Kamalas

Buddhist Psychology for Growth

 

ประยูร  สุยะใจ

 

รศ. ดร. ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 

บทนำ

 

               ในเมื่อกล่าวถึงความงามตามหลักโดยทั่วไปแล้ว มิได้หมายถึงเฉพาะสิ่งที่รับรู้จากอายตนะทั้ง 6 หรือจากประสาทรับสัมผัสอันก่อให้เกิดความรู้สึกยินดี พอใจ ชื่นใจในอารมณ์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงสิ่งที่เป็นสัจธรรม มีคุณค่า มีเหตุผล มีความยุติธรรมและเป็นไปด้วยความชอบธรรมอีกด้วย ซึ่งในความต้องการของมนุษย์นั้น ความงดงามหรือความงาม คือสัญลักษณ์หรือรูปลักษณ์ที่มนุษย์แสวงไขว่คว้า ใฝ่หา และมีแรงกระตุ้นดึงดูดให้ยึดติด หรือทำให้ความต้องการที่จะครอบครองของมนุษย์เกิดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นความงามของธรรมชาติ ต้นไม้ ใบไม้ สัตว์ สิ่งของและตัวมนุษย์เอง ความงามเป็นความรู้สึกที่เกิดกับมนุษย์ เป็นสภาวะทางอารมณ์ที่ดี ทำให้เกิดความเพลิดเพลิน เจริญจิตใจ ปีติยินดี อันเป็นผลมาจากการได้รับสัมผัสกับสิ่งที่น่าพอใจ พบเห็น รับรู้หรือมีประสบการณ์กับสิ่งที่มีความสวยงาม งดงาม ความเหมาะสมกลมกลืน ทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น จะเห็นได้ว่าความงามจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์  และการแสวงหาความงามนั้น จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีชุดความรู้ แนวทางการปฏิบัติกับการเข้าถึงความดีสูงสุดพร้อมที่จะเอื้อเฟื้อแบ่งปันคุณค่าอันกอปรด้วยกุศล

               การพัฒนาพฤติกรรมตามแนวแก่นพุทธจิตวิทยานั้น มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ในการกำหนดทิศทางหรือวิถีทางในการดำเนินชีวิตที่ดี ที่เป็นมงคล ที่งอกงามและงดงาม และเป็นการแผ้วถางทางแห่งความคิดเชิงบวก เพื่อที่จะนำไปสู่ความเข้าใจความจริงที่ประเสริฐ ซึ่งสาระสำคัญอันเป็นหัวใจของแก่นพุทธจิตวิทยา คือหลักคำสอนที่เป็นบาทฐานของพระพุทธองค์ ในการสอนเชิงพฤติกรรมให้เว้นความชั่วทั้งหลายทั้งปวงและทำความดี ทำจิตใจของตนให้ปลอดโปร่งผ่องใส โดยในการประพฤติปฏิบัตินั้น ไม่เคร่งจนเกินไป และก็ไม่ให้หย่อนยานเกินไป นั้นคือให้อยู่ในความพอเหมาะ พอดี เกิดความสมดุลหรือทางสายกลาง ซึ่งในองค์ธรรมสำหรับสร้างลักษณะจิตงอกงามตามหลักแก่นพุทธจิตวิทยาล้วนต้องการพัฒนาทั้งกาย ศีล จิต และปัญญาให้เป็นบุคคลที่ควรแก่งาน คือ เป็นผู้มีความพร้อมด้านกายที่จะปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ด้านกายภาพด้วยดี เป็นผู้มีความพร้อมด้านศีลที่จะปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้านบุคคลด้วยดี เป็นผู้มีความพร้อมด้านจิตที่จะสร้างรักษาประคับประคอง และป้องกันไม่ให้จิตตกไปสู่อกุศลกรรมด้วยดีและเป็นผู้มีความพร้อมด้านปัญญา ในการคิดสร้างสรรค์แก้ไขปัญหาด้วยดี เพื่อการก้าวสู่ความเป็นอิสระจากเครื่องร้อยรัดอันผูกมัดด้วยกิเลสตัณหาในสังคมยุคการเปลี่ยนแปลงใหม่

               ในบทความนี้นำเสนอขอบเขตเนื้อหาการเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาความดีสูงสุด อุดมคติทางแก่นพุทธจิตวิทยาด้านดุลยภาพแห่งความสุข ความสมบูรณ์ ความรู้แจ้งและเสรีภาพภายในการบูรณการข้ามศาสตร์ เสริมสร้างทักษะชีวิตแห่งความงอกงามบนฐานการรู้คิดตามแนวแก่นพุทธจิตวิทยา จิตวิทยาเชิงบวกและสุนทรียศาสตร์และนำเสนอรูปแบบการพัฒนาพุทธจิตวิทยาแห่งความงอกงามด้วยมรรคอันเป็นมงคลในการดำเนินชีวิต

               ด้วยกรอบชุดความรู้นี้เป็นสิ่งที่รวมกันเป็นหนึ่งถือว่าความดีสูงสุด เป็นสิ่งที่รวมไว้ซึ่งความสุขสุดยอด ความสุขสมบูรณ์ทางศีลธรรม ความรู้แจ้งในกฎธรรมชาติสิ้นสุดและความเป็นอิสระปล่อยวางอย่างสมบูรณ์ อันนี้ถือเป็นเป้าหมายของชีวิตที่จะพึงบรรลุได้ในชีวิตของมนุษย์ ซึ่งการก้าวสู่ความงอกงามไปพร้อมกันนั้น ต้องมีฐานของแก่นพุทธจิตวิทยาอันประกอบด้วยหลักเบญจกัลยาณธรรม ขันธ์ 5 หลักไตรสิกขา หลักปฏิจจสมุปบาท หลักสติปัฎฐาน 4 และรวมถึงสภาวะจิตระดับโสภณเจตสิก 25 ซึ่งมีการบูรณาการกับจิตวิทยาเชิงบวกและแนวคิดทฤษฎีสุนทรียศาสตร์

 

แนวความคิดหลักเกี่ยวกับความงาม

 

               การศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับความงามในแก่นพุทธจิตวิทยาและแนวคิดทฤษฎีสุนทรียะ หรือสุนทรียศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่พูดถึงเรื่องของความงามหรือสุนทรียะ  แต่ความงามที่พูดถึงจะเป็นเรื่องที่เข้าใจตรงกันหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เช่นพูดว่า พระพุทธรูปงดงาม ดอกไม่งาม แจกันสวย รูปนี้สวย ภาพเขียนรูปนี้สวย เป็นการใช้คำ ๆ เดียวกัน คือ “สวย” แต่ความเข้าใจในความสวย ของสิ่งเดียวกันที่พูดถึงจะเข้าใจในความหมายเดียวกันหรือเปล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อาจจะตรงหรือไม่ตรงกันก็ได้ เมื่อพูดถึงเรื่องของสุนทรียะ ซึ่งแนวความคิดหลักมีเรื่องที่สำคัญเกี่ยวข้องกัน 3 เรื่อง คือ
1) สุนทรียภาวะ (Aesthetic State) 2) รูปแบบสุนทรียะ (Aesthetic Form) และ 3) ทฤษฎีของความงาม (Theory of Beauty)

                ความงามคืออะไร สิ่งที่เรียกกันว่า ความงามเป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของความรู้สึกมักจะรู้สึกที่มีความเป็นอื่นตามมาอยู่เสมอ เป็นแค่ห้วงหนึ่งของสภาวะอารมณ์ในขณะนั้น  ซึ่งรับรู้ว่าความงามเป็นสิ่งที่รู้สึกได้ตามธรรมชาติ หรือโดยสัญชาตญาณ ให้เป็นความรู้สึกที่เกิดเองตามธรรมชาติ และรู้สึกว่างามลักษณะที่เห็นแล้วชวนชื่นชมยินดีและพึงพอใจ ด้วยสาเหตุใดก็ตาม  ก็ได้ถูกติดตั้งไว้ในระบบการรับรู้คุณค่าศิลปะของผู้คนโดยรวมให้มองเพียงการสนองตอบสุนทรียารมณ์ไว้ และคำว่าสุนทรียศาสตร์มาจากศัพท์ว่า สุนทรียะ + ศาสตร์ “สุนทรีย” แปลว่า ดี งาม สุนทรียศาสตร์จึงมีความหมายตามรากศัพท์ว่า วิชาว่าด้วยความงาม ผู้บัญญัติศัพท์ต้องการใช้แปลคําภาษาอังกฤษว่า Aesthetics มาจากศัพท์ภาษากรีก ว่า Aistheticos ซึ่งเป็นคุณศัพท์ของคํากริยา Aisthanomai แปลว่า รูปด้วยผัสสะ (To Perceive) แต่ทว่าศัพท์ Aesthetics ในภาษาอังกฤษกำหนดไว้ให้หมายถึงวิชา ว่าด้วยศิลปะโดยทั่วไป และแนวคิดสุนทรียศาสตร์เป็นสาขาหนึ่งของปรัชญาประยุกต์ที่ใช้ปรัชญาบริสุทธิ์ตีความ

 

               ความหมายของความงาม

 

               ความงาม คือ ลักษณะที่เห็นแล้วชวนให้ชื่นชม พึงใจ มีรูปลักษณ์สถานภาพของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเพลิดเพลินและความชื่นชม ผ่านการเข้าใจและรับรู้ รับสัมผัสถึงความสมดุล สัดส่วน และแรงดึงดูดของสิ่งนั้น ๆ ซึ่งอาจจะเป็นบุคคล สัตว์ สิ่งของ ธรรมชาติต้นไม้ ภูเขา ทะเล สิ่งแวดล้อม เหตุการณ์ สถานที่ ดนตรี ศิลปะ เทคโนโลยี ความคิด เป็นต้น เป็นความรู้สึกที่เกิดจากการรับรู้ผ่านอายตนะทั้ง 6 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

