Kamalas

เรื่องเล่าจากพระป่า

ตอน   เจ้าอาวาสหน้าใหม่ ผจญภูตแม่น้ำโขง

เรียบเรียงโดย  กัณหาชาลี

เมื่อผลการเลือกตั้งเจ้าอาวาสรูปใหม่ออกมาแล้ว  สร้างความตะลึงให้กับพระหนุ่มยิ่งนัก เพราะท่านได้รับคะแนนท่วมท้นให้เป็นเจ้าอาวาสรูปใหม่  เมื่อท่านตรวจสอบผลการลงคะแนนแล้ว พระหนุ่มก็ต้องจำใจยอมรับตำแหน่งเจ้าอาวาสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้   ท่านตั้งใจจะดำเนินรอยตามวิถีทางแห่งครูบาอาจารย์  ทั้งในเรื่องอาวุโส และสังฆประเพณี ดังนั้นเมื่อพระหนุ่มยอมรับตำแน่งเจ้าอาวาสแล้วก็ประกาศท่ามกลางหมู่ชนว่า เมื่อท่านทำภาระกิจแห่งการฌาปณสังขารของหลวงปู่เรียบร้อยแล้ว  ท่านก็จะออกธุดงธ์เหมือนเดิม หลังจากนั้นค่อยมาเลือกเจ้าอาวาสกันใหม่ พระอาจารย์ผู้อาวุโสรีบทักท้วงทันทีว่า ทำเช่นนั้นไม่ได้  ในเมื่อพระและญาติโยมศรัทธาเชื่อถือในตัวท่านแล้ว ท่านก็ต้องเป็นเจ้าอาวาสอย่างน้อย ๒ ปี  ขณะนั้นพระหนุ่มก็กล่าวว่า ท่านอาจารย์ขอรับ ผมไม่ได้เป็นศิษย์หลวงปู่โดยกำเนิด (ไม่ได้บวชกับหลวงปู่)  จะทำให้ดูไม่ดี ท่านอาจารย์ผู้อาวุโสก็กล่าวว่าไม่เป็นไร  ผมจะรับรองท่านเอง เพราะผมเป็นศิษย์ต้นรูปเดียวที่อาวุโสสูงสุดในเวลานี้ แต่ท่านเป็นศิษย์ที่หลวงปู่ไว้วางใจ ท่านก็เป็นศิษย์รักที่หลวงปู่สั่งไว้ว่าหลังจากหลวงปู่ละสังขารแล้ว ให้พระภิกษุและญาติโยมช่วยกันนิมนต์ท่านมารับหน้าที่เจ้าอาวาสแทนต่อจากหลวงปู่  ส่วนผมก็จะช่วยดูอยู่ที่นี้ด้วยกัน ท่านไม่ต้องห่วงเรื่องใด ๆ ทั้งสิ้น และโยมตาแสงก็ประกาศผลบนศาลาวัดที่มีชาวบ้านอยู่เต็มศาลา พระภิกษุรูปนี้เป็นญาติเราอยู่ที่นี้   เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ พระหนุ่มก็รับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาส  และปฏิบัติภาระกิจได้อย่างยอดเยี่ยมจนวัดมีชื่อเสียงโจษจันไปทั่ว  มีพระผู้หลักผู้ใหญ่มาเยี่ยมเยือนอยู่ตลอดเดือน มีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาให้การสนับสนุนงานพระศาสนาตลอดไม่เคยขาด   วัดก็อุดมสมบรูณ์ไปด้วยผู้คน ข้าวปลาอาหาร มีแม่ออกพ่อออก มีโยมมาฟังธรรม ปฏิบัติธรรม ครั้งละสี่ห้าร้อยคนตลอดเวลา เหมือนมีงานประจำปีกันตลอดเวลา

ภาระกิจหลักตอนนี้ของท่านเจ้าอาวาสหนุ่ม ก็คือการวางแผนเตรียมงานฌาปณกิจให้หลวงปู่ พระหนุ่มก็ใคร่ครวญพิจารณาว่าจะเอาพื้นที่ตรงไหนดี  ครั้นเดินสำรวจพื้นที่รอบ ๆ วัด และก็มีความพอใจพื้นที่ ที่ห่างจากกุฎิหลวงปู่ไปประมาณ ๒๐๐ เมตร และไกลจากป่าไม้ประมาณ ๒๐๐  เมตรกว่า  ๆ ต้องปรับดินขึ้นให้สูง ๓ เมตร ปรับเป็นชั้น ๓ ชั้น ตั้งเมรุลอยตรงกลาง มีทางขึ้นลงอย่างสะดวกสบายรอบตัวเมรุ   เมื่อสรุปความเรียบร้อยแล้ว เจ้าอาวาสหนุ่มจึงนำเรื่องไปปรึกษาพระอาจารย์ผู้อาวุโส   ซึ่งท่านก็เห็นดีด้วยทุกประการ

