เรื่องเล่าจากพระป่า
ตอน ความลับพญานาค และการจากไปของหลวงปู่
เรียบเรียงโดย กัณหาชาลี
การออกธุดงค์ในป่าลึก ต้องมีเป้าหมาย มีหลักในการเดินทาง มิฉะนั้นอาจจะหลงวนอยู่ในป่าและอันตรายถึงชีวิตได้ พระภิกษุหนุ่มยังคงยึดแม่น้ำโขงเป็นหลักในการเดินทาง บางพื้นที่ป่ารกหนามาก และก็มีฝนตกชุกนับเป็นอุปสรรคทางธรรมชาติที่ต้องเผชิญ แต่พระหนุ่มก็คิดว่า เรายังหลบหลีกความรกชัฏโคลนตมที่สกปรกได้ แต่ความสกปรกรกชัฏที่อยู่ในใจอันปกคลุมไปด้วยกิเลสตัณหา อุปาทาน ต้องถอนรากถอนโคนเท่านั้นถึงจะเอาชนะมันได้
ในเขตที่ฝนตกชุกจะปักกลดที่ไหน ก็จะมีงูมีตะขาบมาอาศัยอยู่ด้วยเป็นประจำ มีอยู่คืนหนึ่งหลังจากพระภิกษุหนุ่มเดินจงกรมแล้วประมาณสองชั่วโมงก่อนที่จะมานั่งสมาธิต่อ กำลังจะเปิดกลดเข้าไป ปรากฏว่ามีแขกไม่ได้รับเชิญมาจับจองพื้นที่เสียก่อนแล้ว เพื่อนหน้าใหม่นี้ตัวขาวยาวประมาณสักห้าเมตร ขดตัวสามชั้น อย่างสบายใจเหมือนว่าจะไม่หนีไปไหน พระภิกษุหนุ่มเห็นแล้วก็ค่อย ๆ ถอยออกมายืนหางประมาณสักสองสามวา แล้วแผ่เมตตาให้นานถึงสามชั่วโมง เขาจึงเลื้อยออกไป ลำตัวใหญ่ประมาณเท่าคนที่มีน้ำหนักประมาณ ๖๐ กิโล ค่อย ๆ เลื้อยออกไปอย่างช้า ๆ เหมือนว่าเสียดายอย่างยิ่งที่จะต้องจากไปจากที่อุ่นสบายตรงนั้น
ยามราตรีสงบสงัด ช่างน่ากลัววังเวงเสียนี่กระไร ความมืดย่อมเป็นเพื่อนที่ไม่น่าไว้วางใจเอาเสียเลย แต่จะทำอย่างไรได้ นี่คือความสงบปราศจากกิเลสของมนุษย์ที่เราแสวงหามิใช่หรือ พระหนุ่มปลอบใจตนเองเช่นนั้น เวลาประมาณเที่ยงคืน ก็มีแสงสว่างพุ่งขึ้นจากพุ่มไม้สูงสักสามเมตรกว่า ๆ แล้วค่อย ๆ เคลื่อนลอยไปเรื่อย ๆ ช้า ๆ ลงไปทางริมแม่น้ำโขง เหมือนกับผีโขมด หรือผีกระสือ และมีเสียร้องเหมือนนกตะปุด บางครั้งเหมือนนกฮูก บางครั้งเหมือนนกเค้าแมว
แต่ตัวเหมือนกระสือ คนชาวเหนือ คนอีสานจะเห็นบ่อย ๆ บางครั้งจะมีเสียงร้องเพลงอย่างโหยหวนครวญคราญเย็นยะเยือกจับจิตจับใจ ช่างน่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก คนจิตอ่อนเห็นทีจะจับไข้หัวโกร๋นเอาง่าย ๆ แต่ไม่ใช่พระหนุ่มรูปนี้ ในป่าเขาดงดิบลึกนี้ซึ่งปราศจากผู้คนผ่านไปมา นอกจากสารพัดผีที่น่ากลัวแล้ว ยังมีสัตว์ป่า เช่น หมีควาย เสือโคร่งใหญ่ งูนั้นก็ตัวใหญ่มากเลื้อยสวนสนามกันเป็นว่าเล่น แต่พระหนุ่มก็ทำสมาธิเจริญสติอยู่ตลอดเวลาไม่ขาดและหวั่นเกรงแต่อย่างใด