               คำว่า “ความงาม” มีปรากฏอยู่ทั่วไปในคัมภีร์พระไตรปิฎกตรงกับคำภาษาบาลี ได้แก่       กัลยาณะ โสภณะ สุภะ สุนทระ กัลยา กัลยาณี อภิรูปะ ปฏิรูปะ อภิกกันตะ เป็นต้น เช่น คำว่า “กัลยาณะ” หมายถึง งาม ดี เช่น ในคำว่า ธรรมอันงาม (กลฺยาณธมฺโม) ศีลอันงาม (กลฺยาณสีลํ) เป็นต้น คำว่า “โสภณะ” หมายถึง งดงาม ผ่องใส เช่น ในคำว่า “หญิง งาม น่าชม น่าชอบใจ” (อิตฺถึ โสภณํ ทสฺสนียํ สุรุจิรํ) หรือในคำว่า “ผู้ยังหมู่ให้งาม” (สงฺฆโสภโณ) “จมูกงาม” (นาสา โสภณา) เป็นต้น  คำว่า “กัลยา” หรือ “กลฺยาณี” หมายถึง นางงาม หญิงงาม เช่น ในคำว่า “นางชนปทกัลยาณี” (ชนปทกลฺยาณี) หรือในคำว่า “นางสากิยานี ผู้เป็นชนบทกัลยาณี” (ชนปทกลฺยาณีสากิยานี) หรือในคำว่า “เบญจกัลยาณี” (ปญฺจกลฺยาณี) เป็นต้น ส่วนคำว่า “สุภะ” หมายถึง ความสวยงาม บางแห่งแสดงถึงความงามของบุคคล คำว่า “สุนทระ” หมายถึง งาม ดี น่าฟัง น่าชื่นชม  คำว่า “อภิรูปะ” หมายถึง รูปงาม งดงาม น่าดู สวย คำว่า “ปฏิรูปะ” หมายถึง งาม เหมาะสม รูปเฉพาะ และคำว่า“อภิกกันตะ” หมายถึง งาม ดี เช่น ในคำว่า “หมู่ภิกษุงดงามยิ่ง” (อภิกกฺกนฺโต ภิกฺขุสงฺโฆ) หรือคำว่า “ความรู้ความเห็นที่แท้จริง”(อภิกฺกนฺเต ญาณทสฺสเน) หรือคำว่า “มีผิวพรรณงดงาม” (อภิกฺกนฺเตน วณฺเณน) เป็นต้น (พระมหาทวี มหาปญฺโญ, 2555)

               นอกจากนี้ นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา ได้ให้ความหมายของความงามไว้ดังนี้ ราชบัณฑิตยสถาน (2546) ให้ความหมายไว้ว่า งาม คือ ลักษณะที่เห็นแล้วชวนให้ชื่นชมหรือพึงใจ เช่น มารยาทงาม รูปงาม มีลักษณะสมบูรณ์ดี เช่น ต้นไม้งาม ปีนี้ฝนงาม และยังหมายถึงดีและมาก มีลักษณะที่เป็นไปตามต้องการ เช่น กำไรงาม ธนาคารนี้จ่าย ดอกเบี้ยงาม และสอดคล้องกับแนวคิดของ (พระธรรมกิติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช), 2550) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต, 2538) ได้ให้ทัศนะความงาม หมายถึงความดี ความงาม ความประเสริฐ ความเจริญ ปลอดโปร่ง สบาย ปลอดภัย คนประพฤติดีงาม คนดี และภาวะที่รุ่งเรืองดี กัลยาณธรรม หมายถึง ธรรมอันดี ธรรมดีงาม ธรรมของกัลยาณชน

               ดังนั้น สรุปโดยภาพรวมได้ว่า ความงาม คือ สิ่งที่มีคุณค่าต่อการสร้างความสุข ปีติ ความสงบ ความงดงามด้านสภาวะจิตใจของมนุษย์ สิ่งลึกซึ้งที่มีอยู่ในทุกสิ่ง ทุกพื้นที่ ทุกอณูเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ที่รับสัมผัสด้วยอายตนะทั้ง 6 อาจจะเป็นสิ่งบริสุทธิ์ที่ปราศจากการปรุงแต่ง หรือเป็นคุณสมบัติในทางศีลธรรม คุณธรรม หรือสิ่งที่โน้มน้าวใจให้เกิดความรู้สึกซาบซึ้ง ปลื้มปีติ ความงามอาจมีอยู่รอบ ๆ ตัวเรา ทั้งสิ่งที่มนุษย์เราสร้างขึ้นมาเอง ทั้งสิ่งที่เกิดโดยปรากฏการณ์ธรรมชาติ โดยที่ความงามมีทั้งงามนอกกับงามใน  งามนอก คือรูปลักษณ์งาม ซึ่งจะขึ้นอยู่กับค่านิยมของชุมชนสังคมพื้นที่นั้น ๆ ว่าจะตีค่าของความงามนอกแบบใด ส่วนงามในหรือจิตใจงามถือเป็นความงามเชิงนามธรรม เป็นความงามชั้นสูง เป็นความงามที่เป็นสากล ไม่ขึ้นอยู่กับการปรุงแต่งของคนในสังคม แต่อาจจะมีความเกี่ยวข้องผูกพันในวิถีเชิงวัฒนธรรม

 

แนวคิดและทฤษฎีของความงาม (Theory of Beauty)

 

               โดยธรรมชาติของมนุษย์หรือสัตว์ ย่อมมีสัญชาตญาณในการรู้สึก นึกคิดยินดีพอใจ ประทับใจกับความงามเป็นพื้นฐาน อีกทั้งต้องอาศัยองค์ประกอบทั้งภายในและภายนอกเป็นเหตุปัจจัยร่วมด้วยกัน จึงจะก่อให้เกิดปรากฏเป็นความงามขึ้นมาภายในจิตใจของผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องได้ ด้วยองค์ประกอบแห่งเหตุปัจจัยเหล่านี้ จึงเป็นเหตุให้มนุษย์มีความคิดเห็นและนิยามความหมายสิ่งที่ค้นพบ ข้อเท็จจริงกับความงามแตกต่างกันไปเฉพาะบุคคล ส่งผลให้มนุษย์ได้มีการกำหนดท่าทีและเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติเชิงนิเวศ และวิถีชีวิตการเป็นอยู่ไม่เหมือนกัน ในการศึกษาว่าด้วย สุนทรียภาวะ (Aesthetic State) คือความมีอยู่ของความงามนั้นซึ่งมีการพิจารณาได้เป็น 2 ประเด็น คือ ความงามมีอยู่อย่างอัตวิสัย (Subjectivism) และความงามมีอยู่อย่างวัตถุวิสัย (Objectivism) ดังนี้

               ความงามมีอยู่อย่างอัตวิสัย (Subjectivism) คือ การมีอยู่ของความงามขึ้นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่ง (Depends on someone) หมายความว่าความงามขึ้นอยู่กับเรา เราเป็นผู้บอกว่าสิ่งนี้งาม ความงามไม่ได้มีอยู่โดยตัวของมันเอง ซึ่งสุนทรียภาวะของศิลปวัตถุ ขึ้นอยู่กับตัวเรา ถ้าไม่มีตัวเรา สุนทรียภาวะหรือความงามก็ไม่มีสุนทรียภาวะของศิลปวัตถุหรือสิ่งที่เป็นศิลปะ ทําให้เกิดความยินดี (Delight) หรือ ความพอใจทางสุนทรียะ (Aesthetic Pleasure) แก่ตัวเรา  คําว่า Delight นั้น หมายถึง ความพอใจอย่างยิ่ง (Great Pleasure) ความสุข (Happiness) สิ่งที่นําความพอใจ (Satisfaction) มาสู่สิ่งที่กล่าวมานี้เกิดขึ้นในจิตใจของผู้เสพรับสัมผัสงานศิลปะ นั่นก็หมายความว่าต้องมีตัวคนเป็นผู้เสพรับสัมผัสงานศิลปะอยู่ด้วย ความพอใจทางสุนทรียะจึงจะมีขึ้นได้ ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าความงามขึ้นอยู่กับคนใดคนหนึ่ง ผู้เสพรับสัมผัสงานศิลปะ หรือกล่าวว่าความงามมีอยู่อย่างอัตวิสัย ในทางแก่นพุทธจิตวิทยาได้ให้ทัศนะความงามเชิงจิตวิสัยหรืออัตวิสัย คือ ความคิดของมนุษย์เกี่ยวกับวัตถุซึ่งเปื้อนด้วยกิเลสตัณหา ความงามไม่ใช่คุณสมบัติของวัตถุ แต่วัตถุมีคุณสมบัติบางอย่างที่จะทำให้คนมีกิเลสตัณหา เกิดความรู้สึกว่า “งาม” ดังนั้น ความงามจึงเป็นผลของการ
ปรุงแต่งของจิตที่คิดไปตามอำนาจของกิเลส มนุษย์ได้รับรู้ความงามมากน้อยของความงามจึงขึ้นอยู่กับความงามมากน้อยหรือความหนาแน่น เบาบางของกิเลสตัณหาที่อยู่ในจิตใจของมนุษย์

               ความงามมีอยู่อย่างวัตถุวิสัย (Objectivism)  แนวคิดนี้เห็นว่า ความงามมีอยู่โดยตัวของมันเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งใดหรือใครคนใดคนหนึ่ง คือเห็นตรงข้ามกับแนวคิดแรกที่เห็นว่าความงามมีอยู่อย่างอัตวิสัย แนวคิดในประเด็นหลังนี้ เห็นว่าความงามมีอยู่โดยตัวของมันเอง ไม่ได้อิงอาศัยสิ่งอื่น ไม่ว่าใครจะเห็นหรือไม่ก็ตาม ความงามก็ยังคงมีปรากฏอยู่อย่างนั้น ดังนั้นความงามจึงไม่ขึ้นอยู่กับสิ่งใดหรือผู้ใด มีอยู่อย่างอิสระ (Independent) สุนทรียภาวะในลักษณะนี้เรียกว่าเป็นรูปแบบสุนทรียะ (Aesthetic form) ซึ่งหมายความว่าสิ่งที่เป็นรูปลักษณ์ของศิลปะหรือศิลปวัตถุ มีคุณสมบัติของสุนทรียะอยู่ในตัวของมันเอง ไม่ได้อยู่นอกตัวมัน ในทางแก่นพุทธจิตวิทยาได้มองทัศนะความงามเชิงวัตถุวิสัย คือ คุณค่าหรือความเป็นจริงที่สภาพของวัตถุมีอยู่ แสดงว่าสรรพสิ่งมีความงามที่สมบูรณ์ในตัวเอง แต่คุณภาพของความงามจะปรากฏแก่ใครมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับการรับรู้และคุณภาพของเครื่องมือ มีอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและจิตใจ ของผู้ที่รับรู้ว่าจะรู้ความจริงด้วยจิตใจที่ปราศจากกิเลสตัณหามากน้อยเพียงใด ดังพระพุทธพจน์กล่าวถึงการรู้ความจริงไว้ว่า “พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งในอดีตในอนาคตและในปัจจุบัน ตรัสรู้ความจริง คือ อริยสัจ 4 เหมือนกัน” (Thai Tripitaka 19/1094/607-608)