รุ่งเช้าวันต่อมา ไม่ทันพระอาทิตย์จะเปลี่ยนอุณหภูมิที่เย็นให้อุ่นขึ้นนัก พระอาจารย์อาวุโสก็พาโยมมาทำเนินดินให้ตามที่เจ้าอาวาสหนุ่มต้องการ  เจ้าอาวาสหนุ่มก็ก้มลงกราบพระอาจารย์ว่าขอบคุณท่านอาจารย์ที่เคารพเป็นอย่างมากขอรับ พระภิกษุอาวุโสกล่าวตอบว่า ผมรู้แล้วว่าสาเหตุที่หลวงปู่สั่งให้นิมนต์ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสเพราะอะไร  ผมเข้าใจชัดเจนแล้วว่าท่านสามารถทำให้หลวงปู่ได้ดีจริง ๆ พระหนุ่มตอบพระอาวุโสว่า ผมยังไม่ได้ทำอะไรเลย  พระอาจารย์อาวุโสกล่าวว่าแค่ท่านคิดวางแผนทำเมรุ ทำที่เผาหลวงปู่  ผมจึงเข้าใจหลวงปู่ชัดเจนที่สุด ผมก็คิดแล้วว่าหลวงปู่ต้องเห็นอะไรดี ๆ ของลูกศิษย์รูปนี้แน่นอน ผมก็สันนิษฐานไม่ผิดจริง ๆ ที่ท่านทำให้หลวงปู่ไม่ผิดหวังในตัวท่าน

เช้าวันถัดมา  พระอาจารย์อาวุโสก็บอกชาวบ้านให้มาช่วยกันขนดินมาทำเป็นเนินขึ้นไปกว้าง ๘ เมตร สูง ๓  เมตร ชาวบ้านมาช่วยกัน ๓ วัน งานก็แล้วเสร็จ   ล่วงจนเข้าพรรษาและออกพรรษา   จนถึงวันงานฌาปณกิจสังขารหลวงปู่ พระสงฆ์จากที่ต่าง ๆ ก็มาร่วมงานกันนับหมื่นรูป ประชาชนก็มากันเป็นหมื่นเช่นกัน  ชาวบ้านช่วยกันต้อนรับขับสู้กันเป็นอย่างดี ทำตามที่เจ้าอาวาสหนุ่มวางแผนงานไว้ทุกอย่าง   พระผู้หลักผู้ใหญ่ก็ให้ความเมตตามากันครบถ้วน  แม้เจ้าคณะปกครองสงฆ์ก็ออกปากชมว่างานนี้จัดได้ดีมีคุณภาพเรียบร้อยสวยงาม สมเกียรติที่หลวงปู่เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ   ไม่ว่าจะไปทางไหน ก็จะได้ยินคำชมจากเพื่อนบ้านและต่างหมู่บ้านตลอดเวลา  ในงานนี้เจ้าอาวาสหนุ่มไม่มีอะไรให้ญาติโยมที่มาร่วมงาน  นอกจากรูปถ่ายหลวงปู่กับหนังสือประวัติหลวงปู่เพียงแค่ ๑๐ หน้า เขียนด้วยลายมือเจ้าอาวาสหนุ่มกับพระอาจารย์อาวุโส ศิษย์เอกหลวงปู่แห่งลุ่มแม่น้ำโขงเท่านั้น  แต่กลับสร้างความประทับใจให้กับแขกทุกท่านอย่างมิอาจลืมเลือน

