เรื่องเล่าพระป่า
เรียบเรียงโดย กัณหาชาลี
ตอน ความมหัศจรรย์ของภูทอก
ความเดิมตอนที่แล้ว… (ฉบับที่ ๒๖ เดือนสิงหาคม ๒๕๖๐)
การเดินธุดงค์ในป่าเขาลำเนาไพร จากภูเขาลูกหนึ่งไปอีกลูกหนึ่งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่ใช่การเดินบนถนน หรือทางเดินที่มีคนมาทำไว้ อย่างเช่น การเดินจากภูลังกา บึงโขลงหลง ไปยัง ภูทอกใหญ่ อันมีป่าไม้หนาทึบ มีสัตว์ป่าอันตรายมากมายหลายชนิด ที่อาศัยอยู่ในป่าเหล่านั้น ยากเกินกว่าคาดเดาว่าจะพบเจอสิ่งใดบ้าง สิ่งที่มองเห็นหรือสิ่งที่มองไม่เห็น ไม่รู้ว่าสิ่งไหนจะน่ากลัวหรืออันตรายกว่ากัน และมันก็มีความมหัศจรรย์อยู่บนภูทอกหลายประการ ยิ่งในยามรัตติกาล ความสงบ ความหนาวเย็นยะเยือก ความโหดร้าย ความน่าสะพรึงกลัว ความมืดหรือแสงสว่าง แอบซ่อนตัวแฝงอยู่ในป่าเหล่านี้ครบทุกประการ ยากนักแก่การคาดเดา มีเพียงตัวและจิตของพระธุดงค์เท่านั้น ที่พอจะกำกับ หรือทำให้มันมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงได้ไปตามสิ่งแวดล้อม แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียว ส่วนความปลอดภัยคงไม่ต้องถามถึง…
ความมหัศจรรย์ของภูทอก ตอนที่ ๒
เมื่อพระภิกษุหนุ่มอยู่ปฏิบัติบนภูทอกใหญ่ แต่เพียงลำพัง ไร้ซึ่งพระภิกษุรูปอื่น ๆ หรือชาวบ้านแม้จะเป็นเวลากลางวันก็ตาม เนื่องจากด้านบนนี้ยากลำบากต่อการเดินทางขึ้นไป เพราะเป็นเขาสูงชัน มีความสูงจากระดับน้ำทะเลมาก ถ้าจะให้คะเนก็กว่า ๑,๐๐๐ เมตร แต่ครั้นเดินทางไปถึงบนยอดเขาแล้ว มันช่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ด้านบนนั้น มีลานหินใหญ่ที่สะอาดสะอ้าน เหมือนมีใครมาทำความสะอาดไว้พร้อมที่ใช้งานตลอดเวลา มีต้นไม้ใหญ่ห้าคนโอบ ซึ่งเป็นต้นตะเคียนสูงตระหง่าน ลำต้นตรงดิ่งขึ้นไปในอากาศ หาชมได้ยากยิ่งนัก และมีต้นตะเคียนเล็ก ๆ เป็นบริวารโดยรอบ ๔ – ๕ ต้น สูงประมาณ ๒๐ เมตร พระหนุ่มก็หาที่ปักกลด ห่างจากต้นตะเคียนประมาณ ๓ เมตร มองดูขึ้นไปบนต้นตะเคียนใหญ่ไม่มีดอกไม้ ผลไม้ ก็เลยอธิษฐานปักกลดตรงนั้น
ครั้นตกเย็น บนยอดภูทอกใหญ่กลับสว่างเหมือนตอนกลางวัน กว่าแสงอาทิตย์จะเลือนหายไปก็ใช้เวลานานกว่าด้านล่างพอสมควร ดึกดื่นบนนี้ อากาศบนภูก็เริ่มเย็นมากขึ้นเป็นลำดับ เสียงลมพัดใบไม้กระทบกันดังผับ ๆ ๆ เมื่อเงยหน้ามองท้องฟ้าอันมืดดำสนิท แต่กลับไม่รู้สึกถึงความอึดอัดเลย ก็เพราะแสงกระพริบพราวของดวงดาว ในเวลาดึกนี้ส่องสว่าง ระยิบระยับ สวยงามประดุจดั่งเพชรที่ประดับอยู่บนกำมะหยี่ดำสนิทก็ไม่ปาน