               ทฤษฎีของความงาม (Theory of Beauty)  แนวคิดของนักปรัชญาที่พูดถึงเรื่อง ความงามหรือทฤษฎีของความงาม ซึ่งแต่ละท่านได้นําเสนอไว้ในเรื่องของศิลปะพอสังเขป ดังนี้

               เพลโต (Plato, 428-348 B.C)  กล่าวว่า ตามแนวคิดปรัชญาของเปลโตที่ว่ามีความจริงในเรื่องของความงามอยู่ในโลกของแบบ (World of Ideas, World of Forms) และความคิดเรื่องความงามก็เป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างอิสระ นอกเหนือประสบการณ์ แนวคิดนี้เปรียบเทียบกับปัจจุบันอาจเทียบได้กับที่บางคนกล่าวว่า “เมื่อมีความรัก โลกก็สวยงาม หรือโลกนี้สวยงาม เพราะมีความรัก” สําหรับความเห็นของเพลโต ความงามเป็นคุณลักษณะที่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าเป็นสิ่งเชิงเดียว คําว่าความงามไม่สามารถนิยามได้ คําว่า ความงามเป็นสิ่งที่คล้ายกันในเชิงตรรกวิทยากับคําที่ “ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน” อย่างเช่นคําว่า “ส้ม” หรือสีส้ม ซึ่งความหมายของคํานี้เรียนรู้ได้จากประสบการณ์ตรง โดยการไปชี้ให้ดูสีส้ม แปลว่าเราได้สามารถนิยามได้ว่าสีส้มคืออะไร ต้องยกตัวอย่างของสิ่งที่มีสีส้มจึงจะเข้าใจ จะนิยามอย่างไรก็จะกลายเป็นการยกตัวอย่างของสิ่งที่มีสีส้มทั้งสิ้น ความงามของเพลโต เป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างอิสระ เหนือประสบการณ์ (a transcendental entity)

               โปรตินุส (Protinus 204-269 A.D.) ยอมรับเรื่องทฤษฎีแห่งแบบ (Theory of Forms) หรือทฤษฎีเรื่องโลกของแบบของเพลโต และถือว่าโลกแห่งผัสสะ ในบางระดับที่จํากัด “สะท้อน” และเปิดเผยให้เห็นรูปแบบ (forms) จากการทำสมาธิประสบการณ์ของความงามนั้นไม่ใช่ประสบการณ์ทางผัสสะ แต่เป็นประสบการณ์ทางสติปัญญาที่ต้องใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ สิ่งที่สำคัญที่มีผลมาจากทฤษฎีของเพลโตและโปรตินุสก็คือการวางรากฐานความคิดเรื่องการทำสมาธิ ในฐานะที่เป็นความคิดหลักที่สำคัญในทฤษฎีของความงาม และผลที่เกิดขึ้นตามมาคือเป็นแนวคิดที่สำคัญในทฤษฎีของเรื่องประสบการณ์ทางสุนทรียะ

      นอกจากนั้นยังมีทัศนะของเซนต์โทมัส อไควนัส (St. Thomas Aquinas 1225-1274 A.D.) ความคิดหรือแนวคิดเรื่องความงามของอควินัส ไม่ใช่ความคิดที่ไม่มีพื้นฐานอยู่บนโลกนี้ เขานิยาม“ความงาม”ว่าเป็น “สิ่งที่พอใจเมื่อเรามองสิ่งนั้น” หมายความว่า สิ่งที่มองแล้วทําให้เกิดความพอใจ สิ่งนั้นก็มีความงาม ความงามเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับความปรารถนาใน “สิ่งที่สวยงาม” ด้วยสิ่งที่สวยงาม คือ สิ่งที่ทําให้ความปรารถนาสงบลงได้ เมื่อกําลังมองหรือรู้จักสิ่งนั้นแล้ว จึงสรุปได้ว่าเงื่อนไขของความงามมี 3 เงื่อนไข คือ 1) ความสมบูรณ์ (perfection) หรือความไม่เสียหาย 2) สัดส่วน (proportion) หรือ ความกลมกลืน (harmony) 3) ความแจ่มแจ้ง (brightness) หรือ ความชัดเจน (clarity) หมายความว่า สิ่งที่มีความงามต้องอยู่ใน 3 เงื่อนไข คือ มีความสมบูรณ์ มีความกลมกลืนในสัดส่วน และมีความชัดเจนแจ่มแจ้ง ดังนั้น ทฤษฎีของอควินัสมีมุมมองปรากฏให้เห็นทั้ง 2 ด้าน คือทั้งมุมมองเชิงวัตถุวิสัยและมุมมองเชิงอัตวิสัย สภาวะในเงื่อนไขของความงามเป็นลักษณะของ โลกแห่งประสบการณ์เชิงวัตถุวิสัย แต่ทว่าความคิดเรื่องความพึงพอใจในฐานะที่ เป็นส่วนหนึ่งของความหมายของคําว่า “สวยงาม” นั้น นําไปสู่ทฤษฎีของความงามที่เป็นส่วนประกอบของปัจจัยที่เป็นอัตวิสัย และทัศนะของอัลเบอร์ติ (Leon Battista Alberti 1409-1472 A.D.) สําหรับอัลเบอร์ติ ทฤษฎีความงามของอัลเบอร์ติป์นเรื่องที่ง่ายและตรงไปตรงมา เขานิยามความงามในคําพูดที่ว่า “เป็นความกลมกลืนของส่วนต่าง ๆ” ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ความกลมกลืนนั้นก็จะก่อให้เกิดความเลวลง คือ ความงามเป็นความกลมกลืนของส่วนต่าง ๆ ถ้าไม่กลมกลืน ก็ไม่มีความงาม คํานิยามของอัลเบอร์ติเป็นคํานิยามที่เป็นวัตถุวิสัย  เนื่องด้วยคํานิยามนี้ อ่างอิงถึงคุณสมบัติของวัตถุเท่านั้น และไม่ได้กล่าวถึงเรื่องจิตของคนผู้เสพศิลปะแต่อย่างใด

               ในทัศนะหลักแนวคิดของแก่นพุทธจิตวิทยา ได้แบ่งความงามออกเป็น 2 ประเภท คือ        1) ความงามภายนอก เป็นลักษณะของความงามทางกาย เป็นความงามของรูปทรงที่กำหนดเรื่องราวหรือเกิดจากการประสานกลมกลืนกันของทัศนรูปธรรมหรือเป็นธาตุ และ 2) ความงามภายใน เป็นความงามแห่งจิตใจ เป็นความรู้สึกที่แสดงออกมาจากภาวะจิตใจเบิกบาน แจ่มใส ที่สงบ มีสันติภายใน นอกจากนั้น ยังมีรายละเอียดดังปรากฏอยู่ในพระสูตรต่าง ๆ และคำในภาษาบาลีที่เกี่ยวกับความ หมายของความงามในแก่นพุทธจิตวิทยา เช่น กัลยาณะ สุนทรียะและโสภณะ เป็นต้น ซึ่งศัพท์เหล่านี้ ใช้เรียกชื่อของบุคคลบ้าง สถานที่บ้าง สิ่งของบ้าง และอีกทั้งความงามก็มีความหมายหลายนัยด้วยกัน เช่น ความงาม ความสวย ความไพเราะ ความดี ความจริง ความเป็นมงคล และกลิ่นหอม กลิ่นสดชื่น เป็นต้น

 

แนวคิดและทฤษฎีจิตวิทยาเชิงบวก

 

                จากแนวคิดการพัฒนาในปี ค.ศ. 1998 จิตวิทยาเชิงบวกได้จัดตั้งเป็นแขนงวิชาหนึ่งของจิตวิทยา โดยศาสตราจารย์ Seligman (2000) มหาวิทยาลัยเพนซิเวเนีย (University of Pennsylvania) ผู้เปรียบเสมือนเป็นบิดาของจิตวิทยาเชิงบวก ได้อธิบายความสำคัญของศาสตร์จิตวิทยาเชิงบวกไว้ว่า ในครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ศาสตร์ด้านจิตวิทยาถูกกลืนไปในประเด็นการบำบัดรักษาผู้ป่วยทางจิต แต่ไม่ได้ช่วยส่งเสริมความสามารถพิเศษของบุคคลปกติ ซึ่งรากฐานแนวคิดและทฤษฎีจิตวิทยามนุษนิยม (Humanistic Psychology) ที่เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาแนวคิดจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) ประกอบด้วย ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการ (Hierarchy of Needs) ของ Abraham Maslow (1943) ที่เสนอพื้นฐานของความต้องการของมนุษย์ไว้ 5 ขั้น คือ ความต้องการด้านกายภาพ ความต้องการความมั่นคงปลอดภัย ความต้องการทางสังคม ความต้องการที่จะได้รับการยอมรับ และความต้องการประสบความสาเร็จ ส่วนแนวคิดทฤษฎีอื่นๆ ประกอบด้วยทฤษฎีคุณลักษณะ (Trait Theory) ของ Allport (1955) เป็นการศึกษาคุณลักษณะของบุคคลโดยเชื่อว่าความคิดและแรงจูงใจมีอิทธิพลสำคัญในการเกิดพฤติกรรม ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนเป็นบุคลิกภาพที่จะบ่งบอกความแตกต่างของบุคคล ทฤษฎีการกำหนดตนเอง (Self Determination Theory) ของ Ryan and Deci (2000) เป็นการพัฒนาบุคลิกภาพและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วยแรงจูงใจจากการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทางจิตวิทยาและสิ่งแวดล้อม ทฤษฎีการตั้งเป้าหมาย (Goal Setting Theory) ของ Locke and Lathum (1990) เชื่อว่าการตั้งเป้าหมายจะช่วยให้บุคคลรับรู้ถึงความต้องการของตนและมีแรงจูงใจ ในการกระทำสิ่งต่าง ๆ ให้บรรลุเป้าหมาย ทฤษฏีความหวัง (Hope Theory) ของ Synder (1994) เป็นการศึกษาแรงจูงใจภายในบุคคลอันก่อให้เกิดความรู้สึกว่าตนจะประสบความสำเร็จ ด้วยการกำหนดเป้าหมายและการวางแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และทฤษฎีขยายและสร้างความตระหนักรู้ (The Broaden and Build Theory) ของ Frederickson (1998) อธิบายรูปแบบและหน้าที่ของอารมณ์เชิงบวก เช่น ความคาดหวัง ความสนใจ ความสนุกสนาน ความอัศจรรย์ใจ ซึ่งช่วยกระตุ้นความรู้สึกและความคิดออกมาในวิถีที่สร้างสรรค์จนกระทั้งพัฒนาเป็นพฤติกรรมและทักษะพิเศษของบุคคล