นอกจากงูยักษ์แล้ว ยังมีงูบินได้อีกด้วย ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อล่ะคราวนี้เพราะเห็นกับตาตนเอง ก้อนหินเปล่งแสงเดินได้อยู่ในถ้ำ ปลาหน้าตาเหมือนคน นับประสาอะไรกับแค่เรื่องบั้งไฟพญานาค ซึ่งมีมาตั้ง ๑๐๐ กว่าปี แต่มนุษย์ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ แม้จะส่งพวกฝรั่งมังค่ามีความรู้ความสามารถมาพิสูจน์ก็ยังตอบคำถามไม่ได้ ช่างน่าขันเสียนี่กระไร
พระภิกษุหนุ่มก็เดินรอนแรมไปตามป่าตามแม่น้ำโขง ไปเรื่อย ๆ ข้ามฝั่งไทยไปฝั่งลาว และได้เห็นความเป็นอยู่ของพี่น้องไทยลาว ทั้งวัฒนธรรมประเพณีที่เชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น เป็นญาติพี่น้องกันมาจนทุกวันนี้ ถึงแม้จะมีกฎหมายเขตแดนขวางกั้นก็ไม่สามารถกั้นความเป็นพี่น้องกันได้ เพราะสายใยแห่งความเข้าอกเข้าใจกัน มากเกินกว่าที่จะแยกออกจากความเป็นพี่น้องกัน พระหนุ่มก็ได้อาศัยก้อนข้าวของญาติโยมชาวลาวมากพอสมควร เดินจากใต้ไปกลางถึงบริเวณป่าใหญ่หนาชื้น ปัจจุบันในบริเวณนั้นเรียกกันว่า เขื่อนน้ำงึง
ราตรีนั้นเวลาประมาณสัก ๔ – ๕ ทุ่มเศษ หลังจากพระภิกษุหนุ่มสวดมนต์บำเพ็ญภาวนาไปได้ประมาณสัก ๑ ชั่วโมง ก็ได้ยินเสียงใบไม้และกิ่งไม้ดัง ปอ แปะอยู่ด้านหน้า แต่สักอึดใจหนึ่ง ก็ได้กลิ่นแปลก ๆ ลอย มากระทบที่ปลายจมูก พระหนุ่มก็แผ่เมตตาให้ทันที เพราะทราบแล้วว่ามีแขกที่ไม่ได้เชิญเข้ามาหา อยู่ต่อหน้าห่างไปประมาณ ๓ – ๔ เมตรประมาณสักสองสามนาที เสียงที่ดังก็สงบลง พระภิกษุหนุ่มก็แผ่เมตตาออกไปให้อีก พร้อมค่อย ๆ ลืมตาขึ้น ในคืนจันทร์วันเพ็ญขึ้นสิบห้าค่ำพระจันทร์เต็มดวง แสงจันทร์ที่สาดส่องพ้นกิ่งไม้ลงมาทำให้พอมองเห็นบริเวณนั้น นอกจากพระหนุ่มแล้วอีกสิ่งหนึ่งที่มองเห็นเป็นร่างดำทะมึน อยู่ใกล้ ๆ พระหนุ่ม ซึ่งยังระบุไม่ได้ว่าเป็นตัวอะไร ทันใดนั้นเขาก็แสดงตัวออกมา สูงประมาณ๔ – ๕ เมตรเลยทีเดียว พระภิกษุหนุ่มก็แผ่เมตตาพร้อมกับถามในใจว่า ท่านเป็นงูหรือเป็นนางไม้ สิ่งที่ถูกถามก็นิ่งเฉย ไม่ขยับตัวเลย พระภิกษุหนุ่มก็ถามไปในจิตอีกครั้งว่า ท่านเป็นงูใช่ไหม พอถูกถามเช่นนี้อีกครั้ง เขาจึงตอบกลับมาว่า ข้าพเจ้าไม่ใช่งู พระภิกษุหนุ่มก็ถามไปอีกว่าแล้วท่านเป็นอะไร เขาตอบว่า ข้าพเจ้าเป็นพญานาค ส่วนงูเป็นบริวารของพญานาค พญานาคนั้นมีอยู่ ๔ ตระกูลใหญ่
พระภิกษุหนุ่มได้ยินอย่างนั้นก็งง ๆ เพราะไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่า มี พญานาคมี ๔ ตระกูล พระภิกษุก็ถามไปว่า มีตระกูลอะไรบ้าง จึงได้รับคำตอบว่า “ถ้าท่านอยากรู้เราจะบอกให้
1.ตระกุลวิรูปักษ์ คือ พญานาคตระกูลสีทอง
2.ตระกุลเอราปถ คือ พญานาคตระกูลสีเขียว
