Kamalas

เรื่องเล่าพระป่า 

ตอน  สมบัติมัดวิญญาณ

เรียบเรียงโดย กัณหา ชาลี

….หลังจากที่พระหนุ่มเห็นนิมิตคนกลุ่มหนึ่งไล่ฆ่ากันวุ่นวาย ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ท่านจึงกำหนดจิตแผ่เมตตาแล้วออกจากสมาธิ เดินจงกรมต่อไป จนเวลาล่วงไปประมาณตีสอง พระหนุ่มก็ได้ยินเสียงร้องขึ้นว่า “มีคนมานั่งแอบอยู่ตรงนี้หนึ่งคน เดี๋ยวมันก็จะมาแย่งเอาสมบัติเราได้อีกหรอก พวกมึงทั้งหญิงชายต้องมาช่วยกัน หลายสิบปีแล้วไม่มีใครมาที่นี่ได้เพิ่งมีวันนี้ พวกเราต้องมาช่วยรักษาสมบัติเราไว้เร็ว เร็วเข้า”

พระภิกษุได้ยินเสียงคนตะโกนดังมาจากถ้ำอีกฟากหนึ่ง แต่ไม่ทันเสียงนั้นจะหายไปจากโสตประสาท  พระภิกษุก็ต้องตกตะลึงเมื่อหันไปด้านหน้าทางเดินจงกรม มีงูใหญ่น่ากลัวประมาณ ๑๐ตัว ไม่รู้ว่ามาจากไหนมาตั้งแต่เมื่อไรประมาณ  งูยักษ์ทั้งหมด ยกหัวจ้องมาทางพระภิกษุหนุ่มเหมือนจะกินเลือดกินเนื้อ ดวงตาส่อแววโกรธกริ้วไม่เป็นมิตรเลยสักนิด พวกมันยกหัวขึ้นพร้อมที่จะฉกกัดพระหนุ่มทันทีหากมีการเคลื่อนไหว แม้จะทำให้นักบวชหนุ่มตกใจไม่น้อย แต่ท่านก็ยืนตั้งสติ สงบนิ่งรวบรวมสมาธิอย่างมั่นคง แล้วน้อมจิตแผ่เมตตาออกไปยังฝูงงูใหญ่ทิ้งสิบตัว พร้อมกล่าวออกไปว่า… “อาตมาเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา มาที่นี่เพื่อบำเพ็ญจิต บำเพ็ญบุญ บำเพ็ญกุศลให้ตัวเอง ไม่ได้เอาสมบัติของใคร เพราะอาตมามีสมบัติมาพอแล้ว นั่นไง สมบัติของอาตมา มีบาตร มีกลด มีกระติกน้ำ ทั้งหมดนั้นมีสมบัติของอาตมา ขนาดนี้อาตมายังไม่อยากจะถือเลยเพราะมันหนัก แต่จำเป็นจึงต้องถือต้องแบกเอาติดตัวไป เพราะเป็นที่อยู่อาศัยของอาตมามีสมบัติของพ่อให้มา พ่ออุปัชฌาย์ให้มา แต่ถ้าท่านอยากได้ก็เอาไปได้เลย เรายินดี

เมื่อกล่าวเสร็จแล้ว พระหนุ่มก็หลับตาแผ่เมตตาในท่ายืนนั่นเอง โดยมิได้เกรงว่าระหว่างที่หลับตาจะมีงูตัวใดเข้ามาทำร้ายท่านแม้แต่น้อย ท่านยืนแผ่เมตตาแบบนั้นประมาณหนึ่งชั่วโมง ก็ได้ยินเสียงงูใหญ่ทั้งสิบตัวเลื้อยถอยหนีไป

ครั้นรุ่งเช้าออกจากถ้ำเพื่อจะไปบิณฑบาต ขณะที่เดินออกจากปากถ้ำลงมาตามร่องน้ำ พระหนุ่มก็เห็นคนเดินตามหลังควาย แล้วเดินหายไปในเขาอีกฝากหนึ่ง พระหนุ่มจึงคิดว่าคง