                แนวคิดการมองโลกในแง่ดีเชื่อมโยงต่อการพัฒนาที่งอกงามโดยการเรียนรู้ (Learned Optimism) ของ Seligman (1990) เป็นการศึกษาความมั่นใจและความรู้สึกมุ่งมั่นพยายามต่อสู้เพื่อความสำเร็จโดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค แนวคิดนี้ได้การพัฒนาต่อยอดมาจากแนวคิดการช่วยเหลือตนเองไม่ได้จากการเรียนรู้ (Learned Helplessness) แนวคิดคุณลักษณะที่เป็นจุดแข็ง (Character Strengths) ของ Peterson and Seligman (2004) เป็นการศึกษาคุณลักษณะเชิงบวกที่สะท้อนจากความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมที่มีคุณค่าทางจริยธรรมที่เอื้อต่อการพัฒนาความงอกงามด้วยหลักความสามารถแบ่งเป็น 6 องค์ประกอบหลัก 24 คุณลักษณะเด่น ดังนี้ 1) ด้านปัญญาและความรู้ (Wisdom and knowledge) คือ จุดแข็งด้านปัญญาและการแสวงหาความรู้ ประกอบด้วย ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ความใฝ่รู้ (Curiosity) การใฝ่เรียน (Love of learning) การเปิดใจ (Open-mindedness) และการมองเห็น ภาพรวม (Perspective) 2) ด้านการมีกาลังใจ (Courage) คือ การมีจุดแข็งในการกระทำสิ่งใดให้บรรลุเป้าหมายโดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ประกอบด้วยความซื่อสัตย์ (Honesty) ความกล้าหาญ (Bravery) ความมานะพยายาม (Persistence) และความกระตือรือร้น (Zest) 3) ด้านมนุษยธรรม (Humanity) คือ การมีจุดแข็งด้านความเมตตาและการเป็นมิตรกับผู้อื่น ประกอบด้วย ความอ่อนโยน (Kindness) ความรัก (Love) และปัญญาเชิงสังคม (Social intelligence) 4) ด้านความเที่ยงธรรม (Justice) คือ จุดแข็งที่ช่วยสร้างเสริมความแข็งแรงของสังคมและชุมชน ประกอบด้วย ความเสมอภาค (Fairness) ภาวะผู้นำ (Leadership) และการทำงานเป็นทีม (Teamwork) 5) ด้านการควบคุมอารมณ์ (Temperance) คือ จุดแข็งด้านการประมาณตน ประกอบด้วย การให้อภัย (Forgiveness) ความถ่อมตัว (Modesty) ความรอบคอบ (Prudence) และการควบคุมตนเอง (Self-regulation) 6) ด้านการรู้จักความจริงของชีวิต (Transcendence) คือ จุดแข็งด้านการให้ความหมายของการมีชีวิต ประกอบด้วย การรู้คุณค่าของความงามและความเป็นเลิศ (Appreciation of beauty and excellence) ความรู้สึกสำนึกในบุญคุณ (Gratitude) ความหวัง (Hope) อารมณ์ขัน (Humor) และความเลื่อมใสและศรัทธา (Religiousness)  (สุดารัตน์ ตันติวิวัทน์, 2560)  และยังมีแนวคิดของ (บุษยมาศ แสงเงิน, 2559) กล่าวว่า การคิดเชิงบวก หมายถึง การพยายามหามุมมอง ที่แตกต่างออกไปจากมุมมองเดิมที่เราเคยมองให้เป็นไปในทิศทางบวก ให้เกิดประโยชน์กับชีวิตของเราเอง และเป็นประโยชน์กับชีวิตของคนอื่นด้วยเช่นกัน เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่ามีสิ่งที่สับสนวุ่นวายเกิดขึ้นในชีวิตของเรามากมาย ไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัว ชีวิตการทำงาน ชีวิตในการอยู่ร่วมกันในสังคม ตลอดจนสิ่งที่ห้อมล้อมชีวิตรอบ ๆ ข้าง ล้วนแต่จะทำให้ตัวเราขาดความสุข เกิดความกังวลใจ แล้วเราจะคิดอย่างไรที่จะทำให้ตัวเราเองมีความสุขเพิ่มขึ้น หรือทำให้ไม่ทุกข์มากขึ้น ไปกว่าเดิม กล่าวได้ว่าจะทำอย่างไรให้ความทุกข์นั้นลดน้อยลง

 

การเสริมสร้างความเข้มแข็งภายในด้วยการคิดเชิงบวก

 

                ในการศึกษาผลของการคิดเชิงบวก พบว่า การคิดเชิงบวกจะส่งผลการเสริมสร้างความเข้มแข็งภายในด้วยการคิดเชิงบวกที่เอื้อต่อคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของบุคคลหลายประการ          ศาตราจารย์นอร์แมน วินเซนต์ พีล เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับการคิดเชิงบวกที่สามารถนามาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจาวันได้อย่างเหมาะสม จนเป็นที่มาของคุณลักษณะเฉพาะ 10 ประการของการคิด
เชิงบวก ได้แก่ เวนเทรลลา (Ventrelly, 2001, pp. 101-131)

  1. 1. การมองโลกในแง่ดี (Optimism) หมายถึง ความเชื่อและความคาดหวังว่าจะเกิดสิ่งที่ดีแม้ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก คับขันหรือท้าทายก็ตาม
  2. 2. ความกระตือรือร้น (Enthusiasm) หมายถึง การมีความสนใจ พลังในแง่บวก แรงปรารถนาหรือแรงกระตุ้นส่วนตัวสูงในการกระทำสิ่งต่าง ๆ
  3. 3. ความเชื่อ (Belief) หมายถึง ความเชื่อมั่นและศรัทธาในตนเอง ต่อผู้อื่น และ/หรือต่อพลังอำนาจทางจิตวิญญาณที่สูงกว่า ซึ่งคอยให้การสนับสนุน การชี้แนะแนวทาง
  4. 4. ความยึดมั่นในคุณธรรม (Integrity) หมายถึง การกระทำภายใต้คำมั่นสัญญาที่มีต่อความซื่อสัตย์ ความเปิดเผย และความยุติธรรมตามมาตรฐานของบุคคลนั้น ๆ
  5. 5. ความกล้าหาญ (Courage) หมายถึง ความเต็มใจในการลองเสี่ยงและเอาชนะความกลัว แม้ผลลัพธ์ที่ได้อาจจะไม่แน่นอน
  6. 6. ความมั่นใจ (Confidence) หมายถึง การมีความเชื่อมั่นในตนเองถึงความสามารถสมรรถภาพและศักยภาพของตนเอง
  7. 7. ความมุ่งมั่น (Determination) หมายถึง การมุ่งดำเนินให้สำเร็จตามเป้าหมาย วัตถุประสงค์ หรือสิ่งที่จำเป็นในชีวิตอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
  8. 8. ความอดทน (Patience) หมายถึง ความเต็มใจในการรอคอยโอกาส ความพร้อมหรือผลลัพธ์จากการกระทำของตนเองหรือของผู้อื่น
  9. 9. ความสุขุม (Calmness) หมายถึง การดำรงไว้ซึ่งความเยือกเย็นและใฝ่หาความพอเหมาะ พอควรในการโต้ตอบกับความยากลำบาก ความท้าทายหรือวิกฤตการณ์ต่าง ๆ
  10. 10. การสำรวมความตั้งใจ (Focus) หมายถึง การเอาใจจดจ่ออยู่กับการกระทำให้บรรลุเป้าหมายตามลำดับความสำคัญก่อนหลัง

ในหลักความสัมพันธ์ของความเชื่อ ความคิด ความรู้สึกและการกระทำกับคุณลักษณะทั้ง 10 ประการของการคิดเชิงบวก โดยองค์ประกอบในส่วนของความเชื่อจัดได้ว่าเป็นคุณลักษณะที่สำคัญที่สุด เพราะการกระทำทุกอย่างของคนเรามักเริ่มต้นที่ความเชื่อ อันนำไปสู่ความคิด ความรู้สึกและการกระทำ ความเชื่อนั้นประกอบไปด้วยความเชื่อมั่นในตนเอง เชื่อมั่นว่าตนเองมีพลังอำนาจลึก ๆ อยู่ภายในที่สามารถดึงออกมาใช้ได้ จะเห็นได้ว่าการเสริมสร้างความเข้มแข็งภายในด้วยการคิดเชิงบวกถือเป็นประสิทธิผลของการคิดเชิงบวก ได้แก่ ทำให้มีสุขภาพจิตที่ดี ทำให้มีสุขภาพกายที่ดี ทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตทำให้มีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น และทำให้เกิดความคิด สร้างสรรค์ ซึ่งการคิดเชิงบวกล้วนแต่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ไปในทิศทางที่ดีเช่นเดียวกัน จึงเป็นการพัฒนาจิตวิทยาแห่งความงอกงามที่เห็นผลเชิงประจักษ์ทั้งด้านกาย สังคม อารมณ์และด้านจิตปัญญาอย่างสมดุล

 

แก่นพุทธจิตวิทยามองความงามในลักษณะเชิงคุณค่า

 

               ในหลักแก่นพุทธจิตวิทยาได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับความงามลักษณะเชิงคุณค่า คือ ความงามที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง มีคุณค่าคงที่ ไม่ผันแปร ไม่ขึ้นอยู่กับสิ่งภายนอก เช่น บุคคลที่เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่มีค่าในตัวเองไม่ว่ามนุษย์จะเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่ก็ตาม ความงามนั้นยังคงอยู่ และจะปรากฏออกมาในลักษณะที่เป็นเชิงคุณค่าเมื่อมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง ดังพระพุทธพจน์ว่า พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จักประมาณในการบริโภค ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยสัทธรรม 7 ประการ เป็นผู้ได้ฌาน 4 อันเป็นธรรมอาศัยจิตอันยิ่ง เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก” (ม.ม. 13/23/26.) พระอรรถกถาจารย์อธิบายเพิ่มเติมว่า “สัทธรรม หมายถึง ธรรมอันงาม หรือธรรมของสัตบุรุษ (ม.ม.อ. 2/23/22.)