ครั้นได้เวลาประมาณตีหนึ่ง ตีสอง ความหนาวเย็นได้จู่โจมอย่างกะทันหัน อุณหภูมิลดลงมากอย่างรวดเร็ว เมื่อลมพัดมากระทบผิวกายยิ่งทำให้รู้สึกถึงความหนาวเย็นได้อย่างชัดเจน จนพระภิกษุหนุ่มต้องเอาผ้าสังฆาฏิมาห่มเป็นสองชั้นเพื่อนป้องกันความหนาว คงเป็นอย่างเช่นที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติเรียกว่า ผ้าซ้อนนอก เพื่อป้องกันความหนาว และสัตว์เลื้อยคลาน
หลังจากเดินจงกรมได้สักพัก พระภิกษุหนุ่มก็เข้ามานั่งสมาธิในกลด เพียงไม่นานนัก ก็มีลมแรงพัดซู่ ๆ มาเป็นระยะๆ ด้วยจิตอันสงบนิ่งของพระภิกษุหนุ่ม ท่านสัมผัสได้ว่านี่ไม่ใช่ลมธรรมดา แต่เป็นลมที่ร้อน ร้อนที่กระแสของลมดั่งคนฉุนเฉียวโกรธเกรี้ยวโกรธา พระภิกษุหนุ่มจึงเจริญเมตตาทันที แผ่จิตอันเป็นกุศลไปข้างหน้าด้วยกระแสแห่งความเมตตาอันเย็นฉ่ำ ทวนกระแสแห่งความร้อนรุ่มคืนไปหวังว่าจะดับกระแสโทสะนั้นให้ได้ กว่าหนึ่งชั่วโมงที่ลมร้อนได้พัดเข้ามา และในที่สุดก็ค่อย ๆ หายไป อากาศเริ่มนิ่งเป็นปกติและเย็นลง พระภิกษุหนุ่มจึงลืมตาและมองออกไปนอกกลด ดังรู้ว่ามีแขกที่ไม่ได้รับเชิญมาเยือน ห่างออกไปเพียง ๕เมตร ท่านเห็นเสือลายพาดกร ๒ ตัว กำลังยืนนิ่ง จ้องตาเขม็งมาที่ท่าน ขนาดของมันก็เท่า ๆ กับควายที่มีอายุราว ๒ ปี ด้วยภาพที่เห็นตรงหน้า เดาได้ไม่ยากนักว่าเจ้าถิ่นกำลังไม่พอใจการมาเยือนของพระหนุ่มอย่างยิ่ง
เมื่อเห็นภาพไม่พึงประสงค์เช่นนี้ พระภิกษุหนุ่มก็หลับตาเจริญเมตตาอีกครั้ง พร้อมส่งกระแสจิตไปยังเป้าหมายที่ยื่นนิ่งอยู่ พร้อมสื่อในจิตว่า… “ท่านทั้งสองอาตมาต้องขออโหสิด้วยที่ขึ้นมายังบ้านของท่านโดยไม่ได้บอกก่อน แต่อาตมามาดีไม่ได้มาร้าย หรือเพื่อต้องการทรัพย์สมบัติใดๆ ที่ท่านทั้งสองครอบครองดูแลอยู่แต่อย่างใด เพียงแต่ธุดงค์มาเพื่อค้นหาโมกขธรรม เจริญรอยธรรมของสมเด็จพ่อของอาตมา เลยทำให้ต้องมารบกวนท่านผู้ที่เคยมาอยู่ที่นี้เมื่อร้อยปีพันปีที่ผ่านมา” พอพระภิกษุหนุ่มพูดความในด้วยจิตจบลง เจ้าลายพาดกรสองตัวก็เงยหน้า แล้วร้องคำรามด้วยเสียงอันดังสนั่นหวั่นไหวไปทั่วภูถึง ๓ ครั้ง จนพระหนุ่มรู้สึกแสบเข้าไปในแก้วหู แล้วเจ้าลายพาดกรทั้งสองก็เดินหายไปพร้อมในความมืด พระภิกษุหนุ่มก็นั่งเจริญสติต่อไปจนฟ้าสาง ได้ยินเสียงไก่ขัน เป็นไก่ป่าที่อยู่ห่างไกลออกไปที่อาศัยอยู่ภูทอกแห่งนี้ ซึ่งเป็นสัญญาณบอกว่าตอนนี้ใกล้สว่างแล้ว