มีบ้านคนอยู่แถวนี้  คืนนี้เราจึงต้องย้ายที่ปักกลดเสียแล้ว เพราะมีบ้านคนอยู่ใกล้ ๆ  การปักกลดอยู่ห่างจากหมู่บ้านหนึ่งกิโลเมตรเป็นอย่างน้อย ซึ่งการถือธุดงค์ก็มีข้อปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าได้แนะให้พระกัสสปะเถระได้นำไปปฏิบัติ เรียกว่า ธุดงควัตร ๑๓ ประการ คือ

๑. ถือนุ่มห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร

๒. ถือผ้าสามผืนเป็นวัตร

๓. ถือบิณฑบาตเป็นวัตร

๔. ถือบิณฑบาตไปตามแถวเป็นวัตร (ถ้ามีพระไปด้วยหลายรูป)

๕. ถือฉันภัตตาหารมื้อเดียวเป็นวัตร

๖. ถือฉันอาหารในภาชนะเดียวเป็นวัตร (ไม่มีภาชนะที่สองอื่นอีก)

๗. ถือห้ามภัตตาหารที่นำมาถวายภายหลังเป็นวัตร (เมื่อพระภิกษุผู้ถือธุดงค์ พิจารณาอาหารลงมือฉันอยู่ถ้ามีโยมนำอาหารมาถวาย รับไม่ได้ คือห้ามรับ ถ้ารับก็ผิดหลักการถือธุดงค์)

๘. ถืออยู่ป่าเป็นวัตร (ไม่ใช่ชายป่า)

๙. ถืออยู่โคลนต้นไม้เป็นวัตร

๑๐. ถืออยู่กลางแจ้งเป็นวัตร

๑๑. ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร

๑๒. ถือการอยู่ในเสนาสนะที่เขาจัดให้เป็นวัตร (เช่น ไปงานจำเป็นบางแห่ง)

๑๓. ถือเนสัชชิกังคธุดงค์ คือ ถือไม่นอนเป็นวัตร

นี้คือ หลักที่พระธุดงค์จะต้องศึกษาให้เข้าใจและนำไปปฏิบัติให้ถูกต้องในหลักธุดงค์ ๑๓ ประการ และมีคำอธิบายอีกในพระไตรปิฎก

เมื่อพระภิกษุหนุ่มลงจากเขา เพื่อเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน  แต่เดินไปเท่าไรก็ยังไม่พบหมู่บ้านเลย รวมระยะทางที่เดินมานั้นจากเชิงเขาก็ประมาณสิบกว่ากิโลเมตร แต่ก็ไม่พบบ้านคนเลยสักหลังเดียว  วันนั้นบิณฑบาตในระยะทางสิบกิโลเมตรแต่ไม่พบใคร ก็ต้องกลับมายังถ้ำที่พัก แล้วเดินรอบเขาเข้าไปตรงที่เห็นคนเดินตามก้นควาย ก็ไม่มีร่องรอยของคนหรือควายเดินเลยแม้แต่น้อย ทั้งที่เมื่อวาน ยังมองเห็นอยู่ว่าคนจูงควายเดินหายเข้าไปทางนั้น  ยิ่งทำให้พระภิกษุหนุ่มสงสัยข้องใจว่าเกิดอะไรขึ้น เห็นทีวันนี้จะต้องบำเพ็ญเพียงให้มากกว่าเดิม จะได้เข้าใจอะไรมากกว่านี้ และวันนั้นก็อดฉันอาหารไปโดยปริยาย แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของพระธุดงค์ผู้แสวงหาโมกขธรรม

ช่วงเย็นก่อนจะพลบค่ำ หมู่นกกาก็พากันบินกลับรัง ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ทำให้ความมืดมิดคลืบคลานเข้ามาเร็วขึ้น  แล้วพระหนุ่มผู้อาจหาญก็เห็นคนจูงควายเดินกลับมาเหมือนเดิม  แล้วพวกเขาก็เดินหายอีกในเนินเขาเล็กแถวนั้น