               จากพระพุทธพจน์และคำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ความงามคือธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง เมื่อใดมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง ความงามก็จะปรากฏออกมาในลักษณะเป็นเชิงคุณค่า ลักษณะของความงามชนิดนี้สอดคล้องกับพระพุทธพจน์ที่ว่า มาร ย่อมครอบงำบุคคลผู้พิจารณาเห็นความงามไม่สำรวมอินทรีย์ ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อนเหมือนพายุพัดต้นไม้ที่ไม่มั่นคงให้หักโค่นลงได้ ฉะนั้น มารย่อมไม่ครอบงำบุคคลผู้ไม่พิจารณาเห็นความงาม สำรวมอินทรีย์ดีแล้ว รู้จักประมาณในการบริโภคมีศรัทธา และปรารภความเพียรเหมือนพายุพัดโค่นภูเขาศิลาไม่ได้ ฉะนั้น (ขุ.ขุ. 25/3-8/26.) และได้มีพระพุทธพจน์ดังกล่าวพระอรรถกถาจารย์อธิบายเพิ่มเติมว่า การพิจารณาเห็นความงาม ในที่นี้หมายถึง การอยู่อย่างปล่อยใจไปในอิฎฐารมณ์ เช่น ยึดถือว่าเล็บงาม นิ้วงาม เท้างาม เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 1/65.) พร้อมกันนี้พระอรรถกถาจารย์อธิบายได้ว่าความงามเป็นธรรมชาติที่อุดมในตัวเอง แต่ความงามจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับจิตใจของผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ว่าจะมีสิ่งเศร้าหมอง (กิเลส) มากน้อยเพียงใด ถ้ามีมาก จิตใจก็จะปรุงแต่งให้เห็นว่าสวยงามมาก ก่อให้เกิดการยึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน) ในสิ่งที่ปรุงแต่งว่าสวยงาม และก่อให้เกิดความทุกข์ในที่สุด แต่ถ้ามีสิ่งเศร้าหมอง (กิเลส) น้อย จิตใจก็จะปลอดโปร่ง เป็นอิสระ ไม่เป็นทุกข์เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น เห็นสรรพสิ่งความเป็นจริง โดยยึดหลักที่ว่า แม้ร่างกายและวัตถุภายนอกถึงจะสวยงาม แต่ก็ต้องตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มิใช่ตัวตน (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า ราชรถอันวิจิตรงดงาม ยังชำรุดได้ แม้แต่ร่างกายนี้ ก็ยังเข้าถึงชราได้(ขุ.ธ. 25/151/79)

               ดังนั้น หลักแก่นพุทธจิตวิทยา จึงมองความงามเป็นความงามในลักษณะเชิงคุณค่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความรู้สึก การรับสัมผัสอื่นใด แต่หมายถึงลักษณะทาง “คุณค่า” ซึ่งลักษณะความงามชนิดนี้ปรากฏในหลายคำ เช่น คำว่า การอนุเคราะห์ (อนุกัมปะ) ประโยชน์ (อัตถะ) เกื้อกูล (หิตะ) และความสุข (สุขะ) เป็นต้น ตัวอย่างในคำว่า การอนุเคราะห์ (อนุกัมปะ หมายถึง การช่วยเหลือ เช่น ด้วยอามิส คือ ด้วยวัตถุสิ่งของ เป็นต้น ด้วยธรรม คือ ช่วยให้มีความเข้าใจหลักธรรม เป็นต้น พระพุทธศาสนาถือว่าการอนุเคราะห์ทั้ง 2 ประเภทดังกล่าว ควรเลือกบุคคลที่ควรอนุเคราะห์ เช่น บางคนก็ควรอนุเคราะห์โดยการให้วัตถุสิ่งของบางคนควรอนุเคราะห์ด้วยธรรม เป็นต้น  แต่พระพุทธศาสนาถือว่าการอนุเคราะห์ที่ประเสริฐสูงสุดคืออนุเคราะห์ด้วยการให้ธรรม (พระมหาทวี มหาปญฺโญ, 2555)

ในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญการอนุเคราะห์โดยการให้ปัจจัยพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัย 4 เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย เป็นต้น ว่าเป็นการอนุเคราะห์ที่สำคัญ เพราะทำให้ผู้รับได้รับปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินชีวิต ดังพระพุทธพจน์ว่า “บุคคลให้อาหารชื่อว่าให้กำลัง ให้ผ้าชื่อว่าให้วรรณะผิวพรรณ ให้ยานพาหนะชื่อว่าให้ความสุข ให้ประทีปดวงไฟชื่อว่าให้ดวงตา ให้ที่พักอาศัยชื่อว่าให้ทุกอย่างคือให้ทั้งกำลัง วรรณะผิวพรรณ ความสุข และดวงตา” (สํ.ส. 15/138/36.)

               นอกจากนั้นบางพระสูตร กล่าวถึงการอนุเคราะห์ในลักษณะของการเอื้อต่อการประพฤติเพื่อให้ชีวิตบรรลุความดีงาม โดยชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมบางอย่าง เช่น การบริโภคปัจจัย 4       มีเป้าหมาย คือ การเอื้อต่อพฤติกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อชีวิต ดังพระพุทธพจน์ว่า ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้วฉันบิณฑบาต ไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อความมัวเมา ไม่ใช่เพื่อประดับ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง     แต่เพียงเพื่อกายนี้ดำรงอยู่ได้ เพื่อให้ชีวิตินทรีย์เป็นไป เพื่อบำบัดความหิว เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์” (สํ.ส. 15/239/240.) และจากพระพุทธพจน์ดังกล่าว อธิบายได้ว่า เป้าหมายของชีวิต คือ การได้รับประโยชน์อันเป็นความสุข โดยต้องมีกรอบของพฤติกรรม คือ การแสดงออกที่มิใช่เพื่อวัตถุประสงค์อย่างอื่น แต่เพื่อเป้าหมายของชีวิตในทุกระดับ โดยที่ระดับต่ำสุด คือ การมีชีวิตที่เป็นไปได้ตามหลักที่ว่าชีวิตเป็นไปได้เพราะอาหาร ดังพระพุทธพจน์ว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงดำรงชีพอยู่ได้ด้วยอาหาร (สัพเพ สัตตา อาหารรัฏฐิติกา) และสูงสุดคือการบรรลุความสุขอันสูงสุดของชีวิต (พระนิพพาน) ตามหลักประโยชน์ 3 ระดับ คือ 1) ทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์ปัจจุบัน หรือ จุดหมายขั้นต้น 2) สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์ภพหน้า เป็นประโยชน์ด้านคุณค่าของชีวิต 3) ปรมัตถะ ประโยชน์อย่างยิ่ง หรือ ประโยชน์สูงสุดเป็นประโยชน์ที่เป็นสาระแท้จริงของชีวิต

               ในบางพระสูตร พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้อนุเคราะห์ผู้อื่นด้วยการเริ่มต้น คือ การปรับพฤติกรรมภายใน กล่าวคือ ทรงเน้นให้เริ่มต้นที่จิต โดยให้ตั้งจิตที่จะอนุเคราะห์ผู้อื่นอย่างไม่หวั่นไหว โดยให้จิตปราศจากกิเลสขั้นพื้นฐาน คือ โลภะ โทสะ และโมหะ ซึ่งเมื่อจิตปราศจากกิเลสเหล่านี้แล้ว การที่จะอนุเคราะห์ผู้อื่นทั้งภายใน (ธรรมทาน) และภายนอก (อามิสทาน) ก็สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย ดังพระพุทธพจน์ว่า “เธอควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘จิตของเราจักไม่แปรผัน เราจักไม่เปล่งวาจาชั่วหยาบ และจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์ อยู่อย่างผู้มีเมตตาจิต ไม่มีโทสะ’ เธอควรสำเหนียกอย่างนี้แล” (ม.มู. 12/224/125.)

 

การบูรณาการแก่นพุทธจิตวิทยาเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต

 

               การวางท่าทีต่อกฎธรรมชาติความจริงของชีวิต

 

               การมองความจริงแท้ของกฎธรรมชาติอย่างเข้าใจ ในชีวิตมนุษย์เกิดมาเพื่อสิ่งใด และชีวิตมีอะไรเป็นแก่นสารบ้าง เมื่อมองโดยสิ่งที่เกิดขึ้นจะพบความจริงว่า สาเหตุเกิดขึ้นจากองค์ประกอบต่างๆรวมกัน ซึ่งอาศัยกันเป็นระบบและเป็นกระบวนการ การจะเข้าใจชีวิตมนุษย์ได้ดี ต้องแยกองค์ประกอบออกเป็น 2 ส่วน ทั้งที่เป็นวัตถุร่างกายและจิตวิญญาณ หรือทั้งรูปธรรมและนามธรรม โดยรวมลงในขันธ์ 5 หรือเบญจขันธ์ (Five Aggregates) คือ

               1) รูปขันธ์ (Corporeality) หมายถึง ส่วนที่เป็นวัตถุทั้งหลาย ได้แก่ สสารทั้งหลาย แสง สีทั้งหลาย เสียง กลิ่น รส ความเย็น ความร้อน ความอ่อน ความแข็ง ความหย่อน ความตึง อาการเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ ช่องว่างต่างๆ อากาศ ดิน น้ำ ไฟ ลม สภาพแห่งความเป็นหญิงเป็นชาย เนื้อสมองและระบบของเส้นประสาททั้งหลาย อันเป็นฐานให้จิตเกิด รวมทั้งอาการแห่งความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมไป ดับไป (สํ.ข. (ไทย) 17/19/50.) ของวัตถุทั้งหลายด้วย ซึ่งรวมเรียกว่ารูปขันธ์

               2) เวทนาขันธ์ (Sensation) หมายถึง การเสวยอารมณ์ หรือการเสพรสของอารมณ์        (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต), 2555) คือ ความรู้สึกต่อสิ่งที่ถูกรับรู้ ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการรับรู้ เป็นความรู้สึกสุข สบาย ถูกใจ ชื่นใจ หรือทุกข์บีบคั้น เจ็บปวด หรือไม่ก็เฉย ๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อที่ควรทำความเข้าใจอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเวทนา เพื่อป้องกันความสับสนของสังขาร คือ เวทนาเป็นกิจกรรมของจิตใจในขั้นรับ กล่าวคือเกี่ยวข้องกับผลที่อารมณ์มีต่อจิตเท่านั้น ยังไม่ใช่ขั้นที่เป็นฝ่ายจำนงหรือกระทำต่ออารมณ์ ซึ่งเป็นกิจกรรมของสังขาร ดังนั้น คำว่า ชอบ ไม่ชอบ ชอบใจ ไม่ชอบใจ ตามปกติจะใช้เป็นคำแสดงกิจกรรมในหมวดสังขาร โดยเป็นอาการสืบเนื่องจากเวทนาอีกต่อหนึ่ง เพราะคำว่า ชอบ ไม่ชอบ ชอบใจ ไม่ชอบใจ แสดงถึงอาการจำนงหรือกระทำตอบต่ออารมณ์        (สํ.ข. (ไทย) 17/13/78.)