พระภิกษุหนุ่มจึงออกมาเดินจงกรมอีกครั้งจนเห็นแสงพระอาทิตย์ส่องประกายสีขาวทองจับจองพื้นที่บนท้องฟ้าอย่างงดงาม เช้านี้บนภูทอกท่านได้ยินเสียงระฆังดังมาแต่ไกล เสียงมันก้องกังวานไพเราะจับจิตจับใจยิ่งนัก เช้านี้ท่านลังเลใจว่าจะลงมาบิณฑบาตยังหมู่บ้านใด ในที่สุดก็เอาบาตรมาล้างแล้วอธิษฐานบาตร มุ่งหน้าเดินลงมาบิณฑบาตอย่างสำรวมระวัง
หลังจากบิณฑบาตเสร็จแล้ว พระหนุ่มก็กลับมายังกลดของตน และเดินจงกรมปฏิบัติธรรมต่อเนื่องตลอดทั้งวัน ด้วยจิตใจแนบแน่นในสมาธิอย่างมาก ๆ อากาศในยามเช้านี้ก็เย็นสบาย ทำให้ท่านเข้าสมาธิได้ลึกลงไปจนถึงอัปปนาสมาธิ ท่านจมดิ่งอยู่ในองค์ฌานนานมากกว่าจะออกจากสมาธิก็เย็นเสียแล้ว มันเป็นความสุขอิ่มจิตอิ่มใจ เป็นความสงบขั้น ปัสสัทธิ (ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ แปลว่า องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้ คือ ความสงบ หมายความว่า การที่ผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานจะได้บรรลุสามัญผลนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ หากว่าขาดปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลได้) จิตนั้นดิ่งลงสู่ ภวังค อันยาวนาน ที่พระสาวกทั้งหลายได้กล่าวว่า “สุขจริงหนอ ๆ” ก็คงจะเป็นด้วยเหตุนี้
ย้อนกลับไปตอนบิณฑบาต หลายท่านอาจจะสงสัยคาใจ ว่าจะมีใครมาใส่บาตรหรือ บนยอดเขาสูงแบบนั้น และพระหนุ่มได้อาหารหรือไม่ อาหารเป็นเช่นไร
พระภิกษุหนุ่มเล่าว่า “อาหารนั้นแปลก ฉันคำเดียวก็อิ่มตลอดทั้งวัน ปฏิบัติธรรมอย่างไรก็ไม่รู้จักคำว่าเหนื่อย ยิ่งปฏิบัติยิ่งมีกำลังมากขึ้นกว่าทุกวัน ๆ นับว่าเป็นอาหารที่แปลกกว่าอาหารใด ๆ บนโลกมนุษย์ ชะรอยจะเป็นอาหารทิพย์จากที่ใดสักแห่ง” เมื่อได้ยินพระหนุ่มเล่าเช่นนี้ ผู้เขียนก็เกิดความปิติ สุขใจ ครั้นถามต่อ “อาหารในบาตรมีอะไรบ้างครับ” ท่านก็ไม่ได้ยินเสียงของผู้เขียนเสียแล้ว
ท่านกลับเล่าต่อว่า… “อยู่ปฏิบัติธรรมบนภูทอกใหญ่ได้เก้าวันพอดีตามที่อธิษฐานจิตไว้ ในคืนวันที่ ๒ ที่อยู่บนภูทอกใหญ่ มีสิ่งมหัศจรรย์หลายอย่าง วันพระวันโกน ก็จะได้ยินเสียงสวดมนต์
บทธัมจักรกัปปวัตตนสูตร ดังแว่วลอยมาจากเชิงเขาที่อยู่รอบ ๆ ข้างภูทอก เพราะบนยอดภูทอกนั้นจะมีพื้นที่ราบกว้างประมาณสัก ๑๕ ไร่ แต่รอบข้างนั่นเป็นเนินเขาสูง ๆ ต่ำ ๆ รวมแล้วก็ ๒๐ กว่าไร่ เห็นจะได้ มีป่าไม้ปกคลุมไปหมด มองเห็นได้ไม่ทะลุ บางวันมีแสงไฟสีต่าง ๆ สว่างจ้าออกมาจากซอกเขา บ้างวันก็สว่างทั้งขุนเขาเลยทีเดียวนะ”
