความสำเร็จในการสอนอย่างสูงสุด พระนามอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้าที่ปราชญ์ได้ขนานนามถวาย และพุทธศาสนิกชนนิยมกล่าวเรียกกันเสมอ คือ คําว่า “พระบรมศาสดาหรือพระบรมครู” ซึ่งมีแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงวางแนวทางไว้และสามารถนํามาประยุกต์ใช้ได้ในปัจจุบันการสร้างแรงจูงใจให้เกิดความพร้อมในการเรียนรู้จึงเป็นสิ่งที่ผู้สอนหรือ ผู้ที่เผยแผ่ธรรมะควรให้ความสนใจศึกษา เพื่อผลสำเร็จในการสอน โดยเฉพาะในการนําหลักคําสอนของพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องเข้าสู่จิตวิญญาณของสังคม โดยยกตัวอย่างจากพระไตรปิฎกได้ดังนี้

          พุทธจิตวิทยาการสร้างแรงจูงใจให้กับนางวิสาขาเรื่องราว ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บุพพาราม ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นนางวิสาขามหาอุบาสิกา ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคด้วยอาการที่เศร้าโศกเสียใจ เพราะการสูญเสียหลานรักที่ถึงแก่ความตายลง การพบพระพุทธองค์ ทรงตรัสถามนางวิสาขาว่า “วิสาขา เธอปรารถนาบุตร และหลานเท่ากับจำนวนมนุษย์ในเมือง  สาวัตถีนี้หรือ” นางวิสาขากราบทูลว่า “หม่อมฉันปรารถนาบุตร และหลานเท่ากับจำนวนมนุษย์ในเมืองสาวัตถีนี้เจ้าคะ” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามอีกว่า “มนุษย์ในพระนครสาวัตถีนี้ตายวันละเท่าไหร่” นางวิสาขากราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มนุษย์ในพระนครสาวัตถีนี้ตายวันละ 10 คนบ้าง 9 คนบ้าง 8 คนบ้าง 7 คนบ้าง 2 คนบ้าง และ 1 คนบ้าง ที่จะว่างจากคนตายไม่มีเลย” พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้นเธอมิรองร้องไห้เปียกตลอดทุกวันหรือ” นางวิสาขากราบทูลว่า “ไม่ใช่อย่างนั้นเจ้าคะ หม่อมฉันพอเพียงแล้วกับบุตรหลาน”

          พิจารณาการปรึกษา พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “วิสาขา ผู้ใดมีความรักถึงร้อย ผู้นั้นก็ ต้องมีความทุกข์ถึงร้อย ผู้ใดมีความรัก 90 ผู้นั้นก็มีทุกข์ 90 ผู้ใดมีความรักถึง 3 ก็ต้องมีความทุกข์ถึง 3 ผู้ใดมีความรักถึง 2 ก็ต้องทุกข์ถึง 2 ผู้ใดมีความรัก 1 ผู้นั้นก็มีทุกข์ 1 ผู้ใดไม่มีสิ่งอันเป็นที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีความทุกข์ เรากล่าวว่า ผู้นั้นไม่มีความเศร้าโศก ปราศจากกิเลสดังธุลี ไม่มีอุปยาส ความโศกก็ดี ความพิไรรําพันก็ดี ความทุกข์ก็ดี อันมีอยู่ในโลกนี้ก็เพราะอาศัยสัตว์ หรือสังขารอันเป็นที่รัก ความเศร้าโศก ความพิไรรําพัน และความทุกข์เหล่านี้ย่อมไม่มี เพราะเหตุนั้นแล ผู้ใดไม่มีสัตว์ หรือ สังขารอันเป็นที่รักในโลกผู้นั้นเป็นผู้มีความสุข ปราศจากความโศก เพราะเหตุนั้น ผู้ใดปรารถนาความไม่เศร้าโศกอันปราศจากกิเลสดุจธุลีแล้ว ไม่พึงทำสัตว์ หรือสังขารให้เป็นที่รัก (ขุ.อุ. (ไทย) 1/3/262)