3.ตระกุลฉัพพยาปุตตะ คือ พญานาคตระกูลสีรุ้ง
4.ตระกุลกัณหาโคตมะ คือ พญานาคตระกูลสีดำ
พระภิกษุหนุ่มก็พึงทราบแล้วก็ ตั้งจิตถามไปอีกว่า แล้วจะทราบได้อย่างไรว่า ท่านเป็นงู หรือเป็นพญานาค ข้าพเจ้าก็พอจะบอกได้แต่เป็นความลับของวงศ์ตระกูลพญานาค ห้ามท่านนำไปบอกผู้ใดทั้งนั้น พระภิกษุหนุ่มก็ตอบทันทีว่าตกลง แล้วพระภิกษุหนุ่มก็เลยได้ทราบว่าความลับของพญานาคเป็นอย่างไร และถามต่อไปว่า “พญานาคทำร้ายคนหรือเปล่า” “ พญานาคไม่ทำร้ายใครง่าย ๆ นอกจากจะถูกคนทำร้ายก่อน จึงจะทำร้ายตอบแทน เพราะพวกข้าพเจ้ายังไม่บรรลุธรรม ต้องป้องกันตนไม่ให้ใครมารังแก” พระภิกษุหนุ่มถามต่อไปว่า พญานาคมีพิษเหมือนงูหรือไม่ หรือมากกว่างู
จึงได้รับคำตอบว่าพิษแห่งพญานาค มีดังนี้
๑. ปูติมุขะ เป็นพญานาคมีพิษ เมื่อกัดผู้ใดแล้ว รอยแผลเปื่อยเน่าน้ำเหลืองไหลไม่หยุด ถ้าไม่มียารักษาจะถึงแก่ความตายอย่างรวดเร็ว
๒. กุฏจมุขะ เป็นพญานาคมีพิษ เมื่อกัดผู้ใดแล้ว ร่างกายจะแข็งทั้งตัว แขนขางอไม่ได้
จะปวดแสนสาหัส ทรมานตายอย่างรวดเร็ว
๓. อัคคิมุขะ เป็นพญานาคมีพิษ เมื่อกัดผู้ใดแล้ว จะเกิดอาการเร่าร้อนไปทั้งตัว ดุจไฟเผ่า แผลคล้ายถูกไฟไหม้
๔. สัตถมุขะ เป็นพญานาคมีพิษ เมื่อกัดผู้ใดแล้วจะตายทันที่เหมือนถูกฟ้าผ่า
เมื่อพระภิกษุหนุ่มได้ยินอย่างนั้นแล้ว ให้เกิดความวิตกกังวลกลัวเหมือนกัน แล้วก็ถามต่อว่า อาตมาจะไปทางภูเขาควายทางทิศใต้จะไปอย่างไร พญานาคตอบว่าไม่ยากท่านก็เดินไป ทางซ้ายมือ ตามราวป่าไปตามแม่น้ำ แล้วข้ามตรงโค้งคุ้งน้ำนั้นจะสะดวกและน้ำก็ไม่ลึก แล้วเดินตรงไปตามทางล่องน้ำก็จะเห็นทางเล็ก ๆ พอเดินได้ และให้เดินไป เรื่อย ๆ สักหนึ่งหรือสองวันก็จะถึงภูเขาควาย ถ้าเลี้ยวขวาก็จะไปที่ภูสาเหล้า ห่างกันประมาณสามวัน พระภิกษุหนุ่มก็จำได้บ้างไม่ได้บ้าง แล้วก็ตอบว่าเจริญพรอนุโมทนา และก็ออกจากสมาธิรุ่งเช้าก็เก็บบริขารเดินไปเรื่อย ๆ ตามที่พญานาคบอกทางให้ เดินทางครั้งนี้ไกลแสนไกล ห้าวันยังไม่ถึง แต่ก็โชคดีได้ไปพบต้นไม้ชนิดหนึ่งที่เคยได้รับคำบอกเล่าจากพ่อแม่หลวงปู่ครูบาอาจารย์ ที่ต้นไม้ใหญ่สูงเสียดฟ้าเกิดขึ้นบนภูเขาก้อนหิน สองสามต้นอายุประมาณร้อยกว่าปี เพราะลำต้นใหญ่ประมาณห้าคนโอบ ซึ่งพระภิกษุหนุ่มเห็นครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง และก็ไม่เคยไปเห็นที่ไหนอีกเลย ในขณะนั้นก็มีเสียงพูดของหลวงปู่อาจารย์ดังขึ้นในความคิดว่า “เมื่อพระภิกษุหนุ่มอายุมากขึ้นถึงแปดสิบปี