พระภิกษุหนุ่มมีนิสัยอยากรู้อยากเห็น จึงได้ออกสำรวจดูทั่วบริเวณที่เป็นเนินเขาสูง ๆ ต่ำ ๆ ก็ไม่พบสิ่งผิดปกติใด ๆ ของป่า บางวันก็จะมีลมพัดอย่างหนักตลอดทั้งวันทั้งคืน บางวันไม่มีแม้แต่เสียงนกร้อง แต่ในยามเวลาค่ำคืนบางคืนก็พบว่าเห็นก้อนหินที่มีแสงสว่างออกมาอย่างน่าอัศจรรย์ แต่ตอนกลางวันก็เป็นปกติทุกอย่าง แค่นั้นยังไม่พอ ยังมีเสียงดนตรีไทยโบราณ เสียงซอดังสลับกับเสียงขลุ่ย แผ่วเบาลอยมาให้ได้ยินอย่างจงใจ และยังมีกลิ่นหอมของสิ่งใดก็ไม่ทราบโชยมาเป็นระลอก ๆ อีกด้วย เรียกว่าอยู่ที่นี่ได้สัมผัสความแปลกทั้ง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เลยทีเดียว
ในค่ำคืนที่ ๙ ของการปฏิบัติธรรมบนภูทอก พระภิกษุหนุ่มก็ได้ยินเสียงแสดงธรรมขึ้น “เรื่องอริยสัจ” ว่าเป็นธรรมของ “พระอริยะ” อันเป็นวิถีทางที่นำไปสู่ความเป็นธรรมสังเวชพร้อมกับแนวทางของการปล่อยวางแห่งจิตที่ มักติด มักยึด มักได้มาและเสียไป จนกลายเป็นอุเบกขาธรรม คือ การมีจิตที่วางเฉยต่อสิ่งที่มากระทบกับอายตนะภายนอกอายตนภายใน แต่เห็นปรากฏขึ้นในจิตที่เกิดที่ดับสลับกันไปอย่างต่อเนื่อง พระภิกษุหนุ่มได้ฟังธรรมในค่ำคืนนั้นอย่างตั้งใจ เกิดความอิ่มใจในธรรมอย่างยิ่ง ธรรมนี้หาฟังได้ยากมาก ๆ ทำให้จิตของพระหนุ่มรับรู้ความจริงแห่งธรรมได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งแทงตลอดอย่างน่าอัศจรรย์ หรือจะเรียกว่า ธรรมปาฏิหารย์ ก็ว่าได้ ธรรมที่แสดงนั้น มีเพียงแต่เสียงแต่มิได้แสดงตัวของผู้เทศนาเลย ครั้นรุ่งเช้า พระภิกษุหนุ่มก็แผ่เมตตาจิต ทำภาระกิจส่วนตัวจากนั้นจึงออกบิณฑบาตต่อไป
เช้านี้มีคนมาใส่บาตรมากกว่า ๑๐ คน ทุกคนที่มาใส่บาตรนั่งรอกันอย่างเรียบร้อย ห่างกันออกไปเป็นแถวเป็นแนว อาหารที่ใส่บาตรนั้น ห่อด้วยใบไม้สีเหลืองนวล พวกเขาใส่บาตรกันเพียงคนละช้อน วันนี้บิณฑบาตรได้ ๑๐ ช้อน และดอกไม้ ๕ กำมือ เมื่อได้อาหารเพียงพอแล้วก็กลับมาที่กลด วันนี้พระหนุ่มเจริญอาหารยิ่งนัก ท่านฉันอาหารทั้งหมด รสชาติอาหารนั้นแสนจะแปลกยิ่งนัก ทั้งปราณีต และมีกลิ่นละมุนละไมกลมกล่อมแท้ ๆ ซึ่งไม่เคยได้ฉันอาหารรสชาติแบบนี้มาก่อนเลย แต่ที่เด็ดไปกว่านั้นก็คือ มันทำให้ท่านอิ่มท้องอยู่ได้ถึง ๑๒ วัน..!