เมื่องานฌาปณกิจสังขารหลวงปู่เสร็จเรียบร้อยแล้ว พระหนุ่มรู้สึกเหมือนยกเขาสุเนรุราชออกจากอกเลยทีเดียว  หลังจากนั้นพระหนุ่มได้บอกลาญาติโยมขอออกธุดงค์สักสามเดือน แล้วจะกลับมาอีกครั้ง  การธุดงค์ครั้งนี้ ท่านมุ่งหน้าออกจากจำปากเซ มาจำปาสักเมืองหลวงในอดีต  แล้วไป   น้ำตกหลี่ผี  คอนพระเพ็ญ บ้านคอนสวรรค์ หมูบ้านสาระวัน สีทันดร  น้ำตกตาดฟ้าง กลับเข้ามาเมืองไทย ลัดเลาะไปตามริมแม่น้ำโขงเข้าถ้ำภูควายเงิน และไปทางอำเภอสังคมเข้าถ้ำพญานาค เดินเรื่อยมามุ่งหน้าสู่บึงกาฬ ภูทอก  หยุดพระหนุ่มหยุดพักปักกลดเพื่อบำเพ็ญตบะกับหลวงพ่อ พระผู้มีฌานแก่กล้าบนยอดเขาภูทอก หรือ จะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สวรรค์ชั้นดุสิต ของพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็ได้  พระที่นี่จะชอบเข้าฌาน ไม่ต้องฉันอะไร เป็นเวลา ๑๐ – ๑๕ วันบ้าง หนึ่งเดือนบ้างแล้วแต่เหตุการณ์ทางธรรมชาติจะเอื้ออำนวยให้ หมายความว่า ฝนตกหนักตลอดเดือนก็ไม่สามารถจะอยู่บนยอดภูได้ และเหตุปัจจัยอื่น ๆ อีก การบำเพ็ญอยู่บนภูทอกนั้น ทำให้พระภิกษุหนุ่มได้สมาธิดีขึ้นกว่าเดิมมาก พร้อมกับได้ฟังธรรมจากพระอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในการปฏิบัติจากป่าโดยตรงอีกรูปหนึ่ง ดังนั้นพระภิกษุหนุ่มจึงยึดถือเอาท่านเป็นพระอาจารย์ที่เป็นแบบอย่างในการปฏิบัติ

ในการออกธุดงค์อยู่แถบลุมแม่น้ำโขงนั้น พระหนุ่มตระหนักดีว่า มีความแปลกแตกต่างจากการเดินอยู่ในป่าเขาลำเนาไพรอยู่มากมาย และจะ ๆ ได้พบกับสี่งที่ไม่คาดคิดทั้งคนและสัตว์และคนที่ไม่ใช่คน สัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์  มีการเปลี่ยนตัวแปลงกาย อารมณ์ความรู้สึกก็เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเช่นกัน

เย็นวันหนึ่งขณะที่พระหนุ่มกำลังสรงน้ำอยู่ริมตลิ่ง  ก็พบเรือลำหนึ่งกำลังหาปลาโดยมีผู้หญิงคนหนึ่งบนเรือลำนี้   เรือค่อย ๆ ลอยเข้ามาใกล้พระหนุ่มอย่างผิดสังเกต  ซึ่งก่อนที่ท่านจะลงสรงน้ำ ก็ตรวจสอบบริเวณนั้นแล้วว่าไม่มีใครอยู่แถวนั้น  พระภิกษุหนุ่มจึงลงสรงน้ำ แต่พระหนุ่มก็ขึ้นจากน้ำก่อนที่เรือจะมาเข้าถึง  ทันใดนั้นเองเรือและผู้หญิงนั้นก็กลายร่างเป็นจระเข้ตัวใหญ่ พระภิกษุหนุ่มก็รีบสำรวมจิตแผ่เมตตาให้ทันที  แล้วกลับขึ้นมาเดินจงกรมใกล้ ๆ บริเวณที่ปักกลด ขณะนั้นพระหนุ่มก็มีความรู้สึกว่ามีคนคอยมองดูท่านอยู่ไกล ๆ  แต่ก็ไม่พบใคร ครั้นตะวันตกดิน  ท่ามกลางความมืดมิดและเงียบสงัดแห่งรัตติกาลนั้น   จู่ ๆ ก็มีลมกรรโชกมา พร้อมกับเสียงบางอย่าง ฟังดูเหมือนมีใครกำลังออกมาหากินน้ำกันเป็นทิวแถว  เจ้าอาวาสหนุ่มก็มีความรู้สึกว่าในรัตติกาลนี้ คงจะหลับไม่ได้แล้ว  เพราะจะมีแขกมาเยี่ยมเยือน…