ก็จะมีลูกศิษย์นำต้นไม้ชนิดนี้มาสร้างศาลาการเปรียญถวายอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง” …หลวงปู่อาจารย์เคยเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า ท่านมีลูกศิษย์ที่ชอบธุดงค์ติดตามไปอยู่ด้วยก็หลายรูป แต่ละรูปก็มีการปฏิบัติที่เคร่งคัดกันมากเอาจริงเอาจังในการปฏิบัติ มีพระภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้มีหน้าตาที่อ่อนวัย แต่การปฏิบัติไม่อ่อนเหมือนใบหน้า เข้าฌานเก่ง มีจิตใจเมตตาต่อเพื่อนฝูง และผู้คนมาก ไม่ว่าใคร ไม่ด่าใคร ไม่ตำนิใครเพราะท่านไม่พูดแต่หลวงปู่ก็รู้ในจิตในใจพระลูกศิษย์รูปนี้ เห็นและได้ยินพระภิกษุหนุ่มน้อยหน้าอ่อนกำลังอธิษฐานในจิตว่า แม่นางฟ้าแม่นางไม้ ถ้าหากว่าอาตมามีบุญญาธิการได้บวชเป็นพระต่อไป จะขอแม่นางฟ้าแม่นางไม้นี้ไปช่วยอาตมาให้ได้สร้างถาวรวัตถุให้พระพุทธเจ้าอยู่ ให้ครูอาจารย์ได้อยู่ อย่างสมพระเกียรติท่านด้วย… แล้วพระภิกษุหนุ่มก็ถือโอกาสปักกลดที่ใต้ต้นไม้ใหญ่นั้นในคืนนั้นทันที เพราะมองขึ้นไปบนต้นไม้ไม่มีลูกสุกลูกอ่อนอยู่เลย ก็สามารถปกกลดอยู่ได้
พระภิกษุหนุ่มธุดงค์อยู่ที่ป่าจนกาลล่วงเลยมานาน จึงต้องกลับมากราบหลวงปู่ เพราะทราบว่าเมื่อหลวงปู่อายุได้ ๑๒๐ ปี ท่านก็ละสังขารอย่างสงบ ก่อนที่ท่านจะละสังขารนั้น ในเวลายามค่ำคืนท่านก็แสดงธรรมให้ภิกษุสามเณรฟัง เรื่องรูปสังขาร พอเที่ยงคืนแสงเทียนในห้องก็ดับลง เวลาประมาณ ๐๑.๓๐ น. แสงสว่างก็ดับลงในท่ามกลางความเงียบสงบ ความว้าเหว่ก็เกิดขึ้นมาแทน พอยามรุ่งเช้า เสียงนกกาที่เคยมาร้องที่ต้นไทรใหญ่ในวัดก็ไม่มี มีแต่นกกาบินไปมา เป็นฝูงใหญ่อย่างสงบ ผิดจากหลายวันที่ผ่านมา ปลาในแม่น้ำโขงเคยมาเล่นน้ำยามเช้าที่หน้าวัด ก็มากันอย่างสงบ พอสายหน่อยมีพ่อออกแม่ออกมากันเต็มวัด ต่างก็น้ำตาคลอเบ้า บางคนก็ไม่อายร้องไห้เสียงดัง บางท่านไปนั่งร้องไห้ริมฝั่งน้ำบ้าง ใต้ต้นไม้บ้าง บ้างก็อยู่มุมศาลา เหมือนทุกคนรู้และมีความรู้สึกสูญเสียพ่อแม่ผู้บังเกิดเกล้าอย่างใหญ่หลวง พระภิกษุสามเณรหลายรูปต่างก็ร้องไห้เสียงดังไม่เป็นอันทำงาน เพราะเหมือนทุกคนตกอยู่ในความขาดสติเศร้าโศกเสียใจ พูดอะไรไม่ได้นอกจากรู้สึกว่าตนเองขาดสิ้นความหวังทุกอย่าง นานตั้งแต่เช้าจนถึงช่วงเพล ภิกษุหนุ่มเห็นสัจธรรมของการสูญเสียครั้งนี้อย่างใหญ่หลวง ต่อชาวบ้านญาติโยม ทั้งที่หลวงปู่ก็ไม่ได้เป็นพ่อแม่เป็นญาติพี่น้องของพวกเขา แต่เพราะความดีความเมตตาของหลวงปู่ที่มีต่อลูกศิษย์ทุกคน ไม่ว่าเขาจะดีจะร้าย หลวงปู่ให้ความเมตตาต่อเขาทั้งหมดเท่ากัน