ช่วงค่ำวันนั้นเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลาคงประมาณ ๑๘.๓๐ น. พระหนุ่มผู้โดดเดี่ยวแต่ไม่เดียวดายก็ได้ยินเสียงระฆังดังกังวานอยู่ใกล้ ๆ ในเขาลูกนั้น ก็ไม่มีหมู่บ้าน ไม่มีวัด ไม่มีคนทำไมถึงมีเสียงระฆัง พระภิกษุหนุ่มก็ตั้งใจฟังเสียงระฆังอย่างใจจดใจจ่อ  พยายามหาจุดกำเนิดของเสียงให้ชัดว่าดังมาจากตรงไหน คืนนั้นเอง ท่ามกลางความมืดมิด พระภิกษุหนุ่มเห็นแสงไฟเป็นแถว ๆ เหมือนคนถือคบเพลิงเดินเรียงแถวตามกันไปที่ใดที่หนึ่ง

สักประมาณสี่ทุ่ม ขณะที่พระหนุ่มกำลังนั่งสมาธิก็รู้สึกเหมือนมีคนเดินอยู่ด้านล่าง เพราะตนเองนั่งอยู่บนที่สูงกว่า ครั้นได้เวลาออกจากสมาธิแล้วเปลี่ยนอิริยาบทมาเดินจงกรม ซึ่งก็ประมาณเที่ยงคืน พระหนุ่มก็สำรวมกายใจเดินจงกรมอย่างมีสติ แต่ระหว่างนั้นเอง ก็มีเปลวไฟพุ่งขึ้นมาจากกลางเขาและรอบ ๆ เขานั้นเป็นยาวนาน ๒-๓ นาที ยิ่งทำให้ท่านอยากรู้อยากเห็นมากขึ้นว่ามันคืออะไรกันแน่ ยิ่งพื้นเพนิสัยที่ชอบพิสูจน์ความจริงก่อนจะเชื่ออะไรสักอย่าง ยิ่งทำให้ท่านต้องข่มใจเก็บความสงสัยไว้อย่างยากเย็น ท่านอยากรู้เสียเหลือเกินว่าสิ่งที่ตนเองเห็นนั้นมันมีตัวตนจริงหรือเปล่า หรือเป็นเพียงภาพลวงตาหาสาระอะไรไม่ได้  แต่สุดท้ายท่านก็ละทิ้งความคิดนั้นไปแล้ว เดินจงกรมต่อ สลับกับการนั่งสมาธิอีกจนได้ยินเสียงไก่ป่าขัน ซึ่งนั่นก็เป็นช่วงเวลาตีสามแล้ว

อรุณรุ่งของวันใหม่ แสงตะวันสาดจับขอบฟ้าเป็นสีแดงระเรื่อฝ่า ทะลุความมืดมิดของป่าลึกเป็นสัญญาณบอกสรรพชีวิตให้ทราบถึงวันใหม่  ครั้นพอจะมองเห็นเส้นลายมือแล้ว  พระหนุ่มผู้มุ่งมั่นก็ออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ตามกิจของสงฆ์  เมื่อท่านเดินไปตามเส้นทางใหม่ต่างจากเมื่อวานได้ประมาณหนึ่งกิโลเมตร ก็มีคนมายืนรอใส่บาตรอยู่สองสามคน พระภิกษุหนุ่มก็สำรวมจิตออกบิณฑบาตอย่างระมัดระวัง แม้จะระมัดระวัง ด้วยสติที่มั่นคงแล้ว แต่ขากลับนั้นเดินเท่าไรก็ไม่ถึงที่ปักกลดเสียที  สงสัยว่าเราคงหลงทางเสียแล้ว แต่พระหนุ่มก็ยังคงเดินต่อไปเรื่อย ๆ มิได้หยุดพัก   ท่านเดินหลงเข้าไปในหุบเขาเล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาใหญ่อีกชั้นหนึ่ง สองข้างทางประดับประดาไปด้วยก้อนหินที่สวยงามระยิบระยับเป็นชั้นน่าดูน่าชมมากบนหุบเขานั้น ซึ่งสร้างความเพลิดเพลินให้ท่านมิใช่น้อย  ครั้นเดินเข้าไปเรื่อย ๆ ก็เหมือนเดินเข้าไปในอุโมงค์ มีอากาศก็เย็นสบาย มีลมพัดโชยเบาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา แต่เมื่อถลำลึกเข้าไปด้านใน ความสวยงามของก้อนหิน ชะง่อนหินก็หายไป แต่ความน่าสะพรึงกลัวกลับเข้ามาแทนที่ เพราะสิ่งปรากฎอยู่ตรงหน้าพระหนุ่มนั้นคือ กองกระดูกระเกะระกะ กระจัดกระจายเกลื่อนกลาด แต่ที่น่ากลัวไปกว่านั้น ซึ่งน่าจะเป็นที่มาของกองกระดูกเหล่านี้ นั่นคือ งูยักษ์ตัวหนึ่ง ขนาดใหญ่เท่าเสาบ้านหน้าหกสิบ มีหงอนอยู่บนศรีษะ ดวงตาแดงก่ำ น่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก มันชูหัวขึ้นสูง จนเลยหัวพระภิกษุหนุ่ม ทำให้ท่านต้องแหงนหน้ามองขึ้นตาม และพบว่าหัวของพญางูนี้ชูสูงจนจะติดผนังถ้ำแล้ว  งูยักษ์ส่ายหัวไปมาอย่างดุดัน พระภิกษุหนุ่มจึงยืนนิ่งสงบแผ่เมตตาพร้อมจิตที่เป็นสมาธิ แล้วสื่อจิตออกไปว่า “ไม่ได้มาเอาอะไรของใครที่นี่ ขออภัยด้วยที่อาตมามารบกวน อาตมากลับละนะ”   เมื่อแผ่เมตตาเสร็จพระภิกษุหนุ่มก็หันหลังกลับ กำลังจะก้าวเดิน ทันใดนั้นงูใหญ่ก็พุ่งมาขวางหน้าไว้ทันที จนพระภิกษุหนุ่มตกใจต้องถอหลังกลับมาหนึ่งก้าว พระภิกษุหนุ่มจึงเพ่งกระแสจิตไปยังพญางูยักษ์เฒ่าตัวนั้นอีกครั้ง แล้วกำหนดจิตพูดว่า