เมื่อถึงเวลา พระภิกษุหนุ่มก็ต้องลงจากภูทอก เพื่อเดินธุดงค์แสวงหาโมกขธรรมต่อไป เพราะอยู่ภูทอกนานมากแล้วถึง ๙ วันแล้ว ตามธรรมดาจะปักกลดอยู่ปฏิบัติที่ละ ๗ วันเท่านั้น เมื่อพระภิกษุหนุ่มเก็บอัฐบริขารเสร็จแล้วก็ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่หนองคายเป้าหมายอีกจุดหนึ่งคือ วัดหินหมากเป้ง เพื่อไปกราบฟังธรรมกับ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี พระผู้มีบารมีมาก ท่านโปรดพญานาคแม่น้ำโขงทุกวันพระ พระภิกษุหนุ่มก็เดินลัดตัดป่าเขาแถบลุ่มแม่น้ำโขงมาเรื่อยไม่ได้รีบร้อนอย่างใด พอถึงเวลาค่ำคืนก็ปักกลดพักปฏิบัติภาวนา ระหว่างทางได้เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยกันอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ช่างเรียบง่าย พวกเขาพึ่งพาอาศัยกันตามอัตภาพ มีหมู่บ้านอยู่กันเป็นหย่อม ๆ หย่อมละ ๒ – ๓ หลังบ้าง ๔ – ๕ หลังบ้าง บางที่ก็ ๑๐ หลัง รวมกันเป็นหมู่บ้านใหญ่ บ้านแต่ละหลังไม่มีรั้วกั้น เดินถึงกันได้ทุกบ้าน เวลาพระภิกษุหนุ่มออกบิณฑบาตในยามเช้า ชาวบ้านต่างตะโกนเรียกกัน “ใส่บาตรพระกันๆ…” บอกต่อ ๆ กันไป จนชาวบ้านก็รู้ทันทีว่า เป็นพระเดินธุดงค์มา ชายคนหนึ่งตะโกนบอกเพื่อนบ้านว่า… “ฝากบ้านด้วยนะ จะเดินทางไปธุระบ้านอื่นสัก ๔ – ๕ วัน” เจ้าของบ้านที่ถูกเรียกก็ขานรับว่า “ได้ ๆ ไม่ต้องห่วง” พูดกันเพียงเท่านั้นก็เดินจากไป
วันหลัง ๆ ของการบิณฑบาต พระหนุ่มก็เห็นเพื่อนบ้านคนที่ถูกฝากบ้านไว้ เอาน้ำมารดผักรดพืชให้กับชายที่ฝากบ้านไว้ และช่วยดูไก่ในเล้าให้ด้วย เพียงคำพูดที่ฝากกันสั้น ๆ แต่เพื่อนบ้านนั้นก็ช่วยทำให้ทั้งหมด นั้นคือ ความซื่อ สัจจะบริสุทธิ์ ที่ชาวบ้านมีต่อกัน มันช่างน่ารักและน่าประทับใจ (แต่ทุกวันนี้ไม่ทราบว่ายังจะเป็นเช่นนั้นอยู่หรือเปล่า) พระภิกษุหนุ่มก็ออกเดินทางต่อตามป่าเขาที่สามารถพอปักกลดได้และปฏิบัติธรรมในทุกที่ ในค่ำคืนนี้เดินไกลกว่าทุกวัน เดินจนถึงเวลาเที่ยงคืนจึงได้ปักกลด บริเวณเนินเขาไม่สูงนัก ขณะที่พระภิกษุหนุ่มกำลังอธิษฐานจะขอปักกลดก็เหลือบตาไปเห็นว่า มีผู้เฒ่าปะขาวมายืนดูอยู่
แล้วถามขึ้นว่า… “ท่านมาจากไหน ทำไมถึงมาดึก ๆ ดื่น ๆ เยี่ยงนี้ ยังดีนะ ที่รู้จักขออนุญาตเจ้าของบ้าน ถ้าไม่เช่นนั้นจะไม่ยอมให้พักเด็ดขาด” พร้อมกับถามภิกษุหนุ่มขึ้นอีกว่า… “จะพักอยู่กี่วัน..?”
พระภิกษุหนุ่มก็ตอบไปว่า… “สักคืน สองคืน นะโยม”
ผู้เฒ่าปะขาวก็พูดขึ้นลอย ๆ ว่า… “ได้ แล้วอย่าไปรบกวนเขาละ” พูดเท่านั้นเฒ่าปะขาวก็หายไป
โปรดติดตามตอนต่อไป…