               3) สัญญาขันธ์ (Perception) หมายถึง ความรู้จำพวกหนึ่ง คือ การหมายรู้หรือกำหนดรู้อาการของอารมณ์ 6 เช่น ลักษณะ ทรวดทรง สี สัณฐาน ฯลฯ ตลอดจนชื่อเรียก และสมมติบัญญัติต่าง ๆ เขียวขาวดำแดงหญิง ชาย นก สุนัข หอมเหม็น เปรี้ยว หวาน ขม เค็ม จืด เผ็ดเป็นต้น การหมายรู้หรือกำหนดรู้นี้ อาศัยการจับเผชิญหรือการเทียบเคียงระหว่างประสบการณ์ หรือความรู้เก่า กับประสบการณ์หรือความรู้ใหม่ ถ้าประสบการณ์ใหม่ตรงกับประสบการณ์เก่า เช่น พบเห็นคนหรือสิ่งของที่เคยรู้จักแล้ว ได้ยินเสียงที่เคยได้ยินแล้ว

               4) สังขารขันธ์ (Volitional Activities) หมายถึง เครื่องแต่งคุณภาพของจิต ซึ่งมีเจตนาเป็นตัวนำ และกระบวนการแห่งเจตน์จำนงที่ชักจูง เลือกรวบรวมเอาเครื่องแต่งคุณภาพเหล่านั้นมาประสมปรุงแต่งความนึกคิด การพูด การทำให้เกิดกรรมทางกาย วาจา ใจ อย่างไรก็ตาม ในการอธิบายตามแนวขันธ์ 5 ท่านมุ่งแสดงตัวสภาวะให้เห็นว่าชีวิตมีองค์ประกอบอะไรมากกว่าจะแสดงกระบวนธรรมที่กำลังดำเนินอยู่ว่าชีวิตเป็นไปอย่างไร ดังนั้น คำอธิบายเรื่องสังขาร ( สํ.ข. (ไทย) 19/905/437.) ในขันธ์ 5 ตามปกติจึงพูดถึงแต่ในแง่เครื่องแต่งคุณภาพของจิต หรือเครื่องปรุงของจิตว่ามีอะไรบ้าง แต่ละอย่างมีลักษณะอย่างไร เป็นต้น

               5) วิญญาณขันธ์ (Consciousness) หมายถึง ความรู้แจ้ง คือ รู้แจ้งอารมณ์ (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตโต), 2549) หมายถึง ความรู้ประเภทยืนพื้น เป็นฐานและเป็นทางเดินให้แก่นามขันธ์อื่น ๆ เกี่ยวข้องกับนามขันธ์อื่นทั้งหมด เป็นทั้งความรู้ต้นและความรู้ตาม ที่ว่าเป็นความรู้ต้น คือเป็นความรู้เริ่มแรก เมื่อเห็น ได้ยิน เป็นต้น (เกิดวิญญาณขึ้น) จึงจะรู้สึกชื่นใจ หรือบีบคั้นใจ (เวทนา) จึงจะกำหนดได้ว่าเป็นนั่นเป็นนี่ (สัญญา) จึงจะจำนงตอบและคิดปรุงแต่งไปต่าง ๆ (สังขาร) เช่น เห็นท้องฟ้า (วิญญาณ) รู้สึกสบายตาชื่นใจ (เวทนา) หมายรู้ว่า ท้องฟ้า สีคราม สดใส ฟ้าสวย ฟ้าบ่าย (สัญญา) ชอบใจฟ้านั้น อยากเห็นฟ้านั้นได้สบาย ๆ ชัดเจนและนาน ๆ ฯลฯ (สังขาร)ที่รู้ตาม คือรู้ควบไปตามกิจกรรมของขันธ์ อื่น ๆ (ขุ.สุ. (ไทย) 25/41/48.)

               ดังนั้นชีวิตของมนุษย์เกิดจากองค์ประกอบ 5 ส่วนหรือที่เรียกว่า เบญจขันธ์ คือ 1) รูปขันธ์  ส่วนที่เป็นร่างกาย 2) เวทนาขันธ์ ความรู้สึกต่อสิ่งที่ถูกรับรู้ 3) สัญญาขันธ์ การจำอารมณ์ 4) สังขารขันธ์ การปรุงแต่งจิต 5) วิญญาณ การรู้แจ้งอารมณ์  ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับนามขันธ์อื่น ๆ ทั้งหมด เมื่อมองเห็นสภาพของสิ่งทั้งหลายในรูปของการประชุมส่วนประกอบเช่นนี้ แก่นพุทธจิตวิทยาจึงต้องแสดงต่อไปว่า ส่วนประกอบต่างๆ เหล่านั้นเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง อย่างน้อยก็พอเป็นตัวอย่าง และโดยที่มีความเกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับเรื่องชีวิต โดยเฉพาะในด้านจิตใจ การแสดงส่วนประกอบต่าง ๆ จึงต้องครอบคลุมทั้งวัตถุและจิตใจ หรือทั้งรูปธรรมและนามธรรม และแยกแยะเป็นพิเศษในด้านจิตใจการแสดงส่วนประกอบต่าง ๆ นั้นย่อมทำได้หลายแบบ สุดแต่วัตถุประสงค์จำเพาะของการแสดงแบบนั้น ๆ จึงเป็นการบูรณาการกับการใช้ชีวิตบนฐานคิดของขันธ์ 5 เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอันเอื้อต่อความงอกงามภายในเป็นสำคัญ

 

 รูปแบบการพัฒนาแก่นพุทธจิตวิทยาแห่งความงอกงาม

 

               หลักการบูรณาการศาสตร์ตามแนวแก่นพุทธจิตวิทยา จึงค้นพบประโยชน์ของการรู้คิดในหลักขันธ์ 5 และเข้าใจความจริงของชีวิตด้านสัจจสัมพันธ์ ทำให้เราเข้าใจในเนื้อหาของปฏิจจสมุปบาท โดยเนื้อหาสาระแล้วมุ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ขององค์ธรรมที่รวมกัน อาศัยกันและกันเกิดขึ้น ทั้งที่เป็นรูปแบบกว้างครอบคลุมไปทุกสรรพสิ่ง และรูปแบบแคบ มุ่งตรงมาที่มนุษย์โดยเฉพาะซึ่งรูปแบบทั้ง 2 รูปแบบนี้มีความสัมพันธ์ และเชื่อมโยงเข้ากันได้เป็นอย่างดี ดังพุทธพจน์ที่แสดงความหมายของปฏิจจสมุปบาทในรูปแบบที่กว้าง ๆ ไว้ว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้ก็ดับด้วย” (ม.มู. (ไทย) 12/404/438.) จากพุทธพจน์ เป็นการแสดงความหมายปฏิจจสมุปบาทแบบกว้าง ซึ่งบางทีก็เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ด้วยหลักปฏิจจสมุปบาทในรูปแบบนี้ พระพุทธองค์ตรัสไว้โดยทั่วไป เป็นหลักที่ครอบคลุมทุกอย่าง เพราะยึดเอาหลักที่ว่า ไม่มีอะไรเกิดขึ้นอย่างลอย ๆ แต่ที่เกิดขึ้นนั้น ล้วนมีเหตุปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมประกอบกันให้เป็นเช่นนั้น ด้วยเหตุนี้หลักปฏิจจสมุปบาทจึงใช้ได้มากที่สุด ถือเป็นกฎวิทยาศาสตร์ ใช้เป็นกฎเลขาคณิตหรือจะอธิบายไปถึงจักรวาลนี้ก็ได้ ดังนั้น ความหมายปฏิจจสมุปบาทในรูปแบบนี้ เป็นการแสดงความสัมพันธ์กันขององค์ธรรม ที่กว้างขวางครอบคลุมไปถึงสรรพสิ่ง (บรรจบ บรรณรุจิ, 2549)

              หลักไตรสิกขาเป็นเครื่องมือสําหรับทําการศึกษาและปฏิบัติตามแนวทางแก่นพุทธจิตวิทยา เพื่อการเข้าถึงความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงของธรรมชาติ ในยุคปัจจุบันมีการนําหลักไตรสิกขาไปใช้ในการจัดการเพื่อให้การทํางานเป็นไปอย่างมีระบบมากมาย ซึ่งได้เกิดความสัมพันธ์แต่ละด้านจนไม่สามารถแยกออกมาได้เนื่องจากเหตุปัจจัยของแต่ละด้าน คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ย่อมมีความเกี่ยวเนื่องกันเพื่อการศึกษา การสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้เกิดขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวให้เกิดประโยชน์ที่มีคุณค่าต่อกัน เพื่อความเข้าใจในความเป็น จริงของชีวิต ความเข้าใจความเป็นระเบียบและกฎเกณฑ์ของสังคมที่อาศัยอยู่ และการใช้สติปัญญาอันสร้างคุณค่าให้เกิดความเจริญงอกงามในด้านจิตใจจนเกิดเป็นความอิสระปล่อยวางจากความคิดความรู้สึกทั้งหลาย อันเป็นจุดมุ่งหมายในการศึกษาตามแนวทางของแก่นพุทธจิตวิทยา  จึงได้สรุปตัวอย่างรูปแบบการพัฒนาพุทธจิตวิทยาแห่งความงอกงาม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยหลักแห่งการตอบสนองด้วยกำลังแห่งการทำกรรมของบุคคลมี 3 ทางคือ ทางกายกรรม ทางวจีกรรม และทางมโนกรรม ซึ่งประกอบด้วยหลักเบญจกัลยาณธรรม ขันธ์ 5 หลักไตรสิกขา หลักปฏิจจสมุปบาทหลักสติปัฎฐาน 4 หลักโสภณเจตสิก 25 หลักแนวคิดทฤษฎีจิตวิทยาเชิงบวกและสุนทรียศาสตร์ ดังนี้

 

 

ภาพ 1 แสดงหลักพุทธจิตวิทยาแห่งความงอกงาม

 

การประยุกต์ความเชื่อมโยงแก่นพุทธจิตวิทยาเพื่อพัฒนาชีวิต  

 

    การก้าวไปสู่ความงอกงามแห่งจิต

 