เวลาล่วงผ่านไปถึงเที่ยงคืนอันดึกสงัด  ในที่สุดแขกไม่ได้รับเชิญก็มาเดินดูรอบ ๆ บ้านเคลื่อนที่ (กลดพระ) อย่างไม่เกรงใจ พร้อมทั้งส่งกลิ่นสุดพรรณนาโชยเข้ามาในกลด  มันเป็นกลิ่นเหม็นเน่าอย่างที่สุดที่เคยสัมผัสมา เพราะเหมือนเน่ามาแล้วเป็นสิบ ๆ ปี  ครั้นบังคับสายตามองออกไปนอกกลด ก็พบบางสิ่งคล้ายคนเดิน แต่ไม่ใช่คน เพราะมันตัวสูงใหญ่เท่าภูเขา เวลาเดินจะมีน้ำหยดลงมาเป็นทางส่งกลิ่นเหม็นมาก สักพักก็วนเวียนเดินกลับมาอีก พระหนุ่มดูแล้วก็ปลงในสัมผัสที่ประสบนี้  ทำไมพวกเขาเหล่านั้นถึงได้เกิดมาทุกข์ทรมานมากเยี่ยงนี้   พระหนุ่มจึงแผ่เมตตาให้พวกเขาไปอย่างไม่มีประมาณ   และเหมือนพวกเขาจะรับรู้และสัมผัสได้ พวกมันค่อย ๆ นั่งลง บ้างตนนั้นตัวขาด บางตนมีร่างกายที่เต็มไปด้วยแผลลึกเหวอะหวะ  สภาพทนทุกข์ปวดแสบปวดร้อน พวกเขามานั่งรายล้อมอยู่ด้วยกันสัก ๔ – ๕ ตนโดยทยอยกันมานั่งที่ละคน นั่งแบบทรมานคือ จะนั่งก็นั่งยากเพราะความเจ็บปวด  สักพักหนึ่งพระหนุ่มก็ส่งจิตถามว่า พวกท่านเป็นใคร บ้านอยู่ที่ไหน มาทำอะไรในป่านี้ พวกเขาก็ตอบกลับมาว่า  พวกเราถูกเรียกว่า “ภูต”  บ้านอยู่แถบริมน้ำนี้มานานนับ ๑,๐๐๐ ปีแล้ว มีคนของพวกเราไปแจ้งว่ามีผู้บุกรุกหมู่บ้านของเรา พวกเราจึงมาดูว่าเป็นจริงไหม พระหนุ่มได้ยินว่าเป็นภูต ก็เย็นหลังวาบ  พระภิกษุหนุ่มจึงถือโอกาสนั้นเทศนาว่า “…การที่เกิดมาแบบนี้ ช่างน่าสงสาร เพราะมีน้ำเลือด น้ำหนอง ชุ่มไปทั้งตัวส่งกลิ่นเหม็นอย่างมากตลอดทั้งภพชาติ เพราะการกินผิด เอาของคนอื่นมาเป็นคนตนเอง ถือวิสาสะ กล่าวให้ร้ายผู้อื่น จึงทำให้มีแผลเต็มตัวน้ำเหลืองไหลเยิ้มอยู่ตลอดเวลาทั้งชาติ ทรมานทั้งกลางวันและกลางคืน ถ้าจะแก้ไขให้กรรมเหล่านี้เบาบางลงก็ต้องสมาทานศีลเป็นประจำ และรักษาศีลอุโบสถตลอดสามปี อีกทั้งต้องปฏิบัติกรรมฐานจึงจะพ้นได้…”  พวกภูตเหล่าก็ได้แต่สาธุ สาธุ   ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้พระหนุ่มเคยได้ยินหลวงปู่เล่าให้ฟังว่ามีอยู่จริง ๆ ในแถบลุ่มแม่น้ำโขง เพราะเป็นแม่น้ำสายยาวเก่าแก่  ทอดมาจากภูเขาหิมาลัยจนถึงเมืองไทย  แล้ววันนี้พระหนุ่มก็ได้พบเจอตัวจริง ๆ ของ “ภูตแม่น้ำโขง”…

เมื่อจวนจะเข้าพรรษาประมาณสักหนึ่งอาทิตย์พระภิกษุหนุ่มก็กลับวัดที่ประเทศลาวตามสัญญาทุกประการ เมื่อกลับถึงวัดพระอาจารย์ผู้อาวุโสกับญาติโยมต่างก็ดีใจที่ได้เห็นเจ้าอาวาสของท่านกลับมาแล้ว ต่างมาประชุมกัน ทำบุญใหญ่ให้หลวงปู่อีกครั้ง ก่อนเข้าพรรษาและจัดเตรียมทุกสิ่งอย่าง  พร้อมแบ่งสายงานออกนิมนต์พระมาร่วมงาน มีคนส่งข่าวไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ และทุกอย่างก็ดำเนินไปได้ด้วยดี เพราะพระภิกษุและญาติโยมให้ความเคารพและร่วมมือเป็นอย่างดีเยี่ยม

การมาพัฒนาวัด ทั้งรูปธรรมและนามธรรม คือ พัฒนาทั้งกายและจิต ให้ชาวบ้าน  ทำให้พวกเขามีความสุขมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  การทำไร่นาอุดมสมบรูณ์กันถ้วนหน้า อันเกิดจากอานิสงส์ในการให้ ทาน รักษาศีล ความรักสามัคคีกัน และการประพฤติธรรมกันตลอดปี  พวกเขาเอาธรรมะเป็นเครื่องนำทางชีวิตกันจริง ๆ จึงทำให้ชาวบ้านมีความสุขกันทุกครอบครัว เลิกอบายมุขกันทั้งหมู่บ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจของทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตาแสง  กำนัน ประจำหมู่บ้านนั่นเอง….