          จะเห็นได้ว่าขั้นตอนการสร้างแรงจูงใจในการปรึกษาแก่นางวิสาขาที่มีความโศกเศร้าเพราะหลานผู้เป็นที่รักเสียชีวิต คือ 1) ทรงสนทนากับนางวิสาขาด้วยจิตเมตตา 2) ทรงตรัสถามเพื่อให้ได้คิดไตร่ตรองถึงการตายที่เกิดขึ้น 3) ทรงมีวิธีการให้เข้าถึงความจริงของชีวิตด้วยตนเอง 4) ทรงเชื่อว่ายามนางมีสติสัมปชัญญะ ปัญญาของนางก็จะเกิดขึ้นได้ 5) เมื่อจิตใจสงบเป็นว่างแล้วทำให้นางวิสาขาความพร้อมที่รับฟังพระธรรมคําสอน ซึ่งเป็นความจริงของชีวิต 6) นางวิสาขาตัดสินใจบรรพชาด้วยตนเอง และดำรงตนในพุทธศาสนา

          สรุปความว่า พระพุทธองค์ใช้พุทธจิตวิทยาเป็นการแสดงความจริง ทรงรับฟังและสนทนาคําถามให้คิดไตร่ตรอง ก่อให้เกิดศรัทธา นำมาสู่การยอมรับนับถือ วิธีการเผยแผ่ พระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงใช้ โดยการทำจิตวิทยามวลชน ประกอบวิธีการโฆษณา การประชาสัมพันธ์ การชวนเชื่อด้วยสัจจธรรม ให้ผู้ปฏิบัติได้เห็นผลจริง ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเจตคติ อารมณ์ และความรู้สึก ปฏิบัติการจิตวิทยานั้นมีพื้นฐานมาจากพุทธจิตวิทยา แต่การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระพุทธองค์ด้วยพุทธจิตวิทยา ทรงมียุทธ์ศาสตร์ทั้งด้านการสื่อสาร โฆษณาชวนเชื่อ และการเข้าถึงมวลชน ด้วยการใช้พลังทางสังคมในการสร้างศรัทธา ดังนั้น จิตวิทยาการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าที่กระทำในครั้งพุทธกาล จึงเป็นพื้นฐานและหลักการปฏิบัติการจิตวิทยาที่ใช้ในปัจจุบัน ผู้เผยแผ่หรือพระธรรมทูตที่มีความรู้ความสามารถแต่ไม่ประสบความสำเร็จก็เพราะปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ บางรูปสามารถบรรยายและทำการสอนดี แต่ไม่สามารถครองใจคน

 

บทสรุป

 

          กล่าวโดยรวม วิชาพุทธจิตวิทยาพื้นฐานเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจิตและกระบวนการทำงานของจิตที่พระพุทธศาสนาถือว่าจิตนั้นมีพลังในการควบคุมกาย แต่ถึงอย่างนั้นจิตก็ไม่ได้เป็นเอกเทศจากกายเพราะจิตกับกายจะต้องทำงานแบบอิงอาศัยซึ่งกันและกัน ในแง่อภิธรรมจิตมนุษย์หรือสัตว์มีความละเอียดอ่อนสามารถจำแนกประเภทได้อย่างหลากหลาย เมื่อนำแนวคิดเรื่องพุทธจิตวิทยามาวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบกับแนวคิดเรื่องจิตวิทยาตะวันตกก็จะพบว่า จิตวิทยาตะวันตกศึกษาจิตและกระบวนการทำงานของจิตในแง่ของพฤติกรรมภายนอกด้วยการพิสูจน์ทดลองโดยหลักวิทยาศาสตร์ แต่พุทธจิตวิทยานั้นศึกษาจิตและกระบวนการทำงานของจิตในแง่ของการปฏิบัติเพื่อฝึกฝนจิตด้วยการปฏิบัติธรรมทั้งในด้านสมถะ และวิปัสสนากรรมฐานโดยมุ่งทำให้จิตมีศักยภาพที่จะสามารถเอาชนะหรือควบคุมกิเลสได้ โดยพุทธจิตวิทยา หมายถึง การศึกษาวิเคราะห์จิตที่สัมพันธ์กันกับทุกข์ ปัญหาอันเป็นสภาพที่แท้จริงของชีวิต เข้าใจสาเหตุของทุกข์ เข้าใจถึงเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตคือนิโรธ ความดับทุกข์ ดับปัญหา รู้วิธีการปฏิบัติเพื่อเผชิญปัญหา โดยไม่ถูกบีบคั้นจากทุกข์ ปัญหา ไม่เกิดความท้อแท้สิ้นหวังให้สู้และเผชิญกับทุกข์ ปัญหาอย่างมั่นคงตามหลักพุทธธรรมส่วนจิตวิทยาตะวันตกมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้เรียนได้เข้าใจถึงกระบวนการแสวงหาความจริงโดยการเรียนจากบรรพบุรุษในอดีตต้องการให้เห็นความคลี่คลายของข้อแท้จริงของแต่ละวิชา เช่น วิชาจิตวิทยาจะมีการพัฒนาคลี่คลายมาจากการศึกษา “จิตใจ” ซึ่งมีลักษณะคลุมเครือเรื่อยมาจนถึง “พฤติกรรม”สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนและสังเกตได้โดยทางอ้อม ตลอดจนการศึกษากระบวนการทำงานของจิตเพื่อการปรับตัวในสถานการณ์ต่างๆ แต่ไม่ได้มีเป้าหมายให้พ้นทุกข์อย่างถาวร