               การศึกษาระบบการเรียนรู้และพัฒนาตามหลักทางแก่นพุทธจิตวิทยา จึงเกิดการศึกษาและปฏิบัติเพื่อการพัฒนาเพิ่มขึ้นโดยการวัดผลออกเป็น 4 ด้านคือ ด้านกายภาวนา ด้านสีลภาวนา ด้านจิตตภาวนาและด้านปัญญาภาวนา เพื่อต้องการความชัดเจนและตรวจสอบว่าด้านไหนไปได้แค่ไหน ซึ่งเป็นการพัฒนาให้มีความต่อเนื่องและเจริญขึ้นไป เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่พัฒนาได้และต้องพัฒนา จึงสมกับที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐได้ด้วยการพัฒนา ดังประโยคที่ว่า “ผู้ฝึกตนดีแล้ว ย่อมนําสุขมาให้” มนุษย์ผู้ได้รับการพัฒนาแล้วจะเป็นผู้ทําลายเสียซึ่งสัญชาตญาณอย่างสัตว์กลายเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยความเจริญใน 4 ด้าน (อุดมพร อมรธรรม, 2559) คือ 1) ความเจริญทางกาย หมายถึง การรู้จักติดต่อเกี่ยวข้องกับสิ่งภายนอกด้วยดีมีความ สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมในเชิงสร้างสรรค์ปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นในทางที่เป็นคุณประโยชน์ 2) ความเจริญทางความประพฤติ หมายถึงความเป็นผู้มีศีล มีระเบียบวินัย มีความ ประพฤติเรียบร้อยดีงาม ไม่เบียดเบียนหรือก่อความเดือนร้อนเสียหาย อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดี เกื้อกูลแก่กัน 3) ความเจริญทางจิตใจ หมายถึง ความเป็นผู้มีจิตใจที่เข้มแข็งมั่นคง เจริญงอกงามด้วย คุณธรรม ทั้งหลาย เช่น มีเมตตา กรุณา ขยันหมั่นเพียร อดทน อดกลั้น มีสมาธิ และสดชื่นเบิกบาน เป็นสุขผ่องใส เป็นอนันต์ เป็นจิตใจที่สมบูรณ์ด้วยสมรรถภาพ คุณภาพ และสุขภาพ  4) ความเจริญทางปัญญา หมายถึง ความเป็นผู้มีปัญญา มีความรอบรู้คิดเป็นทำเป็น เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง รู้เท่าทันเห็นแจ้งโลกและชีวิตตามสภาวะ สามารถทําจิตใจให้เป็นอิสระ พ้นไปจากทุกข์และสิ่งเศร้าหมองใจ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยปัญญา

               การศึกษาและการปฏิบัติดังที่ปรากฏในศีล สมาธิ และปัญญาตามหลักไตรสิกขานี้ เมื่อทําการ วิเคราะห์ออกเป็นการวัดผลตามหลักภาวนา 4 สามารถแจกแจงออกเป็น 4 ด้าน คือ กายภาวนา (การพัฒนากาย) สีลภาวนา (การพัฒนาศีล) จิตตภาวนา (การพัฒนาจิต) และปัญญาภาวนา (การพัฒนาปัญญา) จึงขอยกตัวอย่างด้วยต้นเหตุในด้านศีลเป็นปัจจัยภายนอกที่มนุษย์จะต้องใช้ในการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งอื่น ๆ ที่อยู่รอบตัว เมื่อทำการแยกศีลในหลักไตรสิกขาออกเป็น 2 ด้าน คือ ด้านกายภาวนาและด้านสีลภาวนา ด้านกายภาวนาเป็นพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ อาทิเช่น อุปกรณ์วัสดุสิ่งของมีปัจจัย 4 เป็นเบื้องต้น ซึ่งเป็นองค์ประกอบสําคัญในการดําเนินชีวิตของมนุษย์ที่มีการสัมผัสกับอายตนะภายนอกของมนุษย์ได้ มนุษย์ทุกคนเมื่อมีการศึกษาและปฏิบัติเป็นอย่างดีแล้ว จึงมุ่งพัฒนาในการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านั้นด้วยการเห็นคุณค่าและประโยชน์สูงสุดในการใช้งานและผลลัพธ์ที่ออกมา

               ด้วยการศึกษาและการพัฒนาให้ยิ่งขึ้นไปตามที่ปรากฏนี้จึงทำให้มนุษย์มีความเจริญ
งอกงามทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เป็นผู้มีความประพฤติดีงาม เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของชีวิตเข้าใจความเป็นไปทางสังคม สามารถอาศัยอยู่ร่วมกับผู้อื่นโดยไม่สร้างความเดือดร้อนและความไม่มั่นคงต่อสังคม รวมถึงมีจิตใจที่เข้มแข็งอดทน ให้คุณค่าทางจิตใจมากกว่าการชื่นชมเฉพาะสิ่งภายนอก และการมีวิชาความรู้ เพื่อประกอบอาชีพการงานที่ดี ใช้ความคิดสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง สังคม และประเทศชาติ ให้มีความเจริญงอกงามและเป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อไป

 

แก่นพุทธจิตวิทยาแห่งความสมบูรณ์ของชีวิต

 

               ในการศึกษาค้นคว้าแก่นพุทธจิตวิทยาแห่งความสมบูรณ์ของชีวิต ได้มองเห็นอุมดคติภาวะของความสุขที่สมดุล ซึ่งความสุขที่ธรรมชาติและมนุษย์ได้เกื้อกูลกันนั้น จึงเป็นความสุขพื้นฐานของมนุษย์ที่มนุษย์พึ่งมี อันแสดงให้เป็นศักยภาพแห่งความสุขขั้นพื้นฐาน 3 อย่างคือ (พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต), 2545) ในการเกิดมาเป็นมนุษย์ประกอบด้วย 1) ความสุขกับธรรมชาติ ชีวิตของมนุษย์ถือเป็นธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ อยู่ท่ามกลาง ธรรมชาติและเป็นไปตามกฎธรรมชาติความสุขพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ก็คือ ความสุขกับธรรมชาติแวดล้อม เราเห็นต้นไม้สีเขียว ร่มรื่น ดอกใบสะพรั่งสมบูรณ์เห็นน้ำใส มีลมเย็นพัดมา ท้องฟ้าแจ่มใส ก็มีความสุข นั่นคือความสุขพื้นฐานอย่างที่หนึ่งซึ่งมาเองจากธรรมชาติ 2) ความสุขทางสังคม ชีวิตของเราอยู่กับมนุษย์ด้วยกัน เรามีความสุขกับเพื่อนมนุษย์เริ่มตั้งแต่ในครอบครัว เด็กเกิดมาเจอพ่อแม่ที่มีเมตตารักเขา เขาก็มีความสุขมีความรักพี่รักน้อง จากนั้นก็มีความรักพี่รักน้อง ถ้าพัฒนาถูกต้องความรักนี้ก็ขยายกว้างต่อๆ ไปในสังคม และในโลกความสุขทางสังคมต้องเริ่มจากครอบครัว เมื่ออยู่ในครอบครัวมีความรักมีความอบอุ่น ก็มีความสุขจากการได้ช่วยเหลือเกื้อกูลทําอะไรให้แก่กัน  3) ความสุขจากกิจกรรมของชีวิต คนย่อมไม่อยู่เฉย ต้องเคลื่อนไหว ต้องทําโน่นทํานี่และเป็นธรรมดาว่าคนเราปกติย่อมทําสิ่งที่พอใจ นี่คือทําด้วยฉันทะ อยากทําโน่นทํานี่ เพราะอยากให้มันดีอย่างที่ต้องการ เมื่อได้ทําเวลาทําก็สุข เมื่อทําให้มันสําเร็จขึ้นมาก็มีความสุข

               ด้วยความสุขดังกล่าวนั้นจึงเป็นเหตุให้เราสามารถจะมีชีวิตที่ดีขึ้นหรือต่ำลงก็ได้ด้วยการหมั่นศึกษา ฝึกฝน และพัฒนาองค์ประกอบทั้งภายนอกและภายใน เพื่อการกระทําให้เกิดประโยชน์และคุณค่าที่แท้จริงของแต่ละอย่าง เมื่อมนุษย์หาความสุขเหล่านี้เพื่อปรนเปรอชีวิตให้มีแต่ความสวยงามเพียงแค่ภายนอกก็จะทําให้เรา ได้เสพคุณค่าที่มี แต่ความที่มี อาจจะสับสนวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นตามมาอีกภายหลัง เพราะการใช้สิ่งเหล่านั้นเพื่อความมัวเมาสนุกสนานย่อมทําให้มีแค่ความสุขชั่วคราวเท่านั้น แต่เมื่อมนุษย์ได้ใช้คุณค่าของความสุขที่ได้รับจากธรรมชาติด้วยความปลอดโปร่งโล่งเบา ดูแลและให้คืนความสดชื่นนั้นแก่ธรรมชาติบ้าง ใช้ความสุขของการอยู่ร่วมกับสังคมด้วยการช่วยกันพัฒนาสังคมให้มีความรักความเมตตาปรารถนาดีต่อกัน และความสุขของกิจกรรมชีวิตด้วยการหมั่นกระทําสิ่งที่ถูกต้องและเป็นธรรมด้วยความตั้งใจจริง ชีวิตของมนุษย์ก็จะเต็มอิ่มทั้งกายและใจ ไม่ตกเป็นเครื่องมือของการเสพบริโภคแบบเผินๆ แต่เป็นการกระทำด้วยใจจริงอันแสดงให้เห็นถึงความงอกงามของจิตใจที่ต้องการให้สรรพสิ่งเกิดความงอกงามไปพร้อมๆ กัน

               กล่าวโดยภาพรวมการประยุกต์ความเชื่อมโยงแก่นพุทธจิตวิทยาเพื่อพัฒนาชีวิต ซึ่งเป็นคุณลักษณะจิตงอกงาม หมายถึง จิตถึงความเป็นเอก หรือ เอกัคคตาจิต ซึ่งปราศจากนิวรณ์ ทั้งหลายเบียดเบียน ด้วยความสามารถแห่งอารัมณูปนิชฌานและลักขณูปนิชฌาน นอกจากนี้ จิตงอกงามจึงมีแก่ บุคคลผู้มีจิตผ่องใสหมดจดในข้อปฏิบัติที่เป็นเบื้องต้น คือ การพัฒนากาย การพัฒนาศีลและการมีจิตใจอาจหาญร่าเริงด้วยญาณ คือ การพัฒนาจิต และการพัฒนาปัญญา ดังนั้น พุทธจิตวิทยาแห่งความงอกงามจึงมีแก่ผู้ปฏิบัติตนด้วย ความพยายามอย่างไม่หยุดยั้งในคําสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยดี อันทรงคุณค่าแก่การงานด้วยใจ เบิกบานในธรรมด้วยการเข้าใจธรรมอันดี ซึ่งความสงบเย็น ขาวสะอาด ผุดผ่อง ละเอียด จากคาถาดังกล่าวจึงสรุปได้ว่า จิตงอกงามโดย 1) ไม่ถูกนิวรณ์ทั้งหลาย กามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา เบียดเบียน 2) เมื่อเพ่งอยู่ด้วยความสามารถแห่งอารัมณูปนิชฌาน การเพ่งอารมณ์ได้แก่สมาบัติ 8 คือ รูปฌาน 4 และอรูปฌาน 4 3) ลักขณูปนิชฌาน การเพ่งลักษณะ ได้แก่ วิปัสสนา มรรค และผล