พระภิกษุหนุ่มที่หลวงปู่ให้ความรักความเอ็นดูรูปหนึ่งที่ไม่เคยพูดก็พูดขึ้นกับญาติโยมผู้ใหญ่ท่านหนึ่งว่า โยมเวลาเท่าไร่แล้ว เขาก็วิ่งออกมาดูตะวันแล้วพูดว่าใกล้เวลาเพลแล้ว ต้องเตรียมอาหารถวายหลวงปู่ ถวายพระได้แล้ว ทุกคนจึงได้สติกันรีบกุลีกุจอกันหาอาหารมาถวายพระ วันนั้นพระภิกษุหนุ่มสามเณรน้อยร้อยกว่าชีวิตไม่ออกบิณฑบาต เพราะทุกคนที่เตรียมใส่บาตรพอได้ยินเสียระฆังดังรัวขึ้นเหมือนเขายิงปืนเอ็มสิบหก ต่างก็ต้องรีบออกมาวัด เพราะทุกคนทราบทันที่ว่ามีเหตุการณ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้นที่วัด ต้องมาช่วยกันนี่คือสัญลักษณ์เสียงระฆังและฆ้องกลองก็ถูกตีขึ้นพร้อมกันอย่างพร้อมเพรียง ไม่เกิน ๑๐ นาทีชาวบ้านก็เต็มวัด พระหนุ่มได้กลายเป็นผู้ประสานงานกับคนต่าง ๆ โดยทางคณะสงฆ์และชาวบ้านให้การยอมรับและตกลงกัน พระภิกษุหนุ่มก็อาศัยความอ่อนน้อมถ่อมตนไปหาพระผู้ใหญ่ที่เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ และพระภิกษุผู้รักและเคารพหลวงปู่มาทำพิธีปลงศพ อาบน้ำศพอย่างเรียบร้อยและเรียบง่ายอย่างที่หลวงปู่สั่งไว้ทุกประการ จนวาระสุดท้ายที่ทุกคนได้อัฐิหลวงปู่ไปไว้บูชาคนละชิ้นด้วยความพอใจ หลวงปู่ไม่มีปัจจัยเงินอะไรติดตัวเพราะหลวงปู่เป็นพระธุดงค์อยู่ในป่าอย่างเดียวแต่ก็ไม่ขัดสนในการจัดงาน ลูกศิษย์ต่างทำหน้าที่ช่วยเหลือกันตามที่ได้รับมอบหมายให้ทำในที่ประชุม ไม่ยึดติดในตำแหน่งหน้าที่ใครทำอะไร อย่างมีความสุข ทั้งพระสงฆ์สามเณร ต่างก็ยินดีปรีดาขวนขวายช่วยงานกันอย่างเต็มที่ทุกคน พระภิกษุหนุ่มเมื่อทำหน้าที่จบลงทุกอย่างแล้ว เมื่อออกพรรษาญาติโยมก็จะนำขันดอกไม้มานิมนต์ให้กลับมาจำพรรษาที่วัดอีก เพื่อที่จะทำบุญครั้งใหญ่ที่ชาวบ้านจะทำให้พร้อมพระภิกษุทุกรูปที่อยู่ในวัดด้วย ที่ถือว่าเป็นลูกหลวงปู่เหมือนกัน ญาติโยมพูดกับพระภิกษุหนุ่มว่าถ้าคิดว่าท่านไม่ใช้ลูกศิษย์ ท่านก็ไม่ต้องรับนิมนต์ ทำเอาพระภิกษุหนุ่มปฏิเสธอะไรไม่ออกก็ต้องรับแต่โดยดี จนเมื่องานเสร็จสิ้นแล้วด้วยดีทุกประการ และมาถึงการประชุมออกเสียงลับเลือกเจ้าอาวาสคนใหม่กันในหมู่สงฆ์ และญาติโยมที่ลงคะแนนเสียง ประกาศผลโดยตาแสงหมู่บ้าน (กำนันหมู่บ้าน) เมื่อผลประกาศออกมาเล่นเอาพระภิกษุหนุ่มนั่งงง เพราะตนเองก็เลือกอาจารย์ที่อาวุโสที่ตนเคารพ แต่อาจารย์รูปนั้นกลับเลือกพระภิกษุหนุ่ม ดั่งเช่นพระภิกษุและชาวบ้านคนอื่น ๆ แล้วทุกคนก็สาธุให้พระหนุ่มเป็นเจ้าอาวาสคนใหม่ พระภิกษุหนุ่มจึงต้องขอดูคะแนนว่าจริงหรือเปล่าทำไมเป็นเช่นนี้ ….