 

“ท่านผู้เฒ่าเอาแต่ความแค้นมารักษาสมบัติภายนอก เป็นสมบัติที่นำติดตัวไปไม่ได้สักแห่ง สักภพสักชาติก็ไม่ได้ ทำไมท่านมายึดติดอยู่เพียงเท่านี้ มานั่งตนเผาให้ทรมานทำไม อีกร้อยชาติพันชาติ ก็ยังไม่มีอะไรดีสำหรับท่านเลย  ท่านผู้เฒ่า.. จริงอยู่ทรัพย์สมบัติที่ท่านหามาได้ มันก็เอามาใช้ได้ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เมื่อท่านตายท่านก็เอาติดตัวไปไม่ได้เลย ที่ท่านอยู่ทรมานอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะเฝ้าสมบัติกองขยะเน่าทั้งนั้น ท่านเอาอะไรไปได้บ้างหรือ  ไม่ได้หลับไม่ได้นอนไม่เคยได้พักผ่อนเลย มันคงทรมานจิตทรมานใจยิ่งนักเลยนะ สมบัตินี้มันทำร้ายท่านมากใช่ไหม ท่านต้องหวงแหนทุกข์ทรทานทั้งใจทั้งกาย ใจก็กลัวใครจะมาแย่งเอาไป กายก็ไม่ได้พักผ่อน แต่ท่านก็เอาติดตัวไปไม่ได้มีสักบาทเดียวเลย เพราะเหตุนี้ท่านจึงต้องเวียนว่ายเวียนเกิดอยู่เยี่ยงนี้”

พระภิกษุหนุ่มถือโอกาสเทศนาต่อเลยจนงูใหญ่หดหัวลงต่ำ แล้วก็เลื้อยกลับไป ท่านจึงรีบเดินออกมาและกลับมายังที่พักโดยไม่หลงทาง แต่ในใจของพระภิกษุหนุ่มมีแต่ความสงสาร อยากช่วยเขาให้พ้นทุกข์ให้ไปเกิดใหม่ ยกภพภูมิให้สูงขึ้นบ้าง พอถึงกลด พระภิกษุหนุ่มก็ทำกิจวัตรทุกอย่างเรียบร้อย เสร็จแล้วก็เดินจงกรมปฏิบัติต่อเป็นปกติ ครบเจ็ดวันที่อยู่ที่นี่ ท่านได้โปรดสัตว์ สงเคราะห์สัตว์แผ่เมตตาไม่มีประมาณ แล้วก็เก็บข้าวของอัฐบริขารเดินธุดงค์ต่อไป…