 

รายการอ้างอิง

 

กระทรวงศึกษาธิการ. (2557). คู่มือการศึกษาธรรมศึกษาชั้นตรี. โรงพิมพ์การศาสนา.

 

กิ่งแก้ว ทรัพย์พระวงศ์. (2556). จิตวิทยาทั่วไป (พิมพ์ครั้งที่ 11 ฉบับปรับปรุง).ไทยเจริญการพิมพ์.

 

จิราภา เต็งไตรรัตน์. (2554). จิตวิทยาทั่วไป (พิมพ์ครั้งที่ 4). มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

 

จันทรานี สงวนนาม. (2551). ทฤษฎีและแนวปฏิบัติในการบริหารสถานศึกษา.บุ๊คพอยท์.

 

เติมศักดิ์ คทวณิช. (2556). จิตวิทยาทั่วไป. ซีเอ็ดยูเคชั่น.

 

นุชลี อุปภัย. (2544). จิตวิทยาการศึกษา (พิมพ์ครั้งที่ 3). วี.พริ้นท์.

 

พระพุทธโฆสเถระ. (2556). คัมภีร์วิสุทธิมรรค สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) แปลและเรียบเรียง (พิมพ์ครั้งที่ 11 ฉบับรวมเล่ม). ธนาเพรส.

 

พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), (2539). จากจิตวิทยาสู่จิตภาวนา (พิมพ์ครั้งที่ 6). มูลนิธิพุทธธรรม.

 

พระเทพวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ). (2543). จิตวิทยาในพระอภิธรรม (พิมพ์ครั้งที่ 4). โรงพิมพ์มหามกุฏ  ราชวิทยาลัย.

 

พระครูปลัดมารุต วรมงฺคโล. (2557). การศึกษาวิเคราะห์พุทธจิตวิทยาในพระไตรปิฎก. วารสารสันติศึกษาปริทรรศน์ มจร. 6(ฉบับพิเศษ), 26-34.

 

ภารดี อนันต์นาวี. (2553). ศูนย์นวัตกรรมการบริหาร และผู้นำทางการศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา       หลักการ แนวคิด ทฤษฎีทางการบริหารการศึกษา (พิมพ์ครั้งที่ 3). มนตรีจำกัด.

 

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2549). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

 

ราชบัณฑิตยสถาน.(2546). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน .. 2542. นานมีบุ๊คส์

 

วศิน อินทสระ. (2545). พุทธวิธีการสอน (พิมพ์ครั้งที่ 4). ธรรมดา.

 

โสรีช์ โพธิแก้ว. (2544). การปรึกษาเชิงจิตวิทยาในแนวพุทธธรรม. เอกสารการสอนการปรึกษาเชิงจิตวิทยาตามหลักพระพุทธศาสนา. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

สิริอร วิชชาวุธ. (2554). จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การเบื้องต้น. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

 

สุชา จันทร์เอม. (2553). จิตวิทยาทั่วไป (พิมพ์ครั้งที่ 6). ไทยวัฒนาพานิช.

 

อารี พันธ์มณี. (2546). จิตวิทยาสร้างสรรค์การเรียนการสอน. ใยไหมเอดดูเคท.