 

บทสรุป

 

               การนำเสนอหลักคิดและการปฏิบัติให้เข้าสู่การตระหนักรู้ภายใน ในบรรดาผู้มีจิตงอกงามย่อมมีความปรารถนาที่จะมีชีวิตที่อิสระทั้งทางร่างกายและจิตใจ การสร้างชีวิตให้มีจิตงอกงามจึงเป็นหนทางอันสำคัญที่เราจะเลือกเดินไปบนความเป็นจริงของชีวิต เพื่อทำการศึกษาและลงมือปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นอันจะทำให้เกิดคุณประโยชน์ที่มีความสมดุลกันทุกๆ ด้าน การดำรงตนให้มีชีวิตที่ดีงามอัน เป็นตัวกำหนดให้เรามุ่งตรงสู่การสร้างสรรค์ความกินดี อยู่ดี มีจิตใจที่มีความโอบอ้อมอารีต่อกันด้วยการใช้ปัญญาเพื่อการศึกษาและปฏิบัติให้เห็นซึ่งความเป็นจริงของธรรมชาติ จึงทำให้มนุษย์มีหลักประกันในการมุ่งหน้าสู่เป้าหมายสูงสุดของชีวิต คือ มรรค ผล นิพพานได้อย่างง่ายดาย ซึ่งจะมีปรากฏให้เห็นในไม่ช้านี้ เปรียบเสมือนแสงทองของชีวิตที่ดีงามที่คอยจะส่องแสงให้เห็นในยามที่เราตื่นขึ้นมาเผชิญกับความเป็นจริงในเช้าของวันใหม่ในการลงมือสู่การปฏิบัติด้วยความสนใจจริง เพื่อให้การเสริมสร้างแก่นพุทธจิตวิทยาแห่งความงอกงาม ตามกระบวนการของมรรคในหลักภาวนา 4 เป็นระบบที่สามารถพัฒนามนุษย์ให้มีความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา เพื่อเป็นบุคคลที่มีคุณค่าแก่สังคม ได้มีการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นภายในธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ในปัจจุบัน

               จงเตรียมความพร้อมที่จะมีชีวิตใหม่ที่งดงามเป็นมรรคแห่งการสร้างอุดมมงคลของชีวิตโดยการพัฒนาคุณลักษณะจิตงอกงามให้เกิดขึ้นดังนี้ 1) จงรู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดี การมีมิตรดีและการได้กัลยาณมิตร (Favorable Social Environment) 2) จงมีชีวิตและอยู่ร่วมสังคมเป็นระเบียบด้วยวินัย สีลสัมปทา (Accomplishment of Morality) 3) จงพร้อมด้วยแรงจูงใจใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ ฉันทสัมปทา (Perfection of Aspiration) 4) จงมุ่งมั่นพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ อัตตสัมปทา (Perfection of Oneself) 5) จงปรับทัศนคติและค่านิยมให้ถูกต้องดีงามมีเหตุผล ทิฏฐิสัมปทา (Perfection of View) 6) จงมีสติกระตือรือร้นตื่นตัวทุกเวลา อัปปมาทสัมปทา (Perfection of Heedfulness) 7) จงแก้ปัญหาและพึ่งพาตนได้ด้วยความรู้คิดโยนิโสมนสิการสัมปทา (Perfection of Wise Reflection) เมื่อใดธรรมที่เป็นบุพนิมิตรแห่งความงดงาม แม้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดมีในบุคคลนั้น เมื่อนั้นย่อมเป็นอันหวังได้ว่าบุคคลนั้นจักเจริญ งอกงาม พัฒนาทำให้มาก ซึ่งมรรคาแห่งการตื่นรู้ จักดำเนินก้าวไปในมัชฌิมาปฏิปทาจนถึงที่สุดของการปฏิบัติ

               ดังนั้น พุทธจิตวิทยาเป็นวิธีเสริมสร้างความงามแห่งจิต และเพิ่มคุณค่า คุณภาพชีวิตของมนุษย์ได้อย่างแท้จริง เพราะเป็นสิ่งที่มีเหตุมีผลสอดคล้องกับความจริง ช่วยยกระดับจิตใจให้บริสุทธิ์งดงาม แม้บุคคลที่กำลังเดินทางภายใน ต้องการปลดปล่อยความขัดเคืองในใจออกมาบ้าง ก็ควรแสดงออกอย่างนุ่มนวล เพราะจะเห็นได้ชัดว่า การรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต จำเป็นต้องทำด้วยความใจเย็น ด้วยจิตที่เป็นกุศลย่อมเป็นทางออกที่ดีกว่า พระพุทธองค์ทรงเตือนให้รู้จักเห็นใจผู้อื่น อยู่ด้วยความเมตตา ให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา ทุกชีวิตกลัวความตาย หมายถึงทุก ๆ บุคคล รวมถึงตนเองด้วย หากทุกคนมีความซื่อตรงต่อตนเอง อาจมีอยู่บ่อยครั้งที่อยากจะทรมาน เบียดเบียนหรือทำร้ายผู้อื่น เราไม่ควรสมยอมหรือไม่สร้างกรรมใหม่เพิ่มขึ้น ต้องพยายามทำความเข้าใจ ตระหนักรู้เกี่ยวกับแรงจูงใจ และกิเลสตัณหาหรือความต้องการของตนเอง จะต้องเข้าใจว่าจิตถูกอารมณ์ชั่วหลอกล่อได้อย่างง่ายดาย ด้วยความพยาบาท ปองร้ายและการเข้าข้างตนเอง บุคคลผู้ฉลาดที่เป็นบัณฑิตไม่ควรหล่อเลี้ยงกิเลสด้วยความอ่อนแอทางจิตวิญญาณของตน

 

รายการอ้างอิง

 

กีรติ บุญเจือ. (2522). ปรัชญาศิลปะ. ไทยวัฒนาพานิช.

 

ราชบัณฑิตยสถาน. (2546). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ..2542. นานมีบุ๊คพับลิเคชั่น.

 

บุษยมาศ แสงเงิน. (2559). การคิดเชิงบวก. https://bit.ly/2GKpQCc.

 

บรรจบ บรรณรุจิ. (2549). ปฏิจจสมุปบาท (พิมพ์ครั้งที่ 3). โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

 

พระไตรปิฎก. (2539). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

 

พระพรหมคุณากรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต). (2528). จริยธรรมสำหรับคนรุ่นใหม่. วัดญาณเวศกวัน.

 

__________. (2555). พุทธธรรม (พิมพ์ครั้งที่ 40). สำนักพิมพ์ผลิธัมม์.

 

__________. (2538). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

 

__________. (2547). สมาธิ : ฐานสู่สุขภาพจิตและปัญญาหยั่งรู้. สำนักพิมพ์สยาม.

 

__________.  (2553). ความสุขทุกแง่ทุกมุม. สำนักพิมพ์กรีนปัญญาญาณ.

 

พระธรรมกิติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช). (2550). พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสตร์ชุดศัพท์วิเคราะห์. เลี่ยงเชียง.

 

พระเทพเวที (ป. อ. ปยุตฺโต). (2533). รุ่งอรุณของการศึกษา (พิมพ์ครั้งที่ 4). อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊ป.

 

พระมหาทวี มหาปญฺโญ. (2555). ความงามในพระพุทธศาสนา (พิมพ์ครั้งที่ 1). ภาพพิมพ์.

 

พุทธทาสภิกขุ. (2533). อานาปานสติภาวนา (พิมพ์ครั้งที่ 4). ธรรมทานมูลนิธิ.

 

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2500). พระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ. โรงพิมพ์การศาสนา.

 

เวนเทรลล่า, สก็อตต์ ดับเบิ้ลยู. (2545). อานุภาพแห่งความคิดเชิงบวกในโลกธุรกิจ. แปลโดย วิทยาพลายมณี. เอ. อาร์. บิซิเนส เพรส.

 

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน). (2551). จิต วิญญาณในพระพุทธศาสนา. มหามกุฏราชวิทยาลัย.

 

สุดารัตน์ ตันติวิวัทน์. (2560). จิตวิทยาเชิงบวก: การพัฒนา การประยุกต์ และความท้าทาย. วารสาร พฤติกรรมศาสตร์เพื่อการพัฒนา, 9(19), 278-287.

อุดมพร อมรธรรม. (2559). ปรัชญาการศึกษาพระเจ้าอยู่หัว. แสงดาว.

 

Allport, F. H. (1955). Theories of personality and the concept of structure.       John Wiley and Sons.

 

Frederickson, B. L. (1998). What good are positive emotions? Review of General Psychology, 2(3), 300-319.

 

Locke, E.A. & Lathum, G. P. (1990). Theory of Goal Setting and Task Performance. Prentice Hall.

 

Maslow. A. H. (1954). Motivation and personality. Harper & Bros.

 

Maslow. A. H. (1965). A philosophy of psychology: The need for a mature science of  human nature. McGraw Hill.

 

Ryan, R. M. & Deci, E. L. (2000). Intrinsic and extrinsic motivations: Classic definitions and new directions. Contemporary Educational Psychology,25,54–67.

 

Seligman. M. (2004). Learned optimism. Simon & Schuster.

 

__________. (2000). Positive psychology: An introduction. American Psychologist, 55(1), 5-14

 

Seligman, M. E. P., Steen, T. A., Park, N., & Peterson, C. (2005). Positive Psychology Progress: Empirical Validation of Interventions. American Psychologist, 60(5), 410–421.

 

Synder. C. R. (1994). The psychology of hope: You can get here from there. Simon &  Schuster.

 

Ventrelly, S.W. (2001). The Power of Positive Thinking in Business. Vermilion.